กามนิต(ภาคพื้นดิน)










กามนิต(ภาคพื้นดิน)

ผู้แต่ง คาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป

ผู้แปล เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) และ นาคะประทีป(พระสารประเสริฐ)


เรื่องย่อ...


กามนิต(ภาคพื้นดิน)เป็นเรื่องราวของกามนิตที่พยายามเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อถามทางไปแดนสุขาวดี


กามนิตขออาศัยพักค้างแรมในบ้านของชายปั้นหม้อในกรุงราชคฤห์และในคืนนั้นเองพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เพิ่งเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ก็ขอเข้าพักในบ้านชายปั้นหม้อนั้นเช่นกันในขณะที่ทั้งสองต้องพักอยู่ในห้องเดียวกันกามนิตก็เล่าเรื่องราวในชีวิตของตนเองให้กับพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังรวมทั้งเหตุผลที่ตนต้องการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามถึงทางไปแดนสุขาวดี


ภายหลังกามนิตเล่าเรื่องราวของตนจบลงพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนาเพื่อโปรดกามนิตแต่กามนิตกลับดื้อดึงไม่รับฟังพระธรรมเทศนานั้นต้องการแต่สิ่งที่ตนใคร่รู้ร่ำร้องแต่จะรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อถามข้อสงสัยของตนโดยไม่รู้สักนิดเลยว่าคนที่ตนกำลังสนทนาอยู่ด้วยนั้นคือคนที่ตนกำลังติดตามหา


รุ่งเช้ากามนิตลาพระพุทธองค์เพื่อเร่งรีบเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยเข้าใจผิดว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วงและการเร่งรีบเกินไปในครั้งนี้ทำให้กามนิตต้องพบจุดจบเมื่อถูกโคบ้าขวิดจนสิ้นชีวิตแม้ก่อนตายกามนิตก็ไม่เฉลียวใจสักนิดถึงภิกษุที่ตนเองพบในบ้านช่างปั้นหม้อ


บางช่วงบางตอนจากหนังสือ...


พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า "ดูก่อนภราดา พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธะนั้นได้ยังจักรแห่งธรรมอันประเสริฐให้หมุนใกล้อิสิปัตนะในมฤคทายวัน จังหวัดพาราณสีก็แหละจักรแห่งธรรมนั้นอันสมณะหรือพราหมณ์เทวดาหรือมาร พรหมหรือผู้ใดผู้หนึ่งโลกนี้ไม่พึงขัดขวางไว้มิให้หมุนได้"


"พระธรรมที่ทรงประกาศ คือธรรมอันให้เห็นแจ้งความจริงอย่างยิ่งสี่ประการสี่ประการนั้นคืออะไร? ได้แก่ ความจริงอย่งยิ่งคือทุกข์ ความจริงอย่างยิ่งคือเหตุของทุกข์ความจริงอย่างยิ่งคือการดับทุกข์ทั้งสิ้นและความจริงอย่างยิ่งคือทางที่ไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น"


"ดูกรภราดา ความจริงอย่างยิ่ง คือ ทุกข์นั้นอย่างไร? ได้แก่ความเกิดมานี้เป็นทุกข์ความมีชีวิตล่วงไปๆ เป็นทุกข์ ความเจ็บปวดเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความอาลัยความคร่ำครวญ ความทนลำบาก ความเสียใจ และความคับใจล้วนเป็นทุกข์ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ความที่ไม่ได้สมประสงค์เป็นทุกข์ รวมความ บรรดาลักษณะต่างๆ เพื่อความยึดถือผูกพันย่อมนำทุกข์มาให้ทั้งนั้นดูก่อนภารดา นี่แหละ ความจริงคือทุกข์"


"ก็แหละความจริงอย่างยิ่งคือเหตุของทุกข์นั้น ทุกข์อย่างไร? ได้แก่ความกระหายซึ่งทำให้เกิดมีสิ่งต่างๆอันความเพลิดเพลินใจและความร่านเกิดตามไปด้วยเพลิดเพลินนักในอารมณ์นั้น คือกระหายอยากให้มีไว้บ้าง กระหายอยากให้คงอยู่บ้าง กระหายอยากให้พ้นไปบ้างดูก่อนภารดา นี้แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ เหตุของทุกข์"


"ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือการดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นอย่างไร? ได้แก่ความดับสนิทแห่งความกระหายนี้เองมิใช่อื่นความเสียสละได้ ความปลดเสียได้ ความปล่อยเสียได้ซึ่งความกระหายนั้นแหละและการที่ความกระหายนั้นไม่ติดตัวพัวพันอยู่ ดูก่อนภารดา นี้แหละความจริงอย่างยิ่งคือการดับทุกข์ทั้งสิ้น"


"ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ ทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นอย่างไร? ได้แก่ทางอันประเสริฐมีองค์แปดคือความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบตั้งใจชอบ ดูก่อนภารดานี้แหละความจริงอย่างยิ่งคือทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น"


เมื่อพระศาสดา มีพระพุทธบรรหาร ด้วยอริยสัจเป็นเบื้องต้นปานว่าประดิษฐานหลักศิลาขึ้นสี่มุมด้วยประการดั่งนี้แล้วก็ทรงยกพระธรรมทั้งมวลขึ้นตั้งประกอบ โดยอุบายให้เป็นดั่งเรือนยอดสำหรับเป็นที่อาศัยแห่งดวงจิตผู้สาวกทรงจำแนกแยกอรรถออกเป็นตอนเนื้อความ แล้วทรงชี้แจง กำกับกันไปเสมือนดั่งบุคคลตัดแท่งศิลาออกเป็นชิ้นๆ แล้วและขัดเกลาฉะนั้นทรงเชื่อมตรงเนื้อความต่อเนื้อความเสมือนบุคคลได้ลำดับซ้อนแท่งศิลาเหล่านั้นผจงจัดดุจเป็นรากให้รับกันเองแน่นหนามีสัมพันธ์เนื่องถึงกันตลอดเรียบร้อย ทรงนำหลักความเห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงย่อมแปรปรวนเข้าประกอบกับหลักความเห็นแจ้งว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์แล้วเชื่อมหลักทั้งสองนี้เป็นดั่งซุ้มทวารด้วยเครื่องประสาน คือ มนสิการอันแน่นแฟ้นที่ว่าสภาวธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา-เลือกเอาไม่ได้ทรงนำสาวกเข้าสู่ทวารอันมั่นคงนี้คราวละขั้นเป็นลำดับไปแล้วย้อนขึ้นหลายครั้งหลายคราโดยขั้นบันไดอันสร้างไว้มั่นคงแล้ว คือ ปฏิจจสมุปบาทหลักธรรมอันมีเหตุผลอาศัยกันเองเกิดขึ้นเป็นชั้นๆสืบเนื่องดั่งลูกโซ่ซึ่งมั่นคงเต็มที่อยู่ทั่วไป


อันว่า นายช่างผู้เชี่ยวชาญก่อสร้างปราสาทมโหฬารย่อมเพิ่มรูปศิลาจำหลักไว้ในที่สมควร ตามทำนองมิใช่จะใช้เป็นเครื่องประดับเท่านั้นแต่ยังใช้ประโยชน์รองรับหรือค้ำจุนที่บางแห่งนั้นไว้ด้วย ความข้อนี้อุปมาฉันใดพระศาสดาในบางคราวย่อมชักเอาเรื่องเปรียบเทียบ เป็นภาษิตที่น่าฟังและสมด้วยกาลสมัยขึ้นแสดงก็อุปไมยฉันเดียวกันเพราะทรงเห็นว่าเทศนาวิธีที่ชักอุทาหรณ์ขึ้นสาธกเปรียบเทียบย่อมกระทำให้พระธรรมอันประณีตลึกซึ้งที่ทรงสำแดงหลายข้อให้แจ่มแจ้งขึ้นได้แก่บางเวไนยชน


ในท้ายแห่งเทศนา พระองค์ทรงประมวลพระธรรมบรรยายทั้งหมดในคราวเดียวกันเสมือนด้วยเรือนอันตะล่อมขึ้นด้วยยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรืองได้แต่ไกลด้วยพระวาจาว่าดั่งนี้"ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์ความเกาะเกี่ยวใคร่กระหายต่อความเกิดย่อมเป็นเหตุให้ถึงความเกิดหากตัดความใคร่กระหายเช่นนั้นเสียได้ขาด ท่านก็ย่อมไม่เกิดในภพใดๆอีก"


"อันภิกษุ ผู้พ้นจากการเกาะเกี่ยวยึดถือพึงใคร่ในอารมณ์ใดๆแล้วย่อมบังเกิดญาณความรู้แจ้งขึ้นภายในจิตอันสงบแจ่มใสปราศจากอวิชชาความมืดมัวว่าวิมุติ ความหลุดพ้นนั้นบัดนี้เป็นผลประจักษ์แล้ว นี้คือ ความเกิดเป็นครั้งที่สุดสิ้นความเกิดใหม่ในภพโน้นแล้ว"


"ภิกษุผู้บรรลุธรรมปานนี้ย่อมได้รับตอบแทนคือธรรมรสอันล้ำเลิศนั้นคืออะไร? ได้แก่ญาณอันรู้ว่าทุกข์ทั้งปวงดับหมดแล้วผู้ใดได้รับรสพระธรรมนี้ ก็ย่อมพบความหลุดพ้นอันเป็นผลเที่ยงไม่แปรผันเพราะสิ่งใดไร้สาระเป็นอยู่ชั่วขณะสิ่งนั้นไม่ใช่ของจริงสิ่งใดที่มีสาระคงที่ถาวรสิ่งนั้นเป็นของจริงและเป็นที่สุดแห่งสิ่งมายาทั้งปวง"


"ผู้ใดจำเดิมมาแต่ต้นทีเดียว ตกอยู่ในความเกิดในความสืบชีวิตเปลี่ยนๆไปในความตาย และบัดนี้ได้กำหนดรู้ไว้ดีแล้วซึ่งลักษณะแห่งสภาพอันเป็นพิษนี้ผู้นั้นย่อมชนะตนเองแล้วถึงซึ่งความพ้นภัยในความเกิดความแก่และความตายและเขาซึ่งเคยตกอยู่ในโรคาดูรในมลทินกิเลสในบาป ผู้นั้น ณบัดนี้ได้ความรับรองแน่นอนแล้วว่า ไม่มีพิการแปรผันอันเป็นผลสะอาดหมดจดและเป็นบุณย์"


"เราพ้นแล้ว ความหลุดพ้นได้ประจักษ์แล้ว ชาติหยุดอยู่เพียงนี้แล้วกรณียะของเราสำเร็จแล้ว โลกนี้หยุดอยู่แก่เราไม่สืบต่อไปอีกแล้ว"


"ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์ นรชนมีญาณทรรศนะเช่นนี้ชื่อว่าผู้สำเร็จแล้วเพราะเขาเสร็จสิ้นธุระและถึงที่สุดบรรดาความทุกข์ยากทั้งปวง"


"ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์นรชนมีญาณทรรศนะเช่นนี้ชื่อว่าผู้ได้ขจัดแล้ว เพราะเขาได้ขจัดแล้วซึ่งอุปทาน(ความออกรับ) ? ว่า "ตัวเรา" และ "ของเรา" "

"ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์ นรชนผู้มีญาณทรรศนะเช่นนี้ ชื่อว่าผู้ถอนแล้ว เพราะเขาได้ถอนแล้วซึ่งต้นไม้ คือความมีความเป็นตลอดกระทั่งรากมิให้เหลือเชื้อเกิดขึ้นได้อีก"


"บุคคลมีลักษณะเช่นนี้ ตราบเท่าที่ยังมีร่างอยู่ เทวดาและมนุษย์คงเห็นได้แต่เมื่อร่างสลายเพราะความตายแล้วเทวดาและมนุษย์มิได้เห็นต่อไปแม้แต่ธรรมดาผู้เห็นได้ตลอด ก็ไม่เห็นเขาคนนั้นอีกผู้นั้นได้ทำให้ธรรมดาถึงความบอดแล้ว เขาพ้นจากมารแล้วได้ข้ามห้วงมหรรณพที่ต้องแหวกว่ายวนเกิดเวียนตายถึงเกาะอันเป็นแหล่งเดียวที่ผุดพ้นเหนือความเกิดความตาย กล่าวคือ พระอมฤตมหานิรพาน"



กามนิตเป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมากประพันธ์ในปี ค.ศ.1906โดยคาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรปนักประพันธ์ชาวเดนมาร์กผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1917


กามนิตดำเนินเรื่องอาศัยพุทธประวัติและหลักธรรมตลอดเรื่องราวในพระสูตรต่างๆเป็นโครงเรื่องสอดแทรกด้วยเรื่องลัทธิศาสนาพราหมณ์และวรรณคดีอินเดียเสฐียรโกเศศและนาคะประทีปแปลและเรียบเรียงออกจากฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้อย่างดีถึงขนาดมีสำนวนโวหารไพเราะเพราะพริ้งมีจังหวะลีลาการประพันธ์เหมาะสมแก่เหตุการณ์ในเรื่องกามนิตกลายเป็นงานแปลอมตะไม่แพ้สามก๊ก ราชาธิราช  และได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน (ที่มา : //www2.eppo.go.th/tank/100-Best.html)

เอนทรี่นี้เพื่อนๆไม่ต้องโหวตนะคะ แค่แวะมาอ่านก็ดีใจแล้วค่ะ




Create Date : 22 กันยายน 2559
Last Update : 3 ตุลาคม 2559 19:53:29 น. 0 comments
Counter : 14796 Pageviews.

เรียวรุ้ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 30 คน [?]




...ดอกไม้แห่งมิตรภาพ...
ไม่เคยเลือก
ชั้นหรือวรรณะในการก่อกำเนิดเมล็ดพันธุ์
ไม่เคยเลือก
น้ำใจในการรินรดให้ต้นกล้าเติบโต
ไม่เคยเลือก
สถานที่ในการเบ่งบาน งอกงาม

“กาลเวลา”
จะเป็นผู้พิสูจน์ว่า
“ดอกไม้แห่งมิตรภาพ”
จะเจริญงดงามนานเพียงใด

“ความจริงใจ”
จะเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้
“ดอกไม้แห่งมิตรภาพ”
ไม่มีวันโรยรา แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านเลย








...ขอบคุณ ณ ที่นี้...
BG จากคุณดอกหญ้าเมืองเลย
กล่อง Comment จากป้าเก๋า(ชมพร)
ของแต่งBlog น่ารักๆจากป้าเก๋า(ชมพร)
emotionหมีจากคุณ On-rainy-days



Group Blog
 
 
กันยายน 2559
 
22 กันยายน 2559
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เรียวรุ้ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.