สิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่รอดได้ในโลกนี้ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวได้ดีที่สุด

Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
จากมินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ถึงกรณี มาบตาพุด ไทย(ประวัติศาสตร์คงไม่ซ้ำรอย)

มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย







ทางน้ำที่บริษัทชิสโสะปล่อยน้ำเสียลงอ่าวมินามาตะโดยตรงในอดีต


มุมเดียวกันในปัจจุบัน


มองจากมุมสูงทางทิศตะวันออก มินามาตะ (Minamata) คือ เมืองที่มีขนาดกะทัดรัดและสมบูรณ์แบบ ขณะที่ด้านหนึ่งเปิดโล่งออกสู่ทะเล ด้านที่เหลือก็มีแนวเทือกเขาเขียวโอบล้อมไว้ บนที่ราบผืนย่อมนั้นมีแม่น้ำไหลหล่อเลี้ยง เชื่อมต่อระหว่างภูเขากับทะเล ที่นี่ยังมีน้ำตกใหญ่และบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ สภาพทางธรรมชาติสวยงามและทรัพยากรที่ร่ำรวย ในขณะที่วิถีชีวิตของผู้คนก็เรียบง่าย ทั้งเมืองมีประชากรเพียง 3-40,000 คนเท่านั้น บ้านเมืองจึงโปร่งโล่ง ไม่แออัด และไม่อึกทึกจอแจ สภาพของเมืองโดยทั่วไปเป็นบรรยากาศแห่งความสบายๆ สงบ และสะอาด

ที่ตั้งของเมืองมินามาตะคือเกาะคิวชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น อ่าวมินามาตะเป็นส่วนหนึ่งของทะเลชิรานุย (Shiranui Sea) ทะเลตอนในที่โอบอยู่ด้วยเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ คือ เกาะคิวชูและเกาะอะมาคูซะ ทะเลชิรานุยมีขนาดพอๆ กับอ่าวโตเกียว หรือประมาณ 1,200 ตร. กม. มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 70 กิโลเมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 10 กิโลเมตร มีความลึกไม่มาก บริเวณที่ลึกสุดของทะเลประมาณ 50 เมตร

ทะเลชิรานุย หมายถึง “ทะเล แห่งลูกไฟปริศนา” เล่ากันว่า ชื่อของทะเลตั้งตามปรากฏการณ์ธรรมชาติของท้องถิ่นนี้ ที่จะมีลูกไฟจำนวนมากลอยจากท้องทะเลขึ้นสู่ฟ้าในช่วงเดือนเดียวกันของทุกปี เป็นเช่นนั้นนานมาจากอดีตจนปัจจุบัน โดยไม่มีใครรู้เลยว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติอันลี้ลับนี้เกิดจากอะไร

ทั้ง ทะเลชิรานุยและอ่าวมินามาตะเป็นทะเลที่เงียบสงบ สวยงาม อุดมด้วยปลาและสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ชาวประมงใช้เครื่องมือมากมายจับปลาที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ไม่ต้องมีเครื่องมือก็ยังทำมาหากินได้ ดังที่ปรากฏว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่จับหอยบนหาดและเก็บสาหร่ายทะเลเป็น อาชีพหลัก ในอดีตก่อนที่จะเกิดปัญหาโด่งดังระดับโลก แถบนี้จึงนับเป็นเขตอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญเขตหนึ่งของญี่ปุ่น

ใน ยามนั้น โดยรอบทะเลชิรานุยมีประชากรอาศัยอยู่ราว 200,000 คน กระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง เฉพาะในเมืองมินามาตะช่วงปี 2503 นั้นมีประชากรประมาณ 48,000 คน มากกว่าประชากรที่มีในปัจจุบันเสียอีก

มอง มินามาตะในวันนี้ สำหรับคนที่ไม่รับรู้ต่อเรื่องราวของโรคร้ายที่มีชื่อเดียวกับเมืองก็คงไม่ ต้องรู้สึกสะท้อนใจต่อความจริงที่ว่า ในความสวยงามสมบูรณ์แบบนั้นซ่อนความทุกข์ระทมอย่างสาหัสของผู้คนทั้งอดีตและ ปัจจุบันนับหมื่นนับพันชีวิตเอาไว้

แต่ สำหรับเราที่ใช้เวลาสองเดือนกับการรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับโรคมินามาตะ ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้ป่วย พบปะและแลกเปลี่ยนกับผู้คนมากมายที่ร่วมขบวนการต่อสู้ เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกิจกรรมหลากหลายกับกลุ่มผู้ป่วยและผู้สนับสนุนช่วยเหลือทั้งหลาย ความสะเทือนใจจู่โจมหลายครั้ง แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ใช่มีเพียงด้านโศกเศร้าร้าวราน ยังมีด้านของความซาบซึ้ง ชื่นชม และอิ่มเอมรวมอยู่ด้วย เพราะแม้ว่าผู้ป่วยหลายคนอยู่กับความทุกข์มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว โดยที่สำหรับหลายคนก็คือตลอดชีวิต แต่พวกเขาก็ยังคงต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกับบรรดาผู้สนับสนุนช่วยเหลือที่ยังคงยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม ด้วยความมุ่งหวังร่วมกันที่จะให้ที่นี่เป็นแห่งสุดท้ายของโศกนาฏกรรมโลกที่ เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

การค้นพบ “โรคประหลาด”

ย้อนไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน โยชิมิสึ ทานากะ ช่างทำเรือประจำหมู่บ้านสึคิวระ (Tsukiura) อาศัยอยู่กับครอบครัวอย่างปกติสุข สึคิวระเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ในเมืองมินามาตะ บ้านของเขาหันหน้าสู่ทะเลชิรานุยอันสวยงามและสงบ

ทา นากะมีลูกทั้งหมด 6 คน ลูกสาวคนที่ห้าคือชิซุโกะ ขณะนั้นอายุประมาณ 6 ขวบ และลูกสาวคนสุดท้องชื่อจิตสึโกะ อายุประมาณ 3 ขวบ เด็กทั้งสองชอบเล่นด้วยกันและเก็บหอยบนหาดทรายหน้าบ้านเป็นประจำ ทั้งคู่เป็นเด็กน่ารัก ฉลาด และแข็งแรงดี

แต่แล้วในวันที่ 2 เมษายน 2499 ชิ ซุโกะเริ่มมีอาการผิดปกติ นั่นคือมองเห็นสิ่งต่างๆ พร่าเลือน จับตะเกียบไม่อยู่ เดินและพูดได้ลำบาก และร่างกายเริ่มชักกระตุก พ่อแม่พาเธอไปหาหมอหลายราย แต่ก็ไม่มีหมอคนไหนรู้ว่าหนูน้อยเป็นโรคอะไร ในที่สุดเธอถูกนำส่งแผนกกุมารเวชที่โรงพยาบาลของบริษัทชินนิฮอนชิสโสะฮิ เรียวคาบุชิคิไคชะ หรือ New Japan Nitrogenous Fertilizer Inc. ซึ่งภายหลังในปี 2507 บริษัทดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชิสโสะ

ต่อ มาในวันที่ 29 เมษายน จิตสึโกะก็เกิดอาการแบบเดียวกัน จนพี่สาวต้องแบกเด็กน้อยขึ้นหลังไปโรงพยาบาลชิสโสะอีกคน เธอเป็นเด็กโตเกินวัย แต่ตอนนี้กลับนั่งไม่ได้ กินอาหารไม่ได้และพูดไม่ได้ ทุกคนในครอบครัวตกใจและไม่สามารถทำใจยอมรับ เฝ้าร้องไห้อยู่ที่โรงพยาบาล


ภาพจิตสึโกะ ทานากะป่วยด้วยโรคมินามาตะเมื่ออายุ 3 ขวบ เธอและพี่สาวเป็นผู้ป่วยสองคนแรกที่ถูกค้นพบ พี่สาวเสียชีวิตเมื่ออายุ 8 ขวบ ส่วนเธอสามารถมีชีวิตรอดมาได้จนปัจจุบัน ในสภาพพิการ



แพทย์ ที่รักษาเด็กทั้งสองคนเริ่มเกิดความตระหนกยิ่งขึ้นเมื่อรับรู้จากแม่ของพวก เธอว่า เด็กผู้หญิงวัย 5 ขวบ 4 เดือนอีกคนที่เป็นเพื่อนบ้านถัดไปก็ป่วยแบบเดียวกัน คือ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ และใช้มือไม่ได้เหมือนเดิม แพทย์ที่โรงพยาบาลจึงออกสำรวจผู้ป่วยแบบบ้านต่อบ้านจนกระทั่งพบเด็กที่มี อาการป่วยในลักษณะเดียวกันถึง 8 คน อาการหลักที่สำคัญก็คือ มีการอักเสบหรือบวมบริเวณสมอง หรือสมองถูกทำลายเนื่องจากความผิดปกติอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบบประสาท ส่วนกลาง

นพ. ฮาจิเมะ โฮโซคาวา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชิสโสะในขณะนั้นได้จัดทำรายงานถึงสำนักงานสาธารณสุขของ เมืองมินามาตะเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า “เกิดโรคระบาดที่ไม่ทราบชื่อขึ้นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการต่อระบบประสาทส่วนกลาง”

ในเวลาต่อมาจึงถือว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2499 เป็นวันที่ค้นพบโรคมินามาตะอย่างเป็นทางการ

สำหรับ อาการของชิซุโกะ ตามที่แพทย์ผู้รักษาลงบันทึกความเห็นไว้ในรายงานการรักษาตอนหนึ่งระบุว่า มีลักษณะของเด็กขาดสารอาหารและมีอาการแบบวิกลจริตอย่างอ่อนๆ มีการกรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้างเล็กน้อย ลิ้นแห้ง แต่ไม่พบความผิดปกติภายในอย่างอื่น แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการกระตุกตัวแข็งทั้งตัวเป็นบางครั้ง สายตามองได้ในมุมแคบลง ยิ่งผ่านไปหลายวันอาการเหล่านี้ยิ่งหนักมากขึ้น จนกระทั่งแขนและขาบิดงออย่างรุนแรง

ใน ที่สุดชิซุโกะเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2502 ขณะอายุได้ 8 ขวบกับ 1 เดือน ส่วนจิตสึโกะสามารถต่อสู้กับโรคร้ายจนมีชีวิตรอดถึงปัจจุบัน แต่ก็อยู่ในสภาพพิการจากโรคแปลกประหลาดดังกล่าว



ศ. นพ. ฮาราดะค้นพบเด็กจำนวนมากป่วยด้วยโรคมินามาตะมาแต่กำเนิด (Congenital Minamata Disease) ขณะที่กำลังค้นคว้าหาความสัมพันธ์ของมารดาที่ตั้งครรภ์กับทารกที่เกิดมา พิการด้วยโรคนี้ และพบว่ามีการส่งผ่านสารปรอทที่สะสมอยู่ในสายรกจากแม่สู่ลูก ทำให้สมองส่วนกลางของเด็กอ่อนในครรภ์ถูกทำลายอย่างรุนแรง (ชิโนบุ ซาโคโมโต เป็นเด็กคนที่ 5 นับจากซ้าย) ภาพนี้ถ่ายโดย ศ.นพ. ฮาราดะ เมื่อปี 2503


การค้นหาสาเหตุในท่ามกลางการปกปิด

ภายหลังจากข่าวการระบาดของโรคประหลาดแพร่สะพัดออกไป สมาคมแพทย์แห่งมินามาตะจึงตั้งคณะกรรมการแพทย์เฉพาะกิจขึ้นมาหนึ่งชุดเรียกว่า “คณะกรรมการการรับมือโรคประหลาดของมินามาตะ” โดย ระดมแพทย์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขมินามาตะ โรงพยาบาลประจำโรงงานของบริษัทชิสโสะ และโรงพยาบาลประจำเมือง

แล้ว ในวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2499 นั้นเองแพทย์ชุดนี้ก็ออกตรวจสอบพื้นที่ที่มีข่าวว่าโรคระบาด ผู้ป่วยที่ค้นพบในระยะแรกล้วนเป็นเด็กเล็กทั้งสิ้น ทำให้เข้าใจว่าเกิดโรคโปลิโอระบาด แต่ในเวลาไม่นานก็ค้นพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย

นพ. โฮโซคาวา ซึ่งร่วมอยู่ในคณะแพทย์ชุดนี้จึงเริ่มย้อนนึกได้ถึงผู้ป่วยบางรายที่เขาเคย รักษาเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วโดยไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้ ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอาการแบบเดียวกัน นั่นคือ อาการผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง แขนและขาสูญเสียความรู้สึก ปวดศีรษะ พูดและเดินได้ยากลำบาก

ใน เดือนต่อมา คณะกรรมการแพทย์ค้นพบผู้ป่วยอีกหลายรายในพื้นที่เล็กๆ จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นโรคติดต่อร้ายแรง จากคำเรียกว่า “โรคประหลาด” จึงแปรเปลี่ยนเป็น “โรคติดต่อ” ซึ่ง ส่งผลในทางทำร้ายจิตใจผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากคนจำนวนมากพากันรังเกียจและกลัว เด็กทั้งหมดที่ป่วยด้วยโรคประหลาดถูกแยกไปอยู่ยังหอผู้ป่วยที่ห่างออกไป จากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป พร้อมทั้งมีการพ่นยาฆ่าเชื้อที่บ้านด้วย

ด้วย ความคลุมเครือและความรุนแรงของปัญหา กลุ่มแพทย์ในมินามาตะชุดนี้จึงติดต่อคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคุมาโมโต เพื่อขอความช่วยเหลือในการศึกษาวิจัยค้นหาสาเหตุของโรค ในวันที่ 24 สิงหาคม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตจึงแต่งตั้ง “กลุ่มแพทย์เพื่อศึกษาวิจัยโรคมินามาตะ” ขึ้น ประกอบด้วยแพทย์จากสาขาต่างๆ

แพทย์ กลุ่มนี้พยายามค้นคว้าหาสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งเก็บตัวอย่างปลาและหอยจากทะเลมาวิเคราะห์ เก็บเครื่องปรุงและเครื่องประกอบอาหาร เช่น ซอสถั่วเหลือง ทำการชันสูตรศพ ฯลฯ โดยในระหว่างนั้นก็มีผู้ป่วยรายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่บางรายก็เสียชีวิตไป

แม้ กลุ่มแพทย์มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นแล้วว่า โรคที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับน้ำเสียจากโรงงานของบริษัทชิสโสะอย่างแน่ นอน เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์น้ำเสียและกากตะกอนที่เก็บจากจุดระบายและในอ่าว มินามาตะ พบโลหะหนักหลายชนิด เช่น แมงกานีส ตะกั่ว ธัลเลียม เซเลเนียม แต่คณะแพทย์ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สารพิษตัวไหนคือสาระสำคัญที่เป็นต้นเหตุของโรค เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือล่วงรู้ได้ว่า โรงงานผลิตอะไรและมีกระบวนการผลิตอย่างไร ในขณะที่ทางโรงงานชิสโสะก็ปิดข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับสุดยอด

ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตจึงได้ข้อสรุปและเรียกโรคนี้ว่า “โรคมินามาตะ” โดยอธิบายว่าเป็นโรคที่เกิดจาก methyl mercury อัน เป็นสารประกอบอินทรีย์ของปรอท ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานของบริษัทชิสโสะระบายทิ้งลงสู่อ่าว ปริมาณปรอทที่สูงนั้นพบได้ตลอดชายทะเลชิรานุย โดยเฉพาะในเขตมินามาตะ สารพิษเหล่านั้นได้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาและหอยที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายและ รับประทาน

ใน วันที่ 21 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง นพ. โฮโซคาวา ก็เริ่มต้นทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรค ด้วยการให้อาหารที่เจือปนน้ำเสียของโรงงานแก่แมวจำนวนหนึ่งทุกๆ วัน มีแมวตัวหนึ่งที่ได้รับอาหารปนน้ำเสียจากส่วนที่ผลิตกรดอะเซติกในปริมาณ 20 กรัมต่อวัน แมวตัวนี้เรียกกันในเวลาต่อมาตามรหัสที่ใช้ในการทดลองว่า “แมวหมายเลข 400”

ผ่าน ไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง เจ้าแมวหมายเลข 400 ก็แสดงกลุ่มอาการแบบเดียวกับโรคมินามาตะออกมา จากการศึกษาทางพยาธิวิทยาพบว่า เซลล์สมองส่วนกลางบางส่วนของแมวถูกทำลายไปและบางส่วนมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งยังไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน

นพ. โฮโซคาวาได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อวิเคราะห์ต่อ แต่เขามารู้ภายหลังว่าข้อมูลที่ส่งไปนั้นสูญหาย ขณะที่รายงานที่ส่งให้ฝ่ายบริหารของบริษัทชิสโสะก็ถูกเก็บเป็นความลับ อีกทั้งในเวลาต่อมาทางบริษัทยังสั่งให้ยกเลิกการทดลองนี้ พร้อมกับมีคำสั่งไม่ให้นักวิจัยที่ล่วงรู้ผลการศึกษาเปิดเผยเรื่องนี้ออกไป แม้ไม่นานต่อมา นพ. โฮโซคาวาจะเขาเกษียณอายุและออกจากโรงพยาบาลชิสโสะไปแล้วก็ยังคงเก็บงำเรื่อง นี้ไว้

อย่าง ไรก็ดี ในที่สุดผลการทดลองดังกล่าวก็ได้รับการเปิดเผยออกมา โดย นพ. โฮโซคาวาเองเป็นผู้ให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อศาลในคดีที่ผู้ป่วย ฟ้องบริษัท ทั้งที่กำลังนอนป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่บนเตียงของโรงพยาบาล วันนั้นคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2513 หรือประมาณ 11 ปีหลังจากการทดลอง แล้วเพียง 3 เดือนต่อมา นพ. โฮโซคาวาก็ลาจากโลกนี้ไป

ศักดิ์ศรีของวิชาการ

เมื่อ ถูกชี้ว่าเป็นต้นเหตุ บรรดาผู้บริหารของบริษัทชิสโสะทั้งประธานบริษัทและผู้จัดการโรงงานต่างก็ออก มาปฏิเสธ โดยยืนยันว่า โรงงานของชิสโสะไม่ได้ทำให้เกิดโรค และยังอ้างว่าสารพิษที่เจือปนออกมาย่อมละลายไปหมด

เพื่อ ที่จะคัดค้านทฤษฎีว่าด้วยพิษจากสารประกอบอินทรีย์ของปรอทที่คณะแพทย์จาก มหาวิทยาลัยคุมาโมโตสรุปออกมา ทางบริษัทร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเคมีแห่งญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินจ้างนักวิทยา ศาสตร์หลายคนคินค้นทฤษฎีอื่นๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้

หนึ่ง ในนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาคัดง้างคือ ศ. คิยูระ ไรซาคุ วิศวกรเคมีดังจากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว เขาระบุว่า ปลาในมินามาตะนั้นปนเปื้อนปรอทน้อยกว่าปลาบริเวณอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังเบี่ยงเบนให้คนคล้อยตามว่า สาเหตุของโรคน่าจะเกิดจากสารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจน (amines) ที่เกิดจากปลาเน่า

อีก คนคือ ศ. ทามิยะ ทาเคียว แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่นด้วย ศาสตราจารย์วัยเกษียณผู้นี้ตั้งคณะกรรมการชุดทามิยะขึ้นในสมาคมอุตสาหกรรม เคมีแห่งญี่ปุ่น เพื่อหาทางทำลายความน่าเชื่อถือของทฤษฎีเรื่องพิษจากสารประกอบอินทรีย์ของ ปรอทโดยตรง นอกจากนั้นยังมีโอชิมา ทาเคจิ ประธานสมาคมเคมีญี่ปุ่น ซึ่งได้พิมพ์เอกสารออกเผยแพร่เพื่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคมินามาตะเกิดจากวัตถุระเบิดจำนวนมากที่ทางกองทัพญี่ปุ่นได้แอบ ขนไปทิ้งไว้ในบริเวณอ่าวมินามาตะ แม้ว่าในข้อเท็จจริงไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในทะเลแถบนั้นก็ตาม

อย่าง ไรก็ดี ในอีกทางหนึ่งก็มีนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ออกมาสนับสนุนทฤษฎีของคณะแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย คุมาโมโต รวมทั้งชี้ว่าชิสโสะเป็นสาเหตุของโรคมินามาตะ ทั้งนี้หนึ่งในแรงสนับสนุนที่มีน้ำหนักนั้นมาจาก ศ. อิรุคายามา ผู้ซึ่งเก็บตะกอนจากปลายท่อของโรงงานไปตรวจเมื่อปี 2503 จากนั้นจึงได้แถลงผลการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2506 ว่าพบ methyl mercury ปนอยู่จริงในปริมาณสูง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการสะสมของสารปรอทในเส้มผมของผู้ป่วย ซึ่งค่าสูงสุดที่พบนั้นสูงถึง 705 ppm ส่วนค่าสูงสุดที่พบในคนที่มีสุขภาพปกติคือ 191 ppm เทียบกับคนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่มินามาตะมีค่าเฉลี่ย 4.42 ppm ขณะเดียวกันก็มีการตรวจพบสารปรอทสะสมในปลาและหอยจากอ่าวมินามาตะอยู่ในช่วง 20-40 ppm ในขณะที่ค่ามาตรฐานของสารปรอทที่กฎหมายญี่ปุ่นยอมให้มีในสิ่งแวดล้อมคือไม่เกิน 1 ppm

ท่าม กลางหลักฐานมากมายนี้ ในที่สุดรัฐบาลจึงยอมรับออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2511 ว่าโรคมินามาตะเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษ พร้อมทั้งมีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของโรค โดยโซโนดะ ซูนาโอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ประกาศในนามรัฐบาลว่า “โรค มินามาตะในจังหวัดคุมาโมโตเกิดจาก methyl mercury ซึ่งเกิดขึ้นจากโรงงานผลิต acetaldehyde acetic acid ของบริษัทชิสโสะในมินามาตะ และโรคมินามาตะในนีกะตะเกิดจากน้ำเสียที่ปนเปื้อน methyl mercury ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต acetaldehyde ในโรงงานของโชวะ เดงโกะคาโนเซะ”

แต่พร้อมกันนี้ก็มีการระบุด้วยว่า มลพิษที่เกิดขึ้นนั้นจำกัดวงอยู่เฉพาะที่อ่าวมินามาตะ และเครื่องบำบัดน้ำเสียของโรงงานสามารถบำบัด methyl mercury ได้ โดยที่หลังจากปี 2503 เป็นต้นมาไม่ปรากฏว่ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ให้ถือว่าข้อตกลงการจ่ายเงินทำขวัญเป็นการตกลงนอกศาลที่ถูกต้องตาม กฎหมาย

การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรายงานการเกิดโรคอย่างเป็นทางการแล้วถึง 12 ปี

ความฉ้อฉลและกลลวง

ภาย หลังการออกมายอมรับของรัฐบาล เอกาชิระ ยูตาคะ ประธานบริษัทชิสโสะจึงได้ออกมากล่าวขอโทษต่อผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังเดินทางไปเยี่ยมตามบ้าน พร้อมกับรับปากที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ป่วย ทำให้แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นมาก แต่ผลที่ปรากฏในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า คำขอโทษนั้นเป็นเพียงลมปากและการเจรจาไม่สามารถนำพาไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรม ได้

แท้ที่จริง ชาวมินามาตะต้องต่อสู้กับบริษัทชิสโสะมาก่อนการค้นพบโรคเสียด้วยซ้ำ เพราะนับตั้งแต่ทางบริษัท Nihon Carbide Company ตั้ง โรงงานเสร็จสิ้นในปี 2451 ต่อเนื่องด้วยการขยายกิจการเรื่อยมา น้ำเสียของโรงงานก็กลายเป็นมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้ชาวประมงต้องเดือดร้อนและตื่นตัวต่อปัญหาเป็นกลุ่มแรก

ในช่วงปี 2468 – 2469 กิจการ ประมงในเมืองมินามาตะเสียหายอย่างหนัก ทางสหกรณ์ประมงจึงยื่นเรื่องร้องเรียนถึงฝ่ายโรงงาน ซึ่งทางบริษัทยอมจ่ายเงินเป็นค่าปลอบขวัญให้ แต่มีเงื่อนไขว่า ห้ามมีการร้องเรียนเข้ามาอีก

แต่ แล้วในปี 2486 ปัญหามลพิษที่ก่อความเสียหายแก่กิจกรรมประมงก็ลุกลามขึ้นมาอีก การเจรจาและทำสัญญาจ่ายเงินชดเชยระหว่างบริษัทและสหกรณ์ประมงจึงเกิดขึ้นอีก ครั้ง ครั้งนี้ทางบริษัทยินยอมจ่ายเงินจำนวน 152,500 เยนเป็นค่าชดเชยความเสียหายทั้งที่เกิดขึ้นไปแล้วและที่อาจจะเกิดขึ้นอีกใน อนาคตจากน้ำเสียของโรงงานและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ

ท่าม กลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในทะเลลดน้อยลงอย่างผิดปกติ ในปี 2497 ทางบริษัทก็ได้ขอซื้อสิทธิการทำประมงในแถบฮาจิมังเพื่อถมทะเล สหกรณ์ชาวประมงซึ่งตั้งขึ้นใหม่ก่อนหน้านั้น 5 ปี แทนชุดเดิมที่ยุบไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเรียกเงินจำนวน 500,000 เยนเป็นค่าชดเชยความเสียหายสำหรับอดีตและอนาคตที่จะเกิดขึ้น

จากนั้นมาการจับปลาในทะเลบริเวณนี้ก็ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ รายได้ของชาวประมงลดลงไปอย่างมาก แต่พวกเขาก็อดทนรักษาสัญญา

กระทั่ง ในช่วงปลายปี 2502 หลังจากที่คณะแพทย์จากคุมาโมโตชี้ชัดออกมาแล้วว่า น้ำเสียจากโรงงานที่ปล่อยลงสู่อ่าวมินามาตะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรค สหกรณ์ประมงซึ่งมีสมาชิกจากชุมชนประมงริมฝั่งทะเลชิรานุยจึงร่วมกันเรียก ร้องให้ทางโรงงานปิดทางระบายน้ำลงอ่าว แต่โรงงานกลับปฏิเสธที่จะเจรจา ทำให้ความอดกลั้นของชาวประมงถึงขีดสุด ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ชาวประมงกว่า 4,000 คนจึงพังประตูโรงงานเข้าไป ฝ่ายบริษัทได้ขอระดมกำลังตำรวจปราบจลาจลเข้ามาปราบปราม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชาวประมงถูกจับไปกว่าร้อยคนและถูกตัดสินว่ากระทำผิด ข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินของโรงงาน ในที่สุดกลุ่มประมงนี้ก็ถูกบีบให้จำยอมรับเงินค่าชดเชยความเสียหายที่เกิด กับกิจการประมงในอัตราต่ำ หลายคนกลายเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะในเวลาต่อมา

ใน เดือนถัดมา กลุ่มผู้ป่วยนำโดยสมาคมช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยโรคมินามาตะ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2501 พากันไปนั่งชุมนุมประท้วงหน้าประตูทางเข้าโรงงานเพื่อเรียกร้องเงินชดเชย ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น การประท้วงของผู้ป่วยเป็นไปอย่างโดดเดี่ยว ไร้การสนับสนุนช่วยเหลือไม่ว่าจากสหกรณ์ประมง คนงาน หรือคนทั่วไป

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง กลไกการรับรองผู้ป่วยก็ถูกพัฒนาขึ้น โดยในวันที่ 25 ธันวาคม รัฐบาลได้ตั้งสภาเพื่อการรับรองผู้ป่วยโรคมินามาตะ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและลงมติให้การรับรองผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ สภาชุดนี้ซึ่งมีคณะกรรมการที่ล้วนเป็นข้าราชการทั้งหมด 8 คน จึงกลายเป็นผู้ผูกขาดการชี้ขาดว่า ใครเป็นผู้ป่วยหรือไม่เป็น

นพ. มาซาซูมิ ฮาราดะ หนึ่งในคณะกรรมการวิจัยโรคประหลาดที่มินามาตะซึ่งเป็นคณะแพทย์ที่ทำการสอบ สวนและสืบหาสาเหตุของโรคนี้มาตั้งแต่ต้น วิจารณ์สภาชุดนี้ว่า เสมือนเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัทชิสโสะที่คอยทำหน้าที่กลั่นกรองว่าผู้ ป่วยคนไหนมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทบ้าง

หลังสภาดังกล่าวจัดตั้งขึ้นได้เพียง 5 วัน คณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดคุมาโมโตก็เข้ามาไกล่เกลี่ยให้กลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับ “เงินทำขวัญ” ที่ ทางโรงงานยินดีจ่ายให้ ภายใต้เงื่อนไขที่ติดมากับสัญญาว่า “ในอนาคตหากมีการพิสูจน์ว่าน้ำเสียของโรงงานเป็นต้นเหตุของปัญหา จะต้องไม่มีการเรียกร้องค่าชดเชยใดๆ อีก”

ข้อ ตกลงนี้ทำให้ผู้ป่วยมินามาตะหยุดเคลื่อนไหวในปีถัดๆ มา ส่วนโรงงานยังคงปล่อยน้ำเสียตามเดิม และการเจรจายอมความลักษณะนี้กลายเป็นวิธีการทรงประสิทธิภาพที่โรงงานนิยมใช้ ในเวลาต่อๆ มา

นอก เหนือจากจัดการกับการประท้วงได้ราบคาบ ในช่วงไล่เลี่ยกันนี้ ชิสโสะยังได้ตอบสนองต่อปัญหาโดยการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย ซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 19 ธันวาคม ในการจัดงานเปิดตัวอุปกรณ์ดังกล่าว ประธานบริษัทชิสโสะได้แสดงการดื่มน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดนั้นต่อหน้าแขก ทั้งหมด อันมีผู้ว่าราชการจังหวัดรวมอยู่ด้วย

ใน เวลานั้นไม่มีใครรู้ความจริงว่า เครื่องดังกล่าวยังมิได้เปิดใช้การ น้ำที่ประธานบริษัทดื่มเป็นน้ำสะอาดที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการผลิตใดๆ ของโรงงาน แต่กว่าที่ความจริงข้อนี้จะปรากฏก็ใช้เวลาถึง 10 ปี เมื่อมีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับโรงมินามาตะที่เมืองนีกะตะ และผู้บริหารของบริษัทที่ก่อมลพิษให้การต่อศาลว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทชิสโสะเคยบอกกับเขาว่า ระบบบำบัดน้ำเสียที่ติดตั้งขึ้นนั้นไม่สามารถจำกัด methyl mercury ได้

การถูกผลักให้สู้

การ ตกลงรับข้อเสนอของโรงงานเมื่อช่วงสิ้นปี 2502 ทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยต่างอยู่ในความเงียบ พวกเขาไม่ประท้วงหรือออกมาเรียกร้องอะไรอีกเลย แม้จะไม่พอใจที่บริษัทไม่ได้จริงใจในการให้ความช่วยเหลือตามข้อตกลง ในขณะที่โรงงานยังคงปล่อยน้ำเสียตามเดิม

ยิ่ง คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคุมาโมโตประกาศในปีถัดมาว่า โรคมินามาตะหยุดระบาดแล้ว โดยที่แพทย์ต่างๆ ก็ยอมรับข้อสรุปนี้ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยก็ลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะกลัวจะตกเป็นเหยื่อของการ รังเกียจและการกีดกันทางสังคม ช่วงเวลาต่อมาจึงกลายเป็นยุคแห่งความเงียบของโรคมินามาตะ ซึ่งยาวนานต่อเนื่องถึง 9 ปี

จวบ จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยอมรับว่าโรคมินามาตะเป็นโรคมลพิษที่เกิดจากน้ำเสีย ของโรงงาน กลุ่มผู้ป่วยจึงถือโอกาสนี้เปิดศักราชการต่อสู้เรียกร้องครั้งใหม่ มีการเจรจากันระหว่างบริษัทชิสโสะกับสมาคมช่วยเหลือครอบครัวและผู้ป่วยโรคมิ นามาตะในประเด็นค่าเสียหาย โดยข้อเรียกร้องคือ ให้ชิสโสะจ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นจำนวนเงิน 13 ล้านเยน และ 6 แสนเยนต่อปีสำหรับผู้ป่วย แต่ทางชิสโสะปฏิเสธ
กลุ่ม ผู้ป่วยจึงเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการให้ดำเนินการกำหนด มาตรฐานการชดเชยความเสียหาย แต่ทางกระทรวงกลับตอบสนองด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ยปัญหาเรื่องเงินชดเชยระหว่างบริษัทชิสโสะกับกลุ่มผู้ป่วยในเดือน กุมภาพันธ์ 2512 เรียกว่า ”คณะกรรมการไกล่เกลี่ยค่าชดเชยโรคมินามาตะ”

ทางกระทรวง ขอให้ตัวแทนฝ่ายผู้ป่วยทำจดหมายเพื่อให้คำมั่นต่อรัฐบาลว่า พวกเขาจะยอมรับการตัดสินใจทั้งหมดที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดอย่างไม่มี เงื่อนไข ปรากฏว่าเงื่อนไขนี้เองทำให้กลุ่มผู้ป่วยแตกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มหนึ่งยินดีให้รัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่อีกกลุ่มหนึ่งยืนยันขอเจรจาตรงกับบริษัท เนื่องจากไม่เชื่อใจรัฐบาลและบริษัทอีกแล้ว ภายหลังจากที่ได้รับบทเรียนเมื่อครั้งทำสัญญาเรื่องการจ่ายเงินทำขวัญ

แล้ว ในวันที่ 10 เมษายน ผู้ป่วยกลุ่มแรกจำนวน 54 ครอบครัวก็ทำจดหมายตอบรับข้อเสนอและข้อผูกพันตามคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มหลังพยายามเรียกร้องให้ชิสโสะเปิดการเจรจา แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ในที่สุดผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวน 112 คน จาก 29 ครอบครัว นำโดยวาตานาเบ เอโซะ ก็ตัดสินใจร่วมกันฟ้องศาลชั้นต้นคุมาโมโต เพื่อเรียกค่าชดเชยจากบริษัทชิสโสะ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกันนั้นเอง

การต่อสู้คดีครั้งประวัติศาสตร์

ก่อน ที่กลุ่มผู้ป่วยที่มินามาตะจะตัดสินใจฟ้องคดี กลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะแห่งเมืองนีกะตะได้นำคดีขึ้นสู่ศาลไปแล้วเมื่อเดือน มิถุนายน 2510

โรค มินามาตะที่นีกะตะเกิดขึ้นจากน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทที่โรงงานของบริษัทโชวะ เดงโกะ คาโนเซะ ปล่อยลงสู่แม่น้ำอกาโนกาวา ทำให้แม่น้ำทั้งสายปนเปื้อนมลพิษสร้างความเสียหายแก่ไร่นาและสะสมอยู่ในปลา การต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายของกลุ่มผู้ป่วยแห่งเมืองนีกะตะนับเป็น แรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้กลุ่มประชาชนจากหลายสาขาอาชีพรวมตัวกันเป็น “สมัชชาประชาชนโรคมินามาตะ” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ในทั้งสองพื้นที่

เมื่อ กลุ่มผู้ป่วยที่มินามาตะฟ้องร้องคดีก็ยิ่งทำให้กลุ่มคนต่างๆ มารวมตัวกันกว้างขวางขึ้น สหภาพแรงงานชิสโสะเองก็ประกาศสนับสนุนด้วย หลังจากที่นิ่งเฉยกับความทุกข์ของผู้ป่วยมานานหลายปี การช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานชิสโสะมีผลสำคัญไม่น้อยในการทำให้ฝ่ายผู้ป่วยได้ รับข้อมูลหลักฐานสำคัญที่เป็นประโยชน์ในชั้นศาล

นอก จากนี้ แพทย์ นักวิจัย นักศึกษา รวมถึงนักกฎหมาย ทั้งจากจังหวัดคุมาโมโตและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกหลายร้อยคน ก็ได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเข้ามาช่วยเหลือการฟ้องคดี ทำให้สื่อมวลชนหันมาจับตาและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด กลุ่มผู้สนับสนุนการต่อสู้จึงยิ่งขยายวงกว้างขวางออกไป กลายเป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ทรงพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การ เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น

ในวันที่ศาลนัดไต่สวนคดี ผู้คนที่มาสนับสนุนผู้ฟ้องคดีหลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมของประเทศจนเนืองแน่นล้นศาล

อย่าง ไรก็ตาม กลุ่มทนายและผู้สนับสนุนผู้ป่วยมีความวิตกพอควร เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลที่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานใน การพิจารณาคดีนี้ได้ ขณะเดียวกันในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับการประกอบกิจกรรมด้าน อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับกฎหมายควบคุมคุณภาพน้ำและกฎหมายควบคุมสิ่งปนเปื้อนจากโรงงาน อุตสาหกรรมที่ตราขึ้นในปี 2501 ก็ไม่ได้ควบคุมไปถึงโรงงานผลิตสารเคมีและสารประกอบอะเซทัลดีไฮด์เช่นที่มินา มาตะ ในขณะที่ประเด็นการต่อสู้ของบริษัทไม่ได้ปฏิเสธการเป็นต้นเหตุของโรค เนื่องจากที่ผ่านมามีการพิสูจน์และประกาศของทางการไปแล้ว แต่ชิสโสะต่อสู้ว่า การเกิดและแพร่กระจายของโรคมินามาตะนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณ์ถึง และเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้

ในการต่อสู้คดี ทางฝ่ายโจทก์จึงมีการตั้งกลุ่มศึกษาวิจัยอย่างจริงจังจากองค์ประกอบหลายฝ่าย

คดี ศาลชั้นต้นคุมาโมโตใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณาเกือบ 4 ปี แล้วในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2516 ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย 18 ล้านเยนให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิต และ 16 - 18 ล้าน เยนสำหรับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ผู้พิพากษาชี้ว่า บริษัทชิสโสะได้ละเลยหน้าที่ในการระวังและคาดการณ์อันตรายจากน้ำเสียของโรง งานที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นแม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรคมินามาตะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อรู้ว่าเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมโดยทันที แต่ทางบริษัทกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไป

หลัง จากนั้น ยังมีการฟ้องคดีกับเอาผิดกับชิสโสะติดตามมาอีกหลายคดี เช่น คดีที่คันไซ (ศาลชั้นต้นโอซากา) ซึ่งเริ่มเมื่อ 28 ตุลาคม 2525 คดีที่โตเกียว เริ่ม 2 พฤษภาคม 2527 คดีที่เกียวโต เริ่มเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2528 และคดีที่ฟูกูโอกะ ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 รวมแล้วจำนวนโจทย์ที่ยื่นฟ้องในคดีเหล่านี้มีเกินกว่า 2,000 คน

อย่าง ไรก็ดี ในบรรดาคดีทั้งหมดที่กล่าวมา ยกเว้นคดีคันไซ ล้วนสิ้นสุดลงแล้วด้วยการไกล่เกลี่ยโดยคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อเดือนกันยายน 2538 โดยฝ่ายโจทก์หรือผู้ป่วยตกลงใจยอมรับข้อเสนอของรัฐที่จะรับค่าชดเชยรายละ 2.6 ล้านเยน โดยรัฐบาลไม่ต้องแถลงยอมรับผิดอย่างเป็นทางการ

ภาย ใต้บทลงเอยลักษณะนี้ทำให้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคมินามาตะสิ้นสุด ลงแล้ว ในขณะที่ประเด็นสำคัญบางประเด็นยังคงคลุมเครือ นั่นคือ ประเด็นที่ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นโรคมินามาตะหรือไม่ และปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

ปัญหาของระบบการรับรองผู้ป่วย

ประเด็นเรื่องการยอมรับผู้ป่วยอย่างจำกัดคือสิ่งที่ค้างคาและทำร้ายจิตใจผู้ป่วยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

พิจารณา ตามเหตุและผลที่ควรเป็น ระบบการรับรองผู้ป่วยโรคมินามาตะที่ได้รับการวางรากฐานมาตั้งแต่ปลายปี 2502 หรือประมาณ 3 ปีหลังค้นพบผู้ป่วย น่าจะเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมหาศาลตั้งแต่ ช่วงแรกๆ หากว่าตัวระบบสามารถทำงานและดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ระบบการรับรองกลายเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้ผู้มีอาการเจ็บป่วยจำนวนมากมี สถานะในเชิงทางการว่าเป็นผู้ป่วย และเมื่อไม่ได้รับการรับรองก็หมายถึงไม่ได้รับการชดเชยหรือแม้แต่การช่วย เหลือ

ระบบการรับรองนี้จัดตั้งและดำเนินการโดยรัฐบาล ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการมาหลายชุด โดยชุดล่าสุดคือ “คณะกรรมการสอบสวนการรับรองผู้ตกเป็นเหยื่อมลพิษแห่งจังหวัดคุมาโมโต” เกิด ขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายเพื่อการออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือผู้ได้รับ ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษ (Law for Special Measures for Relief of Pollution-Related Health Damage) มีผลบังคับใช้บางส่วนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2512 คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยแพทย์จำนวน 10 คนจากมหาวิทยาลัยคุมาโมโต โรงพยาบาลเมืองมินามาตะ และสถาบันอื่นๆ

แม้ คณะกรรมการจะเปลี่ยนชื่อและตัวบุคคลไปหลายครั้ง แต่ทั้งหมดก็ใช้วิธีการเดียวกันในการพิจารณารับรองผู้ป่วย นั่นคือการตั้งหลักเกณฑ์ว่าอาการป่วยแบบใดจึงเรียกว่าเป็นโรคมินามาตะ

ทัศนะ และเกณฑ์การพิจารณาโรคของคณะแพทย์ในสภามีลักษณะคับแคบและตายตัว ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองมักอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรงและกลุ่มที่มีอาการเข้า ลักษณะแบบฉบับของโรคมินามาตะเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือยังไม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น การปวดหัว การควบคุมมือและแขนไม่ได้ในบางครั้ง การสูญเสียความรู้สึกตามปลายประสาทของมือและเท้า การทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่ประสานกัน และการมองเห็นได้แคบกว่าสายตาของคนปกติ กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะถูกปฏิเสธ

ดัง นั้นกลุ่มที่ได้รับการรับรองจึงมีจำนวนจำกัดอย่างมาก กว่า 40 ปีนับตั้งแต่ที่มีการสร้างกลไกนี้ขึ้นมาจนถึงเดือนมกราคม 2546 จึงปรากฏว่ามีผู้ป่วยเพียง 2,265 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์การรับรอง จากจำนวนที่ยื่นขอมากกว่า 40,000 คน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับการรับรอง

สำหรับ กลุ่มผู้ป่วยที่ยอมรับข้อเสนอจากรัฐบาลด้วยการรับเงินชดเชยแบบครั้งเดียวจบ เมื่อเดือนกันยายน 2538 จำนวน 10,353 คน คนกลุ่มนี้ก็ไม่จัดเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะอย่างเป็นทางการเช่นกัน เนื่องจากไม่ผ่านการรับรอง ในจำนวนนี้เหลือเพียง 9,656 คนเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ทันได้รับความช่วยเหลือ จากการที่รัฐบาลออกหนังสือให้ไปใช้บริการทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้ จ่าย

นพ. ฮาราดะ หนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานและวิธีคิดเรื่องการรับรองของ รัฐบาลแสดงความเห็นว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบการปฏิเสธคนไข้มากกว่า

“ระบบ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแทนที่จะเชื่อมความช่วยเหลือให้ไปถึงผู้ป่วย กลับกลายเป็นตัวบั่นทอนและเหนี่ยวรั้งความช่วยเหลือที่จะมีให้กับผู้ป่วย ตัวคณะกรรมการที่ทำหน้าที่อยู่ในนั้นมักเข้าข้างรัฐบาลและบริษัท คนไข้แต่ละรายที่รอการตัดสินใจจากคณะกรรมการว่าเป็นผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรอ นานหลายวันจึงจะได้รับการวินิจฉัย”

สิ่ง ที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมความทุกข์และความเจ็บปวดแก่ผู้ ป่วยและครอบครัวอย่างรุนแรง คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและการดูแลรับผิดชอบได้เลยเมื่อไม่ ผ่านการรับรอง

ส่วน ใหญ่ผู้ป่วยที่ถูกปฏิเสธจากระบบนี้ได้แต่ก้มหน้ารับความชอกช้ำเพิ่มเติม แต่มีบางกลุ่มที่เลือกใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งเกิดคดีความขึ้นไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเนื่องจากการทำงานล่าช้า การปฏิเสธการเป็นผู้ป่วยของพวกเขาโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มที่เลือกแนวทางการประท้วงเพื่อกดดันให้ได้เจรจาโดย ตรงกับบริษัทชิสโสะ แต่แน่นอนว่า ทั้งบริษัทและรัฐต่างก็มีจุดยืนแน่ชัดเดียวกัน นั่นคือ ผู้ป่วยโรคมินามาตะในความหมายทางการได้แก่กลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการรับรองแล้ว เท่านั้น

คำ ถามสำคัญจาก นพ. ฮาราดะก็คือ หากพวกเขาไม่เชื่อว่าผู้ที่อาศัยอยู่รอบทะเลชิรานุยและมีอาการผิดปกติของ ระบบประสาทป่วยด้วยโรคมินามาตะแล้ว ถ้าเช่นนั้นพวกเขาบอกได้หรือไม่ว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ป่วยเป็นโรคอะไร

ตลอด ระยะเวลากว่า 40 ปีที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้ นพ. ฮาราดะบอกว่า นี่เป็นข้อสงสัยที่เขาเฝ้าถามขึ้นมาหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รับคำตอบเลย

การต่อสู้ยังไม่จบ

”เราได้แสดงความรับผิดชอบไปแล้ว เรื่องมันจบไปแล้ว...” อิ ชิโร โอฮิระ ผู้บริหารฝ่ายกิจการทั่วไปและทรัพยากรบุคคลของชิสโสะคอร์ปอเรชั่นตอบอย่าง ไม่เต็มเสียงนัก ในตอนหนึ่งของการเจรจากับกลุ่มตัวแทนผู้ป่วยโรคมินามาตะ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2549 บนอาคารสูงของบริษัทชิสโสะในกรุงโตเกียว

น้ำเสียงและสีหน้าของเขาถูกควบคุมไว้ในความสงบเย็น ทว่ามือทั้งสองข้างกลับสั่นระริกเกือบตลอดสามชั่งโมงของการโต้ตอบกัน

“คุณหมายความว่ายังไง จบไปแล้ว” เสียงพูดที่ดังออกมาเกือบพร้อมกันของตัวแทนผู้ป่วยกว่า 20 คนที่นั่งเผชิญหน้ากับฝ่ายชิสโสะ พัดโหมให้บรรยากาศแห่งความโกรธและไม่พอใจกระจายไปทั่วห้องประชุม

ข้างๆ โอฮิระมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารขนาบอยู่ คือ อะคิฮิโกะ ซันเป ผู้จัดการฝ่ายกิจการทั่วไปและทรัพยากรบุคคล กับทัตสึยา อะโอคิ หัวหน้าฝ่ายกิจการสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม ผู้ป่วยโรคมินามาตะและผู้สนับสนุนได้นัดพบเพื่อเจรจากับบริษัทชิสโสะอีก ครั้งในวาระที่การค้นพบโรคมินามาตะมีอายุครบ 50 ปี พวกเขามาเพื่อทวงถามความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยที่ค้นพบเพิ่มอีกกว่า 3,000 ราย และเรียกร้องให้ทางบริษัทหยุดพฤติกรรมการทำลายสิ่งแวดล้อมในเมืองมินามาตะ

“ผม ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจบ แต่เราได้ทำตามข้อตกลงปี 1995 ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรับรองแล้ว... ทางบริษัทจะคิดเองว่าเราควรจะทำอะไรเมื่อเวลานั้นมาถึง ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา” โอฮิระยังคงควบคุมน้ำเสียงให้อยู่ในความเยือกเย็นต่อไป

“คุณ รู้หรือเปล่าว่าผลกระทบจริงๆ คืออะไรบ้าง ไม่มีใครรับรู้เลยใช่ไหม พวกคุณไม่คิดว่ามันจะต้องพยายามมองปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองที่ยาวขึ้นบ้าง เลยหรือ” ตัวแทนผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าวสวนออกมาอย่างเร็ว

”เรา ไม่ใช่หมอและเราไม่สามารถตัดสินใจได้ มันเกินหน้าที่ของเรา ...เราทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อตอนนี้ช่องทางสาธารณะก็เปิดให้อยู่แล้ว หากเราจ้างหมอมาตรวจผู้ป่วย เราคงต้องล้มละลาย” โอฮิระพยายามตัดบท

เป็นที่ชัดเจนว่า การเจรจาโต้ตอบครึ่งค่อนวันจบลงไม่ต่างจากที่ผ่านๆ มา

บ่าย วันเดียวกันนั้น ตัวแทนผู้ป่วยชุดเดียวกันได้เข้าพบยาซูคิ เอดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่มาแทนยูริโคะ โคอิเคะ รัฐมนตรีว่าการ

ประมาณ 2 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ศาลฎีกาได้มีคำตัดสินต่อคดีคันไซ ระบุให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อกรณีโรคมินามาตะ พร้อมทั้งมีคำตัดสินที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการของโรคมินามาตะ ว่าเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง ข้อวินิจฉัยของศาลที่สำคัญและนับว่าเป็นนิมิตหมายใหม่คือ การระบุว่าทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นละเลยในการควบคุมปัญหามลพิษกรณี นี้จนเป็นเหตุให้ปัญหาลุกลาม อีกทั้งทางการยังไม่ยอมรับผู้ป่วย ปล่อยปละให้ได้รับความทุกข์โดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ ทั้งๆ ที่โดยบทบาทหน้าที่แล้วรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นผู้ละเมิดผู้ป่วยเหล่านี้เสียเอง

ทางกระทรวง สิ่งแวดล้อมและรัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงคำขอโทษเพื่อแสดงความรับผิดชอบตามการ ตัดสินของศาลฎีกา และในเดือนมิถุนายน ปีต่อมา รัฐบาลก็จ่ายเงินค่าชดเชยตามคำตัดสิน แต่ก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับรองผู้ป่วยตามที่กลุ่ม ผู้ป่วยได้เรียกร้องมาตลอด ทั้งยังนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการศึกษาทางระบาดวิทยาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้รู้ถึงขอบเขตและระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นวิชาการ

ใน อีกทางหนึ่ง คำตัดสินของศาลก็ส่งผลกระตุ้นให้ผู้ป่วยมายื่นขอรับการรับรองมากขึ้น ด้วยสาเหตุหลากหลายประการ นับตั้งแต่ผู้ป่วยคิดตกแล้วที่จะเปิดเผยตัวเอง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นกังวลว่าลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวจะได้รับผลกระทบ ทางสังคม หรือบางรายก็เนื่องมาจากมีอาการป่วยมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากมารดาที่บริโภคปลาปนเปื้อนสารประกอบอินทรีย์ ของปรอทในระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้มีสุขภาพแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่เพิ่งรู้ว่า อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เป็นมานานคือกลุ่มอาการของโรคมินามาตะ หรือเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะยื่นขอรับการวินิจฉัยเพื่อรับรองว่าเป็น โรคมินามาตะและผู้ป่วยต้องมาใช้สิทธินี้ด้วยตัวเอง

ทั้ง นี้นับตั้งแต่ศาลฎีกามีคำตัดสินจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ปรากฏว่ามีผู้มายื่นขอการรับรองการเป็นผู้ป่วยเป็นจำนวนถึง 3,348 ราย แต่รัฐก็ยังคงไม่แสดงความใส่ใจในการรับผิดชอบต่อผู้ป่วยเหล่านี้เช่นเดิม

ใน การเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ชิเกรุ อิซายามา ประธานสมาคมสนับสนุนช่วยเหลือโรคมินามาตะ และฮิเดคิ ซาโตะ ประธานสมาคมช่วยเหลือเหยื่อโรคมินามาตะ พร้อมกลุ่มผู้ป่วยและผู้สนับสนุนกว่า 30 คน จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 4 ข้อ ได้แก่

1) ขอให้ตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบความผิดชอบของรัฐบาลต่อกรณีโรคมินามาตะ

2) ให้ตรวจสอบระดับความรุนแรงของปัญหาและสอบหาผู้ป่วยกลุ่มเพิ่มเติมโดยด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในวัย 30 – 50 ปีที่เป็นโรคมินามาตะมาแต่กำเนิดและอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น

3) ปรับ ปรุงระบบการรับรองผู้ป่วยโรคมินามาตะ และให้มีการตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ตามคำตัดสินของศาลฎีกา รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริงจากพิษของสารปรอทและ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการรับรองผู้ป่วยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

4) ขอ ให้รัฐบาลจัดหามาตรการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การดำเนินชีวิต การรักษาทางการแพทย์ และอื่นๆ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพิการด้วยโรคนี้มาแต่กำเนิด ในฐานะที่รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสูญเสียจากโรคนี้ลุกลามออกไปอย่าง รุนแรง

บาดแผลทางสังคม

ผู้ป่วยโรคมินามาตะไม่เพียงทุกข์ทรมานทางร่างกายเท่านั้น แต่พวกเขายังถูกกระทำซ้ำในทางจิตใจและทางสังคมอย่างรุนแรง

ด้วย สภาพของร่างกายและอาการของโรคที่แสดงออกมาอย่าน่ากลัว ในระยะแรกผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จึงถูกตั้งข้อรังเกียจว่าป่วยเป็นโรคประหลาด ยิ่งมีการสันนิษฐานทางการแพทย์ในเบื้องต้นว่านี่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง การกีดกันจากสังคมก็ยิ่งรุนแรง ดังกรณีของครอบครัวทานากะ เมื่อชิซุโกะและจิตสึโกะถูกแยกไปอยู่อาคารผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง ครอบครัวนี้ก็กลายเป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน ไม่มีใครอยากสมาคมด้วย

สิ่ง เดียวนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ป่วยรายอื่นๆ ด้วย ปรากฏการณ์เช่น เจ้าของร้านชำไม่ยอมขายของและรับเงินจากเด็กป่วยที่มาซื้อของที่ร้าน เพื่อนบ้านเลิกคบ ญาติไม่มาเยี่ยนเยียน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป กระทั่งผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเองก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เมื่อพบปะคนรู้จักระหว่างทาง พวกเขาต้องรีบเดินหลีกหนีไปไกล หลายคนต้องหลบไปเดินตามทางรถไฟระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลเพื่อหนีสายตาผู้คน

นอก จากนี้ ชาวเมืองมินามาตะทั่วไปยังตั้งข้อรังเกียจบรรดาผู้ป่วย ด้วยเหตุว่าพวกเขาทำให้เมืองมินามาตะเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะในขอบเขตที่กว้างขึ้น ชาวมินามาตะทั้งหมดก็กลายเป็นคนที่สังคมข้างนอกกลัวและรังเกียจเช่นเดียวกัน ดังปรากฏว่า บุตรหลานจากเมืองนี้มักถูกปฏิเสธการจ้างงานจากเมืองอื่นๆ ถูกปฏิเสธโอกาสในการศึกษาและการแต่งงาน ผลผลิตจากการทำประมงของเมืองนี้ก็ไม่สามารถขายให้ใครได้ ครั้งหนึ่งจึงเคยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองมินามาตะไปเป็นชื่ออื่น

สภาพ เลวร้ายนี้รุนแรงอย่างยิ่งในช่วงแรกที่ไม่สามารถบอกได้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นจาก อะไร แต่แม้ต่อมาจะมีการยืนยันแล้วว่าโรคนี้เกิดจากสารพิษในน้ำเสียของโรงงานชิ สโสะ การเหยียดหยามกลุ่มผู้ป่วยก็ยังมิได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต่อสู้เพื่อเรียกค่าชดเชยจากบริษัทต่างถูกประณามทั้งจาก เพื่อนบ้านและสังคมภายนอกต่างๆ นานา ด้วยข้อหาหลักๆ คือ เป็นพวกเห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักพอ และไม่รักบ้านเกิด

ขณะ เดียวกัน นักการเมืองหลายคนก็ประณามกลุ่มผู้ป่วยที่ต่อสู้ให้ได้รับการรับรองการเป็น โรคนี้จากรัฐบาลและการเรียกค่าชดเชยอย่างรุนแรง เช่น สมาชิกสภาจังหวัดคุมาโมโตคนหนึ่งกล่าวเมื่อปี 2518 ว่า “คณะ กรรมการรับรองผู้ป่วยลำบากใจมากที่จะแยกความจริงออกจากความเท็จ บางคนสายตาไม่มีปัญหาอะไรเลยเวลาไปสมัครขอใบขับขี่ แต่เมื่อมาตรวจสุขภาพเพื่อขอการรับรอง กลับบอกว่า สายตามีขอบเขตที่มองเห็นได้จำกัด”

หรือสมาชิกคนหนึ่งของพรรคแอลดีพี กล่าวเมื่อปี 2522 ว่า “ใน จังหวัดคุมาโมโต คนพากันสมัครขอการรับรองว่าเป็นโรคเพราะอยากจะได้เงิน ผมคิดว่าอีกหน่อยประชากรของจังหวัดนี้คงมาขอรับรองจากรัฐบาลว่าเป็นโรคมินา มาตะกันหมด ผมก็อยากอยู่จังหวัดนี้ด้วยและอยากให้รับรองผมว่าป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเหมือน กัน”

ความหมายของตุ๊กตาหินสลัก

ทะเล เบื้องหน้าสงบนิ่ง ไร้คลื่นลมและความพลุกพล่านของเรือประมง ห่างฝั่งไปไม่มากนัก เกาะขนาดย่อม 2 - 3 เกาะตั้งโดดเด่นเสมือนหมุดยักษ์ที่ปักกั้นระหว่างทะเลตอนในกับทะเลตอนนอกที่ กว้างใหญ่สุดสายตา

ชาย ฝั่งที่พวกเรายืนอยู่ไม่มีสภาพของหาดทรายเหลือให้เห็น แต่เป็นขั้นบันไดปูนแข็งแรงที่ทอดขึ้นไปยังลานคอนกรีตกว้างสะอาดตา ห่างออกไปทางด้านซ้ายมีสวนสาธารณะ ที่นั่นเต็มไปด้วยตุ๊กตาหินสลักขนาดย่อมหลายสิบตัว ตั้งประดับบนพื้นหญ้ากระจายห่างกันเป็นจุดๆ แต่ละตัวต่างอิริยาบถ หากทว่าสายตาทุกคู่ล้วนมองออกไปสู่ทะเลกว้าง

ที่ นี่มีผู้คนบางตา บ้างนั่งพักผ่อน บ้างเดินเล่น บนสันเขื่อนคอนกรีตริมทะเลมีคนนั่งนิ่งพร้อมเบ็ดคันใหญ่ในมือ การรอคอยของเขาเริ่มตั้งแต่ก่อนเรามาถึงและดูเหมือนจะยังคงเนิ่นนานต่อไป ดวงอาทิตย์ดวงโตกำลังทอแสงทองสุดท้ายของวันขณะค่อยๆ เลื่อนตัวต่ำลงข้างเกาะเบื้องหน้า

ภาพ ที่เห็นช่างสงบงาม เราคงดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเย็นและความงามของที่นี่อย่างรื่นรมย์หากไม่ต้อง รับรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้แฝงฝังไว้ด้วยโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติที่เกิด ขึ้นจากมลพิษอุตสาหกรรม

“ที่ แถบนี้เรียกว่าท่าเรือเฮียกเคง ใต้พื้นคอนกรีตที่เรากำลังยืนอยู่คือสารปรอทปริมาณมหาศาลที่ขุดขึ้นมาจาก อ่าวมินามาตะ ที่เคยสะสมจนหนาเกือบสี่เมตรและกระจายเป็นบริเวณกว้างมาก” เป็นเสียงของโยจิ ทานิ เลขาธิการเครือข่ายความสมานฉันท์แห่งเอเชียและมินามาตะ ที่ดังแทรกห้วงคำนึงขึ้นมา

ตลอดเวลา 2 เดือนที่มินามาตะแห่งนี้ ทานิซังให้เวลากับเราอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งยังช่วยจัดการการเดินทางสู่ที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นด้วย

ทานิอธิบายต่อถึงเรื่องโครงการฟื้นฟูอ่าวมินามาตะว่า ทางจังหวัดคุมาโมโตทำแผนมาตั้งแต่ปี 2510 ด้วยการขุดบริเวณที่ปนเปื้อนสารปรอทขึ้นมากองรวมกัน พร้อมกับกวาดจับปลาในอ่าวขึ้นมา แล้วฝังไว้ด้วยกัน ก่อนจะถมพื้นที่แถบนี้ทั้งหมดทับสารปรอทอีกที โดยระเบิดภูเขาจากเกาะที่อยู่ไม่ห่างออกไปมาใช้ จากนั้นก็ตกแต่งขึ้นมาเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า “สวนสาธารณะเพื่อนิเวศน์” อย่างที่พวกเราเห็นอยู่ตรงหน้า งานทั้งหมดเพิ่งเสร็จเมื่อปี 2533

“แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนึ่งด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกที่หนึ่ง” นั่นคือบทสรุปทิ้งท้ายจากทานิซัง ก่อนก้าวนำเราออกจากสวนสาธารณะเพื่อนิเวศน์ ซึ่งมีสารปรอทปริมาณมหาศาลที่เป็นตัวก่อ “โรคมินามาตะ” อันแสนทุกข์ทรมานถูกฝังอยู่ข้างใต้

เรา หันมองหมู่ตุ๊กตาหินสลักอีกครั้ง ครุ่นคิดไปถึงเจตนารมณ์ของบรรดาผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้ ทั้งหลายที่ร่วมกันสร้างตุ๊กตาเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนแสดงความรู้สึกต่างๆ ทั้งความสำนึกเสียใจต่อบาปที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ทั้งการรำลึกถึงผู้ที่ต้องตายและทุกข์ทนด้วยพิษปรอท ทั้งปลอบประโลมและขอบคุณสำหรับความเข้มแข็งอดทนของผู้คนทั้งหลายที่เกี่ยว ข้อง รวมถึงความหวังที่ว่า ดินแดนแห่งโรคร้ายและความตายนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นแผ่นดินอันสะอาดบริสุทธิ์ ได้สักวัน

เอกสารประกอบการเขียน

1. “A Chronology of Minamata Disease.” AMPO: Japan Asia Quarterly Review Vol. 27 No.3, 1997
2. Foundation Minamata Disease Centre Soshisha. Minamata Disease, Illustrated
3. HARADA Masazumi. “Grassroots Movements by Minamata Disease Victims.” Publication III – A, International Christian University and Institute of Asian Cultural Studies, March 2001: 255 – 263
4. HARADA Masazumi. “Minamata Disease: Methylmercury Poisoning in Japan Caused by Environmental Pollution.” Critical Reviews in Toxicology, 25(1), 1995: 1 – 24
5. HARADA Masazumi. Translated by Tsushima Sachi และ Timothy S. George, translation edited by Timothy S. George. Minamata Disease, 1972
6. Minamata Forum. Minamata Disease Exhibition : English Guide
7. MURAYAMA Mari. “Japanese Government Found Partly to Blame for Minamata Disease.” //quote.bloomberg.com/apps/news?pid=10000101&sid=a8SulqjNMJE4&refer=japan
8. TANI Yoichi. “New Development Since the Supreme Court’s Verdict (the Kansai Lawsuit) : The Patients’ Movement.” 2006

ขอขอบคุณ

§ โยจิ ทานิ, ศ. นพ. มาซาซูมิ ฮาราดะ, ศ. นพ. ทาคาชิ มิยาคิตะ, ศ. นพ. มาซาโนริ ฮานาดะ, ศ. นพ. โนริโอะ อิชิดะ, ไอลีน เมียวโกะ สมิธ, จุนโกะ โอคุระ, โตชิยูกิ โดอิ และ ยูกะ คิกูชิ – สำหรับความรู้ ความช่วยเหลือ และไมตรีจิต
§ The Open Research Center for Minamata Studies, Kumamoto Prefecture – สำหรับการเอื้ออำนวยสถานที่ค้นคว้าและทำงาน
§ โครงการปัญญาชนแห่งเอเชียเพื่อประโยชน์สาธารณะ มูลนิธินิปปอน – สำหรับการสนับสนุนให้โอกาสในการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นจริงได้


ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกสีเขียว ปีที่ 15 ฉบับที่ 6 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2550 ภายใต้เรื่อง เปิดบันทึก 50 ปี “มินามาตะ”






Create Date : 04 ธันวาคม 2552
Last Update : 10 มิถุนายน 2553 0:56:01 น. 1 comments
Counter : 1647 Pageviews.

 
ข่าว link

จากมินามาตะถึงมาบตาพุด สิ่งที่สำคัญกว่า “ความเชื่อมั่นของนักลงทุน”


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มกราคม 2553 00:38 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


นายนูเนโนริ ยามาดา ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ญี่ปุ่น ในประเทศไทย หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ หลังการเข้าพบนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคมนี้ ว่า ปัญหาการระงับโครงการลงทุน 64 โครงการในมาบตาพุด ส่งผลให้ภาพลักษณ์เมืองไทยสั่นคลอนในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุน จากประเทศอื่นๆ ซึ่งอดีตไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในสายตานักลงทุนมากสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียและอาเซียน แต่ปัจจุบันคงไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหามาบตาพุดโดยเร็วให้เห็นภาพชัดเจนภายใน 2-3 เดือน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีบุญคุณกับประเทศไทยเสียเหลือเกิน ถ้าไปทำให้ขัดอกขัดใจ ไม่มาลงทุนอีกต่อไป ไทยจะลำบาก

เป็นความจริง ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่น เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งออก ที่ทำให้เศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปี 2530 จนถึง 2539 ขยายตัวสูงมาก ทำให้คนมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากจีน และการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย สูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักลงทุนต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นประมาณ 30% ของมูลค่าการลงทุน

อย่าง ไรก็ตาม ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย ไม่ใช่เพราะอยากช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่มาลงทุนเพราะ ประเทศไทยมั่นคง ปลอดภัย ค่าแรงถูก รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ยกเว้นภาษี ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และมีตลาดภายในขนาดใหญ่ ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับญี่ปุ่น

การลงทุนครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในไทย ระลอกแรก ใน พ.ศ 2528-2532 เกิดขึ้น เพราะ ญี่ปุ่น ถูกสหรัฐฯ และกลุ่ม จี 7 กดดันให้ปรับค่าเงินให้แข็งขึ้น ค่าเงินเยนที่อยู่ในอัตรา 250 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะนั้น ทำให้สินค้าญี่ปุ่น ตีตลาดไปทั่วโลก เพราะราคาถูก ชาติตะวันตก จึงร่วมมือกันบีบญี่ปุ่น ให้ปรับค่าเยน

ค่าเงินที่สูงขึ้นถึง 70 % ภายในเวลาเพียง 10 เดือน ทำให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่น ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ ย้ายฐานการผลิตออกนอก ประเทศ ไปยังที่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ

ประเทศไทยถูกเลือก เพราะทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ค่าแรงถูก โครงสร้างพื้นฐานพอใช้ได้ การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และเชื้อชาติ เหมือนเพื่อนบ้าน ในยุคนั้น มีการค้นพบก๊าซธรรมขาติในอ่าวไทย ที่สำคัญ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษี เอิ้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกอย่างให้ต่างชาติ ขอให้มาลงทุนเถอะ อยากได้อะไร ให้หมด เพื่อประเทศไทย จะได้เป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ที่มีจีดีพีสูงๆ

นักลงทุนญี่ปุ่นก็เลยแห่กันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วงนั้น เมื่อรุ่นแรกที่เข้ามา ประสบความสำเร็จ มีกำไร รุ่นต่อๆก็ตามมา เป็นระลอกๆ จนถึงปัจจุบัน สมประโยชน์ด้วยกันทั้งฝ่ายผู้ที่ขนเงินมาลงทุน ได้กำไรกลับไป และ ฝ่ายที่ขายที่ดิน ขายแรงงาน ขายสิ่งแวดล้อม ได้เงินมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

เงิน ลงทุนที่นักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ขนเข้ามา ไม่ใช่ของฟรี แต่มีต้นทุน ต้นทุนที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งสมัยก่อนไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบัน ในประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว รวมทั้งญี่ปุ่น ต่างยอมรับในสิทธิของประชาชรน ที่จะต้องได้รับการปกป้องจากผลกระทบของโครงการลงทุนขนาดใหญ่

เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ญี่ปุ่นเองก็มี กรณีของ โรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากการได้รับสารปรอทที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน ชิชโช คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตสารโซดาไฟ ลงสู่ทะเลในเมืองมินามาตะ บนเกาะคิวชู ซึ่งเป็นพื้นที่การประมง คนที่บริโภคอาหารทะเลที่มีสารปรอทปนเปื้อน จะมีอาการมือไม้สั่น แขนขากระตุก ความจำเสื่อม เด็กที่เกิดมาโดยได้รับสารปรอทนี้ผ่านทางแม่ จะมีอาการพิการทางสมอง

นอกจากนั้น ยังมี โรคทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นผลจากก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ในอากาศ ในเขตอุตสาหกรรม และโรค อิไต อิไต ที่ทำลายกระดูกและไต โดยเกิดจากการสะสมของสารแคดเมียม ที่เหมืองแร่แห่งหนึ่ง ปล่อยลงแม่น้ำของจังหวัดโตมายะ ซึ่งชาวบ้านใช้น้ำ จากแม่น้ำมาปลูกข้าว

แต่ละกรณีที่เกิดขึ้น คนญี่ปุ่นต้องใช้เวลานับสิบๆปี ในการต่อสู้กับกลุ่มทุน และรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ว่า เหตุมาจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในที่สุดพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหาย และทำให้ญี่ปุ่นเกิดความตื่นตัว ในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก โรงงานอุตสาหกรรม มีการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม และเป็นฉันทามติว่า ธรรมชาติ เป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะ

มีตัวอย่างคำตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับโรคมินามาตะ ที่เกิดจากสารปรอทในแม่น้ำ อะกาโน ของศาลจังหวัดนีกาตะ ตอนหนึ่งว่า

“แม้จะใช้เครื่องจักรระดับสูงเพียงใด แต่ในกรณีที่อาจมีอันตราย ก็จำต้องหยุดเดินเครื่อง ในบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากโดยหลักแล้ว กิจการโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดำเนินไป ในลักษณะสอดคล้องต้องประสานกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของชาวบ้านในย่านนั้นๆ เพราะ ไม่มีเหตุผลอันใด ในการปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจ จนต้องบวงสรวงสังเวย ด้วยสุขภาวะและชีวิตมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดและชัดแจ้ง ของชาวบ้านในย่านนั้นๆ” (คัดลอกจาก “ตุลาการภิวัฒน์ กับคดีมินามาตะในญีปุ่น" โดยพิเชษฐ์ เมาลานนท์ และคณะ ในเว็บไซต์ thaijusticereform.com)

ความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบต่างๆ และการต่อต้านของประชาชน ทำให้อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูง ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่รัฐบาลปล่อยปละละเลย ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคมยังให้ความสำคัญกับ “ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน” มากกว่า “สุขภาวะและชีวิตของมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดและชัดแจ้งของชาวบ้านในย่านนั้น”

ความ เคลื่อนไหวของภาคประชาชนไทยในเรื่องมาบตาพุด ก็ไม่ต่างอะไรไปจากความตื่นตัวของคนญี่ปุ่น และสังคมญี่ปุ่น เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ตระหนักถึงภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม คำตัดสินของศ่าลปกครองสูงสุดของไทย ในกรณี 64 โครงการมาบตาพุด ก็ยึดหลักเดียวกับศาลจังหวัดนีกาตะ ในคดีโรคมินามาตะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อบัญญัติ มาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

คำตัดสินของศาลปกครองไทย ไม่ได้ห้ามการลงทุนในมาบตาพุด แต่สั่งให้ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ในยุคนี้ จะดูแต่เรื่อง อัตราค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ เท่านั้นไม่ได้อีกแล้ว ต้องคำนึงถึงกฎ กติกา ด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนที่ญี่ปุ่นด้วย


โดย: ethic&philosophy วันที่: 8 มกราคม 2553 เวลา:22:38:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ethic&philosophy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]





เคล็ดลับของความสำเร็จ คือการลงมือทำ
บล็อกนี้จัดทำครั้งแรกเมื่อ 13 ตค 2552 ขอบคุณทุกท่านที่มาชม (ปล รูปทุกรูปที่ถ่าย มาไม่สงวนลิขสิทธิ์ ครับ) Page Rank

Pool villa rawai-saiyoun

Tambon Rawai, Chang Wat Phuket, ไทย
ที่ของฉันใกล้กับร้านอาหารและของกิน คุณจะรักสถานที่ของฉันเพราะมุมมอง และ ตำแหน่งที่ตั้ง ที่พักของฉันเหมาะกับคู่รัก, นักผจญภัยเดี่ยว, นักเดินทางเพื่อธุรกิจ, ครอบครัว (พร้อมเด็กๆ), และ กลุ่มใหญ่
Friends' blogs
[Add ethic&philosophy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.