กลโป้ปด - สะกดจิตหมู่
    ทำยังไงให้คนเชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ


    “If you tell a big enough lie and tell it frequently enough, it will be believed. “
    Adolf Hitler, Mein Kampf “Why the second reich collapse”


    “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ, โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ”
    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า “เหตุใดจักรวรรดิไรค์ที่ 2 จึงล่มสลาย”




    เคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมคนที่ดูฉลาด เก่งกาจ จำนวนมาก กลับตกเป็นสาวกลัทธิแปลกประหลาดที่ผิดสามัญสำนึกโดยสิ้นเชิง
    เคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมฝูงชนหมู่มากเมื่อมารวมกัน จึงถูกหลอกให้เชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ และไม่ควรเชื่อได้บ่อยๆ
    เคยสงสัยกันไหม ว่าชนชาติที่ขยัน อดทน และมีมันสมองชั้นเลิศอย่างญี่ปุ่นและเยอรมัน จึงถูกผู้นำหลอกให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำพูดของเขาได้


    นักสื่อสาร นักจิตวิทยา ต่างศึกษาจิตใจของผู้คน และกระแสของมวลชน จนสรุปว่า
    การ propaganda (ไทยแปลศัพท์ว่า โฆษณาชวนเชื่อ) เป็นต้นเหตุของความผิดเพี้ยนทางความคิดทั้งปวง

    แน่นอนว่า นักจิตวิทยาและนักสื่อสารบางส่วนนำผลสรุปนี้ไปใช้ประโยชน์
    สร้างระบบจิตวิทยามวลชน อุปาทานหมู่ เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง





    ทำอย่างไรเราจะรู้ทันการโฆษณาชวนเชื่อนี้ล่ะ


    บทความนี้ไม่ได้มีเพื่อให้นำวิธีการต่างๆไปใช้
    แต่เพื่อให้รู้เท่าทันและระวังตัวไม่ตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่ออีกต่อไป












    หลักการโฆษณาชวนเชื่อ อาจสรุปลงง่ายๆ 7 ข้อ ได้แก่


    1. Ad Hominem : โจมตีตัวบุคคล

    สร้างศัตรูบุคคลขึ้นมาเป็นหุ่นรับการโจมตีหลัก แล้วจับผิด โจมตี ด่าทอ ต่อว่า ทั้งเรื่องส่วนตัวและคำพูดทุกคำพูดของคนๆนั้น
    รวมถึงการสร้างภาพให้ฝ่ายศัตรูที่ตั้งขึ้นมาโจมตีเป็นปีศาจร้าย เปรียบเทียบกับความชั่วร้ายในโลกทั้งมวล ทั้งในพระคัมภีร์ศาสนาและประวัติศาสตร์

    ตัวอย่างเช่น
    การโฆษณาชวนเชื่อโจมตีสตาลิน ในยุคลัทธิแม็คคาร์ธีของสหรัฐทศวรรษที่ 60 ว่าโหด ดุร้าย ป่าเถื่อนไร้อารยธรรม
    การสร้างข่าวโจมตีนายกฯวินสตัน เชอร์ชิลว่าเป็นคนโง่ ดื้อด้าน ของนาซี
    หรือแม้แต่การโฆษณาโจมตีฮิตเลอร์ว่าเป็นอัตติลาชาวฮัน หรือทายาทซาตาน ของฝ่ายสัมพันธมิตรเอง





    2. Ad nauseum : พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก

    มีสำนวนไทยว่าไว้เข้าทีว่า “น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน” แล้วใจคนอ่อนๆจะทนได้อย่างไร(ฮา) เมื่อน้ำคำลมปากกรอกหูเข้าทุกวัน
    สาวบางคนมีแฟนหนุ่มหล่อเท่อยู่ดีๆ วันเลวคืนร้ายเพื่อนตัวดีกริ๊งกร๊างมาว่า

    ” นี่เธอ เพื่อนของฉันเห็นหนุ่มหล่อๆหน้าตาคล้ายๆแฟนเธอเดินควงอยู่กับหนุ่มที่ไหนก็ไม่รู้ เนี่ย ชั้นล่ะสงสัยอยู่แล้วนะ ว่าแฟนเธอจะเป็นเกย์”

    หนแรก  ไม่เชื่อหัวเราะใส่โทรศัพท์
    หนสอง  เริ่มลังเล
    หนสาม  เอ๊ะ ชักไม่เข้าที ลองถามที่รักดูดีไหมนะ
    หนสี่      อดรนทนไม่ได้ถามออกไป ปรากฏว่าเป็นคุณแฟนพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลซะฉิบ


    แต่คราวนี้

    หนห้า  ถ้ามีอีก คุณอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าแฟนคุณโกหก แม่เพื่อนตัวดีก็ใส่ไฟใหญ่
               “เนี่ย แฟนเธอโกหกชัดๆ ผู้ชายที่เพื่อนชั้นเห็นเดินควงกับแฟนเธอน่ะ ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่เลย สัก 16-17 นี่แหละ จะเป็นคุณพ่อได้ยังไง”

    หนหก  เริ่มหงุดหงิดทุรนทุราย ออกสะกดรอยตาม แต่ก็ไม่เจอจังๆ
    หนเจ็ด  แฟนจับได้ว่าแอบตามเขาไป “นี่คุณไม่ไว้ใจผมใช่มั้ย ถ้าอย่างนี้ เราเลิกกันดีกว่า”
               ต้องนั่งร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า จะโทษเพื่อน เพื่อนตัวดีก็บอกว่า
               “ก็ขอโทษนะ ฉันไม่ได้เห็นเองนี่ เพื่อนของเพื่อนฉันบอกมาอีกที แถมเค้าไม่ได้บอกว่าเป็นแฟนเธอนิ แค่หน้าคล้ายๆ”

    แต่สุดท้าย คุณก็เห็นแม่เพื่อนตัวดีเดินจู๋จี๋กับแฟนเก่าคุณซะงั้น……




    3. Big Lie : โกหกคำโต

    โยเซฟ เกิบเบิลส์(1897-1945) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ(minister of propaganda) มือขวาของฮิตเลอร์ กล่าวว่า

    “The bigger the lie, the more it will be believed.”
    “ยิ่งโกหกคำโตเท่าไร, มันยิ่งน่าเชื่อไปเท่านั้น”


    และ

    “The great masses of people will more easily fall victims to a big lie than to a small one.”
    “ฝูงชนมหาศาลถูกหลอกด้วยการโกหกเรื่องใหญ่ ง่ายกว่าโกหกเรื่องเล็กๆ”


    การโกหกเรื่องเล็กๆที่มีรายละเอียดปลีกย่อย อาจมีผู้จับโกหกได้ง่าย
    แต่การโกหกเรื่องใหญ่ๆเพื่อหลอกให้เชื่อ มันย่อมครอบคลุมเรื่องต่างๆหลากหลาย อย่างน้อยต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกจริตผู้ฟัง

    และเมื่อคนพูดพูดในสิ่งที่คนฟังอยากจะเชื่ออยู่แล้ว เขาก็พร้อมจะยอมเชื่อโดยดี
    แม้ว่าคำโกหกเรื่องใหญ่นั้น จะเท็จครึ่ง จริงครึ่ง หรือไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความจริงอยู่เลย





    4. Name calling : สร้างสมญานาม


    การสร้างชื่อแทนใช้เรียกย่อๆ ง่ายๆ และตีความได้เข้าข้างตัวเอง หรือสร้างภาพเสียหายให้ศัตรู
    เป็นเทคนิคของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง

    เช่น
    Iron Curtain : ม่านเหล็ก ที่ดูน่ากลัว,

    The Third Reich ที่ย้อนโหยหาคืนวันอันรุ่งเรืองในอดีต

    และมักใช้สถาบันที่สูงส่งเข้ามาสร้างภาพเป็นส่วนหนึ่งของชื่อด้วย

    เช่น Imperial Army : กองทัพบกของสมเด็จพระจักรพรรดิ ของกองทัพญี่ปุ่น

    ถ้าจะหาเอาใกล้ๆก็เช่น ฟักแม้ว, หน้าเหลี่ยม, หมูกชมพู่, นอมินีเหลี่ยม, กะทิ, มารเฒ่าแซ่ลิ้ม, โจรโพกผ้าเหลือง เป็นต้น
    ขนาดพันธบัตรยังใช้คำว่า พันธบัตรเสรีภาพเลย





    5. Black and White fallacy : ตรรกะผิด-ถูก แบบขาว-ดำ

    ผู้โฆษณาชวนเชื่อ ต้องสร้างภาพการแบ่งแยกฝ่ายถูกผิดชัดเจนเป็นสีขาว-ดำ
    ใครเข้าข้างจะเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายธรรมะ ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายอธรรมทันที

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คำพูดของจอร์จ บุช จูเนียร์ เมื่อตัดสินใจบุกอิรักว่า

    “If you don’t be aside with America, you are with terrorrist.”



    ในโลกสีเทาหม่นๆของความเป็นจริง เราแสวงหาความดี ความถูกต้อง ตามหลักคำสอนทางจริยธรรมและศีลธรรมอยู่เสมอ
    เมื่อผู้โฆษณาชวนเชื่อตั้งธงให้เข้าร่วมกับความถูกต้องชัดเจน  ย่อมไม่แปลกที่จะหลงเชื่อในสิ่งที่เขากล่าวอย่างง่ายดาย

    และอาจไม่ฉุกคิดเลยว่า สิ่งที่เขาพูดไม่ตรงกับการกระทำอย่างใดเลย


    ใช่-ไม่ใช่พี่น้อง (ฮา)






    6. Flag Waving, Beautiful thing, and Great People reference : ชูธงสูงส่ง อ้างสิ่งสวยงาม ตามหลักมหาบุรุษ

    การโฆษณาชวนเชื่อนั้นจะอ้างตนเองและกลุ่มแนวคิดของตน ให้ดูยิ่งใหญ่ สูงส่ง อลังการ มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม

    ด้วยคำพูดและป้ายประกาศ  ใช้ข้อความที่ดูดี
    อ้างอิงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือนามธรรมที่คนยอมรับว่าดี เช่นเทพเจ้า พระเจ้า เทพยดา
    อ้างแนวทางของบุคคลในประวัติศาสตร์ ศาสดาที่ยิ่งใหญ่ เช่น พระพุทธเจ้า พระมะหะหมัด พระคริสต์ มหาตมะคานธี อับราฮัม ลินคอล์น
    อ้างพระคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ ฯลฯ


    แต่การอ้างดังกล่าวแตกต่างไปจากการเผยแผ่หรือโน้มนำที่ดีตามปกติ
    ด้วยว่าการโฆษณาชวนเชื่อ จะนำภาพลักษณ์ที่ดูสูงส่งสวยงามเหล่านั้นมาบิดเบือนให้เข้าข้างแนวคิดของตน

    เช่น

    นาซีอ้างพระคัมภีร์ที่ว่ายูดาทรยศพระคริสต์ มาบ่มเพาะความเกลียดชังชาวยิวทั้งหมด
    โดยละเลยไปว่าพระคริสต์เองและอัครสาวกก็เป็นชาวยิว,

    ฏอลิบันอ้างกุรอ่าน ว่าห้ามบูชารูปเคารพ มาทำลายพระพุทธรูปโบราณที่บามิยัน
    ทั้งๆที่ไม่มีใครแถวนั้นบูชาอีกแล้ว เป็นเพียงมรดกศิลปะเก่าแก่เท่านั้น




    7. Disinformation by mass media : ควบคุมกำจัดข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชน

    การบอกข้อมูลไม่ครบ บอกความจริงไม่หมด เลือกแต่เฉพาะข้อมูลหรือข่าวที่ส่งผลดีต่อฝ่ายตนเอง
    ใช้การอ้างนอกบริบท หรือนำคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาแต่งเติมเสริมเข้าไปให้ดูดี….


    ยิ่งใช้สื่อมวลชนที่เข้าถึงคนหมู่มาก ยิ่งบอกผ่านกันไปปากต่อปาก และยิ่งดูน่าเชื่อถือ
    หลายๆคนพอตั้งข้อสงสัย ก็ถูกตอบว่า “ก็ทีวีว่ามาอย่างนี้ล่ะ”
    ข้อนี้เราคงเห็นกันตามสื่อสารมวลชนอยู่ทุกวันแล้วนะครับ



    ปกติ หน้าที่ของสื่อข้อหนึ่งคือ Gatekeeper ผู้คัดกรองข่าวสาร
    เลือกข่าวสารที่มีประโยชน์และเป็นจริง และกำจัดข้อมูลชยะที่เป็นเท็จและไม่เป็นประโยชน์ทิ้งไป รวมถึงการเรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น

    แต่เมื่อสื่อมาโฆษณาชวนเชื่อแล้ว การคัดกรองข่าวสารก็จะบิดเบี้ยว
    กลายเป็นว่า คัดเฉพาะข้อมูลที่เข้าข้างฝ่ายตน มีประโยชน์ต่อตนเอง
    หรือหากข้อมูลเป็นกลาง ก็จะนำมาตัดแต่งเติมต่อตีความให้เข้ากับแนวคิดของตนเอง

    รวมทั้งการเรียบเรียงให้ง่าย(simplification) ที่ตัดทอนและละเลยข้อเท็จจริงไป
    แล้วนำเรื่องยากซับซ้อนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจสูงมาพูดเป็นเรื่องพื้นๆให้ คนเชื่อตาม

    เอ่อ นี่อาจจะเป็นตัวอย่างได้ //breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=339560
    ……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………










    การโฆษณาชวนเชื่อ แตกต่างและน่ากลัวกว่าการโฆษณาและชักจูงตามปกติ
    เพราะมันจะทำให้ตรรกะของคุณบิดเบี้ยวโดยคุณไม่รู้ตัว

    คุณจะเห็นคนอื่นผิดหมด ขณะที่ตัวเองถูกต้องเพียงคนเดียว

    คุณจะไม่เหลียวแม้แต่หางตามองสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเชื่อของคุณ

    คุณจะกล้าใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ เสียดสี คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ทั้งๆที่คุณไม่เคยมีนิสัยหยาบคายมาก่อน

    คุณจะพร้อมบริจาค ทุ่มเททั้งกำลังกายและทรัพย์สินให้กับสิ่งที่คุณเชื่อ โดยไม่เหลือให้ตัวเองและครอบครัว




    และเมื่อคุณรู้ตัว สังคมของคุณจะเหลือเพียงแต่กลุ่มคนที่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อแบบเดียวกับคุณเท่านั้น

//25.media.tumblr.com/tumblr_m7lt7u6brz1rsuiw7o1_500.jpg




    War is Peace
    Freedom is Slavery
    Knowledge is Ignorance

    Big Brother is Watching You!

    ระวัง! ผมอาจจะกำลังโฆษณาชวนเชื่อพวกคุณผู้อ่านอยู่เช่นกัน



    อ้างอิง

    กิติมา สุรสนธิ. การสื่อสารสาธารณมติ. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
    //en.wikiquote.org
    //en.wikipedia.org/wiki/Propaganda
    //www.holocaustresearchproject.org/holoprelude/nazprop.html




    หมายเหตุ 
    - ก้อปมาอีกทีจาก  //www.oknation.net/blog/print.php?id=439998

    - รู้สึกบทความนี้ได้รับความนิยมมาก ค้นในกูเกิ้ล เจอหลายลิงค์เลย
    แม้แต่พันทิปห้องศาสนา ก็มีบทความเรื่องนี้ในคลังกระทู้เก่า

    - รูปประกอบ ส่วนตัวว่าได้ฟิลดี  : )







Create Date : 27 สิงหาคม 2555
Last Update : 27 สิงหาคม 2555 22:29:47 น.
Counter : 2331 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
สิงหาคม 2555

 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog