"อาตมาไม่ได้พูดให้โยมเชื่อ แต่พูดให้โยมไปคิด".....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
ใบไม้ในกำมือ หมวด ๑


คำปรารภ


กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระพุทธโคดมอุดมโชค ได้มาประดิษฐานที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อครั้งที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเดินธุดงค์กับหลวงพ่อในป่า ไปถึงเมืองมัณฑเล ประเทศพม่า ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้นมัสการพระพุทธรูปศิลปะพม่า ที่วัดแห่งหนึ่ง ได้อธิษฐานว่า หากมีบุญขอให้ได้พระพุทธรูปพุทธลักษณะนี้ ไปประดิษฐานที่ประเทศไทย แล้วจู่ ๆ ก็มีนักธุรกิจสตรีชาวไต้หวัน ที่สนใจทางธรรมมาโดยตลอด (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเธอได้ในหนังสือกฎแห่งกรรม ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๑๕) เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้น จนกระทั่งนำมาประดิษฐานที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน โดยสะดวกราบรื่น แม้ช่วงเวลาที่เคลื่อนย้ายและข้ามแดน เรากำลังมีปัญหาชายแดนกับพม่า ถึงขั้นใช้กำลังทหาร ! จะเห็นได้ว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ต้องสร้างสมบารมีนานถึง ๔๐ ปี จึงบังเกิดเหตุอัศจรรย์เช่นนี้

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชทานพัดยศ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชสุทธิญาณมงคล เป็นที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔

เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคล ดังกล่าว ปวงข้าพเจ้าทั้งหลาย ที่ร่วมกันจัดทำหนังสือฉบับนี้ ทั้งที่ปรากฏนาม และไม่ประสงค์จะออกนาม ขอน้อมถวายเป็นอาจริยบูชา ต่อ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ) ฐิตธมฺโม

“ใบไม้ในกำมือ” เป็นหนังสือแจกปีใหม่ของพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีกเล่มหนึ่ง ที่รวบรวมคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ต่อจาก “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” โดยเพิ่มหัวข้อ “อานิสงส์ของการสวดมนตร์พุทธคุณเท่าอายุบวกหนึ่ง” กับ “วิธีแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล” และ “อภิณหปัจจเวกขณะ” หัวข้อหลังนี้ เป็นข้อเสนอแนะของผู้ร่วมทำบุญท่านหนึ่ง เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์มาก เท่ากับเป็นการขยายความเรื่องกฎแห่งกรรมและพระไตรลักษณ์ ได้ชัดเจนทีเดียว ส่วนหัวข้ออื่นคงไว้เหมือนเดิม เพียงแต่ยกออกมาให้เด่นชัด คือ วัด กับ โรงเรียน อันเป็น ๒ ใน ๓ ของเสาหลักของสังคมไทยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้ความสำคัญมาก

“ใบไม้ในกำมือ” เป็นคำอธิบายที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบแก่สาวกว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว เปรียบดังจำนวนใบไม้ในป่า แต่ ธัมมะที่พระองค์นำมาสอนชาวโลก เปรียบดังจำนวนใบไม้ในกำมือ เท่านั้น

หนังสือคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฉบับนี้ เป็นการดึงคำสอนออกมาเพียงบางส่วน บางตอน เท่านั้น ที่ผู้รวบรวมพยายามเลือกเฟ้นให้ดีที่สุด และให้ครอบคลุมเรื่องราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อสอน ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การจดจำ และทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านมีโอกาสอ่านธรรมบรรยายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แบบเต็มบทเลย ก็จะเข้าใจดียิ่งขึ้น ซึ่งท่านที่สนใจก็สามารถหาอ่านได้ เพราะมีผู้นำไปพิมพ์เผยแผ่และจำหน่ายเป็นจำนวนมาก หรืออ่านจากอินเตอร์เน็ต ที่ //www.jarun.org/ หรืออยากได้อรรถรสจากน้ำเสียง ก็หาโอกาสมาวัด หรือมาปฏิบัติธรรม หรือหาเทปธัมมะของพระเดชพระคุณหลวงพ่อไปฟัง

การจัดทำหนังสือคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ โดยการตัดตอนคำสอนที่เป็นเนื้อ เป็นแก่นของแต่ละเรื่อง มารวมไว้เป็นหมวดหมู่นี้ ก็ถือว่าเป็นการตอบสนองเจตนารมณ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีกทางหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ปฏิบัติและผู้มาฟังธรรมเอาไว้ทบทวนและคอยให้กำลังใจ เสมือนหนึ่งท่านได้รับฟังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อโดยตรง

สำหรับรูปที่นำมาขึ้นปกได้รับความอนุเคราะห์จากท่านพระครูสังฆรักษ์ธเนศ หิตกาโม ส่วนปกหลัง คุณวิเชียร-คุณกชพร สุขสถาวรพันธุ์ ขอให้ญาติที่จังหวัดขอนแก่นส่งมาให้ (ภาพนี้ คุณนรินทร์ จริโมภาส ถ่ายไว้ก่อนจะสร้างหลังคาถวาย)

หนังสือเล่มนี้สำเร็จออกมาได้ด้วยความอุปถัมภ์ของ คุณวิเชียร-คุณกชพร สุขสถาวรพันธุ์ สองสามีภรรยาผู้ใจบุญ โดยท่านทั้งสองขอปวารณารับเป็นประธานในการจัดพิมพ์ รวมทั้งรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ตลอดจนหาสำนักพิมพ์เองด้วย ความตั้งใจที่จะสร้างบุญโดยการสร้างหนังสือธัมมะ ถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เพื่อให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อแจกเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่แก่สาธุชนทั่วไปนี้ หอมฟุ้งไปถึงสาธุชนหลายท่าน ก็เลยมีผู้ศรัทธาในความใจบุญของท่านทั้งสอง ขอมีส่วนร่วมในบุญกุศลครั้งนี้ ดังที่ปรากฏรายชื่ออยู่ท้ายหนังสือนี้ อย่างไรก็ตามหลายท่านก็ไม่ประสงค์จะออกนาม

สุดท้ายขอท่านสาธุชนที่ได้รับหนังสือนี้ ได้โปรดร่วมอนุโมทนาบุญกับคุณวิเชียร-คุณกชพร สุขสถาวรพันธุ์ และครอบครัว ผู้รับผิดชอบในการจัดพิมพ์หนังสือฉบับนี้แต่เพียงผู้เดียวในเบื้องต้น และกับท่านผู้ใจบุญที่ร่วมทุนทรัพย์สมทบในภายหลังด้วย


“ความดี เราไม่สงวนลิขสิทธิ์ ดังนั้นหนังสือธัมมะของเราจึงไม่สงวนลิขสิทธิ์ อยากให้พิมพ์เผยแผ่มาก ๆ จะได้มีอ่านกันทั่วถึง และคนที่มีอาชีพธุรกิจโรงพิมพ์ เขาจะได้มีเงินทองใช้กัน ขอสงวนลิขสิทธิ์อย่างเดียวคือ ความชั่ว” นี่คือคำพูดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่บอกแก่ญาติโยมที่มากราบนมัสการเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔

ขอบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทั้งหลายร่วมกันดำเนินการจัดทำหนังสือ “ใบไม้ในกำมือ” นี้ จงบังเกิดแด่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ตลอดจนคุณพ่อคุณแม่ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้มีพระคุณ และบุตรธิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ

นายชินวัฒก์ รัตนเสถียร
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕



**************************************


หมวดที่ ๑ บูรพาจารย์


คำสอนของหลวงพ่อเดิม ครูผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง

“วัดในสมัยโบราณครั้งกระโน้น เป็นแหล่งรวมสรรพวิชา เรียกกันว่า สำนักทิศาปาโมกข์เชียวนะจะบอกให้ บางแห่งก็เรียก ตักสิลา ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาในวัดนั้น จึงไม่ได้เข้ามาทำบุญอย่างเดียว แต่เข้ามาศึกษาหาความรู้กับพระในวัดด้วย”

“บวชสามพรรษานะ เขาว่าได้ปริญญาตรี เจ็ดพรรษาปริญญาโท สิบพรรษาปริญญาเอก บวชพรรษาเดียว สองพรรษายังเป็นทิดไม่ได้ รู้ไหมล่ะ “ทิด” มาจากคำว่าบัณฑิต”

“ที่นี้พอบวชเสร็จ แล้วสึก บางคนแทนที่จะเป็นบัณฑิตหรือเป็นทิด ก็กลับกลายเป็นเดรัจฉานไปเสียทันตา ...เป็นซี่ทำไมไม่เป็น ก็พอสึกตอนเช้า ก็กินเหล้าตอนเย็นหยำเปอย่างนี้ เรียกว่าบวชไม่ได้ประโยชน์ ซ้ำแล้วกลายเป็นเดรัจฉานไป”

“เธอฟังไว้นะ สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา เมื่อท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ นั้น ท่านทรงเล่าเรียนเชี่ยวชาญในวิชาการทุกด้าน ไตรเวทก็ทรงเชี่ยวชาญ การใช้ศรชัยไปจนถึงตำราพิชัยสงครามต่าง ๆ เรียนการปกครองคนหมู่มาก แต่แล้วก็ทรงได้พระสติว่า วิชาหนึ่งที่ไม่ได้เรียนก็คือ วิชาการพ้นจากกองทุกข์การเวียนว่ายตายเกิด จึงทรงออกแสวงหาความหลุดพ้น เป็นพระบรมศาสดา ในที่สุด”

“คาถาน่ะไม่ขลังหรอก เขาเอาไว้ท่อง เอาไว้เป็นองค์ภาวนา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้จิตเป็นสมาธิต่างหาก เหมือนเราจะเดินข้ามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เปรียบเหมือนกำลังจิตที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นอำนาจอันมหาศาล ต้องอาศัยการภาวนาคาถา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่ง ใช้คาถานั่นแหละเป็นองค์ภาวนาต่างสะพานข้ามฟากไป แต่พอจิตข้ามฟากไปถึงจุดหมายปลายทาง คือเป็นหนึ่งเดียว เป็นพลังอันมหาศาลแล้ว ก็รื้อสะพานคือ คาถาที่ภาวนาทิ้งไปได้เลย จิตที่เป็นหนึ่ง เป็นพลังมหาศาลแล้ว เขาเรียกว่า จิตตานุภาพ ฉันจึงไม่ต้องท่องคาถา แต่ใช้เจริญจิตให้เป็นหนึ่ง แล้วเป่าลมปราณอธิษฐานให้เขาสมหวัง เพี้ยงดี ๆ เข้าใจหรือยังล่ะ ไปท่องต่อไป ท่องให้จิตมันข้ามฟากให้ได้”

“นี่คุณมาอยู่กับฉันก็นานแล้ว เรียนกรรมฐานไหมล่ะ จะสอนให้ อย่าสึกไปเลย คุณน่ะอยู่ในผ้าเหลืองแล้วจะเจริญก้าวหน้ากว่าเป็นฆราวาส”

“ยิ่งเกลียด ยิ่งเข้าใกล้ ยิ่งรัก ยิ่งห่างไกล จำไว้ให้ดีนะคุณ ยิ่งเกลียดเขา เรายิ่งต้องแผ่เมตตาให้ แล้วความเกลียดมันจะหายไป ความรักมันจะเกิดตรงนี้”

“รอยเท้าของฉันเหยียบไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันคือหลวงพ่อเดิมที่ในหลวงท่านพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็น พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หมายถึงว่าเป็นที่ตั้งแห่งความดี ฉันไม่เบียดเบียน ฉันสร้างความเจริญในถิ่นกันดาร ฉันทำดีเพื่อให้พระศาสนารุ่งเรือง เมื่อได้รอยเท้าของฉันไปแล้ว ก็จงระลึกว่า หลวงพ่อเดิมท่านทำดี เราควรทำความดีเจริญรอยตามรอยเท้าของท่านไป เป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่แต่ในศีลในธรรมอันดีงาม นั่นแหละรอยเท้าของฉันจึงจะขลัง”

“คุณฟังฉันให้ดี ๆ นะ คนที่มาวัดนั้น ร้อยละแปดสิบเป็นพวกคนโง่ จ้องจะมาเอาแต่ของขลัง เพราะเขายังห่างธัมมะ ร้อยละยี่สิบเข้ามาหาธัมมะ มาสนทนาธรรมกับฉัน มีเพียงไม่กี่คนที่ถามฉันเหมือนที่คุณถามฉัน เมื่อมีคนถาม ฉันก็จะบอกเขาว่า เอารอยเท้าฉันไปนะ ฉันเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ ฉันเป็นพระที่เธอนับถือ ฉันไม่เก่งอะไรหรอก แต่ฉันสร้างความดี เธอจงเอารอยเท้าฉันไปดูให้ติดตา แล้วทำความดีตามรอยเท้าของฉัน แล้วเธอจะประสบแต่ความสุขความเจริญ”

“อย่าไปไหนไกลฉันเลย ฉันจะบอกเธอเป็นคนแรกว่า ไม่เกินสามเดือน ฉันจะมรณภาพจากเธอไปแล้ว จงอย่าห่างฉัน ช่วงนี้แหละสำคัญที่สุด เธอจำไว้”

“นี่แนะเธอ ฉันจะบอกอะไรให้นะ ฉันไม่เคยบอกใครเลย ฉันบอกคุณคนเดียว รู้แล้วนิ่งไว้อย่าแพร่งพราย เขาจะเสียขวัญกัน อีก ๑๕ วัน ฉันจะมรณภาพแล้ว ขอเธอจำคำฉันไว้ให้ดี ๆ”

“ฉันต้องการมอบวิชาการอย่างหนึ่งให้เธอไว้เป็นคนแรกและคนสุดท้าย ฉันเห็นว่าเธอนั้นเหมาะสมที่สุดแล้ว”

“วิชาที่หลวงพ่อจะมอบให้เธอคือวิชาคชศาสตร์ การต่อช้างป่า การกำราบช้างตกมัน การดูแลช้าง วิชาคชศาสตร์ต้องคนมีวาสนาบารมีพอ จึงจะเรียนได้ ฉันเห็นว่าเธอนี่แหละ จะรับไว้ได้ ฉันจึงมอบให้ ฉันเรียนมาจากปู่ย่าตาทวดฉัน เมื่อสมัยปู่ย่าตระกูลของฉัน ต่อช้างป่าถวายในหลวงกรุงศรีอยุธยา ปู่ทวดฉันเคยเล่าให้ฟังว่า เคยต่อช้างเผือกได้ ๒ เชือก ที่กำแพงเพชร แล้วนำไปถวายองค์พระราชากรุงศรีอยุธยา เป็นช้างคู่เมือง”

“นี่แน่ะเธอ ฉันจะบอกให้ เธอยังเป็นเด็ก เป็นผู้อ่อนอาวุโส ผู้ใหญ่เขาให้อะไรก็รับไว้ซิ ไปปฏิเสธทำไมกัน อย่าหยิ่งจองหองไม่เข้าเรื่อง”

“เธอฟังให้ดีนะ หลวงพ่อจะว่าให้ฟัง ผู้ใหญ่น่ะเขาเห็นการณ์ไกลกว่าเด็กมาก ไม่ใช่เขาพูดอะไรส่งเดชก็หาไม่ ที่หลวงพ่อมอบวิชาคชศาสตร์ให้นี้ ก็เพื่อตอบแทนที่เธอมาช่วยปฏิบัติฉันเป็นเวลานาน ฉันไม่เคยให้ใครเลย คนหนองโพหรือคนที่อื่น ฉันไม่เคยสอนให้ใครมาก่อนเลย ต้องการให้เธอสืบวิชาไว้ ไม่ให้ตายตามหลวงพ่อไป เข้าใจหรือยังล่ะ”

“เห็นไหม ถ้าเธอไม่เรียนวิชาศชศาสตร์แล้ว เธอก็จะไม่ได้เรียนกสิณจากหลวงพ่อ และไม่ได้อะไรเลย มามือเปล่าก็ไปมือเปล่า อย่าเป็นคนหยิ่งโยโสแมลงป่องเลย ผู้ใหญ่เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร”

“นี่เธอ ตอนกลางคืนเธอเดินอยู่ในป่าทึบ เธอรู้ไหมว่าทิศไหนเป็นทิศไหนกันแน่ เมื่อจะหาทิศทางนั้น ถ้ามองไม่เห็นทิศ ให้ดูดาวเหนือ ถ้าดูดาวเหนือไม่เป็นก็ต้องใช้อย่างอื่นแทน ถ้าเธอเดินผ่านหน้าวัด เธอจะรู้ได้ทันทีว่าทิศไหนเป็นทิศไหน ถ้าไม่มีโบสถ์แล้วดูดาวไม่เป็น ก็ต้องดูต้นไม้ เธอต้องรู้จักต้นไม้ว่า ต้นไม้แบบนี้ขึ้นอยู่ในทิศเหนือ หรือมีกิ่งก้านเอนไปทางทิศเหนือ หรือต้นไม้อย่างนี้ชอบขึ้นหรือเอนไปทางทิศใต้เป็นต้น และถ้าหากไม่มีต้นไม้ เธอก็ใช้วิชากสิณที่เธอเรียน ให้เธอนอนคว่ำลงไปกางแขนทั้งสองข้างออก เจริญสมาธิจนแน่วแน่ อธิษฐานจิตจะเกิดพลังความร้อน แผ่กระจายจากทรวงอก ไปยังแขนข้างใดข้างหนึ่ง ข้างไหนร้อน นั่นแหละ แขนชี้ไปทางทิศเหนือ”

“แม่ทัพสมัยก่อนโน้น เวลาจะออกรบทัพจับศึก นอกจากเตรียมอาวุธไว้ป้องกันตัวและคาถาอาคมแล้ว ยังทำเมฆฉายด้วย ด้วยการยกร่างของตัวเองขึ้นไปบนก้อนเมฆทำนิมิต จะมองเห็นเลยว่า ไปคราวนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าไปดีมีชัย ตัวนิมิตจะต่อติดกันทั้งร่าง ถ้าลางร้าย ตัวนิมิตบนก้อนเมฆจะคอขาดแขนขาดต่อกันไม่ติด ก็รู้ละว่าออกไปแล้วจะตาย ก็จะสั่งเสียและฝากฝังลูกเต้าไว้กับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วตัวเองก็ออกไปตายอย่างชายชาติทหาร นี่แหละพิชัยสงครามละเธอ”

( วิชาเมฆฉายนี้ หลวงพ่อก็ได้รับการถ่ายทอดเช่นกัน รวมทั้งวิชาการกำหนดรู้สภาวะของผู้คน เช่นถ้าเดินผ่านบ้านหลังนี้ แม้สิ่งแวดล้อมจะดูสดชื่น แต่เมื่อกำหนดจิตเข้าไปแล้ว รู้สึกซู่ ๆ วาบ ๆ สลับกัน ท่านว่าไม่นานนักจะมีคนตาย คนไข้หนักก็จะไม่รอด หรือบางบ้านสิ่งแวดล้อมดูเหี่ยวเฉา แต่เมื่อกำหนดจิตเข้าไปแล้ว รู้สึกซู่ ๆ ๆ ๆ ติดต่อกัน ท่านว่าบ้านนั้นกำลังจะรวยและมีโชคลาภ ........... ก่อนที่หลวงพ่อเดิมจะดับขันธ์ของท่าน ท่านได้บันดาลให้ฝนตกจนน้ำเต็มสระที่บ้านหนองโพ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำเพียงพอ ทันทีที่น้ำเต็มสระ ฝนก็หยุดตก แล้วหลวงพ่อเดิมก็ละสังขารทันที !? (รายละเอียดที่หลวงพ่อจรัญเล่าไว้กินใจกว่านี้ ท่านที่สนใจไปหาอ่านได้ : ผู้รวบรวม)


หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา

น้ำมันมนตร์ ซึ่งการหุงน้ำมันมนตร์นี้ ต้องเว้นวรรคหลายปีกว่าหลวงพ่อจะหุงสักที

เท่าที่เห็นการนำไปใช้ก็มี รักษาอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูก และบาดแผล ส่วนเรื่องการรักษามะเร็ง ก็มีผู้นำไปทานเหมือนกัน ทานแล้วอุจจาระจะเป็นสีดำ ทั้ง ๆ ที่เป็นน้ำมันพร้าวใส ๆ กับสมุนไพรหอม ๆ เท่านั้น

วิชาย่นระยะทาง หลวงพ่อเล่าให้ญาติโยมฟังว่า การเดินทางระหว่างวัดหน้าต่างไปยังอำเภอบางบาลสมัยก่อนโน้น ใช้เวลานานนับชั่วโมง แต่หลวงพ่อจงใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ส่วนหลวงพ่อจรัญของพวกเราจะเคยใช้หรือเปล่าไม่ทราบ ลองไปหาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับมักกะรีผล ในหนังสือกฎแห่งกรรม ธรรมปฏิบัติ

( หมายเหตุ : ขออนุญาตตัดข้อความบางส่วนออกนะคะ )


หมายเหตุ : หนังสือ"ใบไม้ในกำมือ" ตั้งแต่ หมวดที่ ๑ ถึง ท้ายเล่ม
บล็อกเดิมได้พิมพ์ลงไว้
ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ถึงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙



Create Date : 14 พฤษภาคม 2549
Last Update : 17 พฤษภาคม 2549 14:47:34 น. 0 comments
Counter : 2965 Pageviews.

ถมทอง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]








.: เรื่องล่าสุด ๒๕๕๖ :. คลิกเลยค่ะ

๒ พ.ย. [คลิปเสียง]ธรรมเทศนา ๑๔

๑๔ ต.ค. [คลิป]พิธีถวายผ้าป่า๒๐๐กอง





pub-6092438163871112
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ถมทอง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.