Group Blog
 
 
เมษายน 2553
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 เมษายน 2553
 
All Blogs
 

ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ ( Lady Chatterley’s Lover)


บทวิจารณ์วรรณกรรมบทนี้เป็นบทวิจารณ์ที่ทำในสมัยเรียนวรรณกรรม จึงมีรูปแบบการนำเสนอที่ให้ความรู้สึก'วิชาการ' ไปนิดหนึ่ง พอดีไปขุดเจอเลยเอามาแปะเก็บไว้ที่บล็อกของตัวเองค่ะ เผื่อมีผู้สนใจว่าเวลาเรียนวิจารณ์วรรณกรรมกันจริงๆนั้น นักศึกษาในสาขาวิชานี้เค้าเรียนกันอย่างไร

รูปแบบที่นำเสนอข้างล่างเป็นรูปแบบที่เบสิคที่สุด ง่ายที่สุดค่ะ คล้ายๆเป็นแบบฝึกหัดแรกเริ่มของผู้เริ่มศึกษางานวรรณกรรม ฝึกว่าจะต้องสังเกตอะไรในการอ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องบ้าง และเริ่มวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ที่ศึกษาเพิ่มเติมไม่มากนัก




ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ ( Lady Chatterley’s Lover)


ผู้แต่ง เดวิด เฮอร์เบิร์ต์ ( ดี.เอช.ลอว์เรนซ์)
ผู้แปล แอนด์ นามปากกาของ สด กูรมะโรหิต


ประวัติผู้แต่ง


เดวิด เฮอร์เบิร์ต์ (ดี.เอช.) ลอว์เรนซ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1885 ในหมู่บ้านเหมืองแร่ เมืองนอตติ้งแฮมไชร์ ปะเทศอังกฤษ พ่อของเขาเป็นคนงานเหมืองถ่านหินที่ไม่รู้หนังสือ ส่วนแม่เป็นผู้ดี ซึ่งมีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะยกระดับลูกๆให้พ้นจากชนชั้นแรงงาน ชีวิตแต่งงานไม่มีความสุขของพ่อแม่ และการเรียกร้องทางอารมณ์ของแม่ที่มีต่อลูกชาย ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับลอว์เรนซ์ในการเขียนเรื่อง “Sons and Lover” ( 1913) นวนิยายแนวอัตชีวประวัติที่มีความสำคัญมากที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษนี้

ลอว์เรนซ์จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจ เมืองนอตติ้งแฮม ในปี 1908 และสอนหนังสือที่ดรงเรียนชายอยู่สองสามปี ในปี 1912 เขาผละออกจากอาชัพสอนหนังสือ เพื่ออุทิศตัวเองให้กับการเขียนและเพื่อหนีตามผู้หญิงที่แต่งงานแล้วคนหนึ่งชื่อ ฟรีเอดา วอน ริชโธเฟน ซึ่งเป็นน้องสาวนักบินชาวเยอรมันผู้โด่งดังในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นภรรยาของศาสตราจารย์ที่สอนภาษาฝรั่งเศสของลอว์เรนซ์ที่นอตติ้งแฮมด้วย การหรีตามกันกลายเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของความขัดแย้งตลอดชีวิตของลอว์เรนซ์ที่ต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจที่ชาวบ้านไม่ยอมรับ พร้อมกับการเริ่มต้นชีวิตท่องเที่ยวพเนจรอย่างไม่หยุดหย่อนอันมีผลเนื่องมาจากการรู้ตัวเป็นวัณโรคนั่นเองที่ฆ่าเขาในที่สุด

ในปี 1915 ผลงานยอดเยี่ยมของเขาเรื่อง “The Rianbow” ถูกกำจัดและสั่งห้ามเผยแพร่ในฐานะหนังสืออนาจาร หลังจากตีพิมพ์ออกมาได้เพียงหนึ่งเดือน เช่นเดียวกับนิยายแนวเดียวกันอีกเล่มคือ “ Women in love” (1920)ที่พูดถึงอารมณ์เพศอย่างตรงไปตรงมา

เรื่อง “Aron’sRod” (1922) และ “Kangaroo”( 1923) ใช้แกในออสเตรเลีย ส่วน “The plumed serpent” ( 1926) ใช้แกในแม็กซิโก ล้วนแต่เขียนระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาแหล่งสงบที่พ้นจากความวุ่นวายทางการเมืองและจิตใจ รวมทั้งต้องการอากาศบริสุทธิ์เพื่อสุขภาพ
ในปี 1928 ลอว์เรนซ์ ซึ่งป่วยอย่างสิ้นหวัง ได้เขียนเรื่อง “ Lady Chatterley’s Lover” ขึ้น ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฟรีเอดา เรื่องนี้ถูกห้ามเผยแพร่ในฐานะหนังสือโป๊ ต้นฉบับที่สมบูรณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในอังกฤษ จนกระทั่งปี 1960 จึงได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ในที่สุด
ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ เรียกชีวิตของเขาเองซึ่งผ่านหารต่อสู้ดิ้นรน ผ่านความท้อแท้สิ้นหวังมาแล้วว่าเป็น “การเดินทางโหดเหี้ยมเพียงพอแล้ว” เขาตายเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1930 ด้วยวัยเพียง 44 ปี ในเมืองเวนซ์ ประเทศฝรั่งเศส




เนื้อเรื่องย่อ


คอนสตันซ์(คอนนี)เกิดในตระกูลผู้ดีตระกูลหนึ่ง พ่อของเธอคือ เซอร์มัลคัม รีดเป็นช่างเขียนของราชสำนักและมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ส่วนแม่ของเธอเป็นผู้ดีในตระกูลเฟเบียนที่พยายามผลักดันให้เธอกับพี่สาวอยู่สังคมชั้นสูง ส่วนคอนนีหลังจากนั้นไม่นานก็แต่งงานกับคลิฟฟอร์ด แชตเตอร์เลย์ ซึ่งเป็นผู้ดีที่อยู่ตระกูลสูงกว่าคอนนี ในช่วงระหว่างที่คลิฟฟอร์ดพักรบเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากแต่งงาน คลิฟฟอร์ดก็กลับเข้าไปประจำการรบในแฟลนเดอร์ส หกเดือนต่อมาเขาก็ถูกส่งกลับอังกฤษในลักษณะของคนพิการ คือท่อนล่างตั้งแต่สะโพกลงไปหมดความรู้สึกและเคลื่อนไหวไม่ได้ ทำให้เขาไม่สามารถให้ความสุขทางกามารมณ์ได้ ขณะนั้นคอนนีอายุได้เพียงยี่สิบสามปี และคลิฟฟอร์ดอายุยี่สิบเก้าปี

คลิฟฟอร์ดกับคอนนีเดินทางกลับไปอยู่ที่แรกบี้ฮอลล์ อันเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์ในหมู่บ้านเหมืองแร่เทเวอร์ซอล คลิฟฟอร์ดได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ ต่อจากพ่อและคอนนีเป็นเลดี้ คนทั้งสองได้เริ่มต้นชีวิตการมีคฤหาสน์แห่งตระกูลแชตเตอร์เลย์ที่ต้องดูแลรักษาซึ่งเต้มไปด้วยความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวใจ

เมื่อคลิฟฟอร์ดไม่สามารถให้ความสุขแก่คอนนีในแบบที่สามีปฏิบัติต่อภรรยาได้ คอนนีจึงมีความรู้สึกว่าคฤหาสน์แห่งตระกูลแชตเตอร์เลย์เป็นคฤหาสถ์แห่งความเศร้ามากกว่าจะเป็นคฤหาสน์แห่งความสุขของชีวิตวิวาห์ และความต้องการของชีวิตก็เป็นความต้องการที่อยู่เหนือสิ่งใด คอนนีจึงโหยหาความสุขแบบที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องการ หลังจากนั้นคลิฟฟอร์ดได้จ้างคนสวนใหม่ชื่อเมลเลอร์ เขาเคยเป็นทหารและมีเมียแล้ว แต่ได้แยกกันอยู่ เมลเลอร์เป็นชายที่ร่างกายบึกบึนแม้จะไม่ได้มีหน้าตาหล่อเหลาแต่ก็ถูกในคอนนีมาก เมลเลอร์เป็นคนที่ชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร เป็นคนที่ดูแข็งกร้าว ไม่เกรงกลัวใคร ในระหว่างนั้นฮิลด้าได้ส่งมิสซิสบอสตัน หญิงหม้ายวัยกลางคนมาดูแลคลิฟฟอร์ดจึงทำให้คอนนีมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น หล่อนจึงมักไปเดินเล่นที่สวนดอกไม้ซึ่งอยู่ใกล้กระท่อมในป่าของเมลเลอร์อยู่บ่อยๆ จนทั้งสองเกิดความรู้สึกดีๆให้แก่กันจนกลายเป็นความรักและมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ทั้งสองพยายามห้ามใจตัวเอง แต่ก็ทนต่อเสียงเรียกร้องจากหัวใจของตนไม่ได้เช่นกัน จึงได้มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลับๆเรื่อยมาโดยที่คลิฟฟอร์ดไม่รู้

ระหว่างนั้นฮิลด้าได้ชวนคอนนีไปพักผ่อนตากอกกาศซึ่งคอนนีก็ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองว่าหล่อนได้ท้องกับเมลเลอร์ส คอนนีต้องการมีลูกแต่คลิฟฟอร์ดไม่สามารถทำตามความต้องการของเธอได้ เธอจึงตัดสินใจที่จะเก็บเด็กไว้ และบอกความจริงต่อคลิฟฟอร์ดเพื่อขอหย่าขาดซึ่งทำให้คลิฟฟอร์ดรู้สึกเจ็บปวดมาก ส่วนเมลเลอร์สก็ออกจากคฤหาสถ์ไปอยู่บ้านนอก เขาได้ทำงานในฟาร์มแห่งหนึ่งเพื่อเก็บเงินและวางแผนจะขอหย่ากับภรรยาเก่า หลังจากนั้นเขาก็รับคอนนีมาอยู่ด้วย



การเปิดเรื่อง


ผู้แต่งกระทำตนเป็นผู้เล่าเรื่องโดยเปิดเรื่องด้วยการนำเกริ่นออกมาว่า “ยุคสมัยของเราเป็นยุคแห่งความโศก ดังนั้นเราต้องทำใจไม่ยอมโศกไปด้วย แผ่นดินได้ถล่มลงแล้วและเรากำลังอยู่ท่ามกลางความปรักหักพัง เราเริ่มสร้างบ้านเรือนกันใหม่เพื่อจะมีความหวังใหม่ๆไว้บ้าง มันช่างเป็นงานที่แสนจะหนัก ในอนาคตของเราไม่มีถนนราบเรียบอะไรเลย แต่เราก็เดินกันเป็นวงกลมหรือมิฉะนั้นก็ล้มลุกคลุกคลานไป เราจำเป็นจะต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ไม่ว่าฟ้าจะพังทลายลงมาก็ดี” หลังจากนั้นจึงโยงเข้าสู่ชีวิตของตัวละคร คอนสตันซ์(คอนนี) แชตเตอร์เลย์ โดยนำเสนอตัวละครโดยตรง ( Direct Method) หมายถึงผู้แต่งให้รายละเอียดและข้อมูลตัวละครในลักษณะบรรยายองค์ประกอบพื้นฐาน เช่น รายละเอียดเชิงชีวประวัติ ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะความรู้สึกนึกคิดจิตใจ ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น เป็นต้น


การดำเนินเรื่อง


เรื่องดำเนินไปตามลำดับเวลาและลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง ตั้งแต่คลิฟฟอร์ดกลับมาจากสงครามในสภาพของคนพิการและได้พาคอนนีไปอยู่ที่คฤหาสถ์ที่แรกบี้ ต่อมาคอนนีได้พบกับเมลเลอร์สและลอบเจอกันบ่อยครั้งจนความสัมพันธ์ของทั้งคู่แน่นแฟ้นขึ้น จนในที่สุดคอนนีก็ตั้งครรภ์กับเมลเลอร์ส เธอจึงตัดสินใจบอกความจริงและขอหย่ากับคลิฟฟอร์ด ส่วนด้านเมลเลอร์สนั้นก็ได้ลาออกจากการเป็นคนสวนและหวังจะตั้งต้นชีวิตใหม่กับลูกที่กำลังจะเกิดมาและคอนนี

กลวิธีในการเล่าเรื่อง


ผู้แต่งใช้มุมมองของผู้เล่าเรื่องที่ไม่ปรากฏตัวในฐานะตัวละครในเรื่อง ( Narator a Non-particcipant) ในลักษณะผู้เล่าเป็นผู้รู้แจ้ง หรือบางครั้งเรียกว่า “มุมมองแบบสายตาพระเจ้า” ( Ommiscient ) เป็นการเล่าเรื่องในลักษณะผู้เขียนล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องที่เล่าและมีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การกระทำภายนอกและยังล่วงรู้ไปถึงความคิด จิตใจ สัญชาตญาณและความปรารถนาของตัวละครทุกตัว ทำให้ผู้อ่านทราบถึงความคิดที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของตัวละครและสามารถวิเคราะห์จิตใจของตัวละครได้อีกด้วย

นอกจากนี้หากวิเคราะห์ถึงน้ำเสียงและท่าทีของผู้แต่ง การเล่าเรื่องเป็นลักษณะการเล่าเรื่องแบบอัตวิสัย( Supjective) คือผู้แต่งมักจะสอดแทรกความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตนเองลงไปด้วย ซึ่งอาจจะเป็นน้ำเสียงประชด แดกดัน หดหู่หรือเห็นใจ เช่น

“แต่ว่า-นี่แหละ ชีวิต! มันก็มีโชคกรรมเหมือนกับอะไรๆนั่นแหละ มันค่อนข้างจะน่ากลัวแต่เราจะไปดีดเตะอะไรกับมันเล่า! ท่านเตะมันออกไปไม่ได้เลย มันจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ชีวิตมันก็เหมือนๆกัน” (22)


การปิดเรื่อง



เป็นการจบที่ไม่สมบูรณ์ เป็นเพียงการปิดฉากเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครทั้ง 3 ตัวคือ คอนนี เมลเลอร์สและคลิฟฟอร์ด จึงจัดอยู่ในหมวด Realistic Ending หรือจบตามความเป็นจริงในชีวิต เพราะ เมื่อคอนนีได้ทราบว่าตนตั้งครรภ์ รวมไปถึงคลิฟฟอร์ดไล่เมลเลอร์สออกจากงาน เธอจึงไม่มีความจำเป็นที่จะกลับไปปหาคลิฟฟอร์ดแล้ว จึงตัดสินใจหย่าขาดกับเขา แต่เขาไม่ยอม คอนนีไปจากเขาและไปอยู่กับพี่สาว ในด้านของเมลเลอร์สนั้นวางแผนที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อที่จะได้ไปรับคอนนีมาอยู่ด้วยกัน ผู้แต่งจบเรื่องโดยจดหมายที่เมลเลอร์สเขียนถึงคอนนี พร่ำพรรณนาถึงความรู้สึกที่มีต่อคอนนีและความหวังที่จะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง


แก่นรื่อง


ผู้แต่งได้สะท้อนแนวคิดผ่านตัวละคร โดยเผยให้เห็นถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์และสะท้อนก้นบึ้งของหัวใจมนุษย์ปุถุชนธรรมดาผ่านตัวละคร “คอนนี” คือ เธอเป็นหญิงสาวในสังคมชั้นสูงแต่ล้มเหลวในชีวิตแต่งงานเพราะสามีไม่สามารถให้ความสุขทางกายอย่างที่เธอต้องการได้ เธอจึงมีความสัมพันธ์ลับๆกับชายอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีความต้องการตามธรรมชาติ และมันจะถูกต้องหรือที่เราจะสนใจต่อสังคมมากเกินไปจนทำให้ชีวิตของตัวเองเป็นทุกข์


ตัวละครหลัก ( Main Character)


คอนสตันซ์(คอนนี) เป็นตัวละครเอกของเรื่อง เป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์รูปร่างหน้าตาดี เธอถูกส่งให้ไปเรียนที่เมืองเดรสเดนติ้ง ตั้งแต่อายุสิบห้าปี ทำให้เธอมีความเป็นตัวของตัวเองสูง รักอิสระ มีความคิดใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากคนชั้นสูงในยุคนั้น หลังจากแต่งงานกับคลิฟฟอร์ดและกลับไปอยู่ที่คฤหาสน์ที่แรกบี้ฮอล์ล เธอต้องอดทนต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าอึดอัดรอบตัว พร้อมกับคอยดูแลสามีพิการของเธอ เธอก็มีความต้องการเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่เพราะกรอบของสังคมทำให้เธอต้องเก็บมันไว้ จนกลายเป็นความขัดแย้งในใจเธอ แต่สุดท้ายเธอก็ทนไม่ได้จนต้องปล่อยความต้องการนั้นออกมา
คลิฟฟอร์ด เป็นชายหนุ่มที่เกิดในตระกูลชั้นสูงซึ่งเป็นตระกูลทหาร เขาเองก็เป็นทหารเช่นเดียวกัน เนื่องจากการเลี้ยงดูทำให้เขาภูมิในความเป็นคนชั้นสูงและความเป็นทหาร เป็นคนหัวโบราณ ดูถูกคนต่างชนชั้นและถือตัวไม่ยอมใคร ถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนน่าสงสาร มีปมด้อยเนื่องจากเป็นคนพิการ ซึ่งเขาพยายามปกปิดมันเอาไว้จึงใช้ชีวิตแต่งงานกับภรรยาของตัวเองอย่างปกติ เพราะกลัวว่าเธอจะจากเขาไป แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นคนอ่อนแอและต้องการที่พึ่งพิง

เมลเลอร์ส เป็นคนสวนในคฤหาสถ์แชตเตอร์เลย์และเป็นชู้รักของคอนนี เป็นคนฉลาดหลักแหลม บุคลิกภายนอกเป็นคนหยาบกระด้าง แข้งกร้าวแต่จริงๆแล้วเป็นคนอ่อนโยน เพราะเขามีอดีตที่เจ็บปวดกับภรรยาเก่า และตั้งใจจะไม่เชื่อใจผู้หญิงคนไหนอีก ในครั้งแรกที่เจอคอนนี เขาจึงแสดงออกต่อเธออย่างเสียมารยาท แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นทำให้ทั้งคู่มีความรักต่อกันแต่ไม่อาจเปิดเผยได้



ฉาก



ฉากที่สำคัญในเรื่องคือคฤหาสถ์ของคลิฟฟอร์ดที่แรกบี้ ซึ่งมีลักษณะ “สร้างด้วยหินสีน้ำตาลรูปทรงต่ำ เป็นบ้านเก่าแก่ สร้างขึ้นตอนครึ่งศตวรรษที่ 18 ต่อมาได้เสริมขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งในที่สุดก็กลายเป็นบ้านแห่งอุทยานอันสมบูรณ์ด้วยสัตว์และต้นไม้ โดยที่ไม่มีใครรู้จักและสนใจมากนัก ตัวคฤหาสถ์ตั้งเด่นอยู่ในอุทยานของต้นโอ๊ก ถัดไปจะเห็นปล่องโรงงาน บ่อถ่านหินเทเวอร์ชอล ซึ่งพ่นควันและไอน้ำออกมาแลเห็นได้ถนัด และที่ชายเนินซึ่งชอุ่มชุ่มชื่นอยู่ไกลลิบๆ ก็แลเห็นหมู่บ้านเทเวอร์ชอลซึ่งตั้งต้นจากประตูอุทยานยึดแนวเฟื้อยระเกะระกะไม่เป็นระเบียบออกไปราวหนึ่งไมล์ บ้านน้อยเหล่านั้นไม่มีอะไรน่าดู มีลักษณะเป็นกระท่อมสัปรังเค มืดทึบ ไม่น่าอยู่เสียเลย"(21) สถานที่แห่งนั้นเต็มไปด้วยความหม่นหมอง ทะมึนทึม ไร้ชีวิตชีวา วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เต็มไปด้วยความห่างเหินและความเย็นชาต่อกัน “ ขุนนางผัวเมียทั้งสองไม่ได้รับการต้อนรับจากคนพวกนี้เลยขณะที่เข้ามาอยู่ที่บ้านเดิม ไม่มีพิธีอะไรสำหรับเขา แม้แต่ดอกไม้เพียงช่อเดียว” (22) ฉากดังกล่าวมีผลกระทบต่อตัวละครคือคอนนี เพราะเธอแสดงความไม่ชอบต่อสิ่งแวดล้อมในคฤหาสถ์ของคลิฟฟอร์ด จนภายหลังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจก้าวออกไปจากสถานที่แห่งนั้น


ภาพสะท้อน


ผู้แต่งได้ให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ช่วง 80-90 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงหลังสงคราม ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งชนชั้นและแบ่งพวกแบ่งกลุ่ม เก็บงำเอาความไม่ปรารถนาดีเอาไว้ เช่นในตอนที่คลิฟฟอร์ดและคอนนีกลับไปที่แรกบี้ฮอลล์ครั้งแรก การปฏิบัติตัวของคลิฟฟอร์ดต่อคนงานและคนงานต่อคลิฟฟอร์ด ทำให้คอนนีอึดอัดเพราะไม่ใช่การต้อนรับที่ดีนักเพราะเป็นตามมารยาทเท่านั้นเอง เช่น “เมื่อเดินผ่านไป พวกขุดถ่านหินชำเลืองดูอย่างไม่สนใจ พวกพ่อค้ายกหมวกให้คอนนีนิดหน่อยคล้ายแสดงต่อคนที่คุ้นเคยกัน สำหรับคลิฟฟอร์ดเขาก็ก้มศีรษะให้ด้วยท่าทีที่แสนจะงุ่มง่ามเท่านั้นเอง ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่พูดจาทักทายอะไรกันมาก ดูจะตึงๆอะไรกันอยู่”(23)
หรือสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นของคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำกว่าว่ามีการดูถูกคนชั้นต่ำกว่าอย่างชัดเจน เห็นได้จากบุคลิกลักษณะของคลิฟฟอร์ดที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงของอังกฤษซึ่งมักจะ “มองคนที่ต่ำกว่าด้วยสายตากดๆ ไม่ต้องการให้มีหน้ามีตาขึ้นมา” ( 83) หรือลักษณะ “ เก็บตัว เก็บความรู้สึก วางตัวสูงและไม่แยแส ซึ่งเป็นแบบผู้ดีชาวอังกฤษทั้งมวล เขาต้องการความเป็นอิสระ ต้องการจะเชิดศีรษะให้สูง ทำคอให้ตั้ง วางท่าขรึม เดินไปด้วยความหนักหน่วงและสง่า ผู้ดีอย่างนี้ถ้าใครไปคลุกคลีด้วย แม้จะเนื่องมาจากความรู้สึกเป็นมนุษยธรรมแท้ก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง คือกลายเป็นคนเปิ่นไม่เข้าเรื่องไปเลย ด้วยเหตุนี้การเข้าสมาคมกับคนอย่างคลิฟฟอร์ดกับคนอย่างคลิฟฟอร์ดจึงต้องระวังถ้อยคำและเก็บเนื้อเก็บตัวอย่างถึงที่สุด มิฉะนั้นแล้วจะถูกหาว่ารุ่มร่ามอย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าเป็นชั้นเดียวกันกับเขาก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ถ้าหากเป็นคนละชั้นคนละชาติก็เป็นอันว่าไปกันไม่ได้ทีเดียว” ( 89-90)

นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่มีต่อผู้หญิงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีการยอมรับในความเป็นอิสระของผู้หญิงมากขึ้น เช่น ครอบครัวของคอนนีให้อิสระกับเธอมาก จนคอนนี้เป็นผู้หญิงที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองสูง และต่อมากล้าที่ขัดต่อระบบกฎเกณฑ์ค่านิยมของสังคม โดยการมีชู้และขอหย่ากับสามีเก่า ถึงแม้ว่าการประพฤติผิดในกามก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีในสายตาของสังคมนัก แต่ผู้แต่งก็แสดงให้เห็นว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพหนึ่งของมนุษย์และสามารถยอมรับได้ในเหตุผลที่สมควร



คุณค่าของงานวรรณกรรม



ในอดีต งานของดี.เอช.ลอว์เรนซ์หลายชิ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหนังสือนาจาร รวมถึงนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ถึงกระนั้นการถูกนำมาตีพิมพ์ในภายหลังก็ได้ลบล้างคำครหานั้นไปแล้ว ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่สะท้อนภาพของตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ ว่าถึงแม้จะอยู่ในกรอบอันดีงามของสังคม แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถหนีตัวตนที่แท้จริงของตนเองไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย

นอกจากนี้ ความสามารถในการเขียนก็โดดเด่นไม่แพ้กับแนวคิดของเรื่อง กล่าวคือ ผู้แต่งได้สร้างสรรค์ตัวละครได้สมจริงและใช้สำนวนภาษาในการเขียนเป็นลักษณะงานศิลปะที่มีความสวยสดงดงามมาก อย่างที่ หินวงได้กล่าวไว้ในคำนำในฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “ท่านผู้แต่งมีฝีมือมาก ในการวาดภาพชีวิตของมนุษย์ในแบบของธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความเป็นอิสระเสรี ที่เรียกว่ามีฝีมือมาก ก็เพราะท่านสามารถวาดภาพที่วาดให้งามได้ยาก ได้สำเร็จเรียบร้อยทุกภาพด้วยภาษาของท่านตลอด 365 หน้า ของฉบับพิมพ์ ภาพเหล่านี้ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะวาดให้งามได้ง่ายในภาษากวี แต่ด้วยภาษาร้อยแก้วแล้ว ผู้วาดจะต้องใช้ความประณีตมากเหลือเกิน” (6) คุณสมบัติที่สะท้อนสัจธรรมของมนุษย์และความงดงามในการใช้สำนวนภาษานี่เองที่ต่อมาทำให้งานเขียนของ ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ เป็นงานศิลปะมิใช่งานอนาจารอย่างที่เคยกล่าวหากัน.








 

Create Date : 21 เมษายน 2553
2 comments
Last Update : 21 เมษายน 2553 19:59:02 น.
Counter : 15517 Pageviews.

 

น่าอ่านมากค่ะ ชื่อตัวละครเพราะมากๆ

 

โดย: dymeeina 21 เมษายน 2553 20:22:00 น.  

 

เคยอ่าน (นานมากแล้ว)

เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง ภาษาอังกฤษสระสรวย
ไม่เคยอ่านฉบับแปล

คงต้องไปหาไว้ เพราะแปลโดยคุณสด กูรมะโรหิต จะต้องดีแน่ ๆ เช่นกัน

ขอบคุณค่ะ ที่แนะนำ

 

โดย: ธารน้อย 9 พฤษภาคม 2553 2:33:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศิลาจันทรา
Location :
สุพรรณบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หนังสือคือชีวิต
การเขียนคือการเติบโต
เสียงเพลงคือจิตวิญญาณ
การเรียนรู้คือความหมายของการมีชีวิตอยู่
เวลาคือความตาย
ปรัชญาศาสนาคือลมหายใจ
ประวัติศาสตร์คือครู
พระเจ้าคือคู่รัก
ชะตากรรมคือเพื่อน
ความสันโดษคือเสื้อผ้า
ความกล้าหาญคือรองเท้า
ความเชื่อมั่นคือยารักษาโรค
ความหวาดกลัวคืออาวุธ
และจุดสิ้นสุดคือการเริ่มต้น

<><><><>


โอม บังคมพระคเณศ เทวะศิวะบุตร
ฆ่าพิฆนะสิ้นสุด ประลัย
อ้างาม กายะพะพราย ประหนึ่งระวิ
อุทัยก้องโกญจนาทให้ สหรรษ์
เป็นเจ้าสิปปะ ประสิทธิวิวิธวรรณ
วิทยาวิเศษสพรรพะสอน
ยามข้ากอปรกรณี พิธีมยะบวร
จงโปรดประทานพร ประสาท
..มัทนะพาธา (พระราชนิพนธ์ร.๖)..


<><><><>
*
*
*
~*~*~*~


เรายึดถือความจริงดังนี้ว่า
เป็นเรื่องประจักษ์แจ้งในตัวเองที่ว่า
มนุษย์ทั้งปวงต่างถูกสร้างขึ้นมาให้เสมอภาคกัน
ที่ว่าพวกเขาได้รับการประทานจากองค์ผู้สร้าง
พวกเขาซึ่งมีสิทธิอันไม่อาจพรากจากเอาไปได้
ที่ว่าสิทธิเหล่านี้ได้แก่
“ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข”

จากคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา
..เพียงกลีบดอกไม้ล่องลอยไปในสายลม (สร้อยดอกหมาก)..


~*~*~*~
Friends' blogs
[Add ศิลาจันทรา's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.