Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
4 กันยายน 2557
 
All Blogs
 

O รูปอาวรณ์ .. O








Secret Garden - Silence Speaks



O รููปเอย .. รููปแพงเจ้า ..
แต่เมื่อเผยรูปเงา .. รุมเร้าเหลือ
ราว-วรรษาพรายพิรุณ .. ลงจุนเจือ
พร้อมโอบเอื้อเย็นรื่น .. ล้อมผืนใจ
O ดื่มด่ำสร้อยเสน่หา .. ความอาวรณ์
จึงคำเอ่ยเอื้อนอ้อน .. ด้วยอ่อนไหว-
นั้น-เพื่อล่มหวั่นวิตกในอกใคร-
ด้วยเรี่ยวแรงพิสมัย .. เฝ้าไขว่คว้า
O หมายสูง .. ถึงยูงรำแพนหาง ..
จะกี่ขวางกางกั้น .. ขอฟันฝ่า
ด้วยเหลื่อมขนงามระยับนั้น-จับตา
ยอคุณค่าทอดทับ .. ให้รับรอง
O แพงทองเอย .. ละม่อมหน้ารูปราศี
พากย์รำเพยจากพี่ .. ฤๅมีสอง
หมายจู่โจมหวานเจือรูปเนื้อทอง
ผ่านพร่ำพร้อง .. พิสมัย-หัวใจมี
O รับรู้คะนึงนั้น .. ที่สั่นไหว
พร้อมรสซึ้งซ่านใน .. หัวใจที่-
อ่อนหวานด้วยอ่อนไหว .. เยื่อใยมี
เผยท่าทีคืนมอบ .. มา-ตอบแทน
O รับรู้ความออดอ้อน .. เว้าวอนพร้อม-
แรงอาวรณ์โอบล้อม .. เป็นอ้อมแขน-
ป้องกล่อมขวัญเนื้ออ่อน .. ไม่คลอนแคลน
ด้วยใจแสนทะนงอยู่ .. อย่างรู้ตน
O ลมเหนือที่เหน็บหนาว
เมื่อโหมเข้าตระหลบหาว .. อีกคราวหน
ก็อีกครั้งหวานหอม .. เข้าล้อมลน
เอื้ออุ่นปรนเปรอเจ้าให้หนาวคลาย
O ละม่อมเนื้อรูปเงา .. หนอ-เจ้าแพง
ราวสูรย์เย้ยยั่วแหล่งด้วยแสงฉาย
แววออดอ้อนยั่วย้ำเจ้ารำบาย
เกรงว่า-สายเกินการณ์จักต้านแล้ว
O จึงเมื่อเมฆหม่นทาที่ฟ้าบน
หัวใจคน .. ต้องหวาน-เริ่มซ่านแผ่ว
รื่นลมเย็นเฉื่อยโชย .. ก็โรยแนว
สูรย์ผ่องแผ้วหล่นดับ .. เลือนลับดวง
O โปรยปรายแห่งสายฝน .. น้ำหล่นไหล
พร้อมเส้นไฟวาบวนอยู่บนสรวง
ครั่นครื้นเสียงคลุ้มคลั่ง .. หล้าทั้งปวง-
ก็รับช่วง .. ฉ่ำชื้นซับผืนดิน
O ชวาลช่วงสรวงฟ้า .. อีกคราแล้ว
ดาลพร่างแพร้วยั่วหยอกระลอกสินธุ์
รูปแพงเอย .. กลางฝนที่หล่นริน-
ยังถวิลปรารถนา .. ทุกนาที
O คำรนกัมปนาท .. แล้ว-ปราดเลื้อย
เส้นไฟเฟื้อยผ่านฟ้า .. อวดราศี
อึกทึกโลดเต้น .. ความ-เป็น, มี-
ก็คลายคลี่เสน่หาให้ฝ่าเอา
O ละเม็ดฝนหล่นหยาดบำราศร้อน
เมื่ออาวรณ์แผ้วผ่าน .. เข้าผลาญ-เผา
สิ้นหยาดฝนโลมลูบ .. เหลือรูปเงา-
อยู่รุมเร้าอกใจ .. คอยไขว่คว้า
O คำรนกัมปนาทแล้ว .. ชาติภพ
แต่ย้อนสบพบเจอ .. เฝ้าเพ้อหา
ดูเถิด .. ภาพใครช่วง .. สองดวงตา
ทั้งตื่น, นอน-เสน่หา .. เต็มค่าแล้ว
O เรื่อยเรื่อย .. ริ้วสังคีตยังกรีดเสียง
แทนร้อยเรียงความถ้อย .. ให้พลอยแว่ว-
ถึงโสตผู้ยินฟัง .. เนตรปลั่งแวว-
อาวรณ์แผ้วผ่านล่วง .. สู่ทรวงนั้น
O รูปเอย .. รูปแพงเจ้า
เผย-รุมเร้าอกใจจน .. ไหวสั่น
รู้หรือไม่ .. นัยคำ .. พี่รำพัน
หมายโอบล้อมกล่อมขวัญ .. ตราบวันวาย
O รูปเอย .. รูปแพงน้อย
จะกี่ถ้อยงดงาม .. สื่อความหมาย
ฤๅอาจเทียบด้านใน .. หัวใจชาย
ด้วยสุดถ่ายทอดหมด .. ผ่านบทกลอน
O ชวาลช่วงสรวงฟ้า .. ลับลาแล้ว
เหลือดวงแก้วตรงหน้า .. แววตาซ่อน-
นัย-อ่อนหวานโลมรุกไปทุกตอน
ท่วมแล้วความอาวรณ์ .. ทุกตอน-ตน
O ชวาลาโชนช่วง .. ที่ดวงเนตร
ก็ดลเดชเข้าขืน .. ฟ้าผืน-หม่น
สิ้นสุดหยาดน้ำร่วง .. จากสรวงบน-
กลับเอ่อล้นน้ำใจ .. ที่ในตา
O ระยิบเอยแววตา .. ใต้ฟ้าต่ำ
ผ่องผกายร่ายรำ .. รุกล้ำหา
โอนอ่อนหวานอบอุ่น .. เนื่องหนุนมา
เจ้าเอย .. รู้ไหมว่า .. ใครอาวรณ์ ?




 

Create Date : 04 กันยายน 2557
12 comments
Last Update : 31 พฤษภาคม 2566 18:06:07 น.
Counter : 4487 Pageviews.

 

สดายุ..

"O หมายสูง .. ถึงยูงรำแพนหาง ..
จะกี่ขวางกางกั้น .. ขอฟันฝ่า
ด้วยเหลื่อมขนงามระยับนั้น-จับตา
ยอคุณค่าทอดทับ .. ให้รับรอง
O แพงทองเอย .. ละม่อมหน้ารูปราศี
พากย์รำเพยจากพี่ .. ฤๅมีสอง
หมายจู่โจมหวานเจือรูปเนื้อทอง
ผ่านพร่ำพร้อง .. พิสมัย-หัวใจมี "

"พากย์รำเพยจากพี่ .. ฤๅมีสอง" นี่น่ะ...
แม่นางนกยูง ..ไม่เชื่อหรอกค่ะ
ขนาดมินตรายังไม่เชื่อเลย ..
ดูภาพประกอบกลอน ก็เห็นจะจะแล้วล่ะ 555

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 4 กันยายน 2557 17:21:41 น.  

 

มินตรา ..

รูปนี้สาวน้อย เดียน่า ลิปโป คนซ้ายมือถ่ายคู่กับอีกคนไม่รู้ว่าใคร .. แต่หากไป crop ออกภาพมันจะแคบยาวไม่สวย .. ให้ถือซะว่าอีกคนเขาเป็นแค่เพื่อน"แพงเจ้า" ละกัน

เด็กลูกครึ่งฝรั่งนี่สวยเกิน 70% หมายถึง 100 คน สวยมากกว่า 70 คน ..

มินตราไหนๆก็อยู่เยอรมันก็อย่าให้เสียเปล่า .. มีสาวน้อยแสนสวยเมื่อไร .. เดี๋ยวจะจองไว้ให้หนุ่มน้อยไทยแท้ๆเอง

จากที่สังเกตุมา .. การผสมข้ามพันธุ์มักฉลาดเป็นส่วนใหญ่ จริงไหม ? .. ดูอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับลูกชาย ไจล์ จอห์น ดูสิ หน้าตาคนละเรื่องเลย


ลองถามแม่ดูก็ได้

555

 

โดย: สดายุ... 4 กันยายน 2557 20:44:21 น.  

 

สดายุ

"แม่บอกว่า" ตามหลักชีววิทยานั้น การข้ามพันธุ์ จะมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้...
ลูกชายดร.ป๋วยน่ะ เป็นตัวอย่างเลยล่ะ..555

ฉะนั้น การมี"พันธุ์แท้บริสุทธิ์" จึงเป็นที่ ใฝ่หากัน ในกลุ่มคนที่มีปัญญาจะหาได้..

แล้วทฤษฎีที่ว่า พี่น้องใกล้ชิดกัน นั้น เป็นเพราะพ่อเดียวแม่เดียวกัน..
เป็นคุณค่าทางคุณธรรมมากกว่า..มิใช่ทางชีววิทยา หรือทางวิทยาศาสตร์

หากดูตระกูลเก่าแก่ระดับผู้ปกครองไทยบางตระกูล จะเห็นว่า
เป็นการสืบสายพันธุ์ในวงสายพันธุ์เดียวกัน ..
นี่เป็นหลักถูกต้องตามชีววิทยา.. หากต้องการพันธู์แท้ มิใช่พันธุ์ทาง..

แต่เป็น "ลูกผู้พี่แต่งงานกับลูกผู้น้อง มิใช่ พี่น้องพ่อแม่เดียวกันที่แต่งงานด้วยกัน"

ตัวอย่าง การสืบสายพันธุ์ที่ต่างกัน ระหว่าง ลาตัวผู้และม้าตัวเมีย ออกมาเป็นล่อ ( Mule) เดิมเรียกว่า ฬ่อ
อย่างนี้ ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทางชีววิทยา..ต้องการใช่ไหม..
เป็น genetic re-engineering

หรือในศาสนาพราหมณ์ ตั้งแง่รังเกียจ การข้ามพันธุ์ สุดกู่เช่น ...
วรรณะกษัตริย์ แต่งงานกับวรรณะไพร่..ลูกก็จะ ออกมา เป็น..จัณฑาล..
เคยถามแม่ว่าทำไม จึงรังเกียจ..
แม่บอกว่า เด็กจะเลือกสังคมและขนบธรรมเนียมปฎิบัติตนไม่ถูกว่าควรจะทำตนเยี่ยงลูกกษัตริย์ หรือ เยี่ยงลูกไพร่ ทำให้กลายเป็นเด็กที่มีจิตใจไม่เหมือนคนปกติ..

ในสมัยอยุธยา มีกษัตริย์หลายองค์ที่ "บิดาไม่เป็นที่ปรากฎ"...
จะกร้าวร้าว แข็งแกร่ง อำมหิต พอที่จะสั่งฆ่าใครใครได้ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่..

ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ..."ห้ามเขียนประวัติศาสตร์ให้ปรากฎ จนกว่าจะเกินเวลา ร้อยปีหลังจากคนรุ่นนั้นเสียชีวิตไปแล้ว"..แต่หากสังเกตุดีดี จะเห็น..

ในเยอรมันนั้นมีกฎหมาย ห้าม"แต่งตั้งใครเป็นจ้าว"ขึ้นมาใหม่ ...
แบบที่อังกฤษมีการตั้ง Lord หรือ Baron

จ้าวเยอรมันจึงเป็นไปได้ด้วย"การสืบสายโลหิต" หรือ "ร่วมสายโลหิต"เท่านั้น

ฉะนั้น หากมินตรามีลูกสาว คงต้องให้แต่งกับชายไทย อย่างน้อยระดับ
"ทหารเอกพระบัณฑูร" กระมัง...

ทราบใช่ไหมว่า ตระกูลไหน เป็น"ทหารเอกพระบัณฑูร" มาตลอด..
ตั้งแต่พระเจ้าปราสาททอง ( พระองค์ไล) มา

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 5 กันยายน 2557 1:38:03 น.  

 

มินตรา ..

พราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์ .. เป็นการแบ่งตามอาชีพ มิใช่จากเผ่าพันธุ์ทาง genetic .. และมีไว้สำหรับอารยัน เท่านั้น

มีเพียง ศูทร เท่านั้นที่เป้นอีก genetic หนึ่งคือพวกมิลักขะ ไว้ทำงานกสิกรรม และงานกรรมกรทั้งหลาย

ส่วน จัณฑาล มีไว้สำหรับพวกที่ "ฝืนข้ามธรรมเนียม" คืออารยันนอกคอกมาแต่งกับมิลักขะ

สังคมอินเดียมันพิเศษอยู่ที่ผู้มาใหม่เป็นจ้าว คือ อารยัน (พระราม พระลักษณ์ เทวดา)และผู้อยู่ก่อนเป็นทาสไพร่ คือ มิลักขะหรือทัสสยุ (พวกยักษ์ทศกรรณ ลิงหนุมาน )..

อารยันจึงจองเป็น พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ .. และเหลือ ศูทร ไว้ให้มิลักขะ เท่านั้น

อารยัน เป็นคอเคซอยด์ มาจากทะเลสาปแคสเปี้ยน (แขกขายผ้าพาหุรัด ขาว สูงใหญ่ หน้าตาแบบฝรั่ง)

มิลักขะ เป็นนิกรอยด์ อพยพมาจากอาฟริกา (แขกขายโรตี ตัวดำ) ก่อนอารยันนับนาน

ส่วนสาวเอเชีย ซึ่งเป็นมองโกลอยด์ แต่งกับฝรั่งที่เป็นคอเคซอยด์ เป็นเรื่อง genetic ของมนุษย์ด้วยกัน .. คนละเรื่องกับการที่ ลา ผสมกับ ม้า เป็นฬ่อ หรือ เสือผสมกับสิงห์โตเป็น Liger เพราะนั่นมันสัตว์ต่างชนิดกัน

ฝรั่งผสมกับไทย ต้องเปรียบกับ ไก่แจ้ผสมไก่อู คือไก่เหมือนกันแต่คนละสายพันธุ์ หรือ หมาร๊อตไวเลอร์ผสมกับดัลเมเชียน หมาเหมือนกันแต่คนละสายพันธุ์

ยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับในแง่ลบ
แต่มีข้อสังเกตุในแง่บวกเรื่องความงามแน่นอน
ส่วนความฉลาดทาง IQ ไม่เคยอ่านเจอว่าบวกหรือลบ แต่ยังไม่เห็นเด็กลูกครึ่งคนไหน โง่ มากๆมาก่อนนะ

ทหารเอกพระบัณฑูรน่ะ .. เป็นตระกูลนักรบนะมินตรา ..และหากอ่านในประวัติศาสตร์ดูจะเห็นว่า ในสามทหารเสือพระเจ้าตากนั้น มีเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ กับ พระยาพิชัยที่ผลการรบโดดเด่น มิใช่ตระกูลที่คิดจะอ้างถึงนั่นหรอกนะ

แต่องค์ไล หรือ สมุหพระกลาโหมในยุคพระเจ้าทรงธรรมนั้น มีความเข้มแข็งเป็นผู้นำจริง หากบันทึกเชิงตำนานที่อ้างว่าเป็นลูกนอกบัลลังก์ของพระเอกาทศรถกับหญิงชาวบ้านเป็นจริง .. ก็เป็นไปได้ว่าสืบเชื้อสายกษัตริย์นักรบ จากพระนเรศวร และพระเอกาทศรถ ..





 

โดย: สดายุ... 5 กันยายน 2557 6:14:02 น.  

 


 

โดย: สดายุ... 5 กันยายน 2557 19:44:02 น.  

 

สดายุ..

พงศาวดารนั้น เป็นเรื่องที่บันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องชนชั้นสูง...

แต่หลังจากศตวรรษที่18 เมื่อชนชั้นกลางในโลกทางตะวันตกมีความรู้ความสามารถ จึงมีอำนาจมากขึ้น เกิดมีการเขียนถึงชนชั้นกลางในรูป นวนิยายขึ้น ....

เช่น “โรบินสัน ครูโซ” ( Robinson Crusoe) ของ เดเนียล เดโฟ (Deniel Defoe 1660 -1731) เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาธรรมดาที่เรือแตก

ยศ วัชรเสถียร เขียนเล่าไว้ในบทความเรื่อง “ไม้ เมืองเดิม ต้นตำรับนิยายลูกทุ่งชั้นนักเลงหัวไม้” ว่า ประมาณปี พ.ศ. 2478-2479 หนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนั้นนิยมตีพิมพ์นิยายประเภท “เกร็ดพงศาวดาร” ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารจีนหรือพงศาวดารไทย ล้วนได้รับความนิยมทั้งนั้น และเรื่องที่ประสบความสำเร็จมากก็คือ “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบ ซึ่งเป็นนวนิยายอิงพงศาวดารพม่า

ต่อมา ไม้ เมืองเดิม จึงเริ่มเขียนเรื่อง “ทหารเอกพระบัณฑูร” ลงในหนังสือพิมพ์ประมวลวัน เรื่องนี้นับว่าเป็นนวนิยายในแนวอิงพงศาวดารเรื่องแรกของเขา

สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยชำระและตรวจสอบนวนิยายเรื่อง “ทหารเอกพระบัณฑูร” แล้วพบว่า ไม้ เมืองเดิม มีความแม่นยำในข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎมณเฑียรบาลเป็นอย่างดี

มีเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ที่ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี ( สรวง ศรีเพ็ญ ) ได้ " เล่าให้ลูกฟัง" ว่า

เสน หรือ เสพ บุตรคนที่ ๓
ของเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ )นั้น
ได้โปรดเกล้าให้ไปรับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวร
ซึ่งเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์
( เจ้าฟ้ากุ้งก็เรียก ) ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชอยู่ได้โปรดตั้งให้เป็น
พระยาเสน่ห์หาภูธร ( เสน หรือ เสพ ) จางวางมหาดเล็ก
ครั้นต่อมาเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์
ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวร ต้องราชทัณฑ์ถึงเสียพระชนม์ชีพ
จึงโปรดตั้งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ
(เจ้าฟ้าดอกเดื่อก็เรียก ) เป็นกรมพระราชวังบวร
ต่อมาในสมัยนี้ได้โปรดตั้งพระยาเสน่หาภูธร ( เสน หรือ เสพ )
เป็นพระยาจ่าแสนยากร ( เสน หรือ เสพ ) ตำแหน่งอธิบดีกรมมหาดไทยวังหน้า
คำสามัญเรียกท่านว่า เจ้าคุณจักรีวังหน้า

พระยาจ่าแสนยากร ( เสน )
เมื่อครั้งเป็นพระยาเสน่ห์หาภูธรอยู่นั้น รับราชการอยู่ในกรมพระราชวับวร
ก็ได้รับพระราชทาน หม่อมบุญศรี พระสนมในพระองค์ท่านให้มาเป็นภรรยา
มีบุตรด้วยกัน ๑ คน เป็นชายชื่อ บุนนาค

"จดหมายเหตุวันวลิต" มีความสอดคล้องต้องกันกับ "เฉกอะหฺมัด" ฉบับของพระยาโกมารกุลมนตรี ที่ว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นสหายรักใคร่กันมากกับพระยามหาอำมาตย์ และเมื่อพระยามหาอำมาตย์เสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ทรงแต่งตั้งให้เฉกอะหฺมัดดำรงตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" เจ้ากรมท่าขวา จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าเฉกอะหฺมัด ซึ่งเป็นสหายของบุคคลที่ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เคยรับราชการในตำแหน่งจมื่นจงภักดิ์ หรือจมื่นจงภักดี ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

จมื่นจงภักดิ์ หรือจมื่นจงภักดี มาจากตำแหน่งเต็มยศว่า "จมื่นจงภักดีองค์พระตำรวจขวา" คือตำแหน่งของพระตำรวจวังฝ่ายขวา ว่าที่ราชองครักษ์ขึ้นกับกรมวัง ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์เรียกว่า "พระหมื่นจง" หรือ "หมื่นจง" (Pra Meuing Tchions or Meuing Tchions) มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเขตพระราชวัง "ตำรากระบวนเสด็จครั้งกรุงเก่า" ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เรียกขุนนางนี้ว่า "จมื่นจง" ประกอบไปด้วยจมื่นจงขวา และจมื่นจงซ้าย ขึ้นอยู่กับกรมวัง

ฉะนั้น “ทหารเอกพระบัณฑูร” ที่ ไม้ เมืองเดิม เขียนถึง จึงเป็นลูกหลาน ตระกูลนี้

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 5 กันยายน 2557 23:08:54 น.  

 

มินตรา ..

ขอบคุณสำหรับข้อมูล .. ที่ย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ..

จากที่เข้าใจว่าเป็นเอกเทศ คือความสามารถเฉพาะตัวของชายคนหนึ่งที่รับราชกาลจนถึงกรุงแตก .. เรื่องแต่งของไม้ เมืองเดิม ..

ที่ผมเอามาเขียนใน สายธารกาลเวลา เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าในสมัยนั้นทุกวัง ไม่ว่าจะ วังหลวง วังหน้า หรือ วังหลัง จะต้องมีทหารเอกผู้สามารถรับราชการอยู่ด้วยเสมอ

และตำแหน่งพระบัณฑูร คือวังหน้า คือพระอุปราช คือกรมพระราชวังสถานมงคล (และคือ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในยุครัตนโกสินทร์)

แต่การเรียกชื่อ พระบัณฑูร นี้สั้นและไพเราะทีสุดในความเห็นของผม .. ที่หากพระธิดาของพระบัณฑูรท่านใดมีพระสิริโฉมงดงามแล้ว ..

เรื่องราวมันจึงต้องสร้างขึ้นในยุคสมัยที่กำลังจะเกิดการลบล้างฐานันดรศักดิ์ของฝ่ายหญิงที่สูงกว่าชายลงเสียก่อน ความรักระหว่างหนุ่มสาวจึงจะมีความเป็นไปได้ (หากชายมีฐานันดรศักดิ์เหนือกว่า มันไม่มีปัญหาอยู่แล้ว)

ความหมายคือ พระบัณฑูร มีหลายองค์ในสมัยอยุธยา
ทหารเอกจึงมีหลายคน .. แต่เหตุการณ์การล้มล้างราชวงศ์มีไม่บ่อยนัก .. จึงจับเอายุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มาเดินเรื่อง ดังนี้แล

ที่จริงเราสามารถจับเอายุคลูกพระเจ้าทรงธรรมคือ พระเชษฐาธิราชที่ถูกสมุหพระกลาโหม (องค์ไล) คุมพวกบุกวังแล้วจับสำเร็จโทษ ก่อนตั้งตัวเป็นพระเจ้าปราสาททอง มาเดินเรื่องก็ได้นะ แต่เหตุการณ์มันไม่สะเทือนใจเท่าช่วงเสียกรุง ที่มีกวาดต้อนเชลยศึกไปพม่า และเชื้อสายเชลยศึกนี้สืบสายเลือดมาจนเกิดความสวยงามขึ้นอีกในรุ่นหลัง ..

555



 

โดย: สดายุ... 6 กันยายน 2557 6:20:23 น.  

 

สดายุ..

"O คำรนกัมปนาท .. แล้ว-ปราดเลื้อย
เส้นไฟเฟื้อยผ่านฟ้า .. อวดราศี
อึกทึกโลดเต้น .. ความ-เป็น, มี-
ก็คลายคลี่เสน่หาให้ฝ่าเอา
O ละเม็ดฝนหล่นหยาดบำราศร้อน
เมื่ออาวรณ์แผ้วผ่าน .. เข้าผลาญ-เผา
สิ้นหยาดฝนโลมลูบ .. เหลือรูปเงา-
อยู่รุมเร้าอกใจ .. คอยไขว่คว้า"

สังเกตุดูหลายครั้ง..เวลามีฟ้ามีฝนนี่ สดายุ จะมี...
" คำรนกัมปนาท .. แล้ว-ปราดเลื้อย
เส้นไฟเฟื้อยผ่านฟ้า .. อวดราศี"..เสมอ..ทำไมเอ่ย..


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 6 กันยายน 2557 13:46:31 น.  

 

มินตรา ..

ภาพสายฟ้าแลบเลื้อยแปลบปลาบ มันสวยงามจับตา ..พร้อมเสียงฟ้าร้องอึกทึกครึกโครม นั้นมันเป็นความไหวตื่นขึ้นมาของโลกธาตุ ..

อารมณ์เสน่หายามที่กำลังขึ้นสุดนั้น ในอกมันก็อึกทึกสวยงามไม่แพ้กันสำหรับอารมณ์ในระดับที่มี passion

ส่วนใครมีไม่ถึงระดับ "โลกธาตุสั่นไหว" คงเข้าใจไม่ได้กับสิ่งที่บรรยาย ..

บ่อยครั้งที่ไม่ได้เขียนเชิงเปรียบเทียบ .. เป็นเพียงการเขียนล้อเหตุการณ์ที่อยู่ในเวลาเดียวกัน

แต่อะไรมันจะเล่นคำได้มีชีวิตชีวากว่ากันระหว่างแบบบทที่ยกมากับ"สายน้ำเอื่อยไหลผ่านร่มไม้" หรือ "สายลมพลิ้วผ่านใบไม้แกว่ง" อะไรทำนองนั้นเล่า 555

อติพจน์ หรือ คำใหญ่คำโต ภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า "เว่อร์เข้าไว้" นั้นมันกระตุ้นอารมณ์คนอ่านได้ดีกว่า คำพูดแบบเรื่อยๆเฉื่อยๆ หรือ กล้าๆกลัวๆ ซึ่งไม่มีทางจะติดหูติดตาคนเด็ดขาด หรือมองได้ว่าคนเขียนขาด passion ทางอารมณ์ ซึ่งงานที่ออกมาจะไม่มีทางโดดเด่น

มินตรา ดูศิลปิน 2 แขนงที่เป็นเอกคนละด้านดู
ถวัลย์ ดัชนี .. จิตรกร
อังคาร กัลยาณพงศ์ .. กวี (งานวาดรูปก็ใช้ได้แต่ไม่เท่าถวัลย์)

ทั้งสองคนมีลักษณะร่วมอยู่คือมี passion ในอารมณ์ขณะสร้างงาน ..มีลักษณะความสุดโต่งทางอารมณ์ที่แสดงออกผ่านงาน ..

รูป ม้าผยอง ของถวัลย์
บท เสียเจ้า ของอังคาร

มันสร้างการจดจำขึ้นมาของชนจำนวนมาก ที่แม้ตายไปแล้วจะยังพูดถึงกันต่อมาเสมอๆ



 

โดย: สดายุ... 6 กันยายน 2557 21:08:02 น.  

 

สดายุ....

"เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทรายฯ

จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจฯ "
กับ
" อนิจจาน่าเสียดาย
ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง
มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์ " (อังคาร กัลยาณพงศ์ )

นี่ท่องจำเลยค่ะ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 7 กันยายน 2557 3:06:08 น.  

 

มินตรา ..

บทเก่งนี้คนพูดถึงบ่อย ทั้งๆที่หากมองในแง่วรรณศิลป์แล้วไม่ดีเลย ลงสัมผัสที่ตัวแรกแบบนี้ต้องบอกว่าไม่งาม
"เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง - - - มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า"

เพียงแต่สื่อได้สุดโต่งมี paasion ในอารมณ์ ใช้คำใหญ่คำโต ซึ่งมีแต่จิตวิญญาณที่เป็นตัวของตัวเองสูงถึง "ไม่กลัว" ที่จะเขียนออกมา

อ่านแล้วมันไม่ใช่ความรักหรอกนะ มันแสดงถึงความโกรธแค้นฝังหุ่นซะมากกว่า 555

คนรักกัน พอเขาเปลี่ยนใจ มันก็ต้องยอมรับอย่างลูกผู้ชาย ไม่ใช่แค้นข้ามชาติ สาปแช่งกัน .. อย่างนี้แปลว่า หากไม่รักตอบก็จะเลิกรักแล้วเกลี่ยดลงไปถึงโครโมโซม เลยงั้นหรือ

รักจริงมันต้องอย่างนี้ ..

O จะเกิดดับกี่วัฏฏะวงรอบ
จักนบนอบด้วยเล่ห์เสน่หา
ยอมให้เหยียบย่ำเล่นเหมือนเป็นมา
ในทุกกาละภพที่พบกัน

O อย่าได้คลายอาวรณ์ที่เคยมี
ในทุกที่ทางเที่ยวจะเหลียว-หัน
จะรอคอยย่ำเหยียบ..อย่างเงียบงัน
รอเท้าเรียวคู่นั้น..เหยียบ-หยันเทอญ

 

โดย: สดายุ... 7 กันยายน 2557 8:29:00 น.  

 

สดายุ..

"เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง "น่ะ รุ่นพี่วิศวะ ส่งมาให้ ...
ซื้อทั้งเล่มให้มาอ่านเลยค่ะ..555
ส่วน " อนิจจาน่าเสียดาย " น่ะ มินตราท่องไป "ว่ากลับ"

ก็เลยจำได้..

ส่วน "จะเกิดดับกี่วัฏฏะวงรอบ" ...
สะอึกเลย..!
หากเป็นมินตราที่เคยล่วงเลยสิ่งใด ต้องขออภัย..
มินตราจะแข็งกร้าว ก็เพราะมั่นใจในวิทยายุทธ เท่านั้น
หากมิใช่ ด้านวิชาการ ก็จะยอมยอมกันได้

เรื่องทหารพระบัณฑูร นั้น เพราะตำแหน่งนี้ มีตระกูลหนึ่งจอง..ผู้ที่สนิทกับ "วันวลิต"นั่นล่ะ ไม่งั้นวันวลิตจะรู้เรื่องในรั้วในวังได้อย่างไร..
และที่วังหน้ากับวังหลวงชนะกันได้ทุกครั้ง จนถึงสมัยพระเจ้าตาก..ก็เพราะมี"ตัวแปร" เช่นนี้
ฝรั่งท่านหนึ่งชาวอังกฤษ ผู้บันทึกเรื่องสยาม ได้บอกมินตรา..
ตัวแปรนี่ แปรมาจนถึง หมอบัดเลย์ แหม่มแอนนา
คนไทยชั้นสูงจะรู้กัน แต่ชนชั้นกลางและรากหญ้าจะไม่รู้เลย เพราะไม่ต้องศึกษาถึง"ศิลปในการปกครอง"
การเมืองเมืองไทยจึงมีลักษณะ สายซับหลายซ้อนมาแต่เดิม...(ยุโรปก็เถอะ)

วิชาการหากหย่อนไปยอมกันได้ ก็จะมีสภาวะแบบเมืองไทยในขณะนี้ คือ ตัดท่อนมาเรียน รู้เฉพาะส่วน
ไม่รู้ "แหล่งที่มา" แล้วจะรู้ถึง"ที่จะไป"ได้อย่างไร..
นี่คือเรื่องที่ถามว่าทำไมนักเรียนไทยจึงวิเคราะห์ไม่เป็น..

ปล.
ขอบพระคุณที่กรุณาแก้ไขวิธีโพสส่งตรงให้ค่ะ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 94.23.252.21 7 กันยายน 2557 10:20:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.