ไปกด Link ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/skymantaf หรือ Follow ได้ที่ Twitter https://twitter.com/skymantaf หรือที่ http://www.thaiarmedforce.com นะครับ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
29 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
=== ลาก่อน F-5B The Oldest Tiger ในพิธีปลดประจำการ F-5B อย่างเป็นทางการ ===



ตั้งแต่การบินเที่ยวสุดท้ายที่กองบิน 7 สุราษฏ์ และ การบินเที่ยวสุดท้ายของเครื่องมาลงที่กองบิน 6 ดอนเมือง โดยผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ......... วันนี้ คือบทสรุปหน้าสุดท้าย ของตำนานของเครื่องบินรบที่เป็นตำนานของโลกลำนี้ F-5 Freedom Fighter ...... นั้นคือการทำพิธีปลดประจำการ F-5B "The Oldest Tiger" เครื่องแรกของโลก ณ บริเวณลานจอดของฝูงบินที่ 603 กองบิน 6 ดอนเมือง โดยท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และลูกศิษย์ของ F-5B ลำนี้ ได้ให้เกียรติกับอาจารย์ของตน ในพิธีปลดเกษียร

วันนี้ มีเรื่องราวเล็ก ๆ ของเจ้า F-5B เครื่องนี้ ในพิธีปลดประจำการมาฝากครับ



วันที่ 28 ธ.ค. 2550 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีปลดประจำการเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ก หรือ F-5B Freedom Fighter ทะเบียน 70101 หมายเลข 38438 หมายเลขการสร้าง N.8001 โดยมี พลอากาศเอก พุฑฒิ มังคละพฤกษ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ผู้ซึ่งทำการบิน F-5B เที่ยวสุดท้าย จากกองบิน 7 สุราษฏ์ มาที่กองบิน 6 ดอนเมือง เป็นผู้รายงานและดำเนินพิธีการ พร้อมกับคณะนายทหารของกองทัพอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือผู้ที่เคยฝุกบินกับ F-5B "The Oldest Tiger" เครื่องนี้ มาร่วมงานกัน



นอกจากนั้น ยังมีเหล่าช่างของฝูงบิน 701 ของบิน 7 สุราษฏ์ ที่รับผิดชอบ ดูแลรักษา F-5B เครื่องนี้ มาร่วมในพิธีด้วยครับ



หลังจากเสร็จสิ้นคำกล่าวสดุดี วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ F-5E จำนวน 4 ลำ ของฝูงบิน 701 ได้บินเกาะหมู่ 4 ผ่านในระยะต่ำ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับเครื่องบินลำนี้



และผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ทักทายกับบรรดาช่างที่เข้าร่วมพิธี (ได้ยินผบ.ทอ. พูดกับช่างว่า ขอบคุณมาก เยี่ยมมาก ฯลฯ)



พร้อมกับถ่ายภาพคู่กับ F-5B และเดินชมเครื่อง



ถ้ายังจำกันได้ ......... ผู้บัญชาการทหารอากาศคนนี้ เป็นนักบิน F-5 ที่มีชั่วโมงบินกับ F-5 มากกว่า 2,000 ชม. ถือเป็นนักบิน F-5 คนแรกของไทยและเอเชียที่ทำการบินได้มากขนาดนี้ และตั้งแต่เข้ารับการฝึกเป็นนักบินขับไล่เป็นต้นมา ก็ทำการฝึกกับ F-5B เครื่องนี้มาโดยตลอด จึงถือได้ว่า F-5B ลำนี้เป็น "ครู" ของท่านคนหนึ่งเหมือนกัน



สุดท้าย นายทหารระดับสูง ก็ได้ร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับ F-5B พร้อมกับ F-5E ที่บินผ่านในระดับต่ำ ........ คงไม่ต้องบอกว่า หลาย ๆ ท่านที่ยืนอยู่ในภาพนี้ ต่างเคยทำการลบินกับเครื่องบินลำนี้มาแล้ว



พิธีการอย่างเป็นทางการจบแล้วครับ ......... หลังจากนี้ ก็เป็นคิวของการถ่ายภาพและเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันครับ

อย่างภาพนี้ ......... คนที่สองจากขวาคือ พลอากาศโท พิธพร กลิ่นเฟื่อง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายการข่าว เป็นนักบินทดสอบที่เก่งที่สุดในประเทศไทย เขาพูดกันว่า ไม่มีเครื่องบินลำไหนในโลกที่ท่านบินไม่ได้ (เพราะท่านบินมาแทบจะครบหมดแล้ว ) ล่าสุด ท่านก็เป็นนักบินทดสอบให้กับเครื่อง บ.ชอ. 2 ที่กองทัพอากาศจัดสร้างเอง ..... ส่วนคนถัดมาทางซ้ายคือ พลอากาศตรี ดร. ชนนนาถ เทพลิบ รองเจ้ากรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ซึ่งถ้าใครอ่านนิตยสาร Tango จะต้องคุ้นชื่อแน่นอนครับ



รวมทั้งคุณลุงนายทหารสรรพวุธประจำเครื่อง ....... ก็ขอหล่อ ๆ กับเขาด้วยสักรูปครับ



จบจากหล่อ ๆ ก็มาต่อกันที่สวย ๆ ครับ



ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ...... ผมจะขอ Walk Around เจ้าเสือแก่สักเล็กน้อย ตามระเบียบครับ



ความจริงลุงเสือแกไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่า F-5B ลำอื่น ๆ ในแง่คุณสมบัติของเครื่องครับ ....... แต่ความพิเศษตรงที่แกเป็นลูกคนโตสุดจากสายการผลิต ก็ทำให้แกได้รับเครื่องหมายพิเศษติดที่บริเวณห้องนักบิน นันคือคำว่า The Oldest Tiger พร้อมกับรูปเสือ 1 ตัว



ที่หาง มีข้อความนี้ครับ ...... 44 Years of The First F-5B of The World (นับตั้งแต่ออกจากสายการผลิต) ............. พร้อมรูปธงชาติไทย, รูป F-5B, Serial No. และสัญลักษณ์ของกองบิน 7 ครับ

F-5B ลำนี้ได้รับมาโดยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาครับ โดยขนส่งมาทางเรือและมาประกอบที่กองบิน 6 ดอนเมือง โดยช่างของกองทัพอากาศ รวมถึงขึ้นบินครั้งแรกที่นี่ เมื่อครั้งที่ที่นี่ยังมีสภาพเป็น ฝูงบิน 13 กองบิน 1 ...... จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมจึงต้องจัดพิธีที่นี่ครับ



นี่คือห้องนักบินด้านหน้าครับ เป็นห้องนักบินที่สร้างนักบินขับไล่ชั้นยอดมาแล้วหลายคน เพราะที่นี่จะเป็นที่นั่งของศิษย์การบินครับ

บางท่านที่ชอบเครื่องบินรบ อาจจะมองหาจอเรด้าร์ ........ เหอ ๆ ๆ อยากจะบอกว่า หาไปก็ไม่เจอครับ "เพราะเจ้าเครื่องนี้ไม่มีเรด้าร์" .......... แต่ยิงจรวดได้นะครับ เพราะจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะใกล้แบบ AIM-9P ที่เป็นอาวุธหลักของลุงเสือ ไม่ต้องใช้เรด้าร์ครับ เมื่อนักบินจะยิงจรวดใส่ข้าศึก จะใช้เซนเซอร์ของตัว AIM-9P ในการตรวจจับสัญญาณความร้อนหรือรังสีอินฟาเรดที่ออกมาจากเครื่องยนต์ และเมื่อรับสัญญาณความร้อนได้มากพอ ก็จะมีเสียงปี๊บ ๆ ๆ ๆ ในห้องนักบินและนักบินก็สามารถสั่งยิงจรวดได้ครับ



ส่วนอันนี้เป็นห้องนักบินหลังครับ เป็นที่นั่งของครูการบิน



ได้กลิ่นน้ำมันไหมครับ? เพราะนี่คือข้างในเครื่องยนต์ ผมยื่นหน้าเข้าไปถ่าย ......... เอิ๊ก ๆ ๆ



ฝาครอบห้องนักบินของ F-5 ปิดด้วยมือนะครับ ไม่ได้มีระบบอัตโนมัติเหมือนเครื่องรุ่นอื่นของกองทัพ



เอาล่ะครับ ลุงเสือแกยืนตากแดดตากลมมาหลายชั่วโมงแล้ว กลับบ้านดีกว่าครับ ........... งานนี้ลากไปนะครับ เพราะเราไม่ได้สตาร์ทเครื่องอีกแล้วครับ



ณ ตอนนี้ ลุงเสือแกจะพักอยู่ที่โรงเก็บของทอ. ก่อนครับ เพราะในวันเด็ก แกมีคิวโชว์ตัว จากนั้นจึงจะทำการเคลื่อนย้ายเข้าไปในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ดอนเมืองครับ



สโลแกนของงานนี้คือ The Old Fighter Never Die, Just Fade Away. ........... ปรับมาจากวลีอมตะของนายพล ดักลาสน์ แม็กอาร์เธอครับ ...... The Old Soldier Never Die. They Just Fade Away.



สำหรับวันนี้ก็คงจบลงตรงนี้ครับ ........... ท่านใดอยากเจอลุงเสือตัวจริง เชิญพบได้ที่งานวันเด็กของกองทัพอากาศ วันที่ 12 ม.ค. 2551 ครับ ...... แกจะมาเล่นกับหลาน ๆ ก่อนกลับบ้านที่พิพิธภัณธ์กองทัพอากาศ ดอนเมือง






เพื่อให้กระทู้นี้สมบูรณ์มากขึ้น ขอนำบทความของคุณท้าวทองไหลมาประกอบครับ

WINGS OF SIAM
เครื่องบินไทยในยุคสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ตอนที่ ๕ เครื่องบินฝึกขับไล่เอฟ-๕ บี ( บข.๑๘ ก.)

โดย…พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์

เมื่อกล่าวถึงเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ-๕ เอ โดยที่มองข้ามไม่กล่าวถึงเครื่องบินฝึกขับไล่สองที่นั่งแบบ เอฟ-๕ บี ที่มีอายุมากกว่า ๓๗ ปี โดยเฉพาะเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโฑลกที่อยู่ในประเทศไทยแล้วหละก็ ปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลาหยุดพักผ่อนของเครื่องบินรุ่นนี้ แต่ผมก็จะขอแนะนำให้รู้จักกับเครื่องบินขับไล่แบบนี้ เพื่อให้เรื่องราวของเครื่องบินขับไล่ในตระกูล ฟรีดอมไฟร์ทเตอร์ ที่ประกอบด้วย เอฟ-๕เอ / บี / ซี และ อาร์เอฟ-๕ เอ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะบังเอิญว่าผมเคยตั้งใจแล้วว่าคอลัมน์มีความประสงค์เหลือเกินที่จะนำเสนอเฉพาะเครื่องบินที่ปลดประจำการไปแล้ว เอาเป็นว่าผมขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย…..แบบ…………( ขอเสียงตบมือต้อนรับด้วยอีกสักครั้งครับ…)….


เครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียง แบ เอฟ-๕ บี จัดเป็น บ.ขับไล่สมรรถนะสูงความเร็วเหนือเสียงแบบแรกที่ได้บรรจุเข้าประจำการใน ทอ. ซึ่งผลิตโดยบริษัท NORTHROP (USA) ใช้เป็นเครื่องบินฝึกขับไล่ ขับไล่ทิ้งระเบิดและลาดตระเวน ความเร็วเหนือเสียง ความเร็วสูงสุด 1.40 มัค หรือประมาณ 1,750 กม./ชม. รัศมีทำการรบ 925 กม. ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 20 มม. 2 กระบอก แต่ละกระบอกบรรจุกระสุน 280 นัด สามารถติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9 ได้ 2 นัด และสามารถติดตั้งลูกระเบิดแบบต่าง ๆ ได้อีก 5 ตำแหน่ง เครื่องต้นแบบของ เอฟ-๕ เครื่องแรกของโลกได้ทำการบินเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2502 ที่สหรัฐฯ ได้รับสมญานามว่า FREEDOM FIGHTER และสำหรับ เอฟ-๕ บี เครื่องบินขับไล่ฝึกสองที่นั่งเรียงตามกัน เครื่องแรกของโลกนั้น ( Sel.No.63-8438 ) ได้ทำการครั้งแรกในวันที่ 24 ก.พ.2507 ที่สหรัฐเช่นกันนับจากวันนั้น จวบจนกระทั่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานถึง 37 ปีโดยมีชั่วโมงบินประมาณ 5,400 ชั่วโมงแล้ว
เอฟ-๕ บี เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟ-๕ ที่มีสองที่นั่ง ใช้ในการฝึกบินเปลี่ยนแบบ และบินขับไล่ โดยที่นั่งหลังหรือที่นั่งครูการบินจะถูกยกให้สูงขึ้น 10 นิ้ว เพื่อประโยชน์ในการมองไปข้างหน้าเพิ่มขึ้น รูปร่างและสมรรถนะของเครื่องโดยทั่วไปจะเหมือนกับ เอฟ-๕ เอ ที่นั่งเดียว จะแตกต่างอยู่ที่ส่วนหัวเครื่อง เอฟ-๕ บี จะไม่ติดตั้งปืนกลอากาศ แต่ยังคงสามารถปฏิบัติการบินรบได้เช่นเดียวกับ เอฟ-๕ เอ ยกเว้นปืนกลอากาศเท่านั้น
กองทัพอากาศไทยรับมอบเอฟ-๕บี ชุดแรกในปลายปี ๒๕๐๙จำนวน ๒ เครื่อง Sel.No.63-8438 และ 63-8439เดิม เอฟ-๕ บี สองเครื่องนี้เป็นเครื่องบินฝึกของกองทัพอากาศสหรัฐฯมาก่อน โดยใช้สีบรอนซ์เงิน มีเพียงหมายเลขเครื่องที่หางและธงชาติไทยเท่านั้น ในภายหลังเพิ่มลายหางสีแดงพร้อมสายฟ้าและ เสือโคร่งกระโจมที่หัวเครื่อง เดิมกองทัพอากาศกำหนดชื่อเป็น " บฝข.๑๘ " (ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ นิตยสารการบิน กองบินยุทธการ กองทัพอากาศ ฉบับที่ ๑๐ ประจำ ตุลาคม ๒๕๑๐ ) บรรจุเข้าประจำการก่อน เอฟ-๕เอ ในฝูงบินขับไล่ที่ ๑๓ กองบิน ๑ ดอนเมือง(ขณะนั้นตั้งอยู่ที่ฝั่งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย) เพื่อใช้ฝึกนักบิน เอฟ-๘๔ จี และ เอฟ-๘๖ เอฟ/แอล ที่จะมาบินกับเอฟ ๕เอในต้นปี ๒๕๑๐ กองทัพอากาศได้รับมอบเอฟ-๕เอจากรัฐบาลสหรัฐฯตามโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบให้เปล่าต่อพันธมิตรทางทหาร ทั้งหมดบรรจุเข้าประจำการที่ฝูง ๑๓ ดังนั้นจึงมีการกำหนดชื่อ เอฟ-๕ บี เรียกตามแบบ ทอ.ไทยใหม่ว่า "บข.๑๘ ก." กำหนดหมายเลขเครื่องทั้งสองเป็น 1301 และ 10302 ( 63-4838 และ 63-4839 ตามลำดับ ) ตั้งแต่นั้นมา อนึ่งในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทรงเยี่ยมกองบิน ๑ ดอนเมือง และในโอกาสนี้ น.อ.บุญสม อยู่ออมสิน ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นชุดนักบินและประทับบนที่นั่งหน้าของเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ-๕ บี หมายเลข 1302 (Sel.No.63-4839 ) ได้รับการถวายคำอธิบายเกี่ยวกับการติดเครื่อง การขับเคลื่อน ฯลฯ พระองค์เมื่อทรงประทับแล้วได้ทรงทำการติดเครื่องและทำการขับเคลื่อนไปตามลานจอด ด้วยพระองค์เอง แม้จะมิได้บินขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ก็นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นกระหม่อมหาที่สุดไม่ได้ สร้างความปลื้มปิติยินดีและยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวกองทัพอากาศไม่รู้ลืม…
ในปี ๒๕๑๙ กองทัพอากาศรับมอบเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ บี อีกหนึ่งเครื่อง ( Sel.No.73-1609 กำหนดหมายเลขเป็น 1303 ) แต่ในปีเดียวกันนี้ทั้งสามเครื่องย้ายไปอยู่ที่ตั้งใหม่ กองบิน ๑ นครราชสีมา ( ร่วมกับกองบินที่ ๓๘๘ ของกองทัพสหรัฐฯ ) จึงกำหนดชื่อฝูงใหม่เป็น ฝูงบินขับไล่ที่ ๑๐๓ กองบิน ๑ ช่วงนี้ในระยะแรกยังคงใช้สีเดิมเครื่องหมายเดิมเปลี่ยนเพียงหมายเลขฝูงจากเลข ๔ หลักเป็น ๕ หลัก ในปีเดียวกันนี้ กองทัพอากาศต้องสูญเสียเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องหมายเลข ๒ หมายเลขฝูง 1302 ( Sel.No.63-8438 )ไปในระหว่างการฝึกบินเหนือสนามบิน พร้อมชีวิตครูการบิน และ ศิษย์การบิน คือ ร.ท.ปรีชากร พันธ์นิล และ ร.อ.ศรเดช ศิริมงคล เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย. ๑๙ เวลา ๑๔๑๓ อันเนื่องมาจากจะต้องสร้างนักบินใหม่ๆของฝูงบินเองและเพื่อให้สามารถส่งไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ อี ที่มีสมรรถสูงกว่าซึ่งกำลังจะรับมอบในปีถัดไป (๒๕๒๑ ) การขาดแคลนเครื่องบินฝึกหรือการมีเครื่องบินฝึกขับไล่เพียงแค่สองเครื่องกับนักบินฝูง ๑๐๓ ที่มีมาก และที่สำคัญคือการที่จะต้องสร้างนักบินใหม่ๆเพื่อให้สามารถส่งไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ อี ที่มีสมรรถสูงกว่าดังกล่าว เครื่องบิน เอฟ-๕ บี ทั้งสองเครื่องที่เหลือในช่วงนี้เปลี่ยนสีเป็นสีพลางท้องขาวแบบเดียวกับ เอฟ-๕ เอ และ เอฟ-๕ ซี โดยยังคงเครื่องหมายรูปเสือเอาไว้ที่เดิม ในปี ๒๕๒๕ ภายหลังจากส่ง น.ท.อมร แนวมาลี (อดีต ผบ.ทอ. ) ตำแหน่งขณะนั้นเป็นเสนาธิการกองบิน ๑ ไปทำการทดสอบเครื่องบินเอฟ-๕ บี ของ กองทัพอากาศมาเลเซีย ดังนั้น กองทัพอากาศจึงจัดซื้อเครื่องบินแบบ เอฟ-๕บี ทั้ง ๒ เครื่อง จาก ทอ.มาเลเซีย เพื่อใช้ฝึกบินดังกล่าว (Sel.No.74-0778 และ 74-0779 กำหนดหมายเลขฝูงเป็น 10302 เพื่อทดแทนหมายเลขเครื่องที่ตก และ 10304 ตามลำดับ ) ทั้งสองเครื่องใช้สีเทาอมเงิน ที่ส่วนหัวมีการพ่นแล็คเกอร์ไว้อย่างหนาเพื่อป้องกันสีลอกจากการเสียดสีกับอากาศขณะบินด้วยความเร็วสูง ภายหลังต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้าล้วนๆ เมื่อ เอฟ-๕ ฝูง ๑๐๓ ทั้งหมดย้ายไปอยู่ ฝูง ๒๓๑ กองบิน ๒๓ อุดร ตั้งแต่ ปี ๒๕๒๘ แต่เนื่องจากสนามบินอุดร ปิดซ่อม เครื่องบินทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่อุดรจริงๆ ในปลายปี ๒๕๒๙ จึงมีเอฟ-๕ บี บางเครื่องยังคงรูปเสือ แต่เป็นลายสีดำ แห่งถิ่นถ่ำเสือไว้เป็นที่ระลึกอยู่ระยะหนึ่ง…ในปี ๒๕๓๐ มีการจัดซื้อเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เพิ่มอีกสองเครื่อง จากสหรัฐฯ เพื่อใช้ฝึกนักบิน หลังจากนั้นมีการจัดหาจากสหรัฐฯ
เป็นเครื่องบินสีเทาขาว คาดสีดำที่ห้องนักบิน และช่วงระยะแรกยังคงเครื่องหมาย LA ที่แพนหางไว้ระยะหนึ่งภายหลังลบออกแล้วพ่นเครื่องหมาย HUNTER เมื่อเครื่องพร้อมใช้งาน ช่วงระยะแรกๆของ เอฟ-๕ ที่อยู่กองบินนี้มีการใช้เครื่องหมายที่แพนหางสองในช่วงแรกเป็นรูปหัวเยี่ยวสัญลักษณ์กองบิน ๒๓ เดิมและเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายฮันเตอร์
ประวัติการรบอันกล้าหาญของ เอฟ-๕ บี นอกจากการใช้อาวุธสนับสนุนระหว่างการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แล้ว ในปี ๒๕๓๑ ระหว่างการรบในกรณีพิพาทเหตุการณ์บ้านร่มกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เอฟ-๕บี ของฝูงบินขับไล่ที่ ๒๓๑ จำนวน ๔ เครื่อง เข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายตรงข้าม ในวันที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๓๑ (วันเดียวกับที่กองทัพอากาศสูญเสีย เครื่องบินโจมตีแบบ โอวี-๑๐ ซี ) วันนั้น เอฟ-๕ บี ของฝูงบิน ๒๓๑ ที่มี น.ต.ธีระพงษ์ วรรณสำเริง และ ร.ต.ณฤทธิ์ สุดใจธรรม ถูกจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ แซม ๗ ยิงเข้าที่เครื่องยนต์ขวาได้รับความเสียหาย แต่นักบินทั้งสองนายก็สามารถนำเครื่องบินกลับมาลงที่อุดรได้อย่างปลอดภัย ( 23102 Sel.No.74-0779 ) ซึ่งภายหลังทั้งสองท่านได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ส่วนเครื่องบินเอฟ-๕ บี เครื่องดังกล่าวก็สามารถซ่อมบำรุงและกลับเข้ามารับใช้ชาติได้เหมือนเดิม
เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ในปี ๒๕๓๙ กองบิน ๒๓ ได้จัดงานฉลองเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ( 63-4838 )ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย โดยมีการเขียนเครื่องหมายและรวดลายที่สวยงาม จนกระทั่งในปี ๒๕๔๑ เอฟ-๕บี ที่เหลือเพียง ๓ เครื่องจากทั้งหมด ๗ เครื่อง ( ๑ เครื่องเกิดอุบัติเหตุตก , ๑ เครื่องอุบัติไฟไหม้เครื่องยนต์ขณะเติมน้ำมัน และ ๒ เครื่อง หมดอายุการใช้งานโดยมีชั่วโมงถึง ๖,๐๐๐ ชั่วโมง ) ที่เหลือเพียง ๓ เครื่องประกอบด้วย 63-8438 , 74-0778 และ 74-0779 ย้ายไปบรรจุฝูงบินขับไล่ที่ ๗๑๑ กองบิน ๗๑ สุราษฏ์ฯ ยังคงใช้สีพลางเขียวเช่นเดิม แต่ในปี ๒๕๔๓ เปลี่ยนชื่อฝูงบินเป็น ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ แทน ตามคำสั่งกองทัพอากาศ โดยทั้งหมดเปลี่ยนสีเป็น สีพลางเทา เช่นเดียวกับเอฟ-๕ อี ฝูง ๗๐๑ ในปี ๒๕๔๔ กองบิน ๗ ได้จัดงานฉลองเครื่องบิน เอฟ-๕ บี เครื่องแรกของโลก ( 63-8438 )ในโอกาสครบรอบ ๓๗ ปี ที่สร้างขึ้นมา ถือเป็นเอฟ-๕ เครื่องที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงประจำการอยู่ ตลอดอายุและเวลาที่รับใช้ชาติ เอฟ-๕ บี ได้สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของชาติทั้งในประเทศและตามแนวชายแดนแม้จะสูญเสียในระหว่างการรบไปจำนวนหนึ่งก็ตาม เอฟ-๕ บี เคยประจำการอยู่ที่ ฝูง ๑๓ , ฝูงบินที่ ๑๐๓ , ฝูงบินที่ ๒๓๑ , ฝูงบินที่ ๗๑๑ และปลดประจำการในฝูงสุดท้ายที่ฝูงบิน ๗๐๑



เครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๕ บีของกองทัพอากาศไทย
โดย…พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์

บ.F-5A/B ที่ ทอ.ได้รับมานั้น เริ่มบรรจุครั้งแรกที่ฝูงบิน 13 กองบิน 1 ดอนเมือง (ปี 2509) ใช้นามเรียกขานว่า LIGHTNING ในปี 2519 ได้เริ่มย้าย บ.F-5A/B จากฝูงบิน 13 กองบิน 1 ดอนเมือง ไปสังกัด ฝูง 103 กองบิน 1 จ.นครราชสีมา ใช้นามเรียกขาน LIGHTNING เหมือนเดิมการเคลื่อนย้ายได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2521 ในปี 2529 ทอ.ได้ปรับวางกำลังใหม่ โดยให้ย้าย บ. F-5A/B จากฝูงบิน 103 ฯ ไปสังกัดฝูงบิน 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี และได้เปลี่ยนนามเรียกขานใหม่เป็น "HUNTER" ในปี 2541 ได้ย้าย บ.F-5A/B จากฝูง 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี ไปสังกัดฝูง 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานีรวมกับ บ.F-5E ที่มีอยู่เดิมและได้ใช้นามเรียกขานเป็น "SHARK" ในปี 2543 ทอ.ได้ปลดประจำการ บ.F-5A แต่ยังคงใช้งาน บ.F-5B ที่มีอยู่จำนวน 3 เครื่องและ RF-5A อีก 1 เครื่องต่อไป


บข. ๑๘ ก. เอฟ-๕ บี ฟีร์ดอมไฟเตอร์ ( F-5 B Feedom Fighter )

ผู้สร้าง......................บริษัทนอร์ธรอป แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเภท....................เครื่องบินไอพ่นฝึกขับไล่ทิ้งระเบิด ความเร็วเหนือเสียง สองนั่งเดียว
เครื่องยนต์................เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตแฝดแบบ เจเนอรัล อิเลคทริค เจ-๘๕ จีอี-๑๓ ให้แรงขับ ๔,๐๘๐
ปอนด์เมื่อใช้สันดาปท้าย ๒ เครื่อง
กางปีก......................๗.๘๗ เมตร
ยาว........................ ..๑๔.๑๒ เมตร
สูง.............................๓.๙๘ เมตร
อัตราเร็วสูงสุด......... ๑,๔๓๔ กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ( ๑.๓๔ มัค )
เพดานบิน.................๑๕,๘๕๐ เมตร
พิสัยบินไกลสุด.........๒,๐๙๒ กิโลเมตร
รัศมีทำการรบ...........๙๑๗ กิโลเมตร เมื่อติดอาวุธหนัก ๑,๕๐๐ ปอนด์ พร้อมถังน้ำมันอะไหล่
อาวุธ...................@ลูกระเบิดขนาดต่างๆมีน้ำหนักรวม ๖,๒๐๐ ปอนด์ ที่ใต้ปีก และลำตัว ๕ ตำแหน่ง
@จรวดนำวิถีแบบ เอไอเอ็ม ๙ ไซด์ไวน์เดอร์ ข้างละลูกที่ปลายปีกทั้งสองข้าง
@กระเปาะถ่ายภาพแบบ ทอ. พัฒนาเอง ที่ใต้ลำตัวในภารกิจลาดตระเวณ
ประจำการ...............บรรจุประจำการใน ทอ. ปี พ.ศ.๒๕๐๙ - ปัจจุบัน




Create Date : 29 ธันวาคม 2550
Last Update : 29 ธันวาคม 2550 20:52:52 น. 4 comments
Counter : 5983 Pageviews.

 
หลงเข้ามา


เท่ห์มากครับ


หวัดดีปีใหม่นะครับ



โดย: I.Brother วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:21:12:50 น.  

 
หลักฐานเพียบเลยไหนบอกว่าท่อปะปาแตก อ่ะซิส์ จ่ายมาเลยค่าปิดปากตั๋วเครื่องบินไปหาพี่อเล็กซ์ ขากลับไม่ต้องค่ะเด๋วอยู่เลี้ยงแฟนจนกว่าจะโต


โดย: นางน่อยน้อย วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:21:41:46 น.  

 
ขอบคณสำหรับเรื่อง และภาพค่ะ


โดย: picmee วันที่: 31 ธันวาคม 2550 เวลา:21:51:39 น.  

 
ขอแอดเป็นเพื่อนนะครับ บลอคดีความรู้ดีมากมาก
ผมก็ลูกทัพฟ้าครับ อยู่รร.การบิน กำแพงแสน


โดย: Thales of Miletus วันที่: 2 มกราคม 2551 เวลา:21:17:57 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Analayo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]




หากโลกนี้มีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจหรอก/Skyman
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
X
X



free counters


Friends' blogs
[Add Analayo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.