อะ ปะ คะ ค่ะ มั้ย ซิ สิ ซัก สัก และเรื่องวรรณยุกต์
๑.

คำว่า "อ่ะ-ป่ะ" จะพบเกลื่อนในอินเตอร์เน็ตและในโปรแกรมแชตทั้งหลาย
นั่นยังพอทำเนา เดี๋ยวนี้รู้สึกจะลามไปถึงหนังสือหลายต่อหลายเล่มแล้ว
จึงขอยกเป็นประเด็นเสริมความรู้ไว้สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบว่า

อ.อ่าง ป.ปลา (ก จ ด ฎ ต ฏ บ ป อ) เป็นอักษรกลาง
ผันวรรณยุกต์ได้ ๕ เสียงก็จริง แต่ถ้าผสมสระเสียงสั้นหรือตัวสะกดแม่ กก กด กบ
จะเป็นคำตาย เป็นเสียงเอกอยู่แล้ว ไม่ต้องมีไม้เอก
เช่น อะ ผันได้สี่เสียงคือ อะ (เสียงเอก) อ้ะ อ๊ะ อ๋ะ (ไม่มีเสียงสามัญ)

ฉะนั้นที่ถูกต้องจึงเป็น "อะ-ปะ เช่น ไม่ได้อะ มีไรปะ"

๒.

คะ - ค่ะ เช่น นะคะ พิมพ์เป็น นะค่ะ
(แม้แต่การตั้งกระทู้ในไทยไรเตอร์ก็เจอกันบ่อย)

คะ เสียงตรี ใช้ลงท้ายคำถาม คำสั่งหรือประโยคบอกเล่าเป็นส่วนมาก
เช่น ทราบกันไหมคะ ลองพูดใหม่สิคะ อะไรนะคะ โอ้ย ลูกอีฉันนี่นะคะ อ่านกันด้วยนะคะ

ค่ะ เสียงโท ใช้ลงท้ายประโยคคำตอบ ประโยคบอกเล่า
เช่น ไม่มีหรอกค่ะ เอามาแล้วค่ะ ดีค่ะ อย่างนั้นแหละค่ะ


๓.

มั๊ย
ม.ม้า เป็นอักษรต่ำ ผันได้แค่สามเสียงสองรูป คือ มัย มั่ย มั้ย เท่านั้น

จริงๆ คำว่า มั้ย ที่ใครก็ไม่รู้บัญญัติมาแทน ไหม นั้น ไม่ใช่คำที่ถูกเสียทีเดียว
นักเขียนอย่างเราท่านพึงสำเนียกไว้ว่า ไม่ควรใช้ในการบรรยาย
แต่อนุโลมใช้ในเครื่องหมายคำพูดได้ (อัญญประกาศ) เพื่อให้ได้เสียงใกล้เคียง

เช่นเดียวกับคำว่า เค้า เดี๋ยวนี้เริ่มลามไปถึงการบรรยายแล้ว
เป็นเรื่องน่าห่วงว่า ถ้านักเขียนไทยที่ใช้ภาษาไทยไม่รักษาความถูกต้องของภาษาไทย แล้วใครจะรักษา
หนักกว่านั้นคือ การเรียกสัตว์ สิ่งของว่า เขา
มีหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเก่า ต้นฉบับเดิมผู้เขียนท่านใช้ มัน แต่มีคนเอามาพิมพ์เผยแพร่ใหม่
แล้วเปลี่ยนคำว่า มัน เป็น เขา ทั้งเล่ม อ่านแล้วเหนื่อย
(ความเห็นส่วนตัวของผม ก็มองในแง่ดีอยู่เล็กน้อยว่าคนไทยพากันลดตัวเองลงเทียบเท่ากับสัตว์เดรัจฉาน
แสดงว่าเข้าใจตัวเองดีว่าคนทุกวันนี้จิตใจไหลลงต่ำ แต่เรียกสิ่งของว่า เขานี่ยังรู้สึกไม่เห็นด้วย)


๔.

ซิ สิ ซัก สัก

ซิ ใช้ในประโยคคำถามหรือคำสั่ง แสดงความกระตือรือร้นหรือกำกับ เช่น ไหนลองว่ามาซิ เอาน้ำมากินหน่อยซิ
สิ ใช้ในประโยคคำสั่งกรายๆ ไม่คาดหวังนัก หรือประโยคตอบโต้ เช่น ก็ว่าไปสิ ดูนี่สิ นั่นสิ

ส่วน ซัก ในประโยค เช่น เขาหยิบเงินมาซักสามสี่สิบบาท ซักอัน ซักซอง ซักวัน ซักเรื่อง
ถ้าเจอคำนี้ในงานของนักเรียน ผมจะถามว่า
"จะเอาเงินไปซักให้สะอาดกันเลยหรือ"
ไม่ก็ "เงินมันตอบไม่ได้จะไปซักมันทำไม"

ประโยคลักษณะนี้จะมาในรูปใดก็แล้วแต่ ใช้ "สัก" ทั้งสิ้น
เช่น ขอซักถามสักนิดนะ จะเอาอะไรก็เอาสักอย่างเหอะนา มันจะไปได้สักกี่น้ำเชี่ยว


๕.

ละ เป็นคำประกอบกริยา เน้นความให้มีน้ำหนักขึ้น เช่น เอาละ แน่ละ นั่นละ ถ้าแกไม่มาละก็
ล่ะ เพี้ยนมาจาก เล่า เช่น อ้าว ทำไมมากันแค่นี้ล่ะ


๖.

การผันวรรณยุกต์นั้น มีข้อจำง่ายๆ คือ
พยัญชนะที่ผันได้ทั้ง ๕ เสียง คือ อักษรกลาง ได้แก่ ก จ ด ฎ ต ฏ บ ป อ (หลักจำคือ ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง)
ยกเว้นเมื่อผสมสระเสียงสั้นเช่น อะ อิ อุ เอะ แอะ หรือสะกดด้วยแม่ กก กด กบ เป็นคำตาย ไม่ต้องลงไม้เอก เพราะเป็นเสียง

เอกอยู่แล้ว
นอกนั้นผันได้เพียงสามเสียงบ้างก็แค่สองเสียงบ้าง เช่น คะ (เสียงตรี) ค่ะ (เสียงโท)
นอกนั้นลองศึกษาจากคุณครูภาทิพย์ตามลิงค์นี้ดูครับ

//www.st.ac.th/bhatips/gramma3.htm


นอกจากนี้ยังมีคำอีกเป็นจำนวนมาก ที่เดี๋ยวนี้ใส่วรรณยุกต์ผิดมาตรา
เช่น แร่ด (แรด) แซ่บ (แซบ) เริ่ด (เริด) คลิ๊ก (คลิก) เป็นต้น

ในนี้มีผู้รู้อยู่มากท่าน มาช่วยยกกันคนละคำสองคำเพื่อเป็นความรู้ร่วมกันดีไหมครับ
หรือจะถกกันในประเด็นใกล้เคียงก็น่าสนุกนะครับ


หมายเหตุ : ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารของคน อาจเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างได้ เพี้ยนไปต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับกันได้
แต่ที่ต้องรักษาไว้ให้ถูกต้องคือ "การผันวรรณยุกต์"
เด็กทุกวันนี้ผันวรรณยุกต์กันไม่เป็นแล้ว อักษรสูง กลาง ต่ำคู่ ต่ำเดี่ยว คำเป็น คำตาย ก็ไม่รู้
ใช้มั่วกันไปหมด (รวมทั้งผู้ใหญ่จำนวนมาก)





Create Date : 04 สิงหาคม 2551
Last Update : 4 สิงหาคม 2551 13:47:19 น.
Counter : 18450 Pageviews.

5 comments
  
พอดีผ่านมาอ่าน อดไม่ได้จริง ๆ ค่ะ
ขอให้กำลังใจ
คนที่เมื่อยนิ้ว เมื่อยปาก เสียเวลามาพิมพ์เช่นนี้

สมัยนี้หลาย ๆ คน(ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ )
เขาไม่สนใจไวยากรณ์ การใช้ภาษากันอีกแล้ว
นับวันภาษาที่ถูกก็กลายเป็นผิด
ยิ่งกว่าการกร่อนภาษา...5555

นึกอะไร คิดอะไร ก็ใส่ ๆ ลงไป
มันเป็นงานของฉัน งานแบบศิลปะบริสุทธ์
งานแบบธรรมชาติ งานอิสระไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัด
ฯลฯ (แล้วยังใส่ไม้ยมกได้อีกไหมคะ อิอิ)

ปวดใจ...
พวกเขาจะมาอ่านกันหรือเปล่านี่


สุดท้ายกำลังนั่งมองในเชิงประวัติศาสตร์
อย่างคนแก่วิตกจริต
ว่าเด็กไทย คนไทย อาจจะกร่อนประโยค
เหลือเป็นแค่คำ ๆ กลับไปเหมือนเด็กทารก
และอาจย้อนวิวัฒนาการกลับไปใช้ภาษาภาพ
แบบโบราณ
โดย: พรายทราย วันที่: 4 สิงหาคม 2551 เวลา:16:09:24 น.
  
ขอบคุณมากๆ ครับ ต่อไปจะพยายามใช้ให้ถูกต้องกว่านี้ (สำนึกผิด)
โดย: ตั้งสติ วันที่: 4 สิงหาคม 2551 เวลา:20:08:13 น.
  
เราว่า บางคำมันเนื่องด้วยการพ้องรูป-พ้องเสียงในภาษาไทยด้วยอะค่ะ (ต้องออกเสียง อ่ะ-ค่ะ ใช่ไหมล่ะ)

ปะ (ติดแปะ) ปะ (? ไปปะ กินปะ เที่ยวปะ ยุ่งปะ.......... ถ้าเขียนไม่หลบพ้องรูปโดยเติมไม้เอก ก็ค่อนข้างยากนะ ที่จะ สื่อสื่อสารว่า ไปหรือเปล่า กินหรือเปล่า เที่ยวหรือเปล่า ยุ่งหรือเปล่า)

ส่วนอันนี้

"นอกจากนี้ยังมีคำอีกเป็นจำนวนมาก ที่เดี๋ยวนี้ใส่วรรณยุกต์ผิดมาตรา
เช่น แร่ด (แรด) แซ่บ (แซบ) เริ่ด (เริด) คลิ๊ก (คลิก) เป็นต้น"

สังเกตว่าเป็นคำอักษรต่ำทั้งหมด ทุกคำออกเสียงยาวกว้ามาตราการออกเสียงปกติหากไม่ใส่วรรณยุกต์กำกับ กลายเป็น แรดดดด แซบบบบ เริดดดดดดด คลิลลลลลลก แล้วจะใช้หลักจำอะไรดี

ก็มาสังเกตอีกว่า ตัวสะกดทั้งนั้น เป็น อักษรกลาง ดังนั้นจะหมายได้ไหมว่า หากคำที่นำหน้าด้วยอักษรต่ำ แล้วสะกดด้วยอักษรกลาง คำนั้นไม่ต้องใส่วรรณยุกต์กำกับคำเสียงสั้น ????

เช่น แวด เทียบคำ แรด (เอ้า ข้างหน้าต่ำเดี่ยว ข้างหลังกลาง ดันอ่านว่า แว่ด ไม่ได้เสียนี่)
แต่ แวบ (อันอ่าน แว่บ ได้ซะงั้น)
แทบ เทียบคำ แซบ (อ๊ะ ข้างหน้าต่ำคู่
ข้างหลังกลาง ดันอ่านว่า แท่บ ไม่ได้ซะงั้น)
เนิบ เทียบคำ เริด (แต่อ่าน เนิ่บ ไม่ได้)
ทริป เทียบคำ คลิก (อันนี้สั้นเหมือนกัน)

งั้นลองอีก เลศ เล็ด เคล็ด เล่ด เคล่ด เล่ศ (แลดูพิกลๆ เนอะ)
แนบ แน่บ แลบ แล่บ แบบ แบบ (เออ ทะแม่งๆ)

สรุปว่า

ยังสรุปหลักจำอะไรไม่ได้นอกจาก

ต้อง จำเอาเป็นคำๆ จริงๆ ด้วยเนอะคะ


โดย: เพียงคำ IP: 124.121.45.239 วันที่: 17 ธันวาคม 2551 เวลา:5:12:27 น.
  
ภาษาไหนๆก็ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นสำคัญทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะหลักการเขียน การอ่าน การพูด

อย่างคำว่า ทราย อ่านว่า ซาย แต่คำว่านิทรา กลับมิได้อ่านออกเสียงเป็นซ.โซ่ด้วยเสียนี่

การอ่านออกเสียงก็มีอยู่มากคำนะคะ ที่อธิบายด้วยหลักการไม่ได้
กำราบ - กำหราบ
ตำรับ - ตำหรับ
จำรัส - จำหรัด

ตอนเด็กๆเคยสงสัยมาก พอถามครูไป ครูก็ตอบแค่ว่า "อันนี้เขายกเว้น" ไปๆมาๆ เลยมีอันยกเว้นมากมายเลยล่ะค่ะ
โดย: แวนคูเวอร์ IP: 203.144.144.165 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:13:38:06 น.
  
แสดงว่าครูคนนั้น ไม่รู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง จึงตอบไม่ได้ว่า เพราะอะไรถึงต้องอ่านอย่างนั้น

มันมีเหตุให้ต้องอ่านอย่างนั้นอยู่จ๊ะ หนูแวนคูเวอร์

จะตอบว่า อันนี้เขายกเว้น เสียทั้งหมดนั่นไม่ถูกเลย แม้กระทั่งการยกเว้น ก็ต้องมีเหตุผลที่แน่ชัดว่า ทำไมต้องยกเว้น นั่นจึงถูกต้อง

ไว้ว่างๆ จะเขียนเรื่องนี้ดูสักตั้ง
โดย: รวี ตาวัน IP: 125.25.98.0 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:13:56:17 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รวี_ตาวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



สิงหาคม 2551

 
 
 
 
 
1
2
3
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31