<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 ธันวาคม 2553
 
 
ดูแลสุขภาพอย่างไรในวัย 50



สำหรับท่านที่มีอายุเลยวัย 50 อาจจะมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และการป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยที่สูงขึ้น วันนี้ผมจะขอนำเสนอเคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร และตรวจสุขภาพประจำปีที่เหมาะสม

 ผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงจาก การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ดังนั้นจะต้องมีการเลือกชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่นผู้ที่ปัญหาข้อเข่าเสื่อม อาจจะต้องเลี่ยงการวิ่งซึ่งอาจจะทำให้อาการเจ็บของข้อเข่าเป็นรุนแรงมากขึ้น โดยอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการว่ายน้ำ หรือใช้เครื่องออกกำลังกายที่ไม่ทำให้มีการกระแทกของน้ำหนักตัวลงที่ข้อเข่า

การออกกำลังกายในความคิดของผู้คนส่วนมากมักจะนึกถึงเพียงการวิ่งออกกำลัง ว่ายน้ำ หรือการเล่นกีฬา เช่นเทนนิส แบดมินตัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวิ่ง ว่ายน้ำหรือเล่นกีฬา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ครบถ้วนต้องประกอบไปด้วยการยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความ ยืดหยุ่นของร่างกายและป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ การสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงโดยการยกน้ำหนัก หรือฝึกท่าบริหารที่สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยฝึกการสร้างกล้ามเนื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง และสุดท้ายคือการออกกำลังกายแบบคาดิโอเพื่อที่จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ โดยคนอายุ 50 ปีควรออกกำลังกายให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 110 ครั้งต่อนาที โดยให้คงระดับการเต้นของหัวใจที่ระดับนี้อย่างน้อย 20 นาที ระยะเวลาและจำนวนครั้งของการออกกำลังกายที่เหมาะสม คืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

หากท่านสามารถออกกำลังกายให้ครบทั้งสามส่วนคือการ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย การสร้างกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบคาดิโอ ท่านจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และจะทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

1. การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ
เนื่อง จากวัยที่สูงขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลัง กาย หรือการเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีจะเริ่มออกกำลังกายโดยเฉพาะในวัยมากกว่า 50 ปี ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจระดับความดันโลหิต และตรวจความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เพื่อป้องกันการเกิด ภาวะหัวใจขาดเลือดในขณะออกกำลังกาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


2. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
หลายคนมักจะได้ยินคนบ่นว่ารับ ประทานอาหารปริมาณเท่าเดิมหรือน้อยลงกว่าเดิมแต่น้ำหนักยังไม่สามารถลดลงได้ สาเหตุอาจจะต้องกลับไปดูว่าปริมาณอาหารที่น้อยลงนั้นอาจจะยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง อีกสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากการขาดออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อลดลง โดยทุก ๆ สิบปี กล้ามเนื้ออาจจะลดลงไปได้ 10% จึงเป็นเหตุผลให้ต้องเพิ่มการออกกำลังกายที่สร้างกล้ามเนื้อ และการเลือกรับประทานอาหารต้องเลือกจากพลังงานของอาหารเป็นหลัก โดยอ่านจากฉลากโภชนาการ

สำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้นจะต้อง ได้รับการควบคุมมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ มักจะมีสาเหตุมาจากการมีภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเช่น มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว หรือเคยตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน ควรลดการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง  ขนมปัง ของหวาน ผลไม้รสหวานจัดและน้ำตาล

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ หรือมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ไม่ควรรับประทานไข่แดงเกินกว่าสัปดาห์ละ 3 ฟอง
ควร รับประทานอาหารประเภทผัก และผลไม้มากขึ้น โดยให้มีผักและผลไม้อยู่ในทุกมื้ออาหาร ซึ่งจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ การรับประทานปลาทะเล จะได้รับโปรตีน และสารโอเมก้า -3 ซึ่งจะสามารถเพิ่มระดับไขมันชนิดดี HDL ในเลือดที่จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจได้

สำหรับ ผู้หญิงควรได้รับอาหารที่มีระดับแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่าง กายเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน โดยในหนึ่งวันผู้หญิงในวัยนี้ควรจะได้รับแคลเซียมให้ได้อย่างน้อย 1000 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น นมสดซึ่งควรเลือกเป็นนมไม่มีไขมัน น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ต ผักใบเขียวเข้ม เช่นผักโขม และปลา ถ้าหากท่านไม่สามารถรับประทานอาหารเหล่านี้ได้ อาจจำเป็นจะต้องได้รับแคลเซียมเม็ดเสริมเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน

3. รู้ทันโรคที่พบในช่วงวัย 50

3.1 โรค เรื้อรังที่พบได้ในช่วงวัย 50 เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้เป็นโรคโรคเรื้อรัง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ แต่ถ้าหากมีการป้องกันและรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่องแล้วก็จะสามารถทำให้มี คุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆได้

3.2 โรค ร้ายแรงและเป็นสาเหตุการตายที่พบได้ในช่วงวัย 50 ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยคือโรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ ในเพศหญิงยังมีมะเร็งเต้านม และมะเร็งปาดมดลูกที่เป็นสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งของผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายอายุเกิน 50 ปี จะเริ่มพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นเรื่อยตามอายุโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ

3.3 โรค ของความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย ๆ คืออาการเสื่อมของข้อและกระดูก ทำให้มีการอาการปวดเวลาขยับหรือใช้งาน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้การออกกำลังกายลดลง และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง  ๆ ได้ การมองเห็นและการได้ยินผิดปกติ โรคในกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นจากการเสื่อมของอวัยวะซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน


4. ตรวจสุขภาพประจำปี
โรคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้สามารถตรวจพบได้เบื้องต้นด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี โดยการตรวจที่เหมาะสมจะเริ่มต้นตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ เช่นประวัติครอบครัว พฤติกรรมต่าง ๆ อาการผิดปกติต่าง ๆ
โดยมาตรฐาน ทั่วไปแล้ว ทุกคนควรจะต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์  การตรวจวัดสายตาและความดันตา สำหรับผู้หญิงควรพบแพทย์นรีเวชเพื่อทำการตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

- วัดระดับความดันโลหิตสูง ซึ่งหากพบว่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควรได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด ลดอาหารเค็ม ลดน้ำหนัก หากความดันไม่ลดลงด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยา

  - การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อ คัดกรองภาวะเบาหวาน หากน้ำตาลสูงกว่า 100 mg/dl จะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะเบาหวาน และหากสูงกว่า 126 mg./dl เป็นภาวะเบาหวาน ซึ่งควรออกกำลังกาย ควบคุมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลและของหวาน ลดน้ำหนัก และติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำเป็นต้องรับประทานยาเช่นกัน

- การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อเป็นการตรวจหาความเสี่ยงของโรคหัวใจ โดยทำการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล ไขมันชนิดดี HDL ไขมันชนิดไม่ดี LDL และไตรกลีเซอร์ไลด์

- การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก ๆ 5 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปีเป็นต้นไป แต่หากมีความเสี่ยงในครอบครัว หรือมีอาการผิดปกติเช่นมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการขับถ่าย เช่นท้องผูก ท้องเสีย ลักษณะของอุจจาระผิดปกติมีมูก มีเลือดปน หรือตรวจอุจจาระพบเลือดปน

มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก สำหรับผู้หญิงควรจะได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจเอีกซเรย์เต้านมและ อัลตราซาวน์เต้านมทุกปี และควรทำการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน และทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกกับนรีแพทย์เป็นประจำ

มะเร็งต่อมลูกหมาก สำหรับผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจเลือด PSA โดยในการตรวจร่างกายแพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมากว่ามีขนาดโตกว่าปกติหรือไม่ หรืออาจใช้การตรวจอัลตราซาวน์เพื่อวัดขนาดของต่อมลูกหมาก หรือสังเกตอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ค่อยพุ่ง หรือต้องตื่นนอนกลางดึกหลายครั้งเพื่อปัสสาวะ หากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบปัสสาวะเพื่อตรวจเพิ่ม เติม

เนื่องจากโรคบางโรคอาจไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ ประจำปีหรืออาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างปี ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่มีอาการผิดปกติไป เช่นอาการปวดหัว หน้ามืด มึนงง เวียนศีรษะ อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นมาจากโรคความดันโลหิตสูง การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก บวมอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด หากท่านสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายเกิดขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะหลายครั้งที่การเพิกเฉยกับอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้โรคที่เป็นดำเนินไปถึงขั้นที่รุนแรงและยากกับการรักษา

เพียง เริ่มง่าย ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย และใส่ใจอีกสักนิดกับการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ท่านก็จะสามารถมีสุขภาพที่ดีได้ นอกจากเรื่องของสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจยังเป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรละเลย การพักผ่อนที่เพียงพอ การทำจิตใจให้สงบ ลดภาวะความเครียดจะช่วยให้ท่านสามารถ มีความสุขได้ทั้งกายและใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช
//www.samitivejhospitals.com/allhealth_article_detail.aspx?id=216&lid=th


Create Date : 16 ธันวาคม 2553
Last Update : 16 ธันวาคม 2553 10:59:26 น. 3 comments
Counter : 3194 Pageviews.

 
มีประโยชน์ดีค่ะ


โดย: Much the same วันที่: 16 ธันวาคม 2553 เวลา:12:27:13 น.  

 
ได้ความรู้ดี ค่ะ
ป.ล. ฝาก blog ด้วยค่ะ เคล็ดลับช่วยคุณลดหุ่นหลังคลอด
CLICK HERE


โดย: รุ่งตะวัน (สมาชิกหมายเลข 2716342 ) วันที่: 20 ตุลาคม 2558 เวลา:16:25:46 น.  

 
ชอบมากค่ะ. ได้ประโยชน์มากค่ะ


โดย: Yuvaree IP: 188.165.240.145 วันที่: 17 เมษายน 2560 เวลา:11:01:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

samitivej
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Follow Samitivejclub on Twitter

[Add samitivej's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com