Memory Guide แนะนำ (ไม่จำนำ) กับการเลือกซื้อหน่วยความจำ










เมื่อพูดถึงเรื่องราวของหน่วยความจำ บางคนมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าต้องการเพิ่มเติมก็ไปหาซื้อที่ร้านคอมพิวเตอร์ ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อนวุ่นวาย แต่ถ้าลองศึกษาดูในรายละเอียดให้ลึกซึ้งนั้น จะพบว่าหน่วยความจำมีอะไรที่น่าสนใจและน่าติดตามมากมาย






เมื่อพูดถึงเรื่องราวของหน่วยความจำ บางคนมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าต้องการเพิ่มเติมก็ไปหาซื้อที่ร้านคอมพิวเตอร์ เลือกให้ตรงตามความต้องการของเมนบอร์ด จากนั้นก็นำมาติดตั้งลงไปในสล๊อตที่ว่างอยู่ เท่านี้ก็สามารถใช้งานได้แล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อนวุ่นวาย แต่ถ้าลองศึกษาดูในรายละเอียดให้ลึกซึ้งนั้น จะพบว่าหน่วยความจำมีอะไรที่น่าสนใจและน่าติดตามมากมาย ซึ่งถ้าเราทราบรายละเอียดในส่วนนี้แล้ว ก็จะสามารถเลือกใช้หน่วยความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าหลายคนคงจะพิถีพิถันในการเลือกซื้อหน่วยความจำกันมากขึ้น ไม่ต่างจากการเลือกซื้อชิ้นส่วนอื่นๆเลย


หน่วยความจำหลักหรือ RAM (Random Access Memory) เป็นหน่วยความจำที่มีใช้งานในพีซีของเรานั่นเอง ลองเปิดฝาเคสดูก็จะพบได้ทันที มีลักษณะเป็นแผงเล็กๆรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ดโดยเสียบอยู่กับสล๊อต ซึ่งจะมีสล๊อตมากน้อยเท่าใดนั้น ก็แล้วแต่การออกแบบเมนบอร์ดแต่ละรุ่น ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลและเป็นแหล่งพักข้อมูลชั่วคราวเพื่อที่จะส่งไปให้ซีพียูประมวลผลนั่นเอง เมื่อประมวลผลเรียบร้อยแล้ว หน่วยความจำก็จะรับข้อมูลกลับมาเพื่อส่งไปให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป เช่น ฮาร์ดดิสก์ หรือการ์ดแสดงผล ในด้านของประสิทธิภาพการทำงานนั้น หน่วยความจำจะมีความเร็วสูงกว่าฮาร์ดดิสก์มาก ซึ่งในการใช้งานทั่วไปซีพียูจะอ่านข้อมูลโดยตรงจากตัวหน่วยความจำเลย จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่พีซีทุกเครื่องจะต้องมี


RAM (Random Access Memory) มีด้วยกัน 2 แบบคือ DRAM (Dynamic Random Access Memory) และ SRAM (Static Random Access Memory) โดยทั้งสองแบบนี้เป็นหน่วยความจำประเภท Volatile คือข้อมูลที่เก็บไว้ภายในจะสูญหายทันทีที่ตัดกระแสไฟฟ้า


 


DRAM นั้นเราคุ้นเคยกันดีและมีใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เพราะโมดูลหน่วยความจำที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็ผลิตขึ้นมาจาก DRAM นั่นเอง ซึ่งภายในบรรจุทรานซิสเตอร์และตัวเก็บประจุจำนวนมาก ผู้ผลิตพยายามคิดค้นเทคโนโลยีหน่วยความจำชนิดใหม่ขึ้นมา เช่น MRAM (Magnetoresistive RAM), FRAM (Ferroelectric RAM) และอีกหลายตัว แต่ไม่มีชนิดใดที่จะลงตัวทั้งด้านความจุ ความเร็วและราคาได้ดีเท่ากับ DRAM เลย


ถ้ามองกันในด้านของความเร็วในการทำงานนั้นหน่วยความจำแบบ SRAM จะทำงานได้รวดเร็วกว่า DRAM เพราะในขณะที่ SRAM ทำงานนั้นไม่จำเป็นต้องมีการ refresh (การ refresh คือการอัดข้อมูลเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาข้อมูลนั้นไม่สูญหายไปจากตัวหน่วยความจำนั่นเอง) จึงทำงานได้สบายๆไม่มีภาระเกี่ยวกับการ refresh แต่การทำงานของ DRAM นั้นจำเป็นต้องมีการ refresh ตัวเองนับพันครั้งในหนึ่งวินาที จุดนี้เองที่ไปหน่วงการทำงาน ส่งผลให้ DRAM มีค่า Access time อยู่ที่ 60 นาโนวินาที ซึ่งช้ากว่า SRAM ที่มี Access time ต่ำเพียง 10 นาโนวินาทีเท่านั้น


แม้ว่า SRAM จะทำงานได้รวดเร็วกว่า แต่ก็มีราคาค่าตัวที่แพงกว่า DRAM มาก (ของแรงย่อมแพงเป็นธรรมดา) จึงไม่นิยมนำมาผลิตเป็นโมดูลหน่วยความจำ ทำให้การใช้งานไม่แพร่หลายเท่ากับตัว DRAM ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า ดังนั้นต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงในรายละเอียดของตัวหน่วยความจำชนิด DRAM เพราะเป็นหน่วยความจำที่มีการใช้งานแพร่หลายในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปซึ่งเรามีโอกาสได้สัมผัสและคุ้นเคยกันดี


ชนิดของ DRAM
DRAM มีด้วยกันหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีเดิมๆให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มจุดเด่นและลดจุดด้อยนั่นเอง


FPM DRAM - Fast Page Mode DRAM  
ทำงานได้รวดเร็วกว่าหน่วยความจำแบบ DRAM มีการนำมาใช้เป็นหน่วยความจำหลักบนพีซี โดยยุคนั้นจะเป็นรุ่น 386 และ 486 มีค่า Access time ที่ 70 และ 60 นาโนวินาที แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบบัสที่สูงกว่า 66MHz ได้



EDO DRAM - Extended Data Out DRAM
ทำงานรวดเร็วกว่า FPM DRAM โดยในทางทฤษฎีนั้นเร็วกว่าถึง 27% มีค่า Access time ที่ 70, 60, และ 50 นาโนวินาที อย่างไรก็ตาม EDO DRAM ก็ยังไม่สามารถทำงานกับระบบบัสที่สูงกว่า 66MHz ได้ จึงได้มีการพัฒนาต่อไปเป็น BEDO DRAM




BEDO DRAM - Burst EDO DRAM
เป็นการพัฒนา EDO DRAM ให้ทำงานรวดเร็วขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการใส่ชุด pipeline สำหรับจัดการกับชุดข้อมูลเข้าไป จุดเด่นคือในการทำงานปกตินั้นตัว Memory Controller จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า wait state เพื่อรอข้อมูลที่จะถูกส่งออกมาจาก DRAM แต่ BEDO DRAM นั้นสามารถกำจัดช่วงเวลาในการรอนี้ออกไปได้ ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่า FPM DRAM ถึง 100% และสูงกว่า EDO DRAM ถึง 50% แต่เนื่องมาจากชิปเซ็ตที่ออกมารองรับนั้นมีน้อย จึงไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งช่วงนั้นมี SDRAM เกิดตามขึ้นมา ซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่าด้วย


 


SDRAM - Synchronous DRAM
SDRAM เป็นหน่วยความจำ DRAM ที่สามารถทำงานร่วมกับระบบบัสความเร็วสูงได้ โดยจะทำงานสัมพันธ์กับความเร็วบัสของโพรเซสเซอร์ ในปี 1998 นั้นชิปเซ็ต Intel 440BX นับว่าเป็นชิปเซ็ตที่ใช้ประโยชน์จากการใช้งาน SDRAM PC100 ได้อย่างเต็มที่ SDRAM ถือว่าเป็นหน่วยความจำสำหรับพีซียุคใหม่ที่ได้รับความนิยมมาก มีข้อสังเกตในการเรียกชื่อ SDRAM คือจะเห็นว่ามีอักษร PC แล้วตามด้วยตัวเลขต่อท้ายอยู่ด้วย ซึ่งก็คือการระบุความเร็วบัสในการทำงานของหน่วยความจำ SDRAM ตัวนั้น เช่น PC100 ก็แสดงว่า SDRAM ตัวนั้นออกแบบมาให้ทำงานกับระบบบัสที่ความเร็ว 100MHz เป็นต้น


 


DDR SDRAM - Double Data Rate
เป็น SDRAM ที่พัฒนาให้ใช้การส่งข้อมูลได้ทั้งขาขึ้นและขาลงใน 1 รอบสัญญาณนาฬิกา แทนที่จะส่งข้อมูลเพียงขาขึ้นอย่าง SDRAM ซึ่งส่งผลให้ชิปหน่วยความจำมีอัตราในการโอนถ่ายข้อมูลเพิ่มเป็น 2 เท่า เป็นที่มาของชื่อ DDR (Double Data Rate) นั่นเอง อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง จึงเป็นที่นิยมใช้งานกันมากทั้งบนพีซีและบนคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก เพราะการที่ใช้พลังงานน้อยลย่อมก่อให้เกิดความร้อนน้อยลงด้วย สำหรับการเรียกชื่อ DDR-SDRAM นั้นก็จะเห็นว่ามีตัวอักษร PC ต่อท้ายเช่นกัน ซึ่งจุดนี้จะเป็นการบ่งบอกถึงค่า แบนวิดท์ เช่น PC1600 ก็คือ หน่วยความจำ DDR-SDRAM ที่มีค่า แบนวิดท์ (ปริมาณการรับส่งข้อมูลในหนึ่งวินาที) อยู่ที่ 1.6GB ต่อวินาที


จะเห็นว่า DDR266 นั้นตัวชิปทำงานที่ความเร็ว 133MHz, DDR333 ตัวชิปทำงานที่ความเร็ว 166MHz และ DDR400 ตัวชิปทำงานที่ความเร็ว 200MHz และยังมีหน่วยความจำที่ทำงานด้วยความเร็วที่สูงกว่านี้ด้วยซึ่งอาจสูงถึง 300MHz (DDR600) แต่การเพิ่มความเร็วขึ้นไปถึงระดับนั้น เทียบกับประสิทธิภาพที่ได้มาดูจะไม่น่าสนใจเท่าใดนัก เพราะเทคโนโลยีของ DDR นั้นถึงจุดสูงสุดแล้ว อีกทั้งตลาดเองก็ต้องการหน่วยความจำชนิดใหม่ ที่สามารถทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพที่ความเร็วสูงขึ้นไป เพื่อมารองรับการเติบโตของเทคโนโลยีพีซีในอนาคต DDR2 จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้


 


DDR2 SDRAM
ถ้าคุณติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดพีซีอย่างใกล้ชิด เชื่อได้เลยว่าคุณจะได้ยินการกล่าวถึงชื่อ DDR2 อยู่บ่อยครั้ง จึงน่าสนใจว่า DDR2 นั้นจะเข้ามามีบทบาทในวงการคอมพิวเตอร์อย่างไร และเทคโนโลยีหน่วยความจำ DDR2 นี้แตกต่างจาก DDR อย่างไร ข้อดีที่เราจะได้รับจากการเปลี่ยนมาใช้งาน DDR2 จะคุ้มค่ากว่า DDR หรือไม่ และทำไมอุตสาหกรรมพีซีจึงต้องการหน่วยความจำชนิดใหม่นี้มากขึ้นทุกวัน


DDR2 นั้นก็คือหน่วยความจำในยุคที่สองของ DDR SDRAM (Double Data Rate Synchronous Dynamic Random-Access memory) นั่นเอง ซึ่งในตลาดพีซีของปี 2005 นี้เริ่มมีแพลทฟอร์มออกมารองรับตัวหน่วยความจำ DDR2 กันมากขึ้น โดยเจ้าแรกที่ก้าวเข้ามาอย่างเต็มตัวคือ Intel และในปีหน้าหน่วยความจำ DDR2 จะมีใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งทาง AMD เองก็มีแผนที่จะสนับสนุนการใช้งานหน่วยความจำ DDR2 SDRAM ร่วมกับโพรเซสเซอร์ในตระกูล Athlon 64 ภายในปี 2006 ด้วยเช่นกัน


เป็นที่ทราบกันดีว่าโพรเซสเซอร์ในปัจจุบันทำงานด้วยความเร็วที่สูงมาก มากจนผู้ใช้ตามกันแทบไม่ทัน และเพื่อเป็นการรองรับกับประสิทธิภาพอันสูงส่งในการประมวลผลของโพรเซสเซอร์นั้น การเลือกใช้หน่วยความจำ DDR2 จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเพิ่ม แบนวิดท์ ให้กับระบบได้เป็นอย่างดี


หน่วยความจำ DDR2 SDRAM นับว่าเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ผลิตหน่วยความจำทั้งหลายก็ให้ความสนใจและมีการตอบรับที่ดี ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการผลิตออกมาจำหน่ายกันมากขึ้น มีการพัฒนาให้มีความเร็วเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มค่าแบนวิดท์ให้สูงขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อทำงานในโหมด Dual Channel ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยความจำ DDR2 SDRAM เหมาะที่จะนำมาใช้กับซีพียูรุ่นใหม่ที่มีความเร็วบัสภายในที่สูงขึ้น อีกทั้งการออกแบบแพลตฟอร์มใหม่นั้นต้องการช่องทางการขนส่งข้อมูลที่กว้างขึ้นอีกด้วย


































































ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของหน่วยความจำ DDR และ DDR2
 

DDR SDRAM


DDR2 SDRAM

Frequency

200, 266, 333, 400 MHz


400, 533, (667, 800) MHz

Chips Packaging

TSOP and FBGA


FBGA

Voltage

2.5 V


1.8 V

Capacity

64 Mbit – 1 Gbit


256 Mbit – 4 Gbit

Internal Banks

4


4 and 8

Prefetch (MIN Write Burst)

2


4

CAS Latency (CL)

2, 2.5, 3


3, 4, 5

Additive Latency (AL)

No support


0, 1, 2, 3, 4

Read Latency

CL


CL+AL

Write Latency

1


Read latency - 1

Input Calibration

No support


Off-Chip Driver (OCD) Calibration

Data Strobes

Bidirectional Strobe (single ended)


Bidirectional Strobe (single ended or differential) with RDQS

On-Chip Bus Termination

None


Embedded

Burst Lengths

2, 4, 8


4, 8



ชิป DDR2 ใช้แพคเกจแบบ FBGA (Fine-pitch Ball-Grid Array) ซึ่งมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนที่ดีมาก และลดการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างตัวชิปได้เป็นที่น่าพอใจ (ชิป DDR SDRAM นิยมใช้แพคเกจแบบ TSOP) ด้วยโครงสร้างของแพคเกจ FBGA ทำให้ตัวชิป DDR2 มีขนาดเล็กลง ใช้พลังงานน้อยลง ความร้อนจึงลดลงด้วย (ประมาณ 30%) ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ DDR2 จึงสามารถพัฒนาให้มีความเร็วในการทำงานและมีความจุได้สูงกว่า DDR แบบเดิม แม้ว่าจะมีหน่วยความจำ DDR บางรุ่น ตัวอย่างเช่นหน่วยความจำของบริษัท Kingmax ที่เลือกใช้แพคเกจแบบ BGA กับตัวหน่วยความ DDR ของตน ซึ่งผลิตออกมาเพื่อเน้นการนำไปโอเวอร์คล็อก โดยอาศัยคุณลักษณะเด่นของแพคเกจ BGA ที่ช่วยให้หน่วยความจำทำงานได้ที่ความเร็วสูงอย่างมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมแล้ว หน่วยความจำ DDR จะผลิตบนมาตรฐานของแพคเกจแบบ TSOP มากกว่า เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก


จุดเด่นของ DDR2 ที่ได้เปรียบ DDR คือเรื่องของการแผ่ความร้อน หน่วยความจำ DDR นั้นที่ความจุ 256MB, 512MB ในขณะใช้งานไม่เกิดความร้อนมากนัก แต่ที่ความจุสูงมากขึ้นนั้นจะแผ่ความร้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นการใส่หน่วยความจำถึง 4GB จะแผ่ความร้อนออกมามากเลยทีเดียว อันที่จริงแล้วปัญหานี้เราคงพบได้ยากในขณะนี้ เพราะน้อยคนที่จะใช้หน่วยความจำหลักในปริมาณมากขนาดนั้น แต่ในอนาคตเป็นสิ่งที่ควรหาทางป้องกัน และด้วยความเร็วของหน่วยความจำที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันย่อมส่งผลกระทบในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้นหน่วยความจำ DDR2 จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ตัวชิป DDR2 ใช้ไฟเพียง 1.8V เท่านั้นเทียบกับตัว DDR ที่ใช้ไฟ 2.5-2.6V จะเห็นว่าลดลงมามากเลยทีเดียว ความร้อนจากการใช้งานจึงเกิดขึ้นน้อยกว่าอย่างแน่นอน


นอกเหนือจากเรื่องของความเร็ว จะเห็นว่าหน่วยความจำ DDR ที่ใช้แพคเกจของตัวชิปแบบ TSOP จะทำงานได้ดีที่ความเร็วสูงสุด 200MHz (DDR400) และจะเริ่มมีปัญหาหากทำงานที่ระดับความเร็วสูงกว่านั้น เนื่องจากมีค่าความต้านทานในตัวเองสูงเกินไป นั่นเป็นเหตุผลที่แพคเกจ FBGA (Fine-pitch Ball-Grid Array) เป็นตัวเลือกในการผลิตหน่วยความจำความเร็วสูง อย่างที่เราเห็นกันบนการ์ดจอ แพคเกจแบบนี้มีค่าความต้านทานต่ำ โครงสร้างมีขนาดเล็กลง จึงลดปัญหาด้านความร้อนลงได้มาก และแพคเกจแบบ FBGA ยังได้กลายเป็นมาตรฐานของหน่วยความจำ DDR2 ไปแล้วด้วย เนื่องจากสามารถจัดการเรื่องความร้อนและมีคุณลักษณะทางด้านไฟฟ้าที่ดีกว่า


ในเรื่องของความจุต่อโมดูลหน่วยความจำ 1 แผงนั้น หน่วยความจำ DDR จะมีผลิตออกมาตั้งแต่ 64MB ไปจนถึง 1GB เปรียบเทียบกับหน่วยความจำ DDR2 ซึ่งมีความจุต่อโมดูลเริ่มตั้งแต่ 256MB ไปจนถึง 4GB กันเลยทีเดียว สาเหตุที่ DDR2 ทำได้ความจุได้มากขนาดนี้ ก็เนื่องมาจากคุณลักษณะของตัวโครงสร้างชิป ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั่นเอง









หากสังเกตเมนบอร์ดที่ออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับหน่วยความจำ DDR จะพบว่ามีตัวต้านทานและตัวเก็บประจุอยู่บริเวณสล๊อตหน่วยความจำด้วย ซึ่งมีไว้เพื่อทำหน้าที่ขจัดสัญญาณรบกวนให้กับตัวหน่วยความจำ DDR นั่นเอง ผู้ผลิตเมนบอร์ดจำเป็นต้องออกแบบและใช้ต้นทุนการผลิตไปกันส่วนนี้ด้วย แต่ใน DDR2 นั้นมีการติดตั้งตัวกำจัดสัญญาณรบกวน (On-Die signal termination) มาให้ในตัวชิปเลย


สัญญาณรบกวนนั้นนับเป็นปัญหาของหน่วยความจำ DDR แบบเดิม ซึ่งตัวหน่วยความจำจะอาศัยตัวกำจัดสัญญาณรบกวนที่ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ด และมีโอกาสที่จะประสบกับปัญหาคือ เมื่อเลือกใช้ตัวหน่วยความจำที่ผลิตมาจากผู้ผลิตที่แตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน ถ้าหน่วยความจำตัวใดตัวหนึ่งส่งสัญญาณรบกวนออกมามากเกินไป ก็จะส่งผลให้หน่วยความจำอีกตัวนั้นไม่มีเสถียรภาพในการทำงาน และถ้าตัวเมนบอร์ดมีตัวต้านทานไม่เพียงพอ หรือใช้ตัวที่มีคุณภาพต่ำ เมนบอร์ดเองก็จะกลายเป็นตัวก่อปัญหา ทำให้หน่วยความจำขาดเสถียรภาพในการทำงานได้


การที่หน่วยความจำ DDR2 ติดตั้งตัวกำจัดสัญญาณรบกวนเข้ามาในตัวเลย จะช่วยให้การกำจัดสัญญาณรบกวนทำได้ง่ายขึ้น เมื่อสัญญาณเนียนเรียบ ความเร็วในการทำงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย และยังช่วยลดปัญหาความเข้ากันได้รวมถึงเสถียรภาพในการทำงานร่วมกันของหน่วยความจำที่ผลิตมาจากผู้ผลิตคนละรายได้อีกด้วย


มาพิจารณากันในเรื่องของความแตกต่างทางด้านประสิทธิภาพ ระหว่างหน่วยความจำ DDR2 กับ DDR กันบ้าง โดยในทางเทคนิคจะเห็นได้ว่า DDR2 นั้นมี Fetch rate เป็น 2 เท่าของหน่วยความจำ DDR กล่าวคือหน่วยความจำ DDR400 นั้นมี Fetch rate ในการทำงานอยู่ที่ 2 บิตต่อรอบสัญญาณนาฬิกา ส่งข้อมูลทั้งขาขึ้นและขาลงของสัญญาณ โดยความเร็วของชิปนั้นจะวิ่งอยู่ที่ 200MHz ลองมาเปรียบเทียบกับหน่วยความจำ DDR2-400 ซึ่งมี Fetch rate เพิ่มขึ้นเป็น 4 บิตต่อรอบสัญญาณนาฬิกา (เพิ่มขึ้น 2 เท่า) ตัวจึงชิปทำงานด้วยความเร็วเพียง 100MHz เท่านั้น แต่ผลลัพธ์ของประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่ากับ DDR400 ที่ชิปวิ่งด้วยความเร็ว 200MHz เลยทีเดียว หลักในการทำงานจึงเป็นการเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลให้สูงขึ้นโดยที่ไม่ได้ไปเพิ่มในส่วนของความเร็วตัวชิปหน่วยความจำเลย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ความเร็วสัญญาณนาฬิกาให้คุ้มค่ามากขึ้นนั่นเอง


อย่างไรก็ตามพบว่า การที่หน่วยความจำ DDR2 ทำงานที่ 4 บิตต่อรอบสัญญาณนาฬิกานั้น ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของความล่าช้า (Latency) ตามมาด้วย จุดนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเร็วในการทำงานของ DDR2 ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งผู้ผลิตหน่วยความจำก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดี และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดค่า Latency ให้กับหน่วยความจำ DDR2 อย่างต่อเนื่อง


หน่วยความจำ DDR2 รุ่นใหม่มีค่า Latency ต่ำลง
เมื่อกล่าวถึงประสิทธิภาพของหน่วยความจำ นอกจากจะมองค่าแบนวิดท์แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือค่า Latency หรือความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูลนั่นเอง ในความเป็นจริงนั้นหน่วยความจำไม่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา เพราะต้องมีขั้นตอนการ refresh เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเมื่อหน่วยความจำอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานนั้น ข้อมูลจะไม่ได้ถูกนำเข้าไปในทันที ตัวหน่วยความจำเองต้องมีการกำหนดและจัดเรียงตำแหน่งของข้อมูลก่อน ช่วงเวลาในการเปลี่ยนตำแหน่งนี้ก็คือความล่าช้านั่นเอง ซึ่งตัวหน่วยความจำจะมีความล่าช้าเช่นนี้เหมือนกันหมด เพราะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ DRAM แบบเดียวกัน


จุดอ่อนของ DDR2 คือค่า Latency ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเพิ่มความเร็วในการทำงานที่ระดับสูงขึ้น ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว DDR2 ให้ผลที่แตกต่างในด้านความเร็วจากหน่วยความจำ DDR เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ผลิตจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดค่า Latency ของหน่วยความจำลง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี


















































Memory


Timings


Latency


แบนวิดท์ in dual-channel mode


DDR400 SDRAM


2.5–3–3


12.5 ns


6.4 GB/sec


DDR400 SDRAM


2–3–2


10 ns


6.4 GB/sec


DDR533 SDRAM


3–4–4


11.2 ns


8.5 GB/sec


DDR533 SDRAM


2.5–3–3


9.4 ns


8.5 GB/sec


DDR2-533 SDRAM


5–5–5


18.8 ns


8.5 GB/sec


DDR2-533 SDRAM


4–4–4


15 ns


8.5 GB/sec


DDR2-533 SDRAM


3–3–3


11.2 ns


8.5 GB/sec


DDR2-600 SDRAM


5–5–5


16.6 ns


9.6 GB/sec


ยกตัวอย่างหน่วยความจำ DDR2-533 SDRAM ตัวที่มีค่า timings 4-4-4 ซึ่งเป็นค่าความล่าช้าที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้หน่วยความจำทำงานได้ช้ากว่า DDR400 SDRAM ที่มี timing 2-3-2 อยู่พอสมควร (ดูจากตารางค่า Latency) แต่ DDR2 ก็ทดแทนค่า Latency ที่ด้อยกว่าด้วยการเพิ่มในส่วนของแบนวิดท์ซึ่งทำได้เหนือกว่าถึง 30% เลยทีเดียว


ในรุ่นต่อมาคือหน่วยความจำ DDR2-533 รุ่นปรับปรุง มีค่า Latency อยู่ที่ 3-3-3 ซึ่งยังคงช้ากว่า DDR400 ที่มีค่า timing 2-3-2 อยู่ 12% แต่ถ้ามองในส่วนของค่า แบนวิดท์ ที่เพิ่มขึ้นมาก็นับว่าน่าสนใจมาก และในอนาคตหน่วยความจำ DDR2 จะสามารถลด timing ลงมาได้ต่ำกว่านี้อย่างแน่นอน ซึ่งน่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

































Component Speed


DIMM Speed


FSB Speed


Data Transmission Rate


DIMM แบนวิดท์


Dual-Channel Mode แบนวิดท์


DDR2-400


PC2-3200


200 MHz


400 MT/s


3.2GB/s


6.4GB/s


DDR2-533


PC2-4300


266 MHz


533MT/s


4.3GB/s


8.6GB/s


DDR2-667


PC2-5300


333MHz


667MT/s


5.3GB/s


10.6GB/s


จะเห็นได้ครับว่าหน่วยความจำ DDR2 SDRAM ตามมาตรฐานนั้นจะมีทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกันคือ DDR2-400, DDR2-533 และ DDR2-667 ซึ่งต่างก็มีค่า Timing ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้เหมาะกับระดับการใช้งาน และถ้าเรานำไปเปรียบเทียบกับหน่วยความจำ DDR SDRAM ทั่วไปจะเห็นได้ชัดว่าหน่วยความจำ DDR2 SDRAM นั้นจะมีคุณสมบัติหลายๆ ประการที่เหนือกว่า DDR SDRAM ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเรื่องของค่าแบนด์วิดธ์, เรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ DDR2 SDRAM นั้นจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต่ำกว่า หรือแม้กระทั้งขนาดความจุก็ตามที่ DDR2 SDRAM สามารถที่จะมีความจุได้มากกว่า DDR ในปัจจุบันนี้ได้มากกว่าอีกด้วย การตัดสินใจที่จะเปลี่ยนไปใช้ DDR2 SDRAM จึงนับเป็นการเดินทางเข้าสู่โลกของหน่วยความจำยุคใหม่ ที่มองดูอนาคตแล้วสดใสอย่างแน่นอน


การเลือกซื้อหน่วยความจำ
เทคโนโลยีหน่วยความจำ DRAM เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หลักการพิจารณาเลือกซื้อคือ อันดับแรกต้องตรวจสอบที่ตัวเมนบอร์ดของเราว่าใช้ชิปเซ็ตอะไร โดยอ่านได้จากคู่มือเมนบอร์ดที่ให้มากับตัวเมนบอร์ดรุ่นนั้นๆ ซึ่งตัวชิปเซ็ตนี้เองที่จะกำหนดรูปแบบของหน่วยความจำหลักที่ใช้ ถ้าหาคู่มือไม่พบ ก็สามารถเข้าไปในอินเทอร์เน็ตเปิดไปที่เว็ปไซต์ผู้ผลิตเมนบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีข้อมูลของตัวเมนบอร์ดอยู่ครบ



แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าชิปเซ็ตรุ่นนี้ ทำงานกับหน่วยความจำ DDR หรือ DDR2 อันนี้ก็ดูได้จากคู่มือเมนบอร์ดเช่นกัน จะมีรายละเอียดบอกไว้ครบ ซึ่งต่อไปนี้จะแสดงตัวอย่างชิปเซ็ตของ Intel, Nvidia และ Via ที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยความจำ DDR2 SDRAM ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยจะเป็นแพลตฟอร์มของระบบโพรเซสเซอร์ Pentium4 ทั้งหมด ส่วนชิปเซ็ตรุ่นใหม่ที่จะออกมาในอนาคต นอกเหนือจากที่แสดงไว้ในตารางนั้น น่าจะเปลี่ยนไปใช้ DDR2 SDRAM กันหมดแล้ว ทางด้านแพลตฟอร์มของ AMD นั้นคาดว่าในปี 2006 น่าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีหน่วยความจำ DDR2 SDRAM มาใช้งานร่วมกับโพรเซสเซอร์ Athlon 64 อันนี้สาวก AMD ต้องติดตามข่าวกันอย่างใกล้ชิดครับ

























ชิปเซ็ตที่สนับสนุนการใช้งาน DDR2 SDRAM

Intel955X, 925XE, 925X, 915G, 915P, 915GV
NvidianForec4 SLI Intel Edition
ViaPT880 Pro, PT894, PT894 Pro


เมื่อทราบชนิดของหน่วยความจำที่ใช้แล้ว มาดูที่งบประมาณ ถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาแล้วละก็ ซื้อหน่วยความจำที่มีความเร็วและความจุสูงสุดเท่าที่เมนบอร์ดของเราจะรองรับได้ ส่วนถ้าต้องควบคุมเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ให้พิจารณาที่ความเร็วสูงสุดเช่นกัน แต่ให้เลือกความจุที่ระดับคุ้มค่ากับราคา


ถ้าคุณต้องการซื้อพีซีเครื่องใหม่ ที่สามารถตอบสนองต่อการเล่นเกมความละเอียดสูง และทำงานด้านกราฟิกระดับไฮเอนด์ การเลือกระบบที่ใช้หน่วยความจำ DDR2 นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก เทคโนโลยีใหม่อย่าง DDR2 ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณเรียกพลังการประมวลผลจากโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่ แต่ยังเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการอัพเกรดหน่วยความจำในอนาคตอีกด้วย ซึ่งอีกไม่นานแล้วที่ DDR คงจะค่อยๆลดปริมาณการใช้งานลง เพราะทางผู้ผลิตเมนบอร์ดต่างกำลังปรับตัวเข้าหา DDR2 ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่านั่นเอง


สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบจาก DDR ไปใช้ DDR2 ยังคงตระหนักในเรื่องของราคาต่อประสิทธิภาพ ซึ่งบอกได้เลยว่าราคาในตอนนี้อยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่า DDR ไม่มากแล้ว และมีแนวโน้มด้านราคาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าหน่วยความจำ DDR นั้นลดราคาลงมาต่ำมากแล้ว แสดงให้เห็นถึงการต้อนรับ DDR2 ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่ผู้ใช้อย่างเรานั่นเอง


หลายคนมองหาหน่วยความจำที่ทำงานด้วยความความเร็วสูง และมีค่าแบนวิดท์ที่มากขึ้น ซึ่งทางผู้ผลิตหน่วยความจำเองก็เตรียมพร้อมสำหรับจุดนี้ไว้แล้ว หน่วยความจำ DDR2 ความเร็วสูงในระดับ 800MHz นั้นมีออกมาแล้ว แต่ตลาดเองนั้นยังตอบสนองการใช้งานไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีชิปเซ็ตบนเมนบอร์ดตัวใดที่รองรับได้นั่นเอง ซึ่งคงต้องรอกันสักระยะหนึ่ง แต่นี่ก็เป็นแนวโน้มที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตหน่วยความจำมีผลิตภัณฑ์ความเร็วสูงเตรียมออกมาให้เราใช้งานกันอย่างแน่นอน


ทำไมจึงต้องอัพเกรดหน่วยความจำหลัก
เหตุผลหลักของการเพิ่มหน่วยความจำหลักคือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพีซี และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องพีซีไปอีกระยะหนึ่ง หลายคนเพิ่มหน่วยความจำเข้าไปแล้วพบว่าพีซีของตนยังใช้งานต่อไปได้อีกค่อนข้างนานเลยทีเดียว การเพิ่มขนาดหน่วยความจำให้มากขึ้น ไม่ได้ทำให้ความเร็วซีพียูเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่จะไปช่วยลดเวลาที่ซีพียูรอข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ การโหลดข้อมูลของตัวระบบปฏิบัติการและโปรแกรมต่างๆที่เปิดใช้งานก็ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะสามารถโหลดตัวเองเข้าไปอยู่ในหน่วยความจำได้ในทันที เหล่านี้เป็นข้อดีที่เห็นได้ชัดจากการเพิ่มหน่วยความจำ
หน่วยความจำหลักอย่างน้อย 256MB สามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ Windows? XP Home and Professional Editions ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถใช้งานพื้นฐานเช่น งานเอกสาร กระดาษตารางสำหรับการคำนวณ การนำเสนอผลงาน และการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่มีปัญหา การดูหนังฟังเพลงนั้นสามารถทำได้ และรองรับการเล่นเกมในระดับกลางๆได้ ซึ่งอันนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวซีพียูและการ์ดจอด้วย


ถ้าหากคุณต้องการใช้งานพีซีในรูปแบบที่นอกเหนือกว่านี้ เช่น ทำงานออกแบบกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ งานด้านมัลติมีเดียร์ รวมทั้งเล่นเกมใหม่ๆที่มีกราฟิกสุดแสนอลังการ การเพิ่มหน่วยความจำในปริมาณที่มากกว่าย่อมส่งผลในการทำงานที่ดีกว่า และให้ความรวดเร็วได้มากกว่า ควรเลือกใช้หน่วยความจำที่ขนาดความจุตั้งแต่ 512MB ขึ้นไป เพราะราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคุ้มค่าแล้ว


โดยทั่วไปแล้ว เรายิ่งใช้งานพีซี ด้วยการรันโปรแกรมขึ้นมาพร้อมกันมากเท่าไร หน่วยความจำก็ยิ่งต้องใช้มากเท่านั้น การที่พีซีของเรามีหน่วยความจำมากพอ จะช่วยให้โปรแกรมต่างๆที่เราเรียกขึ้นมามีพื้นที่หน่วยความจำเหลือพอให้ใช้ได้ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย









เลือกอย่างไรจึงจะได้หน่วยความจำที่เร็วถึงใจ
หน่วยความจำที่มีขายนั้น มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หน่วยความจำ DDR400 เราจะพบกับหน่วยความจำที่หลากหลายมาก นอกจากยี่ห้อและรุ่นที่มีมากมายแล้วนั้น ความเร็วในการทำงานก็ต่างกันด้วย ตั้งแต่โมดูลที่มีความเร็วสูงมาก ซึ่งมีค่า Latency ค่อนข้างต่ำ ตัวอย่างเช่น DDR400 CL2 ซึ่งมีราคาสูง มักจะมีชื่อเรียกในกลุ่มของ Performance Series หรือ Ultra Series ไปจนถึงหน่วยความจำราคาถูกที่มีค่า Latency ในระดับปกติ เช่น ถ้าเป็น DDR400 ก็จะอยู่ที่ประมาณ CL2.5, 3 ซึ่งก็อยู่ในระดับปกติที่ทำงานได้ดี แต่ในด้านการนำไปโอเวอร์คล็อกนั้นคงทำได้ไม่มากนัก หน่วยความจำราคาถูกกลุ่มนี้ก็จะจัดอยู่ในประเภท Value Series คือเน้นความคุ้มค่าในระดับราคาที่ไม่แพงนั่นเอง และเป็นกลุ่มหน่วยความจำที่เราพบเห็นกันมากที่สุดในตลาดบ้านเรา


สำหรับหน่วยความจำ DDR นั้นความเร็วที่แนะนำก็จะเป็นที่ DDR400 PC3200 เพราะมีราคาแทบไม่ต่างจาก DDR266 และ DDR333 แล้ว สำหรับหน่วยความจำ DDR ที่ความเร็วสูงเกินมาตรฐานคือ DDR433, 466, 500 นั้นถ้าการใช้งานปกติแล้วไม่มีความจำเป็นเลย แต่จะมีประโยชน์กับนักโอเวอร์คล็อก ซึ่งมีการปรับแต่งบัสให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ จุดนี้หากเราเลือกใช้หน่วยความจำที่รองรับความเร็วบัสได้ในระดับสูงจะช่วยสนับสนุนการโอเวอร์คล็อกได้เป็นอย่างดี ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้เวอร์คล็อกต้องระวังในเรื่องของค่า timing ด้วย เพราะหน่วยความจำที่ความเร็วสูงมากนั้น มักจะมีค่า timing สูงตามไปด้วย การเลือกหน่วยความจำแบบ DDR2 SDRAM นั้นก็ใช้หลักเดียวกัน เพียงแต่เราต้องแน่ใจว่าเมนบอร์ดของเรานั้นใช้งาน DDR2 SDRAM ได้ เพราะสล๊อตหน่วยความจำทั้งสองแบบนั้นไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้


การเลือกซื้อหน่วยความจำเป็นคู่ เพื่อใช้งานในแบบ Dual Channel นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก และชิปเซ็ตรุ่นใหม่ๆบนทุกแพลตฟอร์มก็มีการใส่เทคโนโลยีนี้ลงไปแทบทั้งหมดแล้ว ซึ่งหลักในการเลือกซื้อหน่วยความจำเป็นคู่นั้น ให้พิจารณาหน่วยความจำที่เป็นรุ่นเดียวกัน ตระกูลเดียวกัน มีขนาดความจุเท่ากัน และมีรหัสรุ่นที่เหมือนกัน เพราะค่อนข้างมั่นใจได้ว่า หน่วยความจำทั้งสองชุดนั้นน่าจะมีคุณสมบัติที่เหมือนกันทุกประการ และน่าจะใช้งานในแบบ Dual Channel ได้อย่างไม่มีปัญหา


ส่วนทางเลือกที่แน่นอนกว่าก็คือ การซื้อหน่วยความจำในแบบ Dual Channel Kit ซึ่งเป็นการรวมหน่วยความจำ 2 ชุดที่ผู้ผลิตได้ออกแบบมาให้ทำงานคู่กันได้อย่างสมบูรณ์แบบ และผ่านการทดสอบเบื้องต้นมาแล้ว รวมไว้ในกล่องเดียวกันแล้วขายมาเป็นชุด Dual Channel Kit พร้อมที่จะนำไปใช้งานในแบบ Dual Channel ได้ทันที อันนี้ก็จะสะดวกและช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ 100% เลยทีเดียว


ยี่ห้อและการรับประกันก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน ยี่ห้อนั้นบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของหน่วยความจำ เพราะแบรนด์ที่มีชื่อเสียงย่อมสร้างความมั่นใจในคุณภาพได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการรับประกันนั้น หน่วยความจำแทบทั้งหมดในตลาดมีการรับประกันแบบตลอดอายุการใช้งาน (Life time warranty) แล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้ได้มากทีเดียว


จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนระบบหน่วยความจำในแต่ละยุคนั้น ล้วนแต่มีแนวโน้มในการเพิ่มอัตราแบนด์วิดท์สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมอยู่พอสมควร โดยเฉพาะความก้าวหน้าของหน่วยความจำ DDR และ DDR2 ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและมีแนวโน้มของตลาดที่จะเข้าสูยุคของ DDR2 มากขึ้นเรื่อยๆ


การที่มีหน่วยความจำประสิทธิภาพสูงเหล่านี้เกิดขึ้นมานั้น นับว่าเป็นอีกเส้นทางหนึ่งของผู้ใช้พีซีที่จะได้เพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องการอัปเกรดระบบของตนก็ไม่ควรจะมองข้ามเรื่องของหน่วยความจำ


สิ่งที่ควรคำนึงในการเลือกใช้งานหน่วยความจำหลักนั้น นอกจากเรื่องแพลตฟอร์มและการสนับสนุนของระบบแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของฟีเจอร์ และความสามารถในการปรับแต่งของตัวเมนบอร์ดอีกด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานและการปรับแต่ง เพราะจุดนี้จะช่วยเสริมในด้านของประสิทธิภาพได้โดยตรง เนื่องจากเมนบอร์ดในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้ได้ทำการปรับแต่งความสามารถของหน่วยความจำได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มระบบบัส ปรับแต่งค่า Timing เพื่อให้เหมาะสมกับระบบบัสที่สูงขึ้น รวมไปถึงฟีเจอร์พิเศษที่ถูกเพิ่มขึ้นโดยผู้ผลิตชิปเซต และเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้เลยในส่วนของหน่วยความจำก็เห็นจะเป็นเทคโนโลยี Dual Channel ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าแบนวิดท์ได้มากเป็นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว นับเป็นแนวทางในการใช้งานหน่วยความจำที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดของวันนี้












By  //www.buycoms.com



Create Date : 03 มกราคม 2550
Last Update : 3 มกราคม 2550 15:30:34 น. 0 comments
Counter : 1214 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายป้ายเหลือง
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
3 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ผู้ชายป้ายเหลือง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.