สิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่รอดได้ในโลกนี้ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวได้ดีที่สุด

Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2558
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
27 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
พลิกปูม เส้นทางเจ้าสัวในภาคใต้

งานทวี บุญสูง อุปัติศฤงค์ และวานิช ตระกูลนายเหมืองชาวจีนฮกเกี้ยนเก่าแก่เหล่านี้ ร่ำรวยด้วยสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าพันล้านและผ่านกระบวนการสั่งสมทุนจากการทำเหมืองแร่ ชั่วอายุคนหนึ่งสู่อีกชั่วอายุคนหนึ่ง ความแข็งแกร่งของทุนมากขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่

บ่อเกิดความมั่งคั่งมาจากทรัพยากรในดินคือ สินแร่ดีบุกที่ใช้แล้วก็หมดไป แต่สร้างฐานะความเป็นปึกแผ่นและชื่อเสียงสู่เจ้าของเหมืองแร่ นอกจากนี้ความเป็นเจ้าของที่ถือครอง ที่ดินรายใหญ่จากการเป็นเจ้าของสวนยาง สวนปาล์มและสวนมะพร้าว ก็ยังทำให้สินทรัพย์ ของนายเหมืองตระกูลต่าง ๆ ในปัจจุบันทบทวีคูณนับร้อยเท่าของมูลค่าเดิม

แม้กระนั้นการรักษามรดกที่ตกทอดจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของคนรุ่นที่สามของตระกูลเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งกว่าที่บรรพบุรุษเคยเป็นมา

รุ่นลูกหลานที่เด่น ๆ ของแต่ละตระกูลอาทิ ศิวะแห่งงานทวี อาทรแห่งบุญสูง บันลือแห่งตันติวิท ภูมิศักดิ์แห่งหงษ์หยก วิจิตรแห่งตระกูล ณ ระนอง ไพบูลย์แห่งอุปัติศฤงค์ อังคณาแห่ง วานิชเป็นต้น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสานต่อและพัฒนาการลงทุนที่แตกแขนงไป หลังจากมีการหดตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในปลายปี 2528 เป็นต้นมา

ตลอดช่วงปี 2530 เป็นต้นมา การขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพระ อุปสงค์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา การลงทุนของตระกูลต่าง ๆได้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นโรงแรม อาคารพาณิชย์และธุรกิจการค้าการบริการเช่นตัวแทนขายรถยนต์และปั๊มบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นการประยุกต์การลงทุนของตนให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล

ตระกูลงานทวี


งานทวี  ต้นกำเนิด  ทักษิณคอนกรีต มหาชน ( SCP)  

//www.scp.co.th/

"งานทวี" ถือได้ว่าเป็นตระกูลที่สามารถปรับตัวเองสู่ความเป็นนักอุตสาหกรรมชั้นนำได้ดี เพราะมีทั้งความรู้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่และการจัดการแบบครอบครัวที่มีประสิทธภาพ อีกทั้งมีการระดมทุนด้วยวิธีการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และมีการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์เทคนิคการผลิตกับต่างประเทศเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้กิจการของงานทวีพี่น้องแตกตัวออกจากกิจการเหมืองแร่ สวนยางไปสู่อุตสาหกรรมโรงงานถุงยางอนามัยที่ใช้เทคนิคการผลิตจากบริษัท มาป้า (MAPA) แห่งเยอรมนีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและระบบโทรศัพท์อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเช่นบริษัททักษิณคอนกรีต บริษัทไทยไวร์โปรดักส์ เป็นต้น

แต่อีกด้านหนึ่งตระกูลนี้ก็ยังช้าด้านการพัฒนาที่ดินเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่มากที่สุดในภูเก็ต

"คนตระกูลนี้เขาบอกว่าเรื่องอะไรที่จะเอาเงินก้อนใหญ่มาลงทุนแล้วเก็บทีละเล็กละน้อยเหมือนเบี้ยหัวแตก สู้เอาเงินไปลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ทำเงินเป็นกอบเป็นกำเช่นสวนยางมิดีกว่าหรือ ขนไปขายทีละ 10-20 ตันได้เงินมาเป็น 10-20 ล้านเวลาทำเหมืองแร่ก็เป็นแบบนี้ อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนภูเก็ตที่เคยเป็นนายเหมืองแล้วไม่ต้องการจะทำธุรกิจอื่น จนกว่าจะจนแต้ม จริง ๆ อย่างคุณบันลือ ตันติวิท ที่เคยขายแร่ทีละเป็น 10 ล้านแล้วมาเก็บทีละร้อยละพันจากโรงแรม แกก็ไม่เอา แต่พอแกทำจริง ๆ มันบูม แกก็บ่นว่าถ้ารู้ว่ามันดีอย่างนี้ทำนานแล้ว" แหล่งข่าวคนเก่าแก่ในภูเก็ตเล่าให้ฟัง

รากฐานดั้งเดิมของคนในต้นตระกูลงานทวี ทำเหมืองแร่ เรือขุด ทำสวนปาล์มและปลูกยางพารา ผู้นำตระกูลคือปัญญา งานทวีเจ้าของร้าน "จิ้นเต็ก" ที่เริ่มต้นจากการรับซื้อเศษแร่ และร่ำรวยจากการรับเหมาส่งแร่ให้กองทัพญี่ปุ่นโดยตรงในช่วงสงครามเอเชียบูรพา

ปัจจุบันตระกูลงานทวีมีพี่น้อยทั้งสิ้น 47 คน โดยมีชัยกิจ งานทวีเป็นผู้สืบทอดกุมบังเหียนบริหารบริษัทงานทวีพี่น้องซึ่งมีทุนจดทะเบียน 98 ล้านบาทและบริษัทในเครือที่มีสาขากรุงเทพฯและต่างประเทศนับร้อยบริษัท

"การที่เรามีที่ดินที่ภูเก็ตมากก็คงมาจากแนวความคิดที่ว่าถ้าหากเอาเงินไปฝากธนาคารหลังสงครามเลิกใหม่ ๆ ก็คงได้ดอกเบี้ยไม่เท่าไหร่ ? สู้นำไปลงทุนด้านเหมืองแร่ดีบุกและซื้อที่ดินไม่ได้เวลานี้เรามีที่ดินที่ยังไม่ได้ทำอะไรที่ภูเก็ตอีกมาก ที่ยังว่างเปล่าเป็นที่สวนมะพร้าวและยางพารา" ศิวะ งานทวีเล่าให้ฟัง

สำหรับในเมืองที่ดินผืนใหญ่และทำเลงามของงานทวีมีที่ถนนบางกอกจำนวน 30 ไร่ซึ่งสร้างรั้วและถมดินเรียบร้อยเพื่อสร้างโรงแรมชั้นหนึ่ง ส่วนที่พัฒนาไปแล้วคือที่บริเวณแถวน้ำซึ่งโรงแรมซิตี้โฮเต็ลได้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2531 และได้ขายที่ดินที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้เนื้อที่ 7 ไร่เศษในราคาสูงร้อยกว่าล้านบาทซึ่งคุ้มกว่าที่จะนำมาจัดสรรเอง นอกจากนี้ยังมีโครงการคอมเพล็กซ์ "ซิตี้ปาร์ค" ที่กำลังเปิดขายปีนี้ด้วย การพัฒนาที่ดินทั้งหมดทำในนามบริษัทงานทวีทรัพย์สิน

อีกตระกูลหนึ่งที่มีที่ดินแถบชานเมืองมากแล้วหันมาลงทุนด้านนี้ก็คือตระกูล "วานิช" ซึ่งมีอังคณา วานิชบุตารสาวคนที่สี่ของเอกพจน์ วานิชเป็นผู้บริหารโครงการใหญ่ "วานิชพลาซ่า" หลังจากที่เธอเคี่ยวกรำกับงานบริหารบริษัทยูนิวานิชทำโรงกลั่นน้ำมันปาล์มที่กระบี่ ซึ่งเป็นกิจการร่วมลงทุนระหว่างตระกูลวานิชกับบริษัทยูนิลีเวอร์

"เดิมที่ดินตรงนี้เป็นโรงงานยางรมควันสมัยคุณปู่แล้วถูกทิ้งไว้นาน ดิฉันนึกเสียดายจึงคิดพัฒนาพื้นที่ 10 ไร่ซึ่งปัจจุบันราคาตารางวาละ 3-4 หมื่นบาทนี้ให้เป็น "วานิชพลาซ่า" โดยเราลงทุนทั้งสิ้น 200 ล้านบาททำเป็นคอมเพล็กซ์ซึ่งมีโรงแรมชั้นหนึ่ง 19 ชั้น 200 ยูนิต อาคารพาณิชย์และศูนย์การค้า จะเสร็จปี 2535 ซึ่งเราคิดว่าตลาดยังไปได้ใน 7-8 ปีข้างหน้านี้" อังคณา วานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทวานิช ลีเนียลเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้โครงการต่อไปที่อังคณาคิดจะทำคือโครงการบ้านจัดสรรที่อ่าวมะขามบนพื้นที่ 26 ไร่ บ้านจัดสรรแบบนี้จะทำคล้ายวิลล่าที่มองเห็นทะเลโดยรอบเพื่อขายกลุ่มเศรษฐีกรุงเทพฯ เป็นหลัก ในราคาหลังละ 5-6 ล้านบาท

ตระกูลวานิช


เจียร วานิช   ต้นตระกูล  อาณาจักร  UVAN  บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)  //uvan-th.listedcompany.com/

ตระกูล "วานิช" นี้ต้นตระกูลคือเถ้าแก่เจียร วานิชซึ่งเป็นคนพังงาและเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันขึ้นที่ภาคใต้เป็นคนแรก เถ้าแก่เจียรมีลูกชายคนเดียวคือเอกพจน์ วานิชกิจการหลักของตระกูลนี้ได้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มสองแห่งคือบริษัทสยามปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรม บริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม ที่กระบี่ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีสวนปาล์ม

ประมาณ 40,000-50,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีเหมืองแร่ที่สุราษฎร์ บริษัทเจียรวานิช บริษัท วานิชยิปซั่ม บริษัทภูเก็ตโรงงานยาง บริษัทภูเก็ตชิปปิ้งปักษ์ใต้ขนส่งทางทะเล และยังมีการ ลงทุนทำโรงพยาบาลเอกชลที่จังหวัดชลบุรีด้วย รวมทั้งกิจการธุรกิจตัวแทนขายแร่ยิปซัมที่ ปีนังในนามบริษัทฮับยิปซั่มเอเยนซีและทำการค้าที่สิงคโปร์ด้วย

นับว่าเป็นการลงทุนกลุ่มใหญ่ตระกูลหนึ่งในภาคใต้ที่มีการพัฒนาการทำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากอดีตสู่ปัจจุบัน !!


ตระกูลบุญสูง


นายจุติ  บุญสูง  ต้นตระกูลบุญสูง  ผู้ก่อตั้งโรงแรม JB หาดใหญ่  ซึ่งปัจจุบันถุกเปลี่ยนมือมาเป้นกลุ่มหรรษา

//www.cityvariety.com/cityscoop-7788.html




 จุติ  บุญสูง  เป็นนายเหมืองแร่ตัวอย่างเป็นนักธุรกิจที่สำคัญคนหนึ่งของภาคใต้ เป็นบุตรของนายเองเซ่ง นางฟุ้งหงี่ บุญสูง เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๒ ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา


นายจุติ  บุญสูง  เป็นคนเฉลียวฉลาด  เงียบขรึม  รักสงบ และกระตือรือร้นในการทำงานมาตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเต้าหมิง (โรงเรียนสอนภาษาจีน)  อำเภอตะกั่วป่า  จนระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนตะกั่วป่าเสนานุกูล จังหวัดพังงา เมื่ออายุ ๑๓ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้ไปศึกษาต่อที่ Penang Free School ณ รัฐปินัง ประเทศมาเลเซีย ระหว่างศึกษาอยุ่ในโรงเรียนนี้ได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยสอบไล่ได้เป็นที่ ๑  ของชั้นอีกด้วย  ศึกษาอยู่ในโรงเรียนนี้  ๗  ปี  จบการศึกษาชั้น High School ได้รับประกาศนียบัตร Senior Cambribge จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒

เมื่อนายจุติ  บุญสูง  เดินทางกลับมาพังงาแล้วก็ได้เข้าช่วยเหลือกิจการทุกอย่างของบิดาอย่างแข็งขัน จนกระทั่งถึงวัยอันควรก็ได้สมรสกับนาวสาวสวาท ณ นคร มีบุตรชายหญิง ๕ คน ต่อมาได้ภรรยาอีก ๒ คน มีบุตรด้วยกันอีก  ๖  คน  บุตรธิดาทุกคนได้รับการศึกษาสูง  และมีฐานะดีทั้งสิ้น  บุตรบางคนเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันดี เช่น นายไมตรี บุญสูง นายประหยัด บุญสูง เป็นต้น

ในปี  พ.ศ.๒๔๘๑  บิดาของนายจุติ  บุญสูง ถึงแก่กรรม นายจุติ บุญสูง จึงรับมรดกกิจการต่างๆ ของบิดาส่วนหนึ่ง  และได้ดำเนินการจนทำให้กิจการต่าง  ๆ  เหล่านั้นเจริญขึ้นเรื่อยๆ  จนสามารถตั้งเป็นบริษัทดำเนินการธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย  เช่น  บริษัท  อีซูซุบอดี้  จำกัด บริษัท นิปปอนด์ เดนโซ่
เซลล์ จำกัด บริษัท จุติพานิช จำกัด เป็นต้น

นายจุติ บุญสูง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ รวมอายุได้ ๗๓ ปี

ผลงาน

๑.  นายจุติ บุญสูง จะดำเนินธุรกิจเองแล้วยังร่วมมือกับนายทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอีกด้วย เช่น  ร่วมมือกับนายทุนญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัทยางไทย - ญี่ปุ่น ขึ้นเพื่อผลิตยางรถยนต์ โดยที่นายจุติ บุญสูงเป็นประธานกรรมการบริษัทเอง  ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๑ บริษัทผลิตยางรถยนต์ดังกล่าวได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและได้เปลี่ยนชื่อเป็น  "บริษัทไทยบริสโตน  จำกัด"  ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยปัจจุบันนี้

๒.   ด้านกิจการเหมืองแร่  นายจุติ  บุญสูง  ได้ชื่อว่าคนไทยรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งที่ดำเนินกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้ดำเนินกิจการเหมืองแร่เจริญมาตามลำดับ มีเหมืองแร่ที่อยู่ในเครือบริษัทมากมาย มีทั้งเรือขุดแร่ขนาดใหญ่  และเหมืองฉีด บริษัทที่เกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ของนายจุติ บุญสูง มีอยู่  ๒  บริษัท  คือ  บริษัทขุดแร่บุญสูง  จำกัด  และบริษัทเรือขุดแร่จุติ  จำกัด ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ กิจการเหมืองแร่ของนายจุติ บุญสูง เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วไป จนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วไป จนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ตัวอย่าง สำหรับกิจการขนาดใหญ่ จากกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ เนื่องในโอกาสที่กระทรวงอุตสาหกรรมฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๓.  ได้ก่อตั้งโรงแต่งแร่ดีบุก และพลอยที่ทันสมัยขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถแต่งแร่ดีบุก และพลอยส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศปีละไม่น้อย

๔.  ปี พ.ศ.๒๕๒๓ นายจุติ บุญสูง ได้มีส่วนในการสนับสนุนตั้งโรงงานถลุงแร่ขึ้นในประเทศ ซึ่งทำให้ไม่ต้องส่งแร่ที่ขุดได้ไปถลุงในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกแหล่งใหม่ที่จังหวัดภูเก็ตอีกด้วย โดยให้มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

๕. ด้านสังคม  นายจุติ  บุญสูง  ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองตะกั่วป่า เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรม เหมืองแร่แห่งประเทศไทยหลายสมัย เป็นตัวแทนผู้ค้าแร่เพื่อทำสัญญาราคาแร่ กับกลุ่มผู้ค้าแร่ระหว่างประเทศหลายฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ - ๒๕๒๕ นอกจากนี้ก็ยังเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยไปประชุมร่วมกับสมาคมผู้ค้าแร่ระหว่างประเทศในวาระต่าง ๆ  ไม่น้อยกว่า  ๕๐  ครั้ง โดยที่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวทั้งหมด เคยร่วมอยู่ในคณะฑูตการค้าแร่ของประเทศไทยไปเยือนประเทศสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป

ขณะเดียวกันตระกูล "บุญสูง" ก็ประสบปัญหาการบริหารการจัดการแบบครอบครัวซึ่งความขัดแย้งของลูกหลานหลังมรณกรรมของจุติ บุญสูง และทำให้กิจการในเครือกลับถดถอยจากความเป็นยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมชั้นนำแห่งภาคใต้ในอดีตสมัยจุติ บุญสูง ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นโดยเฉพาะในบริษัทอีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) และบริษัทตรีเพชรอีซูซุ

แต่ปัจจุบันกิจการในตระกูลบุญสูงมีการลงทุนในภูเก็ตกระจุกตัวในกิจการค้าในนามบริษัท "จุติพาณิชย์" ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ "อีซูซุ" ในเขตภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงาและนครศรี-ธรรมราช กิจการโรงแรมเจ.บี.โฮเต็ลที่หาดใหญ่ และกิจการเหมืองแร่ที่ยังคงมีอยู่คือบริษัทเรือขุดแร่จุติ เรือขุดแร่บุญสูง นอกจากนี้ยังมีกิจการบ้านจัดสรร "หมู่บ้านบุญสูง" ด้วยและมีการถือหุ้นบ้างในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นบริษัทไทยน้ำทิพย์ บริษัทจี เอส สตีล บริษัท เรโนล์ดอะลูมิเนียม

กิจการเหล่านี้มีลูกที่เกิดจากจุติ บุญสูงกับภรรยา 3 คนเป็นผู้ดูแล ผู้ที่มีบทบาทในช่วงเวลาที่ผ่านมามากคือไมตรี บุญสูง ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีภูเก็ต แต่ต่อมาไมตรีได้เพลามือด้านการบริหารธุรกิจหันไปหาความสงบทางศาสนา ขณะที่ประหยัด บุญสูงคุมกิจการเรือขุดแร่บุญสูงและกิจการในกรุงเทพฯ

ดังนั้นผู้บริหารที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของกิจการในตระกูลนี้คืออาทร ต้องวัฒนาซึ่งเป็นลูกเขยจุติ บุญสูง ปัจจุบันเป็นประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต

และในปีนี้เองอาทรก็ได้ประกาศแยกตัวออกมาทำกิจการค้าส่วนตัวเองในนามบริษัทเอ.อาร์ ซึ่งค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเนชั่นแนล และค้ารถมอเตอร์ไซค์ในลักษณะขายหรือให้เช่าซื้อและยังมีแผนกบริการท่องเที่ยวด้วย

"การแยกตัวของอาทรครั้งนี้มองได้หลายแง่ แต่ในสายตาผมว่าเขามีฝีมือคนเชื่อถือ เขามากในทางธุรกิจและราชการถ้าเขาไม่มีฝีมือก็คงเป็นลูกเขยจุติไม่ได้ และการที่เขาแยกก็เป็นการเปิด โอกาสให้น้องเมียด้วย" แหล่งข่าวกล่าว



ตระกูล อุปัติศฤงค์



อีกตระกูลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในด้านการถือครองที่ดินสวนยางนับหมื่นไร่ก็คือ "อุปัติศฤงค์" ต้นตระกูลคือหงอฮั่นก๋วน พ่อม่ายจีนที่เติบใหญ่จากบริษัทไทยทองรับซื้อแร่ดีบุกและสวนยาง หงอฮั่นก๋วนมีลูกชายคือซันเหล แซ่หงอ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อจเร อุปัติศฤงค์

กิจการเริ่มต้นจากร้าน "ซินฮ่องซุ่ย" ขายของชำเล็ก ๆ และเคยเปิดโรงเหล้ากะทู้ขายเหล้าขาวตรารวงข้าวแต่ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว และขณะนี้ตระกูลอุปัติศฤงค์เติบใหญ่กลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของเบียร์ตราสิงห์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในปัจจุบัน

การลงทุนของตระกูลจะมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวแนบแน่นจากการแต่งงานกับตระกูลหงษ์หยก ตันติวิทและจินดาพล เช่นในอดีตการร่วมลงทุนกับตระกูลตันติวิท ทำเหมืองในนามบริษัท บ่วนหงวนตินไมนิ่ง และตั้งโรงงานยางแผ่นรมควันส่งออกนอกประเทศชื่อบริษัทภูเก็ตทองสินโดยมีจเรบริหาร ส่วนบริษัทสหการอุตสาหกรรมและสวนยางก็เป็นกิจการที่ทายาทลูกสาวหงอฮั่นก๋วนชื่อเบญญาดูแลร่วมกับสามีอรัญ จินดาพล

ในรุ่นที่สามของตระกูล นอกจากความเป็นปึกแผ่นของกิจการตัวแทนขายเบียร์รายใหญ่ในภูเก็ตแล้ว การลงทุนในกิจการพัฒนาที่ดินในนามบริษัทยูไนเต็ด พร็อพเพอตี้ ก็เกิดขึ้นด้วยการทำบ้านจัดสรร "ภูเก็ตวิลล่า" ขาย


นอกจากนี้ยังมีการลงทุนที่ร่วมกับจินดาพลและทุนต่างประเทศคือบริษัท MUREX ในโครงการบลู แคนยอนซึ่งใช้เนื้อที่ 1,830 ไร่ทำบ้าน 135 หลัง คอนโดมิเนียม 4 ชั้นและสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐานพร้อมสปอร์ตคลับ


การที่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบโตเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ทุนท้องถิ่นที่สำคัญดังกล่าวสามารถขยายการลงทุนไปในภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ได้นอกเหนือจากการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่แต่ในธุรกิจที่เป็นแกนหลัก เป็นหนทางที่จะทำให้ทุนท้องถิ่นเหล่านี้พร้อมที่จะ ก้าวไปสู่ธุรกิจสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่แท้จริงของเศรษฐกิจภาคใต้ !!

อีกหนึ่งตระกูลเก่าบนเกาะภูเก็ตที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากตระกูลอื่น กระจายตัว แยกมรดก แยกธุรกิจออกจากกันเมื่อ 20 ปี ภายใต้ฐานธุรกิจ ท่องเที่ยว อันสามารถรักษาธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรง เพียงใด

ตระกูลเอกวานิช


ตระกูลเอกวานิช" เริ่มต้นตระกูล และธุรกิจจาก "ก๋วน แซ่ตั้ง"ชาว จีนหนุ่มโสด แผ่นดินใหญ่จากมณฑลฮกเกี้ยนหอบเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากที่ภูเก็ตเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว ก๋วนเริ่มทำงานครั้งแรกใน ภูเก็ตด้วยการเป็นลูกจ้างในเหมืองแร่ของชาวจีนด้วยกัน

หลังจากเป็นลูกจ้างในเหมืองแร่พอ มีประสบการณ์และเก็บเงินได้มากพอสมควรที่จะออกมาทำธุรกิจของตนเองได้ ก๋วนจึงได้ผันตัวเองจากลูกจ้างเหมืองแร่ มา ขอสัมปทานทำเหมืองแร่ของตนเองที่บริเวณ บ้านลักกงสี (ซอยสวนผัก หลังโรงเรียนประสาท ในปัจจุบัน) อยู่ใกล้ๆกับเหมืองของ ตระกูลหงษ์หยก ทำเหมืองแร่ของตนเองเหมืองแรกจนประสบความสำเร็จ ได้ขยายเหมืองแร่เพิ่มที่บริเวณบ้านสามกองอีกหนึ่ง เหมือง และได้แต่งงานกับสาวชาวพังงา มีลูกด้วยกัน 1 คน ชื่อนายโท แซ่ตั้ง

หลังจากที่นายโทเติบโตเป็นหนุ่ม ได้ เข้ามาช่วยกิจการเหมืองแร่ของครอบครัวจน เจริญขึ้นเรื่อยๆ และได้ขยายกิจการออกไป โดยการพลิกที่ดินที่ร้างจากการทำเหมืองแร่ และที่ดินที่อยู่สูงเป็นเนินไม่สามารถทำ เหมืองแร่ได้ มาปลูกยางพาราประมาณ 300 ไร่ ในที่ดินสัมปทานเหมืองแร่ และได้แต่งงานกับสาวภูเก็ตมีลูกด้วยกัน 6 คน ทำ เหมืองแร่มาเรื่อยๆ และได้ก่อตั้งบริษัท "บ่านเส่งลอง"ขึ้นมาบริหารธุรกิจเหมืองแร่และสวนยางพาราของตระกูลเอกวานิช จนลูกๆ สามารถทำงานช่วยเหลือกิจการของครอบครัว ได้ขยายกิจการเหมืองแร่ไปยังอำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา,ตรัง,ระนอง หาดใหญ่ และขยายกิจการสวนยางพาราไปยังจังหวัด กระบี่

นอกจากกิจการเหมืองแร่แล้ว ตระกูลเอกวานิช ในสมัยนั้นยังได้ขยายกิจการออกไปอีกมากมายเช่นเดียวกับตระกูลอื่นๆ เช่น ตั้งโรงเลื่อยที่อำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา โรงน้ำแข็งที่จ.ภูเก็ต และสงขลา ในนามบริษัท ประมงวิชิต จำกัด รวมทั้งขยายไปทำสวนมะพร้าว ที่จ.สงขลา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอกวานิชและพี่น้อง จำกัด บริหารกิจการทุกอย่างของ ตระกูลเอกวานิช

ธุรกิจของตระกูลเอกวานิช ดำเนินมาเรื่อยๆ และถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้กับทายาทรุ่นต่อๆมา ในการทำกิจการเหมืองแร่และสวนยางพารา จนหมดยุค เหมืองแร่ แร่ดีบุกราคาตกต่ำ การท่องเที่ยว เข้ามาแทนที่ ที่ดินรกร้างจากการทำเหมืองแร่มีค่าดุจทองคำ การขยายกิจการออกไปทำธุรกิจอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทุกตระกูลเก่าในภูเก็ต ต้องรีบฉกฉวย

ขณะนี้ทายาทของตระกูลเอกวานิช มีไม่ต่ำกว่า 200 คน ออกไปทำธุรกิจของตน เองกันเกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายหนังสือ ร้านจำหน่ายจิวเวลรี่ จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และพัฒนา ที่ดินทั้งในภูเก็ตและกรุงเทพ ฯ

กล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ กิจการเก่าแก่ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างฐานะที่เหลืออยู่ในกงสีของตระกูลเอกวานิช ภายใต้การบริหารงาน ของบริษัทเอกวานิชและพี่น้องมีเพียงสวนยางพารา และโรงน้ำแข็ง ในนามของบริษัทประมงวิชิตเท่านั้น

แม้ว่าบรรพบุรุษของตระกูลเอกวานิชจะแบ่งมรดกให้ทายาทตามความเหมาะสม ทายาทตระกูลเอกวานิชที่รับช่วงมรดกได้มีการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจจากกิจการเหมืองแร่ และสวนยางพารา เข้าสู่ยุคการท่องเที่ยวรุ่งเรือง เฉกเช่นเดียวกับตระกูลอื่นๆ บนเกาะภูเก็ต ที่ใช้ความได้เปรียบที่มีที่ดินจำนวนมากเป็นของตนเอง ชิงความได้เปรียบในการบุกเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว

จากสายตาที่ยาวไกลของคนในตระกูลเอกวานิช มองเห็นศักยภาพการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของเกาะภูเก็ต ทายาท เอกวานิช จึงได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว อย่างเต็มตัว โดยการลงทุนหลายร้อยล้านบาท ขึ้นโรงแรมระดับสี่ดาว บนพื้นที่ริมเขา หาดป่าตองกว่า 40 ไร่ ชื่อโรงแรม ไดมอนด์ คลิฟ รีสอร์ท จำนวน 220 ห้อง และโรงแรม บ้านสุโขทัย ริมหาดป่าตองอีก 180 ห้อง และ โรงแรมอื่นๆ อีกมากมาย หากรวมโรงแรมที่ลงทุนโดยทายาทตระกูลเอกวานิชบนเกาะภูเก็ตตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ห้อง


และในปี 2534 ทายาทตระกูลเอกวานิชยังได้พลิกพื้นที่สวนยางพาราขยายการ ลงทุนก่อสร้าง"อุทยานอาหารไทนาน" ซึ่งเป็น อุทยานอาหารที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะภูเก็ต บน พื้นที่ 62 ไร่ บริเวณสี่แยกถนนวิชิตสงคราม ทางไปหาดป่าตอง เป็นอาคารทั้งหมด 6 หลัง ทำด้วยไม้สักทั้งหมด เพราะเห็นว่าภูเก็ตเป็น เมืองท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีอนาคตสดใส ซึ่งก็เป็นจริงตามความคาดหมาย เพราะขณะนี้อุทยานอาหารไทนาน ได้รับความสนใจจากลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก

ภายในภาวะที่การท่องเที่ยวของเกาะภูเก็ตได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ธุรกิจโรงแรมของทายาทตะกูลเอกวานิช ย่อมที่จะได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกับโรงแรม อื่นๆบนหาดป่าตอง เมื่อปี 2539 ผู้บริหารโรงแรมไดมอนด์จึงได้ตัดสินใจลงทุนขยาย โรงแรมออกไปอีกและยกระดับโรงแรมให้เป็นโรงแรมระดับห้าดาวบนหาดป่าตอง เพื่อ รองรับนักท่องเที่ยวในระดับที่สูงขึ้น

ทายาทเอกวานิช ทุ่มทุนอีก 470 ล้าน บาท เพิ่มห้องพัก อีก 110 ห้อง ทำให้ ไดมอนด์ คลิฟ รีสอร์ท มีห้องพักทั้งหมด ขณะนี้ 330 ห้อง

โสภณ เอกวานิช ประธานบริหารบริษัท เอกวานิชและพี่น้อง จำกัด หนึ่งในผู้ บริหารโรงแรมไดมอนด์ คลิฟ รีสอร์ท เล่าให้ฟังว่า ตามแผนที่วางไว้กลุ่มทายาทตระกูลเอกวานิชที่บริหารโรงแรมไดมอนด์ คลิฟ รีสอร์ท จะลงทุนขยายโรงแรมออกไปอีก 100 กว่าห้อง และยกระดับให้เป็นโรงแรมระดับห้าดาว ใช้เงินลงทุน 470 ล้านบาท พร้อมกับการขยายการลงทุนด้าน โรงแรมอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะเปิดโรงแรมใหม่ที่บริเวณริมหาดกมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต จำนวน 350 ห้อง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท เพราะมีที่ดินอยู่แล้วประมาณ 60 ไร่ คาดว่าจะเริ่มลง มือก่อสร้างในปี 2539 และจะเร่งให้เสร็จเปิดรับนักท่องเที่ยวไฮซีซั่นปีนี้ ซึ่งตอนนั้นธนาคารพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้ แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำธนาคารให้มีการประเมินโครงการใหม่ ทำให้โครงการต้องชะลอมาจนถึงขณะนี้ก็ไม่สามารถหาเงินกู้มาลงทุนได้

เท่าที่คุยกับธนาคารคงจะไม่ต่ำกว่า 2 ปี ธนาคารจึงจะกล้าปล่อยสินเชื่อให้ ทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจโรงแรม ในภาวะที่การท่องเที่ยวของภูเก็ตกำลังบูมมากๆ ห้องพักที่มีอยู่ตามริมหาดไม่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยว

ตอนนั้นได้ลงทุนในการจ้างบริษัทเขียนแบบแปลนและปรับพื้นที่ ถนน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไปแล้วหลายสิบล้านบาท ถึงตอนนี้โครงการก็ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม กลับต้องมารับภาระจ่ายดอกเบี้ยอยู่ทุกเดือน

โสภณบอกว่าแม้โดยภาพรวมแล้ว พิษเศรษฐกิจตกต่ำจะไม่กระทบกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้วมากนัก จากที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องอยู่ในวงการท่องเที่ยวเกือบ ทั้งหมดก็ตาม เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำการท่องเที่ยวของภูเก็ตบูมมากๆ นักท่อง เที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถที่ จะขยายกิจการเพิ่มขึ้นได้ทั้งๆที่มีตลาดรอง รับอยู่แล้ว อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะการ ก่อสร้างโรงแรมได้กู้เงินมาจากต่างประเทศ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยที่ เพิ่มขึ้นเท่าตัวโดยภาวะจำยอม

ในส่วนของโรงแรมที่เปิดดำเนินการ อยู่แล้ว แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนที่อื่นๆ แต่ก็ทำให้กำไร ลดลงไม่ต่ำกว่า 20% จากปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2541 ก็ได้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอีก 10% ในปีนี้ ทำให้เสมอตัวพอประคองธุรกิจอยู่ได้

แม้ว่าธุรกิจของทายาทตระกูลเอกวานิชจะกระจายอยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวเกือบจะทั้งหมด ไม่เจ็บตัวมากนักในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เราก็ไม่ได้ประมาท มีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อประคับประคองให้รายได้พอกับรายจ่าย รวมทั้งมีความรอบคอบในการขยายการลงทุนออกไปในช่วงนี้

ตระกูล ถาวรว่องวงศ์




"ตระกูลถาวรว่องวงศ์"หรือ"ติลกกรุ๊ป"ตระกูลเก่าแก่อีกตระกูลหนึ่ง ในภูเก็ตที่เริ่มบุกการทำธุรกิจมาช้านาน ยังใช้การบริหารจัดการแบบกงสี และคงรูปแบบดังกล่าวตลอดไป แม้ธุรกิจโรงแรมของเขาจะมีการแข่งขันกับเครือธุรกิจระดับโลกอย่างเข้มข้นก็ตาม

การดำเนินธุรกิจของติลกกรุ๊ป ค่อนข้าง จะราบเรียบไม่โลดโผนมากนัก มีการ สร้างฐานธุรกิจเป็นเวลาร้อยๆ ปี เหมือนกับ ตระกูลเก่าแก่อื่นๆในภูเก็ต ที่จุดเริ่มต้นเกือบ ทุกตระกูล จากการเป็นนายเหมือง นายหัวสวนยาง ก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ธุรกิจด้านการ ท่องเที่ยว หรือพัฒนาที่ดินในปัจจุบัน

ติลกกรุ๊ปก็เช่นเดียวกัน เริ่มจาก "อ๋องซิมผาย" อพยพจากเมืองจีนเข้ามาทำมาหากินที่ภูเก็ตด้วยการทำเหมืองแร่ และถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้กับลูกชายคือติลก ถาวรว่องวงศ์ รับช่วงการทำเหมืองแร่ และสวนยางพาราใน 14 จังหวัดภาคใต้

ติลกกรุ๊ปได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิก การลงทุนด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวของ เกาะภูเก็ต เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มต้น จากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาจังหวัดภูเก็ตและเห็นว่าคนภูเก็ตในสมัยนั้น ไม่ยอมลงทุนด้านอื่นๆ เลยนอกจากเหมือง แร่และสวนยางพารา น่าที่จะพัฒนาด้านอื่นๆ บ้างเพื่อให้ภูเก็ตเจริญกว่าที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น

จากจุดนั้น ติลกกรุ๊ปจึงได้ตัดสินใจ ทุ่มทุนกว่า 10 ล้านบาท สร้างโรงแรมแห่งแรกของเกาะภูเก็ตจำนวน 200 ห้อง ที่บริเวณ ถนนรัษฎา ชื่อ"โรงแรมถาวร"

"สมัยที่ขึ้นโรงแรมถาวรใหม่ๆ ลำบาก มาก ลูกค้ามาใช้บริการน้อยมาก บางวันมีแขกพักแค่ 4 ห้องก็ยังมีเลย เพราะสมัยเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ภูเก็ตยังไม่มีความสะดวก ด้านการคมนาคมขนส่ง ไม่มีสะพานเชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตกับพังงาต้องใช้แพขนานยนต์เชื่อมระหว่างกัน" เจริญ ถาวรว่องวงศ์ ผู้อำนวยการบริษัทในเครือ ติลกกรุ๊ป เล่า

เจริญเล่าต่อว่า ตอนนั้นต้องกัดฟัน บริหารโรงแรมเรื่อยๆ มา แม้ว่าจะตกอยู่ใน สภาวะขาดทุน เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรในเมื่อ ได้ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องเปิดไปเรื่อยๆ แต่โชคก็เข้าข้างจนได้เพราะ 8-9 ปีหลังจากนั้น รัฐบาลได้ลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกในภูเก็ต มีการก่อสร้างสะพานเชื่อมพังงากับภูเก็ต การคมนาคมขนส่งดีขึ้น เริ่มมีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย และคนต่างประเทศที่มาติดต่อธุรกิจเหมือง แร่ สวนยางพารา พนักงานขายของ และข้าราชการ นักท่องเที่ยวน้อยมาก หลังจากนั้นไม่กี่ปีติลกกรุ๊ปยอมทุ่มทุนอีก ขึ้นโรงแรมพีเอสอินน์ในตัวเมือง ภูเก็ตอีก 200 ห้อง ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเริ่มหมดยุคทองของแร่ดีบุกใน ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามา ภูเก็ตประปรายตามชายหาดต่างๆ ติลกกรุ๊ป ได้ปรับแผนการลงทุนครั้งใหม่ จากที่เคยลงทุนทำโรงแรมในตัวเมืองภูเก็ต ขายห้องพักได้แต่ลูกค้าคนไทย ติลกกรุ๊ปเบนเข็มมุ่งหน้าสู่ชายหาด โดยยึดหัวหาดธุรกิจโรงแรมบริเวณชายหาดเป็นรายแรกๆ ของภูเก็ต ที่หาดกะรนและหาดนาคาเล ติดกับหาดกะหลิมและหาดป่าตอง

การตัดสินใจขึ้นโรงแรมระดับห้าดาวที่หาดกะรน ธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตยังไม่บูม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดย เฉพาะจากยุโรปเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวตามหาด ต่างๆ มากกว่าตอนที่ขึ้นโรงแรมครั้งแรก

โดยเริ่มแรกได้ลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท ขึ้น"โรงแรมถาวรปาล์มบีช" ที่หาดกะรน จำนวน 75 ห้องก่อน และ"โรง แรมถาวรเบย์รีสอร์ท"ที่หาดนาคาเลอีก 30 ห้อง เพราะตอนนั้นยังไม่มั่นใจว่าการท่องเที่ยวของภูเก็ตตามหาดต่างๆ จะบูมมากน้อยแค่ไหน

เหมือนกับว่าติลกกรุ๊ปจะจับทิศทาง ธุรุกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตได้ถูกจุด เพราะหลังจากที่ตัดสินใจขึ้นโรงแรมชายหาดทั้ง 2 แห่ง เพียงปีกว่าๆ ธุรกิจการท่องเที่ยวของภูเก็ตบูมขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ขยายการลงทุนทั้ง สองโรงแรมเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว เพิ่ม ห้องพักเป็นโรงแรมละ 210 ห้อง

การทำโรงแรมตามชายหาดในช่วง แรกเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างลำบาก เพราะขณะนั้นโรงแรมตามชายหาดมีน้อยมาก โรงแรมที่บริหารโดยเชนที่มีมาตรฐานสากลยังไม่เข้ามาตามชายหาด ทำ ให้ไม่มีตัวอย่างที่สามารถยึดเป็นแบบได้ ติลกกรุ๊ปจึงทำโรงแรมชายหาดอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยว และการบริหารรวมทั้งการจัดการจะต้องกำหนดรูปแบบทุกอย่างเองทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรกการบริหาร จัดการ การตลาด การกำหนดราคา กลุ่มลูกค้าค่อนข้างจะสะเปะสะปะมาก

"พูดง่ายๆ ว่าการทำโรงแรมในช่วงนั้นไม่มีทิศทางที่แน่นอน แต่ทำมาได้ระยะหนึ่งพอเริ่มมีประสบการณ์ สามารถที่จะกำหนดการบริหารจัดการ กำหนดกลุ่ม ลูกค้า ที่ชัดเจนขึ้น และกำหนดมาตรฐานราคา" เจริญกล่าว

แม้ว่าในช่วงแรกที่จะทำธุรกิจโรงแรมตามชายหาดจะประสบปัญหาบ้าง ติลก กรุ๊ปก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ได้เข้ามาลงทุนขึ้นโรงแรมระดับ 5 ดาวในตัวเมืองภูเก็ต ชื่อ "โรงแรมถาวรแกรนด์พลาซ่า"ทุ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาและล่าสุด เมื่อปี 2539 ได้ทุ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท พัฒนารีสอร์ตชื่อโรงแรมถาวรบีชวิลเลจที่หาดนาคาเลอีก

ไม่ใช่ว่าติลกกรุ๊ปจะมุ่งทำธุรกิจโรงแรมเพียงอย่างเดียว ยังได้มีการขยายการลง ทุนสู่ธุรกิจอื่นๆ อีกหลายกิจการเช่น มีการพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ในเขตตัวเมืองภูเก็ต เป็นแหล่งชอปปิ้งของนักท่องเที่ยว ชื่อ"ติลก ไทม์สแควร์" แตกไลน์ธุรกิจสู่การลงทุนก่อสร้างท่าเรือติลก ที่เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต

นอกจากนี้ติลกกรุ๊ป ยังได้ขยายการ ลงทุนสู่ธุรกิจรถยนต์ โดยการตั้งบริษัท ชนะเจริญอินดัสทรี จำกัด และบริษัท ท็อป สปีดมอเตอร์แอนด์สปอร์ต จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งเอเชียและยุโรป

จนถึงปัจจุบันติลกกรุ๊ปมีบริษัทในเครือหลายบริษัท ซึ่งประกอบด้วย

บริษัท ติลกกรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทแม่ และดูแลธุรกิจด้านการลงทุนพัฒนาที่ดิน ในเขตตัวเมืองภูเก็ต

บริษัทเจริญชนะ 1986 พัฒนาที่ดิน ด้านโรงแรมและรีสอร์ต ในเครือติลกกรุ๊ปทั้งหมด

บริษัทถาวรโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป จำกัด บริหารโรงแรมในเครือถาวรทั้งหมด บริษัท อ๋องซิมผาย จำกัด ดูแลในส่วนของสวนยางพารา

บริษัท ท็อปสปีดมอเตอร์ จำกัด และบริษัทชนะเจริญอินดัสทรี จำกัด ดูแลธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์

หจก.เอนเทอร์เทรนเม้นเฟรส จำกัด ดูแลธุรกิจด้านบันเทิงทั้งหมดในเครือติลก กรุ๊ป

ท่าเรือติลกที่เกาะสิเหร่

โรงกลึงชนะเจริญ

ฟาร์มจระเข้ woodvill

โครงสร้างการบริหารภายในติลก กรุ๊ป ปัจจุบันยังคงมี ติลก ถาวรว่องวงศ์ นั่งเป็นประธานกรรมการ เจริญ เป็นผู้อำนวย การฝ่ายโรงแรม ชนะ ถาวรว่องวงศ์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรถยนต์ และคนที่ถือหุ้นในบริษัทได้แก่ ติลก ภรรยาและลูก ๆ ประ กอบด้วย เจริญ ถาวรว่องวงศ์, ชนะ ถาวร ว่องวงศ์, สุนันทา ถาวรว่องวงศ์, สุมาลี ถาวรว่องวงศ์, ขวัญตา ถาวรว่องวงศ์ และ สุวิมล ถาวรว่องวงศ์

ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ที่ดำเนินการในนามบริษัท ท็อปสปีดมอเตอร์ จำกัด และบริษัทชนะเจริญอินดัสทรี จำกัด และให้ ชนะ ถาวรว่องวงศ์ น้องชายของ เจริญ เป็นผู้ดูแลนั้น เป็นตัวแทนจำหน่าย รถยนต์หลายยี่ห้อ ประกอบด้วย แดวู เบนซ์ โฟล์คสวาเกน ออดี้ และแลนด์ โรเวอร์

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรถยนต์ไม่ใช่ธุร กิจหลักของติลกกรุ๊ป และติลกกรุ๊ปไม่ได้ ให้ ความสำคัญมากนัก เพราะดูจากการทำธุรกิจ รถยนต์ที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร บางช่วงซบเซาถึงกับหยุดกิจการ และบางช่วงก็กลับมาเปิดดำเนินการอีก เป็นเช่น นี้มานานหลายปีแล้ว เนื่องจากขาดประสบ การณ์ด้านการตลาดมากกว่าสาเหตุอื่นเพราะ ธุรกิจหลักของติลกกรุ๊ปคือธุรกิจโรงแรม

ติลกกรุ๊ปตั้งความหวังว่าในอนาคต จะพัฒนาธุรกิจสู่โรงงานผลิตเครื่องหนังจระเข้ส่งออกต่างประเทศ เพราะขณะนี้มีจระเข้ที่เลี้ยงเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 1 หมื่นตัวแล้ว

เจริญกล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือติลกกรุ๊ป ว่า ธุรกิจโรงแรม ทั้งในตัวเมืองและชายหาดผลการดำเนินงานอยู่ในภาวะที่น่าพอใจ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น โรงแรมชายหาดทั้ง 3 โรง อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับ 80-90% ช่วงโลว์ซีซั่น อยู่ที่ 65-70% ลูกค้าส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรงแรมชายหาด เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป ในตัวเมือง เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย โดยมีไต้หวันเป็นกลุ่มหลัก และลูกค้าจากท้องถิ่นบ้างในส่วนของการจัดเลี้ยง และโดยเฉพาะเมื่อ ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมบูมมากๆ โรงแรมในเครือก็ได้รับอานิสงส์จากจุดนั้นด้วย

"ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในเครือติลกกรุ๊ปที่มีอยู่มากนัก แต่ก็กระทบบ้างไม่ถึงขั้นรุนแรงต้องปิดกิจการ เพราะช่วงที่เศรษฐกิจ ตกต่ำมากๆ เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตบูมมากๆ จากการลดค่าเงินบาท ความไม่สงบในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย แม้แต่ช่วงโลว์ ซีซั่น ซึ่งที่ผ่านมาโรงแรมจะลำบาก ห้องพักว่าง แต่ปีสองปีที่ผ่านมาแทบจะไม่มีโลว์ซีซั่น เลยก็ว่าได้"

ส่วนธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนยาง ท่าเรือ ธุรกิจบันเทิง ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมาย เป็นไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ แต่ที่กระทบมากที่สุดคงจะเป็นธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองบริษัท ซึ่งเราเองก็หลีกเลี่ยงผลกระทบในส่วนของยอดขายที่ลดลงไม่ได้ เพราะยอดขายรถยนต์ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แต่ไม่ถึงกับ บาดเจ็บมากจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ

นายเจริญกล่าวว่า ถือว่าเป็นความโชคดีของติลกกรุ๊ปก็ว่าได้ เพราะว่าช่วงก่อน ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้วางแผนที่ จะขยายการลงทุนพัฒนาที่ดินในเขตตัวเมือง ภูเก็ต แต่โครงการที่เสนอขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ไม่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงินในกรุงเทพฯ ทำให้รอดตัวจาก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หากตอนนั้นสถาบันการเงินยอมปล่อยสินเชื่อให้ ถึงตอนนี้ก็คงจะลำบากเหมือนกัน เจริญเผยกลยุทธ์ในการบริหารกิจการในเครือติลกกรุ๊ปช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ว่า ตอนนั้นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมาก จ่าย เฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น และงดการขยาย การลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็ก หรือโครงการใหญ่ๆ

ไม่พึ่ง chain

ไม่เป็นบริษัทมหาชน

ติลกกรุ๊ปก็ยังเป็นอีกหนึ่งตระกูลบน เกาะภูเก็ตที่ยังยึดการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว โดยมีบริษัทติลกกรุ๊ปเป็นบริษัท แม่ควบคุมดูแลกิจการทั้งหมดในครอบครัว โดยมีติลก ถาวรว่องวงศ์ เป็นประธานกรรมการ เจริญ ถาวรว่องวงศ์ ลูกชาย เป็น ผู้ควบคุมดูแลในส่วนของกิจการโรงแรมทั้งหมด และชนะ ถาวรว่องวงศ์ ลูกชายคน เล็ก ดูแลธุรกิจในส่วนของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ทั้งหมด เจริญบอกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจหลักของครอบ ครัวคือโรงแรมมีผลการดำเนินการอยู่ในขั้น ที่ดีพอสมควร ได้มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หลายๆ แห่งเสนอตัวเข้ามาเป็นบริษัทที่ปรึกษา เพื่อเติมแต่งให้ติลกกรุ๊ปเข้าไประดม ทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ ทางเราก็ปฏิเสธไปหลายครั้ง และยังตั้งมั่นที่จะบริหารกิจการในครอบครัวให้โตด้วยคนในครอบครัวของติลกกรุ๊ปเอง เพราะเรา เคยเห็นตัวอย่างในหลายๆประเทศมาแล้ว ว่าการนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จทุกบริษัทเสมอไป มีมากมายที่ประสบ ความล้มเหลว

ในวันนี้ ติลกกรุ๊ปมีโรงแรม และ รีสอร์ตระดับ 5 ดาวอยู่ในมือ 4 แห่ง ที่บริหารจัดการด้วยตัวของติลกกรุ๊ปเองในนามของ "ถาวร โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป" (THAVORN HOTEL & RESORT GROUP) โดยไม่มีการดึง chain จากต่าง ประเทศหรือในประเทศที่เป็นมืออาชีพในการบริหารโรงแรมเข้ามาบริหารแต่อย่างใด ติลกกรุ๊ปบริหารโรงแรมของตัวเอง และ ได้ตั้งปณิธานไว้ที่จะนำ Tharvorn hotel & resort group เข้าสู่มาตรฐานของโรงแรม chain สากล

"ที่ผ่านมา chain ทั้งในและต่างประเทศหลายรายได้ติดต่อเข้ามาบริหารโรงแรมในเครือทั้งหมด แต่ก็ปฏิเสธเขาไปเหมือนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์"

เจริญกล่าวว่า การที่ติลกกรุ๊ปไม่ต้องการให้ chain เข้ามาบริหารจัดการโรงแรมในเครือ เพราะทั้งประธานบริษัทและตนมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการให้ต่าง ชาติเข้ามาควบคุมการทำงานในครอบครัว ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาตั้งกฎระเบียบใน การทำงานของครอบครัว และไม่ต้องการที่จะให้ชื่อ chain เข้ามาเกี่ยวข้องกับชื่อของโรงแรม แม้ว่ายอดขายและราคาจะสูงไม่เท่ากับการบริหารโดย chain ต่างชาติ แต่ เราก็มีความภูมิใจที่จะบริหารแบบคนไทย และมีอิสรภาพในการบริหารโดยไม่ต้องเดินตามคำสั่งของฝรั่งทั้งหมด

เจริญย้ำว่า ถึงตอนนี้ติลกกรุ๊ปยังยึดมั่นในความคิดเดิมที่จะบริหารโรงแรมใน เครือด้วยตัวเองแทนที่จะนำ chain เข้ามาบริหาร เพราะเรามองว่าระบบการจัดการต่างๆ ที่ฝรั่งนำเข้ามาบริหาร เราสามารถที่สร้างขึ้นเองได้ และใช้ระบบการบริหารด้วยตัวของเราเอง อย่างกรณีของการให้บริการต่างๆ คนไทยก็สามารถที่จะฝึกฝนให้เหมือนกับฝรั่งได้ ถึงวันนี้โรงแรมในเครือก็สามารถที่ จะประคองตัวเองได้ แม้ว่าจะไม่โตเท่ากับโรง แรมที่บริหารโดย chain ต่างประเทศก็ตาม

นอกจากนี้แล้วการบริหารโดย chain จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารค่อน ข้างจะสูงกว่าบริหารด้วยตัวเอง และในความคิดของติลกกรุ๊ปเห็นว่าการบริหารโดย chain ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป มีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่บริหาร โดย chain แล้วล้มเหลวต้องกลับมาบริหารโดยคนในครอบครัวเอง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ติลกกรุ๊ปไม่ยอมใช้ chain เพราะเชื่อมั่นในจุดเด่นของโรงแรม ที่เน้นพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติมาก กรณีของโรงแรมถาวรปาล์มบีซ ใช้พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 65 ไร่ แต่สร้างห้องพักเพียง 200 กว่าห้องเท่านั้น ซึ่งหากไม่เน้นธรรมชาติและ ความร่มรื่นแล้ว จะสามารถสร้างได้ประมาณ 400-500 ห้อง โรงแรมถาวรเบย์ ก็เช่นกัน จะเน้นพื้นที่ธรรมชาติมากกว่าการก่อสร้างอาคาร นอกจากนี้แล้ว การตกแต่งโรงแรม ในเครือถาวรที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การตกแต่งภายในตัวโรงแรมด้วยประติมากรรม ภาพเก่า ๆ ที่บ่งบอกความเป็นวรรณกรรมเก่า ๆ ของไทย เพื่อบ่งบอกวัฒนธรรมและ วิถีความเป็นไทยให้กับนักท่องเที่ยว และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือ บริเวณ โรงแรมถาวร ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของ ติลกกรุ๊ป และภูเก็ต ได้มีการตกแต่งด้วยภาพเก่าที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวภูเก็ตในสมัยก่อน เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น

ส่วนเรื่องการบริการในห้องพักนั้น ไม่แตกต่างจากโรงแรมทั่วๆ ไปในภูเก็ต และขณะนี้ทางติลกกรุ๊ป กำลังมุ่งการพัฒนา ด้านการบริการให้ประทับใจนักท่องเที่ยวให้ มากที่สุด โดยการจ้างชาวต่างชาติเข้ามาฝึก อบรมพนักงานด้านการบริการ มารยาทพนัก งาน เพื่อยกระดับการบริการสู่สากล

เจริญกล่าวว่า ตอนนี้บริหารโรงแรมในเครือด้วยตัวเอง ได้ยึดหลักการบริหารแบบพออยู่พอกิน ตามพระราชดำริของในหลวง ไม่มีการขยายการลงทุนออก ไปมาก เพราะหากขยายธุรกิจออกไปมากเกินไปจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ปัญหาต่างๆ จะ ตามมามากมาย

ส่วนการขยายการลงทุนเพิ่มนั้น ใน ช่วงนี้คงจะไม่ลงทุนเพิ่ม ต้องรอให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน แต่ก็คงจะขยายการลงทุนไปยังกิจการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโรงแรม ซึ่งตอนนี้ได้คิดไว้แล้ว

ถึงวันนี้ ติลกกรุ๊ปยังคงยึดมั่นที่จะ โตด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องดึง chain ต่างประเทศเข้ามาบริหารโรงแรม หรือนำบริษัททั้งหมดในเครือเข้าระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์

ตระกูล หงส์หยก


"หงษ์หยก" เป็นตระกูลเก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งของภูเก็ต โดยต้นตระกูลคือหลวงอนุภาษภูเก็ตการผู้เป็นตำนานนายเหมืองใหญ่ แห่งเมืองภูเก็ตด้วยการริเริ่มทำเหมืองสูบเป็นรายแรกในไทยและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจินหงวนในปี 2482 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อนุภาษและบุตรในปี 2485

หลวงอนุภาษภูเก็ตการ เป็นเจ้าของที่ดินสวนมะพร้าวและสวนยางที่ตำบลไม้ขาว นับพัน ๆ ไร่ โรงงานทำน้ำมันมะพร้าว โรงงานทำสบู่ เรือเดินทะเลชื่อทุ่งคาและยังเป็นเจ้าของเหมืองแร่อีก 6 แห่ง คือ เหมืองที่จังหวัดพังงา 3 แห่งชื่อเหมืองเรือขุดหินลาด เหมืองบางนุ เหมืองท่าซอ และเหมืองที่ภูเก็ต 2 แห่งคือเหมืองเจ้าฟ้าและเหมืองตีนเล และเหมืองนาสารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ยิ่งมาในปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา ราคาแร่ดีบุกสูงขึ้นหลวงอนุภาษฯได้บูรณะเหมืองเก่าที่ปิดระหว่างสงครามโลกคือเหมืองเบ้อั้ว ต.กระทู้และเปิดเหมืองใหม่ชี่อเหมืองระเง็ง และขอประทานบัตรเพิ่มอีก 3 แปลงและได้ซื้อที่เหมืองแร่ที่จังหวัดระนองอีก 2 แปลงและมีโรงแต่งแร่ และเมื่อราคาแร่ดีบุกสูงขึ้นในปี 2522 จึงทำให้เกิดการขยายพื้นที่เหมืองแร่เพิ่มขึ้นเช่นเหมืองตีนเป็ดและเหมืองที่ไม้หลา นอกจากนี้ยังเคยมีคนคิดจะทำเหมืองที่ยะลาแต่ก็ไม่ได้ทำเพราะเหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

กิจการของตระกูลหงษ์หยกยังมีโรงน้ำแข็งซึ่งเกิดขึ้นเพราะกำลังไฟฟ้าที่บริษัทผลิตขึ้นใช้ทำเหมืองเหลือ และเมื่อหมดความจำเป็นเพราะบริษัทซื้อไฟฟ้าฯได้แล้วประกอบกับการค้าน้ำแข็งขาดทุนเพราะลูกหนี้ค้างชำระสูง จึงได้ขายกิจการและที่ดินเกือบ 4 ไร่ให้กับโรงน้ำแข็งทุ่งทองไปเป็นเงิน 3,700,000 บาทในปี 2520

นอกจากนี้ตระกูลหงษ์หยกยังมีโรงกลึง โรงไฟฟ้าท่าเรือคลองจีน ต่อมาตระกูลหงษ์หยกในรุ่นที่สามได้ขยายไปสู่กิจการค้าปลีกปั๊มน้ำมันเชลล์ 2 แห่งและบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าและมาสด้า ตลอดจนสนามกอล์ฟแห่งแรกของภูเก็ต

หลวงอนุภาษภูเก็ตการเดิมชื่อ "จินหงวน หงษ์หยก" เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดที่ตำบล กะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีบุตรชายหญิงทั้งสิ้น 10 คนคือฮักเหลี่ยง ฮักฮู่ หลุยเจ้ง ฮักจู้ ฮักเอก ฮักหยิน ยู่เป๊ก และยู่อี๋ แต่ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารกิจการของตระกูลก็มีฮักเหลี่ยง หรือวิรัชบุตรชายคนโตซึ่งถึงแก่กรรมแล้วและฮักจู้หรือคณิตซึ่งเป็นลูกชายคนที่สามของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ต่อมาฮักจู้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมนูญ และในปี 2501 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณิต พร้อมๆกับพี่ชายคือธนูหรือฮักฮู่ที่เปลี่ยนเป็นชื่อวีระพงษ์ "เขาถือเรื่องโชคลางจึงเปลี่ยนชื่อ" คนเก่าแก่ในภูเก็ตเล่าให้ฟัง

ปัจจุบัน การบริหารทั้งหมดในเครือบริษัทอนุภาษและบุตร ตกมาถึงทายาทรุ่นหลานซึ่งมี ภูมิศักดิ์ หงษ์หยกหรือเรียกกันว่า "โอมี่" เป็นกรรมการผู้จัดการบริหารกิจการในบริษัทอนุภาษและบุตรอยู่สืบต่อจาก ณรงค์ หงษ์หยก ผู้เป็นอา

"โอมี่เป็นชื่อของผมที่พระจีนจากศาลเจ้าพุทธจ๊อที่ข้างตลาดสดตั้งชื่อให้ โดยมาจากคำว่าโอมิโตพุทธซึ่งเป็นภาษาฮกเกี้ยน ถ้าเป็นภาษาจีนกำลังภายในก็เรียก โอมิโตโฟ พอเป็นภาษาไทยก็เรียกสั้นๆว่าโอมี่" โอมี่เล่าให้ฟัง

โอมี่เป็นลูกชายคนเดียวในหมู่พี่น้อง 6 คนเป็นบุตรที่เกิดจากคณิตและเพ็ญศรี จบการศึกษามัธยมต้นจากรร.ดาวรุ่งวิทยา และจบปริญญาตรีเกียรตินิยมจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โอมี่เคยรับราชการทหารที่สำนักงานปลัดบัญชี กองบัญชาการทหารสูงสุดและเมื่อ ลาออกจากราชการก็ได้เข้าบุกเบิกกิจการบริษัทตัวแทนขายรถยนต์มาสด้าและฮอนด้าและกิจการปั๊มน้ำมันและสนามกอล์ฟ "ภูเก็ตคันทรีคลับ"

ในระยะตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมากิจการบริษัทอนุภาษและบุตรซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ตั้งมานานต้องขาดทุน เพราะกิจการเหมืองแร่ประสบปัญหาสวนมะพร้าวก็ให้ผลไม่คุ้มกับการลงทุน กิจการหลายอย่างถูกขายไปเช่นโรงน้ำแข็งและโรงกลึง เพราะหมดความจำเป็น

เหมืองแร่ที่เคยเป็นรายได้หลัก 80-90%ของกิจการทั้งหมด ก็เสื่อมถอยจนกลายเป็นกิจการที่ขาดทุนอยู่เดือนละล้านบาท การประคับประคองได้ถึงจุดสุดท้ายด้วยการปิดเหมืองเจ้าฟ้าเนื้อที่ 1,500 ไร่ซึ่งเป็นเหมืองสุดท้ายที่เปิดทำเหมืองอยู่หลังจากที่ต้องหยุดกิจการเหมืองทุ่งทองและเหมืองห้วยยอดไปเมื่อต้นปี 2530 ที่ผ่านมา เหมืองเจ้าฟ้าเป็นชื่อที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ประทานชื่อให้เมื่อปี 2463

"อนาคตของเหมืองแร่ในภูเก็ตคงจะจบในเร็วๆนี้ แต่ก่อนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ภูเก็ตเคยมีเหมืองบนบก 48 แห่งแต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 3 แห่งและผมจะปิดเหมืองเจ้าฟ้าซึ่งดำเนินการมา 70 ปีในวันสองวันนี้ เพราะทำแล้วไม่คุ้ม เราได้แร่ดีบุกเดือนละประมาณ 40-100 หาบๆละ 60 กิโลกรัม และราคาดีบุกก็ตกต่ำมาตลอด 4 ปีและมีสต็อกเหลือในตลาดอีกมาก" โอมี่เล่าให้ฟัง

วิกฤติการณ์ของแร่ดีบุกเกิดขึ้นในราวปลายปี 2528-2529 กิจการเหมืองส่วนใหญ่ในภูเก็ตขาดทุนจนต้องปิดเหมืองลงเพราะราคาดีบุกตกต่ำ สต็อกดีบุกในตลาดโลกมีมาก และตลาดดีบุกที่กัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียต้องปิดตัว

เมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของภูเก็ตเป็นเช่นนี้ ผลกระทบนี้ก็ทำให้ฐานะของตระกูลเริ่มทรุดด้วยปัญหาหนี้สินและปัญหาการบริหารระบบครอบครัวภายในของตระกูลหงษ์หยกเอง

สถานการณ์การทรุดลงของเหมืองแร่ ซึ่งเป็นรายได้หลักเป็นแรงบีบบังคับให้เศรษฐีเก่าภูเก็ตต้องปรัยตัวใหม่ แม้ตระกูลหงษ์หยกจะปรับตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่นด้วยปัญหาภายนอกภายในที่รุมเร้าก็ตาม

ตระกูลหงษ์หยกได้แตกตัวไปสู่กิจการปั๊มน้ำมันโดยโอมี่ได้ติดต่อกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทยซึ่งเคยส่งน้ำมันป้อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบริษัทฯ เพื่อทำสัญญาดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันสองแห่งที่สามแยกถนนสุรินทร์และถนนพังงาในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่งทั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนกันฝ่ายละหนึ่งล้านบาทเศษ

ด้วยแนวความคิดการพัฒนาผืนแผ่นดินเหมืองแร่และสวนมะพร้าวสวนยางให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้โอมี่ได้พัฒนาพื้นที่เหมืองแร่จำนวน 1,500 ไร่ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกชาวบ้านโจมตีว่าการทำเหมืองทำใให้พื้นดินเสียหาย แต่วันนี้โอมี่ได้พลิกฟื้นเหมือง แต่ที่ทรุดโทรมเหล่านี้ให้กลายมาเป็นสนามกอล์ฟมาตรฐานขนาด 18 หลุมที่เขียวราวกำมะหยี่ภายใต้ชื่อว่า "ภูเก็ต คันทรีคลับ" เมื่อปี 2530

การทำสนามกอล์ฟของโอมี่ก็เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูเก็ตซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปีการท่องเที่ยวไทยในปี 2530 สนามกอล์ฟนี้อยู่ระหว่างทางจากตัวเมืองไปยังหาดป่าตองอันเป็นแหล่งชุมนุมของนักท่องเที่ยว ทำให้ได้เปรียบทั้งด้านสถานที่และเงินลงทุนที่ต่ำกว่าที่อื่นเพราะไม่ต้องซื้อที่ดินใหม่ แต่ใช้ที่ดินที่ผ่านการทำเหมืองมาแล้วครับ

ความฉลาดในการเจาะช่องทางพัฒนาที่ดินเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของเมืองภูเก็ต ได้นำความสำเร็จและชื่อเสียงมาสู่โอมี่อย่างมาก

"โครงการส่วนมากของบริษัทเราจะหวังผลระยะยาว คือไม่ลงทุนหวือหวาและจะเน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเราคิดถึงชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลที่เราทำกันมา 50-60 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะลงทุนหรือก้าวไปด้านไหนก็ตาม เราจึงค่อนข้างช้ากว่ากลุ่มอื่น เพราะเราคิดมากถึงผลกระทบระยะยาวและความรับผิดชอบต่อสังคม" โอมี่เล่าให้ฟัง

โครงการในอนาคตโอมี่เปิดเผยว่ามีอยู่ 4-5 โครงการ คือโครงการโรงแรมขนาดใหญ่ 320-400 ห้องที่มีมูลค่าการลงทุน 1,600 ล้านบาท ที่ชายทะเลหาดไม้ขาวซึ่งเดิมเป็นสวนมะพร้าว "เราได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว" โอมี่เล่าให้ฟัง "ขณะนี้เรากำลังออกแบบอยู่ เหตุผลที่ยังช้าอยู่ เพราะจะเข้าหุ้นกับต่างประเทศ ซึ่งที่น่าเป็นไปได้ก็คือไฮแอท"

ส่วนอีกโครงการหนึ่งก็คือศูนย์การค้าในเมืองซึ่งโอมี่จะพัฒนาที่ดินเก่าของตระกูลให้มีลักษณะเป็น GARDEN CITY สถานที่ตั้งอยู่ถนนพังงาใกล้บริเวณ บขส.

"สำหรับโครงการบ้านจัดสรรตอนนี้เราชะลออยู่เพราะปัญหาวัสดุก่อสร้างขาดแคลน และมีผู้จัดสรรรายอื่นอีกมากเราจึงรอจังหวะอยู่" โอมี่เล่าให้ฟัง

วันนี้โอมี่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ที่ได้รับการเลือกตั้งถึงสองสมัย ๆ ละ 5 ปี แล้วนับตั้งแต่เขาได้กระโดดลงมาในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2523 เขาเป็นหัวหน้าทีม "กลุ่มคนหนุ่ม" ที่ครองเก้าอี้ทั้งหมด 18 ที่นั่งในสภาเทศบาลและในวันที่ 23 กันยายน นี้ก็ คงรู้ว่าโอมี่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสท. สมัยที่สามหรือไม่?

"ตระกูลนี้เล่นการเมืองท้องถิ่นก็คงเพราะเสียงอ้อนวอนของชาวบ้านไม่ได้ และถือได้ว่าตระกูลที่ช่วยเหลือท้องถิ่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงตั้งแต่รุ่นคุณลุงของเขาคือวิรัชเป็นต้น" ประสิทธิ์ ชิณกาญจน์ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต เล่าให้ฟัง

และในปี 2522 ตระกูลหงษ์หยกได้บริจาคที่ดินบริษัทเบอั้วจำนวนประมาณ 70 ไร่ เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันถึงความเป็นเศรษฐีใจบุญของคนในตระกูลนี้

บนบ้านเนื้อที่ 17 ไร่ ที่สนามหญ้าสีเขียวรายล้อมคฤหาสน์โบราณทรงชิโน-โปรตุกีส ที่สร้างขึ้นในปี 2473 โอมี่กลับเป็นคนหนุ่มฉกรรจ์ที่มีความเรียบง่ายด้วยการแต่งกายเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวและกางเกงสีน้ำเงิน สามแว่นกันแดดสีชา

คนหนุ่มวัย 40 ที่เติบโตมากับเหมืองแร่ของตระกูลเก่าแก่ ได้เห็นทั้งความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายของเหมืองแร่ที่คืบคลานสู่ภูเก็ตมาชั่วสามอายุคน และในวันนี้โอมี่คือนักธุรกิจภูเก็ตรุ่นใหม่ที่พัฒนาแผ่นดินแม่ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาข้างหน้า

ตระกูลตันติวิท

//info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=9624

//info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=970

//info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=965

//www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=23829.0










Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 1 มีนาคม 2558 12:04:04 น. 1 comments
Counter : 15731 Pageviews.

 
ช่วยเปลี่ยนภาพด้วยครับ ภาพโรงแรมhansa jb hadyai เดิมเป็น JB Hadtyai ตอนนี้ถูกธนาคารขายเปลี่ยนมือไปแล้วคัรบ เดิมเป็นโรงแรม5ดาว ตอนนี้เป็นHansa แล้วเค้าเปลี่ยนลงมาเหลือไม่ถึง1ดาวแล้วคัรบ จะเสียภาพลักษณ์เก่าๆ รบกวนช่วยเปลี่ยนด้วยคัรบ


โดย: ปราการ IP: 171.96.174.180 วันที่: 2 มิถุนายน 2558 เวลา:21:01:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ethic&philosophy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]





เคล็ดลับของความสำเร็จ คือการลงมือทำ
บล็อกนี้จัดทำครั้งแรกเมื่อ 13 ตค 2552 ขอบคุณทุกท่านที่มาชม (ปล รูปทุกรูปที่ถ่าย มาไม่สงวนลิขสิทธิ์ ครับ) Page Rank

Pool villa rawai-saiyoun

Tambon Rawai, Chang Wat Phuket, ไทย
ที่ของฉันใกล้กับร้านอาหารและของกิน คุณจะรักสถานที่ของฉันเพราะมุมมอง และ ตำแหน่งที่ตั้ง ที่พักของฉันเหมาะกับคู่รัก, นักผจญภัยเดี่ยว, นักเดินทางเพื่อธุรกิจ, ครอบครัว (พร้อมเด็กๆ), และ กลุ่มใหญ่
Friends' blogs
[Add ethic&philosophy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.