Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
O ปัญญา .. เป็นสิ่งแรกที่ต้องมี ! .. O

.


มรรคมีองค์แปด คืออะไร ?

…………………………………………………


มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยกรอบการปฏิบัติ 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง การปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง เอาเปรียบคนอื่น ๆ มากเกินไป
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ ทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มรรคมีองค์แปด สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
• ข้อ 3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
• ข้อ 6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
• ข้อ 1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
…………………………………………………………


นี่คือหนทางแห่งการบรรลุธรรม..และต้องเริ่มที่ สัมมาทิฏฐิ เป็นเบื้องต้น

มีหลากหลายความเห็นในสังคมนกแก้วนกขุนทองนี้ที่ว่า … ความรู้จากตำรานั้นไม่จำเป็น ให้ฝึกปฏิบัติไปเถิด ย่อมจักเกิดผลตามที่มุ่งหมายได้ในที่สุด ... ฟังแล้วเหมือนเอากำปั้นทุบดิน – แต่ต้องบอกว่าเป็นความโง่งมอย่างยิ่งสำหรับความเห็นเช่นนั้น

ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นเสมือน เข็มทิศไปเสาะหาขุมทรัพย์
การปฏิบัติตามความรู้ที่ถูกต้อง เป้นเสมือนการลงมือขุดหาขุมทรัพย์หลังจากไปถึงจุดหมายตามเข็มทิศแล้ว

เพราะหากว่า ขุมทรัพย์อยู่ที่ภูเก็ต แล้วเดินทางโดยไม่ดูเหนือดูใต้ไม่สนใจทิศทาง ตั้งใจจะเดินท่าเดียว ก็สามารถขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ทะลุยูนาน ไปมองโกเลีย จนไซบีเรียได้ในที่สุด อย่างนี้เดินทางจนตายก็ไม่ได้อะไร

หากว่ามีเข็มทิศ ก็รู้ทิศที่จะไป ไปถึงได้ ..แต่หากไม่ลงมือขุด นั่งรอที่ปากหลุม อ้างโน่นอ้างนี่สารพัด ก็ไม่ได้อะไรเหมือนกัน


ความรู้ที่ถูกต้อง – สิ่งนี้เองเป็นเรื่องแรกที่เราต้องมีก่อนลงมือปฏิบัติ – แน่แท้อย่างที่ไม่อาจโต้แย้งได้เลย...

ไม่เชื่อ ก็ลองพิจารณาประเด็นเหล่านี้ดู

พระพุทธองค์ ไม่มีเข็มทิศหรือผู้ชี้แนะ จึงต้องแสวงหาทิศทางเอาเอง และแม้กอปรด้วยปัญญาญาณอันยิ่งยวดขนาดนั้นยังต้องใช้เวลาถึง 6 ปี เสียเวลาลองผิดลองถูกอยู่เสียตั้งนานถึงจะเข้าสู่ความรู้ที่ถูกต้องได้ – นี้ประการที่ 1


พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ มีเข็มทิศแรก คือ พระอัสสชิ ..
ดังความที่ว่า ..
.......................................


พระอัสสชิอันเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ จนบรรลุอรหันต์แล้ว วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ ประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใส สำรวมดี ของท่านพระอัสสชิเถระ ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามท่านพระอัสสชิเถระไปข้างหลัง รอคอยโอกาสอยู่ แล้วสอบถาม

พระอัสสชิเถระได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า ..

.. ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้ ..

เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน

หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน เช่นเดียวกัน ทั้งสองได้ไปชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก 250 คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น ปริพาชก 250 คนบรรลุอรหัตผล แต่อุปติสสะและโกลิตะ ยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่า .. สารีบุตร

เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน .. ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วย ก็บรรลุอรหัตผล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
…………………………………………


ความรู้ที่ถูกต้องของพระสารีบุตร ได้จาก พระอัสสชิ เป็นเบื้องต้นจนบรรลุ โสดาบัน
แล้วได้ความรู้ที่ถูกต้องซ้ำจากพระพุทธองค์ จึงบรรลุอรหันต์ ...
คำถามมีว่า พระสารีบุตรผู้สาวกเบื้องขวา รวมทั้งพระโมคคัลลานะผู้สาวกเบื้องซ้าย ใช้เวลานานแค่ไหนในการบรรลุธรรม – ถึง 6 ปีไหม ? – นี้ประการที่ 2


ยังมีพระสาวกบางรูปที่หลังจากฟังธรรมแล้วบรรลุอรหันต์เลย แม้ที่เป็นภิกษุณีก็ยังมี ..

ตรงนี้บอกอะไร ?

ความรู้ที่ถูกต้อง + ปัญญาที่เหมาะสม = การบรรลุธรรม
การที่พระสาวกสามารถบรรลุธรรม ในเวลาอันไม่นานหลังจากฟังพระพุทธองค์ตรัสสอน ก็เพราะได้รับความรู้ที่ถูกต้องเลยโดยตรงจากผู้ที่รู้จริง ไม่ต้องมัวแสวงหาลองผิดลองถูกอยู่แบบพระพุทธองค์เองก่อนการตรัสรู้


ดังนั้น .. ความเห็นแบบมืดบอดที่ว่า ปฏิบัติไปเถิด แล้วจะได้ผลเอง – เป็นเรื่องที่เข้าใจเอาเอง หลง ละเมอ เพ้อ ไปตามจริตส่วนตนเท่านั้น !



ทีนี้ต้องถามต่อไปว่า .. แล้วความรู้ที่ถูกต้องนั้น .. จะหาได้จากที่ไหนเล่า ?

มีหลากหลายสำนักเหลือเกินในสังคมนี้ รวมทั้งการตีความข้อธรรมที่แตกต่างกันออกไป .. เราจะหาความรู้ที่ถูกต้อง หรือ แยกแยะได้อย่างไร ว่าอย่างไหนควรถูกต้อง อย่างไหน น่าจะไม่ถูกต้อง

หลักพื้นฐาน ก็ต้องกลับไปที่ต้นกำเนิดของความรู้ที่ถูกต้อง คือ คำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรง

จริงไหม ?

ประเด็นนี้มีปัญหาตามมาว่า .. คำพูดที่บันทึกไว้ในไตรปิฎกเหล่านั้นนั้นอ่านแล้วเข้าใจยาก ต้องมีคำอธิบายความอีกทีหนึ่งจากผู้ที่ศึกษาเรียนรู้มาโดยตรง หรือคำแปลนั้นๆต้องมีการตีความอีกทีหนึ่ง คนทั่วไปถึงจะสามารถเข้าใจได้ – เราจะทำอย่างไรดี ?

ลำดับขั้นตอนสามารถเขียนเป็นผังได้ดังนี้

พระพุทธวจนะ -> คำแปลเป็นภาษาไทย -> การอธิบายเนื้อหาข้อความที่แปลมาแล้ว (การตีความ)

สำหรับ พระพุทธวจนะ และคำแปลเป็นภาษาไทย.. ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหามาศึกษาเรียนรู้ เพราะมีขายตามร้านหนังสือ .. รวมทั้งมีเผยแผ่อยู่ในรูป ไฟล์ PDF ตามเวปซึ่งเปิดอ่านได้สะดวกมาก .. ใน Link ขวามือ ด้านล่างสุดนี่ก็ทำไว้ให้แล้ว .. แค่ คลิกเดียวเอง ..


พระพุทธวจนะจากพระโอษฐ์



ปัญหาใหญ่ของประเด็น ความรู้ที่ถูกต้อง คือการตีความ การอธิบายความ นี่เอง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การตีความแบบไหนถึงถูกต้อง ?

ก็ต้องกลับไปหา หลักใหญ่ใจความของพุทธศาสนา ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นหลักอ้างอิง
.
เป็นต้นว่า ..
..หลักไตรลักษณ์
..หลักมหาปเทส 4
..หลักอริยสัจจ์
เป็นต้น ว่ามีนัยแห่งความที่ลงกันได้หรือสอดรับกันแค่ไหน ?
.

เจตนารมณ์ ของพุทธะเพื่อชนหมู่มาก ..ว่า คำสอนเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนนั้น .. ควรเป็นสิ่งที่มหาชนจะเรียนรู้ ปฏิบัติ แล้วได้รับผลตามควรแก่การปฏิบัตินั้นแค่ไหน เพียงไร .. และควรได้รับผลในขณะปัจจุบันเลยเพื่อสอดรับกับการกล่อมเกลาจิตใจตนเองที่สามารถรับรู้ได้โดยตรง ไม่ต้องรอไปในกาลข้างหน้าที่จิตในกาลปัจจุบันไม่อาจรู้ได้

การตีความข้อธรรมที่ถูกต้องควรเป็นไปเพื่อ ..
.. กำจัดความเห็นแก่ตัว หรือไม่
.. กำจัดความรู้สึกว่าตัวเรา ตัวเขา หรือไม่
.. กำจัดความละโมบ หรือไม่
.. กำจัดความมืดบอด งมงาย หรือไม่
.. กำจัดความเย่อหยิ่ง ถือตัว หรือไม่
.. กำจัดความอาฆาต พยาบาท หรือ ไม่
ฯลฯ

ซึ่งโดยสามัญสำนึก ย่อมสามารถพิจารณาได้เองระดับหนึ่งอยู่แล้วในคนทั่วไป

ยกตัวอย่างเรื่อง วิญญาณ เป็นต้น
วิญญาณ 6 ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป จากช่องทวารทั้ง 6 นั้นสอดรับกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไม่ .. และในพระพุทธวจนะได้กล่าวถึงเรื่อง วิญญาณ ไว้อย่างไร ?

หรือวิญญาณล่องลอยออกจากร่างที่ตายแล้ว มุดเข้าท้องหญิงมีครรภ์ ตั้งภาวะขึ้นใหม่ในร่างเด็กทารก แล้วอาศัยอยู่ในร่างนั้น จนเกิด จนโต จนแก่ จนตาย แล้วออกล่องลอยอีก ไปหาหญิงมีครรภ์คนต่อมาอีก รอบแล้วรอบเล่า โดยนับเนื่องเป็นบุคคลคนเดียวกันมาโดยตลอด – วิญญาณแบบนี้สอดรับกับหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไม่ ?


ความรู้ที่ถูกต้อง จึงจำต้องปรับให้มีแนบเนื่องในตนเสียก่อนที่จะเที่ยวหลับหูหลับตามุ่งมั่นปฏิบัติโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้



จริตแห่งตน ที่ต้องกับความรู้ที่ถูกต้อง – มีอยู่ในผู้ใด นั่นย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่กระแสอริยะสัจจ์ หากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบที่เหลืออีก 7 อย่าง ตามที่ยกมาข้างบนเท่านั้น


หาไม่แล้ว ..

ปฏิบัติไปเถิด - ขอรับรองว่า .. ตายเปล่า !





Create Date : 31 มีนาคม 2555
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2563 17:56:56 น. 11 comments
Counter : 2514 Pageviews.

 

สดายุ..

"มรรคแปด" กับ"อริยสัจสี่" นี่ มินตราต้องท่อง ทำคะแนน
ในวิชาหน้าที่ศีลธรรม..ตอนที่ท่องคุณครูบังคับ..
แต่ตอนนี้ยังคงติดตัวอยู่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน..
"ท่านว่า" คนดี ต้องยึดถือมรรคแปด ไว้เป็นคติสอนใจ..
"ท่านว่า"อีกนั่นแหละว่า เด็กนั้นเหมือนน้ำ ยังไม่มีรูปมีแบบจึงต้องมี"ฟอร์ม"เป็นกรอบให้ปฎิบัติตาม..ให้ยึดเหนี่ยว..
คงเป็น"แผนที่"อย่างที่สดายุ ว่าไว้นั่นแหละ..
เดินป่าไม่มีแผนที่ก็จะหลงทาง...

ได้มาเท่านี้เองจากศาสนาพุทธ..แต่มีประโยชน์สำหรับชีวิต..

ส่วนเรื่องวัฎจักรแห่งกรรม(circle of life)แม้นสดายุจะไม่เชื่อ..แต่ในวิชาชีวะวิทยา(Biology)และตามทฤษฎีเหตุและผล(Causal Theory) มินตรายังเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า พุทธ ที่พูดพูดกันด้วยภาษาแขกนะ..จนปัญญาตั้งแต่ปะทะกับภาษาแล้ว

นี่จะปะทะกับเจ้าของเวปอีกไหมนี่...? ? ?






โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.165.29 วันที่: 31 มีนาคม 2555 เวลา:18:14:35 น.  

 
มินตรา...

กรรม ตัวนี้เราต้องรู้ความหมายให้แน่ชัดลงไปก่อนว่าคืออะไร ?
จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ มีว่า ..

.............
กรรม - การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)

การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”
กรรม ๒- กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ

๑. อกุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล

๒. กุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล


กรรม ๓ - กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ
๑. กายกรรม การกระทำทางกาย
๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา
๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ
................


การเชื่อหรือไม่เชื่อของผม ยึดเอาหลักการใหญ่ของพุทธมาจับ...เนื่องจากว่า สิ่งที่เป็นความเชื่อสืบทอดตามๆกันมา และ สิ่งที่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง นั้นต่างกัน อย่างตรงกันข้าม...

คือ การที่มีการจัดเอา กรรม ไปติดตังกับชาติอดีต ที่เรียกว่า บุพกรรม แล้วส่งผลมาถึงชาติปัจจุบัน ว่าเป็นความสืบเนื่องติดตามมา...ของคนๆเดิมที่เคยทำไว้ นั้น เป็นการกล่าวแบบ ...สัสสตทิฏฐิ .. คำนี้คืออะไร เปิดความหมายดู

สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ

..........


เห็นไหมว่าแนวคิดการสืบทอดดวงวิญญาณข้ามภพข้ามชาติแบบนั้นจัดเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นที่ผิด...เพราะวิญญาณแบบนั้นไม่มีในพุทธศาสนา...เรามีแต่วิญญาณ 6 เท่านั้นเอง

ดังนั้น เรื่องกรรม ที่มีเจตนากำกับในการกระทำนั้น จุดใหญ่ใจความก็คือ เจตนารมย์ ที่กอปรอยู่ด้วยอวิชชาขณะสร้างการกระทำ เป็นสำคัญ...และส่งผลทันทีด้วยการรับรู้ของจิตผู้กระทำนั้นๆ เป็นความรู้สึกผิด ความรู้สึกถูก คือวิบาก

เพราะเจตนารมย์ของศาสนา ต้องการดับทุกข์ในปัจจุบัน ไม่ใช่ชาติหน้าที่ไม่อาจรู้ได้ ไม่อาจเห็นได้ .. โดยการจัดการกับ"โลกในกาย-จิต" นี้เอง ...ไม่ใช่โลกแบบที่บรรยายในไตรภูมิพระร่วง...อันเป็นเรื่องนิยายปรัมปรา เขาพระสุเมรุ นรกทุกขุม สวรรค์ทุกชั้นอะไรพวกนั้น...

อันคนธรรมดาทั่วไปจะเห็นได้อย่างไร ?
จะสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร ?

แต่การที่ตามองเห็นสิ่งน่าเกลียด/น่ารัก
หูได้ยินคำว่าร้ายนินทา/สรรเสริญ
จมูกได้กลิ่นเหม็น/หอม
ลิ้นได้รับรสที่ชอบ/ไม่ชอบ
ผิวกายได้รับการสัมผัสที่ชอบ/ถูกทำร้าย
จิตคอยคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ทั้งสุข/ทุกข์

เรื่องเหล่านี้ต่างหากที่ ... คำสอนในศาสนามีหน้าที่ช่วยจัดการให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี ในทันทีในชาตินี้ ... หาใช่ในชาติต่อๆไปไม่ ที่เราก็ไม่รู้ว่ามีหรือไม่

รวมทั้งจะตอบรับกับหลักกาลามสูตร "ความที่ยังไม่ควรเชื่อ 10 ประการ" ได้อย่างไรกับเรื่องนรก สวรรค์ แบบนั้น ?

ไม่ว่าคนอินเดียในยุคพุทธกาล...หรือคนไทยในยุคเพื่อไทยครองเมืองนี้...ย่อมต้องดับทุกข์ในจิตใจภายในชั่วชีวิตนี้เหมือนกันทั้งสิ้น...ไม่ได้ต้องการไปดับเอาชาติหน้า หรือ อีก 5-10 ชาติถัดไปแต่อย่างใด


จริงไหม ?


สามัญสำนึกสามารถบอกเราได้เลยว่า
อะไรควรเป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้อง

โลกในกายที่สัมผัสได้ที่จำเป็นต้องจัดการในชีวิตประจำวัน หรือ โลกแบบที่บรรยายในไตรภูมิพระร่วงที่ว่า ภูเขาสูงเท่าไร ดินหนาเท่าไร น้ำหนาเท่าไร นรกกี่ขุม สวรรค์กี่ชั้นพวกนั้น

จริงไหม ?


ไม่มีการปะทะอะไรทั้งสิ้น หากพูดกันด้วยเหตุผล...


โดย: สดายุ... วันที่: 31 มีนาคม 2555 เวลา:22:15:24 น.  

 

ดายุ..

หาก ถามและตอบ โดยใช้ เหตุ และ ผลเช่นนี้
"กรรม"ก็คือการกระทำ(action) ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก...นี่รับได้นะคะ..และเป็นพุทธ ที่มินตราได้รับมาจากโรงเรียน จากบ้าน จากสังคมที่อยู่..

ไตรภูมิพระร่วงที่เรียนมา ก็ทราบว่า ผู้ใหญ่เอาไว้ ดุ ไว้พูดให้กลัวเวลาจะขู่ มิให้ทำอะไรต่างไปจากที่ผู้ใหญ่จะควบคุมได้ เช่น มือจะโตเท่าใบตาล หากตีผู้ใหญ่..

ศาสนาพุทธ มีไว้ดับทุกข์ในชาตินี้ นั้น ก็เป็นที่ยอมรับกันในนักปรัชญาทั้งทางโลกและทางธรรม นี่สรุปได้นะคะ ทุกคนยอมรับ

แต่"ดวงวิญญาณข้ามภพข้ามชาติ" นี่ ..ยังไม่มีใครสรุป อะไรได้..ยังคงเป็นวิวัฒนาการที่ "รับ" หรือ"ไม่รับ" กันอยู่ซึ่งมินตราก็ยังกังขาว่า ทำไม คนเราจึงมาผูกพันกันได้ ทั้งทั้งที่ยังไม่เคย"สนิทชิดเชื้อมาก่อน"...
เป็นเรื่องทางจิตวิญญาน(psychology)ใช่ไหม..นั่นชอบ นี่ถูกใจ..
แต่ ทางชีวะวิทยา(Biology)ก็มีอธิบาย"ความต่อเนื่อง"กันนะ
ลูกไก่ ย่อมมาจากแม่ไก่..จากอนูเล็กเล็กที่มาในรูปของ ไข่ไก่
เพราะฉะนั้น "คุณสมบัติ"ของไก่ ก็ยังคงอยู่และไม่สูญสลายไปซิคะ..เป็น"จิตวิญญาน"ที่สืบทอดต่อมิใช่รึ...



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.167.2 วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:17:23:54 น.  

 

มินตรา...

เมื่อรูปกายแตกดับ .. ทวารทั้ง 6 ย่อมดับไป .. วิญญาณทั้ง 6 ก็ไม่อาจมีได้

Psychology นั้น คือเรื่องจิตวิทยา ไม่ใช่ จิตวิญญาณ

Spiritual คือ จิต วิญญาณ ที่ผมพูดถึง มันคนละความหมายกัน...

วิญญาณ ในทางศาสนาเราใช้คำนี้ Spirit หรือ Soul


ส่วนการสืบเนื่องที่ว่า มันคนละประเด็นกัน
ในทางชีวะวิทยา .. การสืบต่อนั่นมันเป็นเรื่องทางพันธุกรรม ที่เป็นรูปธรรม - DNA

DNA นั้นเป็นเรื่องทางรูปธรรมเขาถึงพิสูจน์กันได้ เพราะมีรูปให้เห็น แม้จะแฝงคุณสมบัติบางประการสืบต่อมาได้เช่น ความฉลาด ความอ่อนแอ ความเหมือน ความต่าง

รูปธรรม หน่วยย่อยสุด ก็คงเป็นเรื่อง นิวเคลียส(โปรตอน+นิวตรอน) ที่เป็นจุดศูนย์กลาง และมีอิเลคตรอน หมุนรอบ ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

พูดถึงแล้วก็ว่าต่ออีกสักหน่อยว่า ..

การเคลื่อนไหวของอิเลคตรอนรอบนิวเคลียสนี่เอง ที่สอดคล้องกับหลัก..

.. การเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหล หรือ กฎอนิจจัง ของพุทธ
.. กฎแห่งวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาวิน
.. ความเปลี่ยนแปลงเป็นสภาวธรรมชาติของจักรวาล ของ เฮราคลิตุส (Heraclitus: ก่อน คศ. 504-501.) นักคิดจากตระกูลสูงแห่งเอเฟซุส (Ephesus) ผู้มีจินตนาการทางความคิด และได้รับการยกย่องในสถานะสำคัญเทียบชั้นกับปรัชญาเมธีเพลโต และนักปรัชญาสโตอิค (Stoic) เขาเป็นนักคิดที่ได้รับความชื่นชมอย่างสูงจากนักคิดชั้นนำของโลกอย่างเช่น เฮเกล (Hegel) และนิทซ์ช (Nietzsche) ซึ่งเป็นนักคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่

เฮราคลิตุส เป็นปรัชญาเมธีชาวกรีก ผู้ประกาศว่า เขามีความเชื่อว่า จักรวาลมีสภาวะเป็นกระแสของความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย (a constant state of flux or change)

.....

ที่ไม่ยอมให้สิ่งใดหยุดอยู่กับที่เลย แม้ในก้อนหินก้อนหนึ่ง...ที่ภายในเนื้อมันที่เราเห็นนิ่งๆนั่นแหละยังมีการเคลื่อนไหวของอิเลคตรอนรอบนิวเคลียส

ที่ผมพูดเรื่อง วิญญาณ ข้ามภพข้ามชาตินั้น ...
พูดถึงในฐานะที่เป็นแนวคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิในศาสนาพุทธ
เป็นการสืบทอดแนวคิดของพราหมณ์มามั่วปนลงในศาสนาพุทธของคนโบราณ (พระพุทธโฆษาจารย์ผู้เขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค เขียนขึ้นประมาณ พศ. 1500 )

เพราะเป็นแนวคิดของการสืบทอดภาวะแบบส่งต่อสืบเนื่องตามมาของชีวิตก่อนตาย หลังตายแล้วไปเกิดใหม่ แล้วเติบโต แก่ตายอีก แล้วไปเกิดใหม่อีก รอบแล้วรอบเล่า ว่ายังเป็นบุคคลเดิมเดียวอยู่ แปลว่า ไม่เปลี่ยนแปลง แปลว่า เที่ยงแท้ นี่คือหลักคิดแบบ อาตมัน ของพราหมณ์

และการสืบทอดต่อเนื่องนี้ เป็นการสืบทอดทางจิตวิญญาณ (Spiritual) เท่านั้น ..แตกต่างรูปกายกัน...

ที่เราเพ่งไปที่ เรื่อง spirit เพราะทาง body (รูปขันธ์) นั้นไม่ใช่ปัญหา ไม่มีปัญหาอะไร .. เพราะ ทุกข์โศก ความคร่ำครวญทรมาน มันอยู่ที่ จิตใจเป็นหลัก

ดังนี้ขอรับ


โดย: สดายุ... วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:19:38:16 น.  

 

ดายุคะ..


" ความเปลี่ยนแปลงเป็นสภาวธรรมชาติของจักรวาล ของ เฮราคลิตุส (Heraclitus: ก่อน คศ. 504-501.)"...จนถึง
" เฮเกล (Hegel) และนิทซ์ช (Nietzsche) ซึ่งเป็นนักคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่" นี่ มินตราเข้าใจ..

ฉะนั้น หากแยกเรื่อง ออกอย่างนี้ ก็จะเข้าใจชัดเจนมากกว่าใช้ภาษาแขกอธิบายนะ

อย่างนั้น การที่เราจะไม่มีทุกข์และไม่ผูกพันกับสิ่งใดใด คือการที่เราเพิกเฉยไม่เดือดไม่ร้อนกับใครใครเค้าซิ...มิออกจะไร้น้ำใจรึ..ทั้งทั้งที่มนุษย์เป็น"สัตว์สังคม"ต้องอยู่ร่วมกัน



โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.167.2 วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:20:17:36 น.  

 


มินตรา...

"... การที่เราจะไม่มีทุกข์และไม่ผูกพันกับสิ่งใดใด คือการที่เราเพิกเฉยไม่เดือดไม่ร้อนกับใครใครเค้าซิ ..."

จะเข้าใจประเด็นนี้ต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน ..
ความยึดติด ยึดมั่น หรือ อุปาทาน (attachment) นั้นจะเป็นตัวแยกหรือรวมจิตใจเราเข้ากับเหตุการณ์หนึ่งๆ

ความมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ สังคมแวดล้อมทำได้เต็มที่ตามกำลังความสามารถและกำลังสติปัญญา หรือ กำลังทรัพย์ แล้วแต่กรณี..หากเต็มที่หรือสุดความสามารถเราแล้ว ที่เหลือนั้นเราต้องวาง"อุเบกขา หรือ วางเฉย" อย่างเข้าใจต่อโลก เพราะเราแต่ละคนไม่สามารถแบกโลกไว้ทั้งหมดได้ จริงไหม

การมีจิตช่วยเหลือ ผู้อื่น หรือสังคมส่วนรวม นั่นคือ เมตตา กรุณา คือการที่จิตวิญญาณเอาชนะ"ตัวตน หรือ อัตตา หรือ ego "ลงได้ คือทำลายตัวตนที่แนบแน่นอยู่กับตัวเองทุกขณะจิตลงได้เป็นครั้งคราว .. เพราะคิดเพื่อผู้อื่น

นั่นย่อมเป็น .. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม .. ข้อ 2

การวางเฉย - อุเบกขา นี้ เป็นคนละอย่างกับ การไม่สนใจโลก ..

ไม่สนใจโลก .. คือคิดถึงแต่ตนเอง - อัตตารุนแรง

อุเบกขา .. คือการวางเฉยอย่างเข้าใจต่อ สิ่งยั่วยุที่แวดล้อมอยู่ทั้งด้านบวกด้านลบ .. สิ่งที่เกินกำลังความสามารถที่ตัวเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วม - อัตตาน้อย

ศาสนาพุทธ สอนให้มีสติทุกการกระทบ ของปัจจัยคู่

ตากับรูป
หูกับเสียง
จมูกกับกลิ่น
ลิ้นกับรส
กายกับการสัมผัส
จิตกับเรื่องราว

แค่นี้เอง


โดย: สดายุ... วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:21:15:02 น.  

 

ดายุ..

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่น่ะ พรหมวิหารสี่ ไม่ใช่รึ
จำได้ว่า ใครจะเป็นครูคนต้องมีพรหมวิหารสี่..
อุเบกขา นี่แหละ เป็นสิ่งยากสำหรับมินตรา คือทำใจไม่ได้เวลาทำอะไรไม่สำเร็จอย่างใจคิด..
จะไม่มีความสุข จนกว่าจะไปส่งจนถึงจุดหมาย...
หมายถึงเวลามินตราตั้งใจจะช่วยเหลือใครน่ะค่ะ แย่นะ..


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.167.2 วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:22:17:17 น.  

 

ตายจริง..หลวงพี่..
นี่หลอกให้เข้ามาโต้แย้งในเวทีศาสนาแล้วนี่ !
ไปชื่นชมความหวานความหอมของภาษาที่นารีปราโมท ดีกว่านะ
ยังไม่อยากทำตนเป็นแม่พระ เป็นได้เพียง พระเพลิง 555


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.167.2 วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:22:27:34 น.  

 


มินตรา...

การไม่มีความสุขหากทำอะไรได้ไม่สำเร็จตามที่คิด นั้นแปลว่า
เรายังยึดติด ยึดมั่น กับ"คุณค่าที่เราสร้างขึ้นมาเอง" ที่เรียกว่า อุปาทาน จนรู้ไม่ทัน วางเฉยไม่ได้

แสดงว่าจิตเรายังฝึกมาไม่ดีพอ ที่จะเข้าใจโลกแวดล้อมตัวเรา

เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ภายนอกตัว แต่ไม่ได้สร้าง เราจึงไม่อาจควบคุมจัดการได้

เราเป็นผู้สร้างโลก ภายในตัว (ภายในจิต) สร้างจาก สังขาร คืออำนาจการปรุงแต่งในจิต ที่เกิดเพราะจิตเราปราศจากความรู้ในเรื่องโลกสภาพตามที่เป็นจริง

โลกภายในตัว จึงเป็นแบบจำลองของโลกภายนอกตัว
หากเราเข้าใจโลกภายในตัวได้ดีจนควบคุมจัดการได้แล้ว (คือควบคุมสังขารได้)

โลกภายนอกตัวก็จะไม่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนแก่จิตใจเราได้ .. ที่เขาเรียกว่า อยู่เหนือโลก ..

เหนือ คือ อุดร
โลก+อุดร = โลกอุดร (รวมคำกันโดยการสนธิ ก็จะได้คำนี้) ..โลกุตระ

เช่น..เรารู้ว่าทุกคนต้องตาย ไม่มีใครไม่ตาย แม้แต่ พระบรมศาสดา พระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในโลก ทุกคนล้วนต้องตาย..ความตายนี่เป็นเรื่องที่ต้องเกิดแน่แท้...กับทุกคน

แต่ พอมีความตายเกิดขึ้นกับคนที่รัก จิตเรากลับไม่ยอมรับ กลับยังคร่ำครวญ โศกเศร้า ทุกข์เทวษ .. เพราะอะไร ?

ขณะที่จิตพระอรหันต์ เมื่อรับรู้ความตายของบุคคลใกล้ชิด ดวงจิตที่มีกำลังพอ รวดเร็วพอนั้น ก็รับรู้รับทราบและเข้าใจถึงธรรมชาติของร่างกายได้ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ เหมือนการมองเห็นต้นไม้สักต้นโค่นล้มลงเพราะถึงเวลาผุพังของลำต้นก็จะไม่โศกเศร้า ไม่คร่ำครวญ

เหมือน ..
การที่นาย ก.นั่งอยู่ริมน้ำ แล้วเฝ้าตะโกนให้สายน้ำหยุดไหล...กับ
การที่นาย ข. นั่งร้องไห้ คร่ำครวญกับการตายของคนรัก ...

ใครบ้ามากกว่ากัน ?

การตายของชีวิตบนโลก .. อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหล อันไม่มีใครฝืนได้ .. ใช่หรือไม่

การไหลของสายน้ำลงที่ต่ำ ก็เป็นสภาพธรรมเดียวกัน ไม่มีใครฝืนได้ .. ใช่หรือไม่

ดังนั้น การที่จิตใจพยายามคิดฝืนกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ย่อมเป็นความบ้าโดยแท้ จริงไหม ?

ดังนั้น .. การ "ทำใจไม่ได้เวลาทำอะไรไม่สำเร็จอย่างใจคิด..
จะไม่มีความสุข จนกว่าจะไปส่งจนถึงจุดหมาย.." นั้น คงต้องลองฝึกจิตดูใหม่ ไม่งั้น จะเป็นแบบตัวอย่างที่ยกมา..

สาธุ
อิๆ


โดย: สดายุ... วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:10:57:47 น.  

 

สดายุ..

"เรายังยึดติด ยึดมั่น กับ"คุณค่าที่เราสร้างขึ้นมาเอง" ที่เรียกว่า อุปาทาน จนรู้ไม่ทัน วางเฉยไม่ได้"

อย่างนั้น "อุปาทาน"นี่ก็คือ ความหลอกหลอนในความคิดของเราซินะ..คิดขึ้นมาเอง นึกขึ้นมาเอง..จู่จู่ ก็ปั้นเรื่องขึ้นมา..อย่างนี้ภาษาจิตวิทยาก็ถือว่า เป็นโรคทางจิต คือ "บ้า" ใช่ไหม..
อยู่ในโลกที่ตนเองสร้างมา ซิคะนี่..
แล้วทำไม ความเป็นจริง ในโลกจริงจริงนอกตัวเรา จึงมี"หลักฐานจริง"(Matter)มาประกอบล่ะ..ดุจว่า เราเล่นเกมส์ memoryจั่วไพ่ขึ้นมา แล้วได้ไพ่ตามที่เราคิด..อย่างที่ทางจิตวิทยา บอกว่ามี
"ประสาทสัมผัส พิเศษ"(sixth sense)

เรื่อง"ความพิเศษของประสาทสัมผัส"(เฉพาะในบางคน)นี่ ทางวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ามี แต่ยังหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้..

ดูเหมือน พุทธในแนวทางที่ สดายุปฎิเสธ นี่ จะไม่มีนะ..
ศาสนาพุทธที่มินตราเรียนมา ก็ไม่มี..หมายถึงเรียนในวิชาหน้าที่ศีลธรรมน่ะค่ะ จะอธิบายว่ายังไงล่ะ เรื่อง"ประสาทสัมผัส พิเศษ"(sixth sense)นี่

เรื่อง"อุเบกขา"นี่ มินตรามีความรู้สึก แปลกแปลก..เหมือนการ"ไร้น้ำใจ" เมื่อช่วยไม่ได้ ก็"เพิกเฉย" ทำเป็นไม่มี ไม่รู้ไป
อาจจะเป็นด้วยเหตุฉะนี้ จึงมีการวาง"อุเบกขา"กันทั้งประเทศในการที่เกิดการฆ่าประชาชนกลางกรุง

นี่น่าจะเป็นจุด"เอาตัวรอด"ของศาสนาพุทธ เมื่อต้องเผชิญปัญหาที่แก้ไม่ได้..
"ความไม่รับผิดชอบต่อสังคม"คือการใช้คำว่า "ไปหาวิเวก"...
ใช่รึเปล่า...
ไม่รับ ไม่รู้ ก็ไม่มีความทุกข์..
คนอื่นที่เดือดร้อนคือ"คนบ้า" วาดภาพหลอนตนไปเอง...








โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.160.41 วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:16:09:31 น.  

 
มินตรา....

เท่าที่อ่านดูที่เขียนมา...รู้สึกว่าจะเอาเรื่องทางจิตวิทยามาทำความเข้าใจเรื่องทางจิตวิญญาณอยู่ .. โดยอาจฟัง อ่าน มาจากเวปการเมืองบ้าง ที่ผู้เขียนคิดนึกแล้วสรุปความเห็นเอาเอง

การมองปัญหาการเมืองไทยด้วยสายตาของโลกตะวันตก ไม่มีทางทำความเข้าใจได้ .. เพราะห่างไกลจากบริบทอันเป็นจริงในสังคมประจำวัน .. ที่แม้แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพจำนวนมากยังไม่อาจเข้าใจพฤติกรรมจำนวนไม่น้อยในสังคมบ้านนอกได้เลย..

ดังนั้นอย่าพยายามทำเป็นรู้ดีในดินแดนที่ห่างออกไปเป็นพันไมล์เช่นนั้น .. คนที่รู้เขาจะแย้มหัวเอาได้


ลองเอา "ราชประสงค์ occupied" กับ "wall street occupied" มาวางเปรียบเทียบลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐดูว่า ..

... การรบกวนต่อสังคมส่วนรวม มากน้อยต่างกันแค่ไหน ?

... ลำดับขั้นตอนของมาตรการภาครัฐที่ทะยอยออกมาบังคับใช้ต่อผู้ร่วมชุมนุม ถูกต้องมีขั้นตอน หรือ ลัดขั้นตอนทางกฎหมาย ?

... การเข้าสู่กระบวนการสืบสวนที่คร่อมช่วงเวลาของ"อำนาจรัฐที่ยึดกุม" ของทั้ง 2 ฝ่ายคู่กรณี ว่าเหตุการณ์เกิด เดือน พฤกษภา
อยู่ในช่วงอำนาจรัฐเก่า 14 เดือน และหลัง กรกฎา จนบัดนี้ 8 เดือนแล้วอยู่ในอำนาจรัฐใหม่ - มัวทำอะไรอยู่ .. และทำไมไม่เรียกร้องกันเอง ?

... การเร่งเร้าเหตุการณ์ของแกนนำการชุมนุมก่อนได้อำนาจรัฐ..กับหลังยึดกุมอำนาจรัฐที่ อารมณ์ต้องการความถูกต้องยุติธรรม ทำไมมันเย็นลงได้มากมายขนาดนี้จนทอดเวลามาเนิ่นนาน ?
จตุพร ณัฏวุฒิ เหวง มัวทำอะไรอยู่ .. ทำไมไม่ปิดราชประสงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเอาคนผิดมาลงโทษ ในบัดดล ?

... อำนาจรัฐอยู่ในมือใคร ? แล้วทำไมถึง อุเบกขา ในการทำความจริงให้ปรากฎ ? กี่เดือนแล้วที่ครองอำนาจรัฐ ?

ลองตอบคำถามที่ถามทั้งหมดให้ได้แล้วค่อยเปิดประเด็นพวกนี้

........................


อย่าเพิ่งเอาหลักการทางศาสนา ที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจเอาเลย
มาปน .. เพราะยังเข้าใจได้ไม่มากพอ

คำที่ถามมา...ลองเปิดดูใน Link -ขวามือบรรทัดที่ 2
- - > พจนานุกรมพุทธศาสน์


อุปาทาน -
ความยึดมั่น,ความถือมั่นด้วยอำนาจของกิเลสตน ก็เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเป็นเอก หรือเป็นสำคัญนั่นเอง


อุเบกขา -
การเป็นกลางวางทีเฉย กล่าวคือ มีสติรู้เท่าทันสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนั้นๆตามเป็นจริง และเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้นแล้ว แต่ก็ย่อมเกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้าง,ทุกข์บ้าง,อทุกขมสุขบ้าง(คือเวทนา) อย่างไรก็รู้สึกอย่างนั้นอันย่อมเป็นไปตามธรรม ไม่ต้องฝืน แต่ต้องเป็นกลางโดยการวางทีเฉยต่อธรรมหรือสิ่งที่ควรเหล่านั้นเสีย

เป็นกลางวางทีเฉย ที่หมายถึง เจตนากระทำโดยอาการไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซง ไม่พัวพันเข้าไปคิด,นึก,ปรุงแต่ง ไม่ว่าในฝ่ายที่ว่า เราเขา, ดีหรือชั่ว, ถูกหรือผิด บุญบาป ฯ. ก็ตามที เพราะมักเป็นการหลอกล่อของจิต ให้ไปปรุงแต่ง (เพราะการปรุงแต่งต่างๆล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆ อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา>>อุปาทานต่างๆ จึงยังให้เกิดทุกข์อุปาทานอันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายยิ่งกว่าทุกขเวทนา(อันเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ)

และย่อมเป็นไปอย่างต่อเนื่องแสนยาวนานในชรา และเกิดอาสวะกิเลส อันล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง), อุเบกขาเป็นองค์ธรรมข้อสุดท้ายในสัมโพชฌงค์๗ ที่ยังให้ทั้งวิชาและวิมุตติบริบูรณ์ได้เท่านั้น



โดย: สดายุ... วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:21:35:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.