Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
3 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 

ระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งที่น่ารู้

ระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งที่ใช้กันอยู่ในโลกนั้นมีหลายอย่าง สามารถแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือแบบได้ผู้ชนะเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน เช่นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มที่สองคือแบบได้ผู้ชนะเลือกตั้งเขตละหลายคน เช่นการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อหรือการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในที่นี้จะกล่าวถึงระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกลุ่มแรกเท่านั้น

ระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าระบบ plurality หรือนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า the first past the post ใครได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็ชนะการเลือกตั้งไปโดยไม่คำนึงว่าชนะกี่คะแนน ยกตัวอย่างเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ คน มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๑๐ คน ผู้สมัครหมายเลข ๑ ถึง ๘ ได้คะแนนคนละ ๑๐,๐๐๐ เสียงเท่ากันหมด ผู้สมัครหมายเลข ๙ ได้แค่ ๙,๙๙๙ คะแนน ส่วนผู้สมัครหมายเลข ๑๐ ได้ ๑๐,๐๐๑ คะแนน แม้คะแนนของผู้สมัครหมายเลข ๑๐ จะได้คะแนนมากกว่าร้อยละ ๑๐ เพียงหนึ่งเสียง และมีผู้ได้คะแนนร้อย ๑๐ อีก ๘ คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข ๑๐ นี้ก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งนี้

ระบบ the first past the post เป็นระบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจชนะโดยไม่จำเป็นต้องได้เสียงข้างมากอย่างแท้จริงจึงเกิดปัญหาขึ้นว่าแล้วจะเป็นตัวแทนของประชาชนคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร จึงมีคนพยายามคิดวิธีเลือกตั้งที่จะทำให้ได้ผู้ชนะด้วยเสียงข้างมากจริง ๆ คือได้คะแนนมากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นอย่างน้อย เรียกว่าได้ เสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority)

ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันรู้จักกันในนามระบบเลือกตั้งแบบคะแนนเสียงข้างมากรอบเดียว นิยมใช้กันในประเทศอังกฤษและประเทศที่พูดภาษาอังกฤษหรือเคยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ มีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากสองรอบ ประเทศที่มักเอ่ยถึงเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากสองรอบนี้คือ ฝรั่งเศส เข้าใจว่าเป็นต้นตำรับของการเลือกตั้งแบบนี้ ในระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากสองรอบนั้น ในการออกเสียงลงคะแนนรอบแรก ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้เสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) จึงจะถือว่าชนะการเลือกตั้ง หากไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดแล้ว ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ โดยในการเลือกตั้งรอบที่สองนี้จะให้ชิงกันเพียงระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งสองคนที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบแรกเท่านั้นที่ ในการนับคะแนนรอบสองนี้หากผู้ใดได้คะแนนมากกว่ากันก็จะชนะการเลือกตั้งไป

มีระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งอยู่แบบหนึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบหลายรอบ เข้าใจว่ามีใช้กันในการเลือกตั้งท้องถิ่นบางอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า runoff voting เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในรอบแรกแล้วหากไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) ก็จะตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออกแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ หากยังไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดอีกก็จะตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออกอีก แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่อีก ทำอย่างนี้จนกว่าจะมีผู้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด

การออกเสียงลงคะแนนในระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากสองรอบของฝรั่งเศสที่กล่าวถึงนั้น จัดเป็นระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแบบ runoff voting แบบหนึ่งเรียกว่า top-two runoff voting ส่วนระบบที่ตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งออกรอบละคนดังกล่าวข้างต้นหากจะเรียกให้เฉพาะเจาะจงลงไปจะเรียกว่า elimination runoff voting ส่วนถ้าไม่ตัดใครออกเลยแต่หลับหูหลับตาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีผู้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดเรียกว่า exhaustive runoff อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นระบบ runoff voting แบบใดมีข้อเสียสำคัญคือมักต้องเลือกกันหลายรอบ ยิ่งถ้าเป็นการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศแล้วจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากทีเดียว

ได้มีผู้คิดระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแบบหนึ่งขึ้น มีหลักการคล้าย ๆ กับ runoff voting แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ สำรองไว้เลยตั้งแต่การเลือกตั้งรอบแรก โดยเรียงตามลำดับความชอบ พอถึงตอนนับคะแนน หากนับคะแนนรอบแรกแล้วไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็จะนับคะแนนรอบใหม่โดยตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออก แล้วนำบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ถูกตัดออกมานับเป็นคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เหลืออยู่ ตามที่ผู้มีสิทธิได้เลือกสำรองไว้ หากไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็จะตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออกอีกแล้วนับรอบใหม่ต่อไปในทำนองเดียวกัน จนกว่าจะได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดหรือเหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ระบบนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนใจภายหลังในการเลือกตั้งรอบใหม่ แต่ก็ไม่ต้องเปลืองงบประมาณในการจัดให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่หลายรอบ

ระบบหลังสุดที่ว่ามานี้ประเทศแรกที่นำมาใช้คือประเทศออสเตรเลีย ในประเทศออสเตรเลียเรียกว่าระบบการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ preferential voting แปลตามตัวว่า การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแบบเรียงตามลำดับความชอบ แต่ความจริงมีระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งระบบอื่นอีกหลายระบบที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยเรียงตามลำดับความชอบ แต่เวลานับคะแนนใช้วิธีแตกต่างกันออกไป คำนี้จึงเป็นคำที่กำกวมแต่เข้าใจง่ายในแง่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประเทศอังกฤษเรียกระบบการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ว่า alternative vote ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นว่าระบบนี้คล้ายกับระบบการเลือกตั้งหลายรอบที่ตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งออกรอบละคนข้างต้น (elimination runoff voting) เพียงแต่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงเลือกสำรองไปก่อนตั้งแต่รอบแรกเลย จึงเรียกระบบนี้ว่า instant runoff voting เรียกย่อเป็น IRV แปลตามตัวว่า การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแบบหลายรอบในทันที




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2549
1 comments
Last Update : 3 พฤษภาคม 2549 10:46:33 น.
Counter : 1695 Pageviews.

 

ระบบที่ออสเตรเลียเรียก preferential voting สหราชอาณาจักรเรียกว่า alternative vote เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับวันฉัตรมงคลพอดี) ที่สหราชอาณาจักรมีการลงประชามติว่าจะเปลี่ยนมาใช้ระบบ alternative vote หรือไม่ น่าเสียดายครับที่ผลประชามติออกมาไม่ผ่าน

 

โดย: สนทะเลน้อย (สนทะเลน้อย ) 14 พฤศจิกายน 2554 21:31:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


สนทะเลน้อย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เป็นทนายความอยู่ครับ นิติศาสตรบัณฑิต (มสธ.) ใช้ชีวิตป้วนเปี้ยนอยู่ในจังหวัด สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ครับ
Friends' blogs
[Add สนทะเลน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.