Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
2 กรกฏาคม 2559
 
All Blogs
 

O ห้วงเสน่หา .. O








Secret Garden - Adagio



O แม้น .. ภพชาติช่วงต่างมาขวางคั่น
ใช่อาจกั้นกีดเล่ห์สิเนหา
จน .. วงรอบการอุบัติแห่งอัตตา-
ยังยากฝ่าหวานล้ำ .. ในคำนึง
O จากเมฆหม่นฝนโปรย .. ลมโรยอยู่
พาพบเจอ .. รับรู้ .. ย่อมรู้ถึง-
แววอ่อนหวานในตาที่ตราตรึง
และหวานซึ้งในอกที่ยกตัว
O แต่บัดนั้นหวานละมุนก็หนุนเนื่อง
พร้อม-รูปเรื่อง, แววตา, พืดฟ้าหลัว
ระลอกลม, คลื่นฝนแสนหม่นมัว
ตา, อีกหัวใจหนึ่ง .. สบ, ตรึงไว้
O อบอุ่นกลางเหน็บหนาวที่พราวหยาด
เมื่อรูปชาติเผยโฉมเข้าโหมใส่
ถ้วนคันธารสประทิ่น ณ ถิ่นใด
หวานหอมได้เยี่ยงนี้ .. จะมีฤา ?
O ปากคล้ายยิ้ม, เนียนแก้ม .. คล้ายแย้มสู่-
ถามแววตารับรู้ .. ว่ารู้หรือ-
ความอ่อนโยนโผนผกในอกคือ-
ผลจากสื่อสบต้อง .. ตาของใคร ?
O ปากคล้ายยิ้ม, เนียนแก้ม .. ยังแย้มอยู่
คอยสื่อสู่เพรียกถวิล อย่าสิ้นได้
เบื้องนอกฝนโปรยปราย .. หากภายใน-
ความอ่อนโยนอ่อนไหว .. เริ่มไกวตัว
O ก็แค่แววตาพบ .. แล้วสบนิ่ง
สบแล้วยิ่งคล้ายแก้มนั้นแย้มยั่ว
ภาพแวดล้อมในตาจึงพร่ามัว
กับเพียงชั่วปากแก้มนั้นแจ่มชัด
O แต่แววตาผ่านสู่ .. ก็รู้ถึง-
ความหวานซึ้งผ่านต้อง .. สุดป้องปัด
แล้วอาวรณ์พิสวาดิก็สาดซัด
เมื่อท่วงทีความอุทธัจ .. สุดตัดตอน
O จะฝืนฝ่าอาลัยอย่างไรรอด
ยามแววตาพร่ำพลอดความออดอ้อน
ยามกำลังเสน่หา, แรงอาวรณ์
นั้นสุดถอนถอดบทให้หมดรอย
O ฝนหยุดสาย, พร้อมลมที่พรมอยู่
แววแฝงเร้นสื่อสู่ไม่รู้ถอย
เหมือนจะสั่งชี้อยู่ให้รู้คอย
เต็มละห้อยห่วงเห็นอย่าเว้นวาง
O แต่บัดนั้นจนบัดนี้เท่าเห็น
ล้วนอาวรณ์เพียบเพ็ญไม่เว้นว่าง
จนแววตา, ฝนปรอย .. พ้นรอยทาง
ถ้วนความอ้างว้างเทียบ .. ก็เพียบพร้อม
.
.
O ลมยามเช้าห้อมเห่ช่อเกสรา
เพรียกคันธารสสุมาลย์อันหวานหอม-
อวลกลิ่นรุมภุมรินให้บินดอม
เพื่อจมจ่อมหวานรสเป็นบทเดียว
O แต่แววตาสบรูป-ที่วูบหล่น-
คือ ..ใจ-อลเวง, ตา-ละล้าเหลียว
สายใยอย่างแฝงเร้น .. ฟั่นเป็นเกลียว-
ล้อมรัดใจทุกเสี้ยว .. แล้ว-เหนี่ยวดึง !
O รูปนามที่คุกคามทั้งสามโลก
หรือ-เพื่อโยกคลอนจิต .. เฝ้าคิดถึง
แล้วจรด .. รูปจริต .. ให้ติดตรึง-
แววตาซึ่ง .. ถวิลเห็น .. ไม่เว้นวาง ?
O จริตรูป .. ละม่อมลักษณ์จำหลักแล้ว
งาม, ผ่องแผ้ว-รูปพักตร์ .. รอดักขวาง
เพรียกอาลัยอาวรณ์ ให้ย้อนทาง-
ร่วมสืบสร้างงามล้ำ .. ให้ดำรง
O รูปจริตอ่อนน้อย .. เหมือนคอยชี้-
บอกท่วงทีแห่งยูงอันสูงส่ง
ว่า-กรรมบทสืบสานจากว่านวงศ์
เพรียก-จำนง .. เสน่หาผู้อาลัย
O แผ่วแผ่ว .. สายวาโย .. เมื่อโผผ่าน
ช่อสุมาลย์ต้องริ้ว .. ย่อมพลิ้วไหว
เช่นสบแววตาวาม .. รูปนามใคร
แรงอาวรณ์พิสมัย .. ย่อมไหวรับ !
O แต่ละภาพผ่านเคลื่อน .. ก็-เหมือนว่า
ยกคุณค่า .. ควรถนอมขึ้นพร้อมสรรพ
หน้าผากเนียน, แก้มอิ่ม, เนตรพริ้มพรับ-
ก็จู่รูปโจมจับ .. ใจ-รับรู้
O แต่ละภาพผ่านเคลื่อน .. เริ่ม-เหมือนว่า
เสน่หาหอมหวาน .. ใครผ่านสู่-
เพื่อหัวใจอบร่ำความดำรู-
นั้น-จักอยู่ทอดทับ .. ใจ-นับนาน
O แต่ละภาพผ่านเคลื่อน .. จึง-เหมือนว่า
ถ้วนคุณค่าอาวรณ์แสนอ่อนหวาน-
จากรูปนามพริ้มเพรา .. รูปเยาวพาล-
เจ้าส่งผ่านมอบสู่ .. ให้ผู้เดียว
O หลับตาลงปล่อยใจพาไหลล่อง
ท่วงทำนองตื่นตอบ .. คอยลอบเหลียว
ฝนหยุดเม็ด, ลมพลิ้ว, เมื่อนิ้วเรียว-
เหมือนลอบเหนี่ยวลอบล้ำ .. ล่วงคำนึง
O คล้ายอาวรณ์ซ่อนเร้นที่เป็นอยู่
ได้เผยความผ่านสู่ .. ให้รู้ถึง-
อีกใจที่เสน่หา .. ได้ตราตรึง-
ร่วมหวานซึ้งหอมรส .. เป็นบทเดียว !




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2559
19 comments
Last Update : 27 เมษายน 2566 20:50:58 น.
Counter : 4110 Pageviews.

 

โอย..สดายุ

"O แม้น .. ภพชาติช่วงต่างมาขวางคั่น
ใช่อาจกั้นกีดเล่ห์สิเนหา"

เริ่มต้นก็โศกนาฏกรรม (Tragedy) แล้ว
จะ จบยังไงนี่ Happy Ending ไหมคะ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 3 กรกฎาคม 2559 2:37:45 น.  

 



มินตรา ..

คงต้องลุ้นกันหน่อย ..

แบบเดียวกับบอลคู่เยอรมันและอิตาลี นั่นแหละขอรับ .. จะรู้ผลตั้งแต่เปิดเกมได้ยังไงกัน


 

โดย: สดายุ... 3 กรกฎาคม 2559 9:33:17 น.  

 

สดายุ

"O จริตรูป .. ละม่อมลักษณ์จำหลักแล้ว
งาม, ผ่องแผ้ว-รูปพักตร์ .. รอดักขวาง
เพรียกอาลัยอาวรณ์ ให้ย้อนทาง-
ร่วมสืบสร้างงามล้ำ .. ให้ดำรง
O รูปจริตอ่อนน้อย .. เหมือนคอยชี้-
บอกท่วงทีแห่งยูงอันสูงส่ง
ว่า-กรรมบทสืบสานจากว่านวงศ์
เพรียก-จำนง .. เสน่หาผู้อาลัย"

"เจอ" แล้วนี่คะ
เป็น " แม่นกยูง แห่ง เรือนมยุรา" น่ะเอง
ทั้งสวยสดงดงาม ทั้ง มีอำนาจราชศักดิ์ !

ศักดินาตัวจริง 555
สมัยนี้เค้าต้อง "ไพร่ขนานแท้และดั้งเดิม "นะ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 3 กรกฎาคม 2559 17:41:44 น.  

 


มินตรา ..
บางบ้านมีการอบรมอันดี แม้ในครอบครัวชนชั้นกลาง

แต่บางบ้านแม้อยู่ในชนชั้นได้เปรียบที่เกลือกลั้วกับอำนาจอยู่ แต่การอบรมนั้นหาใช่ยูงไม่ แต่เป็นเพียงอีกา อย่างที่ขายโซดาขายเบียร์นั่นไง ..

กริยาของ ญ วัยสาวเป็นความงดงามน่ารักโดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากเพิ่มการอบรมให้ประณีตขึ้นไปอีกเล็กน้อยย่อมงดงามมาก ..

ความงามของรูปหน้าแบบไทยแท้ดั่งรูปเลื่อนขวามือ และภาพประกอบของบทนี้ก็เช่นกัน หากไม่ยิ้มแฉ่งจนเสียอาการ ย่อมเหมาะกับบทนารีปราโมชนักแล้ว ..

ในเยอรมันเป็นอย่างไรบ้างครับ ..

 

โดย: สดายุ... 3 กรกฎาคม 2559 18:50:41 น.  

 

สดายุ คะ

ความเป็นอารยะ นั้น มีมาตรฐานสากล (universal standard) เป็นตัวกำหนด ตามหลักวิชา อยู่นะ

ความ"สวย" (physical)ของสตรี จะแตกต่างไปตาม "แนวจริต"( Habitus: ชาวฝรั่งเศส Pierre Bourdieu 1930–2002) ของสังคมที่แวดล้อมและเคยชิน

แต่ความ"งาม"นั้น ไม่ว่าจะสวย"ในรูปลักษณ์" (physical)ใดก็ตาม จะมีมาตรฐานสากล (universal standard) เดียว
เฉกเช่น ความยุติธรรม จะมีมาตรฐานเดียว เป็นเรื่องของ"คุณค่า" ( value) ทางสังคม ทุกสังคม

สรุป : "งาม"ของไทย หรือ "งาม"ของยุโรป จะเสมอค่ากัน

นี่ ฟังจากเอกอัครราชฑูตเยอรมันที่เคยประจำการในหลายทวีปหลายประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพ และจาก "จ้าวชั้นสูงในยุโรป" ที่ลงมติในต่างกรรมต่างวาระว่า "ความสวย" ของสตรีนั้น อยู่ที่"ความงาม"
และมีให้เห็นไม่รู้เลือนใน..สตรีไทย ..
จะเดินจะเหิร จะกิน จะนอน จะพูดจะจา จะยิ้มจะแย้ม

ที่ร่ายมานี่ใช่จะยกย่อง กันเอง
แต่ ต้องการแจ้งให้สตรีไทยเห็นคุณค่าในสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมา ใน"แนวจริต"(habitus) ฮาบิทัสของปิแอร์ บูร์ดิเยอ

มิใช่ไปลอกเลียนแบบฝรั่งตามถนนหนทางเพราะไม่มีโอกาสจะได้สัมผัส สิ่งที่ดีกว่านั้น
(เอ๊ะเสียงชักจะ"เข้ม"เป็นแม่นกยูงแห่งเรือนมยุรา แล้วซิ! )

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 3 กรกฎาคม 2559 19:32:22 น.  

 



O มองสบประจบรหัสะเลศ
นยะเนตระชี้นำ
เอ็นดูก็ผู้อุธัจะสัม-
ผัสะล้ำลุดวงใจ
O เหลือบหลบก็ทบพฤติพิลาส
ระบุชาติยาวไกล
แก้มเรื่อ ฤ เพื่อวรรณะประไพ
พิสมัยะยามมอง
O รูปนาม ก็ ตามทิวะประดิษฐ์
นฤมิตะรับรอง
เงียบงาม ฤ งามเฉพาะสนอง
คุณะพ้องกะเผ่าพันธุ์ ?

 

โดย: สดายุ... 3 กรกฎาคม 2559 19:41:36 น.  

 

มินตรา ..

ถ้าเป็นอย่างนั้น .. "งามของไทย" ที่ควรงามแล้วไม่งามนั้นน่าจะ"ไร้อารยะ" เป็นแน่แท้แล้ว .. หากเอา "คุณค่า" มาเป็นตัววัด

เห็นเพียงตัวละคอนพีเรียดของไทยที่ทำออกมาได้งดงามทั้งแม่หญิงเรไร(สายโลหิต) ทั้งแม่หญิงนกยูง(เรือนมยุรา) ..

 

โดย: สดายุ... 3 กรกฎาคม 2559 19:54:49 น.  

 

ดายุ..

ฉันท์ น่ะ เป็นฉันทลักษณ์ที่ใช้ในรั้วในวัง ของชนชั้นสูงนะ

จะเป็นนักปฎิวัติ ได้ไงนี่ !

"ความรู้สึก" เป็นเรื่อง ของคนสองคน ( transmitter-receiver) ส่ง สัญญาน (code) ถึงกัน
บุคคลที่สามจะรับรู้ได้ไงนี่ !


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 3 กรกฎาคม 2559 20:03:08 น.  

 

สดายุ
ใช่ค่ะ "ไร้อารยะ" (อารยะ= noble)
ในไทยนี่เห็นได้ง่าย จาก "ประวัติการตั้งนามสกุล "
ที่มาจากต้นตอเดียวกัน แต่ไม่มีสิทธิ
เป็นเรื่องของ "พันธุ์แท้" หรือ"พันธุ์ทาง"

และนี่คือที่มาของ ความเสื่อม

"ฉาบทอง " หรือ "ทองแท้"

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 3 กรกฎาคม 2559 20:17:36 น.  

 

มินตรา ..

นายผี อัสนี พลจันทร์ นักปฏิวัติตัวเอ้ นำฉันท์สัททุลฯ มาเขียนวรรกรรมการต่อสู้ทางชนชั้นมาแล้วครับ .. ใน "ชะนะแล้วแม่จ๋า"

เป็นคนหนึ่งในไม่กี่คนที่ข้ามฝั่งไปตายในลาว ไม่ยอมกลับมา "ร่วมพัฒนาชาติไทย" ยุค 66/23, 65/25 นะ คนนี้น่ายกย่อง ..

หากอยู่ฝรั่งเศส .. ฉันท์นี่จะไปอยู่ในนรกวาทีหลายบทนะ .. เพราะผมตั้งใจจะดึง"ฉันท์"ลงต่ำให้ได้ เพราะคนกลัวกันเหลือเกินทั้งๆที่ไม่ต่างจากกลอนตลาดสักเท่าไร

 

โดย: สดายุ... 3 กรกฎาคม 2559 21:06:19 น.  

 

สดายุ

ฉันท์ นั้นเป็นบทสรรเสริญเทพเจ้า เขียนให้ลงในบทสวดทำนองสรภัญญะ คำเสียงหนักเสียงเบาจึงสำคัญ
ผู้เขียนฉันท์ต้องเชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาที่พราหมณ์ (นักวิชาการ) ใช้กัน
ภาษาสันสกฤตนั้นเป็นภาษาของชาวอารยันในระดับเดียวกับ
ภาษา ละติน ในยุโรปตะวันตก และ
ภาษา กรีก ในยุโรปตะวันออก

นี่คือความยากในฉันท์ แม้นว่า ต่อมาศาสนาพุทธจะนำฉันท์มาใช้ในภาษาบาลี แต่ยังคงใช้ ทำนองสรภัญญะเป็นบทสวด
ผู้แต่งฉันท์ก็ยังต้องรู้ภาษาบาลีจนนำคำมาใช้ได้

จึงยากนักที่จะ ดึง"ฉันท์"ให้ลงมาต่ำ ได้

ศตวรรษนี้ที่..คนทั่วไป..มีโอกาสศึกษาหาความรู้ได้ตามใจชอบนั้น ดูจะง่ายขึ้นในการที่จะ"ยกระดับ"
..คนทั่วไป ..ให้ศึกษาหาความรู้ ยกตนขึ้นไปเท่าเทียม กับ"ผู้ท่องพระเวท"(พราหมณ์)ซึ่งถือตนว่า มีความรู้เหนือผู้อื่น

ภาคปฎิบัติในเยอรมันตะวันออก ในเวลา50ปีแห่งการเป็นมาร์คซิส
ทำให้ชนชั้นสูงลดระดับลงมาเป็นชนชั้นล่างได้ด้วยการปิดโอกาส เช่น มิให้ลูกหมอ เรียนหมอ
แล้วสนับสนุนให้ลูกกรรมกรเรียนหมอแทน สังคมจึง"เท่าเทียมกัน" คือคุณภาพและศักยภาพประชาชน ลดถอยลง
คือได้หมอที่ไม่มี "แนวจริต"( Habitus)ในการเป็นหมอ

ในเยอรมันตะวันตกซึ่งเป็น"ระบอบประชาธิปไตย"
ใช้ ระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งคนทุกคนมี"โอกาสที่เท่าเทียมกัน"เพิ่มคุณภาพประชาชนด้วย"การศึกษา"
ศักยภาพคนเยอรมันจึงสูง

แม้นแต่ลูกกรรมกร ก็ใช้"โอกาสที่เท่าเทียมกันนี้"ในการ"ยกระดับฐานะทางสังคม"ตนเอง
จนสามารถ"เติมวัฒนธรรม"ให้ตนเอง จนเป็นอารยชน ได้

จำนวนอารยชนในเยอรมันจึงเพิ่มขึ้นและมิได้จำกัดเพียงแค่พวกจ้าว

คนเยอรมันมีคุณภาพในทุกระดับอาชีพ สูงกว่า ประเทศเพื่อนบ้าน
สดายุน่าจะลองตรองดูว่า ดีกว่าไหม


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 4 กรกฎาคม 2559 5:44:45 น.  

 

มินตรา ..

ผมเห็นด้วยเต็มร้อยกับการยกระดับคนในสังคมด้วยการศึกษานะ ..

แต่เหมือนที่เขียนมานั่นแหละ ระบบการปกครองที่นำการเมืองเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งในสังคม ..

ระบบมาร์คซิสที่โง่เขลา มันไม่ make sense ในแง่ปัจเจกชนตั้งแต่ปีที่ 0 ที่คิดขึ้นมาอยู่แล้ว .. พอทดลองใช้แล้วก็ไม่ work ล่มสลายทางเศรษฐกิจเป็นแถว ที่อยู่ได้ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบพันธุ์ทางคือการเมืองแบบปิด แต่เศรษฐกิจแบบเปิด ..

ยังไงเสียคนก็ต้องกินต้องใช้ .. หากท้องอิ่ม เรื่องอื่นยังพอทน .. จีน เวียดนาม ถึงยังพอไปได้

แต่ที่กลายพันธุ์แบบเกาหลีเหนือ (ต้นแบบของบางประเทศที่กำลังเลียนแบบอย่างขะมักขะเม้น .. 555) หรือคิวบา กลายเป็นราชวงศ์ใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ ชาวบ้านก็ต้องกินเกลือกันต่อไป

เยอรมัน และ เกาหลี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของระบบการเมืองแบบเปิดและแบบปิด ในเชิงเปรียบเทียบกันในชนชาติเดียวกันที่มีพัมนาการทางเศรษฐกิจต่างกันราวฟ้ากับดิน

แต่ conservative มันยังคิดกันไม่ได้ ..

รวมทั้งอารยันแบบอินเดียเหนือ ปากีสถาน ที่ติดตังกับลัทธิพราหมณ์ จน มาเป็นฮินดู รวมทั้งอารยันอิหร่านที่ติดตังกับอิสลามชีอะ ..

เมื่อเปรียบกับอารยันเยอรมันแล้ว .. เมื่อมองตรงนี้กลับไม่ใช่การเมืองแล้ว แต่เป็นลัทธิความเชื่อ ..

2 ประการนี้คือ รัฐศาสตร์ และ ศรัทธา ที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นตัวสร้างหรือฉุดพัฒนาการของสังคม

คำว่า "ฉันท์" ผมใช้เป็นตัวเปรียบเทียบเท่านั้นเอง

 

โดย: สดายุ... 4 กรกฎาคม 2559 6:44:49 น.  

 



พูดถึงการศึกษาแล้ว ถึงนึกขึ้นได้ว่า ผมเอาบทความทางการศึกษาของเยอรมันมาลงไว้ในบล็อค “การศึกษา”
มินตราพอรู้เรื่องบ้างไหมครับ ..

“ไม่มีเกรด ไม่มีตารางเรียน ในเยอรมัน” ..
//www.ev-schule-zentrum.de/top-navigation/faqs/

 

โดย: สดายุ... 4 กรกฎาคม 2559 8:09:48 น.  

 

สดายุคะ

มินตรา ถนัดแต่การศึกษาระดับอุดมศึกษาและ เทคโนโลยี่สูง(innovative technology)ขึ้นไปกว่าระดับมหาวิทยาลัย
ซึ่งในเยอรมันระดับอุดมศึกษาขึ้นไปจะขึ้นอยู่กับ กระทรวงพานิชย์และเทคโนโลยี่
ส่วนกระทรวงศึกษาเยอรมันจะดูแลตั้งแต่ระดับมัธยมลงมา

เคยต้องเตรียมเรื่องให้รัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนามาดูเรื่องระบบการศึกษาในเยอรมัน จึงทราบว่า
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ว่าดีที่สุดในโลกนั้น ท่านมารับแนวความคิดของ มูลนิธิ ฟรั้งเคอ (Franckeschen Stiftungen)ที่ช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กกำพร้า

และจากโรงเรียนทาง"วัด" (นิกายโปรเทสทั้นท์ Protestant) ซึ่งมี หมออิตาลี มาเรีย มอนเทสโซรี่(Maria Montessori)ได้ นำวิธีสอนที่เด็กมีอิสระในการเรียน ในปี 1907
ชื่อ โรงเรียน มอนเทสโซรี่(Montessori-Schulen) ที่เป็นระบบการเรียนตั้งแต่ก่อนอนุบาลขึ้นมา
มีความ"เข้มงวด"น้อยกว่าโรงเรียน คาธอลิค

และที่เมือง ฮัลเลอ(Halle)ในเยอรมันตะวันออกนี่เองที่ฟินแลนด์มารับแนวความคิดไปดัดแปลง กับ"แนวจริต"(habitus) ของสแกนดิเนเวีย

ส่วน ระบบการศึกษาที่สดายุ นำมาลงนั้นก็เป็นระบบที่โรงเรียนของ "วัด" (นิกายโปรเทสทั้นท์Protestant)นำมาใช้
ท่านว่ามาจากระบบของอเมริกันและอังกฤษ เรียกว่า "เพียร์ "(Peer-Education) คือ นักเรียนเป็นผู้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ไปฝึกปฎิบัติเองในการ"ปรับตัวให้เข้ากับสังคม"
คุณครู มีหน้าที่เป็น "ผู้ฝึก"(tutor)
เป็นโครงการที่"ทดลองใช้"ในแคว้น แบร์ลีน
ท่านว่า ในอังกฤษอเมริกา ใช้ "เพียร์ "(Peer-Education) ในการแก้ปัญหาเรื่องเพศ เรื่องยาเสพติดและปัญหาสังคม

เยอรมันมี 16 แคว้น แต่ละแคว้นมีกฎ และ ระบบเป็นเอกเทศของตน มีโครงการ"ทดลอง" ขนานไปกับ"กรอบ"ภาคบังคับของแคว้นด้วย

ในแบร์ลีนมี ระบบโรงเรียนอยู่ 8ระบบเด่นเด่น
และ โรงเรียนของ "วัด" (นิกายโปรเทสทั้นท์Protestant)
เป็นหนึ่งในนั้น ที่ใช้ "เพียร์ "(Peer-Education)ให้ประชาชนเลือก

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 4 กรกฎาคม 2559 16:10:51 น.  

 



มินตรา ..
ขอบคุณครับที่เขียนให้อ่านเรื่องราวต่างๆในเยอรมัน ..

คุณภาพคนเยอรมันผมยอมรับมาตั้งแต่เรียนหลักสูตรไทย-เยอรมันแล้ว .. โดยเฉพาะทางวิศวกรรม ยังเคยพูดเล่นๆกับเพื่อนว่า DIN Standard นี่แหละสร้างเยอรมันจากซากปรักหักพังหลัง WW-2 .. จนงามตาอีกครั้ง

การศึกษาของยุโรปเหนือ เป็นสิ่งที่ไม่มีความน่าสงสัย .. รวมทั้งสปิริตในจิตใจคน ..

พอดีเพิ่งดูสารคดีชีวะประวัติของ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์มา .. ถึงรับรู้อัจริยภาพของคน รวมทั้งน้ำใจกว้างขวางของคนเยอรมันได้ดีมาก

มักซ์ คาร์ล แอนสต์ ลุดวิก พลังค์ (เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ผู้บุกเบิกการศึกษาทฤษฎีควอนตัม อันเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาฟิสิกส์สมัยใหม่ คนคนนี้เดินทางกับนักเคมีคนสำคัญของเยอรมันไปสวิสเพื่อเชิญ ไอนสไตน์ มาทำงานในเยอรมัน ก่อน WW-1 เล็กน้อย

ไม่มีความริษยาชิงดีชิงเด่น แต่คิดเพื่อส่วนรวม ..

รวมทั้งทฤษฎีสัมพันธภาพอันลือลั่นของไอนสไตน์เองก็ได้รับการรับฟัง แต่ก็ยังไม่ยอมรับจนกว่าจะผ่านการพิสูจน์เสียก่อน .. หมายถึงไม่เชื่อทันทีเพียงแค่ได้ฟัง แต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นกับตา ในประเด็น กาล-อวกาศโค้งได้ .. แล้วมันก็เป็นจริงในการพิสูจน์ เป็นที่มาของโนเบิลไพรซ์

ผมชอบวิถีแห่งอารยะชนแบบนี้มาก

(ส่วนที่คิด สร้างอะไรขึ้นมาโดยไม่ยอมให้พิสูจน์ ไม่ยอมให้วิพากย์วิจารณ์ได้ แต่ให้ยอมรับเลยนี่ มันเป็นเรื่องน่าหัวร่อ)

 

โดย: สดายุ... 4 กรกฎาคม 2559 18:47:26 น.  

 

สดายุ

เยอรมันจะแบ่งวิชาฟิสิกส์ เป็นสองสายคือ
ฟิสิกส์ ภาคทฤษฎี (Theoretical physics) และ
ฟิสิกส์ภาคทดลอง ( Experimental physics)

มักซ์ คาร์ล แอนสต์ ลุดวิก พลังค์ (Max Karl Ernst Ludwig Planck 1858 -1947) เป็นนักฟิสิกส์ ภาคทฤษฎี (Theoretical physics)
และเมื่อตอนที่ไปชวนไอชไตน์มา ทำงานด้วยกันนั้น
ไอชไตน์ยังไม่เป็นที่รู้จัก ในขณะที่มักซ์ พลังค์ เป็นประธาน สถาบันนักวิทยาศาสตร์ "ไคเซอร์ วิลแฮล์ม " (the German scientific institution, theKaiser Wilhelm Society) และ
เป็น ศูนย์รวมของสังคมนักฟิสิกส์ มีชื่อเสียงระดับรางวัลโนเบลในศตวรรษที่ 20

ฟิสิกส์สมัยใหม่ (Modern physics)เริ่มในศตวรรษที่ 20 ด้วยงานของมักซ์ พลังค์ (Max Planck inquantum theory) และ
ทฤษฎีของไอชไตน์(Albert Einstein's theory of relativity)

ส่วนงานทางสายฟิสิกส์ภาคทดลอง ( Experimental physics) นั้น เข้มแข็งขึ้นด้วยสถานีทดลอง องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (อังกฤษ: European Organization for Nuclear Research; CERN) ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 29. กันยายน 1954
และผลข้างเคียงของงานทดลองทางฟิสิกส์ที่ แซน ( CERN) เราเลยมี อินเตอร์เนท World Wide Webใช้

ทีมนักฟิสิกส์ที่ประสบความสำเร็จทั้ง50 สถาบันวิจัยนี้มาจาก สถาบันวิจัยมักซ์ พลังค์ ( Max-Planck-Gesellschaft) และ มหาวิทยาลัยเยอรมัน

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 6 กรกฎาคม 2559 0:11:55 น.  

 

มินตรา ..

สังคมที่เจริญมาได้ เขาส่งเสริมคนเก่ง ..
ผมเข้าใจว่ายุคนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของไกเซอร์วิลเลียมที่ 2 ..

กษัตริย์ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องไปแก่งแย่งแข่งดีที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โลกยกย่อง .. จึงปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินกิจกรรมกันไปเอง โดยไม่กลัวว่าคนจะยกย่องนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นมากกว่าตัวเอง

การวิทยาศาสตร์ของเยอรมันรวมทั้งในยุโรปถึงเจริญก้าวหน้ามากมาย ..

ผมมองว่าเป็นวิถีปฏิบัติของเขาที่เลือกที่จะรวบรวมคนเก่งที่พิสูจน์ตนเองได้จากสิ่งที่คิด แสดง ออกสู่สาธารณะ ในสาขาต่างๆมาทำงานโดยปราศจากระบบอุปถัมภ์คนโง่เขลาเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวาย

สังคมจึงมีพลวัตไปในทางพัฒนาขึ้น ..

พลังค์ ที่มีเกียรติภูมิขนาดนั้น ยังลงทุนเดินทางไปสวิส เจรจา แล้วกลับมารอคอยที่สถานีรถไฟ โดยหวังว่า ไอนสไตน์จะตอบรับที่จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดตนเอง .. และก็ไม่ผิดหวัง

ผมนึกไม่ออกว่า จะมีประธานหน่วยงานอะไรสักอย่างของไทยสามารถทำอย่างนั้นได้ นอกจากจะวางโตโขเขื่องอยู่ในห้องทำงานแล้วให้เลขาต่อโทรศัพท์ไปเจรจาให้ว่า "ท่านเชิญให้มาพบหน่อย" ? .. 555

 

โดย: สดายุ... 6 กรกฎาคม 2559 6:57:25 น.  

 

สดายุ

ตอนนี้ มินตราย้อนไปดูละครเรื่องเรือนมยุรา อีกครั้ง
จึงจับความได้ว่า ตระกูลแม่หญิงนกยูง แห่งเรือนมยุรานั้นเป็น"แขกขาว" และเข้ามาอยุธยาใกล้ชิด พระเจ้าปราสาททอง
บิดานั้นรับราชการอยู่ กับขุนหลวงดอกมะเดื่อ (พระเจ้าอุทุมพร) ซึ่งเป็นวังหน้า เป็นเรื่องบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ไทย (ซึ่งมีอยู่ตระกูลเดียว อันเป็นต้นกำเนิดของอีกหลายสายสกุลเก่าของไทย)

แล้วนึกไปถึงเรื่อง กาลอวกาศ (spacetime) ทฤษฎีของ แฮร์มันน์ มิงคอฟสกี ( Hermann Minkowski 1864-1909) อาจารย์ของไอชไตน์ ที่ไอชไตน์นำทฤษฎีมาใช้ในทฤษฎีของตน (Albert Einstein's theory of relativity)
ยิ่งเห็นความยิ่งใหญ่และจิตใจอันงดงามของ มักซ์ พลังค์ (Max Planck) และ ทีมนักฟิสิกส์ โลก ที่รู้"เบื้องหลังความเป็น "อัจฉริยะ"ของไอชไตน์ "

มาแก้ปัญหา"ความเป็น อัจฉริยะ" ด้วยการ ประกาศเกียรติคุณ ด้วย "ทีมงาน" และมิใช่ที่ตัวบุคคล เช่นที่ แซน(CERN) เพื่อพ้นข้อหา "การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา" (Intellectual Property Rights)


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 6 กรกฎาคม 2559 15:49:38 น.  

 

มินตรา ..

ครับ
สิ่งที่โดดเด่นน่ายกย่องอย่างหนึ่งของคนผิวขาวในยุโรปที่นอกจากนิสัย .. ช่างจดบันทึก .. การ "คิดต่อยอด" แทนการ "ลักขโมยแนวคิด" แล้ว

คือ .. การยอมรับความสามารถบุคคลอื่นอย่างหน้าชื่นตาบาน อย่างเปิดเผย .. ซึ่งผมมองว่าเป็นพฤติของอารยะชน ที่เราเรียกว่ามีสปิริตแห่งจิตวิญญาณสูงส่ง

ขณะเดียวกัน การพิสูจน์ ความจริงให้เห็นกันจะจะ ก่อนจะยอมรับ หรือ สดุดีกัน ก็เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นชัดเจนเช่นกัน ..

จึงไม่น่าแปลกใจที่ทวีปยุโรปทั้งหมด (อาจยกเว้น อัลบาเนีย ?) รวมทั้ง ทวีปอเมริกาเหนือ(ยกเว้นเม็กซิโก) ทั้งทวีปออสเตรเลียที่รวมนิวซีแลนด์ เป็นทวีปที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น

ล้วนเป็นดินแดนของคนผิวขาว คอเคซอยด์ ทั้งหมด

จิตใจของนักวิทยาศาตร์อย่างพลังค์ ที่เป็นอย่างนั้น ผมมองว่าเป็นผลจากการที่จิตใจแนบแน่นด้วยหลักเหตุผลของกฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์อันเป็นเรื่องธรรมชาติ

คนที่ยอมรับเรื่องเหตุผลในการดำเนินชีวิต คง"ไม่คุ้นเคย" กับอารมณ์ "ริษยาในชาย" หรือมโนคติที่แนบแน่นกับอุปาทานของการมี "โวหารภาพพจน์" มากนัก

เป็นโวหารภาพพจน์ที่ทำได้อย่างเดียว คือ พูดสร้างภาพไปวันๆ

 

โดย: สดายุ... 6 กรกฎาคม 2559 19:51:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.