ติดต่อพูดคุยกันได้ในเฟซบุ๊คเพจนะคะ
https://www.facebook.com/srisurangwriter
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2553
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
พระภูริทัต ตอนที่ ๑







สวัสดีค่ะ

ขอนำชาดกเรื่องพระภูริทัต ซึ่งเรียบเรียงเองมาให้อ่านกันค่ะ

เรื่องนี้เคยพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกเป็นการกุศลแล้วเมื่อ กรกฎาคม ๒๕๔๘
และเคยลงเป็นตอนๆ ในถนนนักเขียน พันทิพย์ ช่วงเดือน มิย.- กค. ๔๙
ตอนนี้หนังสือที่แจกก็หมดไปแล้ว กระทู้ก็ตกหายไปนานแล้ว เลยนำมาลงไว้ในบล็อกอีกครั้งค่ะ







เรื่องพระภูริทัตนี้เป็นชาดกเรื่องที่ ๖ ในทศชาติ
เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาค ทรงบำเพ็ญศีลบารมีค่ะ


เรียบเรียงจาก พระไตรปิฎก (พระสูตรและอรรถกถา(แปล)) ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เทียบเคียงกับฉบับแปลของ พระเจ้าวรวงศเธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ โดยเรียบเรียงสำนวนร้อยแก้วใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น ตัดตรงอธิบายศัพท์ภาษาบาลีที่ซ้ำซ้อน (ในคัมภีร์อรรถกถา) ออกไป ส่วนที่เป็นคาถาก็ร้อยกรองเป็นโคลงสุภาพและร่ายค่ะ พยายามคงเนื้อความใกล้เคียงต้นเรื่องมากที่สุด ไม่ย่อความ ตัดทอน หรือเพิ่มเติมตามความคิดเห็นส่วนตนเข้าไปเท่าที่ทำได้ค่ะ

เลือกเรียบเรียงเรื่อง พระภูริทัต เพราะชอบมาก ในจำนวนทศชาติที่ได้อ่าน เป็นเรื่องที่ส่งเสริมศีล

พระโพธิสัตว์สมัยซึ่งเสวยพระชาติเป็นภูริทัตนาคราชได้ใช้ความพยายามอันใหญ่ ยิ่งเพื่อรักษาพระทัยให้คงมั่นในศีลอันบริสุทธิ์ เพื่อผลอันงดงามทั้งในโลกนี้แลโลกหน้า ทั้งเพื่อประโยชน์สุขแห่งพระองค์เองและมหาชน

ขอให้จิตอันเป็นกุศลจงบังเกิดและสถิตอยู่ในใจทุกๆ คนค่ะ









ภูริทัตชาดก
เรียบเรียงและประพันธ์โคลงโดย ศรีสุรางค์



...ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น...



ในกาลเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ชานกรุงสาวัตถีนั้น ในวันอุโบสถหนึ่ง อุบาสกทั้งหลายได้อธิษฐานรักษาอุโบสถศีลแต่เช้าตรู่ ถวายทานแล้ว ต่างถือเครื่องหอมและบุปผามาลัยไปยังธรรมสภาเพื่อฟังธรรม

ในกาลนั้นพระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ทอดพระเนตรอุบาสกเหล่านั้น ตรัสปราศรัยแล้ว ทรงถามว่า พวกเธอรักษาอุโบสถศีลกันหรืออุบาสกทั้งหลาย เมื่อพวกเขากราบทูลให้ทรงทราบ จึงประทานสาธุการแล้วตรัสว่า

ข้อที่พวกเธอกระทำอุโบสถด้วยได้โอวาทของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้พร้อมแล้วเช่นในบัดนี้นั้น แม้เป็นการกระทำอันงามก็ไม่น่าอัศจรรย์อันใด บัณฑิตแต่โบราณสละยศและความรื่นรมย์อันใหญ่ยิ่ง ทั้งที่การณ์ทั้งหลายไม่เอื้อเฟื้อเลย อดทนต่อทัณฑ์ทรมานยังรักษาศีลของตนได้ ดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพ

ภิกษุทั้งหลายในที่นั้น ได้ทูลอาราธนา จึงทรงเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของบัณฑิตผู้นั้นประทานแก่มหาชนดังนี้...



ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี เมืองหลวงแห่งแคว้นกาสีนั้น พระองค์ทรงตั้งพระโอรสไว้ในตำแหน่งอุปราช แต่แล้วกลับระแวงว่าพระโอรสผู้มียศใหญ่จะชิงราชสมบัติของพระองค์เสีย จึงทรงเรียกราชโอรสมา ตรัสสั่งให้พระโอรสนั้นออกไปจากเมือง อาศัยอยู่ในสถานที่ๆ ตนพึงพอใจ จนกว่ารัชสมัยจะสิ้น พระองค์เสด็จสวรรคตแล้วจึงค่อยกลับมารับสืบทอดราชสมบัติต่อไป

พระโอรสรับพระดำรัสแล้วเสด็จออกจากนครมายังฝั่งแม่น้ำยมุนา ให้สร้างบรรณศาลาขึ้นในระหว่างแม่น้ำ ทะเลและภูเขา บรรพชาแล้วอาศัยอยู่ที่นั้นโดยมีผลไม้และรากไม้เป็นอาหาร

ครั้งนั้น มีนางนาคมาณวิกา ผู้หนึ่ง เป็นม่ายสามีตาย มักขึ้นจากภพนาคมายังฝั่งน้ำ เห็นรอยเท้าของพระโอรส จึงเดินตามรอยเท้ามาจนถึงบรรณศาลา แต่ขณะนั้นพระโอรสไม่อยู่ เสด็จไปแสวงหาผลไม้ในป่า นางเข้าไปในบรรณศาลา เห็นเครื่องลาดทำด้วยไม้และบริขารต่างๆ แล้วคิดว่า นี้คงเป็นที่อยู่ของบรรพชิต เราจักทดลองดู ว่าเขาบวชด้วยศรัทธาหรือไม่

ครั้นแล้วจึงรีบกลับไปยังภพนาค นำดอกไม้และเครื่องหอมอันเป็นทิพย์มา จัดแต่งที่นอนดอกไม้ขึ้นในบรรณศาลา ประพรมเครื่องหอมโดยทั่ว คิดว่า ถ้าเขาบวชด้วยศรัทธา น้อมไปในเนกขัมมะ ย่อมไม่ยินดีในที่นอนที่เราตกแต่งไว้นี้ แต่หากเขายังยินดีในกามสุข หาได้บวชด้วยศรัทธาไม่ ก็คงจะนอนในที่นอนดอกไม้นี้ เราก็จักจับเขาให้เป็นสามี แล้วอยู่ด้วยกันกับเขาที่นี่ คิดดังนั้นแล้วนางก็กลับไปสู่ภพนาคดังเดิม

ฝ่ายพระราชโอรส เสด็จกลับสู่บรรณศาลาเพลาเย็นแล้ว ทอดพระเนตรความเป็นไปนั้น สงสัยว่า ใครหนอมาจัดแจงที่นอนนี้ เสวยผลไม้ต่างๆ แล้ว ดำริอยู่แต่ว่า ดอกไม้ช่างมีกลิ่นหอม ดอกไม้มีสุวคนธรสรื่นน่าอภิรมย์เหลือเกิน ใครช่างมาตกแต่งที่นอนที่น่าชอบใจนี้ให้เรา มีความโสมนัสเพราะมิได้บวชด้วยศรัทธา บรรทมบนบุษปบรรจถรณ์อันประกอบขึ้นด้วยกลีบมาลาทิพย์อันอ่อนนุ่มนั้นตลอดคืน

ยามเช้าเมื่ออาทิตย์ขึ้น เสด็จไปหาผลไม้น้อยใหญ่ดังเคย แต่มิได้กวาดบรรณศาลาเสียก่อน นางนาคมาณวิกามาเห็นดอกไม้เหี่ยวแห้งก็รู้ว่า ท่านผู้นี้ยังยินดีในกามสุข มิได้บวชด้วยศรัทธา เราอาจจะจับเขาได้ ดังนี้แล้วจึงนำดอกไม้เก่าๆ ออกไป นำดอกไม้ใหม่มาจัดตกแต่งที่นอนที่สวยงามและหอมละมุนอย่างนั้นอีกครั้ง นางประดับบรรณศาลา เกลี่ยดอกไม้ในที่จงกรมแล้วจึงกลับไปยังภพนาคตามเดิม

ราตรีนั้น พระโอรสก็บรรทมบนที่นอนดอกไม้


รุ่งเช้า พระองค์หาได้เสด็จไปเพื่อแสวงหาผลไม้น้อยใหญ่แต่อย่างใดไม่ ประทับยืนแอบอยู่ไม่ไกลจากบรรณศาลาเพราะอยากจะทราบว่า ใครหนอประดับประดาที่อยู่ของเรานี้

ฝ่ายนางนาคมาณวิกา ถือเครื่องหอมและดอกไม้มากมายมายังอาศรมบท พระโอรสเห็นนางนาคผู้มีรูปงดงาม สิริโฉมวิไลตานั้นแล้ว พอพระทัยรัก ไม่แสดงตนต่อนางแต่แรก หากตามเข้าไปในบรรณศาลาเวลาที่นางกำลังจัดแต่งดอกไม้ ตรัสถามว่า เจ้าเป็นใคร ?

นางตอบว่า ฉันคือนางนาคมาณวิกา

เธอมีสามีหรือไม่ ?

ข้าแต่ท่าน เมื่อก่อนนี้ฉันมีสามี แต่บัดนี้หามีไม่แล้วเป็นม่ายอยู่ ท่านเล่าคือผู้ใด ?

ฉันเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี ก็เจ้าเล่าเหตุใดจึงมาจากภพนาคสู่ที่นี้ ?

ข้าแต่พระโอรส หม่อมฉันเห็นนางนาคอื่นๆ อยู่พร้อมหน้าสามี ยังมิอาจละกิเลส ออกจากภพนาคมาเพื่อแสวงหาสามีเพคะ

นางเอย แม้เราก็มิได้บวชด้วยศรัทธา แต่เพราะว่าพระบิดาขับไล่ เราจึงมาอยู่ในที่นี้ ถ้าเช่นนั้น เราทั้งสองควรอยู่ร่วมกัน เราจะเป็นสามีคุ้มครองเจ้าเอง

ดังนี้ทั้งสองจึงอยู่ด้วยกัน ณ ที่นั้น นางนาคสร้างตำหนักอันงดงามสูงค่าด้วยอานุภาพของตนแล้ว ประดับตกแต่งบัลลังก์และที่บรรจถรณ์ ถวายอาหารและน้ำอันเป็นทิพย์แก่พระโอรส จำเดิมแต่นั้นมา



***********************************************************

ดุษณีภาพ - ความนิ่ง
มาณวิกา - (มา นะ วิ กา) หญิงสาว หญิงรุ่น
เนกขัมมะ – การออกบวช การออกจากกาม ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน
















ต่อมานางนาคมาณวิกาตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย ญาติทั้งหลายขนานนามให้ว่า สาครพรหมทัต เพราะเหตุที่ประสูติที่ฝั่งแม่น้ำสาคร ในเวลาที่บุตรชายเติบโตพอเดินเล่นได้ นางก็ได้บุตรหญิงอีกผู้หนึ่ง ประสูติที่ริมฝั่งทะเล จึงขนานนามว่า สมุททชา


กาลล่วงไป วันหนึ่ง ได้มีพรานชาวกรุงพาราณสีผู้หนึ่งผ่านมา เขาจดจำพระโอรสได้ ได้พำนักอยู่ด้วย ๒-๓ วันแล้วลาไป บอกแก่พระโอรสว่า จะส่งข่าวแก่ราชตระกูลว่าพระองค์ทรงพำนักอยู่ ณ ที่นี้


เมื่อพรานไพรเข้าไปสู่นคร กลับพบว่าพระราชาสวรรคตเสียแล้วในเวลานั้น เมื่อจัดงานพระศพเสร็จแล้ว ๗ วัน พวกอำมาตย์ก็ปรึกษากันเพื่อหาองค์รัชทายาท ต่างก็ไม่ทราบที่อยู่ของพระโอรส พอดีกับที่พรานไพรทราบเรื่องนั้น จึงได้เข้าไปหาเหล่าอำมาตย์ เล่าการที่ตนได้พบพระโอรสแล้ว นำทางพาเหล่ามนตรีไป

พวกเขาได้นำราชสมบัติไปทูลถวาย พระราชโอรสดำริถึงนางนาคมาณวิกา มิทราบว่านางจะยินดีไปด้วยพระองค์หรือไม่ จึงเข้าไปหา ตรัสบอกว่า

นางผู้เจริญ บัดนี้พระบิดาของเราสวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายมาที่นี่เพื่อยกฉัตรให้เรา ไปกันเถิด เราทั้งสองจักได้ครองรัชสมบัติในกรุงพาราณสีอันยิ่งใหญ่ถึง ๑๒ โยชน์ เธอจะเป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง

ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันมิสามารถไปกับพระองค์ได้

เพราะเหตุใดเล่านาง ?

หม่อมฉันเป็นอสรพิษร้าย โกรธง่าย อาจโกรธแม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย และการมีสามีร่วมกับสตรีอื่นนั้นเป็นภาระหนัก ยากที่จะระงับจิตใจ ถ้าหม่อมฉันเห็นหรือได้ยินสิ่งใดระคายเคืองใจจักโกรธ ก็เมื่อโกรธแล้ว แลดูสิ่งใดสิ่งนั้นย่อมกระจัดกระจายไปเป็นเหมือนธุลีเพราะอานุภาพนาค เหตุนี้หม่อมฉันจึงไม่อาจไปด้วยท่าน


พระโอรสเฝ้าอ้อนวอนนางให้ไปด้วยพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งถึงวันรุ่งขึ้น นางก็ยังไม่ยอมไป นางกล่าวกับพระองค์ว่า


หม่อมฉันจักไม่ไปมิว่าท่านจะตรัสเช่นไร แต่ว่า บุตรและบุตรีของเราทั้งสองนี้เป็นมนุษย์ เพราะเกิดโดยสมภพกับท่าน ท่านจงเมตตาระมัดระวังดูแลบุตรทั้งสองด้วยเถิด บุตรทั้งสองนี้เป็นผู้ละเอียดอ่อนด้วยสายเลือดผู้อาศัยในน้ำ หากเดินทางลำบากด้วยลมแดดอาจถึงชีวิต ท่านพึงให้เขาขุดเรือลำหนึ่ง ใส่น้ำให้เต็มแล้วให้บุตรทั้งสองของเราเล่นอยู่ในน้ำขณะนำเขาไป เขาจะได้ไม่เป็นอันตราย เมื่อถึงพระนครแล้วขอพระองค์โปรดขุดสระโบกขรณีให้บุตรทั้งสองได้ลงเล่นด้วย

นางสั่งเสียแล้ว ถวายบังคมลาพระโอรส กอดกุมารกุมารี จุมพิตที่ศีรษะมอบแด่พระโอรส โศกเศร้าคร่ำครวญใบหน้านองด้วยน้ำตากลับสู่ภพนาคโดยหายไป ณ ที่นั้นเอง

พระโอรสโทมนัสนัก ทรงกันแสงอาลัยพระนาง ออกจากพระนิเวศน์ ระงับพระอัสสุชลแล้วเข้าไปหาเหล่าอำมาตย์ พวกเขาอภิเษกพระองค์ ณ ที่นั้นเอง แล้วจึงอัญเชิญพระองค์เข้าสู่พระนคร พระราชาตรัสให้เขาขุดเรือยกขึ้นบนเกวียน ใส่น้ำให้เต็มแล้วจึงนำพระโอรสธิดาไป โดยประการเช่นนี้การเดินทางย่อมสบาย

เสด็จสู่นครแล้วทรงครอบครองราชสมบัติอันโอฬาร แวดล้อมด้วยสตรีนักฟ้อนรำ เสนาอำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ ทรงให้สร้างสระโบกขรณี พระโอรสธิดาทรงเล่นที่นั้น เกษมสำราญเป็นนิตย์มา


ต่อมา ในวันหนึ่ง พวกพระลูกเธอเล่นน้ำอยู่ในสระโบกขรณี มีเต่าตัวหนึ่งซึ่งลงไปในสระแล้วหาทางขึ้นไม่ได้ดำลงอยู่ที่ก้นสระนั้น ในเวลาที่เด็กเล่นน้ำอยู่ เต่าได้โผล่ขึ้นมา พอเต่าเห็นพวกเด็กก็ตกใจดำลงไปก้นสระดังเดิม พวกเด็กๆ เห็นเต่าต่างก็ตกใจกลัวเช่นกัน รีบวิ่งไปหาพระบิดาทูลว่า ท่านพ่อ ในสระโบกขรณีมียักษ์ ลูกกลัว

พระราชาทรงสั่งราชบุรุษให้ไปจับยักษ์นั้นมาให้ได้ พวกราชบุรุษก็ไปทอดแหนำเต่าไปถวายพระราชา พระกุมารทั้งหลายเห็นเต่าก็ร้องว่า นี้ปิศาจท่านพ่อ นี้ปิศาจ

พระราชากริ้วเต่าด้วยความรักในบุตร จึงสั่งให้นำเต่านั้นไปลงโทษ พวกราชบุรุษต่างเสนอโทษเต่าต่างๆ กัน คนหนึ่งว่า เต่านี้ร้ายนักทำให้ระคายเคืองเบื้องพระบาท ควรเอาใส่ครกแล้วเอาสากตำให้แหลกละเอียด

อีกคนหนึ่งว่า ควรจะปิ้งไฟให้สุกถึง ๓ ครั้ง แล้วกินเสีย

อีกคนหนึ่งว่า ควรจะต้มมันในกระทะ

แต่อำมาตย์คนหนึ่งผู้เป็นคนกลัวน้ำเสนอว่า ควรจะโยนเต่านี้ลงในน้ำวนที่แม่น้ำยมุนา มันย่อมถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ไม่มีวันได้ผุดขึ้นมาอีกเลย

ตลอดเวลาที่ฟังอยู่ เต่าหดหัวด้วยความกลัวอย่างยิ่ง จนกระทั่งได้ยินอำมาตย์คนสุดท้ายพูด มันจึงยืดหัวโผล่ขึ้นแล้วพูดว่า

ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ เพราะเหตุใดหรือ ? เราทำความผิดสิ่งใด ? ท่านถึงได้พิจารณาลงโทษหนักอย่างนี้แก่เรา จะทำอะไรๆ อื่นเราย่อมทนได้ แต่จะโยนเราลงในน้ำวนนั้น... โอ ท่านผู้นี้หยาบช้าเหลือเกิน ท่านอย่ากล่าวถึงการกระทำอันร้ายกาจอย่างนี้อีกเลย เรากลัวแล้ว

พระราชาสดับดังนั้น เห็นควรว่าจะลงโทษเต่าอย่างนี้แหละมันจึงจะทุกข์ที่สุด แล้วจึงให้ทิ้งเต่าลงในน้ำวนในแม่น้ำ ยมุนา เต่าเจ้าเล่ห์ดีใจ ตกลงไปในห้วงน้ำ พอดีกับทางที่จะไปสู่ภพนาคได้แห่งหนึ่ง มันจึงว่ายเข้าไปทางนั้น

ครั้งนั้น เหล่านาคมาณพ บุตรของพญา นาคนามธตรฐ กำลังเล่นน้ำอยู่ในห้วงน้ำนั้น เห็นเต่าว่ายมาจึงชักชวนกันว่า เราช่วยกันจับมันมาเป็นทาสเราดีกว่า

เต่าตกใจ คิดว่าพ้นจากพระเจ้าพาราณสีแล้วมาเจอพวกนาคเกเรเหล่านี้อีก ทำอย่างไรถึงจะรอดไปได้เล่า อย่ากระนั้นเลย จะต้องแต่งอุบายโกหกพวกมันเพื่อเอาตัวรอดดีกว่า ว่าแล้วก็หลอกพวกนาคหนุ่มว่า

ทำไมพวกท่านจึงพูดกะเราอย่างนี้ พวกท่านมาจากสำนักของพญานาคธตรฐใช่ไหม นี่แน่ะ เราเป็นเต่า ชื่อจิตตจูฬ เป็นทูตของพระเจ้าพาราณสีเชียวนะ พระราชาของเราประสงค์จะยกราชธิดาให้แก่พญานาคธตรฐถึงได้ส่งเรามา จงพาเราไปหาพญานาคโดยเร็ว

นาคมาณพเหล่านั้นหลงเชื่อพากันดีใจ นำเต่าไปเฝ้าพระราชาแห่งนาค กราบทูลตามที่เต่าว่ามาทั้งหมด พระจอมภพนาคทอดพระเนตรเต่านั้นแล้วตรัสว่า

ผู้มีรูปกายน่าเกลียดถึงปานนี้น่ะหรือ มาเป็นทูตสื่อราชสาร ?

เต่าได้ฟังดังนั้นวิตกกลัวความแตกจึงแก้ไขด้วยปัญญาว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็ทูตทั้งหลายนั้นจำต้องมีร่างกายงดงามดั่งลำตาลเท่านั้นหรือ ร่างกายใหญ่โตหรือเล็กน้อยนั้นไม่เป็นข้อสำคัญเลย ความสามารถในการทำกิจธุระให้สำเร็จลุล่วงโดยดีต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ ทูตของพระราชาของข้าพเจ้าจำนวนมากเป็นมนุษย์ ย่อมสื่อราชกิจบนแผ่นดินอันเป็นเมืองมนุษย์ นกย่อมทำราชการบนอากาศ

ข้าพระองค์ชื่อจิตตจูฬนี้ เป็นที่โปรดปรานของพระราชา ได้เป็นถึงผู้ปกครองหมู่บ้าน จะทำราชการในน้ำ ย่อมต้องอาศัยเต่า ขอพระองค์อย่าทรงดูหมิ่นข้าพระองค์เลย

เต่าพรรณนาโวหารสรรเสริญคุณของตนอีกเป็นอันมาก

พญานาคธตรฐสดับแล้ว จึงถามเต่านั้นว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีส่งเจ้ามาด้วยเหตุใด ?

ข้าแต่มหาราช พระราชาของข้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า จะทรงผูกมิตรกับพระราชาทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้น และจะทรงผูกมิตรกับพญานาคธตรฐคือพระองค์ด้วย จะประทานราชธิดาสมุททชาแก่ท่าน จึงทรงส่งข้าพเจ้ามา ขอพระองค์อย่าช้าเร่งส่ง ราชบุรุษทั้งหลายไปกับข้าเพื่อกำหนดวันมงคลเถิด

พญานาคยินดี ขอบใจเต่าแล้วส่งนาคมาณพ ๔ นายไปกับเต่าเพื่อเฝ้าพระเจ้าพาราณสีเพื่อกำหนดวันมงคล นาคหนุ่มเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้วจึงพาเต่าออกจากภพนาคขึ้นมา


ระหว่างเดินทางจากแม่น้ำยมุนามายังกรุงพาราณสีนั้น เต่าคอยหาทางหนีทีไล่จะหนีไปอยู่ มองเห็นสระปทุมสระหนึ่งจึงได้อุบายบอกกับพวกนาคว่า

ดูกรนาคมาณพทั้งหลาย พระราชาและพระโอรสธิดา มเหสีเทวี เห็นข้าพเจ้าแล้วมักถามว่า จิตตจูฬได้นำดอกบัว รากบัว เหง้าบัว มาฝากพวกเราบ้างหรือไม่เล่า ? พวกท่านจงปล่อยข้าที่สระนี้แล้วไปกันก่อนเถิด เราจักเก็บดอกบัว รากบัว พอควรไปถวายแล้วจึงจะตามไป แล้วค่อยพบกับพวกท่านที่พระราชนิเวศน์ก็แล้วกัน

นาคมาณพหลงเชื่อจึงปล่อยเต่านั้นไป เต่ารีบไปแอบซ่อนตัวอยู่แถวนั้น เหล่ามาณพไม่เห็นเต่าแล้ว ไม่อยากที่จะรอจึงพากันไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี โดยนิรมิตร่างกายอย่างมนุษย์นั่นเอง



จบกัจฉปกัณฑ์


***********************************************************

มาณพ - ชายหนุ่ม ชายรุ่น
กัจฉป - เต่า



Link ตอนที่ ๒








Create Date : 02 พฤษภาคม 2553
Last Update : 1 มิถุนายน 2553 13:22:02 น. 0 comments
Counter : 2539 Pageviews.

ศรีสุรางค์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]












visit me at:
Srisurang's book recommendations, liked quotes, book clubs, book trivia, book lists (read shelf)




ประวัติผลงาน





สงวนลิขสิทธิ์

การนำส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของงานเขียนในเว็บนี้ ไปเผยแพร่ ดัดแปลง เสนอขาย โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
Srisurang's bookshelf: read

หัวใจที่ถูกจอง รักนี้ (ไม่) มีสตรอว์เบอร์รี รวมมิตรแต้พานิช มายานาง เจ้าดวงใจ คนในผ้าเหลือง A Man in Saffron Robes

More of Srisurang's books »
Book recommendations, book reviews, quotes, book clubs, book trivia, book lists

My Goodreads bookshelf

Dream Lake
Rose
เหยื่ออธรรม
ประมูลหัวใจ
Something About You
ปทมาศวรรย์
อานาปานสติ วิถีแห่งความสุข
Celebrity in Death
The Madness of Lord Ian Mackenzie
รักหลงฤดู
สามชาติสามภพ ป่าท้อสิบหลี่ เล่ม 1
จิตสดใสแม้กายพิการ
Love me, please...เพียงรักฝากใจ
พระสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค๑ และอรรถกถา Tipitaka The Pali Canon (Thai Translation) Book 15
Born in Sin
Dark Desire
ตุ๊กตา
นาคราช
ทวิภพ
Red River, Vol. 8


Srisurang's favorite books »
Friends' blogs
[Add ศรีสุรางค์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.