space
space
space
 
มกราคม 2562
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
16 มกราคม 2562
space
space
space

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในราชวงศ์จักรี



พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในราชวงศ์จักรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภคพร กุลจิรันธร[1]

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์อันเป็นพระราชประเพณีที่สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วยพิธีสรงพระมุรธาภิเษกพิธีถวายน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง ๘ ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์และพิธีถวายสิริราชสมบัติและ

เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

ที่มา:www.thaiheritage.net

ความนำ

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตตามโบราณราชประเพณีของราชอาณาจักรไทยพระนามของผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังจะคงใช้ขานพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ ดังนั้นจะต้องมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเพื่อจะได้ดำรงเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้าอย่างสมบูรณ์เพื่อรับรองฐานะความเป็นพระประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ พระมหากษัตริย์ไทยเป็นประมุขของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพิธีทางการที่พระมหากษัตริย์และ/หรือคู่อภิเษกสมรสรับมอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการตามปกติแล้วมักจะเกี่ยวข้องกับการสวมมงกุฎลงบนพระเศียรพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่นพิธีนี้ยังอาจรวมไปถึงการกล่าวถ้อยคำปฏิญาณการถวายความเคารพแก่ผู้ปกครองพระองค์ใหม่ของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ และ/หรือการประกอบพิธีกรรมอันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ต่อความเป็นรัฐชาติตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในราชวงศ์จักรี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยชี้นำทางด้านสังคมการเมือง และศาสนา จนมาถึงจุดที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น

พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของราชอาณาจักรไทยคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร โดยทรงรับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่เมื่อวันที่๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และได้รับการสืบมรดกเป็นพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อคติความเชื่อในการสถาปนาผู้นำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระราชาจากอินเดียมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิกษัตริย์จะต้องผ่านพิธีสำคัญ คือ การอภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติเพื่อจะได้ดำรงตำแหน่งอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ โดยเฉพาะ “การอภิเษก”หรือมักเรียกว่า “อินทราภิเษก” ซึ่งเป็นพิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับ “น้ำ” และถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดที่มีการใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ในการชำระล้างผู้ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่หรือย่างเข้าก้าวใหม่ของชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ใหม่ถือเป็นการรดน้ำเพื่อให้เป็นใหญ่ในโลก ซึ่งหมายถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งก็คือ “พระราชาธิราช” นั่นเอง

การสถาปนาผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละภูมิภาคต่างๆรวมทั้งการเรียกชื่อพิธีการที่แตกต่างออกไป สำหรับในประเทศไทยนักวิชาการมีการสันนิษฐานว่าคงไม่ได้รับรูปแบบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียโดยตรงแต่น่าจะมีการรับผ่านจากพวก มอญ ชวา และเขมร โดยเรียกพระราชพิธีนี้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มาจากคำว่า พระราชพิธี +บรม + ราช + อภิเษก เป็นประเพณีสำคัญที่สุด จัดขึ้นในวโรกาสที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระราชพิธีในการสถาปนาให้พระองค์เป็นพระราชาธิบดีของราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์

สำหรับในประเทศไทยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่๒ หรือศิลาจารึกวัดศรีชุมสมัยสุโขทัย โดยนักวิชาการสันนิษฐานว่า จารึกนี้เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่๑๘ ซึ่งกล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า “...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัยให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ในคำให้การของชาวกรุงเก่าโดยมีข้อความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ไว้ว่า “...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอามะเดื่อนั้นมาทำตั่งสำหรับประทับสงพระกระยาสนานในการมงคลเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้นพระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว(จึงเสด็จไปประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ)มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์...”  นอกจากนี้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยายังถูกรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๖

ในสมัยกรุงธนบุรีถึงไม่มีเอกสารที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้นที่แสดงถึงช่วงเวลาที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ เช่น จดหมายโหรในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘ ความว่า “ปีชวด จ.ศ. ๑๑๓๐ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แตกมาสู่โพธิสมภารได้เมืองนครเสมา ณ วัน ๓ฯ๔ ๑ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ แผ่นดินไหว ปีนี้เจ้าตากได้ราชสมบัติอายุ ๓๔ ปี

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ถือแบบอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานในพงศาวดารความว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพ โดยคำอัญเชิญของบรรดาเสนามาตย์และราษฎรทั้งปวง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕แล้ว ก็ได้ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขปก่อนแล้วจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่าซึ่งมีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธานประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและราชาคณะผู้ใหญ่ทำการสอบสวนค้นคว้าคัมภีร์และแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อได้แบบแผนโดยสมบูรณ์และบ้านเมืองก็ว่างศึกสงครามลงแล้วจึงได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘” และยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างในรัชกาลต่อมาซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้

๑. การเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษกจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรเตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

ในขั้นตอนการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญๆสำหรับนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งน้ำที่นำมาจะต้องมีความพิเศษกว่าน้ำธรรมดาทั่วไป โดยตามตำราโบราณของพราหมณ์จะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” หรือ แม่น้ำสายสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีปได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมทิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภูโดยน้ำในแม่น้ำทั้ง ๕ จะไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่สถิตของพระอิศวร สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยอยุธยาแม้จะมีการกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ก็ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในราชพิธีซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยในอดีตและประเทศอินเดียเป็นไปได้ยากที่จะนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ได้เพราะตามธรรมเนียมประเพณีมาแต่เดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จผ่านพิภพ จะต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายใน๗ วัน หรืออย่างช้าภายในเดือนเศษเป็นประเพณีสืบมาและกระทำกันก่อนที่จะถวายพระราชเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนจึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าจะนำน้ำมาจากชมพูทวีปจึงเป็นไปไม่ได้แต่จากหลักฐานการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ปรากฏในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งสุโขทัยที่ได้กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองสุโขทัยและข้อความในศิลาจารึก (พ.ศ. ๑๑๓๒) ว่า “น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้นครจำปาศักดิ์นั้นใช้เป็นน้ำอภิเษก”ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการใช้น้ำจากน้ำในสระเกษ สระแก้วสระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สระทั้ง ๔เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ท่าเสด็จอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

๒. พิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ตั้งน้ำวงด้ายจุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

๓. พิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วยพิธีสรงพระมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง ๘ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์และพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องทรง ๕ อย่างของพระมหากษัตริย์ไทยเครื่องทรงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นๆ ได้ผ่านพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพ่ออยู่หัว”ตรงตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงเก่าทุกประการซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นี้ เพียงแค่ครั้งเดียวนั่นก็คือวันที่พระองค์เข้าพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพ่ออยู่หัวและจะไม่ทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อีกเลยตลอดรัชกาล เพราะเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นเครื่องทรงที่สงวนไว้สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้นดังนั้นหลังจากพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เจ้าพนักงานจะอัญเชิญเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทอดถวายไว้ที่ข้างๆ พระราชบัลลังก์แทน

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย () พระมหาพิชัยมงกุฎ ()พระแสงขรรค์ชัยศรี () ธารพระกร() วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี) () ฉลองพระบาทเชิงงอน

.พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเครื่องทรงในพระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ประวัติ พระมหาพิชัยมงกุฎเครื่องประดับพระเศียรองค์แรกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ทำด้วยทองคำลงยาบริสุทธิ์ ประดับเพชรเฉพาะองค์พระมหามงกุฎ ไม่รวมพระกรรเจียกจอน สูง ๕๑ ซ.ม. ถ้ารวมพระกรรเจียกจอนสูง ๖๖ซ.ม. มีน้ำหนักถึง ๗.๓ กิโลกรัม ที่ยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หามาจากเมืองกัลกัตตาประเทศอินเดีย มาประดับที่ยอดพระมหามงกุฎ พระราชทานนามเพชรเม็ดนั้นว่า"พระมหาวิเชียรมณี"

.พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นสัญลักษณ์แสดงการได้พระราชอำนาจอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดินและจะทรงขจัดศัตรูให้สิ้นด้วยพระบรมเดชานุภาพสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมมีอำนาจปกครองดินแดน เมื่อพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกแล้วชาวประมงเมืองเสียมราฐได้ทอดแห พบพระขรรค์องค์นี้และนำมามอบแก่กรมการเมืองเสียมราฐซึ่งขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของไทย ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(แบน อภัยวงศ์)ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและเสียมราฐในขณะนั้น จึงทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชัน ที่เชิญพระแสงขรรค์เข้าใกล้เขตพระราชฐานเกิดพายุฝนฟ้าผ่าที่ประตูวิเศษไชยศรีและพิมานไชยศรีซึ่งเป็นเส้นทางที่อัญเชิญพระขรรค์ผ่านเข้าเขตพระราชฐานอีกด้วยโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามด้วยทองคำลงยาราชาวดีลายเทพพนม และฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงใช้เป็นพระแสงราชศาสตราในพระราชพิธีสำคัญ

. ธารพระกร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างธารพระกรขึ้น ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้สร้างใหม่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์หุ้มทองลักษณะคล้ายพระแสงดาบยอดทำเป็นรูปเทวดา ชักยอดออกแล้วจะกลายเป็นพระแสงเสน่าหรือมีดสำหรับขว้างธารพระกรนี้เป็นเครื่องหมายแห่งการปกครองที่เปี่ยมด้วยพระปรีชาญาณอันสุขก่อให้เกิดความมั่นคงแก่แผ่นดิน

พัดวาลวิชนี และ พระแส้หางจามรี เป็นเครื่องใช้ประจำองค์พระมหากษัตริย์และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแส้หางจามรีมีที่มาจากคำว่า"จามร" ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนี เดิมนั้นคือพัดใบตาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนี นั้นคำว่า"วาล" เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า "จามรี"จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว ต่อมาได้เปลี่ยนขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน และใช้คู่กันกับพัดวาลวิชนีซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามและลวดลายประกอบทำด้วยทองลงยา

.ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชรใช้สวมเฉพาะในงานพระราชพิธีที่ต้องประทับเท่านั้น องค์พระบาทเชิงงอนเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจะทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่แผ่นดินทุกอาณาเขตที่เสด็จพระราชดำเนินไป

อนึ่ง หากพระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษก หรือยังไม่ได้รับเบญจราชกกุธภัณฑ์  พระเกียรติยศจะยังไม่เต็มที่ เป็นต้นว่า  ยังไม่ออกพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกเพียงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินจะเรียกเพียงพระราชโองการ ยังไม่ใช้พระบรมราชโองการ

๔. พิธีเบื้องปลายประกอบด้วยการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนาถวายบังคมพระบรมศพพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและอัครมเหสีในรัชกาลองค์ก่อนๆเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จเลียบพระนคร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ ๑ เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อพุทธศักราช๒๓๒๕ ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธานสอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการพระราชานุญาตให้สมณชีพราหมณ์และประชาราษฎรหาสิ่งของในแผ่นดินได้ตามปรารถนาแล้วทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน และทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกโดยทรงอธิษฐานตามพระราชอัชฌาสัย พราหมณ์เป่าพระมหาสังข์ ประโคมดนตรีมโหระทึกสมเด็จพระสังฆราชดับเทียนชัย แล้วเสด็จฯถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ จากนั้นเสด็จออกท้องพระโรงหน้า ประทับพระแท่นเศวตฉัตรพระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้ามาเฝ้าฯพร้อมกัน

น้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนำมาจากน้ำในสระเกษสระแก้ว สระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สระทั้ง ๔เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ท่าเสด็จอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และยังนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญอีก ๕ สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา”ซึ่งตักมาจากเมืองต่างๆ ดังนี้ (๑) น้ำในแม่น้ำเพชรบุรีตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี (๒) น้ำในแม่น้ำราชบุรีตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม  (๓)น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง (๔)น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี (๕)น้ำในแม่น้ำบางประกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสกณ ปูชนียสถานสำคัญแห่งเมืองนั้นเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีการต่อที่พระนคร

นอกจากนั้นยังมีการพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือพระราชพิธีอุปราชาภิเษก เพื่อแต่งตั้งพระราชวงศ์ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) อันเป็นตำแหน่งสูงสุดรองจากพระมหากษัตริย์ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์นั่นเอง ในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น พระมหาอุปราชพระองค์แรกคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พระเจ้าน้องยาเธอ) ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ จึงทรงโปรดให้ประกอบพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๙

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒

การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีทั้งที่คล้ายกับในรัชกาลที่ 1 และมีที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการแก่มหาราชครูพระราชทานบรมราชานุญาตให้สมณชีพราหมณ์และประชาราษฎรหาสิ่งของในแผ่นดินบริโภคได้หากไม่มีเจ้าของดังความเช่นรัชกาลก่อนว่า

"พรรณพฤกษ์ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรนั้นถ้าไม่มีเจ้าของหวงแหนแล้ว ตามแต่สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะปรารถนาเถิด"

จากนั้นมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้มุขมนตรีผู้เป็นเจ้าหน้าที่ให้รักษาสรรพสิ่งทั้งปวงไว้ตามพนักงานเพื่อจะได้ป้องกันพระราชอาณาเขต ทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาให้สถาพรสืบไปอรรคมหาเสนาบดีรับพระบรมราชโองการ ข้าราชการถวายบังคมพร้อมกัน ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มพระราชพิธีสักเลขขึ้นทะเบียนพลและเดินสวนเดินนาส่วนพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นการสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อยในรัชกาลที่ ๑


พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๓

เนื่องด้วยพระมหาอุปราชในสมัยรัชกาลที่๒ สิ้นพระชนม์ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต ตำแหน่งมหาอุปราชจึงว่างลงแต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทและไม่ได้รับสั่งมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสพระองค์ใดเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ สวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีจึงหารือกันเห็นว่าควรอัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์แม้ว่าตามลำดับการสืบสันตติวงศ์ควรจะเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎพระโอรสซึ่งประสูติจากสมเด็จพระราชินี

การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ได้มีรายละเอียดอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ เพียงแต่กล่าวว่า"จัดการพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติโดยเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบๆ มา"


พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔

ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔

ที่มา :www.Thaiheritage.net

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์จะคืนราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชา ดังนั้นพระองค์จึงไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินีและไม่ได้แต่งตั้งพระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหาอุปราช เมื่อพระองค์สวรรคตขุนนางผู้ใหญ่จึงอัญเชิญสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งผนวชอยู่ที่วัดบวรให้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ และยังทรงแก้พระปรมาภิไธยที่จารึกพระสุพรรณบัฏจากเดิมในรัชกาลที่ ๑-๓ มีพระนามขึ้นต้นว่า"สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี" และมีสร้อยเหมือนกันทั้ง ๓ รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้เรียกพระนามอดีตรัชกาลตามนามพระพุทธรูปที่รัชกาลที่๓ ทรงพระราชอุทิศ รัชกาลที่ ๑ ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๒ ให้เรียกว่า แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๓ ให้เรียกว่าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกแผ่นดินของพระองค์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย ๔ รูปสำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมุรธาภิเษกจึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่าง นอกเหนือจากน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก ๙แหล่งข้างต้น

พร้อมกันนั้น ในรัชกาลนี้มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งประกอบขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๓๙๔ โดยที่ทรงพระราชดำริว่าวันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัยควรมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชสมบัติจึงทรงจัดการพระราชกุศลและให้มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วยพระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” 


พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕

ที่มา : www.thaiheritage.net

วันพระฤกษ์บรมราชาภิเษกรัชกาลที่๕ คือวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอนุโลมตามแบบอย่างพระราชพิธีที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ ได้ทรงตั้งไว้และที่ได้ทรงประกอบการมาแม้แต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทรงพระราชดำริว่า การสวดภาณวารเดิมสวดไปครบ ๓ วันบริบูรณ์เพราะจุดเทียนชัยและตั้งต้นสวดภาณวารในวันที่ ๒ ดังนั้นเมื่อคราวเฉลิมพระอภิเนาวนิเวศรัชกาลที่๔ ทรงสร้างใหม่ พ.ศ. ๒๔๐๒ โปรดให้ทำการพิธีคล้ายกับพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจึงทรงให้แก้ไขเพิ่มพิธีตั้งน้ำวงด้ายมีสวดมนต์เลี้ยงพระก่อนวันงานอีก ๑ วันเพื่อให้ได้จุดเทียนชัย และเริ่มสวดภาณวารในเวลาเช้าวันที่ ๑ แห่งการพระราชพิธีพิธีตั้งน้ำวงด้ายในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เสร็จพิธีทางสงฆ์และพราหมณ์มีแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นครั้งแรกด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ก็ใช้น้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระ ๔ สระ เมืองสุพรรณบุรีเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับเคยใช้ในรัชกาลก่อนๆต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ทรงได้นำน้ำปัญจมหานทีที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์ กลับมายังประเทศสยามด้วยและในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒น้ำสรงมุรธาภิเษก จึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง ๔ของเมืองสุพรรณบุรีด้วย

หลังจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีอุปราชาภิเษก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเอมเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือพระมหาอุปราชาในครั้งนี้เป็นการสถาปนาตำแหน่งพระมหาอุปราชาครั้งสุดท้ายก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงให้เปลี่ยนตำแหน่งรัชทายาทผู้สืบราชบัลลังก์เป็นตำแหน่ง"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร"ซึ่งสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทยคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสของพระองค์กับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี(สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)



พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

ที่มา :www.thaiheritage.net

การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขึ้นในวันที่๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ โดยเริ่มประกอบพิธีในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายนเรื่อยมา ตามแบบราชประเพณีที่เคยทำมาในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษกเมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์และพราหมณ์แล้ว เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ บัณเฑาะว์มโหระทึก เครื่องดุริยดนตรี ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ๒๑ นัดตามกำลังวัน ทหารบกทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติยศแห่งละ ๑๐๑ นัดซึ่งการยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติถึงแห่งละ ๑๐๑ นัดนี้เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลก่อนหน้านี้เป็นการยิงปืนใหญ่สลุตแห่งละ ๒๑ นัด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่าพระราชกุศลทักษิณานุประทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบัน นอกจากนั้นยังทรงประกอบพระราชพิธีพิเศษซึ่งในรัชกาลก่อนๆ ไม่เคยปรากฏคือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งประกอบพิธีหลายอย่างซ้ำเดิมที่เคยทำไปแล้วในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีลักษณะงาน ๓ อย่าง คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การสมโภช และการเลี้ยงลูกขุน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชา ภิเษกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงใช้น้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ ๖ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ นอกจากใช้น้ำเบญจคงคาน้ำปัญจมหานทีและน้ำทั้ง ๔ สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆและแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักพระมหานครโบราณ ๗ แห่งได้แก่ (๑) แม่น้ำป่าสักตักที่ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท โดยใช้น้ำสรงรอยพระพุทธทำพิธีเสกน้ำด้วย โดยถือว่าพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีเป็นปูชนียสานที่สำคัญในมณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา (๒) น้ำที่ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก และน้ำจากสระสองห้อง ทำพิธีที่พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นปูชยสถานที่สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ (๓)น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้วน้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีในวิหารวัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลกซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญมาแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้าในสมัยสุโขทัย(ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)  (๔)ตักน้ำในแม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาว บนองค์พระปฐมเจดีย์น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ ทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญตั้งแต่สมัยทวารวดี(๕) น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมืองบ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ไปตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในจังหวัดนครศรีธรรมราช (๖) น้ำที่บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชยซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพระเยา และนครเชียงใหม่ และ(๗) น้ำที่บ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม มณฑลอุดรซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองโคตรบูรณ์ในสมัยโบราณ (ภาคอีสาน) และยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธีเสกน้ำณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ ๑) มณฑลนครสวรรค์ - วัดบรมธาตุและวัดธรรมามูล จังหวัดชัยนาท ๒)มณฑลปราจีนบุรี- น้ำสระมหาชัย น้ำสระหินดาษ ทำพิธีเสกน้ำที่วัดยโสธรเมืองฉะเชิงเทรา ๓) มณฑลนครราชสีมา - น้ำสระแก้ว น้ำสระขวัญ น้ำธารปราสาทน้ำสระปักธงชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระนารายณ์มหาราช (เดิมชื่อวัดกลาง)จังหวัดนครราชสีมา ๔) มณฑลอีสาน- น้ำท่าหอชัย น้ำกุดศรีมังคละ น้ำกุดพระฤาชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดศรีทองเมืองอุบลราชธานี ๕) มณฑลจันทรบุรี- น้ำสระแก้ว น้ำธารนารายณ์ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพลับ เมืองจันทบุรี ๖) มณฑลชุมพร- ตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญที่อำเภอต่างๆมาทำพิธีที่วัดพระธาตุ เมืองไชยา ๗) มณฑลปัตตานี- น้ำสระวังพลายบัว น้ำบ่อทองน้ำบ่อไชย น้ำบ่อฤาษี น้ำสะแก้ว ทำมาพิธีเสกน้ำที่วัดตานีนร-สโมสร เมืองตานี ๘)มณฑลภูเก็ต- น้ำเขาโต๊ะแซะ น้ำเขาต้นไทร ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระทอง เมืองถลาง ๙) มณฑลเพชรบูรณ์- วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ ๑๐) มณฑลราชบุรี-วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนกระทั่งทุกวันนี้



พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

ที่มา :www.thaiheritage.net

เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ไม่มีพระราชโอรส พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯกรมหลวงสุโขทัย จึงได้รับอัญเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระราชหัตถเลขานิติกรรมและมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๖๘ (เป็น พ.ศ. ๒๔๖๘ ตามการนับปีแบบเดิมแต่หมายถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ในปีถัดมาหลังจาก รัชกาลที่ ๖ สวรรคตเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๖๘) ทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะดำรงทศพิธราชธรรมตามพระราชประสงค์เสร็จพิธีบรมราชาภิเษกวันเดียวกันในเวลาบ่าย พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทรงมีพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณีขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่๖ เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่ พระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช รัชกาลที่ ๘

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ไม่มีพระราชโอรสและไม่ได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลจึงอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับพระราชสันตติวงศ์กฎมณเฑียรบาล พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ ๘ พรรษาจึงได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทน ส่วนพระองค์ พร้อมด้วยพระราชชนนี พระขนิษฐาและพระอนุชา ทรงประทับอยู่ต่างประเทศ
ในรัชกาลนี้ยังไม่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคมพ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นเป็น"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช" เพื่อเป็นการเฉลิมพระบรมขัติยราชอิสสริยยศรวมทั้งมีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น นพปฎลเศวตฉัตรใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ


พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี

จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี

จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

ที่มา:www.thaiheritage.net

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์ต่อจากพระเชษฐาธิราชเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ และได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอีก๔ ปีถัดมา คือวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งรัชกาลก่อนๆ เพราะได้ย่นพิธีให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในเวลานั้นขั้นตอนพิธีสำคัญที่ยังคงไว้คือ พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกและรับน้ำอภิเษกพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ โดยจารึกพระปรมาภิไธยว่า"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" มีพระบรมราชโองการตอบพระราชอารักขาแด่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทยว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอักษรการอาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ตอนเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตอนเย็นของวันเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกสีหบัญชรพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระราชทานวโรกาสให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ ได้นำน้ำตามมณฑลต่างๆ ๑๘ แห่ง เช่นเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๗แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้วและทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดน่านแทน เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยอัญเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนกว่าจะถึงวันงานจึงอัญเชิญเข้าพิธีสวดพุทธมนต์ เสกน้ำ ณพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

สรุป

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือพิธีทางการที่พระมหากษัตริย์และ/หรือคู่อภิเษกสมรสรับมอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการตามปกติแล้วมักจะเกี่ยวข้องกับการสวมมงกุฎลงบนพระเศียรพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่นพิธีนี้ยังอาจรวมไปถึงการกล่าวถ้อยคำปฏิญาณการถวายความเคารพแก่ผู้ปกครองพระองค์ใหม่ของเหล่าอาณาประชาราษฎร์และ/หรือการประกอบพิธีกรรมอันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ต่อความเป็นรัฐชาติตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในราชวงศ์จักรี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยชี้นำทางด้านสังคมการเมือง และศาสนา จนมาถึงจุดที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเรียบง่ายมากขึ้นแต่ก็ยังยึดถือโบราณราชประเพณีในส่วนของพระราชพิธีตามความเชื่อของพราหมณ์และพุทธในเรื่องของน้ำศักดิ์สิทธิ์และน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำเหล่านี้มาจากทั่วทุกภาคของไทยอาจมีความหมายเป็นนัยของการถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยใช้น้ำอภิเษกเป็นสัญลักษณ์

เอกสารอ้างอิง
กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสยามินทราธิราช

และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพ.ศ. ๒๔๙๓,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๗ (

พฤษภาคม๒๔๙๓).

บรรเจิดอินทุจันทร์ยง. บรรณาธิการ.จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา

ประชาธิปพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวรัชกาลที่ ๗ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์

เอกสารทาง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี,สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเฉลิม

พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวเนื่องในวโรกาสพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี

กรุงเทพฯ :วัชรินทร์การพิมพ์,๒๕๓๗.

ณัฏฐภัทรจันทวิช . เรียบเรียง. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์ใน มหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระ

เจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ใน

“มรดกไทย” โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทยพิมพ์ที่ กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งอรุณ พับลิชชิ่ง จำกัด

, ๒๕๔๒.

ศิลปากร,กรม. รายการละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรและเสด็จเลียบพระนคร

ในพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพุทธศักราช ๒๔๖๘ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗โปรดให้พิมพ์เนื่องในงานพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศ

สวาสดิ์ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๖.

ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์พระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งกรุงรัตน์โกสินทร์,(กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการ

นายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๗.
www.thaiheritage.net



[1] ผู้อำนวยการสถาบันที่ปรึกษาทาร์เก็ต




 

Create Date : 16 มกราคม 2562
1 comments
Last Update : 16 มกราคม 2562 6:23:09 น.
Counter : 3393 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**, คุณhaiku

 

แวะมาเยี่ยมครับ

 

โดย: **mp5** 16 มกราคม 2562 9:17:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

space

สมาชิกหมายเลข 972112
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 972112's blog to your web]
space
space
space
space
space