ระหว่างรอยไถ
ไร่ของฉัน – บ้านความรัก
“ เรื่องราวของหมูหมากาไก่ และความเป็นไปของผู้คนในไร่แสงตะวัน ”
โกเมศ มาสขาว

ระหว่างรอยไถ

ฝนหล่นสายลงมาแล้ว ฤดูกาลหว่านไถเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากงานบุญบั้งไฟในหมู่บ้านสิ้นสุดลง ในช่วงเวลากลางวัน ทั้งหมู่บ้านจึงดูคล้ายว่างเปล่าผู้คน... เงียบเหงากระทั่งสหกรณ์ร้านค้าประจำหมู่บ้านต้องเปิดขายของเฉพาะช่วงเช้ากับช่วงเย็นเท่านั้น... ในช่วงเวลากลางวัน... ผู้คนส่วนใหญ่จะมุ่งมั่นกรำงานอยู่ในไร่นาของตน ราวกับว่า...พวกเขากำลังสร้างโลกที่มีพื้นที่เพียงหยิบมืออยู่อย่างโดดเดี่ยว
...มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่น่าภาคภูมิใจ... ใคร ๆ ก็คิดเช่นนั้น พื้นที่ซึ่งเป็นความหมายทั้งหมดทั้งมวลของชีวิต พื้นที่ซึ่งเป็นความหวังและความฝันของคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมซึ่งถูกกระทำย่ำยีโดยโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและการเมืองมาชั่วนาตาปี
มันเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของชาวดิน... พื้นที่ซึ่งพวกเขาปรารถนาจะนอนเฝ้าตลอดกาลเมื่อวาระสุดท้ายของลมหายใจสิ้นสุดลง ความภาคภูมิใจต่อสถานที่ซึ่งเป็นเรือนตายนี้ ได้ถูกถ่ายทอดและสั่งสมอุดมคติมาจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านกระบวนการการทำมาหากินบนพื้นฐานของความยากลำบากและอัตคัดขัดสน ผ่านหน้าที่การงานซึ่งเป็นเสมือนเครื่องช่วยต่อชีวิตของคนในครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมด้วยความปกติสุข ราบรื่น ...ผ่านคำบอกเล่าและเรื่องราวโบราณของคนเฒ่าคนแก่ข้างกองไฟแลกรอยยิ้มของเด็กน้อย... รางวัลชีวิตยามไม้ใกล้ฝั่ง บอกเล่านิทานชีวิตที่โชกโชนไปด้วยรอยบาดแผล ทั้งดุเด็ดเผ็ดมันและอัศจรรย์พันลึก สะกดดวงตาน้อย ๆ หลายคู่ให้เขม็งมองข้ามกองไฟหลุดลอยไปสู่จินตนาการแสนบรรเจิด... หลุดลอยไปสู่หมู่บ้านในนิทานซึ่งครั้งหนึ่งปู่ย่าตายายเคยได้ช่วยกันหักร้างถางพง “ดงเสือด่านช้าง” สมัยเป็นหนุ่มสาว

ด้วยคำบอกเล่าผ่านสถานที่และนิทานชีวิต ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ได้ยินมาตั้งแต่ที่ฉันพอเริ่มจำความได้ การประติดประต่อเรื่องราวฉากนิทานโบราณ “ซ้ำซาก” ซึ่งตกตะกอนอยู่ในก้นบึ้งของความทรงจำมาเนิ่นนาน ก็พอที่จะทำให้ฉันมองเห็นได้ถึงอดีตที่งดงามของคนรุ่นปู่ย่าตายายในช่วงกาลเวลานั้น สมัยที่ดงเสือด่านช้างยังคงรายล้อมรอบหมู่บ้าน และผีป่ายังคงสถิตสิงอยู่โดยทั่วไป กระทั่งประชิดหัวกระไดเรือนโบราณยามคืนจันทร์เพ็ง ...ทำให้เด็กน้อยคนหนึ่งฉี่รดที่นอนเพราะความขยาดกลัว ไม่กล้าลุกขึ้นไปฉี่ที่ชานเรือนเพราะกลัวผีจะดึง“จู๋”...ไปกิน... ในตอนเช้าจึงต้องรีบลุกขึ้นมาซักผ้าและประคบทารอยไม้เรียวซึ่งพ่อฝากไว้ก่อนไปทำงานในไร่ด้วยน้ำมันไพรผสมไขวัว ...กระทั่งเด็กชายโตเป็นหนุ่ม บวชเรียนกับหลวงปู่ผู้เคร่งครัดในธุดงควัตร ติดตามหลวงปู่ขึ้นเหนือล่องใต้ไปนานหลายปี ก่อนจะกลับมาลาสิกขาบทและแต่งงานกับหญิงสาวในหมู่บ้าน ช่วยกันขุดร้างถางพง บุกเบิกดงเสือด่านช้างจนเป็นไร่นาผืนใหม่ ปลูกกอไผ่และมะม่วง รวมทั้งผลไม้พืชพันธุ์อื่น ๆ อีกคณานัป ตัดไม้แดงใหญ่ด้วยขวาน ถากจนเนียนเรียบ ขึ้นเสาปลูกกระท่อมที่ริม “หนองโดน” สร้างชีวิตครอบครัวด้วยจอบ เสียม และขวาน อย่างละเล่มเท่านั้น จนได้ไร่นาผืนใหญ่โล่งเตียน ให้ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉาง ดงเสือด่านช้างค่อย ๆ ย้ายที่ไกลออกไปจนเหลือเพียงความทรงจำ และด้วยชื่อเสียงทั้งเรื่องทางโลกย์และธรรมของชายหนุ่ม ผีป่าผีดงถึงกับขยาดกลัวอพยพโยกย้ายขึ้นป่าขึ้นเขาไป เหลือเพียงผีปอบผีเป้าหากินขี้หมาอยู่ตามชายทุ่งชายป่า นาน ๆ หนจึงจะวิ่งเข้าคนนั้นออกคนนี้ให้จับไข้หัวโกร๋นเล่น จนชาวบ้านต้องมาวานให้ชายหนุ่มไปช่วยขับไล่ทุกครั้งไป
หลังว่างเว้นจากงานไร่งานนาในฤดูแล้ง... นักเลงบ้านเหนือบ้านใต้ ทั้งนักเลงดาบนักเลงปืนก็จะมาชุมนุมกันที่บ้านของเขา ปรึกษาหารือช่องทางทำมาหากินโดยให้เขาทำหน้าที่เป็นหัวหน้า “นายฮ้อย” รับฝากวัวฝากควายไล่ต้อนเดินทางไกลจากเมืองยศสุนทรข้ามหุบเขาดงพญาไฟไปจนถึงหนองจอก , มีนบุรี สามสี่เดือนจึงจะเดินทางกลับมาถึงบ้าน พร้อมทรัพย์สินเงินทองแจกจ่ายชาวบ้านเจ้าของวัวควาย บางครั้ง...นอกจากเงินทองจากการค้าขาย ยังมีห่อเถ้ากระดูกของเพื่อนร่วมทางซึ่งล้มหายตายจากไประหว่างเดินทางไกลด้วยโรคภัยไข้ป่าและโจรปล้นควายรายทางนับครั้งไม่ถ้วน...

เข็มนาฬิกาโบราณยังคงดำเนินไปเช่นนั้น... จนลูกหลานเติบใหญ่ออกเหย้าออกเรือนไปหลายคน เหลือเพียงลูกสาวคนเล็กอยู่เฝ้าปรนนิบัติเลี้ยงดู สู้ทนทำไร่ทำนาบนผืนดินที่ถูกบุกเบิกโดยผู้เป็นพ่อมอบไว้เป็นมรดกตกทอด ยามวัยหนุ่มสาวร่วงโรยทิ้งไว้เพียงความทรงจำ กระทั่งล่วงเลยมาถึงยุคสมัยของฉัน...
ยุคสมัยซึ่ง “ดงเสือด่านช้าง” ในอดีตกลายเป็น“นาลานหญ้า ดงขี้กระต่าย” และผีปอบผีเป้ากะพริบไฟหากินขี้หมาอยู่กลางทุ่งกลางนา กลายเป็นหัวขโมยส่องไฟเที่ยวลักฟ่อนข้าวชาวบ้านไปขายแลกเหล้าแลกยายามใกล้ลงแดง ยุคสมัยที่ผู้คนซึ่งอยู่ห่างไกลกันครึ่งโลกสามารถพูดคุยกันได้โดยไม่ต้องอาศัยพลังจิตคาดเดาเหมือนในอดีต ...วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและเปลี่ยวร้างเสมอมา เข็มนาฬิกาโบราณได้กลืนกินทุกสิ่งไปทีละนิดทีละน้อย กระทั่งสูญหายไปในสายลมหนาว... เรื่องราวในอดีตที่งดงาม เลือนรางและแผ่วเบาเหมือนเสียงกระซิบจากที่อันแสนไกล...ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ยิน ...แต่ไม่รู้ว่านานเพียงใดแล้ว...

ฉันไม่ได้เกิดที่นี่... แต่ก็ยังคงรับรู้อยู่เสมอว่าเป็น“ คนของที่นี่” ขณะที่ใครหลาย ๆ คนยังคงสับสนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนของที่ใดกันแน่...
หลังจากที่พ่อแม่ อพยพโยกย้ายไปทำงานในเมืองหลวงนานหลายปี สายลมของความสิ้นหวังก็พัดพาครอบครัวของเรากลับบ้านอีกครั้ง กลับมาบุกเบิกผืนนารกร้างว่างเปล่า มรดกตกทอดของนายฮ้อยผู้เคยมีชีวิตโลดเล่าในอดีต แปลงเป็นทุ่งข้าวเขียวขจีและผลิดอกออกผลเป็นทุ่งทองด้วยแรงงานอันเป็นต้นทุนของชีวิต ฤดูกาลของโลกหมุนเวียนผ่านพ้นไปปีแล้วปีเล่า พร้อม ๆ กับหน้าที่การงานซึ่งซ้ำซากจำเจ วนเวียนอยู่ระหว่างรอยเท้าซึ่งย่ำเดินไปรอบแล้วรอบเล่าระหว่างไถคราดปักดำ ...ปีแล้วปีเล่าที่วิถีชีวิตชาชินอยู่กับความยากลำบากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปโดยสิ้นเชิง

ฉันยังคงเฝ้าคิดถึงเรื่องราวที่งดงามในอดีตกาลอยู่เสมอ รักและหวงแหนผืนแผ่นดินแห่งนี้ราวกับว่ามันคือชีวิตทั้งชีวิตที่หลงเหลืออยู่และไม่เคยคิดที่จะอพยพโยกย้ายไปไหนอีก... ทุกครั้งที่ฉันลงมือไถคราดปักดำ ฉันจะเพียรเฝ้านับรอยเท้าของตัวเองรอบแล้วรอบเล่า... มันทำให้ฉันระลึกถึงรอยเท้ารอยแรกที่ประทับลงบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ...รอยเท้าของผู้บุกเบิก แผ้วถาง ดงเสือด่านช้างให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาตราบจนปัจจุบัน ...รอยเท้าของนายฮ้อยผู้เป็นต้นแบบของชีวิต ควรค่าแก่การระลึกถึง ไม่ใช่ผู้ที่ผ่านมาแล้วผ่านเลยไปเหมือนสายลมร้อนเดือนเมษา... ฉันจะพยายามทำทุกอย่างบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ให้สมดังความมุ่งมาดปรารถนาของผู้เริ่มต้น ...และวันใดวันหนึ่ง เมื่อฉันล้มลง...ฉันก็ปรารถนาที่จะให้ใครสักคน...เฝ้าค้นหารอยเท้าของฉันบ้างเช่นกัน ...บนผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักแห่งนี้...



Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2554 16:07:39 น.
Counter : 332 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แลงมาเถียงนา
Location :
อุบลราชธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ชีวิตที่เรียบง่าย งดงามครับ
PhotobucketPhotobucket
เขียนข้อความ
PhotobucketPhotobucket
กุมภาพันธ์ 2554

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28