Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
2 กุมภาพันธ์ 2560
 
All Blogs
 

O เหมันตะกาล .. O








จระเข้หางยาว (ทางสักวา) - อ.ชัยภัค ภัทรจินดา



O แล้วเล่าสายลมเอยรำเพยแผ่ว
เช่นดั่งแววตาเจ้าคอยเฝ้าเหลียว
วับวามนัยซ่อนเร้นดั่งเส้นเกลียว
นั้น-ค่อยเหนี่ยวอีกใจสั่นไหวรับ !
O หอมลมร่ำแผ่วผ่าน, อีกหวานหอม-
ราวจักคอยแวดล้อมอยู่พร้อมสรรพ
อีกหวานนั้นราวจะปริ่มทุกพริ้มพรับ
ฤา-เพื่อตรึงภาพประทับแนบกับใจ ?
O ดอกแดดทอ-ลออพร่างที่กลางฟ้า
เมื่อแววตาคู่นั้น .. คล้ายสั่นไหว
เสียงนกแว่วซ้ำซ้ำ, ความร่ำไร-
ก็อบอวลความนัยกลางใจคน
O ความอ้อยอิ่ง .. อิดออดเหมือนพลอดพร่ำ-
กับแววตารื่นล้ำอยู่ซ้ำหน
นัยแฝงเร้นโผนผก .. ราว-วกวน-
เข้าหว่านล้อมลวกลนทุกหนทาง
O กลางลมรื่นแผ่วโรยอยู่โดยรอบ
ตาแอบลอบชายชม้อยเหมือนคอยขวาง
จริตรูป .. บีบเค้นไม่เว้นวาง
ฤา-บุญสร้างวางภพให้สบกัน ?
O ก็ชั่วลมป่ายริ้วเกลี่ยผิวแก้ม
งามก็แต้มรูปละม่อมลงล้อมขวัญ
ชั่วแววตาซ่อนนัย-สั่นไหว, พลัน-
ความไหวสั่นก็ระรัว .. อีกขั้วใจ
O จักมีความหมายใดที่ในหล้า
เช่นรูปองค์ตรงหน้า – ฤาหาได้ ?
จะกี่รื่นลมพลิ้ว .. แล่นริ้วไป
รื่นกว่าใด .. ฤาเท่า-รื่นเช้านี้
O หอมโกสุม-ภุมรินย่อมบินว่อน
แววออดอ้อนลอบชม้าย .. ก็ชายถี่
ราวหวานหอมกุสุมา .. แทนวาที-
ฝากลมวีวาดสายรำบายความ
O ดูเอาเถิด .. อกใจผู้ไขว่คว้า
ต้องแววตาหลบสะเทิ้น .. ก็เกินข้าม
โลกแวดล้อมเลือนวูบ – เพียงรูปนาม-
นั้นคุกคามคะนึงอยู่แต่ผู้เดียว
O แววอ่อนหวานอ่อนโยนก็โชนฉาย
กับชม้ายชม้อยตอบทุกลอบเหลียว
รูปธรรมผุดพร่าง .. ล้วนร่างเพรียว
ตรึง-ยึดเหนี่ยวใจอยู่ ไม่รู้เลือน
O และจากนั้นความคะนึงทุกกึ่งยาม
ล้วนรูปนาม, ความหมายที่ป่ายเปื้อน-
แนบอกใจอาวรณ์-เฝ้าย้อนเตือน
หอมหวานที่สุดเคลื่อนให้เลือนลับ
O แล้วเล่า .. สายลมร่ำแห่งค่ำนี้
กล่อมราตรีเงียบหงอยให้คอยสดับ
สัญญาแห่งนามรูป .. ก็วูบวับ
เผยองค์ขึ้นสำทับการรับรอง
O ไร้สีสันโกสุม, ปีกภุมริน-
ย่อมร้างถิ่นรื่นฉม .. เหลือลมล่อง-
พลิ้วสายผ่านแล้วเล่าเหมือนเฝ้ามอง-
การครอบครองครวญคะนึงของหนึ่งใจ
O แล้วเล่าสายลมเอย .. รำเพยผ่าน
ทั้งความหอมความหวาน .. ฤาต้านไหว
อีกแววตาสั่นสะทกเล่า .. อกใคร-
จักสั่นไหว .. ด้วยสะเทิ้นจนเกินรั้ง
O ดอกแดดทอ-ลออพร่าง .. จืดจางแล้ว
เหลือเพียงแววตาชม้อย .. ที่คอยสั่ง
ให้อาวรณ์หวานล้ำเร่งกำลัง-
เพรียกรูปนามหลอมหลั่งสุมทั้งทรวง !




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2560
7 comments
Last Update : 2 กรกฎาคม 2566 10:40:46 น.
Counter : 4280 Pageviews.

 



บนฟ้า..เลื่อนดวงลอยให้พลอยพิศ
โอภาสทิศ..พร่างพราวทั้งหาวหน
บนโลก..เลื่อนความนัยสู่ใจคน
อาวรณ์พ้นคำเอ่ย..จักเคยมี

 

โดย: สดายุ... 4 กุมภาพันธ์ 2560 9:42:43 น.  

 

สดายุ...
ไพเราะมาก ทั้งคำ ทั้งความ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 5 กุมภาพันธ์ 2560 14:02:53 น.  

 



มินตรา ..
บทนี้เขียนใหม่ในรอบ 2 ปี ครับ
ยังดีที่มีคนชอบ .. 55

 

โดย: สดายุ... 5 กุมภาพันธ์ 2560 15:50:25 น.  

 

สดายุ..
นึกว่าใฝ่ฝันฝรั่งสาวซะอีก
ปรากฎว่ายังโปรด "ศักดินา" นะนี่
สังเกตุจากตรงนี้ :

"O จักมีความหมายใดที่ในหล้า
เช่นรูปองค์ตรงหน้า – ฤาหาได้ ?
จะกี่รื่นลมพลิ้ว .. แล่นริ้วไป
รื่นกว่าใด .. ฤาเท่า-รื่นเช้านี้ "

ในเยอรมัน หลังจากรัฐบาล"เชิญเสด็จ" พระเจ้าไคเซอร์ไปประทับ"พักผ่อน"ที่ฮอนแลนด์ ประเทศพระมเหสี แล้ว
มีการลด"สิทธิพิเศษ"ของจ้าว เช่นการให้เหรียญตราหรือการตั้งใครเป็นขุนนางใหม่ ได้
และจำกัดจ้าว ให้เหลืออยู่เฉพาะ พวกที่เกิด หรือแต่งงานกับจ้าวจึงจะนับว่าเป็นจ้าว ก็เลยมี จ้าวเพิ่มขึ้น มาก
ในเยอรมันขณะนี้มี จ้าวที่ลงทะเบียนเป็นจ้าวถึง 80.000 คน

มินตราเคยถามท่านเค้าท์ เยอรมัน ท่านหนึ่งว่าทำไม จำนวนจ้าวจึงมากขึ้น
ท่านตอบว่า ตั้งแต่ไม่มี"ภาระต้องปกครองประเทศ "
ก็เลยมีความสุขสนุกสนานมากขึ้น
ไม่มีความเครียดที่ต้องรีบผลิตจ้าว 555
เรียกว่าทำงานด้วยใจรัก !
ผลการผลิตเลยสูงขึ้น


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 5 กุมภาพันธ์ 2560 19:21:26 น.  

 



มินตรา ..
โปรดสาวฝรั่งครับ .. มากๆ
บทที่ยกมา ไม่มีคำสื่อเลยครับ
คำว่า..รูปองค์..เป็นเพียงรูปศัพท์ที่หมายถึง ร่างกาย
ในแง่ของ อัตลักษณ์ เท่านั้นเองครับ

ในเยอรมัน จ้าวคงมีทุกแคว้นนะครับ
แล้วกระบวนการคัดเลือกจ้าวขึ้นเป็นกษัตริย์เป็นอย่างไรครับ

 

โดย: สดายุ... 6 กุมภาพันธ์ 2560 6:21:14 น.  

 

สดายุ ..

ค่ะ 16 แคว้นก็ 16 ประเทศมีกฎหมายมีรัฐบาลเป็นของตน ดูจากป่าไม้จะรู้ เพราะ ป่าไม้ในเยอรมันเป็นส่วนบุคคล มิใช่ของรัฐ เป็นมรดกตกทอดของตระกูล
(ความจริงของไทยก็เช่นกัน นะ
ป่าไม้เป็นสมบัติใน"ราชอาณาจักร")

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว..ก็เป็นดินแดนของจ้าวเล็กจ้าวน้อย ที่มารวมตนกัน ผลัดกันขึ้นเป็นไคเซอร์
จากการเลือกจ้าวในแต่ละแคว้น
ระบบเดียวกับสุลต่านของอิสลาม
ของเราสมัยราชอาณาจักร ก็เป็นเช่นนั้น ล้านนา ศรีวิชัย
พม่าจึงตีเราไม่แตกไงคะ
เพราะสยามยาวไปตลอดแหลมมาลายู จนถึง ชวาสุมาตรา

ไทยเริ่มมีระบบ"ประเทศ" สมัย พระนเรศวร กระมัง
เริ่มวางระบบ4 กระทรวง คือ เวียง วัง คลัง นา แบบสากล

เอาใจช่วย ให้เจอ"คู่คิด" แบบ ดร.ปิยะบุตร นะ


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 6 กุมภาพันธ์ 2560 16:40:41 น.  

 



มินตรา ..

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้น่าสนใจมาก

ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ในยุคจ้าวนครอินทร์ หลานขุนหลวงพะงั่วแห่งสุพรรณบุรีนั้น ได้ยกกองทัพสุพรรณเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาในยุคพระยารามผู้เป็นหลานพระเจ้าอู่ทองตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ..

เป็นการบอกให้เรารู้ว่า สุพรรณบุรีเป็นอาณาจักรอิสระ ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ..

และจ้าวนครอินทร์ ผู้นี้เองที่มีลูกชาย 3 คน คือ จ้าวอ้ายพระยา จ้าวยี่พระยา และจ้าวสามพระยาอันเป็นน้องเล็ก .. พอพ่อตาย พี่ชายคนโตกับคนรองก็ยกทัพมาแย่งราชสมบัติ กระทำยุทธหัตถีชนช้างกันที่สะพานป่าถ่าน และต่างโดนง้าวของกันและกันขาดคอช้างทั้งคู่ ..

จ้าวสามพระยา น้องเล็กจึงส้มหล่นได้รับอัญเชิญขึ้นนั่งเมือง .. พอจัดการบ้านเมืองเรียบร้อย ก็ยกทัพไปตีนครวัดของขอมทันที อันเป็นตอนเริ่มต้นของโคลง "ชั่วฟ้าดินดับ"

นครวัดแตก ขอมเขมรก็ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่พนมเปญ ตั้งแต่บัดนั้น .. ตามธรรมเนียมศึก ก็ต้องกวาดต้อนคนมาใช้แรงงาน ส่วนนักปราชญ์ราชปุโรหิตในราชสำนักขอม ก็มารับใช้ในวังกรุงศรีอยุธยา ..

ขอมรับเอาพราหมณ์อันมีไตรเภทเป็นสรณะ จึงถ่ายทอดระบอบวรรณะ4 ของพราหมณ์ลงสู่ราชสำนักหลวงกรุงศรีอยุธยา .. อันมี...พราหมณ์..กษัตริย์..แพศย์...ศูทร .. ตั้งแต่ครั้งนั้น

รวมทั้งพิธีกรรมหลากหลาย ที่สืบทอดมาจนบัดนี้ก็ยังมีให้เห็นจนบัดนี้

จ้าวสามพระยามีลูกชาย ที่เป็นกษัตริย์นักปฏิรูปยิ่งใหญ่คนหนึ่งคือ พระบรมไตรโลกนารถ ผู้สถาปนาจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ..

พราหมณ์ - เวียง .. นักคิด นัดปราชญ์ ที่พึ่งทางใจ
กษัตริย์ - วัง .. นักรบ ปกป้องดินแดน
แพศย์ - คลัง .. ค้าขาย
ศูทร - นา .. แรงงาน

และตรงนี้ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของชาติสยาม ..

พระบรมไตรโลกนารถ มี ..
โอรสคนโต ชื่อ พระบรมราชาธิราชที่ 3 กวีคนสำคัญผู้เขียนโคลงดั้น ยวนพ่าย เพื่อยอพระเกียรติพระราชบิดายามเปิดศึกกับจ้าวติโลกราชแห่งล้านนา

นอกจากนี้ โคลงดั้นอีก 2 เรื่องคือ .. ทวาทศมาศ กำสรวลสมุทร ..เข้าใจว่าแต่งโดยกวีผู้นี้เช่นกัน เพราะสำนวนมันเก่าเกินยุคพระนารายณ์อย่างที่เคยสันนิษฐานกันกันเอาไว้

พระบรมราชาธิราชที่ 3 เป็นโอรสจากมหเสีเอก
เมื่อพระบรมไตรโลกนารถ ไปประทับบัญชาการศึกที่พิษณุโลกรบกับทางล้านนานั้นก็ได้โอรสองค์นี้ดูแลกิจการในกรุงศรีอยุธยา .. “ยวน” มาจาก “โยนก” หมายถึงพวกลาวพุงขาว - ล้านนา

ขณะที่พระบรมไตรฯ ไปได้มเหสีอีกองค์ที่พิษณุโลก จนมีโอรสองค์ที่ 2 นาม..พระบรมรามาธิบดีที่ 2 .. หรือในวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน เรียกว่า "พระพันวษา" .. เป็นน้องชายที่มีอายุไล่เลี่ยกันกับลูกของพี่ชาย

พระบรมไตรฯ สิ้นแล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ก็นั่งเมืองต่อได้เพียง 4 ปีก็สวรรคต ต่อจากนั้นก็เป็นน้องชายต่างแม่คือ พระบรมรามาธิบดีที่ 2 องค์นี้ครองราชนานมาก 38 ปี ..

ต่อจากนั้นลูกพี่ชายคือ ลูกของพระบรมราชาธิราชที่ 3 นาม สมเด็จหน่อพุทธางกูร ก็นั่งเมืองต่อจากอา (เพื่อนเล่นสมัยเด็ก หรือ พระพันวสา) ..

หลังจากนี้ก็เป็นพระไชยราชาธิราช ผัวของ ศรีสุดาจันทน์ ผู้อื้อฉาว ..

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเชื้อสายราชวงศ์ สุพรรณภูมิ

ผมชอบประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาช่วงนี้มากที่สุด เป็นยุคที่บ้านเมืองอยู่ดีมีสุข .. วรรณกรรมขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมชาวบ้านจากสุพรรณบุรี ในยุคสมัยที่ภาษาเหน่อกลุ่มนี้ถูกใช้เป็นภาษาเมืองหลวง ..

สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร -

พวกนี้ .. เหน่อกันทุกคน 555

 

โดย: สดายุ... 8 กุมภาพันธ์ 2560 9:11:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.