เมษายน 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
5 เมษายน 2552
 

บุหรี่ไฟฟ้า..แก้ปัญหาได้หรือไม่? ตอน 1


: เข้าหน้าสารบัญหลักเพื่อดูทุกหัวข้อ..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : ประสบการณ์ผ่านเต้า (ตัวเอง)..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนหย่อมลอยฟ้าราคาประหยัด..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนกล้วยลอยฟ้าบนอาคารสูง 6 ชั้น..."คลิ๊กที่นี่
"




**บทความที่เกี่ยวข้อง...บุหรี่ไฟฟ้า (E-CIGARETTE) ":คลิ๊กดู "บุหรี่ไฟฟ้าภาค 2...ได้ที่ลิงค์นี้ ณ คะ":"





:บทความเบื้องต้น: เบรคนี้มาแปลกนิดหนึ่ง บังเอิญไปเห็นบุหรี่ชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นของใหม่ เพราะวิธีการใช้เรียกความฮือฮาได้พอสมควร บิ๊กบอสได้ซื้อติดมือกลับมาจากเมืองจีน เพื่อนำไปฝากเพื่อนของท่าน ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อนของท่านและคนรอบข้างอาจได้รับอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่จริง (หรือเปล่า?) ผลการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตพบว่ามันคือ “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือ “บุหรี่อิเลคทรอนิคส์” ภาษาสากลจะใช้คำกว่า “E-CIGARETTE” (Electronic Cigarette) จากข้อมูลทำให้เราพบว่ามันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร เพียงแต่เป็นกลุ่มข่าวที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก้อเท่านั้นเอง แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันก้อยังไม่ใช่เรื่องเก่าจนเกินไป เพราะจากผลการสอบถามในกลุ่มคนทั่วไป พบว่าคนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า หากบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีไฮไลท์เด่นในบางประการ เราคงไม่เปิดเบรคนี้ขึ้นมา เพราะไม่มีอะไรนอกจากความเป็นอิเลคทรอนิคส์ทางด้านกายภาพเท่านั้น และบุหรี่ทุกชนิดไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาในการเผยแพร่หรือเป็นการแนะนำให้คนที่ไม่สูบบุหรี่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่เป็นการนำบุหรี่ไฟฟ้ามาค้นหาข้อเท็จจริงว่าในรายของผู้สูบบุหรี่ที่ยังไม่สามารถเลิกได้นั้น เมื่อหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ตัวเองและคนรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการสูบบุหรี่จริง หรือมันอาจเป็นหนทางไปสู่การเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร โดยไม่เกิดอาการทุรนทุรายลิซึ่ม ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นความจริงหรือไม่?...โปรดติดตาม




:ซาปอนด์เซอร์: "Thailand's E-Cigarette" เป็นเว็บไซด์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้มีประสบการณ์ตรงของเมืองไทย เนื่องจากเรามีตัวอย่างบุหรี่ที่ได้รับมาจากบิ๊กบอสเพียงสปีซี่ส์เดียว จึงได้ติดต่อขอถ่ายภาพจากเว็บมาสเตอร์ดังกล่าว ซึ่ง Mr.Vaporman กรุณาต่อเราด้วยการส่งตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้ามาให้จำนวน 4 ชิ้น เพื่อถ่ายภาพประกอบบทความ กราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ "ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจาก “Thailand's E-Cigarette” คลิ๊กได้ที่ลิ้งค์นี้ ณ คะ"




:คำศัพท์เฉพาะกิจที่ควรรู้ในบทความนี้: ปั๊ม : หมายถึงลักษณะของการดูดบุหรี่ลงปอดโดยใช้ปาก เมื่ออัดลงปอดแล้วพ่นออกมา 1 ครั้ง จะเรียกว่า 1 ปั๊ม หากอัดลงปอดแล้วพ่นออกมาจำนวน 100 ครั้ง จะเรียกว่า 100 ปั๊ม เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาเฉพาะกิจในกลุ่มคนสูบบุหรี่ ดังนั้นคำว่า “ปั๊ม” ที่เราใช้ประกอบบทความในนี้ทั้งหมดจะเป็นคำกริยา ไม่ใช่ประธานที่หมายถึง ปั๊มปิโตรเลียม ปั๊มเอสโซ่ (ฮา) ในคำว่า “ปั๊ม” นี้ บางกลุ่มคนอาจใช้คำว่า “ฟี๊ด” คือเป็นกริยาที่มีลักษณะการดูดอัดลงปอดแล้วพ่นออกเช่นเดียวกัน ดังนั้นความหมายของคำว่า “ปั๊ม” และ “ฟี๊ด” ของกลุ่มคนสูบบุหรี่จึงไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เราเลือกใช้คำว่า “ปั๊ม” เท่านั้นเอง

บุหรี่จริง : หมายถึง บุหรี่ที่เราเห็นวางขายตามร้านค้าทั่วไป ทำจากใบยาสูบ ต้องใช้ไฟในการจุดติดทำให้เกิดการเผาไหม้ อาจแบ่งกลุ่มออกเป็นสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์ไทย เช่น กรองทิพย์ สายฝน ฯลฯ แต่ละยี่ห้อมีกลิ่นและรสชาดเฉพาะของยี่ห้อนั้น ๆ ส่วนสายพันธุ์นอก เช่น มาโบโร่ วินตัน ฯลฯ อาจแยกย่อยออกเป็นสายพันธุ์แท้และสายพันธุ์เทียม ในสายพันธุ์เทียมยังแยกออกเป็นหลายค่ายทั้ง ๆ ที่ใช้ยี่ห้อเดียวกัน บางยี่ห้อพบได้ในประเทศไทย บางยี่ห้ออาจไปพบแถบชายแดนเขมร มีราคาถูก ผู้สัดทัดกรณีเล่าว่ารสชาดต่างกันมาก ดีที่สุดของบุหรี่สายพันธุ์นอกคือมาจากประเทศต้นตำรับ ราคาจะแพงสุด และระดับเซียนในชั้นเทพเท่านั้น ที่จะบอกได้ว่ายี่ห้อที่กำลับสูบมาจากแหล่งใด แต่ถ้าถามว่า "คุณมาจากไหน" มักจะทำหน้ามึนงง สับสนว่าควรจะต้องตอบว่าอะไรดีหว่า? (ฮา)






:รากเหง้าและวิวัฒนาการของบุหรี่: หลักฐานในศิลาจารึกที่มีอายุกว่า 3 พันปี ของชนเผ่ามายา (Maya) ระบุไว้ว่าสมัยที่ชาวมายารุ่งเรืองอำนาจแถบทวีปอเมริกากลางนั้น พวกเขาใช้ใบยาในพิธีทางศาสนาและใช้เป็นยารักษาโรค ส่วนชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือมีการนำไม้รวกที่ข้างในกลวงอัดใบยาเข้าไปแล้วสูบ พวกเขาเรียกไม้รวกนี้ว่า “โทบาคุม” (Tobacum) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “โทแบโค” (Tobacco) ปัจจุบันกลายเป็นชื่อของใบยาสูบตามพจนานุกรม (Dictionary) ไปในที่สุด แต่ชนเผ่าอินเดียนแดงจะใช้สูบในพิธีแลกสัตยาบันสันติภาพเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการสำรวจและค้นพบทวีปอเมริกาโดยชาวโคลัมบัสและชาวยุโรปอื่น ๆ ทำให้ผู้มาเยือนเหล่านี้พาหลงใหลได้ปลื้มในเสน่ห์และรสชาดของ “โทแบโค” (Tobacco) ต่างร่วมด้วยช่วยกันสามัคคีนำไปเผยแพร่ แม้ว่ายุคแรก ๆ ของ "โทแบโค" จะทั้งเหม็นและฉุนก้อตาม และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า "โทแบโค" จากอเมริกากลายเป็นที่ยอมรับของทุกชนชั้นทั่วโลกในเวลาอันสั้น เป็นผลให้เกิดการกระจายโรคมะเร็งปอด, ถุงลมปอดโป่งพอง และอีกสารพัดโรคครอบคลุมไปทั่วทุกทวีปมาจนถึงปัจจุบันนี้ ช่างเป็นความโชคดีของมวลมนุษย์ชาติโดยแท้



แม้ว่ารสชาดของ "โทแบโค" (Tobacco) ในยุคแรกจะมีรสแรง กลิ่นฉุน และระคายเคืองเยื่อจมูกกับทางเดินของลมหายใจ แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์จะถูกพัฒนาและดัดแปลงอยู่เสมอ เช่น อาจมองว่าไม้รวกมีขนาดเล็กเกินไป ยิ่งใหญ่ระดับคนไทยส่งไปอินเตอร์ต้องบ้องไม้ไผ่ ฯลฯ จากต้นตำหรับไม้รวกของอเมริกาเหนือ เพื่อให้การสูบง่ายขึ้นจึงพัฒนามาใช้ใบไม้ต่าง ๆ ในการห่อใบยาสูบ เช่น ชาวเม็กซิกันใช้เปลือกข้าวโพด หรือใบตาลอ่อน และประเทศไทยพบว่าใช้ใบบัว, ใบตอง และใบจาก หาไม่ได้จริง ๆ กระดาษห่อกล้วยทอดกล้วยปิ้งก้อสามารถเอามาทดแทนได้ (ฮา) ต่อมาเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของ “ซิการ์แรต” ซึ่งมาในรูปของมวนบุหรี่ที่ทำจากกระดาษเหมือนในปัจจุบันนี้ วิวัฒนาการของบุหรี่ยังมีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไปป์ หรือ ซิก้าร์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ของต้นยาสูบ หรือมีการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้รสกลมกล่อม นุ่มนวล ตลอดจนการพัฒนาเนื้อกระดาษที่นำมาเป็นตัวห่อหุ้มบุหรี่ให้ได้คุณภาพสูงสุด ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งแพคเก็จหีบห่อที่เหมาะสมตามยุคตามสมัย หรือการปรุงแต่งรสต่าง ๆ ให้เลือกชิมกันอย่างจุใจ จนกระทั่งปัจจุบันกลายพันธุ์เป็น “บุหรี่ไฟฟ้า” เข้าสู่ยุคไฮท์เทคโนโลยีไปเรียบร้อยแล้ว "สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการสูบบุหรี่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว (ขโมยข้อมูลบางส่วนเขามา) คลิ๊กได้ที่ลิ๊งค์นี้นะคะ"

"Tobacco"...สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ มนุษย์


พัฒนามาเป็นรูปแบบ "ซิการ์แรต"...มวนด้วยกระดาษ
ยุคแรก ๆ จะไม่มีก้นกรอง...ต่อมาถูกพัฒนาให้มีก้นกรอง


รูปแบบใหม่พัฒนาขึ้น...ที่เป็นเรื่องเป็นราว (ผู้ค้าจะถูกจับ)
สารพัดกลิ่น...สารพัดรส...หลากหลายดีไซน์
มันเกิดขึ้นมา...เพื่อเหยื่อกลุ่มใหม่ "วัยรุ่น" และ "สตรี"
พบที่ JJ Park...คนขายติดคุกพอดี เพราะหอบแผงหนีไม่ทัน


นวัตกรรมล่าสุด
เข้าสู่วิวัฒนาการยุคบุหรี่ไฟฟ้า..คาดว่าจะเป็นเรื่องเป็นราวอีกเช่นเดียวกัน
แต่...เป็นอาจเรื่องเป็นราวออกกลิ่นคาว ๆ ในระดับมหภาค







:ย้อนรอยอารมณ์ของ "โทแบโค" (Tobacco): ในยุคกลาง ๆ ของการสูบยาที่เรียกว่า "โทแบโค" จะใช้ใบไม้ต่าง ๆ มาห่อใบยาสูบแล้วปั๊ม แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นการเข้าสู่ยุคของบุหรี่ที่เรียกกันว่า "ซิการ์แรต" ซึ่งมารูปแบบของมวนบุหรี่ที่ใช้กระดาษ การใช้สะดวกกว่า และมีกลิ่นนุ่มนวลกว่า จนกระทั่งก้าวไปในระดับบุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว แต่ในทางกลับกันยังคงมีผู้สูบใบยาในลักษณะ "โทแบโค" ให้เห็นอยู่บ้างกับบุคคลบางกลุ่ม และเราไม่พบว่ามีนักธุรกิจระดับหนึ่งล้าน สิบล้าน หรือมากกว่าร้อยล้าน เขาใช้ "โทแบโค" แบบนี้เลย ลดระดับลงมาในกลุ่มพนักงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ รัฐบาล ก้อไม่เป็นมีใครมานั่งมวนยาแบบนี้อีกเหมือนกัน ปัจจุบันคุณลุงท่านนี้ยังอนุรักษ์การสูบยาแบบ "โทแบโค" ให้เราได้บันทึกภาพมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูกันนะคะ


ซาปอนเซอร์ : Khun Lung Wc.











:คุณสมบัติของบุหรี่ไฟฟ้า: บุหรี่ไฟฟ้าที่ว่านี้มีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป มันถูกออกแบบมาให้มีกายภาพเป็นอิเลคทรอนิคส์ ชาร์ทไฟได้ด้วยกระแสไฟฟ้า สามารถนำมาใช้งานแล้วเกิดควันได้ เพียงแต่ลักษณะควันที่ออกมาไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้จริง จากการที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้จริง และไม่มีส่วนประกอบเหมือนบุหรี่ทั่วไป ทำให้ผู้ผลิตเคลมว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายต่อคนรอบข้าง และผู้สูบจะไม่ได้รับการสะสมสารพิษเข้าในร่างกายเหมือนบุหรี่จริง ขอให้เพื่อน ๆ อ่านและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างมีวิจารณญานกันทุกคน



:ส่วนผสมในบุหรี่ไฟฟ้า: เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีส่วนผสมที่แตกต่างจากบุหรี่จริง จนเป็นเหตุให้นำมาเป็นไฮไลท์ในการโฆษณาว่าไม่มีโทษ ไม่เป็นภัยต่อคนรอบข้าง ซึ่งในบุหรี่จริงจะมีใบยาสูบ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะได้สารพิษมากกว่า 4,000.- ชนิด สารอันตรายที่มีความโดดเด่นได้แก่ นิโคติน, ทาร์ (น้ำมันดิน), คาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรเจนไชยาไนด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ แอมโมเนีย และสารพิษต่าง ๆ จะไปเกาะตัวสะสมอยู่ในปอดของคนเรา แต่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นแบบนั้น เพราะมีส่วนผสมด้วยน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสาร Propylene Glycol ซึ่งในสารชนิดนี้จะมีนิโคตินผสมอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกัน บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมเพียงแค่นี้ แต่ให้ควันได้เหมือนบุหรี่จริง อีกทั้งยังมีรูปแบบปริมาณการบรรจุนิโคตินให้เลือกใช้ ตั้งแต่นิโคตินเข้มข้นจนกระทั่งชนิดที่ไม่มีนิโคตินเลย ระดับนิโคตินในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีให้เลือก 4 ระดับ ส่วนของสปีซี่ส์ที่เป็นไปป์ จะมีระดับความเข้มข้นของนิโคตินสูงกว่านี้ โดยอาจเริ่มที่ 24 mg.

ระดับ 1 High 16 mg. จุนิโคติน 16 มิลลิกรัมต่อมวน บางยี่ห้ออาจเริ่มที่ 18 mg. ต่อมวน

ระดับ 2 Medium 11 mg. จุนิโคติน 11 มิลลิกรัมต่อมวน

ระดับ 3 Low 6 mg. จุนิโคติน 6 มิลลิกรัมต่อมวน

ระดับ 4 Non 0 mg. จุนิโคติน 0 มิลลิกรัมต่อมวน ซึ่งการสูบยังคงเกิดควันได้เพียงแต่ไร้นิโคติน





:สปีซี่ส์ของบุหรี่ไฟฟ้า : บุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบมาให้มีหลายสปีซีส์ เพื่อรองรับให้กับผู้สูบบุรี่ได้ทุกกลุ่ม โดยผู้ผลิตพยายามคงไว้เพื่อให้อารมณ์และความรู้สึกประดุจการสูบบุหรี่จริงทุกประการ ในบางยี่ห้ออาจมีทุกสปีซี่ส์ให้เลือกใช้ แต่บางยี่ห้ออาจผลิตออกมาบางสปีซี่ส์เท่านั้น ซึ่งในแต่ละสปีซี่ส์ของบุหรี่ไฟฟ้า จะแยกย่อยออกเป็นหลายโมเดล หน้าตาและการดีไซน์รวมถึงขนาดอาจแตกต่างกันบ้าง

เป็นการถอดชิ้นส่วนแบบคร่าว ๆ ความจริงมันจะต้องมี 3 ชิ้นส่วน
แต่บางชนิดเราถอดไม่ออก...เข้าใจว่าคงถอดไม่เป็น

ซาปอนเซอร์ : //www.thaiecigforum.com (Mr.Vaporman)



E-PIPE : ดีไซน์เหมือนไปป์ อยู่ในสปีซี่ส์ที่มีราคาสูงสุดในกลุ่มของบุหรี่ไฟฟ้า ราคาเกิน 5,000.-บาท ไปจนถึงหมื่นต้น ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบหลักสูตรเข้มข้น ซึ่งคงไม่น่าจะแตกต่างจากไปป์ที่สูบด้วยบุหรี่จริง เข้าใจว่าคงจะมีฐานมาจากหลักสูตรเดียวกัน

ซาปอนเซอร์ : //www.thaiecigforum.com (Mr.Vaporman)



E-CIGAR : ดีไซน์ลักษณะเหมือนซิการ์ ราคาเริ่มตั้งแต่ 2000-6000 บาท (โดยประมาณ) ซาปอนเซอร์ส่งมาให้ทางไปรษณีย์ เราเปิดมาเจอ 2 อันนี้นั่งขำมาก อันแรกหัวเหมือนไฟฉาย อันที่สองก้อนมันใหญ่มาก

ซาปอนเซอร์ : //www.thaiecigforum.com (Mr.Vaporman)


ซาปอนเซอร์ : //www.thaiecigforum.com (Mr.Vaporman)



E- CIGARETTE : มีลักษณะคล้ายมวนบุหรี่จริง และเป็นสปีซี่ส์ที่มีความนิยมอยู่ในลำดับสูงสุด ราคาเริ่มตั้งแต่ 700-5000 บาท (โดยประมาณ) มวนนี้ได้มาจากเว็บ ThaiEcig แต่ของเราที่ได้มาจากแหล่งอื่น อาจสั้นหรือยาวกว่าภาพนี้เล็กน้อย คือรูปแบบและดีไซน์ รวมถึงโทนสีในแต่ละยี่ห้อ หรือแต่ละโมเดลจะแตกต่างกัน

ซาปอนเซอร์ : //www.thaiecigforum.com (Mr.Vaporman)



แบบปากกา: ตัวมวนเหมือนรูปแบบข้างบน (สังเกตตัวสั้น) เพียงแต่จะมีส่วนที่มาสวมในช่วงท้ายยาวกว่ารูปแบบข้างบนเท่านั้นเอง และบริเวณที่ใช้ปั๊มจะไม่กลม แต่จะแบนคล้ายปากเป็ด (ภาพดูไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เพราะกลมกลืนไปกับสีดำของตัวบุกล่อง) เนื่องจากสปีซี่ส์นี้ค่อนข้างจะยาวกว่าปกติ จึงทำให้ปั๊มได้ยาวนานกว่ารูปแบบข้างบน

ซาปอนเซอร์ : Mr. FfJp



:บรรพบุรุษของบุรี่ไฟฟ้า: ข้อมูลแรกที่เราพยายามค้นหาคือบุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน? รู้สึกขำเล็กน้อยที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากเมืองจีน เพราะเป็นจีนขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่สูบบุหรี่เก่งที่สุดในโลก และดูเหมือนจีนเป็นประเทศที่ขยันสร้างประวัติศาสตร์โลกจังเลย บุหรี่ไฟฟ้าคิดค้นโดยบริษัท Ruyan การผลิตและจำหน่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ได้แก่ บราซิล แคนาดา ฟินแลนด์ อิสราเอล เลบานอน เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ตุรกี และอังกฤษ แต่เราพบว่าในปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ให้เลือกใช้ อาจมาจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จีน เช่น อเมริกา และอังกฤษ เท่าที่พอจะสังเกตุให้เห็นเป็นค่ายชัดเจน เช่น Ruyan (จีน), E-Cig (จีน), Health (จีน), Gamucci (อังกฤษ), Janty (อเมริกา), Njoy (อเมริกา) แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ณ ปัจจุบันฐานผลิตของบุหรี่ไฟฟ้าทุกค่ายอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่ง Ruyan คือต้นตำรับ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บุหรี่ไฟฟ้าจะขยายพันธุ์ไปโผล่ในอเมริกา โดยใช้แบรนด์และดีไซน์ที่หรูหรา จากนั้นประทับตรา "Made In USA" ปัจจุบันมันขยายพันธุ์มาโผล่ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รูปแบบและดีไซน์เป็นยังไม่สามารถคงความเอกลักษณ์ในความเป็นไทยได้ (คงจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยนะนั่น?) ขอคิดแบบฮา ๆ ต่อไปว่าอีกสักระยะหนึ่งเมื่อเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าราคาจะดิ่งลงเหว และอาจหาซื้อได้แถบชายแดนเขมรเหมือนบุหรี่จริง นึกถึงเทคโนโลยีจากโมบายรุ่นแรก ๆ ต้องยกไปเหมือนตู้เล็ก ๆ ราคาหลักแสน ปัจจุบันกลายเป็นมือถืออันนิดเดียว ต่ำสุดราคาไม่ถึง 1 พันบาท เมื่อก่อนการ์ดจุหน่วยความจำ 1 กิกะไบต์ ราคาหลักหมื่น ตอนนี้หลายกิ๊กกะไบต์ราคาแค่หลักร้อยเท่านั้น หากเป็นที่ต้องการของตลาด อะไรก้อเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะถูกประกาศว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมายก้อตาม ยกเว้นว่ารัฐบาลอาจหมั่นไส้ ประกาศใช้แบรนด์ของตนเอง “Made In RadTaBanThai” แบรนด์อื่นที่โผล่หน้าเข้ามาตรูจับแหลก?


กล่องไม้ขีดแทนฐานผู้ผลิต (Mao tse Tung)...และพันธกิจทั้งหลาย
เลือกมา....ที่เสียชีวิตไปหมดแล้ว (ภาพไม่ลงตัว เน้นฮา ๆ นะคะ)





:รูปแบบทางกายภาพของบุหรี่ไฟฟ้า: เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีหลายสปีซี่ส์ แต่เราจะใช้บุหรี่ไฟฟ้าสปีซี่ส์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนบุหรี่ทั่วไป (E-CIGARETTE) เป็นหลักในการทำบทความเท่านั้น หรือเขาจะเรียกกันว่าเป็นแบบ Mini อาจแยกเป็นมินิธรรมดา หรือเป็นมินิซุปเปอร์ก้อว่ากันไป ในแต่ละสปีซีส์จะมีส่วนประกอบหลักเหมือนกัน ซึ่งในแต่ละสปีซี่ส์อาจมีหลายโมเดลให้เลือกใช้ และในแต่ละโมเดลจะแตกต่างในเรื่องของขนาดและการดีไซน์ องค์ประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้าจะแยกออกเป็น 3 ชิ้นส่วน แต่ละส่วนถอดออกเป็นชิ้นได้คือ 1. แบตเตอรี่ (ตัวมวนหลัก) 2. Atomizer 3. Cartridge หรือรีฟิล

ตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้า 4 ยี่ห้อ...เมื่อแยกชิ้นส่วน
(แบตเตอร์รี่) + (Aotmizer) + (Cartridge)


แบตเตอร์รี่.. หรือเรียกว่า "ตัวมวนหลัก" แหล่งข้อมูลระบุว่าวัสดุทำมาจากสแตนเลส มีหน้าที่ในการประจุพลังงานไฟฟ้า การชาร์ทคล้ายชาร์ตแบตเตอร์รี่มือถือ หรือแบตเตอร์รี่กล้องถ่ายภาพ เพียงแต่หน้าตาของมันไม่เหมือนก้อนแบตเตอร์รี่ทั่วไปเท่านั้นเอง ซึ่งมันถูกดีไซน์ออกมาให้มีลักษณะเป็นตัวมวนบุหรี่ ปลายด้านท้ายจะเป็นเกลียวเพื่อต่อกับชิ้นส่วนถัดไป (Atomizer) พบในบางยี่ห้อมีความหวั่นไหวขณะถือไปถือมา เช่น อาจพบว่าไฟกระพริบที่ปากมวนในขณะที่ไม่ได้เสียบอะตอมไว้

ลักษณะของแบตเตอร์รี่...หรือตัวมวนหลัก
บางยี่ห้อ...อาจมีหลายสีให้เลือก เช่น สีดำ สีน้ำตาล ฯลฯ


ปากมวน...ของบางยี่ห้อจะส่งประกายแดงเหมือนบุหรี่จริง (ขณะปั๊ม)
ปากมวน...ของบางยี่ห้อจะส่งประกายสีน้ำเงิน เพื่อกลบความสนใจ (ขณะปั๊ม)
ปากมวน...ของบางยี่ห้อจะไม่ส่งประกายให้เห็นเป็นสีอะไรเลย (ขณะปั๊ม)



Atomizer... ปลายด้านหนึ่งของ Atomizer จะเป็นเกลียว ต่อเข้ากับตัวมวนหลักที่อยู่ข้างบน (แบตเตอร์รี่) ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะถูกเสียบเข้ากับรีฟิล (Cartridge ที่จะพูดในหัวข้อถัดไป) เจ้าตัว Atomizer ทำหน้าที่สร้างควัน โดยที่บริเวณส่วนกลางจะมีไมโครชิพควบคุมการทำงานและขดลวดอีกเล็คทรอนเพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนของเหลวใน Cartridge ให้กลายเป็นละอองน้ำและได้กลิ่นเสมือนบุหรี่จริง เราพบว่าในแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละโมเดลจะมีดีไซน์และขนาดที่แตกต่างกัน เจ้าส่วนประกอบชิ้นนี้จะมีอ่อนไหวพอสมควร (เสียง่าย) ดังนั้นผู้ใช้ต้องเข้าใจพฤติกรรมของมัน ซึ่งในแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละโมเดลอาจมีพฤติกรรมต่างกัน บางโมเดลจะมีนิสัยฉุนเฉียว เจออะไรนิดหน่อยจะแสดงอาการไม่พอใจด้วยการส่งสัญญานบางอย่างให้ผู้ใช้รับรู้ และเป็นไปได้ว่ามันอาจเสียชีวิตโดยไม่มีสัญญานเตือนล่วงหน้า ในขณะที่บางโมเดลอาจนิสัยอ่อนโยนกว่า

ตัวอย่าง Atomizer จากบิ๊กบอสของเรา
ด้านที่ต่อกับแบตเตอร์รี่จะเป็นเกลียว...แต่เกลียวซ่อนอยู่ข้างใน


ตัวอย่าง Atomizer จาก : //www.thaiecigforum.com
ด้านที่ต่อกับแบตเตอร์รี่จะเป็นเกลียว...แต่เกลียวซ่อนอยู่ข้างใน


หากกรณีตัวมวนหลัก (แบตเตอร์รี่) ถูกออกแบบมาให้เป็นสีดำ
Atomizer จะถูกออกแบบให้มีสีดำไปด้วย
จากภาพ Atomizer 2 ยี่ห้อ...ดีไซน์ต่างกันเล็กน้อย
ด้านที่ต่อกับแบตเตอร์รี่จะเป็นเกลียว...แต่เกลียวอยู่ข้างนอก



ปลายอีกด้านหนึ่งที่ต่อเข้ากับแท่งนิโคติน (Cartridge) อาจมีดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยี่ห้อ แม้ว่าดีไซด์ของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันบ้าง แต่มีหน้าที่เหมือนกันทุกประการ หาส่องเข้าไปลึก ๆ จะพบว่ามีขดลวดเล็ก ๆ อยู่ข้างใน จากภาพเป็นการส่องเข้าไปให้เห็นขดลวดที่อยู่ใน Atomizer บางโมเดลอาจฉลาดเกินไป เพราะมันทำงานได้ในขณะที่ผู้ใช้ยังไม่ทันได้ปั๊มเลย

ชนิดแรก : มีขดลวดอยู่ด้านใน


ชนิดที่สอง : มีลดลวดอยู่ด้านในอีกเช่นเดียวกัน


ชนิดที่สาม : ออกแบบมาลึกมาก มองไม่เห็นขดลวดข้างใน
ดีไซด์แตกต่างกันทั้ง 3 ชนิด...แต่ทำหน้าที่เดียวกันคือเป็น “Atomizer”



Cartridge... หรือรีฟิล มันเป็นที่เก็บนิโคติน หรือไส้นิโคติน หากหมดแล้วสามารถสั่งซื้อเฉพาะรีฟิลเพิ่มเติมได้ หรือเมื่อนิโคตินหมดแล้ว สามารถซื้อนิโคตินเหลวที่เรียกกันว่า E-Liquid (E-Liquid คืออะไร? ไปต่อกันที่ช่วงท้ายของเบรคนี้) มาเติมเองก้อได้ เรามองว่าหน้าตาโดยรวมของ Cartridge คล้ายก้นกรองของบุหรี่ทั่วไป แต่ทำหน้าที่ต่างกัน เพราะมันทำหน้าที่บรรจุของเหลวที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารที่ชื่อว่า Propylene Glycol ซึ่งในสารชนิดนี้จะมีนิโคตินในปริมาณต่าง ๆ ผสมอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนิโคตินในระดับใด และมีหลายหลายรสชาดให้เลือกอีกด้วย

ลักษณะของ Cartridge แต่ละยี่ห้อไม่ต่างกัน
แตกต่าง...ที่เทคนิคการบรรจุของเหลวที่อยู่ภายใน วัสดุ และการดีไซน์


ชัด ๆ กับลักษณะรูที่ใช้ปั๊มของ Cartridge
ด้านนี้นำเข้าปากเพื่อปั๊ม...(บอกไว้ เผื่อมีคนฉลาดแบบเราบ้าง?)


แท่งนิโคตินอาจซ่อนอยู่ใน Cartridge อีกชั้นหนึ่ง
หรือดูเหมือนว่าจะบรรจุอยู่ใน Cartridge เลยก้อได้
ส่วนใหญ่จะมีฝาพลาสติกครอบไว้ ป้องกันการระเหยหรือไหลย้อย (มั๊ง)
บางรุ่นไม่มีฝาพลาสติกครอบ (ขวาสุด) เพราะมีฟอร์ยปิดไว้อยู่ข้างแล้ว


เมื่อถอดฝาครอบแท่งนิโครตินออก
อันในสุดไม่มีฝาครอบ...เพราะมีฟอยส์ครอบไว้ที่ด้านใน

แท่งด้านนอกสุด (ฝาครอบเหลือง) และแท่งติดกันฝาสีขาว (ตัวสีเหลือง)
มีแท่งนิโคตินซ้อนอยู่ใน Cartridge อีกชั้นหนึ่ง
ดึงออกมาได้โดยง่าย...ไม่ต้องผ่าออก แต่มีขนาดสั้นที่สุด

ตัวแท่งสีดำและสีขาวบรรจุของเหลวเลย ไม่พบแท่งซ้อนอยู่ใน Cartridge



ชนิดของ Cartridge ที่มีการบรรจุแท่งนิโครตินอยู่ด้านใน แบบไม่มีฝาพลาสติกครอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะมีแผ่นฟอร์ยปิดทับอยู่ เมื่อต่อกับ Atomizer ปลายหนึ่งของ Atomizer จะแทงให้แผ่นฟอร์ยขาดลงได้เอง



เนื่องจากยี่ห้อนี้ของเหลวมันอยู่ลึก และรุ่นนี้ดึงของเหลวออกมาไม่ได้ เราจึงตัดปาก Cartridge ทิ้งไปพอสมควร แล้วฉีกฟอร์ยออก จากนั้นซูมเข้าไปให้เห็นเป็นลักษณะเหมือนเส้นสายที่ชุ่มน้ำ เข้าใจว่าจะเป็นตัวช่วยยึดเกาะนิโคติน เทียบเท่าอารมณ์ประมาณสำลีชุบน้ำ นิโคตินเป็นของเหลว หากไม่มีตัวยึดเกาะ คงไหลออกมาหยดย้อยไปหมด



เพื่อความสะใจเราทดลองผ่าแท่งนิโครตินยี่ห้อนี้ออก เพื่อดูว่านิโคตินที่อยู่บ้างในมันจะเป็นแบบไหน เรากรีดผิวของ Cartridge ออกไปเกือบสุด พบว่ามีแท่งพลาสติคใสบรรจุเส้นสายที่ชุ่มน้ำอีกชั้นหนึ่ง จึงสามารถสามารถแงะมันออกมาได้ ยังพอเห็นฟอร์ยที่ฉีกขาดอยู่ด้านบนบ้าง เส้นสายเหล่านี้คือเต็มไปด้วยของเหลวที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารที่ชื่อว่า Propylene Glycol นั่นเอง แต่จะมีมีนิโคตินปริมาณเท่าไหร่ขึ้นกับการเลือกมาใช้



อันนี้เป็น Cartridge อีกยี่ห้อหนึ่ง ไม่มีแผ่นฟอร์ยปิดไว้ การใช้วัสดุก้อไม่ใช่พลาสติกใสชนิดเดียวกับยี่ห้อข้างบน ไม่ต้องผ่าออก สามารถดึงออกมาจาก Cartridge ได้เลย คือมันจะซ้อนทับกันอยู่ จะพบเส้นสายที่ชุ่มไปด้วยน้ำอีกเช่นเดียวเหมือนกัน ขนาดความยาวของยี่ห้อนี้มีขนาดสั้นกว่ายี่ห้อข้างบน นั่นหมายถึงว่าจำนวนปั๊มที่ได้จะน่าจะน้อยกว่า คือความยาวและขนาดของตัวใส่นิโคตินน่าจะมีผลต่อการใช้งาน ใหญ่กว่าจะจุได้มากกว่า การปั๊มก้อจะได้จำนวนครั้งมากกว่า



เป็นยี่ห้อเดียวกับข้างบน..ตำแหน่ง A คือ Atomizer
ตำแหน่ง B คือตัวบรรจุนิโคติน ซึ่งมันจะต้องถูกหุ้มด้วยตัว C (Cartridge)
ยี่ห้อนี้ดึงตัวบรรจุนิโครตินออกมาง่าย และไม่เสียหายเมื่อดึงมันออกมา



เป็น Cartridge อีกยี่ห้อหนึ่ง มีพลาสติกเสียบอยู่ตรงกลางเส้นใย เราดีงแท่งพลาสติคให้มันโผล่ออกมา จะได้เห็นกันชัด ๆ เส้นใยและแท่งพลาสติกทั้งหมดจะถูกจับไปใส่ไว้ในแท่ง Cartridge โดยไม่มีพลาสติกมาห่อหุ้มเส้นใยอีกชั้นหนึ่ง


เมื่อส่องเข้าไปจนสุดด้านในของ Cartridge ชนิดนี้



มาดู Cartridge อีกยี่ห้อหนึ่ง เมื่อถอดฝาครอบออกจะเห็นเส้นสายที่ฉ่ำไปด้วยน้ำทันที มองไม่เห็นแท่งซ้อนแท่งเหมือนสองยี่ห้อแรก และไม่มีพลาสติกเสียบตรงกลางเหมือนยี่ห้อข้างบน


ลักษณะภายในของ Cartridge ชนิดนี้
ดีไซน์ของ Cartridge และ Atomizer น่าจะมีผลในการให้ปริมาณควัน



ทุกยี่ห้อ ทดลองคีบเส้นสายที่ชุ่มน้ำออกมาดูเล่นได้ เส้นสายเหล่านี้ทำจากอะไร? เราไม่ทราบ แต่มีลักษณะคล้ายกัน ขนาดที่แตกต่างคงมีผลของปริมาณในการปั๊ม






:ระบบปฏิบัติการของบุหรี่ไฟฟ้า: เมื่อนำชิ้นส่วนทั้ง 3 ของบุหรี่ไฟฟ้ามาต่อกันเรียบร้อยแล้ว หากตัวแบตเตอร์รี่ (มวนหลัก) ผ่านการชาร์ทไฟมีพลังงานไฟฟ้าพร้อมที่จะทำงาน ดังนั้นทันทีที่ปั๊มจะเกิดการแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นความร้อน (จะร้อนแบบไหนก้อว่ากันไป หลักการณ์ของมันระบุว่าคล้ายคลื่นไมโครเวฟ) และตัวที่เก็บความร้อนก้อคือขดลวดใน Atomizer นั่นเอง ส่วนขดลวดถูกออกแบบมาให้สัมผัสกับของเหลวที่อยู่ใน Cartridge ได้โดยตรง เมื่อของเหลวโดนความร้อนจากขดลวดจะทำให้เกิดละอองน้ำ เปรียบเสมือนบุหรี่ปลอม ๆ สามารถปั๊มลงปอดแล้วพ่นออกมา ให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่จริง แต่ควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้เหมือนบุหรี่จริง ด้วยเพราะเหตุผลนี้ ผู้ผลิตจึงอ้างว่าไม่เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายหรือทิ้งสารพิษสะสมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ต่างจากควันบุหรี่ที่มีสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด รวมถึงสารหนูและคาร์มอนนอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้จริง และอันตรายที่สุดของบุหรี่ทั่วไปคือ ทาร์ หรือน้ำมันดิน ซึ่งมันจะไปเกาะสะสมอยู่ที่ปอดของคนสูบบุหรี่ แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีเพียงแค่นิโคตินเท่านั้น (เขาบอกมาแบบนั้น)



ชนิดนี้ปั๊มแล้ว...ได้ประกายสีแดงเหมือนบุหรี่จริง
เดิมเป็นสีเทา...กลายเป็นสีแดงแล้ว


เกณฑ์คนงานมาเล่นกล...เขาปั๊มไม่เป็น แต่ขอเป็นพรีเซ็นเตอร์
ปั๊มกันหลายรอบ...กว่าจะได้ภาพ


พรีเซ็นต์เตอร์...ระดับปราบเซียน
ชนิดนี้เมื่อปั๊ม ที่ปากมวนเป็นจะสีนำเงิน...ดีไซน์ออกมาเพื่อกลบความสนใจ
เจอระดับปราบเซียน...ชาวบ้านพากันย้ายโต๊ะหนีแล้วตะโกน ไฟไหม้ ๆ ๆ





:เปรียบเทียบ 1 มวนของบุหรี่ไฟฟ้า: ในการเปรียบเทียบบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่จริงในแง่ของปริมาณนั้น แต่ละยี่ห้อ แต่ละโมเดลจะไม่เท่ากัน บางยี่ห้อระบุไว้เป็นจำนวนปั๊ม เช่น 1 Cartridge ปั๊มได้ 200 ครั้ง หรือปั๊มได้ 150 ครั้ง (ผู้สัดทัดกรณีบอกว่าในบุหรี่จริง 1 มวน ปั๊มได้ประมาณ 10-15 ครั้ง ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนใช้ว่าปั๊มสั้นหรือปั๊มยาว) หรือบางยี่ห้อจะระบุว่าใน 1 Cartridge เทียบเท่าจำนวนบุหรี่จริงกี่มวน เช่น 1 Cartridge เทียบเท่าบุหรี่จริงประมาณ 10 มวน หรือ 15 มวน หรืออาจจะเที่ยบเท่าบุหรี่จริงแค่ 3-4 มวนเท่านั้น เอาเป็นว่าไม่สามารถสรุปได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับขนาดและการดีไซน์ของ Cartridge ในแต่ละโมเดล คงต้องไปเจาะในรุ่นที่สนใจเป็นพิเศษกันเอาเอง




:บุหรี่ไฟฟ้าถูกกว่าหรือแพงกว่า: ตรงนี้อาจตอบลำบาก ขึ้นอยู่กับแง่คิดหรือความต้องการของผู้ใช้ด้วย แต่ละรุ่น แต่ละโมเดล ราคาก้อไม่เท่ากันอีกเช่นเดียวกัน แต่ถ้ามองแบบไม่ต้องคิดมากจะแพงกว่าแน่นอน เพราะเริ่มราคาที่ต่ำกว่า 1 พันบาท ถึง กว่า 1 หมื่นบาท (เริ่มที่ต่ำกว่า 1 พันบาท ในตอนนี้ที่เราเห็นว่าต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 700 บาท แต่การเปรียบเทียบมันอาจมีอะไรลึกซึ้งกว่านี้ ในขณะที่บุหรี่จริงราคาซองละไม่ถึง 100 บาท (20 ตัว) เอาเป็นว่าเราจะลองสรุปคร่าวเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบคร่าว ๆ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 3 กลุ่ม คือ 1. ค่าใช้จ่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ 2. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัสดุสิ้นเปลือง 3. อุปกรณ์เสริม


1. ค่าลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ เป็นการลงทุนที่ตัวอุปกรณ์คือ แบตเตอร์รี่, Atomizer และแท่นชาร์ต ช็อปแต่ละรายอาจให้จำนวนอุปกรณ์แต่ละชิ้นไม่เท่ากัน รวมถึงเรื่องราคาก้อแตกต่างกันด้วย อายุที่คาดการณ์ไว้ยาวนานที่สุดคือ 6 เดือน (ความจริงอาจต่ำกว่านี้เหลือเพียงที่ 3-4 เดือน) ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการปั๊ม ปั๊มบ่อย ปั๊มนาน ปั๊มยาว ปั๊มจนอะตอมร้อนผ่าวยังคงปั๊มต่อไป เข้าข่ายปั๊มไม่บันยะบันยังจะมีโอกาสพังเร็วสุด แต่ถ้าปั๊มน้อย ปั้มไม่แรงอายุของมันจะยาวนานขึ้น หรืออาจปั๊มน้อย แต่อะตอมอาจเสียชีวิตเร็วกว่าที่คิด และ Atomizer จะมีความอ่อนไหวกว่าตัวแบตเตอร์รี่ เมื่อเรารู้ราคาของอุปกรณ์ที่ต้องลงทุนทั้งหมดในครั้งแรกแล้ว เอาจำนวนเดือนมาหารเเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ไล่คำนวนอายุของมันไว้แค่ 3 –4 เดือน เพื่อให้เห็นค่าใช้จ่ายแบบคร่าว ๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะต้องจ่ายอีก (มันคล้ายสินทรัพย์ที่ต้องมีค่าเสื่อม สุดท้ายจะเหลือศูนย์) ลองคำนวนเพื่อดูค่าใช้จ่ายกันคร่าว ๆ นะคะ

เนื่องจากราคาบุหรี่ไฟฟ้าอาจไม่เท่ากัน สมมุติว่าราคาของมันต่อชุด 2,000.- / 3000.-บาท (ตามลำดับ) จุดนี้เราจะคำนวนเฉลี่ยทั้งที่ราคา 2 พันบาท และ 3 พันบาท โดยมีเครื่องหมาย / คั่นเพื่อแยกราคา เพราะว่าราคาที่ตั้งขายจะแตกต่างกัน ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้จะไม่ได้เสียครั้งเดียว เช่น สมมุติว่าเราคิดว่าอายุของมันได้สัก 3 เดือน หากซื้อที่ราคา 2 พันบาท ราคาเฉลี่ยต่อเดือนคือ 666.-บาท แต่ถ้าซื้อที่ราคา 3 พันบาท ราคาเฉลี่ยต่อเดือนที่ต้องจ่ายคือ 1 พันบาท แต่หากชิ้นส่วนใดเสีย บางช็อปจะมีอุปกรณ์แยกขายเป็นรายชิ้น ตลอดจนอาจมีการรับประกันชิ้นส่วนให้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไปออกไปด้วย

หากอายุขัยได้ 4 เดือน ราคาเฉลี่ยต่อเดือน = 500.- / 750.- (บาท)
หากอายุขัยได้ 3 เดือน ราคาเฉลี่ยต่อเดือน = 666.- / 1,000.- (บาท)


2. ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ตรงนี้ก้อคือค่าบุหรี่ที่ซื้อสูบกันแต่ละวันนั่นเอง ถือเป็นวัสดุสิ้นเปลืองก้อละกัน เพราะใช้แล้วจะหมดไปทันทีคือ Cartridge ใช้มากเสียเงินมาก ใช้น้อยเสียเงินน้อย (ปั๊มมากเสียเงินมาก ปั๊มน้อยเสียเงินน้อย) เท่าที่เช็คโดยคร่าว ๆ ราคาจะอยู่ที่กล่องละประมาณ 150.-บาท (อาจมีราคาถูกกว่านี้เล็กน้อย) จำนวน 1 กล่อง จะมีจำนวน 5 ตัว เฉลี่ยราคาตัวละ 30.-บาท ข้อมูลแค่นี้บอกอะไรได้ไม่มาก แต่ต้องรู้ว่า Cartridge 1 ตัว มันเทียบเท่าบุหรี่จริงกี่มวน เพราะในแต่ละโมเดลเทียบเท่าได้แตกต่างกัน และบางช็อปก้อให้ข้อมูลที่เกินความจริง จากตัวอย่างของเรามีสองยี่ห้อที่ให้ข้อมูลว่า ใน 1 Cartridge เทียบเท่าบุหรี่จริงประมาณ 10 มวน (ดังนั้นหากใครเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อนี้ แล้วมีพฤติกรรมในการสูบบุหรี่จริงวันละ 1 ซอง จะต้องเสียค่าวัสดุสิ้นเปลือคือ Cartridge จำนวน 2 ตัว เป็นเงิน 60.-บาทต่อวัน ซึ่งจะเทียบเท่าบุจริง 20 มวน (หรือ 1 ซอง)


3. อุปกรณ์เสริม เป็นส่วนของอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น กล่องใส่มวนบุหรี่ เข้าใจว่าคงมีการออกแบบมาให้ใส่เฉพาะมวนเป็นกรณีพิเศษ (อนาคตคงมีรูปแบบกิ๊บเก๋ไปตามกลไกของตลาด) หรือแท่นชาร์ตเพิ่มเติมจากที่แต่ละรุ่นให้มา บางช็อปมีชนิดที่เสียบกับคอมพิวเตอร์แยกขายเป็นพอร์ต USB มีคำถามจากผู้เข้าร่วมทดลองปั๊มว่ามีแบบชาร์ทในรถยนต์ขายด้วยหรือไม่? แต่ส่วนที่อยากพูดถึงมากที่สุดในกลุ่มนี้คือ “E-Liquid” เขาบอกว่ามันคือนิโคตินเหลว ซึ่งเป็นของเหลวชนิดเดียวกันที่บรรจุอยู่ใน Cartridge นั่นเอง มีให้เลือกปริมาณของนิโคตินในระดับต่าง ๆ เพียงแต่มาในรูปแบบของเหลวสำหรับเติม ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของแท่ง Cartridge โดยจะบรรจุอยู่ในรูปขวด ส่วนจะเป็นขวดแก้วหรือขวดพลาสติกก้อว่ากันไปเป็นรายยี่ห้อนั้น ๆ จุดประสงค์การใช้อาจมีหลายกรณี คือเราก้อยังสับสนอยู่ เอาเป็นว่าตามหลักการใช้นั้น ผู้สันทัดกรณีบอกว่าเมื่อของเหลวที่มีอยู่ใน Cartridge ใกล้หมดทำให้เกิดควันน้อยลง แต่ความจริงมันยังไม่หมดดี หากหยดด้วย E-Liquid ลงไปเล็กน้อยจะสามารถทำให้การใช้ยาวนานขึ้น ในขณะที่บางคนจะใช้วิธีดึงเส้นใยที่ฉ่ำน้ำออกมาแล้วกลับด้านเสียบเข้าไปใหม่ หรือในขณะที่บางคนอาจใช้เป็นตัวเติมเมื่อของเหลวใน Cartridge เริ่มหมดลง เพื่อลดต้นทุนในการซื้อ Cartridge ชุดใหม่ เรื่องราวของบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถจบได้ภายในเบรคเดียว เนื่องจากเราได้ใช้พื้นที่ในส่วนนี้เต็มอัตราศึกแล้ว ไปต่อกันที่ภาค 2 ":คลิ๊กดูบุหรี่ไฟฟ้าภาค 2...ได้ที่ลิงค์นี้ ณ คะ":"

ขวดบรรจุนิโคตินเหลว....เรียกว่า “E-Liquid"
บางรูปแบบมาเป็นขวดพลาสิค...บางรูปแบบมาเป็นขวดแก้ว


วิธีใช้...หยดใส่เส้นใย Cartridge ประมาณ 3-4 หยด
RY4 ออกสีเหลือง นิโคติน Low 6 mg....อีกยี่ห้อออกขาวใส ไร้นิโคติน



ขอให้มีความสุข ณ จ้ะ





Create Date : 05 เมษายน 2552
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2554 0:25:19 น. 7 comments
Counter : 28235 Pageviews.  
 
 
 
 
very good krub
 
 

โดย: got IP: 124.120.50.174 วันที่: 27 เมษายน 2552 เวลา:0:39:12 น.  

 
 
 
สุดยอดข้อมูล ขอซูฮก
 
 

โดย: STGZ IP: 125.25.35.75 วันที่: 12 พฤษภาคม 2552 เวลา:1:58:03 น.  

 
 
 
โหๆๆ เคยเห็นบุหรีไฟฟ้ามานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นมายังไง ประกอบด้วยวัสดุอะไรบ้าง และที่สำคัญเวลาใช้งานแล้วจะมีลักษณะแบบไหน หุหุ ขอบคุณสำหรับข้อมูลจ้า
 
 

โดย: me IP: 203.146.186.252 วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:15:08:05 น.  

 
 
 
เพิ่งซื้อมาครับ
ลองดูดได้2วันแล้วครับ
แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะรัย ดูดแล้วไอทุกที
มันระคายคอเหมือนสูบซิก้าเลยครับ
 
 

โดย: naisue วันที่: 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา:12:59:05 น.  

 
 
 
ข้อมูลละเอียดดีครับ
อ่านแล้วฮาดี
อยาลองบุหรี่ไฟฟ้าบ้างจัง
ดูดแต่แบบเดิมๆรุสึกจำเจ
 
 

โดย: 21 hours' IP: 202.28.51.71 วันที่: 27 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:22:15 น.  

 
 
 
เยี่ยมมากครับ
 
 

โดย: กร IP: 61.19.47.98 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:14:36 น.  

 
 
 
แสดงว่าผู้ที่ทำไม่สูบบุหรี่ และบุหรี่ที่เค้าส่งมาให้เป็นแบบหยดสูบแถมเป็บแบบเกรดต่ำสุดด้วย ร้านไหนน๊าอยากรู้จัง ขี้ตืดจริงๆ
 
 

โดย: อมไอน้ำ IP: 119.42.75.226 วันที่: 14 กันยายน 2556 เวลา:7:26:04 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ซาไปรส์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]





Indy Style Indy

เว็บไซด์ขายเสื้อผ้าออนไลน์

สไตล์โบฮีเมียน, ยิปซี ฯลฯ
สำหรับสาวเซอร์ หรือสาวที่มี
เอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
สนใจแวะชมได้นะคะ

"เสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมียน
ยิปซี อินเดีย ฯ
เสื้อผ้าแนว ๆ
คลิ๊กที่นี่
"



New Comments
[Add ซาไปรส์'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com