แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ เวชศาสตร์ป้องกัน ร.พ.พนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
 
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
8 มิถุนายน 2550
 
 
"เราจะต้องเรียนรู้วิธีช่วยฟื้นคืนชีพไปทำไม"

พบข่าวคอลัมภ์คลินิกกีฬา คุยกันวันเสาร์กับหมอไพศาล น.ส.พ.เดลินิวส์
วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม 2550
เห็นว่าน่าสนใจสัมพันธ์กับเรื่อง การอบรม"ฟื้นคืนชีพ(CPR)" ที่ ร.พ.พนมฯจัดขึ้นพอดี



เนื้อหาบอกว่า คนหยุดหายใจ แต่ได้รับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพก่อนนำส่งพบแพทย์ปรากฏว่าทำให้คนนั้นสามารถรอดชีวิตได้ เนื้อข่าวเป็นดังนี้..
...........................................................................

มารู้จักวิธีช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานกันดีกว่า

จุดมุ่งหมายสำหรับบทความในวันนี้เพื่อจะให้เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเ
ป็นประจำ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านจะเป็นผู้ที่แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนโดยเฉพาะไม่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันที่จะมีผลทำให้เราเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน (Sudden Death หรือ การที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน/ Sudden Cardiac Arrest ในภาษาทางการแพทย์)

แต่ท่านอาจจะเป็นพระเอกที่รู้บทบาทในการช่วยชีวิตขั้น พื้นฐานแก่ ผู้ที่ประสบปัญหาหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจ หยุดเต้น ขณะที่มาเล่นกีฬาและออกกำลังกายอยู่ใกล้ ๆ ท่าน หรือในบริเวณที่ท่านอยู่ เพราะท่านมีทักษะพอที่จะทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคอร์ต “แบดมินตัน” แห่งหนึ่ง
มีผู้ป่วยรายหนึ่ง อายุประมาณ 50 ปี เล่นแบดมินตันเป็นประจำ ขณะที่เล่นแบดมินตันอยู่กับเพื่อน ๆอยู่นั้น ปรากฏว่ามีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ เพื่อน ๆ ได้พยายามช่วยกันปั๊มหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาล พบว่า
หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว แพทย์ได้ใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ
ใส่ท่อช่วยหายใจและให้ออกซิเจนร่วมกับใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจและระบบหายใจดีขึ้นจนถึงขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ (5 วันหลังเกิดเหตุการณ์) ผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องอยู่ในห้องไอซียูแล้ว
สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกและไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว มีความรู้สึกตัวดีขึ้นจนพูดคุยรู้เรื่องได้มากขึ้น ยังมีสับสนในบางครั้ง สามารถทำตามสั่งได้ดีพอควร
อาการอ่อนแรงของแขนและขาค่อย ๆ ดีขึ้น

ในทางการแพทย์ เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่ได้พยายามช่วยผู้ป่วยรายนี้ที่คอร์ตแบดมินตันและนำส่งโรงพยาบาล
คงรู้จักวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดี จึงสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้ได้ระหว่างนำส่ง และหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาจากทางแพทย์และพยาบาลแล้วจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
เราหวังว่าผู้ป่วยรายนี้จะได้มีการฟื้นตัวกลับมาอย่างสมบูรณ์เหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์และกลับมาเล่นกีฬาแบดมินตันที่ตัวเองชอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านพบเห็นบุคคลที่หมดสติ หัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจ

สำหรับกรณีผู้ป่วยที่หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
โรคหัวใจ โรคทางสมอง ไฟฟ้าช็อต จมน้ำ อุบัติเหตุ หรือแพ้ยา/แพ้พิษแมลงอย่างรุนแรง แต่ในที่นี้ผมสมมุติสถานการณ์เฉพาะในที่ที่คนกำลังเล่นกีฬา หรือกำลังออกกำลังกายกันอยู่และมีคนหมดสติไม่หายใจ และหัวใจหยุดเต้น อยู่ในบริเวณนั้น

ก่อนอื่นผมขออธิบายความรู้พื้นฐานระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบหายใจและการทำงานของสมองคร่าว ๆเสียก่อนดังนี้ :

โดยปกติสมองจะ ทำงานได้ต้องรับออกซิเจนที่มากับเลือดซึ่งมาจากการปั๊มหรือการทำงานของหัวใจที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วน ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งสมองด้วย
เลือดที่หัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเป็นเลือดที่มีออกซิเจนซึ่งได้จากการที่ปอดหายใจเอาอกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและมีการแลกเปลี่ยนกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาพร้อมกับเลือดที่มาที่ปอด เลือดที่มีออกซิเจนกลับ สู่หัวใจและถูกปั๊มไปสู่ส่วนต่าง ๆของร่างกาย รวมทั้งสมองด้วย ซึ่งเซลล์ของเนื้อสมองจะสามารถทนต่อการขาดออกซิเจนได้ประมาณ 4-5 นาทีเท่านั้น และหากเกินไปกว่านี้โอกาสที่จะเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง นิทราหรือเสียชีวิตมีค่อนข้างสูง

ดังนั้นท่านคงจะพอเข้าใจนะครับว่าอวัยวะที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ หัวใจและระบบการหายใจส่วนสมองเป็นผลจากการไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจึงมุ่งเข้าไปช่วยเหลือหัวใจและการหายใจนั่นเอง

การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support หรือ BLS)

1.โดยเริ่มจากการประเมินกรณีผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้ตัว ด้วยการเรียกชื่อดัง ๆ
อาจจะบีบหรือขยับหัวไหล่เพื่อพยายามเหมือนกับการปลุกให้ตื่นแต่อย่าไปพยายามขยับศีรษะหรือเคลื่อนไหวบริเวณลำคอเพราะคนหมดสติบางคนล้มลงอาจมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอที่เราต้องพึงระวัง

2.การทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ Basic Life Support (BLS) ขอให้ทำภายใน 4 นาทีเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสมองที่ไม่อาจขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองนานมากกว่า 4 นาทีได้

3.หลักการ “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” มีดังนี้

3.1 A หรือ Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่งด้วยการอ้าปากดูว่ามีเศษอาหารหรือฟันปลอมที่หลวมหลุดอยู่หรือไม่ (Clear the Airway)
แล้วให้กดหน้าผากให้ศีรษะไปด้านหลัง (Head Tilt) และอีกมือหนึ่งจับคางเชยขึ้น (Chin Lift) ตามภาพที่ 1

ในขณะที่ทำในข้อนี้ ท่านต้องเรียกคนอื่นให้ มาช่วยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านอยู่ในสนามกีฬาท่านควรมีเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยรักษาพยาบาลที่ใกล้ท่านมากที่สุดเพื่อกรณีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต่อจากสถานที่เกิดเหตุการณ์ และหากทำตามข้อ 3.1 ไม่ได้
ท่านอาจพยายามจัดท่าให้ศีรษะตะแคงไปทางด้านข้างขณะนอนราบหงายเพื่อจุดประสงค์ในกรณีมีการอาเจียนหรือเศษอาหารจะได้ไหลออกจากปากได้โดยง่าย

3.2 B หรือ Breathing เมื่อทำตามข้อ 3.1 แล้วให้สังเกตดูว่ามีลมหายใจออกมาหลังจากเปิดทางเดินหายใจให้โล่งแล้ว ถ้ามีการหายใจให้คลำชีพจรที่คอหรือที่บริเวณข้อมือ (ท่านควรต้องรู้ตำแหน่งในการคลำชีพจร) แต่ถ้าพบว่าไม่หายใจหรือไม่แน่ใจ ท่านต้องเริ่มช่วยการหายใจ โดยทำดังนี้

- เป่าลมเข้าปาก โดยให้สังเกตดูว่า หน้าอกขยับขึ้น-ลง และมีลมหายใจออก หากเป่าลมไม่เข้าขอให้ดูภายในปากและดูตำแหน่งของคออีกทีหนึ่ง มีข้อสังเกต คือ ท่านไม่ต้องเป่าลมแรง ๆ ปริมาตรมาก ๆให้เป่าจนหน้าอกกระเพื่อมขึ้นก็เพียงพอแล้ว

- ถ้าหากท่านกลัวการติดเชื้อจากการเป่าปากให้เริ่มกดหน้าอกไปเลย ดีกว่ากลัวแล้วไม่เริ่มทำอะไรเลย

3.3 C หรือ Circulation หมายถึงการไหลเวียนของโลหิต ด้วยการปั๊มหัวใจ โดยการวางมือกลางหน้าอก
โดยเอาฝ่ามือขวาวางบนหลังมือที่กดลงบนกลางหน้าอก กดให้แรงความเร็ว 80-100 ครั้งต่อนาที โดยกดหน้าอก 30
ครั้งและให้เป่าปาก 2 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ ตามภาพที่ 2 โดยให้ทำจนครบ 5 รอบและจึงหยุดประเมินอาการอีกครั้ง สำหรับการนับจังหวะให้นับตัวเลข 12345 โดยไม่ต้องนับ 1 และ 2 และ 3 และ............

การกดหน้าอกเช่นนี้ แรงจะไปกระแทกหัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนโลหิตได้บ้างและสามารถไปรับออกซิเจนที่ปอดจากการที่มีคนเป่าลมทางปากเพื่อให้เข้าสู่ปอด

สำหรับการประเมินอาจดูว่าเริ่มมีการหายใจ หรือไม่ ?/มีการไอหรือสำลักหรือไม่ ?/มีการขยับตัว หรือไม่? และให้ลองตรวจดูว่ามีชีพจรหรือไม่ ? ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขอให้ทำซ้ำ A, B, C ต่อไป

สำหรับประชาชนทั่วไปในขณะนี้ ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ D หรือ Defibrillation โดยใช้เครื่อง AED(Automate External Defibrillation) ซึ่งเป็นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติที่ออกแบบมาให้มีความปลอดภัยและใช้งานง่าย โดยในปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถซื้อ AED มาไว้ใช้ตามบ้านได้แต่ยังมีราคาสูงอยู่
ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะพอได้ความรู้ ?การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน? ไปบ้างในสัปดาห์หน้านี้
หากท่านสนใจท่านอาจหาความรู้เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านซึ่งบางโรงพยาบาลก็จะมีบริการฝึกอบรมให้ด้วย สวัสดีครับ.




Create Date : 08 มิถุนายน 2550
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 15:10:58 น. 0 comments
Counter : 942 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

samrotri
Location :
ฉะเชิงเทรา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




น.พ.สำเริง ไตรติลานันท์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ เวชศาสตร์ป้องกัน
ตำแหน่ง นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน ร.พ.พนมสารคาม และ ร.พ.สร้างเสริมสุขภาพตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทรฯ 0896112714
[Add samrotri's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com