เกร็ดความทรงจำจากโรงราชรถ


มีโอกาสได้ไปเดินที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เตรียมความพร้อมของตัวเอง ไม่ได้เตรียมกล้องไว้สำหรับถ่ายรูป เลยใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองให้เป็นประโยชน์ อยากเก็บบันทึกเรื่องราวความรู้ที่ได้มืโอกาสสัมผัส และขอเก็บเป็นความทรงจำเพื่อกันลืมเลือน โทรศัพท์ที่ใช้มี 2 เครื่องคือ sumsung k zoom และ vivo x shot สำหรับรูปเซ็ทนี้จะเน้นที่ vivo ค่ะ ปรับแต่งภาพไม่เป็น ตั้งค่ากล้องไม่ค่อยเป็นนะคะ บางรูปอาจจะดูขัดใจต้องขออภัยด้วยค่ะ

เข้าเรื่องโรงราชรถเลยนะคะ ทราบว่าประตูทางออกของโรงราชรถจะปิดตายเอาไว้ มีประตูเล็กๆ สำหรับคนเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อจะนำราชรถออกก็จะพังกำแพงทิ้งค่ะ (แอบมีความคิดอยากให้ปิดไม่ต้องใช้งานไปเลย เพราะถ้าเปิดประตูก็หมายถึงการสูญเสียของแผ่นดินไทย)



พระมหาพิชัยราชรถ

มีนามหมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เป็นมงคลนามตามคติการสร้างรถศึกของอินเดียโบราณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เมื่อปี พ.ศ. 2339 มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดสูง 11.20 เมตร ยาว 18 เมตร กว้าง 4.80 เมตร หนัก 13.70 ตัน ใช้กำลังพลชักลาก 216 คน ถือว่าเป็นราชรถหลักสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมชนก พระราชชนนี พระอัครมเหสี และพระมหาอุปราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นพิเศษ ครั้งสุดท้ายใช้ในการอัญเชิญพระโกศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา ศิริโสภาพัณณวดี ออกพระเมรุท้องสนามหลวง ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555



เวชยันตราชรถ

มีนามหมายถึง รถของพระอินทร์ สร้างราวปี พ.ศ. 2338 คราวเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถทรงบุษบก มีความกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.70 เมตร หนัก 12.25 ตัน สำหรับใช้เป็นราชรถรองในการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในปี พ.ศ. 2339 จากนั้นใช้ในการพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าสืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้มีการใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามราชประเพณี ทั้งนี้ พระเวชยันตราชรถได้อัญเชิญออกใช้ในราชการครั้งล่าสุดเมื่อคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528



เกรินบันไดนาค

สำหรับอัญเชิญพระโกศจากพระยานมาศขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ใช้งานครั้งแรกในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ.2355



พระยานมาศสามลำคาน

เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ ใช้คนหาม 2 ผลัด ผลัดล่ะ 60 คน ใช้อัญเชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ
ณ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และใช้ในการเชิญพระโกศเวียนรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ
(เนื่องจากพระมหาพิชัยราชรถมีขนาดใหญ่ ใช้คนจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเวียนรอบพระเมรุ)









ราชรถน้อย

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2339 พร้อมพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ มีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทั้งสององค์ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีน้ำหนัก 3.85 ตันและ 3.65 ตัน ราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถองค์ที่สอง เป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ จัดเป็นราชรถตาม จากนั้นเป็นราชรถน้อยอีกองค์หนึ่งใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับเพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกเลิกประเพณี โยงและโปรย ในพระราชพิธีพระบรมศพ ปัจจุบันจึงยังคงใช้ราชรถน้อยเป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำ



แบบจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



พระโกศ

พระโกศที่ทรงพระบรมศพและพระศพในลักษณะนั่ง มี 2 ชั้น ในสมัยอยุธยาเรียกพระโกศชั้นนอกว่า "พระลอง" และชั้นในเรียกว่า "พระโกศ" สมัยรัตนโกสินทร์เรียกกลับกัน คือ ชั้นนอกเรียก "พระโกศ" ชั้นในเรียก "พระลอง" หรือ "พระลองใน" ชั้นในเป็นโลหะทรงกระบอกไม่มีลวดลาย มักปิดทองทึบ ชั้นนอกตกแต่งลวดลายสวยงามสำหรับประกอบหุ้มชั้นในให้มิดชิด ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายหรือบุทองคำแท้ก็มี ลงรักปิดทองแกมแก้วก็มี เป็นลายกระหนกฝังมุกก็มี ส่วนฝาแหลมสูงทำยอดทรงมงกุฎ ทรงยอดมณฑปหรือยอดปราสาท บางครั้งมีเครื่องตกแต่งเพิ่มเติมคือพุ่มข้าวบิณฑ์และดอกไม้ไหวประดับที่ยอด เฟื่องอุบะประดับรอบฝา และดอกไม้เพชรหรือดอกไม้เอวประดับที่เอวพระโกศ ฐานพระโกศที่รองรับองค์พระโกศทำคล้ายฐานสิงห์หรือฐานบั





พระจิตกาธาน งานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้า เพชรรัตนราชสุดา ศิริโสภาพัณณวดี
จิตกาธานคือเชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ คำว่าจิตกาธานใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยฐานเผารูปสี่เหลี่ยมภายในใส่เสมอปากฐานสำหรับวางฟืน เรียกว่า "เรือนไฟ" เหนือเรือนไฟเป็นตารางเผา มีเสาเหล็กสี่เสารองรับตารางเผาและชั้นเรือนยอด ตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เป็นเครื่องกันไฟและเครื่องประดับยศ



พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนน

สร้างด้วยไม้จันทน์หอม ฉลุลายซ้อนไม้ มีลัษณะพิเศษต่างจากแบบแผนประเพณีที่มีมาแต่เดิม คือจัดสร้างฐานพระโกศทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รองรับองค์ประโกศทรงแปดเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง รูปทรงคล้ายกับหีบศพของคนสามัญ พระโกศจันทน์สร้างโดยช่างสิบหมู่และส่วนจิตรกรรมและศิลปะประยุกต์ กรมศิลปากรใช้เวลาในการจัดสร้างทั้งหมด 3 เดือนเศษ



พระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

กรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่สร้างพระโกศจันทน์ โดยได้ต้นแบบมาจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี



พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7



หีบกุดั่นลายมังกร



หีบกุดั่นลายยา



Create Date : 29 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2559 22:39:07 น.
Counter : 3584 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ดอกไม้ไกลบ้าน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



พฤศจิกายน 2559

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30