World 26/09/51
- กระทรวงการคลัง หั่นเป้าจีดีพี ปี51 เหลือแค่ 5.1% จากเดิมตั้งไว้ที่ 5.6% เหตุจากวิกฤติต่างๆ ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่กระเตื้อง ส่วนปีหน้าลดเป้าศก.โตเหลือแค่ 4.5 % เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่คาดว่า เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3-4 % เพราะราคาน้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทยังผันผวน

- นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการใช้จ่ายจากต่างประเทศ ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงและผลของ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน

- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) หลังจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐตกลงร่วมกันในหลักการที่จะผลักดันให้แผนฟื้นฟูภาคการเงินผ่านมติสภาคองเกรส ซึ่งข่าวดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนส่งคำสั่งซื้อเข้าตลาดอย่างคับคั่ง และช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ดีดขึ้นเกือบ 200 จุด
เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ แถลงสภาคองเกรสให้เร่งผ่านร่างแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยเบอร์นันเก้เตือนว่า ความล่าช้าในการอนุมัตแผนการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเงินและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
"สหรัฐกำลังเผชิญ 'ภัยคุกคามเศรษฐกิจที่เข้าขั้นรุนแรง' ซึ่งจะบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงิน วิกฤตการณ์สินเชื่อเริ่มส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในวงกว้าง และเสถียรภาพในระบบการเงินของสหรัฐกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง" เบอร์นันเก้กล่าว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เบอร์นันเก้แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดในปีพ.ศ.2549
ขณะที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว หากสภาคองเกรสไม่เร่งผ่านนโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ หลายธุรกิจอาจต้องล่มสลายและจะทำให้มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเขาพร้อมรับข้อเสนอจากทั้งพรรครีพับลีกันและเดโมแครทเพื่อให้นโยบายดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส
หุ้นกลุ่มธนาคารนำตลาดดีดตัวขึ้น โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกาพุ่งขึ้น 4% และ หุ้นเจพีมอร์แกนพุ่งขึ้น 7.3% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้น 2.6%

- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่าสภาคองเกรสจะมีมติอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มการเงินทะยานขึ้น
มาร์ติน สเลนีย์ นักวิเคราะห์จากบริษัท GFT ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า "หุ้นกลุ่มการเงินทะยานขึ้นแข็งแกร่ง โดยหุ้นธนาคารบาร์เคลย์และหุ้นรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ พุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุด หลังจากประธานาธิบดีบุชและประธานเฟด ผลักดันสภาคองเกรสให้ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงิน ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าสภาคองเกรสจะผ่านแผนดังกล่าวอย่างแน่นอน"

- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะผ่านมติในที่ประชุมสภาคองเกรส หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐมีความเห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันมาตรการดังกล่าวให้ผ่านการอนุมัติจากคองเกรส
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก กล่าวว่า ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส หลังจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช, นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง และนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้ร่วมผลักดันให้ร่างแผนการดังกล่าวผ่านมติสภาคองเกรส

- ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) หลังจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐตกลงร่วมกันในหลักการที่จะผลักดันให้แผนฟื้นฟูภาคการเงินผ่านมติสภาคองเกรส ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการพลังงานให้เพิ่มขึ้นด้วย

- ราคาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 13 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำเดือนธ.ค.อย่างหนักหลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าสภาคองเกรสมีแนวโน้มที่จะผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและปอนด์
จอห์น เนดเลอร์ นักวิเคราะห์จาก Kitco Bullion Dealers ในเมืองมอนทรีอัล กล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดทองคำซบเซาลงเมื่อมีข่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐ รมว.คลังและประธานเฟด พร้อมใจกันผลักดันแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยทำทุกวิถีทางที่จะให้แผนดังกล่าวผ่านมติความเห็นชอบจากสภาคองเกรส"

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ร่วงลง 11.5% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปีที่ 460,000 ยูนิต จากเดือนที่แล้ว 520,000 ยูนิต

- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้น 32,000 ราย แตะระดับ 493,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจหลายแห่งในรัฐหลุยเซียนาและเท็กซัสที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนไอค์และเฮอริเคนกุสตาฟ

- โกลด์แมน แซคส์ สถาบันการเงินสหรัฐที่กำลังดิ้นรนให้รอดพ้นจากวิกฤติการเงิน ตัดสินใจไม่ขอร้องให้ ซูมิโตโม่ มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ (SMFG) เข้าลงทุนในบริษัทโฮลดิ้งธนาคารแล้ว หลังจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกัน เสนอที่จะทุ่มเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ลงทุนในโกลด์แมน แซคส์

- เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ
การเข้าซื้อทรัพย์สินครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือนที่เจพีมอร์แกน เข้าเทคโอเวอร์กิจการสถาบันการเงินรายใหญ่ที่ประสบปัญหาหนี้เสียในตลาดปล่อยกู้จำนอง โดยการเทคโอเวอร์ครั้งนี้เจพีมอร์แกนต้องจ่ายเงินกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ พร้อมออกแถลงการณ์ว่า เจพีมอร์แกนเตรียมปรับลดมูลค่าพอร์ทเงินกู้ของวอชิงตัน มูชวล ลงประมาณ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนการเทคโอเวอร์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเจพีมอร์แกนตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ แบร์ สเติร์นส์ อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เจพีมอร์แกนจะรับผิดชอบบัญชีเงินฝากสินทรัพย์ และหนี้บางส่วนของวอชิงตัน มูชวล ซึ่งมีฐานการดำเนินงานในกรุงวอชิงตัน โดยตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2551 เป็นต้นมามูลค่าของวอชิงตัน มูลชวล ร่วงลงมาแล้วถึง 80%

- บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเม็กซิโก กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มลดการผลิตน้ำมันลง เนื่องจากโรงกลั่นสหรัฐที่ได้รับความเสียหายจากเฮอริเคนไอค์ ได้ยกเลิกหรือเลื่อนคำสั่งซื้อน้ำมันจากบริษัท
เปโตรนอส เม็กซิกานอส หรือ เปเม็กซ์ กล่าวว่า บริษัทได้ลดการผลิตลง 250,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อวันอังคาร อย่างไรก็ดี เปเม็กซ์กล่าวในวันพุธว่า บริษัทคาดว่าการผลิตจะกลับสู่สภาพปกติภายในสัปดาห์นี้ เมื่อโรงกลั่นเลียบอ่าวเม็กซิโกกลับมาดำเนินการผลิตได้ดังเดิม
การปรับลดผลผลิตในครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่เปเม็กซ์กำลังประสบภาวะการผลิตลดลง โดยผลผลิตที่ร่วงลงส่งผลให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ระดับ 1.43 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน ลดลง 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เฮอริเคนไอค์ส่งผลให้โรงกลั่นหลายสิบแห่งริมอ่าวเม็กซิโกในรัฐเท็กซัสต้องปิดการดำเนินงานหรือลดกำลังการผลิต โดยโรงกลั่น 7 แห่งในจำนวนนี้สั่งซื้อน้ำมันดิบจากเม็กซิโก

- บริษัท โรยัล ดัทช์ เชลล์, บริษัท บีพี และบริษัทโททาล จะปิดโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปอย่างน้อย 6% เพื่อซ่อมแซม ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองของบริษัทลดลง ขณะที่ปริมาณน้ำมันในปัจจุบันก็ปรับตัวน้อยลงอยู่แล้ว เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐหลังจากที่ถูกเฮอริเคนไอค์ถล่ม
บลูมเบิร์กรายงานว่า การปิดซ่อมแซมโรงกลั่นตั้งแต่รอตเตอร์ดัมไปจนถึงอิตาลีจะกระทบต่อการกลั่นน้ำมันดิบอย่างน้อย 952,000 ต่อวันในเดือนต.ค. ซึ่งเพิ่มสองเท่าจากตัวเลขเดือนก.ย. โดยปริมาณน้ำมันกลั่นที่ได้จากโรงงานของเชลล์และบีพีในเนเธอรแลน์นั้น รวมกันได้ 400,000 บาร์เรลต่อวัน

- นายหยู ยงติง อดีตที่ปรึกษาของคณะธรรมาธิการของธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆที่ถือครองตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐต้องเร่งเจรจากันทำข้อตกลงเพื่อป้องกันแรงเทขายที่มาจากภาวะตื่นตระหนกจนทำให้ตลาดเงินทั่วโลกต้องเผชิญภาวะล่มสลาย
โดยเขากล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นทุกประเทศจึงไม่ควรแห่เทขายตราสารหนี้ที่จะทำให้ตลาดเงินล่มสลาย โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ถือครองพันธบัตรของสหรัฐมากที่สุดถึง 5.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยจีนที่ถือครองสินทรัพย์สหรัฐเป็นมูลค่า 5.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศในเอเชียมีสินทรัพย์ของสหรัฐรวมกันคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวน 2.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต่างชาติถือครองอยู่ทั้งหมด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า วิกฤตสินเชื่อทั่วโลกที่มีต้นเหตุจากปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาในสหรัฐได้ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งเผชิญภาวะขาดทุนและต้องปรับลดมูลค่าทางบัญชีไปกว่า 5.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้วาณิชธนกิจแบร์ สเติร์นส์รวมถึงเลห์แมน บราเธอร์สต้องประสบภาวะล้มละลาย ขณะที่รัฐบาลสหรัฐต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นเนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) และบริษัทปล่อยกู้จำนองรายใหญ่อย่างแฟนนี เม และเฟรดดี แมคด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัทเหล่านี้

- ธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1.25% เหลือ 3.5% วันนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2546 โดยชี้ว่าวิกฤตการเงินทั่วโลกที่ย่ำแย่ลงนั้นทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะล่มสลายมากยิ่งขึ้น
ปิง ไฟ หนาน ผู้ว่าการธนาคารกลางไต้หวัน ได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกับแบงค์ชาติอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ธนาคารกลางจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่ปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนนี้ ในขณะที่ตลาดหุ้นก็ดิ่งลงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงัก

- 4 ใน 5 ของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดผลิตรถยนต์ภายในประเทศและทั่วโลกเดือนส.ค.ปรับตัวต่ำกว่าปีที่แล้ว และมีบริษัทแห่งเดียวที่ยอดการผลิตปรับตัวสูงขึ้น
ยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกในเครือโตโยต้าลดลง 15.5% เหลือเพียง 626,745 คัน ยอดผลิตของฮอนด้าลดลง 4.8% แตะระดับ 295,541 คัน ยอดผลิตของนิสสันลดลง 5.5% แตะระดับ 252,609 คัน และยอดผลิตของมิตซูบิชิร่วงลง 17.1% เหลือเพียง 90,987 คัน
มีเพียงยอดผลิตของมาสด้า มอเตอร์ เท่านั้น ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอดผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4.1% แตะระดับ 97,242 คัน สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

- กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.175 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขรายเดือนจะเท่ากับตัวเลขเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งภาวะดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากรายได้การส่งออกมักพุ่งสูงขึ้นในช่วงปลายปี
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการองค์การที่ประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) กล่าวว่า การส่งออกของเวียดนามจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะอุปสงค์ชะลอตัวในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน ผลผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่สำคัญหลายรายการ อาทิ น้ำมันดิบและถ่านหินปรับตัวลดลง ส่วนราคากาแฟยางและถ่านหินเริ่มปรับตัวลดลง โดยราคาข้าวและน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแล้ว 30% นับตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา

อ้างอิงจาก //www.ryt9.com , //www.forexfactory.com

ข้อสังเกต
1. หากรัฐบาลสหรัฐปล่อยเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ เข้ามาในระบบอะไรจะเกิดขึ้นบ้างนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวครับ ทั้งนี้เมื่อคืนนักลงทุนเริ่มมีการตอบรับแผนของรัฐบาลสหรัฐบ้างแล้ว โดยมองว่าหุ้นในกลุ่มการเงินน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ดูจะน่าเป็นห่วงหากแผนงานนี้ผ่านขึ้นมาจริงๆ (และไม่มีการแทรกแซง) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการนำมาตรการออกมาใช้นั้นเม็ดเงินลงทุนน่าจะไหลจากตลาด Commodity เข้ามายังหุ้นในกลุ่มการเงินอีกพอสมควรครับ
ทั้งนี้ในระยะกลางและระยะยาวก็คงต้องมาดูผลจากการใช้มาตรการครับว่าจะทำให้ภาวะวิกฤตทางด้านตลาดเงินของสหรัฐนั้นจะไปในทิศทางใด ซึ่งตัวชี้วัดหลักๆที่ผมมองไว้ก็คงจะเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งหลายทั้งปวงครับ (อย่าเชื่อมากผมเดาไปเรื่อยครับ)

2. หลายๆครั้งที่สภาพความเป็นจริงที่เกิดกับความเชื่อของนักลงทุนมันก็สวนทางกัน ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพวกกองทุนใหญ่ๆหรือพวก Hedge Fund ซึ่งการทำ "สิ่งที่เชื่อ" ให้ดูจริง และจริงยิ่งกว่าจริง แล้วปล่อยให้ "ความเป็นจริง" กลืนความเชื่อพร้อมกำไรเข้าสู่กระเป๋านั้น มันก็เป็นเทคนิคที่พวกเค้าทำกันอยู่บ่อยๆ (เขียนไว้เตือนใจตัวเองครับ)

3. เมื่อวานข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐดูไม่ดีเอามากๆเลยครับ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ทุกตัว (ซึ่งที่คาดการณ์ไว้ก็ต่ำอยู่แล้ว) ซึ่งเราคงต้องคอยดูกันต่อไปครับ (อ้างอิงจาก //www.forexfactory.com)

-----------------------------------------------------------------------------

คำเตือน - ข้อมูลดังกล่าวผู้เขียนตั้งใจเก็บไว้สำหรับเตือนความจำ และประกอบการวิเคราะห์ของผู้เขียน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจมีข้อผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้นผู้เข้าเยี่ยมชมโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ขอบคุณครับ



Create Date : 26 กันยายน 2551
Last Update : 26 กันยายน 2551 14:26:26 น.
Counter : 422 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Death_13
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กันยายน 2551

 
6
7
8
9
13
14
20
21
23
24
27
28
29
30
 
 
26 กันยายน 2551