เส้นค่าเฉลี่ยเกิดขึ้นและพัฒนาต่อยอดกันมาได้อย่างไร, จากใคร และเพื่ออะไร!?

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องอธิบายว่า “เส้นค่าเฉลี่ย” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักของเพื่อนๆนักลงทุนมากแค่ไหน แต่ถ้าถามกลับไปก็แทบไม่น่าเชื่อว่า…มีน้อยคนนักที่รู้ว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้นมา และมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? แล้วใครเป็นคนแรกที่ค้นพบเครื่องมือสำคัญตัวนี้? วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปหาคำตอบพร้อมกันเลยครับ!

รู้จักกับเส้นค่าเฉลี่ย Moving Average กันเสียก่อน!

เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) คือ เครื่องมือที่เกิดจากการหาค่าเฉลี่ยของกลุ่มข้อมูลในช่วงเวลาล่าสุด โดยทั่วไปแล้ว นิยมใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นอนุกรมเวลา (Time Series Analysis) เพื่อช่วยในการดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง และช่วยปรับค่าของข้อมูลให้มีความ Smooth มากยิ่งขึ้น จากการกรองความผันผวนของข้อมูลที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม (Noise) ออกไปนั่นเองครับ

SETMA200

ภาพที่ 1 – เส้นสีส้มแสดงตัวอย่างค่าเฉลี่ยอย่างง่าย (Simple Moving Average) จำนวน 200 วันของ SET Index ตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน

ต้นกำเนิดของเส้นค่าเฉลี่ย Moving Average

หากจะพูดถึงต้นกำเนิดของเส้นค่าเฉลี่ยแล้วล่ะก็…เราคงต้องย้อนเวลากลับไปในปี 1901 ที่ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า … วิธีการคำนวณเส้นค่าเฉลี่ยนั้นเกิดขึ้นมาก่อนชื่อของมันเสียอีกครับ!

Hooker_Yule

ภาพที่ 2 – Reginald Hawthorn Hooker (ซ้าย) และ George Udny Yule (ขวา) สองนักสถิติชื่อดังและเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นที่รู้จักมาถึงทุกวันนี้

โดยในสมัยนั้น Reginald Hawthorn Hooker นักสถิติและนักอุตุนิยมวิทยา ชาวอังกฤษ ได้สร้างวิธีการคำนวณค่าแบบ “ชั่วขณะ” หรือ “Instantaneous averages” เพื่อใช้ในการศึกษาลักษณะรูปแบบของข้อมูลต่างๆ

ซึ่งต่อมา George Udny Yule นักสถิติชื่อดัง รวมถึงเป็นเพื่อนสนิทของ Hooker ได้มีการกล่าวถึงวิธีการคำนวณดังกล่าวในงานวิจัยของเขาบนวารสาร Journal of the Royal Statistical Society ในปี 1909 โดยถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว Yule จะไม่ได้นำเอาวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยในหนังสือของเขา แต่อย่างไรก็ตาม มันกลับกลายเป็นที่รู้จักอีกครั้งผ่านหนังสือชื่อ “The Elements of Statistical Method” ของ Willford I. King ในปี 1912 นั่นเองครับ

Cover_Elements_of_Stat

ภาพที่ 3 – แสดงหน้าปกหนังสือ The Elements of Statistical Method ของนักสถิติเชื้อสายอเมริกัน Willford I. King (ฉบับพิมพ์ใหม่) ที่ได้ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 1912

ในเวลาต่อมา (อีก 20 กว่าปีแหนะ *_*) นักเศรษฐศาสตร์และสถิติชื่อ Harold Wold ได้นำงานวิจัยของ Yule มาประยุกต์ต่อยอด ซึ่งได้ใช้คำว่า “Moving Average” ซึ่งเป็นคำย่อของ “Process of Moving Average” ที่อ้างอิงถึงรูปแบบของกระบวนการสโตคาสติกต่างๆ (Stochastic Process) ในงานวิจัยเรื่อง “A Study in the Analysis of Stationary Time Series” ของเขาในปี 1938 และจากจุดนี้เอง…ที่ทำให้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องครับ

Note:
Stochastic Process คือกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นแบบสุ่มหรือมีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะไปตามกาลเวลา (A stochastic process is a random process evolving with time – ที่มา Wikipedia)

ยุคบุกเบิก…ของเส้นค่าเฉลี่ยในโลกการลงทุน

จากที่เส้นค่าเฉลี่ยเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการทั่วไปในปี 1938 หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีการนำเส้นค่าเฉลี่ยมาใช้ในตลาดหุ้นเช่นเดียวกัน โดยในยุคเริ่มแรกนั้น เราคงต้องย้อนกลับไปพูดถึงบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่ง ในแวดวงการลงทุนอย่างWilliam Peter Hamilton บรรณาธิการรุ่นที่ 4 ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ซึ่งเป็นผู้ติดตามและศึกษาหลักการของทฤษฏีอันโด่งดังอย่าง “ทฤษฎีดาว” (Dow Theory) โดย Hamilton ได้เผยแพร่งานเขียนของเขาที่เป็นประโยชน์มากมายกับนักลงทุนเป็นเวลากว่า 20 ปี รวมถึงปรัชญาและวิธีวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดของ Charles H. Dow ผู้ก่อตั้งทฤษฎีดาวผ่านมุมมองของเขา ซึ่งทำให้ Hamilton เป็นบุคคลแรกๆที่นำหลักการของค่าเฉลี่ยเข้ามาประยุกต์การตลาดหุ้นนั่นเอง

William_Peter_Hamilton_(1867–1929)

ภาพที่ 4 – William Peter Hamilton บรรณาธิการรุ่นที่ 4 ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal และเจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง “The Stock Market Barometer”

โดยต่อมา E. George Schaefer นักลงทุนชื่อดังในสมัยนั้น และเป็นผู้ที่ใช้หลักการของทฤษฎีดาวในการลงทุนในตลาดมากว่า 20 ปี ได้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “How I Helped More than 10,000 Investors to Profit in Stocks” ออกมาในปี 1960 โดย Schaefer ได้มีการพัฒนาเครื่องมือทางเทคนิค ที่ใช้ร่วมกับการหลักการวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดของทฤษฎีดาว อย่างการใช้เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันขึ้นมา (200-day Simple Moving Average) จึงถือว่าได้ Schaefer เป็นผู้บุกเบิกการใช้เส้นค่าเฉลี่ยในตลาด ที่มีผลกระทบในวงกว้างของยุคอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกันครับ (สังเกตุว่าค่า 200 วันของเส้น Moving Average นี่เป็นเหมือน Parameter มาตรฐานของอเมริกันชนเลยทีเดียว เพราะทั้ง Mebane T. Faber และ Paul Tudor Jones ก็ได้พูดถึงค่า Parameter นี้เอาไว้)

RichardDonchian

ภาพที่ 5 – Richard Davoud Donchian บิดาของนักลงทุนตามแนวโน้ม หนึ่งในตำนานแห่ง Wall Street ผู้ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากของโลกการลงทุน ในการเผยแพร่เครื่องมือเส้นค่าเฉลี่ย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีนักลงทุนชื่อดังระดับโลกอีกคนหนึ่ง ที่ได้นำเส้นค่าเฉลี่ยมาสร้างเป็นระบบการลงทุนที่โด่งดัง และยังคงเป็นหนึ่งในระบบการลงทุนต้นแบบมาจนถึงทุกวันนี้อย่าง Richard Davoud Donchian ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งบรรดานักเก็งกำไรตามแนวโน้ม Trend Followers ทั้งหลายอีกด้วย (ระบบ Weekly Rule System 5/20 Moving Average เป็นระบบการลงทุนระบบแรกที่ใช้สัญญาณการซื้อขาย จากการนำเอาเส้นค่าเฉลี่ยสองเส้นมาตัดกัน โดยใช้ค่า Parameter ของระบบเส้นค่าเฉลี่ยที่ 5-20 วันนั่นเองครับ)

โดยจากการที่ในขณะนั้น Donchian นั้นถือเป็นนักลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตำนานแห่ง Wall Street เลยก็ว่าได้ ในปี 1960 เขาจึงได้เริ่มเขียนจดหมายแนะนำการลงทุนโดยใช้หลักการลงทุนตามแนวโน้ม (Trend Following) จากระบบเส้นค่าเฉลี่ย 5-20 วัน จนมันเริ่มกลายเป็นที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมียอดการส่งจดหมายกว่า 10,000 ฉบับในแต่ละสัปดาห์เลยทีเดียว

และนี่คือเรื่องราวจุดเริ่มต้นของเส้นค่าเฉลี่ยในโลกของการลงทุนในยุคแรกๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ากว่าที่ความรู้เกี่ยวกับเส้นค่าเฉลี่ยจากโลกวิชาการ จะถูกถ่ายโอนมายังตลาดหุ้นนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาในการยอมรับกว่าหลายทศวรรษเลยทีเดียว กว่าจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างในปัจจุบันนั่นเองครับ

เส้นค่าเฉลี่ย Moving Average … กับบทบาทสำคัญในการลงทุน

จากประวัติของมันนั้น จะเห็นได้ว่าเส้นค่าเฉลี่ยจึงน่าที่จะเป็นเครื่องมือบ่งชี้หรือ Indicator ที่นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายเทคนิคคอล (Technical Analysis) นำมาใช้ในการวิเคราะห์หุ้นเป็นชิ้นแรกๆเลยก็ว่าได้ เส้นค่าเฉลี่ยจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีความเก่าแก่ชนิด Grand Father เครื่องมือหนึ่ง และมันยังเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกตั้งแต่ในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น โดยในแง่ของการวิเคราะห์แล้ว เส้นค่าเฉลี่ยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญ ที่ใช้ในการดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของราคา, ปริมาณการซื้อขาย หรือแม้กระทั่งข้อมูลปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น ยอดขาย หรือกำไรของบริษัท เป็นต้น

ในบางครั้งเส้นค่าเฉลี่ยก็เปรียบเสมือนการตีเส้นแนวโน้มที่สามารถโค้งงอได้ (Bending Trend Line) เพราะการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของราคาที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง ซึ่งเรานำมาใช้ในการหาจังหวะในการตัดสินใจลงทุน เช่น การใช้การตัดกันของราคาหรือเส้นค่าเฉลี่ย (Crossover) หรือการดูความเส้นของเส้นค่าเฉลี่ย (Slop) เป็นต้น ดังนั้นหากพูดถึงบทบาทสำคัญ ในเรื่องของการลงทุนสำหรับเส้นค่าเฉลี่ยแล้ว ก็คงเป็นเหมือนคุณครูคนแรกๆ ที่สอนให้เรารู้จักโลกแห่งการลงทุนนั่นเองครับ

Donchian 5-20 System on SET Index and Amibroker

ภาพที่ 6 – ระบบการลงทุน Donchian’s Weekly Rule 5/20 ที่ถูกเผยแพร่อย่างแพร่หลายในช่วงปี ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นการชี้วัดสัญญาณการซื้อขายจากเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 20 วัน

บทสรุปของเส้นค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน

ในปัจจุบันเส้นค่าเฉลี่ยเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน, เทคนิคคัล หรือแม้กระทั่งการนำมันมาประยุกต์ใช้สร้างระบบการลงทุนต่างๆ ซึ่งทำให้มีการพัฒนาเส้นค่าเฉลี่ยให้เหมาะกับสภาวะตลาด หรือข้อมูลในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลากหลายชนิดขึ้นไปอีก อาทิเช่น เส้นค่าเฉลี่ย Exponential Moving Average, Weighted Moving Average และอื่นๆอีกมากมายเป็น Collection เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญอาจจะไม่ใช่เรื่องของการหาสูตรการคำนวณเส้นค่าเฉลี่ยหรือ Parameter ที่ดีที่สุด แต่มันอาจจะเป็นการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับ “พฤติกรรมของตลาดนั้นๆ” รวมถึง “ตัวของเรา” ที่สุดมากกว่าก็เป็นได้!!

สุดท้ายแล้วทีมงานหวังว่าเกร็ดความรู้เล็กๆที่เราตั้งใจนำมาฝาก จะพอเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ

หากเพื่อนๆคนไหนมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะสามารถพูดคุยกันได้ทั้งใน Webboard และ Comments ท้ายบทความได้เลยนะครับ

สวัสดีครับ

ทีมงาน SiamQuant

//www.siamquant.com/a-brief-history-of-moving-average/