Group Blog
ตุลาคม 2559

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
--- ค ว า ม คิ ด กั บ ก า ร ใ ห้ ---











หลายครั้งที่อ่านเรื่องการให้ในหลาย ๆ ความรู้สึก
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของตัวผู้ให้และผู้รับ
ทั้งสองอย่างนั้น ทำอย่างไรจึงจะสมดุลกับชีวิต

เราเติบโตมาด้วยการรับตั้งแต่เล็ก ๆ
พ่อแม่เป็นผู้ให้เรามาตลอด โดยที่เราเองยังไม่รู้จักการให้
หรือความรู้สึกซาบซึ้งจากการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
จนกระทั่งพ่อแม่หรือครูจะค่อย ๆ สอนให้รู้จักแบ่งปันคนอื่น

ทำไมต้องให้ ทำไมต้องแบ่งปัน
เพราะเราอาจจะไม่ชัดเจนนักว่าการให้คืออะไร
ขณะที่เรามีขนมในมือ กินคนเดียว อิ่มท้อง

แต่แม่บอกให้เราแบ่งน้อง
เรายังรู้สึกเลยว่า ไม่อยากมีน้อง ทำไมต้องให้
ทำไมแม่ไม่ซื้อให้เท่า ๆ กันไปเลย

เรื่องละเอียดอ่อนขนาดนี้ แม่ค่อย ๆ ฝึกฝนให้เรารู้จักไปทีละน้อย
การให้เป็นการลดความตระหนี่ถี่เหนียวไปในตัว
ถ้าไม่รู้จักให้แม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อย่าไปคิดการให้เรื่องใหญ่ ๆ ได้

แต่ตอนนั้น เราไม่มีทางเข้าใจหรอกว่า
การให้ ดีอย่างไร
และเรามีความสุขกับการให้จริงหรือเปล่า

ครั้งหนึ่ง เราเคยอยู่บ้านญาติซึ่งอัตคัดขัดสนเหมือนกัน เด็กแปดคนอยู่รวมกัน เงินที่แม่ให้ไปโรงเรียนก็แค่กินขนมได้เพียงนิดหน่อยแต่หลัก ๆ คือเอาไว้ค่ารถเมล์และกินข้าว หากซื้อขนมกิน ฉันจะรีบกินให้หมดก่อนเข้าบ้าน เศษเงินที่เจียดไว้สำหรับไอติมหนึ่งแท่งก็จะดูดกินอย่างเอร็ดอร่อยก่อนถึงบ้าน มันแบ่งไม่ได้ ถึงแบ่งได้ก็ไม่อยากให้พี่ ๆ น้อง ๆ แย่งกันดูดไอติมของฉัน ฉันไม่อยากแบ่ง มันเป็นรางวัลที่ฉันควรให้ตัวเอง

แม้แต่มาม่าก็เป็นของขวัญที่พ่อส่งมาให้กิน เป็นอาหารพิเศษที่ไม่ได้กินบ่อยเหมือนกับเป๊ปซี่ที่ได้กินเฉพาะงานแต่ง งานบวช ตอนเป็นเด็กเรากินแต่ข้าวที่บ้าน ไม่เคยแม้แต่จะกินข้าวนอกบ้าน การได้กินก๋วยเตี๋ยวนอกบ้านถือเป็นโอกาสพิเศษทั้งสิ้น

มาม่าก็เป็นอาหารหรูที่สุดสำหรับฉัน พ่อส่งมาให้ตอนปีใหม่ กระโดดดีใจแทบตาย อยากจะแอบกินด้วยซ้ำ ฉัน(จำ)ต้องแบ่ง ต้มมาม่าหนึ่งซอง ช้อนแปดคัน น้ำตาจะไหลเพราะได้กินนิดเดียว ดูแค่ว่าใครจะเป็นคนยกชามซดคนสุดท้ายเท่านั้น เหตุการณ์นี้เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวาน มาม่ากับช้อนแปดคัน ฉันยังไม่เห็นความสำคัญของการแบ่งปันอยู่ดีขณะที่ท้องตัวเองไม่อิ่ม

ตอนเรียนมัธยมปลาย ฉันไม่มีข้าวห่อไปโรงเรียน แต่จะเป็นม้าเร็วคอยไปต่อคิวซื้อผัดหมี่มากินกับเพื่อน อาศัยข้าวห่อและกับข้าวของเพื่อน กลุ่มเรามีห้าคน ข้าวและกับข้าวที่เพื่อนห่อมาก็จะแกะวางรวมและกินด้วยกัน ฉันผ่านวันเวลาเหล่านี้มากับเพื่อนสาวของฉันที่เอื้อเฟื้ออาหารกลางวันมาตลอด เพื่อนดีใจที่อาหารกลางวันที่เรากินด้วยกันหมดทุกวัน ตอนนั้นฉันไม่ซาบซึ้งใจเท่าตอนนี้เมื่อนึกถึงเพื่อน ๆ ของฉัน นั่นเพราะฉันผ่านร้อนผ่านหนาว มองเห็นคุณค่าการแบ่งปันจากเพื่อน ๆ ซึ่งพวกเธออาจไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า ตัวเองได้แบ่งปัน แต่เป็นธรรมชาติของความเป็นเพื่อนและเห็นใจฉันที่ไม่มีข้าวห่อมาโรงเรียน พวกเธอคงอิ่มใจและสุขใจทุกครั้งไปแล้วและไม่คิดติดใจอะไรกับฉัน ฉันเป็นผู้รับเสมอมา

ในความเป็นผู้รับที่ไม่ดีก็มีบ่อย ...
แต่ก่อนนี้ เรานิยมทำการ์ดให้กันทุกเทศกาล ฉันไม่ได้ชอบการ์ดของเพื่อนทุกคน ถึงชอบก็ไม่เท่ากัน การแสดงออกก็แสนจะตรงไปตรงมา ชอบก็ดีใจออกนอกหน้า ไม่ชอบก็จะไม่เอาและยังหน้างอ กระปอดกระแปดอีก คิดว่าเพื่อนรักไม่เท่ากัน ของคนนั้นสวยกว่าของฉัน เธอไม่ตั้งใจทำให้ฉันหรือเปล่า (ความงี่เง่าของฉันล่ะนั่น) พูดตรงจนเพื่อนน้อยใจ ก็ไม่สำนึก นึกไม่ถึงว่าเพื่อนยังคบฉันมาจนวันนี้
แล้วเวลาเราทำการ์ดให้เพื่อน ฉันยังคาดหวังว่าเพื่อนจะชอบเช่นกัน ความคาดหวังอันสูงส่ง บรรจงทำทุกอัน นึกหน้าเพื่อนและคิดว่าใครจะชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน แต่ละอันเป็นชิ้นเดียวในโลก เพื่อนก็ไม่เคยแสดงอาการว่าไม่ชอบสักครั้ง ปลื้มใจเสียอีก ทำให้คนให้ลำพองใจ เป็นการให้ที่สมหวังของผู้ให้โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า ผู้รับเหล่านี้เขาคือส่วนที่ทำให้การให้สมบูรณ์

แต่ช่วงทำงานออฟฟิศ มีการให้ของและรับของจากเพื่อนหรือคนนั้นคนนี้อยู่บ่อย ๆ บางทีไม่มีเทศกาลอะไร เราก็ซื้อนั่นนี่ให้กัน นาน ๆ ทีมาค้นของดู
หลายต่อหลายอย่างมันไม่ใช่สิ่งที่ฉันชอบ กระเป๋าเล็ก ๆ ลายดอกไม้ที่ฉันไม่ปลื้ม เสื้อยืดที่ฉันไม่ชอบเนื้อผ้า ตุ๊กตาที่ฉันไม่กล้าแขวนกระเป๋า ผ้าพันคอสีไม่ถูกใจ จะทิ้งของเหล่านั้นก็ไม่กล้าทิ้งเพราะนึกถึงคนให้ ฉันไม่แน่ใจว่าฉันไม่ชอบของหรือไม่ชอบตัวบุคคลกันแน่

และมีอีกมหาศาลที่ฉันชอบจนไม่กล้าใช้ เก็บถนอมไว้แม้แต่สบู่ น้ำหอม จนหมดกลิ่น กระนั้นก็ไม่อยากทิ้ง เอาไว้ก่อน บ้านฉันจึงมีสมบัติบ้าของฉันที่ยังไม่ถึงวาระจะทิ้งสักอย่างหรือมันจะรอตอนฉันอัลไซเมอร์แล้วจึงจะค่อยมาฟื้นความทรงจำอีกที
ไม่รู้คนอื่นจะเป็นแบบเราบ้างหรือเปล่าที่รับของที่ไม่จำเป็นกับชีวิตและไม่ชอบจนอาจจะบอกว่า ไม่รับของชิ้นนี้ได้มั้ย ฉันไม่ชอบ

ครั้งหนึ่ง ฉันเคยให้หนังสือเพื่อนเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือรางวัลใหญ่ เป็นเล่มที่ฉันอยากให้เธออ่านมาก เธอเอาไปอ่านและบอกว่า ไม่ชอบเลย ไม่เอาได้หรือเปล่า ให้คนอื่นไปเถอะไม่ชอบจริง ๆ

ฉันตะลึงไปชั่ววินาทีที่ได้ยิน เหตุการณ์นี้ ฉันได้ทบทวนตัวเอง นึกถึงตอนที่หาหนังสือสักเล่มที่ตัวเองชอบไปฝากเพื่อน ลืมคิดถึงคนรับเสียสนิท คิดถึงแต่ตัวเอง ชอบอะไรก็อยากให้เพื่อนสิ่งนั้น

ฉั น ซุ่ ม ซ่ า ม กั บ ก า ร ใ ห้ . . .

ตักบาตรไม่ต้องถามพระ อยากให้อะไรก็ให้ เคยถามความต้องการเขาหรือเปล่า ทำให้ฉันทบทวนตัวเองว่า รู้จักเพื่อนดีพอหรือเปล่า รู้หรือว่าเขาอยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร แล้วก็ต้องขอบคุณเธอในทางกลับกันเพราะเธอไม่ได้เสแสร้งว่าชอบในสิ่งที่ฉันให้ เราคบกันมานานพอจะพูดกันตรง ๆ ได้

การให้ของฉัน อยู่สูงกว่า ผู้รับหรือไม่ ฉันไม่เคยคิด ฉันแค่อยากหาอะไรติดไม้ติดมือไปฝากเพื่อน หรือไปที่ไหน บ้านไหนก็ต้องทำ อันนี้พ่อสอนไว้อย่างแข็งขัน ไม่ให้เข้าบ้านใครแบบมือเปล่าซึ่งนานไป ๆ เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำและเป็นเรื่องที่ดีเสมอ แม้บ่อยครั้งคนที่บ้านพ่อไม่เคยแยแสของฝากของเราไม่ว่าจะถั่วอัลมอนด์ ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง พุทรา ลิ้นจี่ ผักหวาน ส้มเขียวหวานที่เราขนใส่ตะกร้ามาฝาก นานไปเราก็เคยชินที่เขาไม่สนแต่ไม่เลิกทำ ไม่กล้าเข้าบ้านมือเปล่า ไม่คิดว่าหอบสังขารไปให้เขาเห็นหน้าอย่างเดียวก็เพียงพอเพราะเราเริ่มหาของฝากกันเป็นปกติ มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ตัว
ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า แรก ๆ นั้นไม่สบายใจหรอก ออกจะเสียใจด้วยซ้ำที่เขาไม่ยี่หระหรือมองไม่เห็นความตั้งใจดีของเรา แล้วก็ไม่ใช่ความเคยชินหรอกที่เจอผู้รับไม่ชอบ ไม่แยแส ไม่เห็นค่า เฉยเมยใส่ ทำเป็นไม่รับรู้ในสิ่งที่เราทำ ฉันรู้มันคือความคาดหวังในฐานะปุถุชน อยากเห็นเขาชอบหรือดีใจ อยากให้เขามีความสุข เพราะเราคาดหวังในตัวผู้รับเกินไป

กระบวนการคิดก่อนให้นั้น บั่นทอนจิตใจมาก การคิดทุกครั้งมักจะพ่วงเหตุผลต่าง ๆ นานาเข้ามาร่วมด้วย กลัวเขาไม่ชอบ กลัวเขาว่าของถูก ของไม่ดี แต่ทั้งหมดนี้แหละ เรียกว่า ความคาดหวังในการให้ของเราไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ความคิดกักกันความตั้งใจดี ๆ หลายอย่าง

เมื่อครั้งเป็นเด็ก ฉันไม่รู้หรอกว่า การให้และการแบ่งปันดีอย่างไร ให้แล้วสุขใจหรืออิ่มใจอย่างไร ฉันรู้เรื่องนี้เมื่อไหร่ก็ตอบไม่ได้ แต่ก็สอนลูกเสมอ ๆ เพราะการให้เป็นเรื่องที่ต้องสอน ให้โดยไม่เบียดเบียนตัวเองและทำให้เป็นปกตินิสัย มันคือปรัชญาหนึ่งในครอบครัวเรา

ฉันเคยให้ลูกเลือกครีมทาหน้าให้พ่อของเขาเพราะเข้าหน้าหนาวแล้ว เขาไม่รู้ว่าพ่อใช้ยี่ห้ออะไรตอนนี้ เคยเห็นสารพัดยี่ห้อ (เพราะบางอย่างที่ฉันใช้แล้วแพ้ เขาก็ช่วยใช้ )แต่ไม่รู้ว่าพ่อจะใช้แบบไหน เลยบอกไปแค่ว่า พ่อไม่แพ้เครื่องสำอางสักอย่าง อะไรก็ได้ แต่จะสอนไว้เลยว่า เลือกของให้พ่อน่ะเลือกของที่ลูกคิดว่าดีที่สุด คงไม่ต้องบอกอีกนะว่าเพราะอะไร ...

ผู้ให้ไม่ได้เหนือกว่าผู้รับ แต่คนเราให้ได้ยากกว่ารับ
เราให้คนที่เรารักได้ง่ายกว่าคนไม่รู้จัก
แม้แต่สังฆทานที่ถวายพระ
บางครั้งเรายังระบุตัวพระหรือเลือกวัดที่จะไปเลย

เพราะความคิด...
ความคิดส่งผลต่อความรู้สึก

การคิดเริ่มกระบวนการตั้งคำถามในใจ
ทำไมต้องให้
ให้ทำไม
เขาจะใช้หรือเปล่าไม่รู้
เขาจะชอบเหรอ เคยให้แล้วเขาไม่ชอบ
ให้ไปก็แค่นั้น คนอื่นให้เยอะแล้ว
ให้แล้วต้องออกสื่อ ไม่อยากให้ อยากให้เงียบ ๆ ฯลฯ
สารพัดเหตุผลมารับรองการให้แต่ละครั้ง
การให้ดูเหมือนการสูญเสีย
แต่เราได้รับบางอย่างมาในใจ
มีความสุขตั้งแต่คิดว่าจะให้
ส่วนของผู้รับก็เช่นกัน ไม่ได้ทำให้เราต่ำต้อยกว่า
ลดความหยิ่งทะนงในตน ให้โอกาสให้คนอื่นเป็นผู้ให้บ้าง
จะทำให้การให้นั้นสมดุล สมบูรณ์และสวยงามขึ้น
กระบวนการคิดของเราไม่เหมือนกัน
คิดอย่างไร ก็จะดำเนินชีวิตแบบนั้น

บางที
เราก็น่าจะเริ่มต้นตรงที่

ให้
ไม่ต้อง
คิด



ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย
24 ตุลาคม 2559














Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 10:58:31 น.
Counter : 625 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ภูเพยีย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



  •  Bloggang.com