คนเขียนหนังสือ ชีวิตเบิกบานในการงาน
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
เอาบทสัมภาษณ์ในกุลสตรีมาฝาก

นิตยสาร กุลสตรี ปักหลังกรกฎาคม
คอลัมน์ ต้นกล้าแห่งการเขียน

แพร จารุ ชวิตนักเขียนใต้ในเมืองเหนือ

ชามา สัมถาษณ์




“ทำไมแพร จารุจึงเลือกไปอยู่เชียงใหม่”

“ทำไมถึงมาอยู่เชียงใหม่...เป็นคำถามง่าย ๆ ที่ชวนให้ตกใจเหมือนกันนะ เหมือนคำถามตรวจสอบตัวเอง ความจริงคนเราเลือกอะไรได้ไม่มากนักหรอก เราต้องหาที่อยู่ที่เหมาะสมกับตัวเองสักแห่งหนึ่ง



บ้านเล็กหลังนี้เป็นที่อยู่ของสองลุงป้า (ป้ายายกับลุงหนอม)


ในที่สุดเลือกมาเชียงใหม่ พอดีช่วงนั้น ค่าเงินบาทลด หนังสือที่ทำปิดตัวทีละเล่ม ภายในเดือนเดียวมันปิดตัวหมด เออ...ดีจะได้หมดเวรหมดกรรมกันไป เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้โงหัวขึ้นมาเลย ทำหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นรีไรเตอร์ เริ่มงานช่วงบ่าย กว่าจะเสร็จงานสี่ห้าทุ่ม อยู่เวรข่าวก็เที่ยงคืน กลับมานอนอีกทีตีหนึ่งตีสอง ชีวิตง่วงนอนตลอดเวลา นอกจากรีไรท์ข่าว เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวันทุกวัน ยังต้องเขียนคอลัมน์ให้หนังสือฐานสัปดาห์วิจารณ์รายสัปดาห์ หนังสือจันทร์รายเดือน ”

ในช่วงนั้น กล่าวได้ว่า แพร จารุ เป็นหนึ่งในนามปากกาของนักเขียนหญิงที่มีชื่อประดับอยู่ตามหน้ากระดาษต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีผลงานเขียนหลายประเภทที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ ทั้งในหน้าวรรณกรรมวิจารณ์ บทแนะนำหนังสือ รายงานความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรม รวมถึงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนหลายฉบับ
ผลงานเด่น เช่น วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง มานะกับอาม่า และ แผ่นหลังพ่อ (ได้รับรางวัลประเภทบันเทิงคดีจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ) รวมเรื่องสั้น ชุด ไก่ป่ากับกรงเมือง สร้อยฟางหญ้า นอกหน้าต่าง เป็นต้น นวนิยาย เพื่อน ชีวิตนี้ต้องเดินต่อไป รวมบทความ ชุด ผู้หญิงคิด เป็นต้น




ดวงตา วรรณศิลป์ แห่งหนังสือพิมพ์มติชนยังเคยกล่าวถึง แพร จารุไว้ในคอลัมน์ คนเขียนหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ว่าเป็น “นักเขียนแนวอัตถนิยม มีพลังที่มุ่งมั่นกับการเขียนหนังสือ บนเส้นทางวรรณกรรมที่มีเป้าหมายมิใช่วรรณกรรมอันมากด้วยอารมณ์

“ ที่ดวงตา วรรณศิลป์ เขียนถึง มันนานมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ เขียนหนังสือช่วงแรก ๆ มี แผ่นหลังพ่อ กับ มานะและอาม่า ออกมา ดวงตาเขาก็เอาไปเขียนให้กำลังใจนักเขียนใหม่ ถึงตอนนี้เขาอาจจะไม่คิดอย่างนั้นแล้วก็ได้
ช่วงนั้นเป็นช่วงรู้สึกเริ่มรุ่งเรือง เป็นความรู้สึกแบบเด็ก ๆ แต่ความรู้สึกนั้นก็ดีมีพลังเหมือนกันสร้างพลังได้เหมือนกัน คือหลังจากนั้นก็มีหนังสือรวมเล่มออกมาปีละสองเล่มสามเล่มอยู่หลายปี

ทำงานหนักมาก มีวันหยุดอาทิตย์ละหนึ่งวัน แต่ต้องเขียนงานส่ง และไม่ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ เพราะไม่มีครอบครัว วันเสาร์หรืออาทิตย์เขาไว้สำหรับคนมีครอบครัว

ตอนนั้นไม่คิดจะลาออก ไม่คิดจะหยุด เพราะคิดว่าเราเป็นคนสำคัญของงาน ขาดเราไม่ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ตลกมาก อย่าว่าแต่งานเลย โลกนี้ขาดใครไปสักคนก็ไม่เป็นไรด้วยซ้ำ ”



หนังสือเล่มนี้ชื่อ โฮ่ง โฮ่งโอ่ง ชีวิตหมา ๆ

ผลของการหักโหมกับงานเขียนหลากหลายคอลัมน์และงานประจำในเวลาเดียวกันด้วยวัยที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์และในฐานะสาวโสดที่เต็มไปด้วยอิสรภาพเต็มมือ ก็คือ

เกิดอะไรขึ้นไม่รู้อยู่ ๆ ก็ไม่สบายขึ้นมา เริ่มจากปวดหัวเข่า และวิตกจริต คิดว่าตัวเองจะตาย เป็นมะเร็งแน่ ๆ เป็นโรคอื่นไม่ได้เพราะพ่อตายด้วยมะเร็ว ก็เลยคิดว่าต้องตายเหมือนพ่อแน่ มันเป็นภาพติดตา ติดอยู่ในความรู้สึก ติดอยู่ในหัวใจ เพราะอยู่กับพ่อที่นอนป่วยด้วยโรคมะเร็งยาวนาน ก็คิดว่าตัวเองจะตายแน่ คิดว่าจะเป็นมะเร็งที่หัวเข่า ก็เลยไปตรวจที่โรงพยาบาลข้าง ๆ สะพานที่นวลฉวีถูกเอาไปทิ้ง

ตอนนั้นคุณบัว ปากช่อง (นักเขียน)นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล คุณอรสม (อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดี) เธอฝากเงินไปให้ลุงบัว ก็เอาเงินไปให้ลุงบัว ยิ่งเห็นสภาพลุงป่วยยิ่งใจเสีย

พอไปตรวจหมอบอกว่า เพราะมีช่องว่างที่กระดูกหัวเข่า ช่องว่างทำให้เกิดหินปูน และบอกว่าผ่าตัดได้แต่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์อาจพิการ

เอ้า ! แล้วฉันจะผ่าทำไมกัน ฉันได้ยาสีสวยมาหลายขนาน และหมอบอกให้ไปซื้อที่ใส่หัวเข่า แต่ฉันไม่เอา พอกลับมาถึงบ้านก็ตัดสินใจมาเชียงใหม่ เพราะคิดว่า ช่วงสุดท้ายจะมาอยู่กับคนที่เรารัก ตอนนั้นยังคิดเรื่องตายอยู่ แบบกลัวความตาย”

“มันเป็นเรื่องตลกก็คือว่า ตอนป่วยนั้น กินยาไปครั้งเดียวเหมือนยาวิเศษ แต่ความจริงไม่ใช่หรอก เราเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง เปลี่ยนสภาพอากาศ และพอดีช่วงนั้นเรามาเช่าบ้านอยู่ใหม่ ๆ

อยู่บ้านในชนบท และเราไม่มีรถใช้สักคัน ต้องเดินออกจากบ้านมาที่ถนนไกลมากประมาณสองกิโลเมตร ไปไหนมาไหนก็ต้องเดิน ถ้าเข้าเมืองก็นั่งรถประจำทาง ในตัวเมืองเชียงใหม่ค่ารถในเมืองแพง เราก็ใช้วิธีเดิน ถ้าไม่ไกลมาก เราว่าการเดินเป็นวิถีที่พอดีนะ

สลับกับไปอยู่แม่แจ่ม เมืองกลางหุบเขา ต้องข้ามผ่านดอยอินทนนท์ไปอีกฝากหนึ่ง ชีวิตที่นั่นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย มีเกสเฮ้าส์กลางทุ่งนา มีข้าวกินสามมื้อจากร้านอาหารชั้นดีที่คุณถนอม(ถนอม ไชยวงศ์แก้ว เพื่อนชีวิต)ไปเล่นดนตรีที่ร้านหนึ่ง เขามีสวัสดิการพร้อม

ชีวิตที่หลุดออกมาจากสังคมเก่า ๆ รู้สึกโล่งสบายมากที่ไม่ต้องรับข่าวสารใด ๆ ไม่ต้องอ่านข่าวหรือคอลัมน์วรรณกรรม ชีวิตที่เปลี่ยนไป การเดินด้วยเท้าและการใช้ชีวิตสบาย ๆ เราคิดว่า มันทำให้อาการปวดเข่าที่ว่าหายไป และมันไม่กลับมาอีกเลย จนลืมไปเลยว่าเคยปวดหัวเข่ามันหายไปตอนไหนไม่รู้


หนังสือหายากไม่มีขายแล้วเช่นกัน


ช่วงสุดท้าย”ที่เหมือนการเริ่มต้นวิถีชีวิตใหม่ในดินแดนภาคเหนือซึ่งศิลปินและนักเขียนจำนวนหนึ่งเลือกมาพำนักอาศัยและทำงาน เช่นเดียวกับแพร จารุ นับเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลให้วันนี้ ชื่อของแพร จารุ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม

เช้านี้มีงาน กลุ่มเยาวชนรักษ์เหมืองฝาย เขาไปทำงานกัน ก่อนที่เหมืองฝายจะถูกริ้อทิ้ง เพื่อการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ เตรียมจะรื้อตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ พ่อดีน้ำท่วมเมืองก็เอาเหตุผลนี้มาอ้าง รัฐบาลนี้ก็คงเช่นกัน
ฝายทดน้ำ ภูมิปัญญาเก่าแกของล้านนา และไม่ใช่แก่อย่างเดียวนะ ยังใช้งานได้ ทดน้ำไปใช้กับนาไร่ แถวลำพูน เชียงใหม่ เป็นความมั่นคงด้านอาหาร แต่หลายรัฐบาลมาแล้ว อยากจะทุบ

ความผิดของมันเพียงแต่ว่ามันขวางลำน้ำ ล่องเรือสำราญผ่านไม่ได้เท่านั้นเอง ตอนนี้ฉันทำสารคดีเรื่อง “เมืองแม่น้ำในหุบเขา”

นอกจากสารคดีเรื่องล่าสุดคือ “เมืองแม่น้ำในหุบเขา” แพร จารุ เล่าว่า ยังมีงานอีกหลายเรื่องที่กำลังเขียนอยู่

“ก็เขียนไปเรื่อย ๆ เพราะมีอาชีพเป็นคนเขียน หรือเกิดมาเพื่อเขียนหนังสือ ช่วงหลังเราเขียนสารคดีมากขึ้น แต่ไม่ใช่สารคดีท่องเที่ยวเหมือนเก่า

สารคดีเปลี่ยนไปแล้ว หรือทำหน้าที่ได้มากขึ้น สารคดีรับใช้สังคมมากขึ้น





มีหนังสือเด็ก ๆ อยู่เล่มหนึ่งทำที่เชียงใหม่ ชื่อ เพื่อนเด็ก ฉันเขียน เป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง “ไลลาน่ารัก” เขียนเรื่องหลาน ๆ เด็ก ๆ ที่นี่ ทางกองบรรณาธิการเขาเอาไปทำเป็นการ์ตูนภาพ หนังสือเล่มนี้ไม่มีวางขาย ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้นค่ะ

สรุปก็คือว่า ยังเขียนอะไรต่ออะไรอยู่ทุกวัน




ในวันที่ผู้เขียนไปพบเธอที่เชียงใหม่ ได้เห็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่ง ของ แพร จารุ คือเป็นที่ปรึกษาโครงการนักข่าวเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม

“โครงการนี้เริ่มจากว่า เรามองเห็นว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่มาก เช่นสิทธิในการปฏิเสธโครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านตัวเอง และเรามองว่า ช่องทางสื่อคือช่องทางหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

เป็นโครงการหนึ่งของ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ และมีมูลนิธิไทยรักษ์ป่า สนับสนุนการทำงาน ฉันเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการผลักดันโครงการ และเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ เราไม่ได้หวังว่า เด็ก ๆ จะเติบโตเข้าไปมีอาชีพเป็นนักข่าว แต่รู้ช่องทางข่าว ช่องทางการเรียกร้องสิทธิ

ก็มีการฝึกทำข่าวจริง ๆ จากนักข่าวมืออาชีพในจังหวัดเชียงใหม่นับสิบคน แบบเข้าค่ายกินอยู่ที่อุทยานดอยสุเทพ-ปุย เด็ก ๆ 30 คน จากสามโรงเรียนในเมืองเชียงใหม่ แบ่งเป็นกลุ่ม คือหนังสือพิมพ์ กับกลุ่มวิทยุ หลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว ก็ตั้งเป็นศูนย์ข่าวเยาวชนฮักเจียงใหม่
มีการฝึกงานกันจริง


ชีวิตก็เข้าสู่ปกติ เขียนงานไปลงหนังสือส่วนกลาง เขียนไปบ้าง หยุดไปบ้าง ไม่มีอะไรพิเศษ”

แพร จารุ กล่าวถึงงานเขียนตัวเองว่า “ไม่มีอะไรพิเศษ” ขณะที่กลุ่มเพื่อนฝูงในแวดวงวรรณกรรมบางคนในเมืองเชียงใหม่กระซิบว่า เวลานี้แพร จารุ กลายเป็นนักเขียนเมืองใต้ที่ไปทำงานสร้างสรรค์เมืองเหนืออย่างเงียบ ๆ ในหลายด้าน นอกจากการเขียน

“ช่วงหลังเชียงใหม่มีโครงการแมกกะโปรเจค เริ่มจากโครงการสร้างกระเช่าขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว พวกนักเขียนเมืองเหนือก็รวมตัวกันไปช่วยงานพวกเอ็นจีโอในพื้นที่ ก็ช่วยแบบช่วยเขียน ตีฆ้องร้องป่าว และทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า เดือนเต็มดวงที่ดอยหลวงเชียงดาว



หนังสือเพื่อส่วนรวมยังหาซื้อไปอ่านได้ค่ะ



นักเขียนสิบกว่าคนที่เขียนเล่มนี้ และพวกศิลปินก็ทำเพลงชื่อรักเชียงดาว เชิญนักเขียนจากกรุงเทพมาด้วย คุณสุชาติ สวัสดิศรีก็มา ได้มวลชนเยอะ

ต่อมาก็มีงานของภาคีคนฮักเจียงใหม่ เป็นการรวมตัวของคนในเมืองเชียงใหม่ ทั้งพวกที่เกิดเชียงใหม่และมาอยู่เชียงใหม่ สรุปก็คือพวกรักเชียงใหม่นั่นแหละ

ซึ่งการเข้าไปช่วยงาน เราเข้าไปอย่างนักเขียนคนหนึ่งที่สนใจกิจกรรม เป็นอาสาสมัครไม่เต็มตัว มันก็ไม่ต่างจากเราอยู่กับอาม่า( “อาม่า”เป็นตัวละครมีชีวิตในโลกแห่งความจริงของ แพร จารุ ที่เคยถูกนำมาเขียนถึงในหนังสือชื่อ “มานะกับอาม่า”-ผู้เขียน) ก็ช่วยอาม่าขายของชำ แกะกระเทียม ทำไข่เค็ม หรืออช่วงที่อยู่ทะเลกับชาวประมง เราก็ช่วยชาวเลตากปลาแห้งปลาหมึก ขนของลงเรือให้เขาไปหาปลา(เอามาเขียนเรื่องบ้านในความรัก)

สรุปก็คือเรามาอยู่ที่นี่ก็ช่วยงานเหมือนกันไม่ต่างกัน อยู่ที่นี่เราสามารถช่วยงานได้โดยการเขียน และเราพอจะเขียนหนังสือได้ ก็ช่วยงานโดยการเขียนเท่านั่นเอง มีนักเขียนที่เป็นอาสาสมัครภาคีหลายคน มี อัคนี มูลเมฆ วดีลดา แสงดาว ศรัทธามัน ไพทูรย์ พรหมวิจิตร ภูเชียงดาว และอีกหลายคน




หนังสือเก่าไม่มีแล้วค่ะ


<

b>ในฐานะคนใต้ที่ไปอยู่เมืองเหนือเช่นเดียวกับนักเขียนชาวใต้อีกหลายคน คิดว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจมาอยู่กันที่นี่

“รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดว่า เรามาอยู่ที่นี่ เพราะว่าที่นี่มีการประนีประนอมสูง ซึ่งคงจะจริง แต่ฉันไม่ได้อยู่ในสังคมที่ประนีประนอม อยู่ในส่วนที่ขัดแย้ง เพราะเราอยู่ในสังคมของคนทำงาน พวกนักคิดนักเขียน พวกเอ็นจีโอ แต่มีข้อดีว่าความขัดแย้ง การไม่ประนีประนอมนั้น พวกเขาทำเพื่อส่วนรวมและมีความปรารถนาดีต่อสังคมส่วนใหญ่

เรายังอยู่แบบคนใต้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต กะปิ พริกแกง สะตอลูกเนียง แม่ยังส่งมาจากใต้


หนังสือเก่าไม่มีแล้วค่ะ

ไม่ขาดอะไร สิ่งที่ขาดก็คือทะเล นอกนั้นทุกอย่างมีพร้อม แค่ช่วงหน้าร้อนเชียงใหม่ไม่น่าอยู่ เพราะมีหมอกควันมาหลายปีแล้วเหมือนอยู่ในหนังวิทยาศาสตร์ อย่างไรอย่างนั้น เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองแอ่งกระทะ เมื่อก่อนมลพิษไม่มาก บ้านเรือนน้อย ต้นไม้เยอะ อากาศถ่ายเทได้ สิบปีที่มาอยู่ที่นี้เห็นการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว และไม่มีทิศทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบ้าคลั่ง การสร้างถนน ขุดอุโมงค์ ทำไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก ล้วนแล้วแต่เพิ่มภาระให้เมือง

สรุปก็คือ เดี๋ยวนี้เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองน่าอยู่แล้ว ยิ่งช่วงเทศกาล คนเมืองเชียงใหม่เขาไม่ค่อยกล้าออกจากบ้าน สงกรานต์ก็สาดน้ำกันน่ากลัว

ลอยกระทงปล่อยโคมกันสว่างไสว ไม่รู้เมื่อไหร่จะไปติดสายไฟ คนที่การไฟฟ้าบอกว่า เดี่ยวนี้ทำโคมผิด ๆ ใช้ลวดให้ไฟติดนาน ซึ่งถ้าไปติดกับสายไฟฟ้าเมื่อไหร่ไฟอาจจะดับหมดเมืองได้

เพื่อนที่เป็นคนที่นี่จริง ๆ เธอบอกว่าเธอเห็นมาตั้งแต่เล็ก เขาไม่ได้มีไฟสว่างอยู่บนฟ้านะ เขาจุดแค่ให้มันพอไล่อากาศออกจากโคมให้มันลอยขึ้นไป ลอยไปบนฟ้าแบบลอยเคราะห์ ไม่ใช่ลอยกันไปเรื่อย การปล่อยโคมในเชียงใหม่ถือว่ามีปัญหามาก ไม่ใช่ช่วงลอยกระทงก็ปล่อย ตามร้านอาหารปล่อยให้แขกดู

คนที่มาอยู่เมืองนี้และมาเที่ยวก็มาหลอกกันเอง ปล่อยโคม แต่งตัวแบบหลอก ๆ เหมือนหนังจักรวงศ์ ๆ นั่งตามร้านอาหารขันโตก แล้วบอกว่านี่แหละเมืองเหนือ

เคยไปกินขันโตกหรู กับเจ้าของบ้านเจ้าของเมืองด้วย ถามว่า แต่งการแบบนั่นเป็นเมืองหรือเป็นเผ่าไหน ท่านตอบว่า เผ่าลิแก ถามว่านี่อาหารอะไรน้ำพริกอ่องแบบไหน มีกลิ่นเหมือนปลาประป๋องเลยสงสัยใส่ซ๊อสมะเขือเทศ

สิบกว่าปีที่มาอยู่ พบว่าเชียงใหม่เปลี่ยนไปในทางเลวร้าย ถ้าเป็นคนก็ถูกใช้งานเยี่ยงทาสจนหมดแรงแล้ว หากไม่ให้พักผ่อน ดูแลสุขภาพก็คงตายแหละ”


สำหรับวัยที่นิ่งลง และทำงานเขียนเพื่อเป้าหมายทางสังคมมากขึ้น ความใฝ่ฝันสูงสุดของแพร จารุ ก็คือ



ที่ดอยอินทนนท์ กุล ปัญญาวงศ์ เป็นผู้แอบถ่าย แพรจารุ และถนอม ไชยวงษ์แก้ว


“ฉันว่ายิ่งอายุมากขึ้นความฝันจะเล็กลง หรือว่าความฝันจะหายไป เรื่อย ๆ หรือเรื่องที่เราฝันนั้นเป็นเรื่องใหญ่เกินไป และไม่มีวันจะเป็นไปได้เลย ฉันคิดว่าคนเขียนหนังสือฝันที่จะเห็นสิ่งดีงามในสังคม ฝันที่จะเห็นชีวิตผู้คนอยู่กันด้วยความรัก มีความปลอดภัยในชีวิต อยากเห็นสังคมที่สงบสุข แต่นับวันสิ่งที่เราฝันมันห่างไกลจากความเป็นจริง ดังนั้น ฉันจึงตอบว่า ถึงวันนี้ความฝันอันสูงสุดไม่มีแล้ว”

-------------------------------



ชุดนี้เป็นหนังสือเพื่อส่วนรวมเขียนกันหลายคนค่ะใครบ้างดูชื่อที่หน้าปกได้





Create Date : 18 สิงหาคม 2551
Last Update : 6 สิงหาคม 2552 9:27:56 น. 44 comments
Counter : 2967 Pageviews.

 
เหมือนไม่แน่ใจว่าจะเคยอ่าน

เรื่องเพื่อนนะคะ

แต่จำไมได้แล้ว

เพราะว่านานมากๆ

ดีใจจังได้อยู่ใกล้ๆนักเขียน


โดย: t_karnya วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:0:10:25 น.  

 
ชอบและเชื่อตามที่บอกไว้ว่า
เมื่ออายุมากขึ้น ความฝันจะเล็กลง....
แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความฝันที่เล็กลงนั้น น่าจะสัมผัสและเป็นจริงได้มากกว่าความฝันอันยิ่งใหญ่นะคะ

มาแอบอ่านบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งแล้ว ตั้งแต่มาหัดทำบล็อกเมื่อหลายเดือนก่อน

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นดี ๆ ที่ถ่ายทอดผ่านบล็อกให้คนที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักกันผ่านตัวหนังสือหรืองานในที่อื่นได้รู้จักกันเพิ่มอีกที่นี่ค่ะ



โดย: kangsadal วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:8:35:24 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่แพร

อ่านแล้วรู้สึกได้กลิ่นอายความสุข มาเลยค่ะ

ไม่ค่อยได้อ่าน กุลสตรี ค่ะ
แต่ฉบับนี้ น่าสนใจ



โดย: เพ็ญ (PenKa ) วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:11:52:23 น.  

 
ยังไม่ได้อ่านเนื้อความข้างบนนะคะพี่ยาย...

เห็นแค่ว่าทำไมสาวใต้ไปอยู่เหนือ...แอบอมยิ้มว่าทำไมสาวเหนือมาอยู่ใต้

เพราะเราเลือกใช่ไหมคะว่าชีวิตเราอยู่ตรงไหน...เราเลือกที่จพหาที่อยู่ ที่ทำงานได้
สิ่งเดียวที่ชีวิตเราเลือกไม่ได้ คือ เลือกวันตายและวิธีตาย

ช่วงนี้ทิ้งบล๊อค...ทิ้งโลกไซเบอร์ตรงนี้ เพื่ออยู่กับกระจกที่สะท้อนเงาตัวเอง

ต้องเอาชนะตัวเองที่สะท้อนอยู่ในกระจก
เพราะชีวิตอาจสุขสบายเกินไปจนไม่มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเขียนฝันตัวเอง

แต่วันหนึ่ง....
"คนเรามีเหตุผล 108 สำหรับการยอมแพ้ การที่นิยายกลายเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวก็คือการถอยเพื่อที่จะยอมแพ้ "

เลยต้องกลับมานั่งสู้กับคนในกระจก หน้าตาแป้นแล้น...สุขสบาย

ใครหลายคนมากระตุ้น...ก็มีเหตุผล 108 จริงๆ แต่เจอคำนั้น....ฉันต้องเอาตัวตนกลับมาให้ได้


นิยายไม่ได้พิมพ์ไม่เป็นไรค่ะ...แต่วันนี้เขียนจบ จบ 108 ของความพ่ายแพ้...
และบอกตนว่า จะต้องเดินต่อ...


แวะมาบอกค่ะ...
เดี๋ยวเข้าบล๊อคอีกทีจะแวะมาอ่านเต็มๆ...วันก่อนไม่ได้แวะมาเบิร์ดเดย์...กระดากใจค่ะ....
ไม่อยากให้วันเวลาในโลกไซเบอร์ตรงนี้แค่การแสดงออกตรงนั้น...เลยไม่มาอวยพร

มีความสุขกับกระจกเงาที่ฉายภาพพี่ยายและคนรอบข้างนะคะ


โดย: ปลายแปรง IP: 118.175.189.74 วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:22:02:15 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่ยาย

ขอบคุณที่เอาบทสัมภาษณ์มาลงให้อ่านค่ะ แอบขำเล็กน้อย ตอนที่บอกว่าปวดเข่าแล้วกลัวตาย นี่ถ้าไม่ปวดเข่า พี่ถนอนรอนานแย่เลย อิอิ แซวเล่นนะคะพี่

ขอบคุณที่แวะเวียนไปเยี่ยมที่บล็อกค่ะ ตั้งแต่มี 2 หนุ่มแล้ว เวลาว่างที่จะทำอะไรส่วนตัวน้อยลงมากๆ เลยค่ะ เลยไม่ค่อยได้อัพบล็อก


โดย: ปอมปอมเกิร์ล วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:3:09:16 น.  

 
ชอบที่พี่กุลแอบถ่ายภาพมาค่ะ พี่ยาย.. น่ารักดี

ช่วงนี้แจม..ยังตะลอนหางานนอกบ้าน ไม่มีตังค์ใช้ และไปช่วยงานสังคม.. ก็ของพันธมิตรกระบี่ค่ะ ช่วยทำข่าว งานเอกสาร ว่ากันไป

ส่วนงานเขียน ตอนนี้เริ่มปรับสภาพ กลับมาเขียนแนะนำแต่งบล็อกออนไลน์เหมือนเดิม.. พยายามเขียนให้เป็นสารคดีท่องเที่ยว เหมือนเดิม

เขียนกลอน.. และรีไรท์นิยายให้น้อง กับของตัวเอง

24 ชั่วโมง สั้นไปเสียแล้วค่ะวันนี้..

นี่ก็จะเช้าอีกแล้ว ทั้งที่ตื่นเก้าโมงได้มั๊งเมื่อเช้า (นอนตีห้า ตื่นเก้าโมง หรอยนักแรงล่ะพักนี้)

4 บล็อกโอเคฯ 1 บล็อกแก๊ง
1 บอร์ดพันทิป ไม่นับวันๆ นั่งแช้ทกับเจ้าแอมเวลาอยากอู้งานด้วยค่ะ

แหะ แหะ.. ดูเหมือนยุ๊ง ยุ่งเนอะ

แต่ก็ประมาณนั้นจริงๆ นัดกับแอมไว้ อาจได้ไปหาพี่ราวๆ กันยายน.. ถ้าน้ารับงานได้อีกสัก 1-2 เว็บนะคะ






โดย: สีน้ำฟ้า IP: 125.24.129.243 วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:3:30:02 น.  

 
สวัสดีจ้ะยาย

ดูปกหนังสือแต่ละเล่มเมื่อรวมๆแล้วก็มีผลงานมาหลายเล่มแล้วเหมือนกัน

แต่จำได้เรื่อง "แผ่นหลังพ่อ"
ตอนนั้นเราเคยรีวิวลงในหนังสือผู้หญิงฉบับหนึ่งที่เราทำหน้าที่คัดเลือกเรื่องและดูแลคอลัมน์หนังสืออยู่


วิถีชีวิตของนักเขียนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ผลงานก็แตกต่างกันไป

สิ่งเดียวที่ใช้เหมือนกันก็คือใช้ตัวหนังสือเป็นสื่อความคิดความฝันของตัวเองออกไป

ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่เลือกนะจ๊ะ


โดย: พ่อพเยีย IP: 61.7.170.63 วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:9:06:19 น.  

 
ขอบคุณค่ะที่แวะไปอ่าน
ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะค้า....


โดย: kangsadal วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:14:59:43 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่ยาย พี่หนอม และพี่โดม..

แวะมาลงชื่ออีกที พอดีอชอบคำของพี่โดม..

วิถีชีวิตของนักเขียนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ผลงานก็แตกต่างกันไป
สิ่งเดียวที่ใช้เหมือนกันก็คือใช้ตัวหนังสือเป็นสื่อความคิดความฝันของตัวเองออกไป

วันหน้าขอนำไปใช้บ้างค่ะพี่ๆ


โดย: สีน้ำฟ้า IP: 125.24.175.124 วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:16:45:59 น.  

 
เห็นบ้านหลังนั้น...
คือผลผลิตจากการเขียนหนังสือ
ปั้นตัวหนังสือเป็นบ้าน

ทำให้นึกอยากเอาบ้านปีกไม้ของผมมาอวดบ้างละนิ

เรื่องผู้หญิงทุ่งยาว...ตกลงเราไปวันอาทิตย์นั่นเลยดีมั้ยพี่ แบบตามหลัง เฝ้ามองตัวละครแต่ละคนไป...แล้วกลางคืนก็ค้างนอนซักคืน นั่งคุยสัมภาษณ์ แล้วเช้าอีกวัน เราให้ชาวบ้านพาไปเก็บรายละเอียดอีกทีนึง...บ่ายๆ เย็นๆ ค่อยเดินทางกลับ...




โดย: pu_chiangdao IP: 118.175.184.138 วันที่: 20 สิงหาคม 2551 เวลา:19:34:45 น.  

 
ปอมปอมเกิร์ล

พี่หญิงชามาเป็นคนสัมภาษณ์ค่ะ ปอมเคยอ่านงานของพี่หญิงหรือเปล่า ตอนนี้เธอกลับมาทำงานในแวดวงนิตยสารอีกครั้ง พอดีเธอมาเยี่ยมก็เลยถือโอกาสทำงานกับพี่ ๆ และเพื่อน ๆที่นี่ด้วย

เธอเปิดคอลัมน์สัมภาษณ์นักเขียนในกุลสตรี ช่วงหลังนี้ไม่มีสัมภาษณ์ที่ไหนจึงนำมาให้อ่านกันเล่น ๆ ค่ะ



ใช่แล้วพ่อพเยียและน้องสีน้ำฟ้า วิถีชีวิตแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน พี่ว่านักเขียนมองโลกอย่างมีความหวังและปรารถนาดีต่อสังคม พี่คิดว่าเป็นเช่นนี้ด้วย


ภู เชียงดาว ตกลงจ๊ะไปทำสารคดีบ้านทุ่งยาวตามวันเวลาเดิม ขับรถมารับได้เลย อาหารไม่ต้องเอาไปบ้านทุ่งยาวมีอาหารจากป่าเพียบ กินผักบ้านทุ่งยาวจะได้ซึ้งใจเขียนสารคดีได้อย่างมีอารมณ์จริง ๆ


โดย: แพรจารุ วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:7:33:19 น.  

 
เพ็ญ

ก็สุขบ้างทุกบ้างตามสภาพ ดีใจถ้าเพ็ญอ่านแล้วรู้สีกมีความสุขค่ะ

kangsadal คุณเขียนได้น่ารักและน่าอ่านที่เดียวค่ะ แล้วจะแวะไปอ่านอีกค่ะ

พี่ขี้คร้านและมีเหตุผลมากกว่าร้อยแปดพันเก้าอีกจ๊ะ
พี่ว่าความเกียจคร้านเป็นสิทธิอย่างหนี่งที่มนุษย์พึงมีค่ะ


โดย: แพรจารุ วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:7:40:01 น.  

 
t_karnya

เรื่องเพื่อนเป็นหนังสือเก่าแล้วค่ะ พี่เพิ่งไปเจอที่บ้านน้องคนหนึ่ง จึงยืมมาก่อน เพราะคิดจะพิมพ์ใหม่ค่ะ ตอนนั้นดอกหญ้าประหยัดพิมพ์ด้วยกระดาษปรุ๊ฟธรรมดาด้วยค่ะ แต่หนังสือเบาดี เป็นนิยายขนาดสั้นหรือเรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาวก็ได้

ผู้อ่านเป็นอย่างไรไม่รู้แต่เป็นเรื่องที่ผู้เขียนชอบ ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าไร่ เรื่องที่ได้รับการตอบรับคือ ชีวิตที่เดินต่อไป มีจดหมายผู้อ่านเข้ามาถึงหลายฉบับ และได้พิมพ์สามครั้ง ซึ่งนาน ๆ หนังสือที่เขียนจะได้พิมพ์มากกว่าหนึ่งครั้ง



โดย: แพรจารุ วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:7:45:01 น.  

 
ขอบคุณที่แนะนำให้อ่านจ้ะ อ๊อดเคยอยู่กุลสตรีช่วง(น่าจะ)ปี๒๕-๒๗ หรือ ๒๘(แฮ๋ๆ ไม่ค่อยอยากพูดถึงเลย รู้สึกว่าตัวเองแก่จัง) ไม่รู้ว่าพี่ยุพาจะจำได้รึเปล่า
ดีใจที่รู้ว่ายายยังชอบเขียนอยู่ และดีใจที่บ้านทุ่งเสี้ยว(คิดถึงดอกเสี้ยวจัง)เสร็จเรียบร้อยแล้ว
การมีคนที่เรารักและมีคนที่รักเรานั้นเป็นความสุขที่ยากจักอธิบายให้คนที่ไม่มีใครรักและไม่เคยรักใครจริงเข้าใจได้ มันเป็นความสุข ความทุกข์ ความอดทน ดิ้นรนต่อสู้ต่างๆนาๆ เพื่อให้คนที่เรารักมีความสุข


โดย: อ๊อด IP: 71.160.46.54 วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:14:31:01 น.  

 
สวัสดีครับพี่แพร จารุ

ผมไม่ได้อ่านงานพี่เลย
ถ้าเดาจากการอ่านอันน้อยนิดของตัวเอง
ก็ต้องบอกว่าผมอ่านงานไม่กว้างเท่าไหร่

มีช่วงเดียวที่ผมอ่านงานเรื่องสั้นและนวนิยายของนักเขียนไทย
แต่ก็ประมาณแค่ 1-2 ปีเองครับ

คิดว่าพี่เขียนงานก่อนหน้านั้นแน่นอน
เพราะช่วงที่ผมอ่านก็เป็นงานเขียนของวินทร์ เลียววารินทร์ ประชาคม นุลาชัย
วิมล ไทรนิ่มนวล กนกนพงศ์ ฯลฯ


ผมเพิ่งรู้ว่าพี่มีงานเขียนมากมายทีเดียวครับ






งานหมื่นตา รูป บทความของผม
พี่นำไปใช้ได้เลยนะครับ
ยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่งครับพี่




โดย: ก๋า เก็กเสียง (กะว่าก๋า ) วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:20:22:08 น.  

 
ปีนี้นอกจากจะไม่ได้ไปร้องเพลง
ในวันจัดงานก็อาจจะไม่ไปนะครับพี่....

ปีนี้มีคนคิดถึงครูจรัลมากมายเหลือเกินครับ
มีทั้งงานเล็ก งานใหญ่....

รู้สึกดีใจแทนครูจรัล ที่ยังมีคนคิดถึงครูเสมอ

ปีที่แล้วสำหรับผมถือเป็น "อุบัติเหตุ" น่ะครับ
พอดีอัดเพลงเล่นๆ
แต่เกิดไปเข้าหูเข้าตาพี่ดีเจใน CM77
ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเหมาะสำหรับขึ้นเวทีแบบนี้นะครับพี่
ชอบที่จะอยู่ข้างล่างแล้วก็มองดูคนเก่งเล่นและร้องเพลง
อย่างมีความสุขมากกว่าครับ

ปีที่แล้วแค่ได้ดูพี่เอ้ รงครัตน์ขึ้นไปเมาและร้องก็คุ้มค่าแล้วครับ
นั่นสิครับ...แบบพี่เอ้นี่แหละครับ ที่ผมคิดว่าเก่งจริง (ถึงแกจะเมามากก็ตาม 555)



โดย: กะก๋า ฮา 3 สายสะพาย (กะว่าก๋า ) วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:1:46:09 น.  

 
พี่ยายค่ะ ไม่เคยอ่านงานของคุณชามาเลยค่ะ แต่คิดว่าคุ้นๆ ชื่อ ถ้าอ่านก็คงนานมากๆ แล้วสมัยยังเป็นวัยรุ่น

ขอให้หนังสือพี่ยาย มีคนนำกลับมาพิมพ์ซ้ำอีกนะคะ คนรุ่นใหม่จะได้อ่านงานภาษาสวยๆ กัน


โดย: ปอม (ปอมปอมเกิร์ล ) วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:3:18:54 น.  

 
สวัสดียามเช้าค่ะพี่ยาย

อ่านบทสัมภาษณ์แล้วก็ยิ้ม
แต่พออ่านมาถึงที่คุยกับพี่ภู เชียงดาว นี่ตาร้อนขึ้นมาเลย

อยากไปด้วยคนจัง


โดย: เพลงฝนต้นลมหนาว วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:7:37:12 น.  

 



บ่ายนี้อย่าลืมฉลองเหรียญทองกันนะคะ


โดย: t_karnya วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:9:43:11 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่แพร
ขออนุญาตเรียกพี่แพรนะคะ
เมื่อกี้เปิดเข้าบล็อกตัวเอง
เห็นชื่อ"แพรจารุ"
สะดุดใจกึ๊ก..ชื่อนามปากกานี้คุ้นๆ
จำได้ว่ามีหนังสือจากเจ้าของนามปากกานี้
ก็เลยลองคลิกตามลิงค์เข้ามา
ปรากฏว่าใช่พี่"แพรจารุ"เจ้าของหนังสือเรื่อง "แผ่นหลังพ่อ"
ที่แม่ปูมีครอบครองจริงๆ
ซื้อแผ่นหลังพ่อมานานหลายปีแล้วค่ะ
เมื่อกี้พอรู้ว่าใช่คนเดียวกัน แม่ปูก็ไปค้นหาหนังสือที่ตู้หนังสือ
แต่หาไม่เจอ เพิ่งอ่านครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วนี่เองค่ะ หลงวางไว้ไหนหนอ
เดี๋ยวต้องไปหาดูอีกทีว่าซื้อมากี่ปีแล้ว
อาจจะประมาณ ๑๕ ปีแล้วค่ะ คิดว่านะคะ
นี่หอบหิ้วหนังสือตามไปอเมริกาด้วยเลยค่ะ
อ่านจบยังนึกสงสัยว่า ผ่านมาตั้งหลายปีแล้วป่านนี้น้องไหมเป็นอย่างไรบ้างแล้วนะ
พี่สุดเป็นอย่างไรบ้าง(เอ หรือพี่ไหมกับน้องสุด)
ว๊า..เสียดายจังค่ะที่ค้นหาหนังสือไม่เจอ
ไม่งั้นจะถ่ายรูปมาอวด ไว้หาเจอก่อนนะคะแล้วจะมาอวดพี่แพรอีกทีค่ะ
ยินดีที่ได้รู้จัก ได้คุยกับเจ้าของนามปากกาตัวจริงค่ะ ตื่นเต้นมากๆเลยค่ะ


โดย: ปูขาเก เซมารู วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:10:59:35 น.  

 
ได้อ่านแล้วรู้สึกดีใจจริงๆครับ ที่คนแถวบ้านมีส่วนช่วยเหลืองสังคมกว้างขึ้น มีชื่อเสียงโด่งดังต่อเนื่องเรื่อยมา


โดย: เขาพนม วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:11:20:34 น.  

 
สวัสดีค่ะ
แวะมาอีกแล้ว แหะ แหะ..
มาตามไปอ่านหนังสือที่บล็อกน่ะค่ะ ว่างเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นนะคะ
จะรอค่ะ


โดย: kangsadal วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:11:22:13 น.  

 
หัวหูฟูบานกับงานที่รักอยู่ค่ะ (งานประจำเลี้ยงชีวิตน่ะพี่ยาย) ไม่ได้แวะมาทักทาย วันนี้พอมีเวลาย่องมาแอบอ่าน เห็นงานเก่าๆ แล้วคิดถึงจัง

หนูฝากเมืองเหนือด้วยนะพี่ยาย

เป็นกำลังใจให้นะคะ


โดย: ดวงลดา วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:14:32:59 น.  

 
สวัสดีค่ะน้ายาย

หนูว่าคนที่กำลังมีความรักไม่ใช่หนูน่ะค่ะ
แต่เป็น.........
อิๆๆๆๆ

เข้าใจแล้วค่ะ
ว่าอะไรอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถามของน้า
เห็นภาพที่ดอยอินทนนท์ ที่คุณกุล ปัญญาวงศ์ เป็นผู้แอบถ่าย
แล้วรู้สึกมีความสุขไปกับน้าจัง

ในที่สุดสาวใต้ก็มาอยู่เมืองเหนือได้


โดย: เบญจวรรณ IP: 129.250.211.3 วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:19:57:50 น.  

 

คลิ๊ก..สร้าง Glitter ด้วยตัวคุณเอง


โดย: สาวหวานเมืองเพชร วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:20:37:29 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่ยาย
ช่วงนี้แอมเอ๋อๆเหวอๆ
เรื่องใกล้ตาย เขียนที่เนชั่นค่ะ
ส่วนบล็อกแกงค์คาดว่าคงจะปิดอีกในไม่ช้า

เนื่องจากเจอเรื่องอะไรหลายอย่างแถวพันทิปให้รู้สึกแย่กับสังคมเว็บบอร์ดที่นี่ ช่วงนี้เลยเก็บตัว

บางความรู้สึกดีๆ มันเสียไปแล้วไม่อาจจะเรียกคืนได้ แฮะๆๆ พี่แจมบอกว่าอยากมาเชียงใหม่ ถ้าพี่แจมมา จะพากันไปเยี่ยมนะค่ะ

คิดถึงเจ้าค่ะ


โดย: แอม IP: 222.123.28.161 วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:1:33:53 น.  

 
สวัสดีครับคุณยาย
ผมเคยนำเรื่องราว แผ่นหลังพ่อ
ไปให้เด็กเยาวชนที่บ้านอ่าน
เด็กๆคงได้ซึมซับผ่านเรื่องราวดีๆได้มากครับ
สบายดีน่ะครับ


โดย: ดอกเสี้ยวขาว วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:8:08:54 น.  

 
สวัสดีอีกครั้งค่ะพี่แพร
ค้นหาหนังสือจนเจอแล้วค่ะ
หน้าปกเป็นภาพวาดพ่อนั่งหันหลัง
มีลูกๆช่วยกันถูแผ่นหลังให้พ่อ
เป็นเล่มที่พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๔
เป็นการพิมพ์ครั้งแรก
ดีใจจังเลยค่ะที่ได้มาคุยกับพี่แพรในบล็อกนี้
นักเขียนคนดังอยู่ใกล้แค่เอื้อมตรงนี้นี่เอง
ไม่ทราบว่าแผ่นหลังพ่อเล่มข้างบนพิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่คะ


เสียดายเล่มอื่นๆของพี่แพรแม่ปูยังไม่มีโอกาสได้อ่าน
และยังไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ
อยากอ่านมานะกับอาม่าจังค่ะ พี่แพรจะพิมพ์ออกมาอีกไหมคะ


โดย: ปูขาเก เซมารู วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:9:24:13 น.  

 
พี่ยาย ฝากบอกพี่หญิงด้วยค่ะว่าคิดถึง


โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:13:44:47 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่แพร

อายจังเลยคะ เพ็ญ อ่านฉบับ ของ กุลสตรี ปักษ์เดือนกรกฎาคม แล้วคิดว่า เป็นฉบับล่าสุด ลืมไปว่า ตอนนี้ เดือน สิงหาคม เข้าไปแล้ว อิ อิ ไปดูที่แผงหนังสือ ตั้งหลายร้านก็ไม่เจอ ฉบับ ปกนี้

จริงๆเพ็ญ ก็ไม่เคยอ่าน ของ แพร จารุ มาก่อน เพราะ ส่วนใหญ่ ก็อ่าน นิยายเป็นหลัก นิตยสาร ที่อ่านประจำ ก็ คือ ขวัญเรือน กับ สกุลไทย เพิ่งรู้ว่า ผลงานของพีแพร เยอะเหมือนกัน ปิดเทอมนี้ จะหาผลงาน พี่มาอ่านนะคะ





โดย: เพ็ญ (PenKa ) วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:14:09:25 น.  

 
สวัสดีค่ะ เมื่อหลายปีก่อนมีเพื่อนคนหนึ่งเขาส่งหนังสือพ็อกเก็ตบุ้คเล่มบางมาให้อ่าน หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า อย่างนี้สิผู้หญิงคิด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่รู้จักนามปากกานี้ค่ะ...ตามอ่านมาหลายเล่มเหมือนกัน แต่พลาดแผ่นหลังพ่อไปได้ยังไง...น่าอ่านมาก ๆ เพราะเป็นคนหนึ่งที่ผูกพันกับพ่อเหลือเกิน

ขอบคุณที่นำบทสัมภาษณ์มาให้อ่านค่ะ ขออนุญาตแอ้ดบล็อกนะคะจะได้เข้ามาอ่าน"ความคิด" ดี ๆ แบบผู้หญิง ๆ อีกเรื่อย ๆ ค่ะ


โดย: แม่ไก่ วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:20:46:45 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่ยายแพรฯ
--------------------------------
สาระ สาระ และสาระ เมื่อได้อ่าน
ให้รู้สึกพึงพอใจในชีวิต ที่เป็นอยู่และเป็นไปในวันเวลา

คิดถึงค่ะ


โดย: สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:11:48:27 น.  

 
ได้อ่านตั้งแต่ออกใหม่ๆแล้วค่ะ
รู้สึกดีใจมากที่เห็นบทสัมภาษณ์ถึงคุณ
ได้รู้จักกันมากขึ้น
เคยได้อ่านมานะกับอาม่านานแล้วค่ะ
เพิ่งรู้ว่าเป็นงานอีกเล่มของคุณค่ะ
ชีวิตคุณเป็นอีกอุดมคติที่น่ายกย่องค่ะ
อยากให้สัมภาษณ์พี่หนอมเยอะๆบ้างจังค่ะ


โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:17:23:06 น.  

 
ยิปซีสีน้ำเงิน

มานะกับอาม่า เป็นหนังสือที่นานมากแล้วเมื่อปีที่แล้วพี่เขียน อาม่าที่รัก ออกมาอีกเล่มหนึ่งค่ะ

พี่หนอมเข้าไปอ่านบล็อกของคุณอยู่เสมอ ๆ เพราะชอบงานศิลปะ

ขอบคุณค่ะ



โดย: แพรจารุ วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:23:02:35 น.  

 
ปูขาเก เซมารู สวัสดีค่ะ

แผ่นหลังพ่อฉบับพิมพ์ครั้งแรกดูขลังดี พี่ยังไม่มีเลย แต่จำได้ว่า คนออกแบบปกวาดภาพแผ่นหลัง
แต่พี่ก็ชอบรูปประกอบข้างใน

ดูซื้อ ๆดี ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่เจ็ด น่าจะใช่ พี่ไม่ค่อยมีหนังสือของตัวเอง


โดย: แพรจารุ วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:1:10:46 น.  

 
ประกาศประมูลหนังสือหายากของพี่ยาย
เล่มนั้น
เคาะราคาที่เท่าไหร่ดีหนอ

เคาะเริ่มประมูล


โดย: ตาพรานบุญ วันที่: 28 สิงหาคม 2551 เวลา:18:20:23 น.  

 
ขอบคุณครับที่แวะไปเยี่ยมเยียนกัน


โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 29 สิงหาคม 2551 เวลา:7:12:07 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่แพร
เพ็ญ กุลสตรี ฉบับนี้ มาแล้วนะคะ ถึงแม้จะมีตำหนิหน่อย อ่านแล้ว นึกถึง ครูที่สอนเพ็ญ ตอน ป.3 ท่านนึง
ชื่อ ครูชื่น ทองเกลี้ยง เป็น ครูที่ดุมากๆ แต่เป็นครูที่ทำให้ เพ็ญ เรียนคณิตศาสตร์ได้รู้เรื่อง แต่ท่านเกษียณ ไปหลายปีแล้วค่ะ



โดย: เพ็ญ (PenKa ) วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:9:24:52 น.  

 
เดี๋ยวไปหาซื้อมาอ่านมั่งดีกว่า

น่าอ่านดี

ขอบคุณนะคะ


โดย: mikajue วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:11:29:18 น.  

 
สวัสดีจ้ะยาย

ขอบคุณที่ชวนไปร่วมงานด้วย
แต่ตอนนี้ยังไม่รับปากร้อยเปอรืเซ็นต์นะ
แต่ถ้าไปเจอกันที่ร้านเลย

แต่คิดว่าอย่างไรการมาเชียงใหม่ครั้งนี้น่าจะได้พบหน้าพี่หนอมก่อนกลับบ้างน่า


โดย: พ่อพเยีย วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:19:41:21 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณ แพร จารุ
อ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งกับการใช้
ความสงบของธรรมชาติบำบัด
อาการป่วย (ปวดเข่า)

บางทีความสับสนในสังคม
ทำให้เราเผลอไผล
ลืมนึกถึงสุขภาพนะคะ

กว่าจะรู้ตัวอีกที
เราก็เสียสุขภาพแลกไปกับมันแล้ว


โดย: โสดในซอย วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:20:07:11 น.  

 
เป็นคนอ่านที่ติดตามงานอ่านมาโดยตลอด..ชอบค่ะ
อ่านแล้วเห็นภาพเลยนะคะ ตอนที่เป้นคนทำหนังสือนั้นมันคืออาการเดียวกัน..ปั่นต้นฉบับ..กลับบ้านสว่าง....ก่อนหน้านั้นยังไม่เหมือนตอนนี้ที่ส่งงานผ่านe-mailได้..

ไม่ว่าเชียงใหม่จะเป็นอย่างไรแต่มันยังคงเป้นความฝันของใครหลายคนรวมทั้งตัวเองด้วย..

"ฉันว่ายิ่งอายุมากขึ้นความฝันจะเล็กลง หรือว่าความฝันจะหายไป เรื่อย ๆ หรือเรื่องที่เราฝันนั้นเป็นเรื่องใหญ่เกินไป และไม่มีวันจะเป็นไปได้เลย...."...

จริงแท้เลยค่ะ..เห็นด้วยอย่างมากกับประโยคนี้


โดย: ผู้หญิงที่มาจากโลกสีคราม (girl from sea ) วันที่: 2 กันยายน 2551 เวลา:8:26:49 น.  

 
ดีใจจังที่ได้มีโอกาสเข้ามาหาถึงในบ้านคุณแพรจารุ (แพรทอง) เป็นเกียรติจังเลย

เคยอ่าน เคยได้ยินชื่อบ่อยมาก

แต่ยังไม่ได้อ่านกุลสตรี เดี๋ยวจะไปหาอ่าน จะได้รู้จักคุณแพรจารุมากขึ้น


โดย: ชิงดวง วันที่: 2 กันยายน 2551 เวลา:13:49:29 น.  

 
maew_kk วันที่: 2 กันยายน 2551 เวลา:13:58:09 น.
 

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แพรจารุ
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..
۞ บทกวีและเรื่องสั้น ถนอมไชยวงษ์แก้ว
อัพเดท

..
۞ จากกระท่อมทุ่งเสี้ยว โดยถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อัพเดท 17 ต.ค.51
http://www.youtube.com/watch?v=L21lhWsu8QQ&feature=related object width="315" height="80">
หา โค้ดเพลงhi5 : hi5 song code search
Friends' blogs
[Add แพรจารุ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.