ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ
โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ
เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น
คาถาพาหุง คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์



คาถาพาหุง คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
เขียนคาถาพาหุงมาจนครบแล้ว วันนี้มาเก็บตกกันนะครับ ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตเขียนว่า คาถาพาหุง เรียกเป็นทางการว่า ชยมังคลอัฏฐกคาถา อ่านว่า "ชะยะมังคะละอัตถะกะคาถา" แปลว่า "คาถาว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการ อันเป็นมงคลของพระพุทะเจ้า" ที่เรียกกันติดปากว่า "คาถาพาหุง" เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า "พาหุง"

ความเป็นมาของคาถาพาหุงค่อนข้างสับสน บางท่านว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บทสวดมนต์บางบทที่สวดกันแพร่หลายในเมืองไทยเช่น นโมการอัฏฐกคาถา หรือนโมแปดบท พระลังกาสวดไม่ได้ เพราะแต่งที่เมืองไทย ใช้สวดเฉพาะพระไทย (ไม่สากล) เมื่อคาถาพาหุงค่อนข้างจะ "สากล" จึงน่าจะแต่งโดยพระลังกา ว่ากันอย่างนั้น

เหตุผลนี้ฟังดู "หลวม" คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าแต่งที่ลังกาก็ได้ แต่งที่เมืองไทยนี่เองเมื่อแต่งดีและแต่งได้ไพเราะ พระลังกามาคัดลอกไปสวดย่อมเป็นไปได้ ทีอะไรๆ ก็มักจะอ้างลังกา อ้างพม่า ก็ เพราะไม่เชื่อว่า ปราชญ์ไทยจะมีปัญญาแต่งฉันท์ที่ไพเราะอย่างน ี้ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ศาสนาหลายเล่มจึงมอบให้เป็นผลงานของพระลังกาและพระ พม่าไป

มังคลัตถทีปนี ที่ พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่แต่ง ก็ยังว่า เป็นฝีมือของพระพม่าเลยครับ คือกล่าวว่า พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระพม่ามาอยู่ที่ล้านนา อะไรทำนองนี้

บางท่านบอกว่า คาถาพาหุง แต่งที่เมืองไทย และแต่งมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โน่นแน่ะ ท่านผู้นั้นขยายความว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะพระมหาอุปราชา แห่งพม่าแล้วพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประพันธ์คาถาพาหุงนี้ถวายพระเกียรติ ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่คราวนั้นว่าอย่างนั้น

ครั้นถามว่า "มีหลักฐานอะไรไหม" ท่านบอกว่า "เห็นในนิมิตตอนนั่งสมาธิ" เมื่อท่านว่าอย่างนี้ เราทำได้ก็แค่ "ฟัง" ไว้เท่านั้น จะเถียงว่าไม่จริง หรือรับว่าจริงก็คงไม่ได้ มีคำพูดฮิตอยู่ในปัจจุบันคือ "ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่" วางท่าทีอย่างนี้ น่าจะเหมาะกว่ากระมังครับ

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลกเพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร
ท่านอาจารย์กล่าวต่อไปว่า สถานที่ที่ทรงประกอบพระราชพิธีจะเป็นท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) หรือไม่ ไม่แน่ใจ กำลังหาหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ท่านว่าอย่างนั้น

ฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา "ชยมังคลอัฏฐกคาถา" บทแรก (คือบทพาหุง) มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง ข้อความมีดังนี้ครับ

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินาชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง

ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท ธะวิสุทธะศาสดา ตรัสรู้อนุตตะระสะมา ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสสะพหุพา หุวิชาวิชิตขลัง ขี่คีริเมขละประทัง คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์ กละคิดจะรอนราน ขุนมารผจญพยุหะปาน พระสมุททะนองมา
หวังเพื่อผจญวระมุนิน ทะสุชิน(ะ)ราชา พระปราบพหลพยุหะมา ระเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล สุวิมล(ะ)ไพบูลย์ ทานาทิธัมมะวิธิกูล ชนะน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจจะวจนา และนะมามิองค์สาม ขอจงนิกรพละสยาม ชยะสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ พละเดช(ะ)เทียมมาร ขอไทยผจญพิชิตผลาญ อริแม้นมุนินทร.ฯ


เก็บตก บทที่ ๑

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลังอุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมาะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

พากย์บาลีเฉพาะคำว่า ชะยะมังคะลานิ ฝ่ายพระธรรมยุตเปลี่ยนเป็น ชะยะมังคะลัคคัง
ให้เหตุผลว่าเพื่อให้ถูกไวยากรณ์ ผมว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้น ก็ได้ท่านผู้แต่งเองก็ใช่ว่าจะไม่รู้ไวยากรณ์ ท่านคงจงใจใช้อย่างนี้มากกว่า

บางท่านก็สอนว่า ถ้าต้องการสวดให้ตัวเองให้เปลี่ยน ภะวะตุ เต เป็น ภะวะตุ เม นี่ก็ไม่จำเป็นต้อง "เห็นแก่ตัว" ปาน นั้นก็ได้ สวดให้คนอื่นตัวเองก็ได้อยู่ดี


มีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็น อนุสรณ์เหตุการณ์ ครั้งนี้ เรียกว่า "ปางมารวิชัย"(อ่าน "มา-ระ-วิ-ไช"แปลว่า ชนะมาร ถ้าอ่าน "มาน-วิ-ไช" แปลว่า มารชนะ) ชาวบ้านเรียกว่า "ปางสะดุ้งมาร
ที่มาของชื่อ "ปางสะดุ้งมาร" (ถ้าผมจำไม่ผิด) คือครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทะรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย จึงรับสั่งว่า "องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร"

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จำเอาไปเขียนบรรยายพระพุทะรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ใครเข้าไปชมก็ได้เห็นและจดจำกันไปจนแพร่หลาย กว่าสมเด็จฯ จะทรงทราบภายหลังว่าที่พระองค์ตรัสเล่นๆ กลับมีผู้ถือเป็นจริงเป็นจังก็สายเสียแล้ว คนจำได้ติดปากแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย

กระทั่งผู้จัดทำพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังบันทึกไว้เมื่อให้คำจำกัดความของคำมารวิชัยว่า "ผู้มีชัยแก่มาร คือพระพุทธเจ้า เรียกพระพุทธรูปปางชนะมารว่า พระมารวิชัย คือ พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก"

ท่านอาจารย์ "ประสก" แห่งสยามรัฐร้องว่า ไม่เรียก ถ้าอยากเรียกให้เรียกว่า "ปางมารสะดุ้ง" อย่าเรียก "ปางสะดุ้งมาร" !!!

ดร.ไซเลอร์ ผู้สนใจคัมภีร์พระพุทะศาสนาคนหนึ่งถามผมว่าฉากพระพุทะเจ้าผจญมาร ทำไมมีงูมากมาย จิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งเขียนให้พญามารและเสนามารมีงูพันกายบ้าง เลื้อยออกจากปาก ออกจากจมูกบ้าง จากรูหูทั้งสองบ้าง ดูจะเป็น "กองทัพงู" มากกว่ากองทัพมาร ในคัมภีร์ศาสนามีพูดถึงงูบ้างไหม

นึกไม่ออกครับ เห็นแต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น ปฐมสมโพธิสัมภารวิบาก และคัมภีร์ฝ่ายมหายาน คือ ลลิตวิสตระ (ลลิตพิสดาร) มีพูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดไว้

ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ผู้ล่วงลับ เคยบอกผมว่า งูเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส หรือความชั่วร้าย นี้เป็นแนวคิดที่ "สากล" ดังในคัมภีร์ไบเบิล ของคริสต์ซาตานที่มาหลอก อาดัม กับ อีฟใ ห้ละเมิดคำสั่งพระเจ้าก็มาในร่างงู งูกับมาร คือสิ่งเดียวกัน ภาพจิตรกรรมจึงวาดทั้งมารทั้งงู ก็เป็นคำพูดที่น่ารับฟัง
"บางคนหมั่นสวดมนต์ หรือสาธยายข้อธรรมที่ได้เรียนมา และขณะที่สวดมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธินั้น เขาน้อมข้อธรรมมาปฏิบัติจนบรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้"

อง. ปญ์จก. ๒๒/๒๖/๒๒

ทุกครั้งที่กราบไหว้พระปางมารวิชัย ให้รำลึกเสมอว่า กิเลสอันร้ายกาจดุจพญามารและกองทัพอันมหึมา พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้เด็ดขาด เราผู้เป็น "ลูกพระตถาคต" ควรดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระองค์ คือ พยายามต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำเต็มความสามารถแม้ชนะเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังดี ดีกว่าเป็นทาสของมารตลอดกาล

ข้อมูลจากหนังสือ คาถาพาหุง คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต



Create Date : 19 มีนาคม 2551
Last Update : 19 มีนาคม 2551 21:05:57 น. 0 comments
Counter : 1868 Pageviews.

สายน้ำระริน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
19 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สายน้ำระริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.