life of gone...ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้าเสมอ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
1 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
กาญจนบุรี... แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์

กาญจนบุรี (กจ.)
"แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก"
ตราประจำจังหวัด



สัญญลักษณ์เจดีย์สามองค์ทรงป้าน เป็นศิลปแบบมอญ สูงประมาณ 6 เมตร ช่องห่างระหว่าเจดีย์ 5-6 เมตรเส้นทางสายนี้ในอดีตใช้เป็นทางเดินทัพที่สำคัญและใกล้ที่สุดของประเทศคู่ศึก ไทยกับพม่า หากจะนับแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ที่มีการยกทัพผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์สายนี้ จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้ใช้รูปเจดีย์สามองค์เป็นตราประจำจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับชนรุ่นหลังให้รำลึกถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของบรรพชนที่ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตในอันที่จะพิทักษ์ผืนแผ่นดินไว้


ธงประจำจังหวัด




พื้นธงเป็นสีฟ้า ตรงกลางเป็นสีแสดและมีตราจังหวัดอยู่ตรงกลาง



ต้นไม้ประจำจังหวัด

ต้นขานางมีชื่อพื้นเมืองเรียกว่าคะนางละนางค่านางช้างเผือกหลวงเชพลูเปือยนางเปือยคะนางลิงง้อฯลฯเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูง 15- 20เมตรลำต้นตรงเปลือกสีเทาขาวนวลยอดเป็นดุ่มทึบกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลนุ่มใบเป็นชนิดใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ กว้างประมาณ 5- 13 เซนติเมตร ยาว 10- 20เซนติเมตรในปี พ.ศ. 2537กรมป่าไม้เสนอชื่อต้นขานางเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี เพราะพบมากในป่าแถบ อ.ไทรโยคทองผาภุมิศรีสวัสดิ์สังขละบุรีในโอกาสที่รัฐบาลได้จัดงานรณรงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครบรอบปีที่ 50ในการครองราชสมบัติได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเป็นองค์ประธานและพระราชทานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัดฯ

ดอกไม้ประจำจังหวัด


ดอก กาญจนิกา เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อพื้นเมืองว่า ลั่นทมเขา แคเขา หรือสะเดาดง เป็นสกุลพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์จำกัดอยู่เฉพาะบนเขาหินปูนในประเทศไทยเท่านั้น เป็นไม้ขนาดเล็ก - กลาง สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเีดียว ยาว 17-35 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 20-35เซนติเมตรแต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก กลีบนอกติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกขนาดใหญ่ติดกันกล้ายรูปแตร ยาว 4-6เซนติเมตรสีม่วงอ่อน สีจะซีดเมื่อดอกใกล้ร่วง

ขอบคุณเว็บไซด์ประจำจังหวัดกาญจนบุรีคะ
//www.kanchanaburi.go.th/




ประวัติศาสตร์จังหวัดกาญจนบุรี


เมื่อกล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใครๆ ย่อมรู้จักว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ลุ่มน้ำไทรโยค (แควน้อย) และลุ่มน้ำศรีสวัสดิ์ (แควใหญ่) เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำใสสะอาด สัตว์ป่าที่จะใช้เป็นอาหาร ในน้ำเต็มไปด้วย หอย ปู ปลา มีที่ราบบริเวณเชิงเขา ถ้ำ ตามริมแม่น้ำมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกเหลือเฟือ ได้มีการขุดค้นพบเครื่องมือมนุษย์สมัยหินเก่าเครื่องมือหิน โครงกระดูกมนุษย์สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าจนถึงยุคโลหะตอนปลายที่บ้านดอนตาเพชร การพบตะเกียงโรมัน (อเล็กซานเดรีย) ที่ตำบลพงตึการพบปราสาทเมืองสิงห์ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรี-อยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองด่านที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของไทยอย่างมาก เหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่น การเดินทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ การรบที่ทุ่งลาดหญ้า ท่าดินแดง และสามสบ จวบจนการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกหรือลิ้นช้าง เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้เกณฑ์เชลยศึกทำทางรถไฟไปพม่าซึ่งเรียกกันว่าทางรถไฟสายมรณะ ทำให้เชลยศึกต้องล้มตายเป็นจำนวนมากและฝังอยู่ที่สุสานทหารสหประชาชาติมาจนถึงสงครามอินโดจีน กาญจนบุรีเป็นดินแดนที่เป็นที่ฝึกซ้อมรบเพื่อเตรียมการรบในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ตลอดจนเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่น่าสนใจ และปัญหาการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ไม่น้อย
สมัยประวัติศาสตร์

สมัยทวาราวดีและลพบุรี

จากหลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในดินแดนประเทศไทย ทำให้เราได้ทราบว่า อารยธรรมอินเดีย ได้หลั่งไหลแผ่เข้ามายังดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ชาวอินเดียเรียกประเทศไทยว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" และได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแหลมอินโดจีนพร้อมทั้งได้นำวัฒนธรรมและศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ ถึง ๑๑ ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของจีนว่ามีอาณาจักร
"ฟูนัน" ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และได้แผ่อาณาเขตไปทางทิศตะวันตกถึงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เมื่ออาณาจักร "ฟูนัน" สลายตัวในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แล้ว ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดอาณาจักรที่สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น ชื่อว่า อาณาจักรทวาราวดี การจัดสมัยและกำหนดอายุของศิลปกรรมในประเทศไทย นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้กำหนดไว้ ดังนี้
- ศิลปทวาราวดี พุทธศตวรรษ ๑๑-๑๖
- เทวรูปรุ่นเก่า พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๔
- ศิลปศรีวิชัย พุทธศตวรรษ ๑๓-๑๘
- ศิลปลพบุรี พุทธศตวรรษ ๑๖-๑๙
- ศิลปเชียงแสน พุทธศตวรรษ ๑๖-๒๓
- ศิลปสุโขทัย พุทธศตวรรษ ๑๘-๒๐
- ศิลปอู่ทอง พุทธศตวรรษ ๑๘-๒๐
- ศิลปอยุธยธยา พุทธศตวรรษ๑๙–ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓
- ศิลปรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษ ๒๓-๒๕

เมื่อประมาณ ๖๐-๗๐ ปีมานี้เอง นักปราชญ์ทางโบราณคดีมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ ยอร์จ เชเดส์ เป็นต้น ได้นำเอาชื่อ "ทวาราวดี" มาใช้กำหนดสมัยของศิลปะโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่พบในประเทศไทยในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (อันรวมถึงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ฯลฯ ด้วย) เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยอมราวดี สมัยคุปตะ และหลังคุปตะ และได้กำหนดอายุของศิลปะทวาราวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ และศิลปะทวาราวดี ที่แยกไปอยู่ภาคเหนือที่แคว้นหริภุญชัยถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘คำว่า "ทวาราวดี" เดิมเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากชื่ออาณาจักรที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า "โถโลโปติ" (To-lo-po-ti) ว่า ตรงกับคำสันสกฤตว่า "ทวาราวดี" และคำนี้ได้ติดอยู่เป็นสร้อยชื่อของนครหลวงของประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีผู้พบเหรียญเงินมีอักษรจารึกที่นครปฐมคำจารึกเป็นอักษรสันสกฤต รุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีข้อความว่า "ศรีทวาราวดี ศวร- ปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี" อันแสดงว่าอาณาจักรทวาราวดีนั้นมีจริงในประเทศไทย
ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของจังหวัดกาญจนบุรี
เมืองกาญจนบุรีนั้น เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งโบราณเมืองหนึ่ง ส่วนจะสร้างขึ้นเมื่อไรสมัยใด ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัด หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นจะเป็นพงศาวดารเหนือ ซึ่งกล่าวไว้ในเรื่องพระยากงว่า พระยากงได้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมิได้ระบุว่าปีใด แต่ได้ระบุปีที่พระยาพานไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองลำพูนว่า ตรงกับ จ.ศ. ๕๕๒ หรือ พ.ศ. ๑๗๓๔ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่พระยาพานได้ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาแล้ว จึงอาจสรุปว่า พระยากงครองเมืองกาญจนบุรีราว พ.ศ. ๑๗๐๐ แต่เรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดาร
เหนือ เป็นเพียงตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมเท่านั้นยังไม่มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม เมืองกาญจนบุรียังคงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันสภาพความเป็นเมืองโบราณตามลุ่มแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง ดังต่อไปนี้
ลุ่มน้ำแม่กลองนั้น นับเนื่องในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ถึงแม้จะไม่เคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณอยู่สืบเนื่องกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กว่าบรรดาลุ่มน้ำอื่นๆ จึงเป็นอาณาบริเวณที่น่าสนใจสมควรนำเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนโบราณที่พัฒนาขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มาเสนอสู่การพิจารณาต่อไป

แม่น้ำแม่กลองมีกำเนิดมาจากการรวมตัวของลำน้ำสำคัญสองสาย คือ ลำน้ำแควใหญ่ กับลำน้ำแควน้อยทั้งสองสายมีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีลำน้ำแควใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาทางเหนือระหว่างเขตจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดกาญจนบุรีไหลมาตามซอกเขาผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ลงมาบรรจบกับลำน้ำแควน้อยที่ตำบลปากแพรกอำเภอเมืองกาญจนบุรี
ส่วนลำน้ำแควน้อยไหลมาจากซอกเขาซึ่งอยู่ชายแดนประเทศสหภาพพม่าไหลผ่านเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยคและอำเภอเมืองกาญจนบุรีมาบรรจบกับลำน้ำแควใหญ่ที่ที่ตั้งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแม่น้ำแม่กลอง
จากเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรีแม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่ที่ราบลุ่มผ่านอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางคณที อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ไหลสู่ออกทะเลที่ "บ้านบางเรือหัก" จังหวัดสมุทรสงคราม
ตามสองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบหลักฐาน ทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อยู่ตามถ้ำ ชายเขา และบริเวณใกล้ริมธารน้ำ ลำน้ำ โดยเฉพาะเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของมนุษย์ในสมัยหินใหม่มาต่อกับยุคโลหะได้มีการขุดค้นศึกษากันอย่างละเอียด โบราณวัตถุในสมัยหินเก่าและหินกลาง ก็ได้พบในเขตต้นน้ำเหล่านี้ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้ว ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปีขึ้นไป แสดงให้เห็นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พากันอพยพลงมาตามลำน้ำเข้าสู่ที่ราบลุ่ม
ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองที่เป็นแหล่งกำเนิดของชุมชนระดับเมืองนั้น ปรากฏว่า เราพบร่องรอยของเมืองโบราณเป็นจำนวน ๗ แห่งด้วยกัน ล้วนตั้งอยู่ริมสองฝั่งของลำน้ำแควน้อย
แควใหญ่และลำน้ำแม่กลองทั้งสิ้น
๑. เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำแควน้อย ได้พบ เมืองสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของลำน้ำแควน้อยในเขตบ้านท่ากิเลน ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค ลักษณะผังเมืองเป็นรูบสี่เหลี่ยม มีคูและกำแพงล้อมรอบ บางด้านมีคันคูสามชั้นบ้าง ห้าชั้นบ้างและถึงเจ็ดชั้นก็มี มีเนื้อที่ภายในเมืองประมาณ ๖๔๑ ไร่กว่า ภาย
ในเมืองมีสระน้ำหลายแห่ง และมีเนินดินที่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาทั้งที่เคลือบด้วยสีน้ำตาลแก่ แบบเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี และที่ไม่เคลือบก็มีมากมายในตอนกลางเมืองมีศาสนสถานตั้งอยู่เป็นปราสาทแบบขอม ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กรมศิลปากรกำลังดำเนินการขุดแต่งอยู่ ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพล
ศิลปะแบบบายน ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา แต่ทว่าเป็นฝีมือชาวพื้นเมืองไม่ใช่ชาวขอมมาสร้างอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีลักษณะหยาบกว่าฝีมือช่างขอม การประดับศาสนสถานก็ทำด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งเป็นศิลปะลพบุรี และมีศิลปะแบบทวาราวดีอยู่บ้าง แสดงลักษณะที่แตกต่างไปจากขอมโดยสิ้นเชิงบรรดากระเบื้องมุงหลังคา เครื่องปั้นดินเผา ทั้งเคลือบและไม่เคลือบ เป็นแบบลพบุรีเลียนแบบขอม เนื้อวัตถุที่ใช้ทำและเคลือบเป็นของท้องถิ่น
ปราสาทเมืองสิงห์นี้เป็นโบราณสถานเนื่องในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะพบรูปพระโพธิสัตว์ นางปรัชญาปารมิตา และพระพุทธรูปปางนาคปรก เทวรูปปั้นส่วนใหญ่เป็นศิลปะขอมที่นำมาจากกัมพูชาหรือเมืองอื่น เป็นแบบศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ การพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี ส่วนพระพุทธรูปนั้นส่วนมากเป็นศิลปะลพบุรี เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองพระพุทธรูปนาคปรกสร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นฝีมือช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง
ส่วนลักษณะโบราณสถานของประสาทเมืองสิงห์พอจะอนุมานได้ว่ามีอายุอย่างคร่าวๆ ว่าคงจะสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๕๐
เมื่อถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงตั้งเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี มีเจ้าเมือง ส่งหมวดลาดตระเวนไปประจำคอยตรวจตราอยู่เสมอต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามเจ้าเมืองสิงห์ว่า" พระสมิงสิงห์บุรินทร์"เมืองสิงห์คงเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ จึงได้ยุบเมืองสิงห์ลงเป็นตำบลเรียกกันว่า "ตำบลสิงห์"ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือศิลปลพบุรี กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๒-๑๓ ว่า…ราว พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๕๐ สมัยนี้ตรงกับรัชกาลของพระจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งประเทศกัมพูชา และมีสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี พระปรางค์เมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีพระปรางค์องค์เดียวก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ตรงกลาง มีมุขยื่นออกไปทางด้านตะวันออกและมีระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบมีประตูซุ้มอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ทั้งหมดนี้มีกำแพงดินซึ่งมีเศษอิฐปูนอยู่ล้อมรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ได้ค้นพบซากประติมากรรมในศิลปะแบบบายนวางทิ้งอยู่หน้าปราสาทด้วย นอกจากนี้ยังทรงถือกำหนดอายุโดยส่วนรวมของตัวอาคารทั้งหมดไว้ในศิลปะขอมแบบบายนอีกด้วยรวมความว่าสมัยลพบุรี (พ.ศ. ๒๕๐๐-๑๗๙๙) กาญจนบุรีเป็นเมืองมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากปรางค์และกำแพงศิลาแลงของเมืองสิงห์ดังได้กล่าวมาแล้ว
๒. ถัดจากเมืองสิงห์ออกไปทางทิศตะวันออกห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ ๕ กิโลเมตร มีเมืองโบราณขนาดเล็กอยู่เมืองหนึ่ง มีคูน้ำและคัดดินล้อมรอบ ตั้งอยู่เชิงเขา ชาวบ้านเรียกว่า
"เมืองครุฑ" ยังไมีมีการขุดค้น จากปากคำชาวบ้านบอกว่า แต่ก่อนมีครุฑศิลาทรายอยู่ที่เชิงเขาในเขตเมืองนี้ จึงเรียกว่า "เมืองครุฑ" อันลักษณะการทำครุฑด้วยหินทรายนั้น พบมากในสมัยศิลปลพบุรี เมืองสิงห์ และเมืองครุฑ ตั้งอยู่ห่างไกลกันนัก จึงน่าจะเป็นเมืองในยุคเดียวกัน เมืองครุฑนี้คงเป็นเมืองหน้าด่านและอยู่ในเขตปกครองของเมืองสิงห์
๓. ทางลำน้ำศรีสวัสดิ์หรือแควใหญ่ ซึ่งอยู่ทางเหนือมีชุมชนโบราณ แต่มีอายุเพียงแค่ปลายสมัยลพบุรีลงมาถึงสมัยอยุธยา อยู่ในเขตบ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า บ้านท่าเสาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ มีซากวัดโบราณ เช่น วัดขุนแผน วัดนางพิมพ์ วัดป่าเลไลยก์ ฯลฯ ที่เจดีย์เก่าในเขตวัดนี้เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องแบบลพบุรีตอนปลาย

ส่วนที่บ้านลาดหญ้าซึ่งอยู่ต่ำลงมาประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ก็เคยเป็นที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรี(เก่า) ในสมัยอยุธยา เมืองนี้มีขนาดเล็ก คงเป็นเพียงเมืองด่าน
สรุปแล้วเมืองนี้ก็คือเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี มีผู้สำรวจบริเวณเมืองกาญจนบุรี (เก่า) ที่ตั้งอยู่เชิงเขาชนไก่นี้มาแล้ว ว่าบริเวณอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฏพบสระน้ำ ซากโบราณสถาน วัดต่างๆ มีวัดร้างถึง ๖ วัด คือ
๑. วัดขุนแผน
๒. วัดป่าเลไลยก์
๓. วัดนางพิม
๔. วัดจีน
๕. วัดริมตะเพิน ชื่อว่า วัดมอญ อยู่ห่างออกไป
๖. วัดแม่หม้าย
เจ้าเมืองกาญจนบุรี มีชื่อว่า "พระยากาญจนบุรี" เป็นแม่ทัพสำคัญคนหนึ่งครั้งกรุงศรี-อยุธยาเป็นราชธานี
๔. ต่อจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีลงไปตามลำแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอท่ามะกามีเมืองชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเขตบ้านดงสัก ตำบลพงตึก อำเภอ
ท่ามะกาชาวบ้านเรียกชื่อมาแต่ครั้งโบราณว่า "เมืองพงตึก" เพราะพบฐานอาคารที่ก่อสร้างด้วยอิฐและศิลาแลงแสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่มาก่อน นักโบราณคดีขุดพบตะเกียงโรมันสำริดสมัยพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ พบพระพุทธรูปแบบอมราวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ และพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีอีกหลายองค์ สมัยไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๑๑ รวมทั้งโบราณวัตถุอย่างอื่นๆ อีกมาก เมื่อพิจารณาประกอบกับซากสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือปรากฏอยู่ ซึ่งมีฝีมือช่างขอมปะปนอยู่ด้วย ก็อาจประมาณอายุอย่างกว้างๆ ได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีอายุตั้งแต่สมัย "ทวาราวดี" ขึ้นไปเรื่องชุมชนโบราณที่บ้านพงตึกนี้ ตามความเห็นของนักปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติ-ศาสตร์โดยทั่วไป เชื่อว่าเป็นสถานที่แหล่งพักสินค้าของชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายในดินแดนประเทศไทยในสมัยแรก เพราะการพบพระพุทธรูปแบบ "อมราวดี" นั้น ย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นชัดเจนนอกจากพระพุทธรูปแบบอมราวดีแล้ว ยังได้พบตะเกียงสำริดโรมัน ซึ่งมีอายุราวศตวรรษที่ ๖-๗ เป็นเครื่องสนับสนุน โดยเหตุนี้บางท่าน เช่น ดร.ควอริช เวลส์ ได้เสนอว่าตะเกียงดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นของคณะทูตโรมันนำเข้ามานักโบราณคดีและประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นว่าบ้านพงตึกคงเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่สำคัญบนฝั่งลำน้ำแม่กลองและเจริญรุ่งเรืองในสมัย "ทวาราวดี" แต่เมื่อขอมมาปกครอง เมืองพงตึกคงจะทรุดโทรมลงกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก พวกขอมจึงสร้างเทวสถานไว้แต่เพียงขนาดย่อม
๕. ใต้เมืองพงตึกลงไปตามลำน้ำแม่กลองตามฝั่งตะวันออกที่ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งชื่อ โกสินารายณ์ เป็นเมืองสมัยลพบุรี
๖. ใต้เมืองโกสินารายณ์ลงมาตามลำน้ำแม่กลองถึงตัวเมืองราชบุรี บนฝั่งตะวันตกของ
แม่น้ำแม่กลองเคยเป็นที่ตั้งของเมืองราชบุรีโบราณ มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีสืบต่อลงมา นอกเมืองออกไปก็ยังพบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวาราวดีลงมาอีกหลายแห่ง
๗. ห่างจากเมืองราชบุรีลงไปทางใต้ประมาณ ๕ กิโลเมตร พบเมืองโบราณขนาดใหญ่เรียกกันว่า เมืองคูบัว สันนิษฐานว่า เป็นเมืองราชบุรีเดิมในสมัยทวาราวดี
สรุปได้ใจความว่า ตั้งแต่โบราณกาลมา สองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ชุมชนชนสมัยทวาราวดีที่บ้าน "พงตึก" ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นับว่าเป็นเมืองสำคัญมาก เดิมตั้งอยู่ไม่ห่างไกลทะเลมากนัก และเป็นเมืองตั้งอยู่ย่านกลางเส้นทางคมนาคม เป็นที่ชุมชนโบราณแห่งหนึ่งของประเทศไทย ติดตั้งระหว่างดินแดนเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยากับเมืองมอญในประเทศพม่า เป็นทางสัญจรของคนมาช้านานหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ จากการพิจารณาภูมิศาสตร์จะเห็นได้ว่า จากเมืองพงตึกจะเดินทางไปเมืองโบราณอื่นๆ มีเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองคูบัว เมืองราชบุรี (เก่า) เมืองกำแพงแสน เมืองดอนตูม เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง ย่อมไปได้สะดวกทุกทิศทาง โดยมีแม่น้ำหลายสายเป็นเส้นทางคมนาคม
จากเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อกันโดยผ่านพระเจดีย์สามองค์ไปยังเมืองมอญและพม่า ย่อมไปมาได้สะดวกมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เมืองโบราณดังกล่าวมาแล้ว ได้ร้างไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเหตุต่างๆ กันดังต่อไปนี้
๑. เพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่ เป็นเหตุให้กันดารน้ำ ผู้คนได้รับความลำบากจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น
๒. เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของเมืองมีที่เพาะปลูก ที่จะทำนา ทำไร่ มีน้อย ขาดน้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ พลเมืองเพิ่มขึ้นที่ดินมีน้อยไม่พอจะประกอบอาชีพ จึงคิดชักชวนกันอพยพไปอยู่ที่อื่น
๓. โรคระบาดอย่างร้ายแรง ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก (โบราณเรียกว่าห่ากินเมือง) จึงพากันหนีโรคภัยไปอยู่ที่อื่น เมืองจึงร้างไป มีเช่นนี้หลายเมือง
๔. ภัยจากศึกสงคราม เมื่อพ่ายแพ้สงครามผู้คนพลเมืองก็ถูกจับกวาดต้อนเป็นเชลยบ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายพินาศ กรณีเช่นนี้มีตัวอย่างอยู่มากในประเทศไทยตั้งแต่เหนือจดใต้
แต่ถ้าเมืองที่ร้างไปนั้น รอบๆ บริเวณนอกเมืองออกไปเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำท่าดี ถึงแม้จะเคยร้างไปก็จะเป็นอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานก็จะมีผู้คนอพยพกันมาตั้งบ้านเมืองอาศัยทำมาหากินกันต่อไปใหม่ ฉะนั้น เราจะเห็นเมืองใหม่สร้างซับซ้อนกับแนวเมืองเก่าหรืออยู่ใกล้ชิดกันอยู่หลายเมือง
อนึ่ง ถ้าเมืองใดมีความสำคัญทางศาสนามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มีชื่อเสียงเมืองนั้นมักไม่ร้าง มีบางเมืองเคยร้างไปบ้างก็เพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็จะมีผู้คนพลเมืองอพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ต่อไปใหม่

ในครั้งโบราณกาล บ้านเมืองในดินแดนแห่งประเทศไทยยังไม่ได้รวมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนอย่างทุกวันนี้ แบ่งการปกครองออกเป็นแคว้นๆ เป็นรัฐๆ หรืออย่างที่เรียกว่าลัทธิเจ้าผู้ครองนคร หรือ "นครรัฐ" เมืองกาญจนบุรีครั้งโบราณรวมอยู่ในแคว้นอู่ทองหรือที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ
มีผู้สันนิษฐานว่า สมัยโบราณเมืองพงตึก คือเมืองกาญจนบุรี สมัยทวาราวดี (พ.ศ.๑๐๐๐-๑๕๘๙) คงชื่อว่า "เมืองกาญจนบุรี" มาแต่ครั้งนั้นซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณา
ค้นคว้าหลักฐานต่อไป
เพราะเหตุที่เมืองกาญจนบุรี มีประวัติทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดีเนื่องจากมีโบราณสถาน โบราณวัตถุสมัยต่างๆ ที่วิวัฒนาการสืบต่อกันมาไม่ขาดสายเป็นเวลานับเป็นหมื่นๆ ปี ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ จึงเป็นแผ่นดินขุมทรัพย์ อันมหาศาลของวงการโบราณคดีของโลก มีนักปราชญ์ทางโบราณคดีไทยและนานาชาติ ได้เดินทางเข้ามาค้นคว้าหาหลักฐานและรายละเอียดอันเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีต แผ่นดินแห่งนี้จึงมีค่าเป็นเพชรน้ำเอกแห่งหนึ่งในวงการโบราณคดีประวัติศาสตร์และอารยธรรมของโลกในภูมิภาคนี้นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นต้นว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ คูเมือง กำแพงเมือง ฯลฯ อันเป็นหลักฐานที่จะ
ให้รายละเอียดทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชาติ สมควรที่เราชาวไทยและชาวกาญจนบุรี จะต้องช่วยกันรักษาไว้เหมือนพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกล่าวว่า "การสร้างอาคารสมัยใหม่นี้ เป็นเกียรติของผู้สร้างเพียงคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐ
เพียงแผ่นเดียวก็มีค่า ควรที่จะได้ช่วยกันรักษาไว้ หากเราขาดสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"

สมัยสุโขทัย
สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองกาญจนบุรี เพราะไม่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องเนื่องจากอยู่ห่างไกลราชธานีมาก ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้กล่าวไว้ว่าเคยเป็นเมืองขึ้นเมืองทางแถบนี้มีกล่าวชื่อตั้งแต่เมืองคณฑี (คือบ้านโคนในปัจจุบัน) เมืองพระบาง (นครสวรรค์) เมืองแพรก (คือเมืองชัยนาทเก่า) เมืองสุวรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจดมหาสมุทรอินเดีย
ไม่ปรากฏว่ามีชื่อเมืองกาญจนบุรีอยู่ในศิลาจารึกหลักนั้นเลย แต่ก็น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่าเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเวลานั้น ก็มิได้ระบุไว้ในศิลาจารึกว่าเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยเหมือนกัน พิเคราะห์ดูเมืองต่างๆ อีกหลายเมือง เช่น เมืองปราจีนบุรี (เมืองเก่าที่ดงศรีมหา-โพธิ์) เมืองนครนายก (เมืองเก่าที่คงละคร) และเมืองจันทบุรี ก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย ถ้าวิเคราะห์จากโบราณสถานของเมืองเหล่านี้ จะเห็นว่าเป็นแบบสถาปัตยกรรมขอมทั้งสิ้น ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า เหตุที่จารึกสุโขทัยมิได้กล่าวถึงเมืองเหล่านี้ คงเพราะเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในอำนาจขอม


สมัยกรุงศรีอยุธยา

เรื่องราวของเมืองกาญจนบุรีเพิ่งจะมาปรากฏขึ้นชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำแควใหญ่ ใกล้ๆ กับเขาชนไก่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่หมู่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี
สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะเป็นเมืองหน้าด่านในการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า ทั้งนี้เนื่องจากอาณาเขตแดนด้านทิศตะวันตกของเมืองกาญจนบุรีมีช่องทางเดินติดต่อระหว่างไทยกับพม่าอยู่หลายทางด้วยกัน เช่น ด่านพระเจดีย์สามองค์ ด่านบ้องตี้
โดยเฉพาะด่านพระเจดีย์สามองค์ เคยเป็นทางผ่านของกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาโจมตีไทยครั้งสำคัญๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนี้ คือ
๑. พ.ศ. ๒๐๙๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สงครามครั้งนี้พระเจ้าหงสาวดีตะเบง-ชะเวตี้ทรงเป็นแม่ทัพยกทัพผ่านเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ไปจดถึงพระนครศรีอยุธยา สงครามคราวนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถูกพระเจ้าแปรแม่ทัพหน้าของพม่าฟันด้วยของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
๒. พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพแยกแผ่นดินไทยออกจากพม่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้พระยาพะสิมคุมกองทัพยกมาตีไทยโดยผ่านเมืองกาญจนบุรี และหมายที่จะเอาเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งมั่น แต่ถูกกองทัพไทยตีพ่ายไป
๓. พ.ศ. ๒๑๓๓ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชาราชบุตรยกกองทัพเข้ามาโดยผ่านเมืองกาญจนบุรี พบทัพไทยส่วนน้อยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชส่งมาล่อ ทัพพม่าหลงตีรุกไล่ทัพไทยไปถึงเมืองสุพรรณบุรี กองทัพหลวงของไทยได้เข้าโจมตีกองทัพพม่าพ่ายกลับไป
๔. พ.ศ. ๒๑๓๕ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชาได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีไทยอีก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จยกกองทัพไปตั้งรับพม่าที่หนองสาหร่ายแขวง
เมืองสุพรรณบุรี ผลของสงครามครั้งนี้ ปรากฏว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีชนะมหาอุปราชา แม่ทัพพม่า
๕. พ.ศ. ๒๒๐๖ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สงครามคราวนี้เกิดขึ้นเพราะพวกมอญพากันอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดให้ครอบครัวมอญทั้งหมดไปตั้งอยู่ที่อำเภอสามโคก (เมืองปทุมธานี) และเมืองนนทบุรี ฝ่ายพม่าได้ยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาจนถึงเมืองไทรโยค สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ยกกองทัพออกไปต่อสู้และได้โจมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
๖. สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พม่าให้ยกกองทัพมาตีเมืองกาญจนบุรีจนแตกยับเยินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๗ แล้วไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบล ลูกแก ตำบลโคกกระออม (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า ตอกกระออม) ดงรังหนองขาว ซึ่งอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรีทั้งหมด

ฝ่ายกองทัพไทยก็ยกกำลังออกต่อสู้พม่าแต่ก็แตกพ่ายไป พม่าเห็นว่ากองทัพไทยที่ยกออกมาสู้รบไม่ว่าจะเป็นทางเหนือและทางใต้ต่างก็พ่ายแพ้ไปหมด ก็กำเริบใจ จึงจัดส่งกองทัพเพิ่มเข้ามาอีกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วมุ่งเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกยับเยิน และได้เผาบ้านเมืองจนพินาศ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาได้นานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครองมาตามลำดับถึง ๓๓ พระองค์ ก็มาถึงคราวอวสานแตกดับสูญสิ้นพินาศลงในกองเพลิงด้วยความเศร้าสลดอย่างสุดประมาณ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาติไทย

สมัยกรุงธนบุรี
ในสมัยนี้ เมืองกาญจนบุรีก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมใกล้ ๆ กับเขาชนไก่นั้นเอง สมัยกรุงธนบุรี
ชื่อเสียงของเมืองกาญจนบุรีมีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกเหมือนกัน คือ ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ พวกมอญเป็นกบฏต่อพม่าได้พากันอพยพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พม่าได้ยกกองทัพติดตามครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพพม่าตีกองทัพไทยที่ตั้งรับอยู่ที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองกาญจนบุรี จนแตกถอยร่นลงมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองทัพที่ยกลงมาจากเชียงใหม่มาตั้งรับทัพพม่าที่บางแก้ว (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า บ้านนางแก้ว) แขวงเมืองราชบุรีกองทัพไทยได้ปะทะกับกองทัพของงุยอคงหวุ่น ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้วนั้นอย่างเข้มแข็งจับเชลยได้เป็นอันมาก แล้วยังบุกโจมตีทัพพม่าซึ่งหนุนเนื่องเข้ามาแตกถอยไปอีกด้วย
ส่วนครัวมอญที่อพยพเข้ามานั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรีบ้าง ที่สามโคกแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยนี้ เมืองกาญจนบุรี เป็นทั้งเมืองหน้าด่านและสมรภูมิสำคัญในการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า สงครามครั้งสำคัญๆ ได้แก่ สงครามลาดหญ้า และสงครามท่าดินแดง
สงครามลาดหญ้า หรือสงคราม ๙ ทัพ เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๘ หลังจากสมเด็จพระพุทธ-ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ประมาณ ๓ ปี พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าได้เกณฑ์ทัพเข้ามาตีไทยหลายทาง คือ ทางใดที่พม่าเคยยกกองทัพเข้ามาตีไทย ก็ให้กองทัพยกเข้ามาคราวนี้พร้อมกันหมดทุกทางทั้งทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตกโดยเกณฑ์ไพร่พลมาถึง ๙ กองทัพ มีจำนวนพล ๑๔๔,๐๐๐ คน ทั้งนี้ด้วยมุ่งหวังจะตีเมืองไทยให้ได้ เพื่อต้องการเกียรติยศเป็น "มหาราช" และต้องการจะเป็น "บุเรงนอง" คนที่ ๒ จึงระดมกำลังกองทัพมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะกองทัพที่ยกเข้ามาทางด้านตะวันตกนั้น เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์มีจำนวนถึง ๕ กองทัพ ซึ่งรวมทั้งทัพหลวงด้วยรวมเป็นพลถึง ๕๕,๐๐๐ คน
ฝ่ายกองทัพไทย เมื่อได้ข่าวศึกก็เกณฑ์กำลังไพร่พลได้เพียง ๗๐,๐๐๐ คนเท่านั้นน้อยกว่าพม่าตั้งครึ่ง จึงต้องวางแผนต่อสู้กับพม่าอย่างรอบคอบ โดยให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกกองทัพใหญ่มีจำนวนประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพไทยกับกองทัพพม่าได้รบพุ่งกันอยู่ประมาณสองเดือนเศษ ในที่สุดกองทัพพม่าก็แตกพ่ายไป
สงครามท่าดินแดง๑เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๙ พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่
ท่าดินแดงและสามสบโดยมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ดังคำกลอนเพลงยาวพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพรรณนาไว้ในนิราศท่าดินแดงว่า
"ทัพพม่าอยู่ยังท่าดินแดง แต่งค่ายรายไว้เป็นถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพันมี ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังทำทางวางตะพาน ตามลหานห้วยน้ำทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย ถ่ายเสบียงมาไว้ทุกแห่งหน
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายคูประตูหอรบ ตกแต่งสารพัดเป็นที่มั่น
ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน เป็นชั้นชั้นอันดับมากมาย"๒
กองทัพไทยได้ยกออกไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดงและสามสบ พม่าเป็นฝ่ายแพ้ไปอย่าง
ยับเยิน
เหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับพม่าในอดีต ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันประเทศชาติทางด้านตะวันตก ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีฝีมือในทางรบทัพจับศึกเป็นเยี่ยม มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญชาญชัย เพราะเป็นตำแหน่ง
แม่ทัพด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ที่เคยเป็นสนามรบและเป็นที่ตั้งค่ายคูประตูรบมาแล้วในอดีต มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ เช่น ปากแพรก ดงรัง หนองขาว ตระพังตรุ ลาดหญ้า เมืองสิงห์ ท่าตะกั่ว ท่ากระดาน ด่านกรามช้าง ช่องแคบ พุไคร้ สามสบ ท่าดินแดง บ้านทวน ด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองลุ่มสุ่ม ลูกแก โคกกระออม และด่านบ้องตี้ เป็นต้น
ตัวเมืองกาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่บริเวณทุ่งลาดหญ้าใกล้ๆ กับเขาชนไก่นั้น ต่อมาใน
รัชกาลที่ ๑ มีสงครามบ่อยๆ แผนการสงครามก็เปลี่ยนแปลงไป คือ กองทัพพม่าไม่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยผ่านทางเมืองสังขละบุรีและเมืองศรีสวัสดิ์ทางเดียว แต่กลับยกเข้ามาทางเรือโดยมาทางเมืองไทรโยค (เก่า) ซึ่งอยู่ที่บ้านท่าทุ่งนา ล่องลงมาตามลำน้ำแควน้อยมาขึ้นบกที่ปากแพรกอีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงเป็นแม่ทัพรบกับพม่าทางด้านนี้บ่อยๆ ทรงเห็นว่าการยุทธศาสตร์เปลี่ยนไปคงจะได้เลื่อนที่ตั้งฐานทัพจากเมืองกาญจนบุรีเก่า มาตั้งที่ปากแพรกทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๖๐ ในระยะแรกๆ ก็ปักแต่เสาระเนียดแล้วถมดินเป็นเชิงเทินเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานอธิบายไว้ว่า "ที่จริงภูมิฐานเมืองปากแพรกดีกว่าเมืองเขาชนไก่ เพราะเป็นที่ตั้งอยู่ในที่รวมแม่น้ำทั้ง ๒ แม่น้ำผืนแผ่นดินที่
ตั้งเมืองก็สูงและเห็นแม่น้ำน้อยได้ไกล ป้อมกลางย่านตั้งอยู่ตรงกลางลำน้ำทีเดียว แม้ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จออกมาขัดตาทัพกำแพงเมืองก็คงเป็นไม้ระเนียดอยู่"๓
"ต่อมา พ.ศ. ๒๓๗๔ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้
โปรดเกล้าฯ ให้ก่อกำแพงเมืองป้อมปราการ ขุดคูเมือง ตั้งศาลหลักเมือง เป็นลักษณะเมืองอันมั่นคงถาวรโดยมีพระประสงค์เพื่อให้ติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี เมื่อพระยากาญจนบุรี (พระยาประสิทธิสงคราม) เข้าเฝ้าทรงโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่า "เมืองกาญจนบุรีเป็นทางที่อังกฤษ พม่า รามัญ ไปมา ให้สร้างเมืองก่อกำแพงเมืองขึ้นไว้ จะได้เป็นชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขันธ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่ง แล้วจะได้ป้องกันสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราฎรพระพุทธศาสนาจะได้ถาวรตลอดไปชั่วนิรันดร"๔
ตัวเมืองเมื่อแรกสร้างในครั้งนั้นมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก กว้าง ๕ เส้น ยาว ๑๐ เส้น ๑๘ วา
มีป้อมมุม ๔ ป้อม ป้อมย่านกลางด้านยาวตรงหน้าเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้มีป้อมใหญ่อยู่ตรงเนินด้านหลังมีป้อมเล็กตรงกับป้อมใหญ่ ๑ ป้อม มีประตูรวมทั้งหมด ๘ ประตู กำแพงสูง ๘ ศอก ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยคว่า
"ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมนั้นขึ้นไปตั้งเหนือมาก มีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าจะไปมาลำบากจึงมาตั้งอยู่เสียที่ปากแพรกนี้ เป็นทางไปมาแต่เมืองราชบุรีง่าย"๕
และอีกตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ตามเสด็จประพาสไทรโยคว่า
"อันเมืองกาญจนบุรีนี้สร้างใหม่ เมืองเขาชนไก่เป็นที่ตั้ง พม่าลาดกวาดคนไปหลายครั้งอีกทั้งยากแค้นแสนกันดาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าพิภพ ทรงปรารภสร้างใหม่ให้ไพศาล จึงย้ายมาปากแพรกแปลกโบราณ ประสงค์การค้าขายฝ่ายราชบุรี"๖
ในการสร้างเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรกครั้งนั้น ได้จัดให้มีพิธีการต่างๆ อย่างสมบูรณ์ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักเมือง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๔ เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองกษัตริย์สร้าง ชาวกาญจนบุรีควรจะภาคภูมิใจ
ในด้านเกร็ดตำนานจากหนังสือวรรณคดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เมืองกาญจนบุรี ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในวรรณคดีดังกล่าวมา ซึ่งมีเค้าความจริงในแผ่นดินสมเด็จพระพันวษาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒ ในนามขุนแผน เป็นตำแหน่งปลัดซ้ายในกรมตำรวจภูบาล กาญจนบุรี (เก่า) เป็นภูมิลำเนาของมารดาและขุนแผนคืออยู่บ้านเขาชนไก่ ตำบลลาดหญ้ามีเจดีย์เก่าอยู่บนเขาองค์หนึ่ง แต่เวลานี้ทรุดโทรมมาก มีคนขึ้นไปขุดเจาะเจดีย์ได้พระไปมาก โดยเฉพาะมีพระขุนแผนอุ้มไก่อยู่ด้วย บริเวณเมืองกาญจนบุรีเก่ายังมีซากวัดต่างๆ หลายวัด
ตามเกร็ดตำนานเมืองกาญจนบุรีนั้นกล่าวว่า เมื่อขุนแผนเป็นแม่ทัพไปทำสงครามมีชัยชนะกลับมาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี เมืองหน้าด่านมีบรรดาศักดิ์ว่า "พระสุรินทรฤาชัย" (จันทร์ ตุงคสวัสดิ์) ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๕ นับว่าเป็นราชทินนามสืบเนื่องมาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนในครั้งโบราณสมัยอยุธยา

สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่สอง ทางด้านเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นประเทศไทย เมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้ยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านไปยังมลายูและพม่า ซึ่งเวลานั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรียินยอมตามข้อเสนอของกองทัพญี่ปุ่น
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ชี้แจงแก่ประชาชนไทยทางวิทยุกระจายเสียงว่า
นับตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ได้มีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกันเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เจรจากับรัฐบาลขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนประเทศไทย โดยญี่ปุ่นรับรองจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลได้พิจารณาแล้วโดยถี่ถ้วนเห็นว่า ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ จึงสมควร
ยินยอมตามคำขอของญี่ปุ่น ท่านนายกรัฐมนตรีวิงวอนขอให้ประชาชนชาวไทยเห็นใจ และเข้าใจการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้
การตัดสินใจครั้งนี้ นับเป็นขั้นตอนแรกในอีกหลายๆ ขั้นตอนที่รัฐบาลสมัยนั้นได้ดำเนินการไปและในที่สุดรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นยังคงตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยจนสงครามสงบโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จนถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่กองทหารญี่ปุ่นเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทย
ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม อย่างแรงและเห็นได้ชัดเจน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คงความเป็นเอกราช และสามารถรักษาอธิปไตยของชาติไว้ได้ตราบเท่าทุก
วันนี้
จังหวัดกาญจนบุรีก็เริ่มมีบทบาทในสงครามครั้งนี้ขึ้นมาทันที โดยกองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกรวมทั้งกรรมกรเกณฑ์แรงงานซึ่งกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่าโดยแยกจากทางรถไฟที่สถานีหนองปลาดุกไปเมืองกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่เรียกกันว่า "สะพานข้ามแม่น้ำแคว" แล้วตัดข้ามหุบเขา ขุนเขา ป่าดงจนถึงชายแดนพม่า เพื่อขนส่งกำลังพลและยุทธสัมภาระจากประเทศไทยไปพม่า ทำให้จังหวัดกาญจนบุรีต้องตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาทิ้งระเบิดทำลายสะพาน ทางรถไฟเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงขนส่ง ประชาชนชาวเมืองกาญจนบุรี ได้รับเคราะห์กรรมจากสงครามอันทารุณครั้งนี้อยู่หลายปี ทำให้ต้องเสียชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวกาญจนบุรียังจำได้ดีและทางราชการได้จัดงาน "สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว" เป็นงานประจำปีของจังหวัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา
อนุสรณ์แห่งสงครามครั้งนั้นยังปรากฏจนทุกวันนี้ ได้แก่
๑. สะพานข้ามแม่น้ำแคว
๒. ทางรถไฟสายมรณะ
๓. สุสานทหารสหประชาชาติ
ขอให้เป็นเรื่องราวแห่งสงครามบทสุดท้ายในประวัติศาสตร์ เหนือฝั่งแม่น้ำแควของกาญจนบุรีเท่านี้เถิด ขอสันติสุขจงมีแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดไปชั่วนิรันดร์
จากประวัติความเป็นมาของจังหวัดกาญจนบุรีดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นสมรภูมิที่บรรพบุรุษในอดีตได้เคยหลั่งเลือดต่อสู้กับข้าศึกศัตรูเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้นับครั้งไม่ถ้วน และด่านพระเจดีย์สามองค์ก็เป็นด่านสำคัญของประเทศไทยทางด้านทิศตะวันตกเพราะเป็นทางเดินที่ใกล้สุดระหว่างไทยกับพม่า ไทยกับพม่าได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมาตลอดสามกรุง (กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์) ไม่ว่าพม่าจะยกกองทัพมารบกับไทยก็ดีหรือกองทัพไทยจะยกไปตีเมืองพม่าก็ดี จะต้องยกกองทัพผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์นี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งถ้านับแล้วก็ไม่น้อยกว่า ๑๕ ครั้ง จึงนับได้ว่าด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นด่านที่สำคัญมาก ด้วยเหตุนี้เองจังหวัดกาญจนบุรีจึงได้ใช้รูปพระเจดีย์สามองค์เป็นเครื่องหมายประจำจังหวัด และเทศบาลเมืองกาญจนบุรีก็ใช้รูปพระเจดีย์สามองค์เป็นเครื่องหมายของเทศบาลด้วย นอกจากนี้รูปพระเจดีย์สามองค์ยังนำไปเป็นสัญลักษณ์ผ้าผูกคอของลูกเสือของจังหวัดกาญจนบุรี และค่ายลูกเสือของจังหวัดกาญจนบุรีก็ใช้ชื่อว่า "ค่ายลูกเสือเจดีย์สามองค์" อีกด้วย
ตัวเมืองกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ปากแพรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงได้ย้ายอาคารสถานที่ราชการและศาลากลางจังหวัดมาปลูกสร้างใหม่ที่ "บ้านบ่อ" ตำบลปากแพรก ริมถนนแสงชูโต ห่างจากศาลากลางจังหวัดเดิม ประมาณ ๓ กิโลเมตร

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดกาญจนบุรี . กรุงเทพมหานคร : ประยูรวงศ์ , ๒๕๓๐.











Create Date : 01 พฤษภาคม 2552
Last Update : 1 พฤษภาคม 2552 15:48:01 น. 7 comments
Counter : 2104 Pageviews.

 
ผมเคยอยู่บ้านท่าดินแดง


โดย: ก๊อต IP: 203.172.162.49 วันที่: 6 สิงหาคม 2552 เวลา:12:12:58 น.  

 
สวัสดีจร้า
หนูอยู่ม.1
จร้า
วันนี้หนูมา
ประวติแคว้น
ของพี่น่าสนใจดี
ค่ะ มีสาระด้วยจร้า




โดย: แป้ง IP: 192.168.1.106, 124.120.70.249 วันที่: 17 สิงหาคม 2552 เวลา:17:42:00 น.  

 
หนู
ก็อยู่
ดินแดงเหมือนกัน

จร้า


โดย: มุก IP: 192.168.1.106, 124.120.70.249 วันที่: 17 สิงหาคม 2552 เวลา:17:43:38 น.  

 
มีข้อมูลยุคโลหะของจังหวัดกาญป่ะคับ

จะทำรายงานอ่ะ
หาไม่ได้เลย
ช่วยทีนะคับ
punza_x@hotmail.com


โดย: x IP: 58.8.85.67 วันที่: 18 สิงหาคม 2552 เวลา:16:38:21 น.  

 
ขอบคุณครับ ความรู้เตมเริย น่าจะมีภาษาอังกฤนะ เหอะๆ


โดย: เฟิร์สEP IP: 114.128.140.175 วันที่: 25 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:21:41 น.  

 
งามมาก


โดย: Pruem IP: 110.164.166.171 วันที่: 1 สิงหาคม 2553 เวลา:13:39:57 น.  

 
สวัสดีค่ะหนูมายด์อยู่ม.4จร้าสถานที่ที่ได้อ่านจากเน็ทหนูมายด์เคยไปมาบ้างเเล้วพอมีความรู้เเต่พอได้อ่านทามหั้ยหนูมีความรู้เพิ่มขึ้น


โดย: มายด์ IP: 110.49.205.48 วันที่: 14 สิงหาคม 2553 เวลา:8:33:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sawkitty
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




เป็นคนรักแมวที่เป็นคนยะลา แต่มาทำงานตรัง ถ้าจะตามตัวให้แวะไปหาที่ห้องแมวพันทิบคะ


Friends' blogs
[Add sawkitty's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.