ติดต่อพูดคุยกันได้ในเฟซบุ๊คเพจนะคะ
https://www.facebook.com/srisurangwriter
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
จันทกินรี ๑




ภาพเขียนฝีมือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต



::…จันทกินรี ๑…::
(สองตอนจบ)

เรียบเรียงและประพันธ์ร้อยกรองโดย ศรีสุรางค์

ความนำ


จันทกินรีนี้เป็นชาดกเรื่องหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้เมื่อครั้งเสด็จโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นการเสด็จคืนพระนครครั้งแรกหลังจากที่ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อประทานพระวโรกาสให้พระนางยโสธราเทวีเข้าเฝ้า

กล่าวถึงเรื่องราวเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์และพระนางเสวยพระชาติเป็นกินนรและกินรี เพราะมีพระประสงค์ให้พระนางมีจิตคลายจากความทุกข์โศกเศร้าหมอง ผ่องแผ้วหมดธุลี เมื่อพระนางได้สดับแล้ว ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบันเมื่อเวลาตรัสจบชาดกนั้นเอง

ชาดกเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของอิสตรีผู้มีบุญญาธิการ ผู้ได้อุทิศชีวิตนับมิถ้วนชาติใฝ่หาหนทางแห่งปัญญาและความหลุดพ้น และเต็มไปด้วยนัยแห่งความหมายที่แฝงข้อคิด และความซาบซึ้งตรึงใจ

หลังจากได้อ่านชาดกนี้แล้วประทับใจ จึงไปค้นคว้าหาเรื่องราวประกอบมาเรียบเรียง เริ่มต้นตั้งแต่พระศาสดาเสด็จจากนครราชคฤห์คืนสู่กบิลพัสดุ์ พบพระนางพิมพา ตรัสชาดกแล้ว ยังได้รวบรวมเรื่องราวของพระนางภายหลังจากที่ออกบรรพชาอุปสมบท ได้บรรลุอรหันต์ เป็นมหาสาวิกาองค์หนึ่ง ตราบจนวาระสุดท้ายที่พระนางปรินิพพานด้วยพอสังเขป เพื่อเป็นข้อความประกอบเบื้องต้นและเบื้องท้ายของชาดกด้วยค่ะ (โดยส่วนที่เป็นคาถาร้อยกรองเป็นกลอนสุภาพ)

ซึ่ง..ข้อความแวดล้อมเหล่านี้เอง ช่วยให้เห็นได้ชัดว่า ตรัสชาดกเรื่องนี้เพราะเหตุใด ได้เห็นความลึกซึ้งของเนื้อความที่ตรัสมากขึ้นกว่านำเสนอชาดกเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้อ่านอาจไม่สามารถซาบซึ้งกับข้อความได้เทียบเท่า

จริยาวัติอันงามของพระนางนับเป็นคุณความดีที่เยี่ยมยอดของสตรี สมควรเป็นตัวอย่างและเป็นที่เคารพบูชา

หวังว่าเรื่องจันทกินรีนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความเพลิดเพลินและข้อคิดในธรรมไปพร้อมๆ กันนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาอ่านค่ะ

ศรีสุรางค์
เรียบเรียงเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙






ภาพเขียนฝีมือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต


เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน
ในฤดูแล้ง
เจ้ากับพี่ขับร้องเพลงเหนือลำน้ำน้อยๆ
นุ่งห่มประดับกายด้วยดอกไม้หอม
มีความสุขทุกทิวาราตรีกาล


………………..






ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กาลเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชานกรุงราชคฤห์นั้น พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาซึ่งทรงคอยสดับข่าวอยู่เสมอ ได้ทราบว่าบัดนี้พระราชบุตรผู้สละเรือนออกแสวงหาโมกขธรรม บำเพ็ญทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี ได้บรรลุพระโพธิญาณแล้ว เสด็จประกาศธรรมจักรอันบวร
เวลานี้ประทับอยู่ในแคว้นมคธ ในอารามอันพระเจ้าพิมพิสารทูลถวายชานนครราชคฤห์ จึงทรงส่งราชบุรุษมาทูลเชิญพระองค์ให้เสด็จคืนสู่กบิลพัสดุ์ เพราะพระพุทธบิดาปรารถนาจะได้พบพระองค์เหลือเกิน

คณะราชบุรุษซึ่งประกอบด้วยอำมาตย์และบริวารอีกพันนาย
จึงเดินทางตามพระบัญชามาเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวันวิหาร ซึ่งห่างไกลจากกบิลพัสดุ์ถึง ๖๐ โยชน์ ได้มาถึงในขณะเวลากำลังทรงแสดงธรรม

ราชบุรุษเหล่านั้นจึงได้ฟังพระธรรมเทศนาก่อนที่จะทูลความ
เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วต่างบรรลุพระอรหัตทั้งสิ้นทุกคน จึงได้อุปสมบทและมิได้กราบทูลสาส์นที่พระบิดาทรงส่งมา

พระเจ้าสุทโธทนะทรงคอย เห็นข่าวคราวเงียบหาย
จึงส่งราชทูตมาอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยอำมาตย์และราชบริวารอีกพันนาย คณะราชทูตที่สองนั้นก็มาได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุอรหันตผล ณ เวลาฟังธรรมนั่นเอง ทูลขอบรรพชาแล้วก็นิ่งเสียมิได้กราบบังคมทูลความเช่นกัน

พระบิดาทรงส่งคณะทูตมาโดยทำนองนี้ทั้งสิ้น ๙ คณะ
มิได้มีอำมาตย์ราชทูตแม้สักคนหนึ่งเลยที่จะได้กลับไปบอกพระองค์ถึงข่าวของสมเด็จพระศาสดา พระพุทธบิดาจึงทรงพระดำริว่า ครั้งนี้เราควรเฟ้นหาผู้ที่จะทำการสนองประสงค์ของเราให้สำเร็จได้

ทรงระลึกถึงกาฬุทายีอำมาตย์ ผู้มีความสามารถในราชกิจ
มีความคุ้นเคยกับพระโพธิสัตว์ในสมัยทรงพระเยาว์ยิ่ง จึงตรัสเรียกกาฬุทายีอำมาตย์นั้นมาว่า

อุทายี เรานี้ส่งราชทูต ๙ นายพร้อมบริวารถึง ๙ พันไป
หมายจะได้ข่าวคราวของบุตร แต่แล้วก็กลับเงียบหายกันไปสิ้น อันตรายแห่งชีวิตของเรานั้นรู้ได้ยากนัก เราแก่แล้ว มิรู้จะมีอันเป็นไปในวันใด เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ก็ปรารถนายิ่งนักจะได้เห็นหน้าบุตรของเราอีกสักครั้ง เจ้าจะสามารถทำความปรารถนานี้ของเราให้สำเร็จสมประสงค์ได้อยู่หรือ

กาฬุทายีอำมาตย์ทูลตอบว่า
เทวะ หากจะทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าบรรพชา ข้าพเจ้าจักอาจ

พระราชาตรัสว่า ดูกรอุทายี มิว่าเจ้าจะบวชฤๅมิได้บวชก็ตาม
ขอให้เราได้เห็นบุตรของเราเถิด

ด้วยประการนี้ กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารอีกพันนาย
ก็ได้เดินทางมาถึงกรุงราชคฤห์ ได้มาถึงเวฬุวันวิหารในกาลที่พระสุคตเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่เช่นกัน อำมาตย์และราชบุรุษทั้งหลายถือพระราชสาส์นยืนฟังพระธรรมอยู่ท้ายที่ประชุมชนนั้นเอง ได้บรรลุพระอรหัตทั้งสิ้น สิ้นกิเลส สิ้นทุกข์แล้ว กราบบังคมทูลขอบวช

พระทศพลประทานบรรพชาโดยตรัสว่า
ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด
ทั้งหมดก็ได้บวชโดยเอหิภิกขุอุปสมปทา เช่นเดียวกันกับคณะราชทูตทั้งหมดที่ได้มาก่อนแล้วนั้นเอง

เวลานั้นเหมันตฤดูได้ผ่านพ้นไปแล้ว
กาลแห่งฤดูวสันต์กำลังมาสู่ ชนทั้งหลายเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แผ่นดินชุ่มชื่น หญ้าอ่อนๆ และดอกไม้เริ่มผลิบาน

พระอุทายีมาถึงได้ ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ ก็เข้า
ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ด้วยเห็นกาลอันควรว่า อากาศไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป หนทางราบรื่นควรแก่การสัญจรแล้ว ปรารถนาจะให้พระองค์เสด็จไปยังนครกบิลพัสดุ์ พรรณนาหนทางเสด็จที่งดงามแด่องค์พระผู้โมลีโลกดังเช่นว่า


ปางนี้สกลสถลมารค
ภิรมย์ภาคด้วยอนันต์พรรณบุปผา
กรุ่นเกสรสราญรื่นสุคนธา
พรมพนาไพโรจน์ระบัดใบ
บ้างผลิผลสุกพรรณระย้าย้อย
โกสุมสร้อยไพรสร้างพร่างไสว
อากาศอุ่นไม่เย็นฤๅร้อนไป
ชลาลัยผลาหารสำราญรมย์
อ่าองค์พระผู้ทรงพิริยภาพ
พระทรงทราบซึ่งสมัยอันเหมาะสม
สัญจรไพรสู่แดนอันอุดม
นิราศคันธอาศรมเสด็จไป



พระศาสดาได้สดับดังนั้นจึงตรัสถามว่า
อุทายี เพราะเหตุไรหนอ เธอจึงพรรณนาการไปด้วยเสียงอันไพเราะ

พระอุทายีจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าแต่พระโลกเชษฐ์
พระเจ้าสุทโธทนะผู้ชนกนาถปรารถนาจะได้เห็นพระองค์ยิ่งนัก ขอจงทรงพระกรุณาเสด็จสงเคราะห์เหล่าพระญาติทั้งหลายเถิด

พระมหามุนีทรงรับว่า ดีแล้วอุทายี เราจะเดินทางไป
สงเคราะห์ญาติทั้งหลาย เธอจงบอกแก่ภิกษุสงฆ์เพื่อเตรียมตนในการเดินทาง

พระเถระอุทายีรับพระดำรัสแล้วได้บอกแก่ภิกษุทั้งปวง


ระยะทางจากกรุงราชคฤห์ที่ประทับอยู่ถึงกบิลพัสดุ์นั้นประมาณ ๖๐ โยชน์
พระพุทธองค์ทรงพระดำริว่าจักนำหมู่ภิกษุเดินทางไปโดยไม่รีบร้อน กำหนดเสด็จเป็นระยะทางวันละ ๑ โยชน์ โดยวิธีนี้ ใช้เวลา ๒ เดือนพระองค์และปวงภิกษุผู้แวดล้อมย่อมเดินทางถึงพระนครกบิลพัสดุ์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเดินทางออกจากเวฬุวัน
พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพ ทั้งสิ้นสองหมื่นองค์ เป็นภิกษุชาวอังคะและมคธหมื่นองค์ ชาวกบิลพัสดุ์หมื่นองค์ ท่านพระอุทายีก็ได้เดินทางล่วงหน้าไปเพื่อแจ้งข่าวแก่พระเจ้าสุทโธทนะผู้บิดาให้ทรงทราบ

พระราชาดีพระทัยนัก

ข่าวเสด็จได้แพร่ไปในสมาคมแห่งเจ้าศากยะทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายได้ให้จัดอุทยานอันน่ารื่นรมย์ของเจ้านิโครธศากยะให้เป็นอารามที่ประทับ ในเวลาแห่งการเสด็จโดยลำดับมา หมู่ชนก็ช่วยกันปลูกสร้างพระกุฎีแลที่สงฆ์เสนาสนวิหารลงในที่นั้น ตกแต่งเป็นสถานอันน่ารื่นรมย์ยิ่งแล้ว ในนามอันเรียกขานกันต่อมาว่า นิโครธาราม

ยามเมื่อพระสัพพัญญูเจ้าเสด็จถึง ได้มีการประดับประดานคร
จัดหมู่กุมารกุมารีที่ตกแต่งงดงามมาต้อนรับเป็นอันมาก พระสุคตได้ประทับท่ามกลางพระญาติทั้งหลาย ตรัสพระธรรมเทศนาที่นิโครธารามนั้นเป็นแห่งแรก ยังเจ้าศากยะทั้งมวล ณ ที่นั้นให้มีใจเลื่อมใสถวายบังคมทั้งสิ้นทุกพระองค์

ยามเช้าในวันถัดมา เนื่องว่ามิได้มีผู้ใดอาราธนาพระองค์
ให้รับอาหารบิณฑบาต หรือทูลเชิญพระองค์เพื่อเสวยพระกระยาหาร ณ สถานแห่งใด พระผู้ประทีปแห่งโลกจึงเสด็จออกทรงบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงพระดำเนินไปตามลำดับแห่งหนทางตามบุพจารีตแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มิได้เสด็จข้ามตรอกหรือลัดลำดับบ้านใดๆ เพื่อจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะเลย

กาลนั้นมหาชนชาวเมืองได้ทราบว่า พระโอรสเจ้า
สิทธัตถราชกุมารมาเที่ยวบิณฑบาต เสด็จมาตามถนนเพื่อขอก้อนข้าวดังนี้ ต่างส่งเสียงร้องบอกกันและกัน ชวนกันเปิดหน้าต่างนิวาสถานทั้งหลายของตน ทั้งบนชั้นที่ ๒ และ ๓ ตื่นเต้นขวนขวายเพื่อจะดูพระองค์

เมื่อนั้น พระนางยโสธรามารดาแห่งพระราหุลประทับอยู่ในปราสาท
สดับสรรพเสียงนฤนาทของชาวชนทั้งหลาย ได้ทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา ณ เบื้องมรรคาวิถีไม่ไกลนี้แล้ว
ก็พระเทวีนั้นนับแต่เจ้าชายเสด็จจากไปเพื่อแสวงหาสัจจธรรม
บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นระยะเวลาหลายปี ตรัสรู้แล้วเสด็จประกาศพระศาสนามาจนถึงบัดนี้นับได้เป็นเวลาถึง ๘ ปี มิได้มีโอกาสพบพระพักตร์แม้สักน้อยหนึ่ง ในวันวานที่เสด็จถึงนิโครธาราม พระนางก็มิได้ออกไปรับเสด็จพร้อมกับพระญาติทั้งหลายแต่อย่างใด

เมื่อมาได้ยินว่าพระลูกเจ้าเสด็จมาดังนี้ มีพระทัยประหวัดถึง
กาลก่อนที่พระราชโอรสเคยเสด็จประพาสพระนครในอดีต เคยทรงราชพาหนะอันงามพร้อม มิว่ากุญชรแก้ว อัศดรแก้ว สีวิกากาญจน์ หรือราชยาน ประดับตกแต่งวิจิตรตรูตาสมพระเกียรติยศ

บัดนี้ทรงเป็นบรรพชิต ปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด
ถือบาตรกระเบื้องดำเนินถนนด้วยพระบาท พระสิริลักษณ์จะแปรไปเช่นใดแล้ว

เสด็จไปที่พระบัญชรเพื่อทอดพระเนตร
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ยังมรรคาทั่วพระนครให้สว่างไสวด้วยพระพุทธสิริอันงามพิลาส รัศมีพระกายอันเรืองรองผ่องแผ้วของพระองค์ยังจิตใจผู้ได้เฝ้าชมพระบารมีให้มีความปีติหาประมาณมิได้
ดุจเดียวกับในพระทัยพระเทวี
ทรงยกย่องบูชาความงามแห่งพระทศพลซึ่งล้วนได้มา
ด้วยการประกอบบุญญาบารมีมากมายในอดีตชาติ แต่ปลายพระเกศาจรดพระบาทคือ ๓๒ มหาปุริสลักษณะ ด้วยพระคาถาอันมีอาทิว่า


เกศแก้วนิลแก้วปกเกศ
นลาตนเรศนิรมลเสมอสูรย์
นาสิกเลิศสิริลักษณ์จำรูญ
นรเศรษฐ์พระพูนฉัพพรรณรัศมิ์



พระเทวีชมพระบารมีแล้วได้เสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะที่
พระตำหนักว่า บัดนี้พระราชบุตรของพระองค์ดำเนินในนครเพื่อบิณฑบาต พระบิตุราชทรงทราบก็ตกพระทัยนัก รีบจัดผ้าสาฎกสะพัก องค์ให้เรียบร้อยด้วยพระหัตถ์เอง ด่วนเสด็จลงจากราชนิเวศน์ออกไปโดยเร็วทีเดียว

เมื่อไปถึงเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ทรงหยุดยืน ตรัสพ้อว่า ไฉนพระองค์จึงทรงกระทำให้หม่อมฉันได้ความอับอายไพร่ฟ้าประชาชนถึงอย่างนี้ เหตุใดจึงเสด็จเที่ยวภิกขาจาร ขออาหารเขาทั่วไป สำคัญพระทัยว่าหม่อมฉันไม่อาจจัดให้ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ได้รับภัตตาหารเพียงพอฉันฉะนั้นหรือ

พระธรรมสามิสรตรัสตอบว่า
มหาบพิตร บิณฑบาตนี้เป็นจารีตตามวงศ์ประเพณีของตถาคต

พระราชาตรัสว่า
ข้าแต่พระมิ่งมุนี วงศ์แห่งกษัตริย์ขัตติยะทั้งปวงหามีประเพณีเที่ยวไปเพื่อภิกขาจารไม่เลย การนี้ผิดธรรมเนียมกษัตริย์ทั้งหลายยิ่ง
พระโลกนาถตรัสว่า กษัตริย์สมมติวงศ์คือวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้เป็นวงศ์ของตถาคตแลพระพุทธเจ้าอื่นๆ ทั้งปวง มิว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดล้วนบำเพ็ญภิกขาจารเพื่ออนุเคราะห์นรชนเป็นวัตรปฏิบัติทั้งสิ้น

ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นเอง
ประทานธรรมเทศนาแด่พระบิดาด้วยคาถานี้ ความว่า


มิควรหมิ่นก้อนข้าวอันเขาให้
พึงประพฤติธรรมไว้ให้สุจริต
ผู้ประพฤติสุจริตธรรมเป็นนิตย์
เป็นสุขทั้งปรอิธโลกา



บุคคลไม่ควรประมาทในอาหารหรือก้อนข้าวที่พึงลุกขึ้นยืนรับ
พึงเพียรประพฤติธรรมให้สุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า

เมื่อจบพระคาถา พระพุทธบิดาก็บรรลุโสดาปัตติผล
เข้าสู่กระแสแห่งธรรมแล้ว เพราะทรงเห็นความจริงในสรรพสิ่งประจักษ์แก่ใจพระองค์เองว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

พระเจ้าสุทโธทนะได้รับบาตรจากพระมุนินทร์
ทูลเชิญเสด็จพระองค์เข้าไปรับภัตตาหารในราชนิเวศน์พร้อมพระอริยสงฆ์ที่ตามเสด็จทั้งหลาย

พระราชาทรงถวายโภชนาหารอันประณีต

เมื่อเวลาหลังจากภัตตาหาร บรรดาฝ่ายสตรีในพระราชวัง
อันมีพระมหาปชาบดี พระน้านางผู้ทรงเคยเลี้ยงดูพระองค์แต่ยามเยาว์เป็นประธานแลเหล่าสนมกำนัลได้พากันเข้ามาถวายบังคมทุกๆ นาง จะเว้นก็แต่พระเทวีมารดาพระราหุลเท่านั้น

แม้ว่านางกำนัลจะได้ไปทูลเชิญพระนางให้เสด็จมา
พระนางก็มิได้เสด็จ ตรัสว่า หากแม้คุณความดีของเรามีอยู่ พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังตำหนักของเราด้วยพระองค์เอง เราจะถวายบังคมพระราชบุตรผู้เสด็จมาเท่านั้น ครั้นดำรัสดังนี้แล้วก็มิได้เสด็จออกไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานบาตรทรงให้พระราชบิดาทรงถือ
เสด็จจากพระราชมณเฑียรโดยมีพระอัครสาวกทั้งสองตามเสด็จ มายังตำหนักของพระราชธิดา รับสั่งแก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะทั้งสองว่า

เมื่อพระนางถวายบังคมตามอัธยาศัย จงปล่อยให้นาง
ไหว้ได้ตามใจ ไม่พึงกล่าววาจาห้ามปรามอย่างไรเลย ด้วยทรงทราบว่าความทุกข์ในพระธิดานั้นมากล้น หากถูกกีดกันห้ามปรามจะทำให้เสียพระทัยมากจนเกินไป

ตรัสว่า ราหุลมารดานี้มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก
ตถาคตเป็นหนี้พิมพา จะได้ใช้หนี้ในกาลบัดนี้

พระโลกโมลิศเสด็จถึงพระตำหนักแล้ว
ประทับ ณ พระที่นั่งที่เขาได้จัดเตรียมถวาย
พระเทวีได้ทราบก็รีบเสด็จมาเฝ้าในทันที
เสด็จเข้ามากอดข้อพระบาทพระสุคตเจ้า ซบพักตร์กับหลังพระบาทบงกชกันแสงโศกาดูร ความโทมนัสบอบช้ำพระทัยตั้งแต่พระภัสดานิราศร้างไป ทั้งความอ้างว้างแลความอัปยศของหญิงหม้ายอยู่ในน้ำพระเนตร

พระราชบิดามีพระราชดำรัสเล่าถึงคุณสมบัติในการวางองค์อันงดงามของราชธิดา ทั้งความรัก ความจงรักภักดีแลความเคารพที่พระนางมีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามิเสื่อมคลายตลอดถึงกาลปัจจุบันว่า

ข้าแต่พระชินวร ธิดาของหม่อมฉันนั้น ตั้งแต่พระองค์เสด็จออกทรงมหาภิเนษกรมณ์ แล้ว ความผ่องแผ้วเบิกบานในจิตใจได้ปลาสนาการไปสิ้น มีแต่วิโยคโศกเศร้ามิเว้นวันวาย

ได้สดับข่าวว่าทรงนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดสีหม่น ก็นุ่งห่มผ้าเช่นนั้นตามเสด็จ ได้ข่าวว่าพระองค์เสวยภัตตาหารหนเดียว ก็ทานวันละหนเดียวบ้าง ได้ทราบว่าพระองค์ไม่ประทับที่นั่งที่นอนอันใหญ่โตอ่อนนุ่ม ตั้งแต่นั้นก็นอนเฉพาะบนที่นอนน้อยเพียงปูลาดด้วยแผ่นผ้าบนพื้นเท่านั้น ทราบว่าพระองค์ทรงละเว้นจากเครื่องหอมและดอกไม้ต่างๆ ก็เลิกละไม่ประดับกายด้วยบุปผามาลา ไม่ทาแต่งน้ำปรุงกลิ่นหอมเลย

ประยูรญาติมากมายทั้งฝ่ายพระธิดาแลฝ่ายเราเวทนาสงสาร
ส่งสารมาเชิญชวนว่าจะรับไปบำรุงเลี้ยงรักษามิให้อนาทร นางก็มิได้เหลียวแลอาลัยในหมู่กษัตริย์ขัตติยชาติพระองค์อื่นใดเลย ตั้งจิตใจสวามิภักดิ์แต่เพียงพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น

พระบรมศาสดาสดับแล้วมีพระราชดำรัสว่า
บรมบพิตร ซึ่งจิตของราชธิดาอันมีบิดาเช่นพระองค์ปกป้องคุ้มครองอยู่บัดนี้ จะมีความสวามิภักดิ์มั่นคงในตถาคตมิเสื่อมคลายในเมื่อมีญาณแก่กล้าแล้วเช่นนี้ มิน่าอัศจรรย์อันใด

พิมพานี้กาลก่อนเมื่อกำเนิดเป็นเพียงดิรัจฉาน ไร้ผู้รักษาคุ้มครอง
เที่ยวไปในเชิงบรรพตเพียงลำพัง ทั้งที่ญาณยังไม่แข็งกล้า ก็รักษาตนได้ดี
แล้วทรงบรรเทาความโทมนัสของพระนางยโสธรา
ตรัสจันทกินนรชาดก
อันเป็นเรื่องราวแต่หนหลังครั้งเมื่อพระองค์และพระนางเสวยพระชาติเป็นกินนรและกินรี ดังมีความสดับมาดังนี้



ภาพเขียนฝีมือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต


อดีตกาลครั้งหนึ่งนานแสนนานมาแล้ว
ในหิมพานต์พนายังมีฝูงกินนรกินรี อาศัยอยู่ ณ บริเวณภูเขาเงินที่มีสีดังดวงจันทร์ ชื่อว่า จันทบรรพต พระโพธิสัตว์เป็นกินนรนามว่า จันทกินนร ภรรยาของเธอนามว่าจันทา

ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตซึ่งครองราชสมบัติในนครพาราณสี
เสด็จออกประพาสป่าเพียงลำพังพระองค์เดียว ทรงผ้าย้อมน้ำฝาดสองผืน พร้อมพระเบญจาวุธ เสด็จท่องเที่ยวล่าสัตว์ และเสวยเนื้อสัตว์ที่ทรงล่าได้นั่นเองเป็นพระกระยาหาร ทรงตระเวนไพรมาจนถึงลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่ง จึงเสด็จตามลำน้ำนั้นขึ้นไป

กาลนั้นเป็นต้นฤดูแล้ง เหล่ากินนรทั้งหลายที่เริงรื่นอยู่
บนจันทบรรพตตลอดฤดูฝนจะเริ่มลงจากภูเขานั้นมายังป่าถิ่นนี้ จันทกินนรก็เที่ยวเล่นลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บพรรณบุปผามาลาและสุคนธชาติอื่นๆ

กินนรนั้นกินเกสรดอกไม้เป็นอาหาร นุ่งห่มประดับกายด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าอันขึ้นอย่างงดงามในป่าซึ่งดาษดาด้วยพืชพันธุ์ใหญ่น้อยดังอุทยานสวรรค์เล่นพลางขับร้องเพลงด้วยเสียงกังวานใสไพเราะมาจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น

ตรงบริเวณที่เป็นคุ้งน้ำแห่งหนึ่งสงัดเงียบ ทั้งสองโปรยปรายกลีบดอกไม้หอมลงในน้ำแล้วลงสรงสนานจนเป็นที่สำราญใจ ถักร้อยมาลาเป็นภูษานุ่งห่ม ตกแต่งที่นั่งนอนเล่นขึ้นด้วยมวลบุปผาอ่อนนุ่มเหนือหาดทรายริมน้ำ ที่ทรายละเอียดนวลนั้นมีสีขาวเพียงแผ่นเงินลาดลงสู่สายธารใสสีคราม

จันทกินนรนั่งบนพรมดอกไม้ ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง
เป่าเป็นท่วงทำนองและขับร้องด้วยความอภิรมย์ จันทกินรีที่ยืนอยู่ใกล้ก็ฟ้อนหัตถ์อ่อนตามท่วงทำนองและร้องคลอไปกับสามีของนาง เสียงใสจะแจ้วเจื้อยฉ่ำหวานแผ่วผ่านไปตามสายลม

พระราชาแห่งพาราณสีเสด็จผ่านมาไม่ไกลได้ยินเสียงของกินนรกินรีทั้งสองนั้น ก็ย่องเข้ามาแอบแฝงต้นไม้ทอดพระเนตร ทรงเห็นนางกินรีงดงามอ่อนหวานเกินสตรีใดก็มิจิตปฏิพัทธ์ ต้องการนางกินรีมาเป็นของตน ดำริว่าจะยิงกินนรนั้นเสียให้สิ้นชีวิต แล้วนำพานางกินรีไป คิดดังนั้นแล้วก็ทรงธนูขึ้น ยิงศรไปถูกจันทกินนร

เธอเจ็บปวดล้มลงเหนือที่นอนดอกไม้บนพื้นดินนั่นเอง
ความเริงรื่นทั้งมวลขาดสิ้นลงในบัดดล จันทกินรีตระหนกตกใจเป็นที่สุด เมื่อเห็นเลือดไหลออกจากปากแผลของพระสวามี แต่มิรู้ว่าจะช่วยเหลือได้โดยประการใด ได้แต่เข้าประคองและร้องไห้ราวหัวใจแตกสลาย

เมื่อนั้นพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นกินนรทราบว่าตนคงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน
มองดูนางกินรีที่ร่ำไห้อยู่ข้างตนด้วยความอาดูรแล้ว กล่าวรำพันเป็นคาถา ความว่า


ลมหายใจสุดท้ายใกล้จะลับ
เจียนชีพดับแล้วลาจันทาพี่
เราคงต้องร้างไกลในวันนี้
ท่วมทุกข์แผดผลาญฤดีให้อาดูร

สำลักเลือดร่ำไห้หทัยเศร้า
โศกใดเท่าร่างทุรนจนสิ้นสูญ
แต่ทุกข์แท้เท่าใดไม่เปรียบปูน
เจ้าจะพูนเทวษท้นถึงพี่ยา

เพียงพืชพรรณเขาพรากให้จากน้ำ
นทีต่ำเหือดแห้งแล้งวัสสา
พี่เหือดแห้งแล้งใจยิ่งใดมา
เพราะรู้ว่าจันทาระทมใจ

เช่นฝนพรำพรมพนาไม่ราร้าง
สุชลพร่างพรมพักตร์ไม่หักหาย
โศกของพี่ครั้งนี้ยิ่งกว่าโศกใด
เพราะเจ้าทุกข์ระทมใจถึงพี่ยา



จันทกินนรกล่าวได้เพียงนี้แล้วก็สิ้นสติไป
นางกินรีก็ร่ำไห้ปริเทวนาการด้วยความวิปโยคโศกเศร้าเหลือที่จะพรรณนา





ศัพท์
ขีณาสพ - ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้หมดกิเลส พระอรหันต์
นิรมล - ไร้มลทิน ผ่องใส ไม่หมองมัว
นรเศรษฐ์ - มนุษย์ผู้ประเสริฐ พระราชา

ฉัพพรรณรัศมิ์ - ฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือสี นีล เหลืองทอง แดงอ่อน ขาวเงิน หงสบาท และประภัสสร
สาฎก - ผ้า ผ้าห่ม ผ้าคลุม
สะพัก - ห่มเฉียงบ่า สะพายเฉียง
ปร - อื่น ต่าง เบื้องหน้า ภายนอก
อิธ - ที่นี่ ในภพนี้ ในโลกนี้
มหาภิเนษกรมณ์ - การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่, การเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า
ทุรน – ดิ้นรน เดือดร้อน (ทุรนทุราย – ดิ้นรนให้พ้นจากทรมาน)




จันทกินรี ๒ (ตอนจบ) คลิ๊กที่นี่ค่ะ





Create Date : 01 กรกฎาคม 2550
Last Update : 23 เมษายน 2553 10:33:28 น. 25 comments
Counter : 9432 Pageviews.

 
เป็นชาดกที่ไม่เคยได้อ่านมาก่อนเลยค่ะ ขอบคุณที่เรียงร้อยอย่างงดงามให้ได้อ่านกัน ^^



โดย: wanderer IP: 125.24.167.39 วันที่: 1 กรกฎาคม 2550 เวลา:22:31:09 น.  

 

สุดบรรยาย..แวะมาทักทาย ฝันดีนะคะ


โดย: lozocat วันที่: 2 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:56:13 น.  

 
มาลงชื่ออ่านกับขออนุญาตแอดบล็อกนะคะ


โดย: ธาร นาวา วันที่: 2 กรกฎาคม 2550 เวลา:3:38:00 น.  

 
คุณ wanderer - ขอบคุณที่มาอ่านนะคะ

คุณ lozocat - ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทายกันค่ะ

คุณ ธาร นาวา - ด้วยความยินดีค่ะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 3 กรกฎาคม 2550 เวลา:11:13:00 น.  

 
ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย ต้องแวะมาอ่านบ่อยๆ แล้ว
ปล. รู้จัก อ.เตือนใจป่าว นามสกุล บัวxx


โดย: ต่อตระกูล วันที่: 3 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:12:43 น.  

 
อ่านแล้วรู้สึกรื่นรมย์มากเลยค่ะ ยิ่งมีภาพของอ.จักรพันธุ์ มาประกอบด้วย ทำให้เห็นภาพมากขึ้นค่ะ จะรออ่านตอนต่อไปค่ะ


โดย: แม่มดจิ๋ว IP: 124.121.161.155 วันที่: 6 กรกฎาคม 2550 เวลา:11:10:28 น.  

 
คุณ ต่อตระกูล - หมายถึง อ.เตือนใจ บัวคลี่ รึเปล่าคะ...เคยได้ยินชื่อค่ะ (แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับท่าน)

คุณ แม่มดจิ๋ว - ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 6 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:42:11 น.  

 
มาลงชื่อด้วยคนค่ะ


โดย: Franc IP: 203.144.184.61 วันที่: 7 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:35:15 น.  

 
หวัดดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมค่ะ สุขสันต์วันหยุดนะค่ะ..


โดย: thattron วันที่: 7 กรกฎาคม 2550 เวลา:20:01:47 น.  

 
คุณ Franc - ขอบคุณค่ะที่มาช่วยลงชื่อ

คุณ thattron - สุขสันต์ร่าเริงวันหยุดเช่นกันค่ะ emo


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 8 กรกฎาคม 2550 เวลา:16:04:39 น.  

 
แวะมาแอบอ่านด้วยอีกคนค่ะ ขอบคุณสำหรับงานดี ๆ ที่เอามาให้ได้อ่านนะคะ


โดย: เปียร์รุส วันที่: 9 กรกฎาคม 2550 เวลา:16:03:54 น.  

 


เจี๊ยบเข้ามา Goodnight หลับฝันดีน่ะค่ะ


โดย: Jeab (rayasuree2526 ) วันที่: 10 กรกฎาคม 2550 เวลา:23:57:11 น.  

 



ความรัก......?

ความรักเหมือนอยู่ในกองไฟ ที่เหน็บหนาว
ความรักเหมือนชัยชนะ ที่พ่ายแพ้
ความรักเหมือนความเจ็บไข้ ที่ไม่รู้จักตาย
ความรักเหมือนความจริง ที่เป็นเท็จ
ความรักเหมือนความสุภาพ ที่บ้าคลั่ง
ความรักเป็นทุกสิ่ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นอะไรเลย.

♣♣♣♣♣♣♣♣

สวัสดีค่ะ เจี๊ยบเข้ามาทักทายค่ะ
ขอบคุณมากน่ะค่ะที่เข้ามาทักทายกัน
คืนนี้หลับฝันดีน่ะค่ะ แล้วพรุ่งนี้พบกันใหม่

รายาสุรีย์ โทณะวณิก (เจี๊ยบ)
วันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๕๐

♣♣♣♣♣♣♣♣



โดย: Jeab (rayasuree2526 ) วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:21:24:57 น.  

 
ยินดีที่ได้รู้จักคนชื่อเดียวกัน ศรีสุรางค์คนนี้อ่านอย่างเดียวเลยค่ะ เขียนไม่เป็น ขออนุญาตเป็นเพื่อนด้วยคนนะคะ


โดย: ศรีสุรางค์ (bearby ) วันที่: 14 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:35:03 น.  

 
คุณ เปียร์รุส - ขอบคุณมากๆ เลยที่มาอ่านค่ะ emo

คุณ Jeab(rayasuree2526) - ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันค่ะ
emoemo

คุณ ศรีสุรางค์ (bearby) - นานๆ จะเจอคนชื่อเดียวกันสักทีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันนะคะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 15 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:11:40 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะที่แวะไปดูแฟนทั่มที่บ้านคุณป้า อิๆๆ
จ๋ายค่าตั๋วแล้วยังเอ่ย??

เข้ามาบ้านนี้แล้วอยากจะร้องกรี๊ดๆๆ แหะๆเจอรูปของศิลปินในดวงใจค่ะ คุณป้าชอบม๊ากๆ มีอยู่สองคนที่คุณป้า
ว่าท่านวาดรูป เหมือนกับเป็นรูปภาพที่ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์วาด
เหมือนกับเป็นรูปภาพที่ถูกเสกมาจากฝีมือของเทวดา คือ
อ.จักรพันธ์ และ อ.เฉลิมชัย ค่ะ ส่วนของอ.ถวัลย์ คุณป้า
เข้าไม่ถึงค่ะ

ก็เหมือนกับคนเขียนหนังสือนั่นแหละ การกลั่นกรอง
เรียงร้อยตัวอักษร สามารถบ่งบอกถึงตัวคนเขียนได้
ให้คุณป้าตายแล้วไปเกิดใหม่ก็เขียนให้เหมือน เอ๊ย
เอาแค่ครึ่งหนึ่งของคุณศรีสุรางค์ ก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่ดูถูกตัวเองนะค่ะ แต่มันไม่ใช่ตัวป้าซ่าส์หง่ะค๋ะ

ป้าซ่าส์มันต้องหยั่งงี้ค่ะ

ย๊าฮู้ !!!!!! วี้ดดดด วิ้วววววว
ฟิ้ววววว ฟ้าววววว
แง่บ แง่บบบ อิๆๆ ไร้สาระสิ้นดี ( ขำตัวเอง อิๆๆ )

ยินดีที่ได้รู้จักค๊า

ปายแร่ะ ฟิ้ววววววววววววววววววววววววววว
( โชว์ออฟค่ะ )


โดย: ป้าซ่าส์ วันที่: 23 กรกฎาคม 2550 เวลา:1:18:38 น.  

 
ปอ ลอ ลืมบอกไปค่ะว่าแวะไปชิม ไฟ ฟ้า
( เพลิง สีน้ำเงิน ) มานิดหน่อย รู้สึกว่ารสชาติ
ถูกปากถูกลิ้นดี เดี๋ยวพรุ่งนี้ว่างๆๆ จะแวะมากินคำโตๆๆ ค่ะ
วันนี้ม่ายหวายแล้ววว ตาจะปิดอยู่แล้วค่ะ กู้ดไน้ท์ค่ะ


โดย: ป้าซ่าส์ วันที่: 23 กรกฎาคม 2550 เวลา:1:25:24 น.  

 
คุณ ป้าซ่าส์ - โอ๊ะ เพิ่งเข้ามาเห็นคอมเม้นท์ค่ะ ตอบช้าไปนิด ขอโทษทีค่ะ

ขอบพระคุณมากๆ เลยนะคะ ที่เข้ามาอ่าน ทั้งเรื่อง จันทกินรีนี้ และเรื่อง เพลิงสีน้ำเงิน ดีใจที่ชอบค่ะ

ภาพเขียนของอจ.จักรพันธ์ เป็น ศิลปินในดวงใจมาตั้งแต่ยังเด็กๆ อยู่เลยค่ะ จำได้ว่า มีสมุดไดอารี่ ที่รวมภาพของ อจ. ไว้เป็นเล่มแรก เฝ้าเวียนดูรูป ดูแล้วดูอีก ด้วยความติดใจ ตอนนี้ก็สะสม การ์ดอวยพร ซึ่งเป็นภาพฝีมือ อจ. กับพวกปฏิทิน น่ะค่ะ

ภาพของ อจ. เฉลิมชัย ก็ชอบนะคะ สีสันสดสวยดี ส่วน อ.ถวัลย์ รู้สึกเข้มขรึมไปสักหน่อย หุหุ

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันนะค้า...


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 5 สิงหาคม 2550 เวลา:9:17:54 น.  

 
กำลังทำรายงานเรื่องนี้อยู่พอดีเลย ขอบคุณค่ะ


โดย: คนสวย IP: 58.9.127.133 วันที่: 8 กันยายน 2550 เวลา:17:50:50 น.  

 
คุณ คนสวย - ยินดีค่ะ ^ ^


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 11 กันยายน 2550 เวลา:11:13:18 น.  

 
คุณเป็นคนทำเกี่ยวกับเรื่องนี้เหรอค่ะคุณศรีสุรางค์
แต่ดิฉันอยากได้เนื้อหามากกว่านี้อีกค่ะ แล้วคุณมีประวัติผู้แต่งหรือเปล่าค่ะ(สมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก) ถ้าไม่เป็นการรบกวนดิฉันอยากให้คุณลงในเน็ตบ้างจะขอบพระคุณมาก ขอบคุณค่ะ


โดย: คนสวย IP: 58.9.127.32 วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:20:31:06 น.  

 
จันทกินรี เป็นชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีที่มาของเรื่องในพระไตรปิฎกนะคะ

เรื่องที่ลงนี้ เรียบเรียงมาจากนั้นค่ะ และแต่งกลอนเอง ในส่วนที่เป็นคาถา (เรียบเรียงเพราะชอบเรื่อง)เนื้อหาในชาดกทั้งหมดก็มีเพียงเท่านี้ เพราะเป็นชาดกสั้นๆ เท่านั้น

ส่วนที่เรียบเรียงตอนต้น กับตอนท้าย ยังเป็นการหาประวัติกับเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมาเสริมขึ้นอีกด้วยแล้วนะคะ (คงจะไม่สามารถมีเนื้อหามากกว่านี้ได้แล้ว นอกจากแต่งเพิ่มเอาเอง ไม่มีที่มาที่ไป)

ที่ถามถึงผู้แต่งนั้น น่าจะเป็น บทละครเรื่องจันทกินนร ซึ่ง สมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ทรงประพันธ์ ซึ่งไม่ทราบจะหาฉบับได้ที่ไหนเหมือนกันค่ะ (หอสมุดแห่งชาติอาจจะมี)

เคยลองเสิร์ชพระประวัติของท่านในเน็ตมีนะคะ ลองเสิร์ชหาดูค่ะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 21 กันยายน 2550 เวลา:20:06:11 น.  

 
ขอบคุณมากนะค่ะ คุณศรีสุรางค์


โดย: คนสวย IP: 58.9.129.115 วันที่: 1 ตุลาคม 2550 เวลา:16:38:09 น.  

 
ขอบคุณมากคะ แต่อยากได้รูปภาพที่มีความคมชัดกว่านี้


โดย: แตง IP: 222.123.98.163 วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:18:44:52 น.  

 
คุณ คนสวย - ค่ะ หวังว่าจะช่วยได้นะคะ ^ ^

คุณ แตง - แหะๆ ภาพที่ลงนี้ก็หามาจากในเน็ตนี่แหละค่ะ ลองเสริจดูนะคะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:17:26:45 น.  

ศรีสุรางค์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]












visit me at:
Srisurang's book recommendations, liked quotes, book clubs, book trivia, book lists (read shelf)




ประวัติผลงาน





สงวนลิขสิทธิ์

การนำส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของงานเขียนในเว็บนี้ ไปเผยแพร่ ดัดแปลง เสนอขาย โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
Srisurang's bookshelf: read

หัวใจที่ถูกจอง รักนี้ (ไม่) มีสตรอว์เบอร์รี รวมมิตรแต้พานิช มายานาง เจ้าดวงใจ คนในผ้าเหลือง A Man in Saffron Robes

More of Srisurang's books »
Book recommendations, book reviews, quotes, book clubs, book trivia, book lists

My Goodreads bookshelf

Dream Lake
Rose
เหยื่ออธรรม
ประมูลหัวใจ
Something About You
ปทมาศวรรย์
อานาปานสติ วิถีแห่งความสุข
Celebrity in Death
The Madness of Lord Ian Mackenzie
รักหลงฤดู
สามชาติสามภพ ป่าท้อสิบหลี่ เล่ม 1
จิตสดใสแม้กายพิการ
Love me, please...เพียงรักฝากใจ
พระสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค๑ และอรรถกถา Tipitaka The Pali Canon (Thai Translation) Book 15
Born in Sin
Dark Desire
ตุ๊กตา
นาคราช
ทวิภพ
Red River, Vol. 8


Srisurang's favorite books »
Friends' blogs
[Add ศรีสุรางค์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.