Group Blog
 
 
มีนาคม 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
31 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
ครูอาชีพกับอาชีพครู












ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, กรกฎาคม 2543

ที่มา


1. ครูอาชีพ กับ อาชีพครู
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวถึงครูอาชีพ ว่า คือ ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก เป็นครูด้วยจิตและวิญญาณ มีความเป็นครูทุกลมหายใจตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นครูที่รักและหวงแหน ห่วงใย อาทร ต่อนักเรียน ต่อศิษย์ดุจลูกในไส้ของตนเอง จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ศิษย์เป็นคนดี ไม่ยินยอมให้ศิษย์เป็นคนไม่ดีเป็นอันขาด จะติดตามสอดส่องศิษย์ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่ละทิ้งและมีความสุขมากในการที่ได้เกิดมาเป็นครู รักเกียรติ เทอดทูนสถาบันครูอย่างภาคภูมิใจ 1 และ ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้สรุปว่า ครูอาชีพ คือครู ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครู และปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู 2
ส่วนคำว่า อาชีพครู พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้อธิบายว่า อาชีพครู คือครูที่ใช้วิชา ที่ร่ำเรียนมาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยความรักสมัครใจ ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาครู ไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจวิชาที่ตนสอนมากนัก แค่สอนจบไปวัน ๆ หนึ่งก็พอแล้ว ศิษย์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ช่างศิษย์ ไม่สนใจ ขอให้มีเงินเดือนตามวิทยฐานะก็พอ ศิษย์จะดีไม่ดีไม่เป็นธุระ บางคนก็หาอาชีพเสริมทำ เช่น รับจ้างสอนพิเศษ บางรายหนักลงไปอีกถึงรับจ้างแทงหวย จนแม้แต่ขายยาบ้าก็มี ครูประเภทนี้รัฐได้ประโยชน์ตอบแทนไม่คุ้มค่าและหลายรายนำความเสียหายมาสู่สถาบันอีกโสดหนึ่งด้วย 3 คนที่มีลักษณะเป็นอาชีพครู คือคนที่มายึดการเป็นครูเป็นอาชีพเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งขณะนี้ครูของไทยมีลักษณะอาชีพครูเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นเงื่อนไขที่จะทำลายความหวังของการปฏิรูปการศึกษา เพราะครูคือความหวังที่จะนำสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา
ทุกคนได้ให้ความสำคัญกับครูอาชีพ และจากเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ให้ความสำคัญและถือว่า ครู เป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศชาติ จึงมีบทบัญญัติว่า ครูซึ่งเป็นบุคลากรวิชาชีพหลักด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านระบบการควบคุมเพื่อให้เป็นครูอาชีพ เช่น การให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีองค์กรวิชาชีพครู มีมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพรวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อให้เป็นครูอาชีพอย่างแท้จริง โดยมีกลไกที่จะส่งเสริมให้ครู มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง มีระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู และกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน มีค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอและเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิชาชีพเป็นการเฉพาะ ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ปัญหาของคุณภาพการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากคนที่มีอาชีพครู และมีความพยายามที่จะกำหนดแนวทางที่แก้ปัญหาเหล่านี้

2. ครูของครู กับ ครูอาชีพ
ครูอาชีพ ตามความหมายที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและคาดหวังว่าจะมีจำนวนมากขึ้น เมื่อผลแห่งการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่ยังมีเงื่อนไขบางประการที่น่ากังวลก็คือในระบบการผลิต พัฒนาครูและองค์กรวิชาชีพ ที่กำหนดให้ครูทั้งของรัฐและเอกชนมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา ซึ่งในกลุ่มนี้จะรวมถึงคณาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนครู หรือที่เรียกว่า ครูของครู นั่นเอง ถ้าพิจารณาจากสภาพปัจจุบันพบว่า ครูของครูเหล่านี้ยังมีอาชีพครูอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่เข้าลักษณะของครูอาชีพอย่างที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กล่าวไว้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นว่าจะแก้ไขได้โดยผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต้องทำเป็นตัวอย่าง ทำนองเดียวกัน นักเรียนจะเก่งและดีได้ครูต้องเป็นตัวอย่าง และเมื่อประเทศไทยอยากได้ครูอาชีพ คนที่สอนครูก็ต้องเป็นครูอาชีพและเป็นตัวอย่างด้วยเช่นกัน ในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการมีใบประกอบวิชาชีพครู เมื่อมีข้อยกเว้นจะมีช่องทางใดบ้างที่จะช่วยกำกับดูแลให้ครูของครูมีมาตรฐานวิชาชีพและเป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ ไม่ใช่ศิษย์เป็นที่พึ่ง (ประโยชน์) ของครู น่าจะอยู่ที่การกำหนดให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง (มาตรา 52) การผลิตและพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนามาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ (มาตรา 56) และอาศัยอำนาจของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (มาตรา 34) รวมทั้งมาตรการที่ให้ความเป็นอิสระและการจัดให้สถาบันผลิตครูเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐตามมาตรา 36 ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเหมือนครูที่สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยจากประชาชนทั่วไป

3. จิตสำนึกและวิญญาณของคนสอนครู
คณาจารย์ที่สอนครูในอดีตมีจำนวนมาก ที่มีลักษณะครูอาชีพเป็นครูด้วยใจรัก เป็นครูด้วยจิตและวิญญาณ มีความห่วงใยต่อศิษย์ดุจลูกของตนเอง แต่เมื่อเวลาผ่านมามีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ มากระทบทำให้มีครูอาชีพที่เป็นปูชนียบุคคลลดน้อยลงไปอย่างน่าเป็นห่วง ด้วยสาเหตุอะไรนั้นเป็นเรื่องน่าคิด แต่ก็ไม่อยากให้คิดมากจนเสียเวลาที่จะเตรียมระบบใหม่ที่จะสร้างครูของครูให้เป็นครูอาชีพ เพื่อที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีส่งต่อไปยังลูกศิษย์ที่เป็นครู และถูกถ่ายทอดพันธุกรรมแห่งความดีไปยังผู้เรียนด้วยจิตสำนึกและวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง
การสร้างจิตสำนึกและวิญญาณครู ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์เนื่องจากในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อาชีพครูค่อนข้างได้รับการดูถูกดูแคลนจากสังคมเป็นอย่างมากน่าวิตก4 ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น คนดีคนเก่งไม่เรียนครู คณาจารย์ที่สอนครูย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ ภาระงานของครูมีมาก แรงจูงใจค่อนข้างต่ำระบบการพัฒนาไม่มีประสิทธิภาพ การอบรมพัฒนาไม่ตรงตามที่ต้องการ เป็นต้น จิตสำนึกและวิญญาณครูจุดเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่การสร้างศรัทธา คำว่าศรัทธาในที่นี้มีความหมาย 3 มิติ คือ ศรัทธาต่อตนเอง ต้องเชื่อและศรัทธาในความรู้ความสามารถของตนเองว่าจะเป็นครูที่ดีได้ เป็นตัวอย่างให้กับสังคมได้ กระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และวิเคราะห์คัดสรรความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ และมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างภาพลักษณ์ของครูที่ดีได้ ประการที่สองคือ ศรัทธาต่ออาชีพครู รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นครูที่เป็นวิชาชีพชั้นสูง เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่เป็นครู ประการที่สามคือ ศรัทธาต่อองค์กร รักษาชื่อเสียงของสถานศึกษาและองค์กรวิชาชีพครู ประพฤติและปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู ถ้าครูทุกคน และครูของครูทุกคน มีความศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นจิตสำนึกและวิญญาณของความเป็นครู และสิ่งที่ดีที่เป็นแบบอย่างของสังคมได้ก็จะขยายและถ่ายทอดไปสู่เยาวชนชั่วลูกชั่วหลาน เสมือนกับผู้นับถือศาสนาไม่ว่าศาสนาใดจุดเริ่มก็อยู่ที่ความศรัทธา เมื่อศรัทธาก็ประกาศตนเป็นผู้นับถือศาสนานั้น และปฏิบัติตาม คำสั่งสอนของศาสนา คำภีร์หรือพระธรรมวินัยต่อไป เมื่อครูศรัทธาต่อวิชาชีพครูจะทำให้เกิดพลังแห่งความ มุ่งมั่นสร้างสรรค์วิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงตาม เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้

4. อาชีพครูกับผู้เรียน
ถ้าผู้เรียนมีครูที่เป็นเพียงผู้ยึดอาชีพครูเพื่อเลี้ยงชีพตนเองจะมีสิทธิเรียกร้องอะไรหรือไม่ กลไกควบคุมในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขจัดคนที่มีอาชีพครูอย่างไร ถ้าพิจารณาจากกฎหมายสูงสุดของประเทศคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แล้วจะพบว่า หมวด 5 ที่กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 81 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรมและให้พัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งนำไปสู่การบัญญัติสาระดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นกลไกที่จะสร้างครูอาชีพได้ และถ้าสร้างจากวัตถุดิบใหม่ (ครูใหม่) ที่พอตกแต่งให้เข้าระบบที่วางไว้ก็น่าจะมีความหวัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีครูและ ครูของครูที่มีวัฒนธรรมการทำงานเข้าข่ายอาชีพครูเป็นจำนวนมาก เราจะทำอย่างไรเพราะบุคคลเหล่านี้จะหา ผลประโยชน์จากผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า ขายชีทความรู้เก่า ๆ การหลีกเลี่ยงการสอนตามหน้าที่แต่กระตือรือร้นในการสอนพิเศษ ทำโครงการพิเศษเพื่อให้ได้เที่ยวต่างประเทศฟรีโดยไม่สนใจว่าผู้เรียนจะเดือดร้อน กู้ยืมเงินมาอย่างไร สถาบันบางแห่งกลายเป็นขุมทรัพย์ของบุคคลเหล่านี้ที่คนอื่นแตะต้องไม่ได้ แทนที่จะสร้างสถาบันให้เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างระบบใหม่ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง แนวคิดเรื่องการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะได้ไม่กลายเป็นว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งขุมทรัพย์ของคนที่ยึดอาชีพครู

5. สร้างกระแสรักษาครูดี - ครูอาชีพ
แนวพระราชดำริด้านการศึกษา5 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำริถึงครูว่า ". ครูจะต้องเป็นผู้ประพฤติตนดีทั้งด้านวิชาการ คือต้องฝึกฝนตนให้มีความชำนาญในด้านความรู้และวิธีสอน ส่วนด้านความประพฤติจะต้องเป็นคนที่พร้อมทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างแก่ผู้พบเห็น เมื่อลูกศิษย์ได้เห็นและประทับใจในความสามารถและความดีของครูก็จะประพฤติตนตามแบบอย่าง….." และยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับภารกิจและแนวทางการปฏิบัติตนของครูอีกหลายประการที่ควรนำมาสร้างกระแสให้ครูได้ตระหนักและมีจิตสำนึกของความเป็นครูที่ดี 6
สิ่งที่จะผลักดันให้สังคมไทยมีครูดี ครูอาชีพจำนวนมากขึ้น อยู่ที่การสร้างกระแสให้ทุกคนตระหนักและรักษาครูที่ดีไว้ นอกจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีวิธีการต่าง ๆ เช่น การยกย่องชมเชยครูดี ให้โอกาสและส่งเสริมครูทุกคนได้ทำหน้าที่ครูอาชีพอย่างแท้จริง สกัดกั้นสิ่งที่เป็นบ่อนทำลายและนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพครู ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบการผลิต พัฒนาครูและประเมินครูให้มีคุณภาพและมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง ทั้งนี้ ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และองค์กรต่างๆ ต้องร่วมกันสร้างกระแสอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในที่สุดครูดี - ครูอาชีพก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาชีพครูหรือผู้รับจ้างสอนก็จะค่อย ๆ ลดจำนวนลง ความหวังของการปฏิรูปการศึกษาก็จะเป็นจริงได้ในไม่ช้า

เชิงอรรถ
1 พลเอกเปรม ติณสูสานนท์. ทางเลือกของครู. เอกสารอัดสำเนา, 2543 หน้า 1
2 พนม พงษ์ไพบูลย์. ครูอาชีพ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2543 หน้า 6
3 พลเอกเปรม ติณสูสานนท์. อ้างแล้ว. หน้า 2
4 สมเชาว์ เกษประทุม. "ครูพันธ์ใหม่" . มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 หน้า 10.
5 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู. คุณธรรมและจิตสำนึกของข้าราชการครู. พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพมหานคร : ศรีเมืองการพิมพ์, 2542. หน้า 5
6 อ่านเพิ่มเติมใน สำนักงาน ก.ค. "คุณธรรมและจิตสำนึกของข้าราชการครู" อ้างแล้ว.





Create Date : 31 มีนาคม 2553
Last Update : 31 มีนาคม 2553 19:20:48 น. 0 comments
Counter : 453 Pageviews.

SawPhuThai
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




"จิตอธิฐาน"



พนมกรกราบลงหน้าองค์พระ
ตั้งสัจจะ...น้อมจิตอธิษฐาน
พร้อมธูปเทียนดอกไม้นำใส่พาน
ขอนมัสการพระธรรมชี้นำดล


หมอบลงกราบจิตมั่นในวันนี้
กุศลกรรมที่กระทำจงนำผล
พบหนทางสว่างใสในกมล
ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมเคยทำมา


นับจากนี้อาราธนารักษาศีล
พาชีวินน้อมธรรมช่วยรักษา
ตัดกิเลสเหตุแห่งกรรมที่นำพา
เกิดชาติหน้าหลุดบ่วงเขาลวงใจ


ลูกขอน้อมพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ช่วยฉุดดึง...จากนรกที่หมกไหม้
มีปัญญามองเห็นความเป็นไป
เพื่อเข้าใจสัจจธรรมธรรมดา





อยากบอกว่า ที่ลิ้งค์หาถือว่าคุณ ViP โดยปริยาย
Friends' blogs
[Add SawPhuThai's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.