นิยายกำลังภายใน ใครเป็นใครในยุทธจักรแห่งวรรณกรรมอันลึกล้ำ
งานชิ้นนี้ผมเขียนไว้ตั้งแต่ปี 47 ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ทันสมัย แต่พอเป็นความรู้สำหรับผู้สนใจได้ครับ

_____________________________



ขณะนี้วรรณกรรมจากซีกตะวันตกและจากแดนอาทิตย์อุทัย กำลังตีตลาดหนังสือเมืองไทยชนิดที่เรียกว่า "ทำสงคราม" กันทีเดียว และคล้ายฝ่ายวรรณกรรมไทยจะเพลี่ยงพล้ำเล็กน้อย เพราะที่วางกันพรืดอยู่ตามชั้นหนังสือออกใหม่ ก็หนาตาด้วยหนังสือแปล ผลงานของนักเขียนไทยแทบจะไม่เหลือที่ (ขาย)ให้เบียดเสียด ยังไม่พอแม้แต่คอลัมน์แนะนำหนังสือตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตสาร สามในห้าก็เป็นหนังสือของนักเขียนต่างประเทศ

นั่นก็เป็นการห้ำหั่นกันในวงการหนังสือ เรานักอ่านไม่รู้สึกเป็นอย่างไร (แค่รู้สึก...หนังสือมันแพงหูดับตับไหม้ไปหน่อย)

แต่ท่ามกลางกระแสอันเชียวกรากนี้ ยังมีอีกกระแสหนึ่ง ซึ่งแม้ไม่เชียวกราก แต่ก็ไหลเรื่อยไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จากผู้อ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้อ่านที่เลือกเดินตามกระแสนี้ก็เหนียวแน่นกันอย่างยิ่ง บางท่านนั้นอ่านหมดสิ้น จนไม่มีเรื่องใหม่มาให้อ่านอีก ถึงกับต้องเวียนอ่านเรื่องเก่าหลายสิบเที่ยว

กระแสที่ว่านั้นก็คือ กระแสนิยายกำลังภายใน ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่แปลจากผลงานภาษาจีน เรียกกันติดปากว่า “นิยายจีน”

นักอ่านหลายต่อหลายท่านหรือแม้กระทั่งบรรณาธิการใหญ่อย่าง เสถียร จันทิมาทร ยังเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหยิบนิยายกำลังภายในขึ้นมาอ่านสักเล่ม มีความเป็นไปได้อยู่สายเดียวคือ "ติดงอมแงม"

เสน่ห์ของนิยายกำลังภายในนั้นนอกจากจะพาผู้อ่านหลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ยังอยู่ที่

๑. สำนวนแปลอันเป็นเอกลักษณ์
๒. โครงเรื่องที่รัดกุมและพลิกผันแปรเปลี่ยน ยากต่อการคาดเดา
๓. ฉากต่อสู้ที่โลดโผนสะใจ หรือไม่ก็ลึกล้ำน่าแตกตื่นตรึงตรา
๔. การเดินเรื่องที่กระชับรวดเร็ว สนุกสนานน่าติดตาม
๕. เรื่องส่วนมากเน้นคุณธรรมน้ำมิตร และสอดแทรกแง่คิดปรัชญาที่กินใจ

ผู้เขียนจะไม่พูดถึงจุดกำหนดหรือท้าวความถึงที่มาที่ไปของนิยายกำลังภายใน แต่จะนำทุกท่านไปพบกับนักเขียนและนักแปลนิยายกำลังภายในที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้



นักเขียนนิยายกำลังภายใน

ความจริงนักเขียนนิยายกำลังภายใน ในจีน ใต้หวัน ฮ่องกงนั้น มีมากมายหลายท่าน เฉพาะที่ได้รับการแปลสู่ภาคไทยก็นับสิบท่าน

แต่จะขอเรียงบัญชีเฉพาะนักเขียนที่หากเอ่ยชื่อขึ้นมา แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยอ่านยังคุ้นหูมาบ้าง ซึ่งถือว่า ขึ้นทำเนียบโด่งดังค้างฟ้าเมืองไทย ๓ ท่าน คือ กิมย้ง โก้วเล้ง และหวงอี้


กิมย้ง เจ้าของผลงานอมตะที่ถูกนำ มาสร้างเป็นหนังทั้งจอแก้วและจอเงินหลายต่อหลายครั้ง เช่น มังกรหยก ภาค ๑-๒, ดาบมังกรหยก, แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, กระบี่เย้ยยุทธจักร (เดชคัมภีร์เทวดา), อุ้ยเสี่ยวป้อ เป็นต้น

ก่อนหน้านั้น กิมย้งเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์และบทความอื่นๆอยู่ และเริ่มต้นเขียนนิยายกำลังภายในตอนอายุสามสิบกว่าและมีผลงานเพียง ๑๕ เรื่อง ทว่าแต่ละเรื่องนั้นตรึงตราอยู่ใจผู้อ่านทุกยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องมังกรหยก นั้น ได้รับการยกย่องเทียบเท่า "วรรณคดี" ทีเดียว ว่ากันว่า แม้แต่เหมาเจ๋อตุง ยังอ่านนิยายทุกเรื่องของกิมย้ง

เหง่ยคัง นักเขียนบทภาพยนตร์ และนักวิจารณ์วรรณกรรม กล่าวว่า "กิมยังเป็นนักเขียนที่หาผู้เสมอเหมือนไม่ได้"

เอกลักษณ์นิยายของกิมย้งนั้น

๑. เรื่องส่วนมากนำประวัติศาสตร์มาเป็นฉากหลัง และตัวละครบางตัวมีตัวตนจริง เช่น เตียซำฮง (จางซานฟง), จูง้วนเจียง (จูหยวนจาง), ผู้นำมองโกว อย่าง เจ็งกิสข่าน, กุบไลข่าน เป็นต้น
๒. สะท้อนถึงวัฒนธรรมของจีนชัดเจน
๓. วางโครงเรื่องกว้างและซับซ้อน แต่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน พล็อตเรื่องย่อยและพล็อตเรื่องหลักสวดรับสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ดุจ “เสื้อสวรรค์ไร้ตะเข็บ”
๔. เดินเรื่องรวบรัดชัดเจน และมีชีวิตชีวา ชวนติดตาม
๕. สร้างตัวละครได้มีจุดเด่น สามารถทำให้ผู้อ่านประทับใจตัวละครนั้นๆ ไม่มีวันเลือน เช่น เอี้ยก่วย, เซียวเล้งนึ่ง, ก๊วยเจ๋ง, อึ้งย้ง, เซียวฟง, เตียบ้อกี๋, เล้งฮูชง หรือแม้กระทั่งตัวละครประกอบยังสามารถทำให้พวกเขามีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ตัวละครหลายต่อหลายตัวทั้งที่ไม่ใช่ตัวเอก และออกมาไม่กี่ฉาก หรือบางตัวไม่เคยเปิดตัวออกมาเลยเพียงแค่ถูกเอ่ยถึงก็มี แต่ก็ตรึงตราอยู่ในใจผู้อ่านตลอดกาล เช่น เฮ้งเต็งเอี้ยง เจ้าสำนักช้วนจินในมังกรหยก ภาค ๑, ต๊กโกคิ้วป่าย (มารกระบี่แสวงพ่าย) ในมังกรหยกภาค ๒ และ ตังฮึงปุกป่าย (บูรพาไม่แพ้) ในกระบี่เย้ยยุทธจักร

การเปิดเรื่องของกิมยัง มักจะไม่เบิกตัวละครเอกก่อน แต่จะกล่าวถึงฉากเหตุการณ์ย่อยๆ ที่จะเชื่อมโยงไปยังตัวละครเอก นักอ่านใหม่ๆ ผู้ยังไม่คุ้นกับงานของกิมย้งมักจะหลงเข้าใจว่าตัวละครที่เขาเบิกมาตอนแรกนั้นเป็นตัวเอก แต่พออ่านไปจริงๆ กลับกลายเป็นไม่ใช่

เขาใช้ศิลปะในการประพันธ์ได้ยอดเยี่ยม มีการหักมุม เล่าย้อน สร้างปมปัญหา ตัวละครมีส่วนสอดรับสัมพันธ์กันอย่างลงตัว เรื่องที่ทำได้ยอดเยี่ยมที่สุดคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ซึ่งมีตัวละครหลักสามตัว มีลักษณะพื้นฐานไปคนละแบบ แต่เขาสามารถเชื่อมโยงตัวละครทั้งหลัก และประกอบ รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงสอดรับกันได้อย่างน่าทึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ใช้กลวิธีแบบเล่าย้อนทั้งเรื่องแต่ทำได้แนบเนียนยิ่ง คือ จิ้งจอกภูเขาหิมะ

เนื้อหานิยายกำลังภายในของกิมยังนั้น มักสะท้อนให้เห็นคุณค่าภายในจิตใจของมนุษย์ บางเรื่องก็สะท้อนความเป็นไปของสังคมในยุคของผู้เขียนไว้อย่างกลมกลืน เช่นเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร (เดชคัมภีร์เทวดา) เขียนสะท้อนการเมืองในยุคนั้นได้แนบเนียน เขาสร้างวิญญูชนจอมปลอมอย่างงักปุกคุ้ง สร้างจอมอิทธิพลในวงนักเลงฝ่ายธรรมะอย่าง จ้อแนเซี้ยง ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นใหญ่ อ่านงานชิ้นนี้ของกิมย้งแล้วให้รู้สึกรังเกียจชนชั้นที่อ้างตัวเป็นผู้ดีมีคุณธรรมที่แท้จริงมีเบื้องหลังซับซ้อน และเห็นใจประชาชนอย่างยิ่ง

ข้อเด่นประการหนึ่งที่จับใจผู้อ่าน คือ ผู้เขียนใช้ร้อยแก้วแทรกร้อยกรองได้อย่างเหมาะเจาะจับใจ ได้รสการอ่านระดับคลาสสิคอย่างที่สุด ปรัชญาที่สอดแทรกกิมย้งจะเน้นที่ปรัชญาพุทธฝ่ายมหายานเป็นหลัก จึงกล่าวได้ว่า นิยายของเขามีอะไรมากกว่าหนังสืออ่านเล่น

โก้วเล้ง กล่าวไว้ว่า "แรงสั่นสะเทือนที่กิมยั้งมีต่อนิยายกำลังภายในยุคปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ไม่มีนักเขียนท่านใดเทียบได้ นิยายกำลังภายในเกือบสิบแปดปีมานี้ ไม่ว่าเป็นผลงานของท่านใดจะมากจะน้อยได้รับอิทธิพลจากกิมยังอยู่บ้าง นวนิยายของเขาวางโครงเรื่องรัดกุมแต่ละฉากแม้ตระการ หากส่วนต้นส่วนปลายสอดรับกัน ตัวละครในเรื่องยิ่งเต้นเร่าราวมีชีวิต"

และยังกล่าวอีกว่า “...นิยายกำลังภายในของกิมย้ง มีเค้าโครงละเอียดลึกซึ้ง สำนวนความเรียงรวบกระชับ จากสำนวนเรื่อง ความรักในหอแดง หล่อหลอมเข้ากับวรรณกรรมตะวันตก กลับกลายเป็นลีลาใหม่ อีกแบบหนึ่ง หากในมือข้าพเจ้ามีนิยายของกิมย้งอยู่สิบแปดเล่ม อ่านเพียงสิบเจ็ดเล่ม ข้าพเจ้าต้องนอนไม่หลับอย่างแน่นอน...”

ถ้าอยากลิ้มรสชาติของการอ่านหนังสือแล้ว "วางไม่ลง" แนะนำให้อ่านงานของกิมย้ง

โก้วเล้ง มักรโบราณ หรือ อัจฉริยปีศาจแห่งใต้หวัน ผู้พลิกผันสถานการณ์นิยายกำลังภายในที่เริ่มนิ่งในขณะนั้นให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแนวเรื่องที่แปลกใหม่และสำนวนภาษาอันเป็นแบบเฉพาะตัว

นวนิยายกำลังภายในช่วงก่อนหน้า เช่นของกิมย้ง และเนี่ยอู่เซ็ง มักแสดงความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์หรือความขัดแย้งอันเนื่องจากส่วนรวม มีความขัดแย้งระหว่างบุคคลเป็นส่วนประกอบ แต่โก้วเล้งหันมาเขียนเรื่องปัจเจกชน เน้นพฤติการของตัวละคร ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ความสำเร็จของ โก้วเล้งเกิดจากการนำนวนิยายเชิงเนื้อหามาสร้างความรู้สึกและธาตุแท้ของคนออกมา

ความจริงข้อหนึ่งซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับ คือนวนิยายของโกวเล้ง ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกอยู่มาก เช่น ซอลิ้วเฮียง ได้รับอิทธิพลจากเรื่อง เซอร์ล็อก โฮล์มส์ ของ เชอร์อาร์เธอร์ โคแนนดอยล์ ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่ ได้รับอิทธิพลจาก เดอะก็อดฟาเธอร์ ของ มาริโอ ฟูโซ่ ฤทธิ์มีดสั้น ได้รับอิทธิพลจาก ออฟ ฮิวแมน บอนด์ เอกซ์ ของ ซอมเมอร์เซ็ท มอห์ม

ยิ่งในช่วงหลังเขาใช้สำนวนสั้นกระชับออมคำ ต้องทำให้นึกถึงเงาของ เฮมมิ่งเวย์ ลางๆ แต่ในส่วนนี้โก้วเล้งก็ตัดกลิ่นนมกลิ่นเนยออกหมดสิ้น จนกลายมาเป็นแบบฉบับโดดเด่นเฉพาะตัว

ท่วงทำนองและอารมณ์ที่สื่อในงานของ
โก้วเล้งนั้นคล้ายกลอนเปล่า เนื้อหาอมความ ชวนค้นหา ทั้งยังแฝงปรัชญาคำคมแบบเต๋าและพุทธแบบเซ็นเอาไว้อย่างเหมาะเจาะ ซึ่งผู้อ่านที่หยิบงานของเขามาอ่านส่วนมากจะประทับใจตรงจุดนี้ เพราะอ่านแล้วรู้สึกดื่มด่ำกำซาบ

ว่าไปแล้ว นิยายกำลังภายในของโก้วเล้ง ไม่มีการจำแนกถูกผิด ดีเลวชัดเจน เหมือนงานของกิมย้ง ตัวละครเอกมีความเป็นมนุษย์มากกว่า คือ มีพฤติกรรมทั้งด้านดำและขาว บางครั้งก็เมามายสุรานารี จมปรักอยู่กับอดีต ไม่ก็ทำตัวชืดชากับโลก อีกทั้งเขาบรรยายวิเคราะห์ความคิดจิตใจ ของคน และให้ทัศนะกับเรื่องราวในชีวิตได้ลึกซึ้งถึงแก่น โดยเฉพาะเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น นั้น มีอิทธิพลต่อความคิดและอารมณ์ของผู้อ่านอย่างมาก บางคนหลงใหลถึงขั้นทำตัวเช่นเดียวกับ ลี้คิมฮวง เลยก็มี แต่โก้วเล้งก็ยังเขียนตัวละครของเขาให้เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมน้ำมิตร ถือสัจจะและความเที่ยงธรรมอยู่เป็นหลัก อันถือเป็นลักษณะเด่นของนิยายกำลังภายใน

แต่ดูเหมือนว่างานของโก้วเล้งนั้น มีข้อตำหนิอยู่บ้าง นักอ่านชาวไทยบางท่านถึงกับบอกว่า หลายเรื่องเหมือนกับเขียนไปเรื่อยๆ ไม่มีการวางโครงเรื่องไว้ล่วงหน้า หรือไม่ก็วางโครงเรื่องหละหลวมเกินไป ในส่วนนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้เพียงเล็กน้อย

๑. สำนวนของโก้วเล้ง แม้จะสั้นกระชับ แต่บางเรื่องก็ย้ำคำมากเกินไป เนื้อหาระหว่างบรรทัดจึงเยิ้นเย้อ พลอยให้การเดินเรื่องยืดเยื้อไปด้วย
๓. การเล่าเรื่องหลายแห่งใช้ตัวละครเป็นตัวเล่า กล่าวคือเดินเรื่องด้วยคำพูด ซึ่งดูจะฉาบฉวยและมักง่ายอยู่บ้าง (อาจรับเอาอิทธิพลนิยายแนวสอบสวนของนักเขียนชาวตะวันตกมา) ตรงจุดนี้ สามารถมองเป็นจุดเด่นได้เช่นกัน เพราะคำพูดของตัวละครนั้น โก้วเล้งเขียนได้ลึกซึ้งคมคาย ซุกซ่อนปรัชญาเอาไว้ นักอ่านทั้งนั้น ต่างติดอกติดใจกัน
๒. คำคมปรัชญาของเขา มีนักอ่านบางท่านบอกว่า ดูคล้ายลึกซึ้ง แต่ความจริงทื่อ (อันนี้ผู้เขียนไม่ขอออกความเห็นร่วม) ที่แน่ๆ มักพบคำคำเดียวกันในหลายที่และหลายเรื่อง จนรู้สึกซ้ำซากเกินไป
๔. โก้วเล้ง มักลืมตัวละครของตัวเอง คือ เอ่ยถึงไว้ต้นเรื่องคล้ายสร้างปมไว้ แล้วทิ้งไปเสียเฉยๆ

เหล่านี้เป็นเพียงข้อบกพร่องบางประการที่นักอ่านซึ่งเป็นแฟนนิยายของเขาก็ยอมรับว่าจริง แต่ก็ไม่อาจทำให้เสน่ห์นิยายกำลังภายในของโก้วเล้ง ลดลงแต่ประการใด อีกประการ ตัวละครภายใต้คมปากกาของโก้วเล้ง มีลักษณะเด่นเฉพาะที่ยากจะลืมเลือน โดยเฉพาะเรื่องฤทธิ์มีดสั้น เซี่ยวฮื่อยี่ ชอลิ่วเฮียง เล็กเซียวหงส์ นั้น ตราตรึงอยู่ในใจผู้อ่านและแฟนภาพยนตร์มาทุกยุคทุกรุ่น

นักประพันธ์ท่านนี้มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุไม่ถึง ๓๐ น่าเสียดายที่ต้องมาจบชีวิตในวัยเพียง ๔๗ ปี ด้วยโรคสุราเรื้อรัง แต่ก็ฝากผลงานไว้ในยุทธจักรถึง 65 เรื่อง และโด่งดังเทียบชั้นกิมย้ง หากพูดถึงความประณีตของงานโก้วเล้งกลับเป็นรองกิมย้งอยู่หลายส่วน อาจเพราะโก้วเล้งมุ่งสร้างผลงานกอปรกับอายุสั้นเกินไป ไม่เหลือเวลาไว้ให้ขัดเกลาผลงานที่เขียนเอาไว้ เหมือนเช่นกิมย้ง


หวงอี้ ชื่อของนักเขียนท่านนี้เริ่มผ่านหูนักอ่านชาวไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยนิยายอิงประวัติศาสตร์ (ไม่เชิงนิยายกำลังภายในนัก เพราะไม่มีฉากการต่อสู้พิศดาร ตามแบบนิยายกำลังภายในทั่วไป) ต่อมาก็สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้แก่วงการ ด้วยการเขียนนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์สมัยปลายราชวงศ์สุ่ย เชื่อมต่อราชวงศ์ถัง เรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ซึ่งมีความยาวถึง ๒๑ เล่ม ถือว่าเป็นนิยายกำลังภายใจที่ยาวที่สุดเรื่องหนึ่ง

อาจารย์สุวินัย ภรณาลัย เขียนไว้ว่า "จุดเด่นข้อแรกของวรรณกรรมแบบหวงอี้ นั่นคือ เขาเขียนนิยายกำลังภายในแบบ "ประวัติศาสตร์คู่ขนาน" ออกมา กล่าวคือ มันมีความจริงของประวัติศาสตร์ดำรงอยู่ แต่ทั้งตัวผู้อ่านและผู้เขียนต่างก็ต้องเข้าไปในโลกแห่งความฝันด้วยกัน ผู้อ่านอย่างเราท่านต้องจินตนาการว่า เราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้อย่างที่เรารู้ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นอยู่แล้ว (ว่าสุดท้ายใครชนะ) และเราก็ต้องมาประลองปัญญากับผู้เขียนคือหวงอี้ว่า เขาทำให้เราเชื่อหรือคล้อยตามได้หรือเปล่า

...จุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ผู้อ่านเราท่านชื่นชอบใน "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ก็คือ มันเป็นงานวรรณกรรมทางการเมืองแบบบูรณาการ ในความหมายที่ว่า ตัวหวงอี้เองเขาได้เสนอ "วิชั่น" ทางการเมือง มุมมองและประเด็นทางการเมืองประกอบไปด้วย ...ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่สนใจการเมืองควรจะอ่านนิยายกำลังภายในเรื่องนี้..."

สำนวนความเรียงของหวงอี้ไม่มีลักษณะโดดเด่นเหมือนของกิมยัง และโก้วเล้ง แต่ก็มีความเป็นสมัยใหม่ อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังจีนชุดในปัจจุบัน

หวงอี้มีผลงานที่ได้รับการแปลออกสู่สายตานักอ่านชาวไทยแล้ว ๓ เรื่อง คือ ขุนศึกสะท้านปฐพี, เจาะเวลาหาจินซี และ มังกรคู่สู้สิบทิศ, เทพมารสะท้านภพ และ ล่าสุด จอมคนแผ่นดินเดือด ซึ่งเรื่องท้ายนี้ภาคไทยมีความยาวถึง .... เล่ม ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงที่สุดแห่งยุค


นักแปลนิยายกำลังภายในของไทย

ในไทยมีนักแปลนิยายกำลังภายในหลายท่าน แต่หากโดดเด่นเป็นที่รู้จักมายาวนานที่สุด คือ จำลอง พิศนาคะ, ว.ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน

จำลอง พิศนาคะ นั้น แม้ไม่ใช่คนแรกที่แปลนิยายกำลังภายใน แต่ถือเป็นผู้เบิกทางให้นิยายกำลังภายใน ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในไทย ด้วยการนำเรื่อง เสี่ยเตียวเอ็งย้งตึ่ง มาแปลภายใต้ชื่อไทยว่า มังกรหยก ภาคหนึ่ง ตามด้วยผลงานของกิมย้งอีกหลายเรื่อง ท่านยังเป็นผู้บัญญัติศัพท์ เช่น กำลังภายใน, วงนักเลง (บู้ลิ้ม) อีกด้วย

สำนวนการแปลของ ท่านจำลอง นั้น ใช้ภาษาตามแบบสามก๊ก ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านในยุคนั้น แต่ก็แปลชื่อตัวละครผิดเพี้ยนอยู่บ้าง เช่น ก๊วยเจ๋ง แปลเป็น ก๊วยเซ็ง เป็นต้น

ต่อมามีนักแปลที่โด่งดังขึ้นมาอีกสองท่าน คือ ว.ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้ สามารถแปลออกมาให้เป็นแบบฉบับที่เรียกว่า "สำนวนนิยายกำลังภายใน" ขณะเดียวกันก็ผูกขาดตลาดนิยายกำลังภายใน ชนิดที่ต่อมาไม่มีผู้ใดแปลแล้วดังอีกเลย (ในท้องตลาดมีอยู่ท่านหนึ่งคือ คนบ้านเพ แปลเรื่องมังกรหยกภาคสองออกมา แต่สำนวนอ่อนมาก ทั้งอาจารย์ถาวร สิกขโกศล ก็ตำหนิว่า ขาดการสืบค้นข้อมูลทางภาษาจีน)

ผลงานของ ว.ณ เมืองลุง ในช่วงแรก เช่น กระบี่ล้างแค้น ยังติดสำนวนแบบของ จำลอง พิศนาคะ อยู่บ้าง ผ่านไปช่วงหนึ่งจึงค่อยๆ พัฒนาจนกระชับรัดกุมขึ้นจนเป็นแบบเฉพาะตัว ว.ณ เมืองลุงนั้นแปลหนังสือได้เร็ว เพราะใช้วิธีการแปลปากเปล่าใส่เทป แล้วให้พนักงานพิมพ์ถอดเทปอีกที ซึ่งถือว่าต้องมีความสามารถเป็นเลิศทีเดียว เพราะการกลับจากภาษาหนึ่งเป็นภาษาหนึ่งอย่างฉับพลัน โดยให้ได้อรรถรสทางสำนวนภาษานั้น ไม่ใช่เรื่องทำง่ายเลย

และขอเรียนให้ผู้อ่านที่ตกข่าวทราบว่า ว.ณ เมืองลุง นั้น ลาโลกไปแล้วเมื่อเดือนกว่านี่เอง

ส่วน น.นพรัตน์ เป็นนามปากกาของ สองพี่น้องตระกูล “ภิรมย์นุกูล” เริ่มแปลงานครั้งแรกเพียงอายุ ๑๖ - ๑๗ ปี เท่านั้น (น้อง - พี่) ฝ่ายน้องเป็นผู้แปล ฝ่ายพี่เป็นผู้ขัดเกลาสำนวนอีกที ทำให้สำนวนแปลของ น.นพรัตน์นั้น กระชับกว่าของ ว.ณ เมืองลุง น่าเสียดายที่ น. นพรัตน์ ผู้พี่เสียชีวิตไปก่อน เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว (๒๘ ส.ค. ๒๕๔๓) ในช่วงที่กำลังแปลมังกรคู่สู้สิบทิศ ของ หวงอี้ ได้ไม่กี่เล่ม เมื่อสิ้น น.นพรัตน์ ผู้พี่ ดูเหมือนว่า สำนวนแปลของผู้น้องจะด้อยไปบ้าง ไม่ค่อยกระชับรัดกุมเหมือนเดิม จนนักอ่านหลายท่านออกมาตำหนิ

นับแต่เรื่อง มังกรคู้สู้สิบทิศ เป็นต้นมา น่าสังเกตว่า น.นพรัตน์ แปลชื่อตัวละครและชื่อกระบวนท่าเป็นภาษาจีนกลาง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอ่านยากและไม่คุ้นหูคนไทยเท่าภาษาจีนเต้จิ๋ว

สำหรับสำนวนแปลของ ว.ณ เมืองลุง และน.นพรัตน์ มีข้อแตกต่างกันที่ตรงไหนบ้างนั้น ที่ชัดเจนมากคือ ว.ณ เมืองลุง ใช้คำสรรพนามแทนตัวละครว่า "มัน" น.นพรัตน์ ใช้ "เขา" เมื่อถึงบทที่ตัวละครพูด ว.ณ เมืองลุง จะเปิดว่า กล่าวขึ้น, เอ่ยขึ้น, จึงว่า หรือ กล่าว ส่วน น.นพรัตน์ จะใช้เพียงคำเดียวแทบทุกที่คือ “กล่าวว่า” ตลอด หากพูดถึงความเจ็บปวด ว.ณ เมืองลุงจะว่า "เจ็บปวดอย่างยิ่ง" น.นพรัตน์จะใช้เพียง "เจ็บปวดยิ่ง" และบางแห่งก็สื่อความหมายแตกต่างกันออกไป (น่าเสียดาย ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ ผู้เขียนไม่มีต้นฉบับเรื่องเดียวกันของทั้งสองท่านอยู่ในมือ ไม่สามารถเทียบเคียงให้เห็นชัดเจนได้)

อีกประการ การแปลของ น.นพรัตน์ จะตัดส่วนขยายที่เยิ้นเย่อทิ้งไป สำนวนจึงกระชับอ่านง่ายกว่าของ จำลอง พิศนาค และ ว.ณ เมืองลุง


กล่าวโดยสรุป
สำนวนของ จำลอง พิศนาคะ จัดว่า คลาสสิค เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบสำนวนแบบพงศวดาร

สำนวนของ ว.ณ เมืองลุง มีลีลาแพรวพราว

สำนวนของ น.นพรัตน์ กระชับรัดกุม หึกเหิมห้าวหาญ

น่าเสียดายเหลือเกินที่นักแปลนิยายกำลังภายในเมืองไทยยังเหลือและผูกขาดที่ น.นพรัตน์เพียงผู้เดียว อันที่จริง น.นพรัตน์ ควรสร้างผู้สืบทอดงานแปลนี้ไว้บ้าง

ในขณะที่นิยายกำลังภายในเอง ก็หมุนเวียนแต่เรื่องเก่าๆ มาขายซ้ำ นอกจากหวงอี้แล้ว แทบไม่มีเรื่องใหม่และนักเขียนคนใหม่ออกมาสู่สายตาคอนิยายกำลังภายในชาวไทยเลย

อาจเพราะนิยายกำลังภายในนั้น มีผู้อ่านไม่มากนัก ขายได้ในลักษณะน้ำซึมบ่อทราย กว่าจะหมดก็หลายปี หากจะนำเรื่องใหม่ ของนักเขียนที่ไม่คุ้นหูผู้อ่านมาแปลขาย โอกาสเสี่ยงก็มีมาก (น่าเห็นใจสำนักพิมพ์ที่ผูกขาดลิขสิทธิ์อยู่ในตอนนี้เหมือนกัน)

แต่ถึงอย่างไร นิยายกำลังภายในนั้น ไม่ว่าจะพลิกอ่านสักกี่เที่ยว ก็ยังคงเสน่ห์อันลึกล้ำและดื่มด่ำไม่จืดจาง






Create Date : 17 กันยายน 2552
Last Update : 17 กันยายน 2552 18:34:14 น.
Counter : 5706 Pageviews.

8 comments
  
อ่านแล้วเพลิดเพลินได้ความรู้ดีมาก
โดย: นายแจม วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:10:57:38 น.
  
ผมชอบนิยายกำลังภายในมาก
อ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆ
ผมว่านิยายภายใน เป็นนิยายที่ตอบสนองความต้องการหลายๆ ด้าน แต่ด้านที่สำคัญมากๆ สำหรับผมก็คือ จินตนาการ

แวะเข้ามาอ่านบทความดีๆ ครับ
โดย: แสง สีรุ้ง วันที่: 23 กันยายน 2552 เวลา:20:48:47 น.
  
สบายดีไหมครับคิดถึงครับ
ขอให้มีความสุขครับมากๆ
มีขนมอร่อยๆทาน
ได้ฟังนิทานเพระๆ
ขอบคุณที่มีเรื่องดีๆให้อ่าน
โดย: ปฐพีหอม วันที่: 25 กันยายน 2552 เวลา:18:55:25 น.
  
บรรยายได้ยอกเยี่ยมมากๆครับ

ได้ความรู้ไปอีกโขเลย

ต้องติดตามอ่านบ้างแล้ว
โดย: สุดลึก (สุดลึก ) วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:22:43:00 น.
  
ชอบอ่านที่นักแปลหน้าใหม่แปลเหมือนกนัค่ะ ไม่ออกแนวกำลังภายในนัก เป็นแนวสงครามราชวงศ์
ชอบที่คุณหลินโหม่วแปลนะค่ะ

ส่วนตัวก็นั่งแต่งกึ่งๆกำลังภายใน ผสานสงครามอยู่เหมือนกัน
โดย: midnite-angel วันที่: 14 พฤศจิกายน 2552 เวลา:22:09:13 น.
  
มาชวนไป...เที่ยวงานประเพณีเครื่องเครือบพันปี อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ครับ สะบายดีนะครับผม
โดย: ปฐพีหอม วันที่: 12 เมษายน 2553 เวลา:16:09:15 น.
  
เข้าฤดฝนแล้วรักษาสุขภาพด้วยนะครับผม.............
โดย: ปฐพีหอม วันที่: 3 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:34:16 น.
  
มาทักทายสบายดีนะครับ
โดย: ปฐพีหอม วันที่: 7 มิถุนายน 2553 เวลา:14:27:13 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รวี_ตาวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



กันยายน 2552

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30