Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
23 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
สุริยุปราคาในประเทศไทย

ได้เขียนบทความไว้ในเว็ป wiki เรื่อง //th.wikipedia.org/wiki/สุริยุปราคาในประเทศไทย เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ ^_^
เส้นทางของสุริยุปราคาแต่ละสาย สามารถคลิ๊กดูได้ตรงวันที่หน้าหัวข้อ จะฝังลิงค์อยู่ครับ

ปรากฎการณ์สุริยุปราคา ถือเป็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าตื่นตระหนก โดยสามารถคำนวณย้อนหลังถึงวันและเวลาที่ถูกต้องได้จาก Blog มาคำนวณสุริยุปราคาผ่านเว็ป nasa กันเถอะ โดยระยะห่างที่สุริยุปราคาเต็มดวงจะกลับมาเกิดให้เห็นในที่เดิมซ้ำอีกเฉลี่ย 375 ปี สำหรับประเทศไทยในอดีตซึ่งก่อตั้งมาแล้วราว 762 ปี มีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่ใดที่หนึ่งเฉลี่ย 2 ครั้ง รวมกับชนิดวงแหวนและบางส่วนอีกหลายครั้ง ดังนี้



สมัยกรุงสุโขทัย

ตลอดสมัยอาณาจักรสุโขทัย มีสุริยุปราคาบางส่วนให้ชาวกรุงสุโขทัยได้เห็น 78 ครั้ง โดยไม่มีแนวคราสชนิดเต็มดวงหรือวงแหวนพาดผ่าน ไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์แสดงถึงการพบเห็น แต่ครั้งที่น่าสนใจที่คราสจับเกิน 90% มี 3 ครั้งดังนี้

14 พฤษภาคม พ.ศ. 1792 สุริยุปราคาบางส่วน 96% เกิดขึ้นในปีแรกที่สถาปนากรุงสุโขทัย ตรงกับสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แนวคราสหลักเป็นชนิดเต็มดวง พาดผ่านเขลางค์นคร (นครลำปาง)
สามารถกลับไปดูรูปจำลองได้ที่ Blog เรื่อง เชิญชมสุริยุปราคาและจันทรุปราคาสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

25 มีนาคม พ.ศ. 1897 สุริยุปราคาบางส่วน 96% ตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แนวคราสหลักเป็นสุริยุปราคาแบบผสม โดนส่วนที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทยเป็นแบบเต็มดวง พาดผ่านเมืองแพร่
สำหรับอาณาจักรอยุธยา(ซึ่งก่อตั้งขึ้นแล้ว) เห็นบางส่วน 85% ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

5 มิถุนายน พ.ศ. 1912 สุริยุปราคาบางส่วน 92% ตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 2 (พระยาลือไทย) แนวคราสหลักเป็นสุริยุปราคาแบบผสม โดยส่วนที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทยเป็นแบบเต็มดวง พาดผ่านภาคเหนือแต่ไม่ผ่านเมืองสำคัญ
สำหรับอาณาจักรอยุธยาเห็นบางส่วน 82% เป็นช่วงรอยต่อระหว่างสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 และสมเด็จพระราเมศวร

สำหรับในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไม่มีครั้งใดกินหมดเกิน 90% โดยครั้งที่กินมากที่สุดเกิดขึ้นวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 1833 กินหมด 85% แนวคราสหลักเป็นสุริยุปราคาชนิดวงแหวน พาดผ่านเวียงกุมกาม คราสกินหมด 88%



สมัยกรุงศรีอยุธยา

ตลอดสมัยอาณาจักรอยุธยา มีบันทึกการสังเกตสุริยุปราคาบางส่วน 1 ครั้ง แต่มีสุริยุปราคาที่เห็นได้จากกรุงศรีฯทั้งหมด 153 ครั้ง เป็นชนิดเต็มดวงพาดผ่านกรุงศรีฯถึง 3 ครั้ง เป็นชนิดวงแหวนพาดผ่าน 1 ครั้ง เป็นชนิดบางส่วนที่กินหมดเกิน 90% 3 ครั้ง ดังต่อไปนี้

7 กรกฎาคม พ.ศ. 1901 สุริยุปราคาวงแหวนพาดผ่านกรุงศรีฯครั้งแรกและครั้งเดียว กินหมด 89% นาน 1 นาที 49 วินาที ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
สำหรับอาณาจักรสุโขทัย(ซึ่งยังไม่สิ้นสุด) เห็นเป็นชนิดบางส่วนกินหมด 87% ตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท)

7 พฤษภาคม พ.ศ. 1988 สุริยุปราคาชนิดบางส่วน 90% ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) แนวคราสหลักเป็นชนิดวงแหวนผ่านเมืองชัยนาท, เมืองพิษณุโลก กินหมด 91%

21 กันยายน พ.ศ. 2111 สุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านกรุงศรีฯเป็นครั้งแรก เห็นเต็มดวงนาน 4 นาที 34 วินาที ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเจ้าช้างเผือก)
สำหรับหงสาวดีเห็นเป็นชนิดบางส่วน 99% ซึ่งขณะนั้นพระองค์ดำ(สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) มีพระชนม์มายุ 13 พรรษา มีสถานะภาพเป็นองค์ประกันอยู่ที่หงสาวดี ต่อมาในเดือนตุลาคมพระเจ้าบุเรงนอง ทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยา และต่อมาในปี พ.ศ. 2112 ก็เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งขึ้น

20 มีนาคม พ.ศ. 2186 สุริยุปราคาเต็มดวงผ่านกรุงศรีฯเป็นครั้งที่ 2 นาน 2 นาที 8 วินาที ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แนวคราสผ่านเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองชัยนาท เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี ฯ โดยขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระชนม์มายุ 11 พรรษา

30 เมษายน พ.ศ. 2212 สุริยุปราคาบางส่วน 95% ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี เป็นบางส่วน 96% แนวคราสหลักเป็นสุริยุปราคาแบบผสม โดยส่วนที่ผ่านเข้ามาในสยามเป็นแบบเต็มดวง ผ่านเมืองนครสวรรค์

30 เมษายน พ.ศ. 2231 มีบันทึกการสังเกตสุริยุปราคาในตอนเช้า โดยคณะบาทหลวงนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ตั้งกล้องโทรทัศน์ ฉายภาพสุริยุปราคามาปรากฎบนฉากรับให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งเย็น เมืองลพบุรี ปรากฏเป็นชนิดบางส่วน 68% แนวคราสหลักเป็นชนิดเต็มดวง พาดผ่านประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ตอนเหนือของพม่า จีน และแคนนาดา
สองครั้งหลังนี้ สามารถย้อนกลับไปดูรูปจำลองที่ผมเคยเขียนไว้แล้วเรื่อง การสังเกตอุปราคาครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สำหรับในกรุงศรีฯเป็นแบบบางส่วน 66%

14 กันยายน พ.ศ. 2251 สุริยุปราคาบางส่วน 99% ตรงกับสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) แนวคราสหลักเป็นแบบเต็มดวง ผ่านเมืองนครสวรรค์, เมืองนครราชสีมา
หงสาวดีเห็นบางส่วน 99% เช่นกัน

3 มิถุนายน พ.ศ. 2285 สุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านกรุงศรีฯเป็นครั้งที่ 3 เต็มดวงนาน 2 นาที 29 วินาที ตอนเช้าตรู่ ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แนวคราสยังผ่านเมืองนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นนายสิน (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) มีอายุ 8 ปี และทองด้วง(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีพระชนมายุ 6 พรรษา
สุริยุปราคาเต็มดวงทั้ง 3 ครั้งนี้ สามารถกลับไปดูรูปจำลองที่ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่อง สมัยอยุธยามีสุริยุปราคาพาดผ่านกรุงถึง 3 ครั้ง

สำหรับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่มีครั้งใดเกิน 90% โดยครั้งที่น่าสนใจเกิดขึ้นวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ซึ่งเกิดหลังการขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 วัน เป็นชนิดบางส่วน 76% ส่วนครั้งที่กินมากที่สุด เกิดขึ้นวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2147 เป็นชนิดบางส่วน 82% แนวคราสหลักเป็นชนิดวงแหวน ผ่านเมืองชุมพร



สมัยกรุงธนบุรี

ตลอดสมัยอาณาจักรธนบุรี มีสุริยุปราคาบางส่วน 3 ครั้ง แต่ไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่มีครั้งใดกินหมดเกิน 90% โดยครั้งที่กินหมดมากที่สุดเกิดขึ้นวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2313 เห็นเป็นชนิดบางส่วน 86% แนวคราสหลักเป็นชนิดเต็มดวง พาดผ่านเมืองนครศรีธรรมราช



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

มีบันทึกการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยนับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา มีสุริยุปราคาแบบเต็มดวงและแบบวงแหวนอีกหลายครั้ง ดังจะแสดงสุริยุปราคาที่มีเส้นทางผ่านเข้ามาในประเทศไทย โดยถือตามขอบเขตประเทศตามแผนที่ปัจจุบันได้ดังนี้

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

5 สิงหาคม พ.ศ. 2328 สุริยุปราคาวงแหวน พาดผ่านภาคเหนือตอนบน ในกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 74%

30 มกราคม พ.ศ. 2329 สุริยุปราคาแบบผสม โดยส่วนที่พาดผ่านเข้ามาในสยามเป็นแบบวงแหวน แนวคราสผ่านเมืองลำพูน กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 86%

4 มิถุนายน พ.ศ. 2331 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่พาดผ่านเข้ามาในประเทศไทย แนวคราสมืดเฉียดอำเภอแม่สาย และออกสู่หลวงพระบาง ในกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 79%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2360 สุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสกว้าง 213 ก.ม. พาดผ่านภาคกลางตอนบน และภาคอีสานตอนล่าง กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 88%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

21 ธันวาคม พ.ศ. 2386 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 แนวคราสผ่านเมืองตรัง เมืองพัทลุง กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 82%
สามารถย้อนกลับไปดูรูปจำลองที่ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่อง โปรดทราบ สมัย ร.3 ก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเหมือนกัน

9 ตุลาคม พ.ศ. 2390 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 79%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

18 กันยายน พ.ศ. 2400 สุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสผ่านเมืองประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพเห็นเป็นชนิดบางส่วน 90%

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2404 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านสุไหงโกลก กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 68%

18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 3 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ล่วงหน้าได้ด้วยพระองค์เอง และเสด็จไปทอดพระเนตรที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยคณะแขกเมืองและนักดาราศาสตร์ชาวต่างชาติ
สามารถกลับไปดูรูปจำลองและรายละเอียดที่ผมเคยเขียนแล้วเรื่อง เชิญชมปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสมัย ร.4 ครับ
กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 97%
ดร.ขาว เหมือนวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าสุริยุปราคาครั้งนี้เป็นวงรอบซารอสเดียวกันกับสุริยุปราคาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 โดยห่างกัน 10 วงรอบซารอส หรือ 180 ปี

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยะมหาราช)

6 เมษายน พ.ศ. 2418 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 4 แนวคราสมืดผ่านจังหวัดเพชรบุรี เขาวัง สมุทรปราการ และเป็นครั้งแรกที่ผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ มืดนาน 3 นาที 51 วินาที และฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษเข้าสังเกตสุริยุปราคาเต็มคราสที่แหลมเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี สุริยุปราคาครั้งนี้ไม่มืดเท่ากับสุริยุปราคาเมื่อปี 2411 เพราะคอโรนาสว่างกว่า หลักฐานเหตุการณ์ก็มีน้อยกว่า โดยมีเพียงภาพวาดสุริยุปราคาของเจ้าชายทองทรงวาดไว้


17 มิถุนายน พ.ศ. 2433 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านภาคเหนือตอนบน กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 72%

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง จันทบุรี ตราด สำหรับกรุงเทพฯ เห็นเป็นชนิดบางส่วน 82%

17 มีนาคม พ.ศ. 2447 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ส่วนกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 81%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไม่มีสุริยุปราคาผ่านเข้ามาในสยาม

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 5 แนวคราสผ่านจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จในวันที่ 8 พฤษภาคม ไปยังสถานที่สำรวจสุริยุปราคา 3 แห่งตามคำกราบบังคมทูลเชิญ ได้แก่ สถานที่สำรวจของคณะดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ, สถานที่สำรวจของคณะดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน(ตำบลโคกโพธิ์) และสถานที่สำรวจของกรมแผนที่และกรมชลประทาน ส่วนในวันที่เกิดปรากฏการณ์จริง ทรงเสด็จไปทอดพระเนตร ณ สถานที่สำรวจของนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เพราะเป็นคณะแรกที่ได้กราบบังคมทูลเชิญมาก่อน มีที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าสนามของโรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี) ซึ่งเต็มดวงนาน 4 นาที 58 วินาที ด้วยความสนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ ทรงอยู่ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2472 เพื่อรอศึกษาตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษและคณะนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน
กรุงเทพฯ เห็นเป็นชนิดบางส่วน 78%

21 สิงหาคม พ.ศ. 2476 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านจังหวัดเพชรบุรี วังไกลกังวล ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 93%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านภาคเหนือและภาคอีสาน กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 82%

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 สุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสผ่านสมุทรสงคราม ราชบุรี สมุทรสาคร และพาดผ่านกรุงเทพฯ กินหมด 99% และออกสู่ภาคอีสาน

20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 6 แนวคราสผ่านจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และกรุงเทพฯเต็มดวงนาน 5 นาที 57 วินาที ปทุมธานี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นเต็มดวงนาน 6 นาที 25 วินาที

14 ธันวาคม พ.ศ. 2498 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านกรุงเทพฯ กินหมด 83%

19 เมษายน พ.ศ. 2501 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านกรุงเทพฯ กินหมด 88%

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 สุริยุปราคาวงแหวนครั้งล่าสุดในประเทศไทย ผ่านภาคเหนือและภาคอีสาน กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 86%

24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 7 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทย แนวคราสมืดผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทอดพระเนตร ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเห็นเต็มดวงนาน 1 นาที 52 วินาที ตอนนั้นเจ้าของ Blog ก็ไปดูในบริเวณนิด้าเหมือนกันครับ แต่เห็นสมเด็จพระเทพฯในระยะไกลมาก
สำหรับกรุงเทพฯ เห็นเป็นชนิดบางส่วน 96%

นับตั้งแต่ปี 2472 เป็นต้นมา สามารถกลับไปดูรูปจำลองของสุริยุปราคาที่เคยเขียนแล้วเรื่อง สุริยุปราคาพาดผ่านประเทศไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา



สุริยุปราคาในอนาคต (ที่เห็นได้ในประเทศไทย)

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 สุริยุปราคาวงแหวน โดยทุกพื้นที่ในประเทศไทยยกเว้นภาคใต้สามารถเห็นได้เป็นชนิดบางส่วนขณะพระอาทิตย์ขึ้น กรุงเทพเห็นเป็นชนิดบางส่วน 11%
สามารถกลับไปดูรูปจำลองที่เคยเขียนไว้แล้วเรื่อง อุบัติการณ์ทางดาราศาสตร์ 2012

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2574 สุริยุปราคาวงแหวนผ่านจังหวัดชายแดนใต้ กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 68%

14 ตุลาคม พ.ศ. 2585 สุริยุปราคาวงแหวน ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 71%

11 เมษายน พ.ศ. 2613 สุริยุปราคาเต็มดวง แนวคราสมืดผ่านจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ หว้ากอ กรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน 95%

สำหรับสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะมองเห็นได้ในกรุงเทพฯอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2904


Create Date : 23 ธันวาคม 2554
Last Update : 24 ธันวาคม 2554 16:35:29 น. 0 comments
Counter : 2208 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมภพ เจ้าเก่า
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




รูปภาพทั้งหมดในนี้ สามารถนำไปใช้ได้ฟรีนะครับ แต่ไม่ควรลบสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของในรูปออกไป รูปใดไม่มีสัญลักษณ์ อยากให้ช่วยอ้างอิง จาก sompop.bloggang.com ด้วยครับ
Blog ล่าสุด
* สัมภาษณ์เทวดาในพระแก้วมรกต 18 มิ.ย. 60
* การสำรวจหินลอยได้ที่เขาคิชฌกูฏ 3 มี.ค. 60
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมือง กทม. 16 ธ.ค. 59
เรื่องเล่าบอกต่อ
* บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากโดรนมุมสูง
* เชิญโหลด 7 ภาพยนต์เฉลิมพระเกียรติ
* เช็คอันดับ Blog ของคุณกับ truehits
Blog แนะนำ
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ 19 ก.ย. 57
* ยานพาหนะที่แล่นตามและทวนน้ำได้โดยไม่ใช้พลังงานอื่น
* ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2012
New Comments
Friends' blogs
[Add สมภพ เจ้าเก่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.