Group Blog
 
 
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
16 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
O หอมกลิ่นร่ำ ๑ .. O








ชัยภัค ภัทรจินดา - ลาวคำหอม



.. ปฐมบท ..
๑. พอสายตาคล้อยหัน .. ก็บรรจบ-
งาม-กว่างามชาติภพ .. เคยพบเห็น
แววในตาเหงาเงียบดูเยียบเย็น-
เหมือนแฝงเร้นเรื่องครั้งแต่ปางบรรพ์

๒. ในภาพเก่าคร่ำคร่า .. แววตาโศก-
เหมือนเฝ้ามองดูโลก .. ปวงโศกศัลย์
ที่ที่ความโอดอื้นทั้งคืนวัน-
เกินตัดบั่นลับลา .. จากอารมณ์

๓. ริ้วแพรเนื้อบางนุ่ม .. ห่มคลุมไหล่
ช่อดอกมาลย์เสียบไว้ที่ปลายผม
สังวาลย์เพชรล้ำค่า, แววตาคม-
ค่อย-ล้อมห่มดวงจิต .. จนติดตรึง

๔. แววตาซ่อนเร้นความ .. เงียบ .. งาม .. นิ่ง
สบแล้วยิ่ง .. เกินหวังจักหยั่งถึง
ชั่วสบด้วยวูบเดียว .. ก็เหนี่ยวดึง-
ห้วงคำนึงย้อนกลับ .. ลำดับนั้น !

๕. ตายังจับจ้องรูป .. จิตวูบผ่าน-
แววอ่อนหวานในรูปที่วูบ .. สั่น
เมื่อเรียวรูปปากอิ่ม .. เหมือนยิ้ม, พลัน-
ภาพกาลบรรพ์ก็พรั่งพร้อม .. ขึ้นล้อมรอ !
.
.
.. พศ.๒๔๒๗ ..
.
.
๖. บริบทงดงาม .. แห่งยามเช้า-
ค่อยทอดเงาเคียงหมู่ท่านผู้ขอ
ศรัทธาชนในธรรม ราวร่ำรอ-
การเติมต่อ .. แต่งหวังอยู่ทั้งเป็น

๗. ฝ่าแสงยามตรู่สาง .. ท่านย่างเหยียบ-
ยอธรรมเทียบทุกข์สรรพ .. ช่วยดับเข็ญ
เพื่อหัวใจปรุงปองได้ผ่องเพ็ญ
ข่มสร้อยโศกหลีกเว้น .. บีบเค้นใจ

๘. ผ่านแสงตรู่ยามเช้า .. กลิ่นข้าวหอม
ย่อมอบอวลอยู่พร้อม .. การน้อมไหว้
ฝ่าแสงเงาตรู่สาง .. เหยียบย่างไป
ล่มโศกไข้ทุกข์เขลา .. ให้เบาบาง





๙. บริบทยามเช้า ตรู่เช้านั่น
ก่อน-ค่อยผันผ่านเลย .. ก็เผยร่าง-
เรียวรูปผู้เยาว์วัย .. อยู่ในทาง
เหมือนคอยขวาง .. ฝากรูป .. โลมลูบใจ

๑๐. นิ้วเรียวรูปเคลื่อนขยับ .. หยิบจับลง-
ใส่บาตรสงฆ์ .. จากรูป .. สู่รูป .. ให้-
ห้วงจิตรู้รมยา .. เกินกว่าใคร-
อาจพรากสุขแจ่มใส .. จากนัยน์ตา !

๑๑. บริบทยามเช้า ตรู่เช้านั่น
กอปร-รูปนาม .. เบญจขันธ์ .. กลางพรรษา
สบ .. สัมผัส .. เป็นเหตุ .. ดลเวทนา
จวบ-ตัณหา .. อุปาทาน .. ละลานล้อม !

๑๒. ตั้งขึ้นเป็น .. ภพ .. ชาติ - แรงปรารถนา
โดยแววตาพริ้มพรับ .. คอย-ขับกล่อม
ที่เหมือนทั้งเจตจินต์ .. คล้ายยินยอม-
เข้าแนบน้อม .. มธุรส เป็นบทเดียว !

๑๓. หลังกรุ่นหอมกลิ่นข้าว .. ตรู่เช้านั่น
มีดวงขวัญตื่นตอบ .. การลอบเหลียว
พร้อมดวงใจปลิดปลิวด้วยนิ้วเรียว-
ที่-ใครเหนี่ยวโน้มวางลงกลางมือ !

๑๔. ทิวแถวท่านผู้ขอ .. เคลื่อน .. รอ .. ก้าว
หาก-ตาวาว-วามอยู่ .. อาจรู้หรือ ?
ว่า-ทุกการเคลื่อนขยับ .. พริ้มพรับ-คือ-
แรงยุดยื้อไขว่คว้า .. อีก-อารมณ์ !





๑๕. แถบแพรขาวบางนุ่ม .. ห่มคลุมไหล่
เสียบแซมกลีบช่อไม้ที่ปลายผม
สังวาลย์เพชรวางสาย .. ให้หมายชม-
หรือ-เพื่อข่มขับมืด .. ให้จืดจาง ?

๑๖. ดู-ข้าทาสหญิงชาย .. ที่รายล้อม-
แสนนอบน้อม .. นั่ง, ลุก และทุกย่าง-
ที่-คอ, หลัง .. ค้อมรับ-หยิบ .. จับ .. วาง-
ข้าวของกลางแวดล้อม .. อยู่พร้อมเพรียง

๑๗. ในท่ามกลางสายตา, รูปหน้านั้น-
ค่อยค่อยสั่นโยกใจ .. จนให้เสียง
รูปนามแห่งยามเช้าทอดเงาเคียง-
การร้อยเรียงธรรมบทลงจดใจ

๑๘. ในคาบยามบรรจบ .. แห่งภพชาติ-
เหมือนเพรงวาสน์พาดช่วงเกินหน่วงไหว
จับจูงเอา .. อิริยา .. รูปหน้าใคร-
จำหลักไว้ตรึงมั่น .. ลงสัญญา

๑๙. แล้วรูปนามพริ้มเพราแห่งเช้าวัน
ค่อยค่อยผันรูปกลับ .. จนลับหน้า
แวบเดียว .. ที่เหลือบคล้ายจะชายตา-
ปรารถนาก็ช่วงในห้วงใจชาย

๒๐. สวยปีกผีเสื้อบินกลางถิ่นทุ่ง
ขณะรุ้งทินกรเริ่มชอนฉาย
ลมเช้าพลิ้วแผ่วร่ำ .. ล้อมรำบาย
แตะร่องรอยความหมายขึ้นว่าย-วน





๒๑. แดดใสแผ่นฟ้าคราม .. ในยามนี้
เหลื่อมแสงสีอบอุ่นแทนฝุ่นฝน
เมฆขาวแทนมืดดำฟ้าคำรน
วิหคบนแทนวิชชุที่คุไฟ

๒๒. งามเงื่อนหางยูงฟ้าในป่าแดด
ทอดลงแวดล้อมอยู่ .. จนรู้ได้-
ว่า .. อ่อนหวานโลมทั่วทั้งหัวใจ-
ด้วยรูปใคร .. เผยองค์ขึ้นบงการ

๒๓. ระยับแดดเหลื่อมแล้วที่แววขน
พร้อมตาคนวาบแล้วด้วยแววหวาน
ที่ช่วงใจเต้นรับอยู่นับนาน
จนสุดหาญฝ่าบ่วงให้ล่วงพ้น

๒๔. งามปีกผีเสื้อลาย .. ระบายป่า
กระหยับทาทิวเถื่อนอยู่เกลื่อนกล่น
ปีกแห่งรักพลิ้วพรายลอยว่ายวน
ด้วยหัวใจดิ้นรน .. คิดวนเวียน

๒๕. โลมแดดอุ่นแอบลมไว้ข่มรื่น
เมื่อใจตื่นนิรมิตเกินปลิด .. เปลี่ยน
จำหลักรอยแฝงฝาก .. ให้พากเพียร-
ว่า-เนื้อเนียนกลิ่นร่ำ .. คือ-จำนง !

๒๖. สวยปีกผีเสื้อลาย .. พลิ้วพราย .. ร่อน
เมื่ออาวรณ์พิสวาดิด้วยชาติหงส์-
ค่อยหลอมรวมหวานหอม .. รอน้อมลง-
จบ .. บรรจง .. เสพรับชั่วกัปกัลป์
.
.
.. พศ.๒๕๓๗ ..
.
.
๒๗. เอื่อยอ่อยลมทะเล .. คล้ายเห่กล่อม
พาจิตน้อมนึกย้อน .. กาลก่อนนั่น
แถวผู้ขอ, รูปนาม .. ผู้ล่ามพัน-
รัดดวงขวัญ .. จบจูบด้วยรูปเงา

๒๘. หาดทรายโล่ง, ทิวมะพร้าว .. ทอดยาวลิบ
น้ำระยิบล้อแดดให้แผดเผา
เผยภาพความสดใสแห่งวัยเยาว์,
แถวผู้ขอ-ทอดเงา .. ตรู่เช้านั้น

๒๙. เพียง-วูบเดียว .. ภพชาติก็พาดช่วง
แล้วลามล่วงจนใจเริ่มไหวสั่น
อีก-วูบเดียว .. ภพชาติก็คลาดกัน
หากในสัญญารู้ .. ยังอยู่ครบ !

๓๐. คำนึงในช่วงกาล .. อาหารมื้อ
ข้าวกรุ่นหอม, เรียวมือ, ยกถือ .. จบ
ก่อนรูปกายโค้งค้อม .. ลงน้อม .. นบ-
เอาชาติภพยกธรรม .. ขึ้นบำบวง

๓๑. ภาพ-ที่เคยจ้องดู .. รับรู้ว่า-
ต้นวงศาสืบสายมาหลายช่วง-
ของเพื่อน-ที่เรื่องหลัง .. สิ้นทั้งปวง-
นั้น-คงช่วงโชนอยู่ไม่รู้เลือน

๓๒. หลัง-อกเมืองร้อนร้าวด้วยข่าวโศก
ผลักอารมณ์แห่งโลกจนโยก .. เคลื่อน
ความหมกไหม้กรอมเกรียมก็เยี่ยมเยือน-
อกผู้เหมือน .. แตกดับอยู่นับปี

๓๓. ด้วย-โศกนาฏกรรม .. เรือคว่ำจม
พาชีพล่มมอดดับอยู่กับที่
หลังเรือต้องคลื่นน้ำเข้าตามตี
แผ่นดินนี้ก็ต้องโศกเข้าโยกคลอน !

๓๔. ขณะบางรูปเงา ยังเยาว์นัก
เขียนอ่าน-อักขรา-รู้ .. อย่างครูสอน
อาจรับทราบอยู่บ้างในบางตอน-
ของเรื่องราวม้วยมรณ์ .. ครั้งก่อนนั้น

๓๕. กฎเกณฑ์เช่นโซ่ล่าม .. วางข้ามช่วง
เพื่อเหนี่ยวหน่วงความคิด .. เพื่อปิดกั้น
ปรุงบทบาทให้ประณีต .. เพื่อกีดกัน-
การข้ามล่วงชนชั้น .. จากบรรพชน

๓๖. เอาสมมุติ .. ยึดถือ-ว่าคือยศ
ชี้ .. กำหนด .. สำทับอย่างสับสน
จวบสมมุติ .. ฆาตเข่น-ความเป็นคน
ก็รู้ควรปลิดป่นให้ปราศรอย !

๓๗. น้ำกระเซ็นเต้นฟอง, แดดผ่องแผ้ว
เมื่อลมพลิ้วผ่านแล้วอย่างแผ่วค่อย
คำนึงรูปแพงทอง .. ใจล่องลอย-
สู่ภาพความอ่อนช้อย .. เมื่อคอยพระ

๓๘. ลมโล้ .. น้ำกระเพื่อมพื้นเหลื่อมรับ-
ลำแสงวับวาบปลั่ง .. โยนจังหวะ
เช่นรูปนามรายล้อมไม่ยอมละ
ฤๅอาจผละพ้นผ่าน .. อ่อนหวานนั้น ?

๓๙. เมื่อผุดเผยรูปนามคุกคามโลก
แล้วคอยโยกคลอนใจจนไหวหวั่น
ว่างเว้นฤๅ-รูปพักตร์ .. แม้นสักวัน-
อาจกีดกันล่วงแล้วจากแววตา ?

๔๐. แล้วเรื่องราวรูปนาม .. แห่งยามเพรง
เหมือนรอใจรุดเร่ง .. คร่ำเคร่งหา
ด้วยอยากรู้อยากเห็นความเป็นมา-
ของรูปหน้าพริ้มเพรา .. ตรู่เช้านั้น





๔๑. ขณะรอบเขตคาม .. สยามประเทศ-
กลับต้องเลศกลทรามเข้าห้ำหั่น
ถูกแบ่งแยก, ปกครอง .. สุดป้องกัน-
ถูกลดชั้นเป็นทาสรองอาชญา

๔๒. เพื่อต่อต้านบทบาทอำนาจใหญ่
จึงต้องมีหัวใจยิ่งใหญ่กว่า
ถ้วนอุบาย ทุกวิธี .. เขามีมา
ก็รู้ว่าล้วนอุบายที่หมายครอง

๔๓. เลศแยบคายดักรอ เช่นขอวาง
แม้น-ก้าวย่างลดเลี้ยว-ยังเกี่ยว .. ต้อง
โยนเศษเนื้อเถือสับ .. รำงับ-ปอง
จนแผ่นพื้นขวานทองพ้นผองภัย

๔๔. โอหังการ .. รอบรั้ว .. เฝ้ายั่วหยอก-
พร้อมกระบอกปลายปืน .. หยิบยื่นให้
ที่ที่เขลารอบด้านล่มลาญไป
คือเยี่ยงอย่างของไฟ .. สุมใส่ตน

๔๕. จนสิ้นชาติสิ้นศัพท์ให้รับรู้-
พร้อมนายผู้เผยตัวอยู่ทั่วถนน
โมหะการณ์คลุ้มคลั่ง .. ย่อมฝัง-ปรน-
เปรอ-เลศกลศัตรู .. ที่รู้คอย !

๔๖. ธงของชาติเป็นนาย .. ปัดป่ายลม
ไว้เพื่อคอยกด .. ข่ม .. สร้าง-ปมด้อย-
แทรกสำนึกลามรุกไปทุกรอย-
ของผู้น้อย-บวงเซ่นผู้เป็นนาย

๔๗. ใช้กระสุนดินดำ .. เป็นคำตอบ-
ไว้กดครอบ .. ศักดิ์ศรีจนหนีหาย
คืนความจริงสำทับให้อับอาย-
ว่า-มีนาย .. ผิวขาวคอยกล่าว .. ชี้ !

๔๘. แล้วเพื่อนบ้านคู่แค้นมาแสนนาน
ก็ถึงกาลถูกหัก .. สิ้นศักดิ์ศรี
ถูกชี้สั่ง .. ใช้สอย-นับร้อยปี
อิสระเสรี .. หรือมีรอ ?

๔๙. ภาพเปลวไฟพวยพุ่ง .. ท่วมกรุงศรี
น้ำตา, เลือด-ไหลรี่ .. บัตรพลีต่อ-
ขัตติยะจัญไร .. ผู้ใจคอ-
ชอบแต่เพียงเคล้าคลอ .. ด้วยนวลนาง-

๕๐. -ก็ปรากฏสอดรับลำดับช่วง-
การย้อนล่วงกาลสู่ยามตรู่สาง
แถวจำเลยเลาะเลียบ .. ย่ำเหยียบทาง
ค่อยผ่านพ้นเลือนลาง .. ก้าวย่างไป

๕๑. แว่ว-ล้วนเสียงโอดอื้นในผืนอก
ทุกก้าวยก .. เหยียบ .. ย่าง-หรือสร่างได้ ?
เห็น-ล้วนความสิ้น-หวัง, กำลังใจ-
ที่ขับไขเต็มตา .. เบื้องหน้านั้น !

๕๒. เมื่อสามารถเคยมี .. มาหนีหาย
เพราะจิตชายในชาติ .. คอยหวาดหวั่น-
สิ้นแรงฮึกฮือโหมเข้าโรมรัน
ศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์ .. ก็บรรลัย

๕๓. ด้อยสามารถ .. หาก-รุมเข้าอุ้มชู
เมื่อสบศึกศัตรู .. ฤๅ-สู้ไหว ?
คะเนนึกตรึกตรองทำนองใด-
ล้วนยาวไกล .. เทียบก้าว .. เพียงก้าวเดียว !

๕๔. ยกชนชั้น-มือเท้า .. เป็นเจ้านาย
ความฉิบหายถ้วนสรรพ .. ก็ขับเคี่ยว
เอาหางยกขึ้นชู, แม้นครู่เดียว-
อาจล่มลาญแม้เสี้ยวส่วน .. เดียวนั้น !

๕๕. ด้อย, สามารถ, เด่น, ดี .. ดูที่ผล
ว่า-อับจน, โศก, ทุกข์ หรือสุขสันต์
หรือจำเริญก้าวล้ำ .. จนสำคัญ
หรือชาติพันธุ์ท้องกิ่ว .. ผู้หิวโซ ?

๕๖. มอง-อาการ, พจน์, ภาพ .. แล้วปลาบปลื้ม
ด้วยหลงลืมสำรวจ-คำอวดโอ้
ย่อมคือเหตุเภทภัยอันใหญ่โต
จากความโง่เขลานั้น .. แต่บรรพกาล !

๕๗. เมื่อศัพท์เสียงจากอดีตยังหวีดแว่ว
อยู่ในแก้วหูคน .. ยากพ้นผ่าน
สอดแทรกภาพไฟควันจากวันวาน
จิตวิญญาณรับรู้ .. จึงรู้เอง-

๕๘.-ว่าที่หลงสมมุติ .. เฝ้ายุดยื้อ-
ด้วยสองมือ-กอดกำ .. อย่างคร่ำเคร่ง
ล้วนจากจิตวิญญาณดื้อด้าน-เกรง-
กลัวพิศเพ่งแล้วเห็น .. ความเป็นมา !
.
.
.. บ้านริมน้ำ ปลายถนนสาทร ..
.
.
๕๙. บ้านริมน้ำสาทร .. ลมว่อนไหว
น้ำก็ไหลล้อแดดที่แผดจ้า
คนสวนและสาวใช้เดินไปมา
เตรียมโต๊ะตั่งปูผ้าที่ท่าน้ำ





๖๐. ร่มกางบังร้อนแรงไอแสงสูรย์
ที่เพิ่มพูนฤทธิ์ข่ม..เย้ยลมร่ำ
รูปหนึ่งเนตรแจ่มใสด้วยใฝ่ธรรม
ค่อยย่างย่ำหญ้าเขียวเลาะเลี้ยวมา

๖๑. มุมปากมารดาเพื่อน .. คล้ายเปื้อนยิ้ม
ความเอิบอิ่มผ่องใสเต็มใบหน้า
มือรับไหว้ .. โดยเจตอันเมตตา-
ต่อ-บรรดาเพื่อนลูกที่ผูกพัน

๖๒. ก่อนนั่งลงร่วมในวงสนทนา
พร้อมกับบางสายตาเบื้องหน้านั่น-
มองด้วยความเคารพเมื่อพบกัน
ยินดีนั้นก็ท่วมทับอยู่กับใจ

๖๓. หมายรับรู้รับฟังเรื่องครั้งก่อน
ที่ห้วงจิตรุมร้อนเกินผ่อนไหว
ปรุง-พากย์พร้อมจับจูงผู้สูงวัย
สู่กาลไกล .. สืบค้นด้วยสนทนา

๖๔. แล้วเรื่องราวรูปนามแห่งยามก่อน
เหมือนกลับย้อนเดินเรื่องอยู่เบื้องหน้า
ภาพในจินตนาการค่อยผ่านตา-
เป็น-รูปนามงามสง่า .. ท่วงท่าที

๖๕. เห็นบ่าวทาสมากครันเดินกันไขว่
กลางเรือนไทยแวดล้อมอยู่พร้อมที่
ไม้ร่มรื่น, ผืนหญ้าจดวารี-
ก็เผยรูปเขียวขจี .. ขึ้นจับตา

๖๖. ไม้เหยียดกิ่งก้านรอ .. แดดทอต้อง
เมื่อลมล่องผ่านเยือนริมเขื่อน .. ท่า
รูปหนึ่งมองเหม่อลอย .. นั่งปล่อยอา-
รมณ์ .. ตามสายน้ำ-บ่า .. แดดจ้า-ทอ

๖๗. บนเสื่อ-ถาดดอกไม้วางไว้คอย-
การจับร้อยเรียงช่วง .. เป็นพวงช่อ-
หอมเพื่อคอยเหนี่ยวนำ .. ใจ-ย้ำยอ-
ยกปัญญาคอยรอ .. ตรองข้อธรรม

๖๘. วัยสิบเก้ารูปนาม .. งดงามพร้อม-
ความอ่อนน้อมเผยสู่ให้รู้ .. สัม-
ผัส .. แล้วแต่งชาติภพบรรจบ .. นำ-
รูป .. อิริยา เก็บงำ – ไว้คำนึง

๖๙. แววใคร่ครวญในตา .. กอปรท่าที
ของความที่ความเห็นต้องเป็นหนึ่ง
ความรู้รอบเลื่องลือ .. จนอื้ออึง-
ไปจนถึงรอบวังแต่ครั้งนั้น

๗๐. บิดารับใช้ชาติ .. ช่วยราชกิจ
รูปโสภิตเคียงอยู่เป็นคู่ขวัญ-
ดูแลเรือน, บ่าวไพร่ .. อยู่ในวัน-
คือแม่ผู้ดวงขวัญผูกพันรัก

๗๑. สองพี่ชายคือแกล้วในแถวทัพ
พร้อมสำหรับ-รุดหน้า .. เข้าฝ่า .. หัก-
เข่นชีพปวงศัตรู .. ให้รู้พัก-
ผ่อน .. ลงทักทายดิน เมื่อสิ้นลม

๗๒. เริ่มแต่วัยสิบแปด .. กลางแวดล้อม-
ที่เหมือนความแปลกปลอม .. เข้าห้อมห่ม
ทุกคืนแรมจันทร์เลือน .. คือเงื่อนปม-
รูปงามสมศักดิ์ชาติ .. บำราศรอย !

๗๓. บรรจถรณ์หมอนหนุนเคยอุ่นร่าง
ยังคงว่าง .. เย็นเยียบทั้งเงียบหงอย
จนน้ำค้างวางเม็ด .. ดั่งเพชรพลอย
รูปนามค่อยเผยร่างขึ้นกลางเรือน

๗๔. แล้วจรดเท้าก้าวย่องเข้าห้องหับ
บานประตูปิดงับ, กลอน-จับเคลื่อน
ก่อนแสงยามตรู่สางจะย่างเยือน
การแล่นเลื่อนชาติภพก็จบลง !

๗๕. ทอดกายบนที่นอน .. หนุนหมอนนิ่ง
เมื่อรับรู้ใจหญิง .. ก็ยิ่งสง-
สัย ..ว่าบางวาทกรรม .. บางจำนง-
มีเหตุส่งสืบเนื่อง .. จากเรื่องใด ?

๗๖. บ้านเมืองในเบื้องหน้า .. เผย - ปรากฏ
พร้อม -โวหารภาพพจน์ .. เผยบทให้-
สบ .. รับรู้ .. รับทราบ .. พร้อมคราบไคล-
ของเลศนัยเสแสร้ง .. สำแดง-ปน





๗๗. ภาพผู้คนเรือนแสน .. เนืองแน่น .. พร้อม-
ชุดเขียว, ปืนตั้งป้อม .. รายล้อมถนน
ตรงยกพื้นเวที .. ก็มีคน-
พูดแจกแจงเหตุผลให้คนฟัง

๗๘. พอภาพเปลวไฟแปลบ .. นั้นแลบรัว,
ควันขุ่นมัวล้อมถิ่น .. ก็สิ้นหวัง
สองข้างที่ริมถนน .. ชีพป่นพัง
พร้อมแววตาชิงชัง ก็ปลั่งเรือง

๗๙. คำบรรยายเรื่องราว .. ข้อข่าวแจง-
ว่า-อำนาจแอบแฝงปั้นแต่งเรื่อง
วาทกรรมกล่อมเขลา .. ฤๅ-เปล่าเปลือง
หากต่อเนื่องกล่อมมัน .. ทุกวันไป

๘๐. คำบรรยายพร้อมภาพ .. ทุกภาพนั้น
เพรียกสำนึกพร้อมกัน .. ร่วมฝันใฝ่
กับแนวทางเหตุผล, เพื่อคนไทย-
จักเป็นใหญ่ในถิ่นแผ่นดินตน

๘๑. การชุมนุมเยี่ยงไร .. จึงใหญ่ยิ่ง
พาชายหญิงรวมตัวอยู่ทั่วถนน
ความตื่นตาตื่นใจก็ไหววน-
ทั้งสับสนอลเวง .. ยามเพ่งพิศ



ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (แซ่ฉั่ว) - ไอ้ก้านยาวช่วง 14 ตุลาคม 2516


๘๒. ภาพชายร่างผอมเกร็ง-เสียงเปล่งร้อง
สองมือกำไม้พลอง .. ยก-ป้องสิทธิ์
รอฟาดสู้ดินปืน .. ขัดขืนฤทธิ์-
ด้วยหัวจิตหัวใจ ที่ไม่กลัว !

๘๓. เมื่อร่ำเรียน .. รับรู้ .. ย่อมรู้ว่า
เดช, ศักดาเคยข่มให้ก้มหัว
ต้องแรงมือโยกสั่น .. ย่อมสั่นรัว
เสพรับการเย้ยยั่ว .. ในชั่วยาม !

๘๔. เมื่อใคร่ครวญ .. ไตร่ตรอง .. ย่อมมองเห็น
ความลำเค็ญ, ขื่นขม-สุดข่มข้าม
จากศักดาฤทธิ์เดชครองเขตคาม
ปวง-ชั่วร้ายเลวทราม .. ฤๅข้ามพ้น ?

๘๕. คนถือหอกถือดาบเคยฉาบฉุด-
เอาคมกุดชีพอรินทร์จนสิ้น .. ป่น
มาบัดนี้ .. ปืนถือในมือพล-
รอคำรนเสียงลั่น .. ฆ่ากันเอง !

๘๖. เป็นเพียงแกล้วเชี่ยวชาญในการฆ่า
กลับถูกบ้าบอดงำ .. จนคร่ำเคร่ง-
กับยศศักดิ์, อำนาจ ไม่หวาดเกรง-
การพิศเพ่ง-จากชนชั้น .. ใช้ปัญญา

๘๗. จมปลักกับนักรบ .. ที่ครบเครื่อง-
การโกงกินทุกเรื่องที่เบื้องหน้า
เพื่อสังคมผู้ดีได้ตีตรา-
รสนิยมสูงค่า – เมียหาซื้อ !

๘๘. โอ .. วิญญาณนักรบบนภพพื้น
โอบกอดปืน ให้เห็น - แล้วเซ็นชื่อ-
อนุมัติโครงการ, เงินผ่านมือ-
แย่ง, ยุดยื้อ, เม้ม, ครอง-เป็นของตน

๘๙. สะสมเงินแฝงฝากจนมากยิ่ง
กระทั่งหยิ่งจองหองทำพองขน
ลืมกำพืดเงินเดือน – ว่าเปื้อนปน-
กับเงินทองฉ้อฉล .. เงินคนไทย !

๙๐. บ้านเมืองในเบื้องหน้า .. ยัง - ปรากฏ
ถ้อยคำมดเท็จแฝงเลศแต่งให้-
ผู้ด้อยการขบคิด .. วางจิตใจ-
ลงบนคำปราศรัย .. สาไถยนั้น
.
.
.. พศ.๒๔๒๗ ..
.
.
๙๑. บริบทตรู่เช้า .. หมอก-ขาวมัว
ลมโรยตัว .. ลูบไล้ก็ไหวสั่น
แถบผ้าขาวป่ายริ้ว-ห่มผิวพรรณ-
พร้อมด้วยข้าวในขัน .. มุ่งมั่นรอ






๙๒. แล้วพิมพ์ภาพงดงาม .. แห่งยามเช้า-
ค่อยทอดเงาเคียงหมู่ท่านผู้ขอ
ศรัทธาของรูปนาม ก็งามพอ-
สืบสาน-ต่อเติมธรรม .. ลงย้ำใจ

๙๓. คำข้าว..ช่อดอกไม้..ถวายพระ
ตอบภาวะศรัทธา .. เพื่ออาศัย-
สำหรับน้อมจิตนำ .. พากย์ธรรมนัย-
กำหนดให้อัตตานั้นล้าตัว

๙๔. ข้าวหอมกรุ่นในขัน .. คด .. บรรจง-
ใส่บาตรสงฆ์เบื้องหน้าแต่ฟ้าหลัว
จวบแสงทองอำไพส่องไล่มัว
สุขก็ซ่านเอ่อทั่วทั้งหัวใจ

๙๕. หากเช้านี้ .. ผิดแผกจนแตกต่าง
ชั่วพระย่างพ้น .. พลัน-ที่สั่นไหว-
คืออกผู้-เบือนหน้าสบตาใคร-
แล้ว-เลศนัยเชิงชู้ .. ก็จู่โจม !

๙๖. ด้วยเช้านี้มีชายที่หมายรู้-
ว่า-งามผู้แสงรุ้งช่วยปรุงโฉม
นั้น .. ฤๅ-เพื่อรอช่วงแข่งดวงโคม-
ผ่านรอบโสมนัสช่วงกลางห้วงใจ ?

๙๗. ดู .. สายตาจับจองความผ่องแผ้ว
ก็ล้วนแววเอ็นดูจนรู้ได้
ดู .. สายตาจับจองความยองใย
ความอ่อนไหวอ่อนโยนก็โชนแวว !

๙๘. เมื่อมีรูป, มีใจ-หวั่นไหวอยู่
อารมณ์ผู้จับจ้องก็ผ่องแผ้ว
พร้อมริ้วลมโรยตัวอยู่ทั่วแนว
การจับจองรูปแก้ว .. ฤๅ-แล้วเลือน ?

๙๙. แต่เมื่อตาสบรูป .. การวูบไหว-
ของดวงใจ .. คือ-งามเจ้าลามเลื่อน-
ยอรูปองค์ .. ล้อมชาติเกินอาจเบือน-
สายตาเคลื่อนจากงาม .. แม้ยามเดียว !

๑๐๐. ตาสบรูป .. จิตวูบด้วยรูปนั้น
ตั้งแต่หันมองตอบ .. เฝ้าลอบเหลียว
ตาต้องรูปร่ำล้อ .. ดั่งขอเคียว-
เจ้าคล้องเกี่ยวเหนี่ยวใจ .. เอาไปครอง

๑๐๑. เช้านี้ .. จึงช่างแปลกจนแตกต่าง
ด้วยเรียวร่างงามที่ไม่มีสอง
ด้วยรูปพักตร์รูปเดียวเฝ้าเหลียวมอง
โลกทั้งผองก็เหมือนวาง .. ให้ย่างเท้า !

๑๐๒. ไร้ซึ่ง - ความเหงาเงียบให้เหยียบย่าง
สิ้นทั้งโลกผืนกว้าง .. เคยว่างเปล่า
มีแต่แววซ่อนยิ้ม, ความพริ้มเพรา-
ของรูปเงาเบื้องหน้า .. ให้ปรารมณ์ !

๑๐๓. พร้อม-ลมเอื่อยแผ่วผ่านอยู่นานเนิ่น,
แววขัดเขินเผยอยู่ .. สุดรู้ข่ม
สบ – สัมผัสหอมหวานอยู่นานนม-
ดวงใจที่จ่อมจมก็ .. สมยอม

๑๐๔. ช่อขาวเกสรปีบ .. รอบีบกลิ่น
ต้องลมรินโรยผ่าน .. รสหวานหอม-
ก็แฝงฝากลมร่ำให้ด่ำดอม-
รื่นรมย์ที่รายล้อม..อย่างพร้อมเพรียง

๑๐๕. ยิ่งปีกผีเสื้องาม, ตาวามนัย-
แฝงฝากให้อาวรณ์ออดอ้อนเสียง
เฉกลวดลายปีกบาง..ลอยร่างเพียง-
เพื่อเข้าเคียงหวานหอม..แนบน้อมรส

๑๐๖. เมฆขาวเวิ้งฟ้าใส .. ลมไหวแว่ว
วันผ่องแผ้วบังเดือนให้เลือนบท
หญ้าต้องลมโลมสู่ .. ยอดคู้คด
ภู่จ่อจดหวานหอมไม่ยอมลา

๑๐๗. นกโผเกาะกิ่งพฤกษ์ .. เมื่อนึกย้อน
ถึงช่วงตอนใจละห้อยแต่คอยหา
ดื่มด่ำด้วยรูปฝัน .. แรงฉันทา-
ต่อเรียวร่าง .. อิริยา .. ท่วงท่าที

๑๐๘. ทอดตามองที่นี่และที่นั่น
รูปรอยฝัน .. แทรกฝ่าเรื้องราศี
กลางลมอุ่นโอบไล้, รอบไมตรี-
ก็ค่อยคลี่โอบรับไว้กับทรวง

๑๐๙. เมื่อลำดวนฟุ้งกลิ่นรวยรินสู่
หอมก็จู่จบแทนความแหนหวง
แรงอาวรณ์ซาบซึ้ง .. ใจหนึ่งดวง-
หวัง-ผ่านหอมหวานล่วง .. อีกดวงใจ

๑๑๐. ปีกนกยังคลี่กาง .. ร่อนกลางฟ้า
กลางแววตา, อาวรณ์ .. แสนอ่อนไหว-
ที่ละห้อยแหนหวง .. พร้อมห่วงใย-
แต่เพียงผู้เยาว์วัย .. อยู่ในยาม

๑๑๑. ลมร่ำสายโชยเฉื่อยคล้ายเหนื่อยอ่อน
เมื่อเสียงอ้อนออดชู้ .. สุดรู้ห้าม-
คอยกระซิบเร้ารุก .. คอยคุกคาม
หลังสบแววตางาม .. วาบวามนัย

๑๑๒. ปีกนกกางโล้ลม, อารมณ์ถวิล-
ก็หลั่งรินรอชู้ .. ร่วมสู่สมัย-
การจับจูงเกี่ยวร้อยทุกรอยใจ
กำหนดให้ .. ร่วมย่างบนทางเดียว !
.
.
.. พศ.๒๕๓๗ ..
.
.
๑๑๓. ดูเถิด..รูปเรียวร่างคิ้วคางแก้ม-
ซับเลือดแต้ม, เนตรชม้อยก็คอยเหลียว-
เวียนสบเลศนัยชาย..ที่คลายเกลียว-
เข้ารัดเหนี่ยวโอบขวัญ..ลอบพันธนา





๑๑๔. ลมเช้าโชยแผ่วมา..ล้อมอารมณ์
เมื่อเนตรคมเหลือบชม้อย..เหมือนคอยท่า
สบ..ขัดเขิน..ยิ่งแล้ว..ในแววตา
รมยา..ก็วาบ-วกในอกชาย

๑๑๕. นัยน์ตาซึ้งโศกหวาน..นั้นซ่านแวว-
ความผ่องแผ้วอ่อนโยนออกโชนฉาย
มีรูปคราญบริสุทธิ์เป็นจุดปลาย-
การทอดสายตาล้อม..ไม่ยอมเบือน

๑๑๖. เอนไหวเรียวกิ่งก้าน..ดอกมาลย์สี-
ลมวาดวีโลมเลียบก็เปรียบเหมือน-
เลศในแววตาวาม..นั้นตามเตือน-
จนสุดเคลื่อนคล้อยผ่าน..หอมหวานนั้น

๑๑๗. เมื่อมีรูป..มีใจ..หวั่นไหวรูป
เช่นลมวูบวาบผ่าน..ช่อมาลย์..สั่น
งามเจ้าเอยโลมไล้..ดั่งไฟควัน-
แต่จะรุมล้อมขวัญ..ตราบวันวาย

๑๑๘. งามปีกผีเสื้อบิน..กลางถิ่นทุ่ง
ขณะรุ้งทินกรเริ่มชอนฉาย
ลม-ร่ำกลิ่นหอมนักมาทักทาย
ความเอียงอายก็อบร่ำในคำนึง

๑๑๙. งามปีกผีเสื้อลายบินว่าย-วน
เมื่อใจคนต้องพิษ..ความคิดถึง
แววแห่งความวุ่นว้า..คล้ายตราตรึง-
บนใจซึ้งทราบชู้..เช้าตรู่นั้น

๑๒๐. โอภาสแดดอบอุ่น..ล้อมฝุ่นดิน
ใจผู้ดิ้นรนอยู่..ฤๅ-รู้หวั่น-
กับการไขว่คว้าครอง..ที่พ้องกัน-
แต่เมื่อแววตานั้น..คล้าย..สั่นสะทก

๑๒๑. งดงามความนัยชู้..ในตรู่สาง-
ก็พรายพร่างโลมไล้อยู่ในอก
หวานเอย..สุดขับข่ม..เมื่อลมวก-
พาหวานปกคลุมครองทุกห้องใจ

๑๒๒. ปีกผีเสื้อโบยบิน..ล้อมกลิ่นหวาน
เมื่อแรกกาลเบิกบทความสดใส
เรณูเสียดช่อช้อย, รูปรอยใคร-
ก็เสียดรูปขับไข..ค้างนัยน์ตา

๑๒๓. ลืมได้ฤๅ-แววชม้อยชม้ายสู่
แฝงเลศนัยซ่อนอยู่..ให้รู้ว่า-
ความรู้สึกอ่อนหวาน..ส่งผ่านมา-
ให้ตอบรับคุณค่า..และท่าที

๑๒๔. คืนอบอุ่นอ่อนหวาน..ที่หวานกว่า-
หวานถ้วนทั้งบรรดา..รูปราศี
พร้องลำดับภพชาติ..ขึ้นวาดวี-
เยื่อใยดีสั่นพลิ้ว..กลางริ้วลม

๑๒๕. เหมือนรูปรอยคุณค่า..ค่อยตราตรึง-
ความซาบซึ้งแรงชู้..ลงสู่สม
พาอกใจละห้อยหาเฝ้าปรารมภ์-
แววเนตรคมเหลือบชม้อย..เฝ้าคอยรอ

๑๒๖. ริ้วลมร่ำโชยแล้วเพียงแผ่วค่อย
เมื่อจริตอ่อนน้อยเหมือนคอยล่อ-
ให้สายตาใฝ่เฝ้าพะเน้าพะนอ
ยั่ว..หยอกล้อเสน่หา..แต่ครานั้น

๑๒๗. พร้อม – แดดใส..ฟ้าคราม..แห่งยามสาย
คือ – เอียงอาย..วุ่นว้า..แววตาหวั่น
ชม้อยชม้ายเหลือบสบ..แล้วหลบพลัน-
ก่อนทรวงนั่นสั่นสะท้อน..เกินผ่อนเพลา

๑๒๘. พร้อม - แดดใสฟ้าครามแห่งยามสาย
คือ – ความหมายทอดทับความอับเฉา
รื่นเย็นสายลมลูบ..เมื่อรูปเงา-
แห่งยามเช้าทอดร่างลงกลางทรวง

๑๒๙. และแล้วก็มองเห็นความเป็นไป-
ของอกที่โหยไห้..อาลัย-หวง
แววอาวรณ์โลมไล้อยู่ในดวง-
ตาที่ห่วงใยอยู่แต่ผู้เดียว

๑๓๐. สายหยุดเจ้าหยุดกลิ่นแต่สิ้นสาย
เมื่อตาชายคอยแต่ชะแง้ - เหลียว
บนฟ้า..นกร่อนคว้าง.. เมื่อร่างเรียว-
เจ้ากอดเกี่ยวสายตา..ล้ออารมณ์

๑๓๑. โบกบินปีกนกกางร่อนกลางหาว
เมื่อเนตรวาววามชู้..เกินรู้ข่ม
โลมลูบแดดอุ่นอาย..ด้วยสายลม
กลิ่นชื่นฉมกุสุมาลย์..ก็หว่านล้อม

๑๓๒. อบอุ่นแดดยามสายโชนฉายสู่
เมื่อลมชู้พลิ้วผ่านทุกย่านหย่อม
โดยแววตาผ่านนัย..โดยใจยอม-
ร่วมหล่อหลอมนัยชู้..ร่วมดูแล

๑๓๓. ดูเถิด..รูปเรียวร่าง..คิ้วคาง..แกม-
ริ้วเลือดแต้มสองปราง..ดุจร่างแห-
เหวียงลงครอบคลุมใจ..เกินไหว-แปร-
เปลี่ยน-แกะแก้, ผูกพันจนมั่นคง

๑๓๔. ที่สถานศึกษา .. แววตาชาย-
สบ-แพ้พ่าย, เร้ารุม .. ด้วยลุ่มหลง
พร้อมกับความอ่อนหวาน .. แผ่ซ่านลง-
ซาบทรวงให้จำนง .. รูปองค์นั้น

๑๓๕. ราว-พิมพ์รูป .. พิมพ์ลักษณ์ .. พิมพ์พักตร์ผู้-
รอรูปธรรมย่างสู่ .. เช้าตรู่นั่น
อิริยา .. จับทำยิ่งสำคัญ-
เยี่ยงรูปในเบื้องบรรพ์ .. ในสัญญา !

๑๓๖. ภาพ-แพรขาวบางนุ่ม .. ห่มคลุมไหล่
กลีบดอกไม้แซมผม .. งามสมหน้า
กับ-เสื้อขาว .. กระโปรงดำ .. เห็นตำตา-
ก็เหมือนว่า .. ทับทาบเป็นภาพเดียว !
.
.
.. พศ.๒๔๒๗ ..
.
.
๑๓๗. ภาพ-แพรขาวบางนุ่ม .. ห่มคลุมไหล่,
พร้อมกับนัยน์ตาคอย .. ชม้อยเหลียว-
อยู่เบื้องหน้า .. เพรียกภิรมย์ – เข้ากลมเกลียว-
ด้วยร่างเรียวรูปพิไล .. ผู้ใยดี





๑๓๘. จาก-สบ .. เมิน .. เขิน .. หลบ .. แล้วสบอีก-
เกินสายตาจะอาจปลีก .. หลบหลีกหนี
รอบแรงชู้ราวร่ำรอ .. เข้าต่อตี-
ด้วยใจที่ขวยเขินสะเทิ้นอาย

๑๓๙. หลัง-เพรงวาสน์พาดช่วง, ในดวงตา-
หวานยิ่งกว่า-ทุกดวงก็ช่วงฉาย
ความอ่อนโยนเอ็นดู .. เกินรู้คลาย-
เผยผ่านแววตาชาย .. จนหมายรู้ !

๑๔๐. จึงทุกยามตรู่เช้า .. ทุกเช้านั่น-
มีดวงขวัญ .. ขันข้าว .. รอก้าวสู่
พร้อมหัวใจละห้อยเห็น-ความเอ็นดู-
จากตาวาบวามอยู่ .. ตาคู่นั้น !

๑๔๑. ในห้วงคิดตื่นอยู่ .. ย่อมรู้ว่า-
แววในตาวาบ-วก .. ทำอกสั่น
คือ-แววตาคู่ไหน .. คือ-ใครกัน-
ที่ทุกหันหน้าสบ .. เกิน-หลบพ้น

๑๔๒. มาตักบาตรทำบุญ .. หวัง-หนุนชาติ
พาทุกข์คลาดแคล้วช่วง .. ตราบร่วงป่น
กลับบรรจบหอมหวานเอ่อซ่านปรน-
เปรอ .. ใจคน .. ละห้อยเห็นไม่เว้นวาง

๑๔๓. จึง-ทุกเช้ารูปนาม .. ที่งามพร้อม-
คล้ายดักล้อมรอสู่ .. ของตรู่สาง
เพื่อล่มลาญเปล่าเปลี่ยวในเที่ยวทาง
ไล่ความอ้างว้างเหงา .. ผ่านเช้าวัน

๑๔๔. จน-เช้าหนึ่งรูปนาม .. ที่งามพร้อม
เคยดักรอรายล้อมเข้ากล่อมขวัญ
กลับบำราศรูปนามเคยล่ามพัน
ดอกไม้, ขันข้าวหอม ก็ย่อมเลือน

๑๔๕. คล้ายไม่เคยมีใคร .. อยู่ในที่-
รูป.. บาตร..ลีลาศรับ .. ขยับเขยื้อน
หากถิ่นที่แถวทาง .. การย่างเยือน-
ยังคงเหมือนบริบทเคยจดตา !

๑๔๖. วันแล้วและวันเล่า .. ไร้เงาร่าง
เหมือนยอโลกเปลี่ยวร้าง .. ลงขวางหน้า
ช่วงยามความเขินอาย .. ลอบชายตา-
ก็เหมือนว่าบำราศจนสิ้นรอย !

๑๔๗. เริ่มต้นการเฝ้าคอย .. ละห้อยหา-
ที่เหมือนว่าเพรียกโลก-ร่วมโศกสร้อย-
ให้เริ่มร่วมเริงขบวน .. คร่ำครวญคอย
จากเพียงน้อย-ค่อยถมจนเต็มทรวง

๑๔๘. ตราบแว่วยิน .. ข้อข่าวคนกล่างถึง-
ว่า-รูปนามรูปหนึ่ง .. เหมือนหนึ่งล่วง-
ลับหายไปจากเรือน .. เมื่อเดือนดวง-
เลื่อนรูปรอยสิ้นช่วง .. ดับล่วงไป
.
.
.. พศ.๒๕๓๗ ..
.
.
๑๔๙. น้ำค้างรุ่งเหน็บหนาว..พร่างพราวรับ-
แสงเช้าทอดจู่จับ..จนวับไหว
ผืนพลอยเพชร-เม็ดน้ำ..คล้าย-ร่ำไร
รอแสงไล้โลมต้อง..เพื่อ-ล่องลอย





๑๕๐. รวยรวยรสมาศไม้ที่ในสวน
กลิ่นหอมอวลอบเร้าความเหงาหงอย
รื่นรสกุสุมเช้า..เหมือนเฝ้าคอย-
บางรูปรอย..ผู้ถวิลแต่กลิ่นมาลย์

๑๕๑. คำนึงด้วยเจตจินต์..ที่ยินยอม-
การกักกุมรุมล้อมด้วยหอมหวาน
ที่ทั้งใจไหวสั่นแต่วันวาน
เมื่อใครผ่านความหมายขึ้นว่าย-วน

๑๕๒. งามจริตรูปละม่อมพรั่งพร้อมค่า
เปรียบช่อชั้นพวงผกา..แห่งป่าฝน
ที่เสียดยอดพลอดยามให้ตามยล
ถึงดิ้นรนด้วยใจ..พลอยไขว่คว้า

๑๕๓. นับการก้าวยกย่าง..บนทางฝัน
ช่างเต็มเปี่ยมมุ่งมั่น..การฟันฝ่า-
อุปสรรคทั้งปวง..ให้ร่วงคา-
อยู่ใต้ฝ่าเท้าย่ำ..ที่ดำเนิน

๑๕๔. นับสิบร้อยพันหมื่นการตื่นหลับ
คือลำดับรอยอุทธัจ..ความขัดเขิน-
ค่อยค่อยโหมหวนระลอกเข้าหยอกเอิน
ด้วยท่าทีที่สะเทิ้นด้วยเมิน-เมียง

๑๕๕. ละเมียดรส..ผกากรองละล่องกลิ่น
หอมตรึงจินตนาการนั้น-ปานเสียง-
กระซิบแผ่วผ่านถ้อยมาร้อยเรียง-
ความซาบซึ้งให้ประเดียงประดังใจ

๑๕๖. กลีบเรียวบางดอกดวง..บ้างร่วงหล่น
อยู่กับอกอึงอล..ลมวนไหว
ละครั้งที่งดงามของความนัย
ผ่านโลมไล้ลูบอก..พาวกย้อน

๑๕๗. หยาดน้ำค้างเคยเห็น..ก็เร้นหาย
ยังแต่สายสวาดิผู้สุดรู้ผ่อน
ในคำนึงเงียบเหงา..เหมือนเว้าวอน-
ความออดอ้อนแอบอำอยู่ค่ำเช้า

๑๕๘. รูปะภพอบร่ำในคำนึง
นั้น-เพียงหนึ่งอาลัย..คอยใฝ่เฝ้า
ผ่านเผยรูปรอยยิ้ม..อันพริ้มเพรา
ก็เพียงเงาเยาวรูป..โลมลูบทรวง

๑๕๙. นับแต่วันเดือนปีเท่าที่เห็น
ก็ยากเร้นงดงามที่ลามล่วง
ราวอดีตคำสาป..บุญบาปปวง-
ผ่านฤทธิ์หน่วงเหนี่ยวให้..อาลัยรอ

๑๖๐. ถ้วนปวงความอ่อนโยนและอ่อนหวาน
ต่างฤๅเมื่อดอกมาลย์..เบ่งบานช่อ-
ยังลามล่วงรุมเร้าพะเน้าพะนอ
เช่นรูปเงาแอบออ..ร่ำรอทรวง

๑๖๑. ถ้วนสิ้นความอ่อนโยนและอ่อนหวาน
จึงเปลี่ยนผ่านแปรให้..อาลัย-หวง-
แหนนั้น-เข้าห้อมห่มอารมณ์ปวง
แทรกความห่วงใยล้ำ..อยู่ค่ำเช้า

๑๖๒. น้ำค้างเร้นหยาดหยด..ไปหมดแล้ว
ลมโผยแผ่วลอดเลี้ยวความเปลี่ยวเปล่า
ประหนึ่งเพชร-แสงปลาบ..นั้นวาบเงา
เมื่อรูปเยาว์..หล่นคว้าง..ลงกลางใจ !

๑๖๓. อบอุ่นแล้วอีกคราว..เมื่อหนาวพ้น
ที่เหน็บหนาวเสียจน..ยากทนไหว
ยังดี-ที่ในทรวงมีห่วงใย-
คอยอุ่นไล้โลมสิ้น..จิตวิญญาณ

๑๖๔. อบอุ่นแล้วอีกคราว..เมื่อหนาวสิ้น
ด้วยลมรินเอื่อยอ่อย-ที่คล้อยผ่าน
ยอดหญ้าค้อมเรียวลู่-รับรู้กาล
กุสุมาดอกมาลย์ก็บานรับ

๑๖๕. ขณะวันสาดส่อง..ฟ้าผ่องแผ้ว
คือยามแววลึกล้ำ..เนตรดำขลับ-
ค่อยเหลือบชายให้ทราบ..ความวาบวับ-
ที่โหมลงจู่จับ..ลำดับนั้น

๑๖๖. จู่จับห้วงจิตใจ..เกินไหว-เบี่ยง
ด้วยชั่วเพียงสบรูป..แล้ว-วูบสั่น
จนสบแววอ่อนหวาน..ก็ปานทัณฑ์-
ผูกล่ามขวัญเอาไว้อยู่ในมือ

๑๖๗. แววเนตรไหว-วนวิ่ง, ยากยิ่งแล้ว-
จักฝ่าความผ่องแผ้ว..จนแล้ว..หรือ ?
สบรูปแล้ววิญญาณ..จักผ่าน ฤๅ ?
เหลือแต่คือ-ยื้อยุดไว้..สุดตัว !
.
.
.. บ้านริมน้ำ ปลายถนนสาทร ..
.
.
๑๖๘. บ้านสาทรริมน้ำ .. ลมร่ำผ่าน-
โลมกิ่งก้านไม้ใบจนไหวทั่ว
ระลอกคลื่น .. ลมโยน-ก็โจนตัว-
กระฉอกยั่ว .. ดอกแดดที่แวดล้อม





๑๖๙. แวะมาร่วมปราศรัย .. เพื่อไต่ถาม-
ถึงรูปนามล่วงลับ .. ไว้ขับกล่อม-
จิตวิญญาณดื่มด่ำที่จำยอม-
อยู่ให้อ้อมโอบงาม .. ผูกล่ามไว้ !

๑๗๐. แดดสายทอระยับ .. น้ำวับวาม-
ล้อเรื่องราว .. ถ้อยความ .. การถามไถ่
ความเอ็นดูจับจูงผู้สูงวัย-
ค่อยเล่าไขแจงเรื่อง .. แต่เบื้องบรรพ์

๑๗๑. จนแว่วเสียงเรียกป้า .. เข้ามาใกล้
เมื่ออีกหนึ่งอกใจ .. จมในฝัน
แว่วเหมือนคนสองวัย .. รับไหว้กัน
ต่อจากนั้น .. รูปลออ ก็ล้อตา !

๑๗๒. เสื้อขาว .. กระโปรงดำ .. ตาดำขลับ-
คล้าย .. วามรับ-พิสวงที่ตรงหน้า
ก่อน-มือเรียวรูปนั้น .. ยกวันทา-
ปริศนาในทรวงก็ช่วงโชน !

๑๗๓. ชั่วเพียง-งามเพียบพร้อม .. เข้าล้อมกัก
ความไว้ตัวถือศักดิ์ .. ก็หักโค่น
พร้อม-ตาลอบเหลือบชม้าย .. ก็ถ่ายโอน-
ความอ่อนโยนตอบแล้ว .. ถ้วนแววตา

๑๗๔. ดวงตาเอย .. พริ้มพรับให้นับเนื่อง-
แทน-งดงามเรื่อเรื้อง .. ให้เบื้องหน้า-
สืบต่อภาพรูปพรรณในสัญญา
ที่ค้ำคาคงอยู่แต่ผู้เดียว !

๑๗๕. เกิดแต่เมื่อ .. พิศเพ่งผ่านเพรงยาม
สบรูปนามผุดผ่อง .. ให้มองเหลียว
สายใย-ราวสอดเส้น .. ม้วนเป็นเกลียว-
โอบรั้ง .. เหนี่ยว-ล่ามสิ้น .. จิตวิญญาณ

๑๗๖. เป็นญาติผู้น้องเพื่อน .. ที่เหมือนว่า-
ทั้งแววตาทั้งรูป .. คอยวูบผ่าน-
ให้รับรู้ .. รับรอง .. การพ้องพาน
ของรูปคราญ-แววตา .. อีกคราครั้ง

๑๗๗. ขณะแรงเสน่หา .. แทรกอารมณ์
คือชั่วยามริ้วลม .. ค่อยถมถั่ง-
โลมน้ำ .. โตนเป็นคลื่น .. จนตื่น-ดัง
พร้อม-แก้มปลั่งเผยยั่ว .. ตา-หัวใจ !

๑๗๘. แต่เมื่อเดินผ่านมาให้ตาเห็น
ก็บีบเค้นอารมณ์เกินข่มไหว
โลกตรงหน้าพลิกผันขึ้นทันใด
เมื่อรูปคราญสดใส..ล้อมนัยน์ตา

๑๗๙. หรือหัตถ์พรหมลอบเร้น..บีบเส้นทาง
ให้ยกย่างเหยียดก้าวมุ่งเข้าหา
แล้วรอการสัมผัส..รูป-ทัศนา
ก่อคุณค่าจับวางลงกลางใจ

๑๘๐. แต่บัดนั้น..รุ้งเรื้องที่เบื้องหน้า-
ก็เหมือนว่าทอดโค้งยึดโยงให้-
แววขัดเขินอ่อนหวานที่ด้านใน-
อกทรวงใคร..ล้อผกายกับสายตา







๑๘๑. ยิ้มรับความสดใสแห่งวัยเยาว์
เช่นยามเช้าสุมาลย์ช้อยช่อคอยท่า-
ภุมรินผึ้งภู่..ย่อมรู้มา-
ตฤปรสผาณิตหอม..อย่างยอมตน

๑๘๒. ยิ้มรับความอ่อนไหว..ของใครนั้น
กับแวววามไหวสั่นนับพันหน
เอ็นดูความขัดเขินหยอกเอินคน-
ผู้เอ่อล้นหวานแล้ว .. ถ้วนแววตา !

๑๘๓. เหมือนว่างามลามรุกไปทุกบท
ชี้..กำหนด..รูปรอยให้คอยหา
และเหมือนงามลามรุกไปทุกครา-
กับท่วงท่าเหลือบค้อน .. แววซ่อนยิ้ม

๑๘๔. หวังเช่นหวังกุสุมาลย์ .. โน้มก้านค้อม-
ให้ภู่ล้อมเสพอยู่ .. ไม่รู้อิ่ม
ดูเถิดรูปรมยา .. เปลือกตาพริ้ม-
ดั่งรอพิมพ์พักตร์ละม่อม .. รายล้อมใจ

๑๘๕. เหมือนว่าเนตรเหลือบค้อน, อย่างซ่อนเร้น-
คอยตอบเต้นเวียนวก .. ทำอกไหว-
จนอบอุ่นวาบหวาม .. กับความนัย-
ที่เผยให้ผ่านต้องด้วยสองตา

๑๘๖. รู้ .. รับทราบรูปภพ .. บรรจบผ่าน-
ความอบอุ่นอ่อนหวานที่ปานว่า-
กี่รอบกาลหวานซึ้งเคยตรึงตรา
เหมือนสิ้นไร้คุณค่า .. ชั่วนาที

๑๘๗. สบชม้อยชม้ายเมียง .. หรือเพียงว่า-
หมายหยอกยั่วเสน่หา .. ทำหน้าที่
จึง-เงื่อนงำแววตา .. เหมือนว่ามี-
แววไมตรีสื่อตอบ .. รับมอบกัน

๑๘๘. จะแปลความเยี่ยงไรก็ไม่พ้น-
ไปจากแววหวานล้น .. วก-วนนั่น
แก้มอิ่มเนียนเพ่งผ่านก็ปานทัณฑ์-
รอบีบคั้นบีบเค้น .. ไม่เว้นยาม

๑๘๙. ชั่วเพียงเผลอพิศมองครรลองรูป
จึงเหมือนต้องจบจูบ .. จนวูบหวาม-
จากอาวรณ์อาลัยที่ไหลลาม-
เกินหักห้ามรอบชู้ .. ให้รู้รอ

๑๙๐. หรือนี่เป็นปรารมภ์ .. ท้าวพรหมท่าน
ดลรูปการณ์ .. รับรอง .. คำร้องขอ ?
จึงฝากงามรุมเร้าพะเน้าพะนอ-
ยั่ว-หยอกล้อ .. อกใจ .. คอยไขว่คว้า





๑๙๑. หรือนี่เป็นรสประณีต .. ท่านกรีดผ่าน-
ด้วยคมมีดอ่อนหวานที่หวานกว่า-
ถ้วนรสซึ้งรอยหวาน .. เคยผ่านมา
เติมคุณค่าหอมหวานแผ้วผ่านใจ

๑๙๒. หรือ-อบอุ่นอ่อนหวานที่ด้านหน้า
คือบัญชาท้าวพรหม .. ช่วยข่มให้-
ความว้าเหว่ในทรวง .. เลือนล่วงไป
ด้วยแววตาวูบไหว .. ของใครนั้น ?

๑๙๓. ราวทิพโลกชะลอลงที่ตรงหน้า
เมื่อแววหวานในตา .. คล้าย-พร่า .. สั่น
เผลอเผยความหวานหอม .. ออกล้อมกัน-
ถ้วนรอบฉันทารส .. รินรดใจ

๑๙๔. โอ งามหรือจะตามมาล่ามทัณฑ์-
ผูกรัดความมุ่งมั่น .. แนบฝันใฝ่
โอ นั่นเหมือนรูปลักษณ์ .. วงพักตร์ใคร-
แทรกรูปไว้ให้คะนึงทุกกึ่งยาม

๑๙๕. ท่ามกลางเสียงหลากหลายที่รายรอบ
แว่ว-เหมือนหัวใจตอบ .. เสียงสอบถาม-
จากอีกใจเร้ารุก .. เข้าคุกคาม
ว่า-สุดแรงพยายาม .. ข่มห้ามแล้ว

๑๙๖. โอบรับนัยแห่งชู้ .. รับรู้ผ่าน-
ความอ่อนหวานซึ้งห่ม .. สายลมแผ่ว-
แต่เมื่อเลศนัยคราญ .. เผลอผ่านแวว-
ความผ่องแผ้วโชนผกาย .. ตอบสายตา

๑๙๗. งดงามรูป .. สัมพันธ์ในวันผ่าน
กับหนึ่งความทรมาน .. คอยผลาญพร่า
ใครกันหนอ .. นับยามถูกล่ามคา-
ด้วยโซ่ตรวนเสน่หา .. แต่ครานั้น ?

๑๙๘. กระโปรงดำ .. เสื้อขาว .. เนตรวาววับ-
ที่ทุกพรับพริ้มรูป .. แล้ววูบสั่น-
ที่หัวใจชายผู้ .. สุดรู้กัน
ก็ค่อยผันรูปลับ .. ไปกับตา

๑๙๙. ชั่วรับรอง .. อัญชลิต .. โสภิตผู้-
แก้มเนียนก่ำเรื่ออยู่ .. ก็รู้ว่า-
รื่นจากลมลูบไล้ .. หรือนัยน์ตา-
ที่ยามลา .. ตอบเต้น .. บีบเค้นใจ

๒๐๐. แม่ของเพื่อน-มองหน้า .. ปากตานั้น-
เหมือนรับรู้ .. เท่าทัน .. ความสั่นไหว-
ของอารมณ์เร้นซ่อนดั่งฟอนไฟ-
สุมทรวงให้ครวญคร่ำ .. แต่คำนึง
.
.
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
.
.
๒๐๑. ใต้ร่มไม้ .. สถาบันการศึกษา
มีแววตาเหม่อลอย .. ละห้อยถึง-
การพบพาน .. สบตา จนตราตรึง-
พร้อมอ่อนหวานซ่านซึ้ง .. ติดตรึงใจ







๒๐๒. ดังช่อมาลย์ช้อยกลีบขึ้นบีบกลิ่น-
หอมรวยรินให้รู้ .. ว่าอยู่ไหน
ท่ามกลางช่อขาบเขียวแห่งเรียวใบ
เหมือนซ่อนงามสดใส .. อยู่ในวัน

๒๐๓. หากมิใช่กลีบกุสุม .. เร้ารุมกลิ่น
เพียงเจตจินต์สืบสร้างเป็นร่างฝัน
ในคาบยามชาติภพบรรจบกัน
ก็โอบขวัญดื่มด่ำ .. ในคำนึง

๒๐๔. แผ่วลมพลิ้วผ่านระลอก .. ยั่วหยอกไม้
เมื่อห้วงจิตดวงใจ .. เฝ้าใฝ่ถึง-
แววอบอุ่นในตา ยังตราตรึง
เหมือนแทรกซึ้งหวานสู่ .. ให้ผู้เดียว

๒๐๕. วาบหวามแล้วไหววูบ .. จิตรูปเยาว์
แต่ยามเช้า .. พบพ้อง .. แล้วข้องเกี่ยว
ใช่สุมาลย์กิ่งทอด .. ช้อยยอดเรียว
แต่เป็นเสี้ยวใจขวัญ .. คล้าย-มั่นคอย

๒๐๖. วาดหวังนั้นจำเริญ .. จนเขินอาย
หวัง-ใจชายคิดคืบ .. เข้าสืบสอย
เพื่อดอกมาลย์จะอวลกลิ่นไม่สิ้นรอย
หอมจะลอยล่องลมเข้าบ่มทรวง

๒๐๗. ปากแก้มเหมือนซ่อนยิ้ม .. เนตรพริ้มพรับ-
ย้อนภาพการจ้องจับ .. ให้กลับช่วง
แล้วทั้งหวานทั้งหอม .. กว่าหอมปวง-
ก็ลามล่วงยั่วเย้า .. ให้เฝ้ารอ

๒๐๘. ใต้ร่มพฤกษา .. มหาวิทยาลัย
มีหัวใจทาบทวง .. บำบวงขอ-
พรเทวัญชั้นฟ้าให้มาออ-
แอบความหมายฉายทอ .. โลมล้อใคร

๒๐๙. จะรู้กันบ้างไหม .. นะใจนั้น
ว่า-สร้างความผูกพัน .. ความหวั่นไหว-
เข้าแนบน้อมโลมทั่วทั้งหัวใจ
เมื่อแววตาช่วงนัย .. ว่า-ใยดี ?
.
.
.. คอนโดมิเนียมกลางกรุง ..
.
.
๒๑๐. ปฏิพัทธ์แห่งชายเมื่อบ่ายโบก
ผ่านลมโลกแล่นระลอกยั่วหยอกศรี
จะเปรียบหวานละลานค่าด้วยมาลี
เหมือนหลู่ค่าราศีให้มีรอย

๒๑๑. ด้วยว่าหอมหวานมวลแห่งมาลี
จะต้องเกณฑ์ราคี .. บัดพลีถ้อย
ถ้วนคันธารสพะยอม .. แม้-น้อมคอย
ฤๅเปรียบหอมละม่อมน้อย .. รูปรอยเดียว ?

๒๑๒. รอเถิด .. รูปแพงน้อย .. รอคอยรับ-
การปรุงศัพท์ปรับพากย์ .. อันกรากเชี่ยว-
ด้วยอาวรณ์รำบาย .. เพื่อคลายเกลียว-
รัดทุกเสี้ยวใจขวัญ .. หมาย-พันธนา !

๒๑๓. รอเถิด.. รูปแพงเจ้า .. จงเฝ้าคอย
เพื่อแววตาปริบปรอย .. ละห้อยหา-
ได้ผ่านเผยภาพประทับ .. ไว้กับตา
ร่วมรับรู้ปรารถนา .. ในอารมณ์

๒๑๔. รอเถิดรูปแพงเจ้า .. จง-เจ้ารู้
เมื่อแรงชู้หลอมหลั่งเข้าสั่งสม
ก็ด้วยการ-ชี้ชัดจากหัตถ์พรหม-
ผูกเป็นปมเงื่อนตาย .. สุดคลายคลอน !

๒๑๕. เหมือน-หยุดยืนเคว้งคว้างในทางน้อย
ท่ามกลางหมอกล่องลอยดั่งคอยอ้อน
ทางทอดรอ .. มุ่งหมาย .. สู่ปลายจร
รอก้าวย่างแรมรอน .. อย่างท้าทาย

๒๑๖. ไร้ดื่นดาวแสงระยิบจากลิบโพ้น
เพียงแสงวันอ่อนโยนเริ่มโชนฉาย
ลมเช้าโชยพรมพรำ .. ช่วยรำบาย-
ความมืดหม่นให้สลายคลี่คลายตัว

๒๑๗. หล่นร่วงรูปใบบางในทางเที่ยว
ความเปล่าเปลี่ยวเย็นเยือกก็เกลือกกลั้ว
ลมโชยผ่านใบนั้น .. ย่อมสั่นรัว-
จนหลุดขั้วร่วงคว้างลงกลางแดน

๒๑๘. ลมแผ่วผ่านโลมลูบ .. ใบวูบหล่น
ให้แดดบนฟ้าห้อมดุจอ้อมแขน
เพื่อหน่ออ่อนเขียวสด .. งอกทดแทน-
ความขาดแคลนชุ่มชื้น .. บนพื้นดิน

๒๑๙. เจ้า-ดั่งลมหนาวร่ำพรมพรำโลก
มาลบโศกถ้วนสรรพให้ดับสิ้น
เพื่อเห่กล่อมปถวี .. ปวงชีวิน-
และยอดตฤณที่ใต้ร่มใบบัง

๒๒๐. เห่เสียงกล่อมเหนื่อยล้าให้ลาลับ
แลร่วมขับขานถ้อยให้คอยหวัง
วาดวีบทวังเวงเป็นเพลงดัง
ต่อกำลังก้าวย่างสู่ทางจร

๒๒๑. โบกบ่ายความสดชื่นความรื่นรมย์
ผ่านสายลมพลอดพร่ำ .. แทนคำอ้อน
เผย"ความนัย"อ่อนเจ้า .. ช่างเว้าวอน-
ทั้งแสนอ่อนโยนเหลือทุกเนื้อความ

๒๒๒. วัลย์เลื้อยเถารัดล้อมราวอ้อมกอด-
สองแขนสอดรัดทรวง .. ว่าหวงห้าม
ลมแผ่วพลิ้วโลมลูบ, หวัง-รูปงาม-
จักวาบหวามในอก .. สะทกสะท้อน

๒๒๓. ลมแรกเช้าเฉื่อยโชย .. ค่อยโรยล้อม-
ดอกแก้วบานพรั่งพร้อมกลิ่นหอมอ่อน
ใบไม้ร่วงพลิ้ววางในต่างตอน
เมื่อทางจรทอดยาว .. รอก้าวไป

๒๒๔. โอ..นั่นรูปเรียวก้อยเจ้าคอยยื่น-
มาร่วมขืนขัดร้อยเกี่ยวก้อยให้-
ความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง .. ต้องร้างไกล
เหลือสดใสทอดช่วง .. ที่ดวงตา

๒๒๕. ยิ้มรับสายลมอ่อน, ความอ่อนโยน-
ก็ถ่ายโอนรุมล้อมอยู่พร้อมหน้า
เจ้าเอยที่ตรึงมั่นในสัญญา
รู้เถิดว่าเกินถอน .. แล้วอ่อนน้อย

๒๒๖. ลมผ่านวูบ .. ใบบางก็คว้างหล่น
ทิ้งรูปกล่นเกลื่อนแล้วอย่างแผ่วค่อย
เห็นเพียงความกรอบเกรียม ..นั้นเปี่ยมรอย
ที่จักคล้อยเคลื่อนลับ .. ไปกับกาล

๒๒๗. เห็นรูปเรียวเสียดยอดขึ้นพลอดแสง
แทรกทิ่มแทงโลกธาตุอย่างอาจหาญ
ใจที่คอยพิศเพ่งก็เบ่งบาน-
บนรูปคราญอ่อนน้อย .. ทุกรอยใจ

๒๒๘. ริ้วแห่งลมโลมภู่ให้รู้หอม
จนรายล้อมรู้หวานทุกหวานได้
แววอ่อนหวานวาบสู่ .. ถึงผู้ใด
จึงสั่นไหวทุกหอมเคยหอมล้ำ

๒๒๙. ก้อยเรียวพร้อมแววประหวั่นเจ้า
ย่อมรุมเร้าใจเต้นไม่เป็นส่ำ
ร่วมเกี่ยวร้อยก้อยเรียวร่วมเหนี่ยวกรรม
ให้โลกร่ำลือนาม .. เช่นยามเพรง

๒๓๐. ที่เคยหยุดเคว้งคว้างในทางน้อย
กลับมีก้อยเกี่ยวฉุดให้รุดเร่ง
เคยอ่อนล้าสิ้นหวัง .. กลางวังเวง
กลับมีเพ่งพิศอยู่ .. คอยคู่เคียง

๒๓๑. แดดเช้า .. ลมชื่น .. ใจตื่นช่วง
แว่วยินท่วงทำนองพร่ำพร้องเสียง
จากแมกไม้พุ่มกอ หรือพอเพียง-
แทนสำเนียงอาวรณ์ถึงอ่อนน้อย

๒๓๒. ลมผ่านสายใบบางยังคว้างร่วง
ผ่านทุกช่วงยามโลกอย่างโศกสร้อย
ก้อยยังเกี่ยวก้อยย่ำ .. ซ้ำซ้ำรอย
ใดจะลอยหลุดร่วงไม่ห่วงเลย

๒๓๓. ลมเห่กล่อม, ดอกแดดทอแวดล้อม
คืออุ่นอ้อมแขน-อ้อนเถิด .. อ่อนเอ๋ย
โลมดอกแดดอบอุ่นให้คุ้นเคย-
ก่อนชิดเชยอกอุ่น .. ที่หมุนรอ !
.
.
.. บ้านริมน้ำ ปลายถนนสาทร ..
.
.
๒๓๔. แวะเวียนมาหาเพื่อน .. หวัง-เหมือนว่า-
บางรูปหน้าจะปรากฎ .. จน-จดจ่อ
บริบทงามเงียบ .. ก็เงียบพอ-
ให้รูปเงาเคล้าคลอ .. ล้อม-ทรมาน !





๒๓๕. นั่งคุยอยู่กับเพื่อนที่ท่าน้ำ
หาก-ความ, คำ .. ล้วนปล่อยให้ลอยผ่าน
ภาพในความคิดนั้น .. ภาพวันวาน-
ที่โลกหมุนหอมหวานเวียนผ่านมา

๒๓๖. แต่เมื่อภาพวันวาน .. ค่อยผ่านสู่
สบ, เอ็นดู-รูปละม่อม .. ก็พร้อมหน้า
มือเรียวรูปคู่นั้น .. กบ-วันทา
ละห้อยหา .. ละห้อยเห็น .. ฤๅ-เว้นวาย ?

๒๓๗. ยิ้มรับความสดใสแห่งวัยเยาว์
ที่รุมเร้าใจอยู่ไม่รู้หาย
ขณะรื่นล้อมห่มอารมณ์ชาย
กับแววฉายผ่านตา .. เพ-ลานั้น

๒๓๘. เป็นเช้า ที่เคลื่อนผ่านแสนนานช้า
ด้วยแววตาบ่ายโบกโลมโลกฝัน
เม็ดน้ำค้างหยาดเงา .. บนเถาวัลย์
ฤๅ-เท่าขวัญหยาดช่วง-บนดวงใจ ?

๒๓๙. วูบ-วาบระทึกดวง .. เมื่อดวงตา-
สบเลศกาละนั้น .. ก็พลันไหว-
สั่นแกว่งตัว .. ปัดป่ายอยู่ภายใน
รุมร้อนหนอกระไร-หัวใจคน

๒๔๐. ไร้ดาว .. ดาดดื่นบนผืนฟ้า
ดาวตรงหน้ากลับช่วง .. ราวห้วงหน-
รู้เหนี่ยวรั้งปลั่งเรื้องจากเบื้องบน
ลงปลาบปนปริศนากอปรท่าที

๒๔๑. แทนหมอก-ยามอรุณ, แดดอุ่นร้อน
ดูเถิด-ช้อนตาสบไม่หลบหนี
ชะม้ายลอบเหลือบบ้างเป็นบางที
วันเคลื่อน, ฟ้าเปลี่ยนสี-นาทีนั้น

๒๔๒. เช้านั้น-หมายอาจเอื้อม .. หยิบเหลื่อมรุ้ง-
จากขอบคุ้งโค้งฟ้า .. เพื่อ-พาฝัน-
ล่องลอยกับระลอกของหมอกควัน
และพุ่มพรรณโกสุม .. ปีกภุมริน

๒๔๓. แววตาอ่อนโยน .. ก็โชนแสง
สบ-ทิ่มแทงใจอยู่ไม่รู้สิ้น
หมอกขาว, มาลย์, ลมโชย, ภู่โบยบิน
คน-เดือดดิ้นอกใจ .. กับไขว่คว้า

๒๔๔. แววอ่อนโยนแฝงตอน .. รอยซ่อนยิ้ม
เปลือกตาพริ้มหลบล้อม .. ละม่อมหน้า
ล่มแสงวันลับเลย .. เมื่อเงยมา
แวววับวาวในตา .. ก็ตราตรึง

๒๔๕. จวบแว่วเสียงฝีเท้า .. ย่างเข้ามา
หอมกลิ่นร่ำลมพา .. ผ่านมาถึง
ก็รู้ว่า .. รูปธรรมในคำนึง-
แทรกหวานซึ้งดักล้อมอยู่พร้อมแล้ว

๒๔๖. รูปการณ์ก็จับจูงผู้สูงวัย-
มาทันได้ยินเสียง .. ตอบเพียงแผ่ว
ทันเห็น-ตาหญิงชาย .. นั้นฉายแวว-
ความผ่องแผ้วส่งรับอยู่วับวาม

๒๔๗. เอ่ยชวนไปทำบุญ, เกื้อหนุนธรรม
จน-ตกลงรับคำ .. ที่ย้ำถาม
ขณะโลกเปลี่ยวเปล่า .. เริ่มเฉาตาม-
หัวใจที่วาบหวาม .. ที่ตามล้อ

๒๔๘. ดูเอาเถิด .. สาวน้อยตาคอยหลบ
เมื่อชาติภพเบิกบท .. ให้จดจ่อ
ขัดขืนฤๅ-นามธรรมที่ร่ำรอ-
คอยแอบออยั่วเย้า .. ค่ำเช้าเย็น ?

๒๔๙. รื่นรมย์เหลือกระไรจะได้เที่ยว
และเมื่อเหลียวเหลือบมอง .. ก็มองเห็น-
แววตาจ้องพักตร์ละม่อม .. เพียบพร้อมเอ็น-
ดู .. คล้ายเต้นคุกคามอย่างย่ามใจ

๒๕๐. ดูเอาเถิด .. สาวน้อยตาคอยหลบ
หากทุกเมินเมียงสบ .. ฤๅ-หลบไหว ?
เมื่อทุกเมินเมียงสบ .. ชาติภพใคร-
ตั้งภาวะอาลัย .. เอาไว้รอ

๒๕๑. แก้มเนียนเนื้อเปล่งปลั่งอยู่ยังหน้า
และแววตาเหลือบชม้อย .. ดั่งคอยล่อ-
อารมณ์ชาย .. รุมเร้าพะเน้าพะนอ-
เพื่อจดจ่อ .. แต่งามทุกยามไป

๒๕๒. เอ็นดูหลานวัยเยาว์ .. ป้าเฝ้าพิศ
เห็น-แก้มเรื่อ .. ความคิด-ฤๅปิดได้
อีกแววตานั้นเล่า – ยิ่งเข้าใจ-
ช่างเผยความสดใส .. โดยไม่บัง !

๒๕๓. หากดวงตาอีกคู่ .. ยากดูออก
เหมือนบ่งบอกบางเรื่อง .. อยู่เบื้องหลัง
ที่ดูคล้ายเหม่อลอย .. เหมือนคอยฟัง-
เสียงแว่วดัง .. ร่ำล้อให้ทรมาน
.
.
.. แต่เพรงกาล ..
.
.
๒๕๔. แว่วยินไหม .. รำพันดวงขวัญเอ๋ย
ฝากให้ .. ลมรำเพยรำพึงผ่าน
ว่า .. ค่ำนี้แสงดาวคงร้าวราน
จาก .. ความหวานโชนช่วงในดวงตา







๒๕๕. จันทร์เอย .. เลื่อนขึ้นฟ้า .. ช้าช้าก่อน
ให้ความวอนเว้าปวง, แรงห่วงหา-
ได้ทอดเสียงกระซิบความ .. ส่งข้ามมา-
กล่อมหัวใจปรารถนา .. ผ่านราตรี

๒๕๖. ชะลอการเลื่อนดวงขึ้นสรวงฟ้า
เพื่อรอแสงในตารูปราศี-
ทอดทอแววสวาทสู่ .. ให้รู้ที-
รู้ท่า .. ความใยดี - ผู้มีใจ

๒๕๗. เห็นไหม .. แสงอ่อนโยนแต่โพ้นภพ
ทอดฝ่าพลบ .. ฝ่าฝัน .. ถึงกันได้
ฝัน .. ที่รอคาบช่วงแห่งดวงไฟ-
เชื่อมอาลัยผูกพัน .. ลงสัญญา

๒๕๘. หนึ่งหัวใจทะยานสู่ความรู้สึก
ดำดิ่งลึกลอดบ่วงความห่วงหา
เชื่อมอาวรณ์ช่วงฉายผ่านสายตา
ล่มทุกแสงจันทราจนล้าเลือน

๒๕๙. จันทร์เอย .. จันทร์เจ้า .. ช่วยเว้าวอน-
ความออดอ้อนรำบายลงป่ายเปื้อน-
ดวงใจผู้ห่วงละห้อย .. เพื่อคอยเตือน-
ให้ .. ถวิลทุกเขยื้อนขยับใจ

๒๖๐. ดู .. ธารดาวทอ-ดวงบนสรวงสวรรค์
แทนดวงตาทอฝัน .. ที่สั่นไหว-
ด้วยรูปรอยเจ้านั้น .. เช่นจันทร์ไกล-
แต้มรูปต่ายลงไว้ .. ที่ในดวง

๒๖๑. ช่างเนิ่นนานหนักหนา .. แต่ครานั้น
ก่อนรูปฉันทาชาติจะขาดช่วง
นับภาพซึ่งสุมใส่อยู่ในทรวง
ล้วน – รูปพวงดวงพักตร์จำหลักพร้อม

๒๖๒. ค่อยเบือนเหลียวสบลักษณ์ .. รูปพักตร์ล้ำ
มือกุมกำเรียวก้อย .. เอ่ยถ้อยกล่อม
หยาดน้ำตาร่วงตก .. ห้วงอกตรอม-
ก็แวดล้อมกาลลาด้วยอาลัย

๒๖๓. ฝ่าลานทุ่งรุ้งทองลอยล่องถึง
ธารดาวซึ่งทอส่องความผ่องใส
รอบวงกัปหมุนกาล .. ตราบนานไกล-
จนบรรจบรูปใจ .. เช่นในจันทร์

๒๖๔. ยังเป็นจันทร์ดวงเดิมที่เริ่มฉาย-
แสงลงป่ายเปื้อนโลก .. เมื่อโศกศัลย์, -
เสียงคร่ำครวญ-ล่มลาญแต่นานวัน
หลังรูปขวัญเผยกายต่อสายตา

๒๖๕. ยิ่งต่ายแต้มในจันทร์ .. เจ้าขวัญน้อย
เมื่อผ่านเผยรูปรอยมาคอยท่า
ก็สอดรับรูปฝันในสัญญา
เสน่หาในอก .. ฤๅยกพ้น ?

๒๖๖. ลมเยียบเย็นโรยฝ่าขอบฟ้ากว้าง
ในท่ามกลาง ดาวช่วงที่ร่วงหล่น
แรงอาวรณ์เวียนวก .. ในอกคน-
ก็เวียนจนอ่อนแรง .. แล้วแพงน้อย !

๒๖๗. ป่านฉะนี้ร่างนั้นในบรรจถรณ์
จะรุ่มร้อนเย็นเยียบหรือเงียบหงอย
หรือมองดาวไกลลิบตาปริบปรอย
หรือละห้อยห่วงหา .. ทั้งราตรี ?

๒๖๘. จน-นกค่ำส่งเสียงจำเรียงร้อง
แสงจันทร์ส่องฉาบฟ้า .. อวดราศี
ก็รับรู้อาลัยความใยดี-
ผ่านลมวีวาดสายรำบายความ

๒๖๙. แสงพรายประกายพรึกอันลึกลับ
ก็ค่อยพรับพรายดวง .. คล้ายหวงห้าม-
แรงอาวรณ์อาลัยพึงไหลลาม-
ล้อมรูปทรามสวาดิชู้แต่ผู้เดียว

๒๗๐. มวลเมฆดำมืดมนเคยหม่นเศร้า
และเวิ้งฟ้าเงียบเหงาเคยเปล่าเปลี่ยว
กลับเลื่อนรูปจนเห็น .. คล้ายเส้นเกลียว-
ของสายใยพันเหนี่ยว .. รูปเรียวนั้น

๒๗๑. แล้วค่ำก็ถูกกลืนด้วยคลื่นดาว
จนห้วงหาวไกลลิบกระพริบสั่น
แล้วลมก็ร้องร่ำเสียงรำพัน-
เพื่อโอบขวัญอบร่ำ .. ด้วยคำชาย

๒๗๒. เบื้องไกลพู้นเวิ้งว้าง .. ที่กลางหาว
กลาดเกลื่อนดาวลอยดวงขึ้นช่วงฉาย
หลากสีสันท่ามกลางแสงพร่างพราย
ก็เพียงหมายแสงช่วง .. ของดวงเดียว !



จบ .. ภาค ๑



Create Date : 16 เมษายน 2555
Last Update : 2 ตุลาคม 2564 7:39:42 น. 37 comments
Counter : 2590 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ...

"โลมแดดอุ่นแอบลมไว้ข่มรื่น"

แดดลำปางไม่อุ่นค่ะ ร้อนมากมาย ไม่ต่ำกว่า 40 องศา มา 3- 4 วันแล้วค่ะ

ไพเราะทั้งบทกลอนและเพลงเลยนะคะ และ ข้าพเจ้าได้ขโมยโหลดเพลงไปเรียบร้อยแล้วเจ้า... รออ่านนะคะ :'))

รักษาสุขภาพนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ


โดย: witch IP: 118.172.98.211 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:16:16:48 น.  

 

ดายุ..

"O หลังกรุ่นหอมกลิ่นข้าว .. ตรู่เช้านั่น
มีดวงขวัญตื่นตอบ .. การลอบเหลียว
พร้อมดวงใจปลิดปลิวด้วยนิ้วเรียว-
ที่-ใครเหนี่ยวโน้มวางลงกลางมือ !"

ทราบไหมคะว่า เวลาอ่าน.."หลังกรุ่นหอมกลิ่นข้าว.. ตรู่เช้านั่น"
ซึ่ง ดายุ จะเขียนประจำนี่..ทำให้นึกถึงกลิ่นข้าวหอมมะลิใหม่ที่ยังมี"ยางข้าว"..พร้อมกับปลาสลิดเค็มทอมกรอบ..ทุกครั้ง
ที่ชอบนี่ เพราะ คนทางใต้จะมีแต่ปลาทะเลสด จนชิน ..จึงต่างไป
สงสัยจะชอบ ความต่างที่เราไม่มีนี่เอง...แล้วยิ่งมาอยู่ยุโรปนี่ ปลาเค็มยิ่งหายาก และถึงมี ก็มิกล้าทอด เกรงเพื่อนบ้านจะไปแจ้งความว่าทำอากาศเป็นพิษ..555

O หอมกลิ่นร่ำ .. O จริงจริง นะ 555



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.155.154 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:16:47:34 น.  

 

แก้คำผิด

"ปลาสลิดเค็มทอมกรอบ" เป็น ปลาสลิดเค็ม..ทอด..กรอบ


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.155.154 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:16:50:29 น.  

 
แม่มดน้อย ..

ความร้อนนี่รู้สึกว่าจะครอบคลุมไปทั้งประเทศ
เพราะที่กรุงเทพก็ร่วมๆ 40 องศาเช่นเดียวกัน

เพลงที่ได้ยินอยู่นี้คือ "ลาวคำหอม - Best Version" เป็น
เวอร์ชั่นที่ไพเราะที่สุด .. โหลดเพลงนี้ไปแสดงว่า ..หูถึง 55

เรื่องยาว คงไม่รีบร้อนเขียน อาจจะได้วันละ 3-4 บท
จึงต้องมาอ่านอยู่เรื่อยๆนะขอรับ...ฮิๆ






มินตรา...
ข้าวชั้นดีของไทยเวลาหุงจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกมะลิ ..
จึงตั้งชื่อว่า หอมมะลิ .. และจะหอมมากเมื่อเป็น"ข้าวใหม่"
คือเป็นข้าวของฤดูเก็บเกี่ยวล่าสุด

ส่วนกับข้าวก็ตามแต่ชอบ .. บางคนอาจจะชอบ .. ผัดเผ็ดปลาดุก
ที่ได้กลิ่นหอมของเครื่องแกงพร้อมใบมะกรูด พริกหั่น ข่า ใบกระเพรา .. แล้วมีน้ำพริกรสเผ็ดจัดกับแตงกวาปลอกเปลือกหั่นเฉียงชิ้นโตแช่เย็นเจี๊ยบ มาวางรอ ... แล้วปลาสลิดทอดกรอบ แบบที่ว่าจึงจะมาช่วยตัดเผ็ด ... แล้ว สวรรค์ในปากก็สามารถสัมผัสได้ บัดเดี๋ยวนั้น ... 55




โดย: สดายุ... วันที่: 18 เมษายน 2555 เวลา:6:29:51 น.  

 
น้ำลายสอ..อุ๊บ
กลอนเพราะมากค่ะ


โดย: สายน้ำร้องเพลง IP: 172.16.1.48, 122.154.16.54 วันที่: 18 เมษายน 2555 เวลา:21:02:44 น.  

 


ดายุ คะ

.. พศ.๒๔๒๗ .... พศ.๒๕๓๗ ..
หมายความว่าอย่างไรนะ ทำไมจึงเจาะจงว่าเป็นปีนี้
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือ กับผู้เขียนเอง


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.163.252 วันที่: 19 เมษายน 2555 เวลา:12:11:02 น.  

 
สายน้ำร้องเพลง..
ท่าทางจะชอบ"รับประทาน"นะนี่ 55





มินตรา...
พศ. บอกช่วงเวลาของชีวิตหนึ่งๆ
รวมทั้งบอกถึงบริบทแวดล้อมที่ควรเป็นให้ผู้อ่าน
ได้เข้าใจเนื้อความได้อย่างสอดคล้องต้องกัน

คนที่สนใจประวัติศาสตร์จะรับรู้ช่วงเวลาสำคัญๆเช่น
พศ.2112 เสียกรุงศรีครั้งแรก
พศ.2310 เสียกรุงศรีครั้งที่สอง
พศ.2325 สถาปนากรุงเทพ
พศ.2411 รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ (มีผู้สำเร็จราชการ)
พศ.2423 พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์(พระนางเรือล่ม)สิ้นพระชนม์
พศ.2453 รัชกาลที่ 5 สวรรคต
พศ.2475 คณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
พศ.2490 รัฐประหารของกลุ่ม เสนา-อำมาตย์ ที่รุกคืบกลืนกินจนกลุ่มหัวก้าวหน้าต้องจบสิ้นบทบาทที่สืบทอดมาแต่ 2475
.
.
เป็นต้น

ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนแต่อย่างใด
เป็นการเอาชีวิตในอดีตกลับมาโลดแล่นใหม่อีกครั้ง ขอรับ




โดย: สดายุ... วันที่: 19 เมษายน 2555 เวลา:13:08:05 น.  

 

สดายุ..


"O เพื่อต่อต้านบทบาทอำนาจใหญ่
จึงต้องมีหัวใจยิ่งใหญ่กว่า
ถ้วนอุบาย ทุกวิธี .. เขามีมา
ก็รู้ว่าล้วนอุบายที่หมายครอง"

" เพื่อต่อต้านบทบาทอำนาจใหญ่
จึงต้องมีหัวใจยิ่งใหญ่กว่า"...
ตรงนี้ อ่านแล้ว..คึกคักเชียว..
ดูท่าจะเป็นเพราะ ผัดเผ็ดปลาดุก หรือ น้ำพริก จะรสจัดไปหน่อย กระมังคะ..555 ดุเหลือเกิน...ใจคอจะล้างกันจนสิ้นชาติเชียวรึ..


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.133.104 วันที่: 21 เมษายน 2555 เวลา:0:16:47 น.  

 
มินตรา...

บทนี้เขียนเปรียบเทียบ พม่า-ไทย ยุคล่าอาณานิคม
ว่า เพิ่งเผากรุงศรีฯ จนย่อยยับไปไม่นาน แล้วไปทำท่าไหน
เข้าหนอ ถึงถูกอังกฤษยึดเป็นขี้ข้าร่วมร้อยปี

เพราะราชวงศ์สุดท้ายของพม่าก็คือ ราชวงศ์คองบอง หรือ ราชวงศ์อลองพญา ที่มาชนะศึกราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอยุธยานั่นเอง

อำนาจใหญ่ ยามนั้น คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส
เหมือนกับที่ อำนาจใหญ่ในยามนี้คือ อเมริกา กับ จีน นั่นเอง

ขณะที่ "เนื้อที่เถือสับแล้วโยนให้หมากิน" มี...
รัชกาลที่ 1 ..เกาะหมาก (ปีนัง) (อังกฤษ) 375 ตร.กม.
รัชกาลที่ 1 ..มะริด ทะวาย ตะนาวศรี (พม่า) 55,000
รัชกาลที่ 2 ..บันทายมาศ (ฝรั่งเศส)
รัชกาลที่ 3 ..แสนหวี เชียงตุง เมืองพง (พม่า) 90,000
รัชกาลที่ 3 ..รัฐเประ สหพันธรัฐมาเลย์ฯ (อังกฤษ)
รัชกาลที่ 4 ..สิบสองปันนา (ต้าชิง) 60,000
รัชกาลที่ 4 ..แคว้นเขมร และเกาะอีก 6 เกาะ (ฝรั่งเศส) 124,000
รัชกาลที่ 5 ..สิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหก (ฝรั่งเศส) 87,000
รัชกาลที่ 5 ..ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (5 เมืองเงี้ยว และ 13 เมืองกะเหรี่ยง) (อังกฤษ) 30,000
รัชกาลที่ 5 ..ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือ ราชอาณาจักรลาว (ฝรั่งเศส) 143,000
รัชกาลที่ 5 ..ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (จำปาสัก และไซยะบูลี) (ฝรั่งเศส) 25,500
รัชกาลที่ 5 ..พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ (มณฑลบูรพา) (ฝรั่งเศส) 51,000
รัชกาลที่ 5 ..ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู สหภาพมาลายา (อังกฤษ) 38,455
รัชกาลที่ 9 ..ปราสาทพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา

เราจึงไม่ต้องยืนทำความเคารพธง UnionJack เหมือนข้างบ้าน บรรดาบรรพบุรุษของอองซาน .. 555



โดย: สดายุ... วันที่: 21 เมษายน 2555 เวลา:12:11:09 น.  

 

"O บรรจถรณ์หมอนหนุนเคยอุ่นร่าง
ยังคงว่าง .. เย็นเยียบทั้งเงียบหงอย
จนน้ำค้างวางเม็ด .. ดั่งเพชรพลอย
รูปนามค่อยเผยร่างขึ้นกลางเรือน"

แหม..อ่านเวลาโพล้เพล้ นี่.."รูปนามค่อยเผยร่างขึ้นกลางเรือน"
ต้องรีบเหลียวซ้ายแลขวา ว่า จะโผล่มานั่งข้างข้างรึเปล่า ..555

เติม หวานหน่อยนะ ดายุ อย่าทั้ง "เย็นเยียบทั้งเงียบหงอย"มากไป


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.140.97 วันที่: 23 เมษายน 2555 เวลา:0:02:07 น.  

 

มินตรา..

เรื่องยาวเรื่องหนึ่งๆ จำต้องมีครบรส ทั้งเย็น ร้อน หวาน ขม
ไม่อย่างนั้นแฟนๆ หัวก้าวหน้าจะนินทาลับหลังเอาได้ว่าเขียนแต่เรื่องประโลมโลก .. ไม่เห็นมีแบบปลุกใจให้ร่วมปฏิวัติสังคมเอาเสียเลย ..55

ที่จริงเรามักจะพบเห็นแต่ ปัจจุบัน ย้อนไปหาอดีต ไม่ว่าจะเป็น ..
ทวิภพ แต่ปางก่อน หรือ somewhere in time

เราไม่ค่อยผ่านตา เรื่องประเภท ปัจจุบัน ไปหาอนาคตบ้างเลย
จริงไหม ?

ลองนึกถึงผู้ปกครองพม่าสมัยยุครัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมเชื่อว่า "เหล็กลอยน้ำได้" จนไม่ยอมเปิดประเทศคบค้ากับฝรั่ง "เหล็กลอยน้ำจึงต้องขนเหล็กพ่นไฟได้" มาจ่อคอหอย แล้วยึดประเทศซะ 555

...แสงสะท้อนจากสิ่งไหนเข้าตา..เราก็เห็นสิ่งนั้น
...และแสงนั้นมีความถี่เป็นลักษณะคลื่น
...และตาคนเรารับความถี่แสงได้ในช่วงหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับความถี่เสียง
...ภาพที่ปรากฎจึงเป็นเพราะตาเราอยู่ในภาวะปกติในค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป
...การรับรู้ว่าสิ่งใดมีอยู่ จึงต้องผ่าน"ตัวรับที่เป็นปกติอยู่ในค่าเฉลี่ย"ตามธรรมชาติเท่านั้น

ที่พูดมาเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ...

ทีนี้ .. ตา หู จมูก ลิ้น กาย(ผิวหนัง) ใช้รับรู้ รูปธรรม
และ .. ใจ (ธรรมารมณ์ / มโนวิญญาณ / ความคิดคำนึง) ใช้รับรู้นามธรรม

ดังนั้น อาการเลิกลักเหลียวซ้ายแลขวายามโพล้เพล้ .. ย่อมเกิดจากใจ เป็นสำคัญ .. 555


โดย: สดายุ... วันที่: 23 เมษายน 2555 เวลา:13:50:29 น.  

 

สดายุ !

"ดังนั้น อาการเลิกลักเหลียวซ้ายแลขวายามโพล้เพล้ .. ย่อมเกิดจากใจ เป็นสำคัญ .. "

ใครล่ะ ใช้ตัวอักษร มาวางเรียงเป็นภาพ ปลุกอารมณ์ น่ะ!
ใจของคนน่ะ อยู่เฉยเฉยนะจ๊ะ


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.160.245 วันที่: 24 เมษายน 2555 เวลา:3:39:22 น.  

 

สวัสดีค่ะ...

ยังไม่จบ... สงสัยอีกยาวแหงๆ ^^

ขอบคุณค่ะ


โดย: witch IP: 118.172.110.182 วันที่: 24 เมษายน 2555 เวลา:8:01:49 น.  

 

สดายุ..

"O ภาพชายร่างผอมเกร็ง-ปากเปล่งก้อง
สองมือกำไม้พลอง .. ยก-ป้องสิทธิ์
รอฟาดสู้ดินปืน .. ขัดขืนฤทธิ์-
ด้วยหัวจิตหัวใจ ที่ไม่กลัว !"

"ชายร่างผอมเกร็ง" นี่...
ท่านเคยมาประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่เมืองมักเดอบวร์ก เยอรมันนี
พร้อมภรรยาและลูกสาวหนึ่งคน ในนามรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมไทย...
ได้ยิน บารอนเนสเยอรมันถามท่านว่า เห็นหุ่นท่านแล้ว นึกไม่ออกว่าทำไมจึงมีสมญานามว่า"ก้านยาว"
ท่านตอบว่า..ไม้ที่ถือจะไปสู้รบปรบมือกับปืนของทหารน่ะซิครับ ที่ก้านยาว..
บารอนเนสเลยแซวว่า..ไม้หรอกรึที่เป็นวีระบุรุษ ท่านก็ยิ้มเหนียมเหนียมว่าครับ
ฝรั่งนานาชาติที่ยืนฟัง..หัวเราะกันว่า เออ คนไทยนี่คุยกันน่ารักนะ
ไม่เครียด..

และประชาชนไทยก็คง"น่ารัก และไม่เครียด" ไปอีกนานเท่าไหร่หนอ บนเส้นทางประชาธิปไตย....



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.156.124 วันที่: 24 เมษายน 2555 เวลา:14:27:52 น.  

 
มินตรา...

"... ภาพชายร่างผอมเกร็ง-เสียงเปล่งร้อง ..."
โดยวัย .. โดยสภาพสังคมแวดล้อม .. นั่นคือความกลมกลืนที่สอดรับกัน !

คนในวัยนี้ .. จึงควรเร่าร้อนทางการเมืองในประเด็น ประชาธิปไตย หรือ เสรีภาพในสังคม และมันควรเริ่มจาก "คนช่างคิด - ปัญญาชน" .. เป็นผู้จุดไฟเสมอ

ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น .. จึงควรออกมาต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่ได้มาอย่างถูกต้อง การปกครองที่ปิดหูปิดตามาอย่างยาวนาน ที่อาจนับเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 มาเลยทีเดียว

ในบริบทแบบนั้น .. วัยที่ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนแอบพ่วงอยู่ข้างหลัง จึงจักได้รับความร่วมแรงร่วมใจจาก "ท่านผู้ชม" อย่างเต็มที่ อย่างล้นหลาม อย่างไม่ต้องมีการ"จัดตั้ง"
.
.
และหาก"หัวก้าวหน้า" ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างจริงจังแล้ว - - > การแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง - - > อันเป็นความเสแสร้งชั่วคราว ควรต้องหมดไป

อดีตของคน เป็นตัวบอกได้ว่า ..
.. เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเป็นธรรมในสังคม ..
.. เขาเป็นนักแสวงหาโชคลาภและผลประโยชน์ ..
.. เขาเป็นผู้ที่ไม่เคยรับรู้ประเด็น อำนาจนิยม หรือ สังคมนิยม มาก่อนเลยในชีวิต เพิ่งมาท่องจำได้ช่วงหลังๆนี่เอง - 55

หรือไม่ ?

หากในวัยที่ควรต่อสู้ .. เขาไม่เคยมีประวัติแห่งพฤติกรรมนั้น ..
หากในวัยที่ต้องเลือกเส้นทางเดินในชีวิต .. เขาเลือกเดินในเส้นทางแห่งอำนาจนิยม .. แล้วล่ะก็

ป่วยการกับความพยายามเชิงส่วนรวมทั้งปวง !
เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ของระบอบ "สมยอมทางผลประโยชน์ ของ ซ้ายอกหัก+ทุนถูกรังแก" เท่านั้นเอง

เนลสัน แมนเดลล่า ติดคุกมา 27 ปี
อองซานซูจี ถูกกักบริเวณในบ้านตัวเองมา 22 ปี
แต่ไม่ยอมแพ้ - สู้ตลอด

นั่นคือการต่อสู้ - ฝรั่งจึงยกย่องด้วย รางวัลโนเบล ไง

หากตอนนี้เริ่มมีเสียงเสียดสีนายกฯคนสวย ตามเวปการเมืองก็ไม่ต้องแปลกใจ .. เพราะแดงนกแก้วนกขุนทองพวกนั้น - หลงเรื่องสมมุติว่าเป็นเรื่องจริง อย่างน่าสงสารมาตั้งแต่ต้น - 55


โดย: สดายุ... วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:8:27:05 น.  

 
แม่มดตัวน้อย ..

เรื่องนี้ยาว เพราะมันจะปนเปกับความเห็นทางการเมืองของ
ตัวนางเอก ..

การแทรกความเห็นทางสังคมผ่านรูปนามที่สวยงามจะทำให้ประเด็นมัน soft ลง ขอรับ อิๆๆ


โดย: สดายุ... วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:8:31:09 น.  

 


สดายุ...

นานนาน จะเกิดความรู้สึกว่า"รัก"สดายุนะ..
รักที่เป็น "คนช่างคิด - ปัญญาชน" ค่ะ...

"อดีตของคน เป็นตัวบอกได้ว่า"...มินตราทำอะไรไม่เป็นเลย ดีแต่ เล่นไปวันวัน..(นี่คุณครูว่า..)

"เรื่องนี้ยาว เพราะมันจะปนเปกับความเห็นทางการเมืองของ
ตัวนางเอก .."...
ว้า..แล้วเมื่อไหร่ มินตราจะได้เป็นนางเอกสักทีล่ะ..
แต่งเรื่องที่นางเอกไม่ได้เรื่อง ไม่สวย ไม่เก่ง ดีแต่บินไปก็บินมา บ้างซิ..เอาใจมวลชนบ้าง...
จะให้แต่..รวย สวย เก่ง.. เป็นนางเอกเสมอได้ไง...
ที่เห็นอยู่ตามที่ชุมนุมน่ะ นางเอกตัวจริงนะจ๊ะ..
พวกที่ไม่..รวย สวย เก่ง..แต่อดทน อดกลั้น..



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.158.216 วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:11:40:13 น.  

 


มินตรา..

ผู้หญิงมี 3 แบบหลักๆ...

แบบเดินนำหน้าผัว .. เลี้ยงลูกเลี้ยงผัว แบบ เจ๊เกียวโคราช
หรือ เจ๊ลั๊งดอนเมือง ... แบบนี้ไม่ต้องเป็นงานบ้านงานเรือน หาเงินให้เยอะแล้วจ้างพม่าเอา - 55

แบบกุลสตรีดีพร้อม .. ทำงานบ้านได้ทุกอย่าง เดินห้างก็อุ้มลูกเข็นรถลูก ขณะผัวที่แข็งแรงกว่าเดินตัวปลิว พอเข้าฟาดฟูด ผัวนั่งแหมะที่โต๊ะ ยายเมียก็เดินไปต่อแถวซื้อคูปอง แล้วทะยอยซื้ออาหารมาป้อนใส่ปากลูกผัวที่โต๊ะจนครบแล้วตัวเองถึงค่อยกินได้ - ยอมมารดามันไปหมด ออกแนว เมียทาส - 55

แบบ ทั่วไป ทำงานกินเงินเดือน งานบ้านก็ช่วยๆกัน - แบบนี้เป็นธรรมชาติที่สุดและมีมากที่สุด - เป็นรูปแบบคนรุ่นใหม่หัวใจเท่าเทียมทางเพศ - แต่แบบนี้เขามักไม่เอาไปสร้างละคอนช่อง 3 ช่อง 7 เพราะมันเรียก rating ไม่ได้ - แม่ค้าไม่ชอบ - 55
.
.
.
สังคมแบบไทย ..
เลี้ยงเด็กไม่เป็น - ประคับประคองเกินเหตุ ทำให้มีลักษณะพึ่งพาผู้อื่นสูง - บรรลุวุฒิภาวะช้ากว่าวัย (เทียบกับฝรั่ง - เป็น สส.แล้วมันจึงยังนั่งดูรูปโป๊ในเวลาประชุมจนขายหน้าไปทั่วโลก .. มันจึงกดขานชื่อแทนกัน-พฤติกรรมเดียวกับเด็กลอกการบ้านส่งครู .. ต้องมีเพื่อนคอยช่วย)

- เพราะฉะนั้นที่ครูว่า ก็อย่าไปใส่ใจมากนัก เพราะพื้นฐานของครูก็ร่ำเรียนมาแบบท่องจำ หรือ แบบมีตัวเลือกให้สมองทำงานได้จำกัด คือ ก ข ค ง จ - เท่านั้น ..

ในโลกของคนไทยจึงมีความคิดได้แค่นี้เอง 4-5 ตัวเลือก แถมบางที ค.-ผิดหมดทุกข้อ ง.-ถูกหมดทุกข้อ เข้าไปอีก ก็เลยเหลือทางเลือกให้แค่ ก กับ ข เท่านั้นเอง - 55

อเมริกา - ไม่มี ปรนัย (ก ข ค ง จ)
ออสเตรเลีย - ไม่มี ปรนัย
อยากรู้ว่าที่เยอรมัน มีไหม ? - บอกให้ชัดๆหน่อยนะขอรับ


ส่วนเรื่องที่ผมเขียนนางเอกต้อง"สวยและยังสาวอยู่"ทุกคนไปนั้น เพราะมันสอดรับกับความเป็นจริงของชีวิตคนเขียน - เรื่องแบบนี้หากพูดผิดความจริงคงจะไม่ดี .. ผมเป็นคนชอบพูดความจริง ขอรับ .. อิๆๆ



โดย: สดายุ... วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:16:42:43 น.  

 

โอย..รักสดายุ เพิ่มอีกนิดได้ไหม..
"- เพราะฉะนั้นที่ครูว่า ก็อย่าไปใส่ใจมากนัก"
ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งจะมีคนเข้าใจและตามใจ นะนี่..555

"ส่วนเรื่องที่ผมเขียนนางเอกต้อง"สวยและยังสาวอยู่"ทุกคนไปนั้น เพราะมันสอดรับกับความเป็นจริงของชีวิตคนเขียน -"

อย่างนี้แม่ "งาม-กว่างามชาติภพ .. เคยพบเห็น"คงชื่นใจนักกับความหยดย้อย ผ่านเวปให้ทั้งโลกรับรู้ นิ...
หนอยแน่ะ! เรารึอุตส่าห์ ตะโกนบอก รักจ้ารักร้อน ร้อน..
กลับไม่มีใครสนใจ..งอนแล้วล่ะ..555


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.157.197 วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:19:10:31 น.  

 

สดายุ..

เห็นไหมมัวแต่เล่นสนุก จนลืมตอบคำถามเป็นเรื่องเป็นราวเลย..

"อเมริกา - ไม่มี ปรนัย (ก ข ค ง จ)
ออสเตรเลีย - ไม่มี ปรนัย
อยากรู้ว่าที่เยอรมัน มีไหม ? - บอกให้ชัดๆหน่อยนะขอรับ"

ความจริง จากประสพการณ์การเป็นคุณครูมา..จึงทราบว่า ระบบปรนัยนี่ มาจากอเมริกานะคะ..เมื่อแรกเรียนหนังสือนั้นมินตราเรียนในระบบอัตนัยมา แล้วมาเปลี่ยนเป็นปรนัย...
สงสัยสดายุ จะไปเรียนอเมริกาในระดับโท เอก กระมัง ซึ่งจะมีปรนัยน้อย...

ในออสเตรเลียนั้น เป็นไปตามระบบการศึกษาอังกฤษ ซึ่งเป็นระบบอัตนัย..คือตั้งคำถามมาสั้นสั้น แล้วให้นักเรียนเขียน "ร่ายยาว"พร้อมเหตุผลตามทฤษฎี ที่ตนรู้มา จะได้ตรวจได้ว่าศิษย์จำทฤษฎีแม่นจนนำมาใช้งานในการประกอบเหตุผลได้ไหม...

เยอรมันน่ะ "ชัดเจนมาก" ไม่มีโอกาสเลือกให้เลย..
ให้ใช้สิ่งที่มีอยู่จำกัดนั้นให้ได้ หนึ่ง..
สอง..เมื่อคิดได้ว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นนำมาทำอะไรได้ ต้องแจงว่าเอาความคิดนี้มาจากทฤษฎีไหน..
สาม..ทฤษฎีที่เรา ชื่นชมนี่..มีใครกี่คน(นักทฤษฎีผู้อื่น)เคยเห็นข้อบกพร่องคัดค้านไว้ว่าอย่างไร ..(pro&contra)
สี่..หากนักเรียนเก่งจริง...ต้องเสนอแนวทางใหม่ทางทฤษฎีให้ต่อยอดจากทฤษฎีเดิม....555

ที่พูดนี่ทั้งทาง"สายวิชาชีพ" และ"สายวิชาการ"นะคะ
เหมือนการเรียนของไทยสมัยก่อนที่..จะเกิดวิวัฒนาการ"ล่าปริญญา"มานับแข่งกัน เช่นในปัจจุบันนี้..(แอบหยิก กระทรวงศึกษา ซะเลย)...








โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.157.197 วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:19:33:57 น.  

 
มินตรา..

ผมไม่เคยไปเรียนอเมริกาหรอก ..
แต่รู้จากหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพนี่เอง
บางโรงเรียนเขาใช้หลักสูตรอเมริกัน เป็นต้นว่า ร่วมฤดี และอีกหลายที่ .. เขาไม่มี ปรนัยเลย แม้แต่วิชาเดียว

สำหรับ ปรนัย ก-ข-ค-ง-จ นั้นผมมีความเห็นว่าเป็นระบบการวัดผลการเรียนที่บัดซบที่สุดแล้ว .. ไม่รู้ ตอบไม่ได้ ก็หลับตาจิ้มเอา

ทั้งๆที่หากไม่รู้ ตอบไม่ได้ ต้องเว้นว่างไม่เดาตอบ .. สังคมจะได้เลิกพฤติกรรมงมงาย ไร้เหตุผลเสียที (การเดาตอบ - คือความไร้เหตุผลเพราะไม่มีความรู้รองรับ - เมื่อความรู้ ..คือเหตุผล) ที่สั่งสมมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนเข้าเส้นเลือด .. เหมือนที่ตื่นตกใจกับการที่มีคนพูดว่า เกาะภูเก๊ตจะจมลงใต้ทะเล .. 55

ของออสเตรเลียที่มินตราพูดมาก็ถูกต้องแล้ว เป็นอย่างนั้น การ coach เด็กเขาต่างกับเราเยอะ .. ประเด็นนี้ต้องร่ายยาวสักวัน ..

แต่ที่แปลกมากคือ "ความเป็นเอเชีย" เป็นที่รับรู้ว่าคะแนนการเรียนอยู่แถวหน้าเสมอ ไม่ว่า เกาหลี ญี่ปุ่น จีนแดง จีนไต้หวัน หรือ ไทย ! .. โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคำนวณ math physic พวกนี้ .. เด็กฝรั่งสู้ไม่ได้เลย

ซึ่งขัดกับระดับค้นคว้าวิจัย ..ซึ่งพวกที่ได้ noble prize กลับแทบไม่มีเอเชียเลย (ไม่นับ รางวัลวรรณกรรม กับ รางวัลเสรีภาพนะ .. เพราะไม่เป็น science)

รวมทั้งการพัฒนาบ้านเมือง !

ที่คล้ายๆกับว่า .. เมื่อมองในแง่ individual แล้วสู้เขาได้ไม่ด้อยกว่าใครเลย .. แต่พอมองในรูป social กลับไม่ได้เรื่อง !



นั่นไง .. ระบบการเรียนของคนเยอรมัน
คนของเขาถึงคิดค้นโน่นนี่ได้อยู่เรื่อย เพราะเขามีขั้นตอนสอนคนแบบนี้เอง (เพิ่งรู้รายละเอียดนะนี่ .. ขอบคุณในข้อมูลขอรับ) ..

อ่านแล้วก็น่าหนักใจว่า .. ที่บอกมานั่น ระดับ มหิดลอนุสรณ์ เตรียมอุดม สวนกุหลาบ .. ยังไม่ได้อย่างนั้นเลย - แล้วจะไปคาดหวังอะไรกับ แถว ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ดาก แม่ฮ่องสอน สตูล ?

มินตรา รู้จัก มหาวิทยาลัยราชภัฏ ไหม ?
เดิมคือวิทยาลัยครูที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ .. และนี่คือแหล่งผลิตครู รายใหญ่ของประเทศ คู่ไปกับ ศึกษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ คุรุศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลัก

คุณภาพของเด็กที่เข้าเรียนราชภัฏ คือแบบไหนรู้ไหม ?
ผมรับรองได้ว่า ไม่ใช่เด็กจากห้อง king ของ มหิดล เตรียมอุดม สวนกุหลาบ บุญญวาทย์ มงฟอร์ต แน่นอน

รวมทั้งหลักสูตร ขั้นตอนการเรียนการสอนแบบที่มินตราพูดมาของเยอรมันนั้น .. ไม่มี .. ไม่มีทาง .. ไม่มีทางจะมี .. ได้เลยอีกนับนาน .. ในสังคมที่"การเรียกร้อง ความต้องการของ ม๊อบ" จะได้รับการตอบสนองอย่างเร่งด่วน เป็นอย่างแรก แห่งนี้ !

สาธุ คุณโยม อิๆๆ



โดย: สดายุ... วันที่: 26 เมษายน 2555 เวลา:8:23:46 น.  

 


สดายุคะ

ปรนัย ก-ข-ค-ง-จ ของสดายุนั้นเรียกว่า multiple choice test ของมิสเตอร์ ธอนไดค์(E. L. Thorndike)ซึ่งเป็นผู้คิดขึ้นมา แต่ผู้ที่นำมาใช้ในปี1915 คือนายเคลลี่(Frederick J. Kelly)ซึ่งเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคนซัส(Dean of the College of Education at the University of Kansas) เห็น วีคิพิเดีย บอกว่าครั้งแรกนั้นใช้ในการสอบถามทหารเกณฑ์อเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นี่คะ

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคำนวณ math physic พวกนี้ .. เด็กฝรั่งสู้ไม่ได้เลย"..."ซึ่งพวกที่ได้ noble prize กลับแทบไม่มีเอเชียเลย"...
มีสุภาษิต(a proverb)อังกฤษ ว่า All work and no play makes Jack a dull boy ..ทำแต่งานโดยไม่เล่นเลยทำให้อีตาแจ๊ค เป็นคนน่าเบื่อหน่าย...
ฉะนั้นในยุโรปและอเมริกา จะไม่ยกย่องยกย่องผู้ที่ก้มหน้าก้มตาเรียนอย่างเห็นแก่ตัวแล้วไม่ร่วมกิจกรรมในโรงเรียนเลย...ถือว่าไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อน ทำงานเป็นทีมไม่ได้..
เพราะทฤษฎีความรู้จะวิวัฒนาการได้ด้วย"ทีมงาน"และใน"หลายชั้นคน"..เป็นวิวัฒนาการของมนุษยชาติ...

บริษัทเบนซ์ของเยอรมันจะคัดเลือกเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็นนักกิฬา ทั้งนั้น..นอกจากจะรูปงามยังมีจิตใจเป็นนักกิฬาด้วย..(มินตราเลยชอบไปซื้อรถยี่ห้อนี้ไง555)

มินตราเคยสอนที่วิทยาลัยครู เออ..มหาวิทยาลัย(ครู)ราชภัฎ หนึ่งปี
ก่อนไปบรรจุเป็นข้าราชการที่มหาวิทยาลัย(เทคนิค)ราชมงคล
ทราบฐานความรู้ของนักศึกษาค่ะ..
สงสัยคุณภาพเป็นไปเช่นนั้นเพราะมินตราสอน กระมัง 555

ตั้งแต่อัพเกรดวิทยาลัยครูและเทคนิค มาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจนเลิกทบวงมหาวิทยาลัยไปนั้น..มหาวิทยาลัยหลักจึง"ติดภาระกิจ"บ่อยในเวลาที่กระทรวงศึกษาเรียกประชุม"ทุกมหาวิทยาลัย"
...ทราบว่า ตอนนี้ กระทรวงพยายามแก้ไขด้วยการให้ มหาวิทยาลัยหลัก เป็น มหาวิทยาลัยวิจัย..นี่คะ..กลับไปเหมือนเดิมอีก...
นี่แหละนะ อิทธิพลของนักการเมืองที่จะยกระดับตนเองให้สูงขึ้น..เพื่อจะบอกว่าตนเองเองจบจาก"มหา" วิทยาลัยครู

ในเยอรมันนั้น เมื่อบ้านเมืองเกิดปัญหา ไม่แน่ชัดในทางทฤษฎี
นักวิชาการจะออกมาปฎิบัติหน้าที่ ทันที โดยไม่โดนใครสั่งใครให้มาต่อยหน้าใคร...ค่ะ



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.155.136 วันที่: 26 เมษายน 2555 เวลา:16:37:19 น.  

 


มินตรา...
สมัยผมเรียน คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ คะแนนเอ็นทรานซ์ต่ำโหล่ .. เพราะจบมาแล้วตกงาน และรามคำแหงเปิดให้เรียน "ปริมาณ" ที่จบแต่ละปีจึงมาก

สมัยนี้ทราบว่า นิติศาสตร์ กลับมีคะแนนสูงกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งจะไปสอดคล้องกับทางอเมริกา ที่หัวดีต้องไปเรียนกฎหมาย บริหาร .. ส่วนหมอ วิศวะก็พวกหัวปานกลาง

น่าสังเกตุว่า ในสังคมที่การบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด (วิ่งเต้นไม่ได้เลย ทั้งในชั้นทำสำนวน-ตำรวจ .. ทั้งในชั้นอัยการ-ตัวแทนของรัฐ .. ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นคดีก่อนเข้าสู่ศาล) การเอาชนะคะคานกันในทางคดีความระหว่างบุคคล หรือ นิติบุคคล จำต้องใช้หลักกฎหมายมาเป็นตัวตัดสิน .. ผู้เชี่ยวชาญหลักกฎมายคือพวกที่ร่ำเรียนมาจึงมีงานเข้ามาก ทำเงินได้มาก พวกหัวดีจึงแย่งกันเรียน ทำให้คะแนนสูง

ของไทยเรา หากลากคอพวกอภิสิทธิ์ชนที่ทำผิดมาขึ้นศาลได้ทั้งหมดแล้ว...หลักกฎหมายจะเป็นใหญ่ และพวกนิติศาสตร์จะงานเข้าไม่เว้นแต่ละวัน และนั่นจะเป็นแนวทางของประเทศที่เข้าสู่โหมด ประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนการที่ ".. ใครสั่งใครให้มาต่อยหน้าใคร .. " นั้น เป็นหลักการตัดสินความขัดแย้งโดยวิธี"กายภาพ"แบบไทยๆ .. เรายังไม่ต้องการไปสู่โหมดใหม่ใดๆทั้งสิ้น เพราะเราไม่คุ้นเคย เราเลยกลัว ... 555

ฝรั่งเขาดีเบตกันใช่ไหม - นั่นเป็นการตัดสินความขัดแย้งโดยใช้รูปแบบ"มโนภาพ"แบบฝรั่ง - ซึ่งย่อมต้องแตกต่างกันเป็นธรรมดา..

จะให้คนไทย นิสัยขี้เกรงใจคน ลุกขึ้นโต้กันไปโต้กันมาได้อย่างไรกัน.555



โดย: สดายุ... วันที่: 26 เมษายน 2555 เวลา:20:28:56 น.  

 
สวัสดีครับ แวะมาทักกทาย


โดย: อัสติสะ วันที่: 29 เมษายน 2555 เวลา:11:05:29 น.  

 

สดายุ..

"O พร้อม-ลมเอื่อยแผ่วผ่านอยู่นานเนิ่น,
แววขัดเขินเผยอยู่ .. สุดรู้ข่ม
สบ – สัมผัสหอมหวานอยู่นานนม-
ดวงใจที่จ่อมจมก็ .. สมยอม"

"ลมเอื่อย...แผ่วผ่าน...อยู่นานเนิ่น"...เหลือเกิน
จนคนอ่านรอ "ลมเอื่อย" แทบจะไม่ไหว..ใจจะขาดรอนรอนแล้วนะนี่...
"แววขัดเขินเผยอยู่"จน...กว่าจะเอ่ยปาก"สมยอม"ได้..!
พายุสุริยะก็เข้ามาเพิ่มความร้อนทั้งโลก เสริมซ้ำอีก

"O ปีกนกกางโล้ลม, อารมณ์ถวิล-
ก็หลั่งรินรอชู้ .. ร่วมสู่สมัย-
การจับจูงเกี่ยวร้อยทุกรอยใจ
กำหนดให้ .. ร่วมย่างบนทางเดียว !"

"ปีกนก"(สดายุ).รีบ.."กางโล้ลม" ได้แล้วนะ..
จะได้ "ร่วมย่างบนทางเดียว !"...Happy ending ซะที..
วัยรุ่นใจร้อนค่ะ555


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.150.136 วันที่: 29 เมษายน 2555 เวลา:14:27:32 น.  

 


อัสติสะ..
สวัสดีครับ .. ไม่เห็นกันนาน







มินตรา...

นี่มันเรื่องยาว ..
เพิ่งเขียนยังไม่ทันได้ครึ่งเรื่องจะรีบให้จบได้อย่างไร...
เหมือนวัยรุ่นใจร้อนเลยเนอะ...55

หากไม่ทันใจ คงต้องไปอ่าน"สายธารกาลเวลา" รอก่อนพลางๆ..
เรื่องนั้นยาวสะใจคนเขียน

เรื่องนี้อาจไม่ happy ending นะขอรับ
อิๆๆ


โดย: สดายุ... วันที่: 30 เมษายน 2555 เวลา:8:05:29 น.  

 

สวัสดีค่ะ...

"เรื่องนี้อาจไม่ happy ending นะขอรับ"

อ้าว!!! ไมงั้นคะ? ประมาณว่า หักมุม เหรอคะ? แหม...เสียดาย นางเอกส๊วยสวย :'))


จะรออ่านตอนต่อไป...

ขอบคุณค่ะ


โดย: witch IP: 118.172.102.16 วันที่: 30 เมษายน 2555 เวลา:8:24:36 น.  

 

สดายุ...

แม่"พิมพ์รูป .. พิมพ์ลักษณ์ .. พิมพ์พักตร์ผู้
รอรูปธรรมย่างสู่ .. เช้าตรู่นั่น"

ที่ในภาพตรงO รื่นลมร่ำ .. O นั้น จับตาจับใจมินตรานัก
สวยอย่างนี้ เป็นสวยที่สาวไทยชาติเดียวในโลกมี คือ
"สวย"แล้ว "งาม"ด้วย"มีมาด"มาก ในตาบ่งความฉลาด..
ดุจดังที่ ดายุ บรรยายเลย..
"สวยมี มันสมอง"ว่างั้นเถอะ..

"เรื่องนี้อาจไม่ happy ending นะขอรับ"
ก็นึกอยู่ในใจว่า"สวยมีสมอง"เช่นนี้รึ จะติดตาต้องใจใครง่ายง่าย
เธอเป็น"สวยเลือกได้"นี่คะ...แล้วคงอยู่ในแวดวงที่..
"ไม่แน่จริง" อย่าได้มา กราย เชียวนะ

สาวไทยน่ะ อ่อนนอกแข็งใน นะ..สามชนิดของสตรีที่สดายุจำแนกไว้ ย่อมมีในคนคนเดียวได้.."รวย สวย เก่ง" ไม่แยแสผู้ชายน่ะ!
เจ็บก็เจ็บด้วยกันทั้งคู่..555

ยังไงก็สงสารคน"อ้วนไปนิด ดำไปหน่อย" อย่างมิตราบ้าง
happy ending นะคะ นะ...








โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.139.82 วันที่: 30 เมษายน 2555 เวลา:15:46:25 น.  

 

สดายุ..
"O ตราบแว่วยิน .. ข้อข่าวคนกล่างถึง-
ว่า-รูปนามรูปหนึ่ง .. เหมือนหนึ่งล่วง-
ลับหายไปจากเรือน .. เมื่อเดือนดวง-
เลื่อนรูปรอยสิ้นช่วง .. ดับล่วงไป"

ใคร ดับล่วงไป พระเอก หรือนางเอก นะ


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.158.22 วันที่: 1 พฤษภาคม 2555 เวลา:20:48:13 น.  

 
แม่มดตัวน้อย...

นางเอกยุคโบราณหายไป..
แต่นางเอกยุคปัจจุบันยังอยู่ ...เรื่องนี้เป็นไปตามทฤษฎีรูหนอนในอวกาศขอรับ
อิๆๆ




มินตรา...
ตราบแว่วยิน .. ข้อข่าวคนกล่างถึง-
ว่า-รูปนามรูปหนึ่ง .. เหมือนหนึ่งล่วง-
ลับหายไปจากเรือน .. เมื่อเดือนดวง-
เลื่อนรูปรอยสิ้นช่วง .. ดับล่วงไป

บทนี้ต้องการสื่อว่า ..
สาวน้อยรูปงามหายตัวไป .. ตั้งแต่เมื่อคืนเดือนแรม
ทั้งๆที่ห้องหับปิดมิดชิด หลังจากเข้านอนตอหัวค่ำแล้ว
ก็ไม่ได้ออจากห้องมาอีกเลย .. เมื่อคนในบ้านเข้าไปดูก็เห็นแต่ห้องว่างเปล่า ..


โดย: สดายุ... วันที่: 2 พฤษภาคม 2555 เวลา:5:58:43 น.  

 


O แววเนตรไหว-วนวิ่ง, ยากยิ่งแล้ว-
จักฝ่าความผ่องแผ้ว..จนแล้ว..หรือ ?
สบรูปแล้ววิญญาณ..จักผ่าน ฤๅ ?
เหลือแต่คือ-ยื้อยุดไว้..สุดตัว !

...ครุฑยุดนาค 555


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.159.65 วันที่: 2 พฤษภาคม 2555 เวลา:23:30:02 น.  

 

สวัสดีค่ะ...

มาอ่านค่ะ...

วันนี้...เป็นวันหยุดนี่คะ พักผ่อนมากๆนะคะอย่าห่วงบล๊อค อิอิ

มีความสุขมากๆนะคะ


โดย: witch IP: 118.172.105.141 วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:7:32:58 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่สดายุ

เรื่องยาว แต่ สนุกจัง นั่งอ่านติดต่อกน ปวดตาเลยทีเดียวค่ะ


โดย: medkhanun วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:8:49:23 น.  

 
แม่มดตัวน้อย ..
บล็อคน่ะไม่ห่วงหรอก...ห่วงแต่คนอ่านคนเดียวเท่านั้น
กลัวโดนฝนเป็นไข้ไป ขอรับ .. อิๆๆ





เม็ดขนุน ..
ยังต้องมาอ่านอีกยาว
เตรียมแว่นตาไว้เลย...55


โดย: สดายุ... วันที่: 6 พฤษภาคม 2555 เวลา:22:03:48 น.  

 

สดายุ..

กามเทพหลอกลวง เสียบศรปักทรวง..ให้ห่วงหา
ให้รักแล้วไยมาริดรักราแรมไกล
รักของข้าดั่วบัวบังใบบัง..มิให้ใครเห็น
คร่ำครวญหวนทุกเช้าเย็น..ตรอมตรม
สุดหัก..สุดหาย..หัวใจมิวายระทม
สุดตรอม..สุดตรมใจ..
ยิ่งคิด..ให้โหยหา ต้องบังรักไว้ไม่กล้า .. บอกใคร

ช่างเลือกเพลงนัก..


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.152.147 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:38:49 น.  

 
มินตรา..

เพลงที่เลือกลง คือเพลงที่อยู่ใน list 20 top thai traditional song ever !

แต่ต้องเป็นเครื่องดนตรีสมัยใหม่นะ
ประเภทซออู้ ฆ้อง กรับ ฉิ่งฉาบนี่ไม่เอา

ฟังไม่รื่นหู 55


โดย: สดายุ... วันที่: 11 พฤษภาคม 2555 เวลา:8:03:03 น.  

 
ภาพหญิงที่ค้อม ประนมมือไหว้นั้นดูอ่อนช้อย งดงาม
ช่างคัดเลือกภาพได้เก่ง


โดย: mon IP: 110.168.77.172 วันที่: 16 พฤษภาคม 2555 เวลา:9:46:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.