ถ้าขจัดความกลัวออกไปได้ ไม่นานความสำเร็จก็จะตามมา

<<
มกราคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
22 มกราคม 2556
 

นวนิยาย จะลองรักอีกสักครั้ง บทที่ ๖


 บทที่ ๖

"พังงา ๆ พังงา ๆ ... ใครไปพังงามาขึ้นรถได้เลย รถจะออกแล้ว"

จวนได้เวลารถบัสคันของเราซึ่งจอดอยู่ที่ท่ารถ  จะเคลื่อนออกจากท่าเพื่อรับส่งผู้โดยสารไปตามเส้นทาง เจ๊กฮุยยืนอยู่ตรงประตูทางขึ้นด้านหน้าของตัวรถ  ตะโกนเรียกผู้โดยสารให้รีบมาขึ้นรถเสียงดังลั่น น้ำเสียงของเขาบ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจัง เพราะเขาเป็นคนจริงจังกับงาน

เขายืนส่งเสียงปาว ๆ อยู่อย่างนั้นสามสี่รอบก็ก้าวขึ้นไปบนรถ  สตาร์ทเครื่องยนต์และตั้งสโลว์ทิ้งไว้-เป็นการอุ่นเครื่องยนต์   ในขณะที่บนรถขณะนั้นได้มีผู้โดยสารขึ้นไปนั่งรอเวลารถออกอยู่ก่อนแล้วสิบกว่าคน

ผมยืนกำกระบอกตั๋วอยู่ข้างล่าง ใกล้ประตูทางขึ้นด้านหลัง มีลุงหิดชายบ้าบ๋าร่างท้วม วัยไล่เลี่ยกับพ่อผม ยืนเป็นพี่เลี้ยงแนะนำวิธีที่จะเป็นโต๋วเชี้ยรถที่ดีอยู่ใกล้ ๆ

ทั้งผม เจ๊กฮุย และลุงหิด ต่างก็สวมเสื้อผ้าชุดกรมท่า ซึ่งเป็นชุดที่คนรถเมล์ทั่วไปนิยมใส่เหมือนกันทั้งสามคน

ผมนึกขำ, ที่ในที่สุดก็ต้องจับพลัดจับผลูมาสวมใส่เสื้อผ้าชุดนี้ แทนที่จะเป็นชุดสีกากี เครื่องแบบข้าราชการครูที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้แต่เด็ก เจ๊กฮุยจะคิดเหมือนผมหรือไม่-ผมไม่ทราบ แต่ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.ปลายมาด้วยกัน คุณครูที่สอนวิชาหน้าที่พลเมือง-ศีลธรรมเคยถามพวกเราว่า

"นายนุ้ย อนาคตเธออยากเป็นอะไร?"

"ผมอยากเป็นครูครับ" ผมรีบลุกขึ้นตอบเสียงดัง

"นายสมโชค " คุณครูถามเพื่อนนักเรียนคนถัดไป " โตขึ้นเธออยากเป็นอะไร"

"อยากเป็นป่าไม้อำเภอ ครับ"

"นายจรูญ ล่ะ" คุณครูชี้ไปที่หัวหน้าชั้น

"ผมอยากเป็นควาญช้าง-ครับคุณครู"

สิ้นเสียง ด.ช.จรูญ ซุยยัง หัวหน้าชั้น พวกเราในชั้นเรียนหัวเราะกันลั่นห้อง คุณครูก็พลอยหัวเราะกับเราด้วย จากนั้นท่านก็ถามไล่ไปเรื่อย เพื่อกระตุ้นความกระตือรือร้นของนักเรียน เป็นการสร้างแรงจูงใจในการนำเข้าสู่บทเรียน....

คุณครูถามเจ๊กฮุย  เขาก็ตอบว่า "ผมอยากเป็นนักบินครับ" แต่หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ เจ๊กฮุยก็หายหน้าไปเลย เขาไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โรงเรียนปิดเทอมก็ไม่กลับบ้าน แต่ครั้นกลับมาก็เป็นอย่างที่เห็น ๆ 

เขาไม่ได้เป็นนักบิน เช่นเดียวกับผมที่ไม่ได้เป็นครู

แต่เราเป็นพนักงานรถเมล์ เขาเป็นโชว์เฟอร์ ผมเป็นกระเป๋า-หรือโต๋วเชี้ย

"ก่อนออกรถแต่ละครั้งเอ็งต้องตรวจเช็คลมรถให้ดีเสียก่อน เอาเหล็กแป๊บเดินไปเคาะยางสำรวจดูทุกเส้น ฟังเสียงมัน ถ้าเสียงแหลม ปึ๊ก ๆ แสดงว่ายางเส้นนั้นยังตึง ลมยังแน่น แต่ถ้าดังปุก ๆ ก็แสดงว่าผิดปกติ ยางอาจรั่วซึม หรือลมอ่อนเฉย ๆ ก็ต้องเติมลมแล้วตรวจเช็คอีกรอบก่อนออกรถ ถ้าไม่อย่างนั้นมันอาจจะเกิดปัญหาขึ้นกลางทาง เกิดล้อระเบิดขึ้นมาก็จะลำบาก อันนี้สำคัญมาก..."

ลุงหิดกำชับ พร้อมกับเดินไปหยิบเหล็กแป๊บกลม ๆ ยาวขนาดช่วงข้อศอกที่ซอกประตูรถด้านหลังมาสาธิตวิธีเคาะล้อรถเพื่อฟังเสียงให้ผมดู

"น้ำในหม้อน้ำก็สำคัญ" แกสาธยายต่อ "โต๋วเชี้ยที่ดีต้องหมั่นดูแลอย่าให้น้ำในหม้อน้ำเครื่องยนต์แห้งเป็นอันขาด   น้ำมันเครื่องก็เหมือนกัน ต้องคอยตรวจวัดระดับของมันก่อนที่ลูกพี่จะขึ้นไปสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่ออุ่นเครื่องเสียก่อนเสมอ-จำไว้"

"ถ้างั้นก็แสดงว่า คนที่เป็นลูกพี่เก็ท่าแต่ขับอย่างเดียวนะสิ " ผมว่า

"เฮ้ย-" ลุงหิดทำเสียงดัง "ก่อนเขาจะได้เป็นโชว์เฟอร์ก็ต้องผ่านงานแบบนี้มาก่อน ทีนี้พอได้เลื่อนระดับขึ้นไปเป็นลูกพี่ มันก็ต้องได้นั่งสบาย ๆ หน่อยซิวะ"

"แต่ไอ้หัวทอนั่นมันไม่เคยเป็นโต๋วเชี้ยมาก่อนนี่"

ผมชี้ไปที่เจ๊กฮุยซึ่งกำลังเดินลงจากประตูรถด้านหน้า ตรงมาที่เราสองคน

ลุงหิดมองหน้าผมแล้วยิ้ม ไม่ว่าไร


"น้าเจ้าหิดเดี๋ยวเตินจะไปพังงาพร้อมกับผมใช่ไหม-- ดีแล้ว ๆ " เจ๊กฮุยพูดกับลุงหิดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แล้วหันมาทางผม " สักครู่เวลาออกรถไปกลางทาง มึงไม่เข้าใจอะไรก็ถามน้าเจ้าหิดเอานะ ค่าโดยสาร จากไหนถึงไหน--ราคาเท่าไหร่ --มึงถามแกได้เลย เส้นทางสายนี้แกหลับตาเห็นหมด"

เจ๊กฮุยพูดถูก เพราะลุงหิดเป็นนักเลงรถเมล์มาแต่ไหนแต่ไร เรียกว่าแกอยู่กับรถโดยสารมาตั้งแต่ถนนสายคุระบุรี-ตะกั่วป่า ยังเป็นฝุ่นลูกรัง   แกก็วิ่งรถสองแถวรับจ้างแล้ว ตอนนั้นเส้นทางสายคุระบุรี-พังงา ยังไม่มี ฝ่ายการทางกรมทางหลวงเพิ่งจะบุกเบิกสร้างขึ้นใหม่  พี่ชายเจ๊กฮุยก็เพิ่งจะขอสัมปทานได้มาไม่นาน   ครั้นเมื่อมีเส้นทางสายนี้ขึ้นมาแล้ว ลุงหิดก็เลยเปลี่ยนจากรถสองแถวเป็นรถบัสขนาดกลาง   นำมาร่วมวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นรายต้น ๆ และดูเหมือนลุงหิดนี่เองที่เป็นผู้ให้คำแนะนำในการตั้งอัตราค่าโดยสารให้กับเส้นทางเดินรถสายนี้

ตอนแรก ๆ รถเมล์เส้นทางสายคุระบุรี-พังงาก็ดูเหมือนจะมีอยู่แค่ ๑๕-๑๖ คัน ใช้ระยะเวลาในการออกรถแต่ละเที่ยวห่างกันถึง ๔๐ นาทีต่อ ๑ คัน โดยที่รถเมล์เที่ยวแรกของทุกวันจะออกวิ่งตอนหัวรุ่ง เวลา ๐๕.๓๐ น. ไม่ว่าจะทางฝั่งพังงาหรือฝั่งคุระบุรี   ซึ่งปกติคันที่จะออกในเที่ยวแรกจะเป็นรถที่ตกวินมาจากวันวาน   แต่ถ้ารถคันดังกล่าวมีผู้โดยสารมาเช่าเหมาไปที่อื่น หรือเข้าอู่ซ่อม   คันที่อยู่ถัดไปก็จะเขยิบแทน

วันนี้เป็นวันที่รถบัสคันของลุงหิดตกวินจอดอยู่ที่พังงา แกมอบให้โต๋วเชี้ยของแกนอนเฝ้ารถอยู่ทางฝั่งโน้นตามลำพัง  ตัวแกกลับบ้านมานอนกับลูกเมียที่บ้าน   เย็นวันนี้แกจึงต้องอาศัยรถเมล์ของเรากลับไปที่รถของแกที่พังงา   เพื่อที่จะขับมันออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นเที่ยวแรกในตอนหัวรุ่งพรุ่งนี้

เมื่อรถบัสของเราออกจากท่า, รับส่งผู้โดยสารไปตามเส้นทาง ผมก็มักจะดึงแผ่นตารางบอกราคา ที่จดใส่แผ่นกระดาษและพับใส่กระเป๋าหน้าอกออกมาดูอยู่บ่อยๆ  กระทั่งลุงหิดสังเกตเห็น... ดังนั้น, พอว่างคนแกก็กวักมือให้ผมเดินไปหาที่เบาะนั่งท้ายสุด ซึ่งเป็นเบาะยาวอยู่ติดกับกระจกด้านหลัง

"มึงจำไว้นะ--ช่วงละห้าบาท จากตะกั่วป่าถึงบางไทร-ห้าบาท จากบางไทรถึงบ้านค้างคาวก็ห้าบาท  จากค้างคาวถึงสะพานเสือก็ห้าบาทเหมือนกัน แล้วทีนี้-กูขอถามมึงหน่อย ถ้าจากตะกั่วป่าเลยมาถึงสะพานเสือมึงจะเก็บค่าโดยสารกี่บาท"

"ก็สิบห้าบาทนะสิ" ผมตอบ

"เออ-รู้ยังงี้แล้วมึงยังจะกางกระดาษแผ่นนั้นอีกทำไม"

"ก็ผมยังไม่รู้จักเส้นทางทั้งหมดนี่นา" ผมว่า "ไม่รู้ว่าเมื่อออกจากค้างคาวแล้วอันดับต่อไปมันจะไปถึงที่ไหนก่อน... ผมเลยต้องกางมันดู"

"อ้อ-แล้วที่ผ่าน ๆ มานี้ , มึงพอจะจำตรงไหนได้บ้าง"

"จากคุระบุรีมาถึงตะกั่วป่า--นั่นของตาย" ผมว่า "เพราะมันเป็นเส้นทางเดิม ๆ ผมคุ้นเคยมานาน แต่เส้นทางสายใหม่นี่สิ-ผมยังจำอะไรไม่ได้   ยังไม่คุ้น"

"ถ้าตั้งใจจริง ๆ อีกสักเที่ยวสองเที่ยวก็จำได้เอง "

"ผมก็ว่าอย่างนั้น" ผมยิ้มกับแก


ส่วนอีกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้, คือนอกจากลุงหิดแล้ว   บางครั้งผมก็สอบถามเอากับผู้โดยสารที่โดยสารมากับรถของเรา   ซึ่งพวกเขาเห็นผมเป็นโต๋วเชี้ยหน้าใหม่เขาก็บอกให้ แต่ก็มีอยู่รายหนึ่งที่ทำเอาผมหัวเราะจนท้องแข็ง

ผู้โดยสารรายนี้โบกขึ้นรถมาจากบ้านคลองห้าง เป็นผู้หญิงวัยกลางคน นุ่งผ้าถุงลายดอก-สีขุ่นมัวเพราะความเก่า ท่อนบนสวมเสื้อกุยเล้งแขนยาวสีดำ ที่ผ่านการซักเสียจนสีซีดเหมือนใบหน้าของแก

แกอุ้มเด็กชายวัยไม่เกินสี่ขวบก้าวเท้าขึ้นประตูรถมาด้วยคนหนึ่ง

ผมถามว่า "น้าจะไปลงที่ไหนครับ"

"โคล ผา" แกตอบ

"อะไรนะ"

ผมถามย้ำ ขณะกางแผ่นกระดาษตารางราคาออกดู มันไม่มีชื่อนี้ปรากฏอยู่ จะมีก็แต่คลองไผ่...

แล้วเผอิญถนนช่วงนั้นก็คดเคี้ยว เป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ไปตลอด   เจ๊กฮุยซึ่งเป็นพลขับก็ต้องคอยชะลอความเร็วและเปลี่ยนเกียร์หนักเบาอยู่ตลอด   ทำให้เสียงเครื่องยนต์หน้ารถครางหึ่ง ๆ สอดแทรกขึ้นมา ทำให้ฟังเสียงพูดของผู้โดยสารคนนี้ไม่ค่อยถนัด

"ขอโทษนะครับ เมื่อกี้น้าว่าจะไปลงที่ไหนนะครับ"

ผมพูดพลางดึงตั๋วออกจากม้วนในกระบอกที่กุมไว้กับมือซ้ายเตรียมฉีกส่งให้แก

"โคล ผา นิ เค่ ๆ มะกาย ๆ เค่ ๆ "

ผู้โดยสารคนนั้นพูดเสียงดังขึ้น

ผมหัวเราะ ฮา ฮา

ผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่ตรงเบาะใกล้ ๆ หันมามองผมแล้วพลอยหัวเราะไปด้วย
เพราะผมเพิ่งรู้ว่าแกเป็นหญิงพม่า   ซึ่งอาจจะเป็นคนงานเหมืองแร่แถวนั้น หรือไม่ก็เป็นลูกจ้างอยู่ในสวนยางที่ไหนสักแห่ง เพราะสองข้างถนนต็มไปด้วยสวนยางและเหมืองแร่


ผมเป็นโต๋ยเชี้ยรถเมล์อยู่ได้วันสองวัน  จึงค่อยรู้สึกคล่องตัวขึ้นบ้าง เพราะผมเริ่มจดจำหมู่บ้านตำบลสองข้างเส้นทางได้มากขึ้น การเก็บค่าโดยสารจึงมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่ปัญหาที่พอจะมีอยู่บ้างก็คือการช่วยขนสัมภาระติดตัวของผู้โดยสารขึ้นลงจากรถ โดยเฉพาะเวลารถแน่นจนแทบจะไม่มีที่ยืน  ผมจึงต้องป้องปากตะโกนบอกเจ๊กฮุยบ่อย ๆ ว่า ไม่มีที่ว่างจะใส่สัมภาระได้อีกแล้ว   ถ้าผู้โดยสารมีสัมภาระยืนโบกอยู่ริมทาง ก็ให้กดแตรเป็นสัญญาณบอกเขาว่ารถเต็ม แล้วให้ขับผ่านไปเลย ไม่ต้องจอดรับเพิ่มอีกแล้ว...

แต่ทว่าบางครั้งเจ๊กฮุยก็ไม่ได้ยิน   พอมีคนยืนโบกอยู่ริมทางก็จอดรับอีก ซึ่งทีนี้แหละที่ผมจะบ้าตาย...

กระเป๋ารถเมล์ภูธรกับกระเป๋ารถเมล์ในกรุงเทพฯ ถ้าจะมีส่วนแตกต่าง ก็เห็นจะเป็นตรงนี้เอง  --ตรงที่ต้องรับผิดชอบกับสัมภาระของผู้โดยสารด้วย ต้องช่วยเขายกขึ้นยกลงจากรถ ส่วนค่าระวางนั้น   ถ้านิด ๆ หน่อย ๆ ผมก็ไม่เก็บ   แต่ถ้าเขาขนเอามาเป็นกระสอบสักกระสอบสองกระสอบ ก็จำต้องคิดค่าระวางบ้าง   บางคนก็เข้าใจและยอมจ่ายโดยดี แต่บางคนก็ชักจะหัวหมอ ไม่ยอมจ่าย ต้องพูดกันนาน และผมก็มักจะยอมแพ้ แต่จะจดจำหน้าตาไว้   วันหลังถ้าเห็นเขามายืนโบกรถและมีสัมภาระมากองริมถนนด้วย ผมจะบอกเจ๊กฮุยว่า "ผ่านเลยลูกพี่ เวลาหมดแล้ว"

ซึ่งไอ้เวลาหมดแล้วนี้, บางครั้งมันก็ไม่จริง   ผมแกล้งตะโกนเสียงดังไปอย่างนั้นเอง   อย่าให้ผู้โดนสารบนรถเห็นว่าเราทำผิด   คือไม่รับผู้โดยสารที่ยืนโบกรถอยู่ริมทาง   ซึ่งมันผิดกฎระเบียบการเดินรถโดยสารตามที่ขนส่งเขากำหนดไว้ ว่ารถโดยสารทุกคันจะต้องจอดรับผู้โดยสารที่ยืนรออยู่บนเส้นทาง ยกเว้น.... ซึ่งข้อยกเว้นก็มีมากพอสมควร และเราก็อาศัยข้อยกเว้นนี้แหละแก้เผ็ดผู้โดยสารเจ้าปัญหา

พอย่างเข้าสัปดาห์ที่สองของการทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์   ผมก็เริ่มคุ้นเคยกับเส้นทาง ตลอดจนผู้โดยสารที่มักจะซ้ำหน้าบ่อย ๆ มากขึ้นทุกที  โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ยังสวมชุดนักเรียนทั้งหญิงและชาย    บ้างก็เด็กเล็ก บ้างก็เด็กโต ซึ่งถ้าพวกเขาโดยสารมาจากคุระบุรี ส่วนมากก็จะไปเรียนกันที่โรงเรียนแถว ๆ ตะกั่วป่า เมื่อถัดจากตะกั่วป่าก็เป็นนักเรียนจากอำเภอกะปง ไปเรียนกันในตัวเมืองพังงา   นักเรียนพวกนี้บางคนไปเช้าเย็นกลับ บางคนไปบ่ายวันอาทิตย์ กลับเย็นวันศุกร์ พวกเขาไปเช่าหอพักในตัวเมือง  แต่พอเลิกเรียนวันศุกร์ก็กลับบ้านพร้อมหน้ากัน   กระทั่งสถานีต้นทางที่พังงา รถเมล์เที่ยวสี่โมงเย็นในเย็นวันศุกร์ ก็จะกลายเป็นรถเมล์ขวัญใจนักเรียนก็ว่าได้   เพราะแค่พอโชว์เฟอร์ขึ้นไปสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่ออุ่นเครื่องเท่านั้น   พวกเด็กนักเรียนที่มาออกันอยู่   ก็จะตรูกันขึ้นรถจนแน่นเอี๊ยดทั้งคัน พวกที่มาช้าก็ต้องเลทไปคันหลัง   เพราะยังเหลือเวลาให้รถเมล์ออกวิ่งรับ-ส่งอีกสองเที่ยวจึงจะหยุดให้บริการ  

เย็นวันศุกร์วันนั้น รถบัสคันของผมถึงคิวออกในลำดับรองบ๊วย คือ ๑๖.๔๐ น. มีนักเรียนหญิงชายตกค้างอยู่สิบกว่าคน เป็นนักเรียนมัธยมปลายที่เป็นเด็กโตทั้งนั้น มีไปลงที่บ้านทุ่งคาโฮกสามคน   บ้านคลองห้างสองคน ที่เหลือไปลงที่ตลาดปากถัก -อำเภอกะปง   เป็นหญิงห้าคน ชายสามคน

ได้เวลาออกรถ ผู้โดยสารไม่เค็มคันเหมือนคันที่ออกไปเที่ยวก่อน พวกนักเรียนชายที่จะไปลงตลาดกะปงชวนกันมานั่งที่เบาะโดยสารตัวหลังสุด ซึ่งเป็นเบาะยาว และเป็นที่โปรดปรานของพวกเขา  ส่วนแม่พวกผู้หญิงก็ชวนกันไปนั่งเบาะยาวเหมือนกัน แต่เป็นเบาะยาวหน้ารถ ติดกับฝาครอบแท่นวางเครื่องยนต์  คนละฝั่งกับโชว์เฟอร์ ซึ่งพวกเธอก็จะต้องนั่งหันหน้าไปทางโชว์เฟอร์ เพราะลักษณะของเบาะโดยสารตัวนั้นวางชิดแนบตัวถังรถเมล์ไปตามยาว เลยเข้าทางโชว์เฟอร์ชีกอของผมเข้าพอดี

พอรถออกจากท่าได้สักระยะ  ผมก็เริ่มเดินฉีกตั๋วเก็บค่าโดยสาร  ซึ่งไม่ถึงยี่สิบนาทีก็เสร็จเรียบร้อย    ผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถเมล์ของผมแต่ละคนจะลงตรงไหนบ้าง   มันวิ่งมาอยู่ในสมองผมหมดแล้ว  และเมื่อได้จังหวะนั่งพัก   ผมก็เดินมานั่งลงบนเบาะที่อยู่ชิดตัวถัง-ติดประตูทางขึ้นด้านหลังของรถ   ซึ่งส่วนมากจะเป็นที่นั่งประจำของพวกโต๋วเชี้ยรถทั้งหลาย เพราะที่นั่งตรงนั้นอยู่ในมุมมองที่กว้างไกล  แลเห็นการเคลื่อนไหวของผู้โดยสารภายในรถได้ชัดเจนที่สุด  ใครลุกจากเบาะนั่งเดินออกมาเพื่อจะลงจากรถเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง กระเป๋ารถก็เห็นได้ทันที   และพร้อมที่จะได้ลุกขึ้นช่วยหยิบยกสัมภาระติดตัวให้เขา ในกรณีที่เขามีมันมาด้วย


ยกเว้นกรณีที่มีผู้โดยสารแน่นรถ และโต๋ยเชี้ยต้องออกไปยืนห้อยโหยอยู่กับราวเหล็กประตู ซึ่งมันจะบดบังทุกสิ่งอย่างหมดสิ้น ผู้โดยสารก็ต้องช่วยเหลือตนเองอย่างช่วยไม่ได้

ทว่าเย็นวันนั้นผู้โดยสารในเที่ยวเมล์ของผมก็ค่อนข้างโหรงเหรงเหมือนอย่างที่บอก ระหว่างทางก็มีโบกขึ้นมาใหม่ไม่กี่ราย ผมซึ่งนั่งประจำอยู่บนเบาะประจำตำแหน่งตัวนั้น จึงกวาดสายตามองพวกเขาไปจากด้านหลังได้หมดทุกคน

มองเห็นแม้กระทั่งเจ้าโชว์เฟอร์ชีกอออกลวดลายเกี๊ยวพาราสีพวกเด็กนักเรียนหญิง ที่นั่งบนเบาะโดยสารด้านหน้าและหันหน้าไปทางเขาได้เต็มตา

พวกเด็กสาวในชุดนักเรียนกระโปรงยาวสีกรมท่า-เสื้อขาวคอปกพวกนั้น ก็ดูเหมือนจะพอใจโชว์เฟอร์รูปหล่อของผมเสียด้วย เพราะผมเห็นพวกเธอแย่งกันพูดกับมันไม่หยุดปาก แต่จะพูดคุยเรื่องอะไรกัน ผมได้ยินไม่ถนัด เพราะเสียงลมด้านนอกที่เสียดสีตัวถังรถ บวกกับเสียงเครื่องยนต์ที่ครางหึ่ง ๆ ตลอดเวลา กลบเสียงพูดคุยโต้ตอบของพวกเขาที่เสียหมดสิ้น

"หน้าร้านค้าปากซอยข้างหน้า มีคนลงนะลูกพี่"

ผมกดกริ่งพร้อมร้องบอกไปจากด้านหลัง และลุกจากที่นั่งไปดึงกล่องกระดาษที่ผูกรัดเชือกฟางบนพื้นหน้าเบาะยาวด้านหลังผม ซึ่งเป็นสัมภาระของผู้โดยสารที่กำลังจะลงจากรถมาถือไว้ เพราะยังอีกไม่ถึง ๒๐๐ เมตร ก็จะถึงจุดหมายแล้ว

กริ๊งงงงงง กริ๊งงงงงงง กริ๊ง ๆ ๆ

ผมกดกริ่งรัวเป็นครั้งที่สอง

"ได้ยินแล้วโว้ย!"

พ่อโชว์เฟอร์รูปหล่อร้องตะโกน  มองค้อนผมผ่านกระจกส่องหลังที่แปะติดอยู่กับกระจกหน้ารถ-ตรงหน้ามัน  ผมเหลือบเห็นและสบตากันพอดี

‘อย่างนี้ก็สวยนะซี-ลูกเพ่’

ผมคิดของผมในใจ และกะว่าสักประเดี๋ยวพอผู้โดยสารคนนี้ลงจากรถแล้ว ผมจะเดินไปนั่งข้างหน้า จะไปฟังพวกเขาพูดภาษาดอกไม้กันว่าอย่างไร

เผลอ ๆ จะได้ขัดคอมันเสียมั่ง-ไอ้ห่ะ


*************************************************


Create Date : 22 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 13:51:57 น. 0 comments
Counter : 1204 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

หลวงเส
 
Location :
สุราษฏร์ธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add หลวงเส's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com