ปฐมสังคายนา พระอานนท์ไม่ได้ต้องอาบัติ
ทักท้วงความบกพร่องหรือปรับอาบัติ?

           ก่อนจะถึงบทวิเคราะห์เบื้องแรกนี้สมควรจะได้กล่าวทบทวนถึงข้อหาหรืออาบัติ
หรือโทษที่พระอานนท์ถูกปรับจากพระเถระทั้งหลายในคราวทำปฐมสังคายนาทั้ง  5  ข้อ 
ซึ่งมีสาระสำคัญสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

              1. เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พระพุทธองค์ตรัสว่า  ถ้าสงฆ์จะถอนสิกขาบท
เล็กน้อยเสียบ้างก็ได้  พระอานนท์ไม่ทูลถามเสียให้ชัดเจนว่าสิกขาบทอะไรบ้างเป็นสิกขาบทเล็ก
น้อย

             2. คราวหนึ่งพระอานนท์เย็บผ้าอาบน้ำฝนของพระพุทธเจ้า  ได้ใช้เท้าเหยียบในเวลา
เย็บ

             3. เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน  มีบุคคลต่าง ๆ มาถวายบังคมพระพุทธสรีระ  พระ
อานนท์จัดให้สตรีเข้าถวายบังคมก่อน  เมื่อสตรีเหล่านั้นร้องไห้คร่ำครวญ  น้ำตาก็เปื้อนพระพุทธ
สรีระ

             4. พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิต  (บอกเป็นนัยให้รู้)  หลายครั้งว่า ใครก็ตามเจริญอิทธิบาท
ให้ถึงขนาดก็จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตลอดกัป  ( ตลอดอายุขัยของคนในยุคนั้น)  พระอานนท์
ไม่ทูลอาราธนาให้ทรงดำรงอยู่ตลอดกัป (อายุขัยของคนในยุคพุทธกาลคือ  100  ปี พระ-
พุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ  80  ปี  ยังไม่ถึงอายุขัย)

             5. แต่เดิมพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณี  พระอานนท์เป็นผู้ทูลขอ
ให้ทรงอนุญาต

          การกระทำของพระอานนท์ทั้ง  5  กรณีนี้  ที่ประชุมในการทำสังคายนาครั้งที่  1 
มีความเห็นว่าเป็น ทุกกฎ    ถ้อยคำตามพระบาลีพระวินัยปิฎก  พระไตรปิฎกเล่ม 3  ข้อ 622 ว่า

อินทฺเต  อาวุโส  อานนฺท  ทุกฺกฎํ  พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า  "นี่เป็นอาบัติทุกกฎของท่าน"
และโดยทั่ว ๆ ไปเมื่อมีผู้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ก็มักจะพูดกันว่า  "ปรับอาบัติทุกกฎแก่พระอานนท์" 
นั่นคือเข้าใจกันว่า พระเถระที่ทำปฐมสังคายนาปรับอาบัติทุกกฎแก่พระอานนท์ เพราะเหตุที่
พระอานนท์กระทำการทั้ง 5 เรื่องนั้น


          การปรับอาบัตินั้นจะต้องมีสิกขาบทกำหนดความผิด  หรือมีฐานความผิดกำหนดไว้แล้ว
สำหรับภิกษุหรือภิกษุณีก็คือสิกขาบทต่าง ๆ อันเป็นพุทธบัญญัติ  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  การปรับ
อาบัติต้องมีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนว่า  ทำอะไร  ทำอย่างไร เป็นอาบัติอย่างไร 


เรื่องทั้งหมดนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่เพียงประเด็นเดียวเท่านั้นคือ 
การกล่าวโทษพระอานนท์ทั้ง  5  กระทงนั้น  เป็นการปรับอาบัติหรือไม่


          จะรู้ว่าเป็นการปรับอาบัติหรือไม่  ก็ต้องดูตรงที่ว่า  การกระทำทั้ง 5  กรณีนั้นมี
พุทธบัญญัติกำหนดไว้หรือเปล่าว่าเป็นความผิด  ถ้ามี  ก็ถือว่าเป็นการปรับอาบัติและต้องปรับ
ตามที่พุทธบัญญัติไว้นั้น  เช่น ภิกษุเสพเมถุนต้องอาบัติปาราชิก  ก็ต้องปรับอาบัติปาราชิกจะ
ปรับเพียงอาบัติทุกกฎหาได้ไม่  ดังนี้เป็นต้น

          ปรากฏว่า  การกระทำทั้ง 5  กรณีนี้  ไม่มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ว่าเป็นอาบัติ 
เพราะฉะนั้นวินิจฉัยได้ว่าพระอานนท์ไม่ต้องอาบัติเพราะการกระทำนั้น ๆ

          ปัญหาต่อไปก็คือ  ที่ประชุมสังคายนาครั้งนั้น  มีเจตนาที่จะให้เป็นการปรับอาบัติหรือ
เปล่า ? ถ้ามีเจตนา  การปรับอาบัตินั้นก็ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย  เพราะไม่มีใครมีอำนาจที่จะ
กำหนดอาบัติเองตามใจชอบหากไม่มีพุทธบัญญัติไว้  แต่ที่สำคัญ  ก็คือการทำเช่นนั้นก็เท่ากับ
ลบล้างมติของตนเอง ที่บอกว่าจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้


           มีข้อสังเกตว่า  ข้อความในตอนนี้มิได้มีถ้อยคำที่ระบุไว้ตรง ๆ ว่าเป็นการปรับอาบัติ และ
ไม่มีแม้แต่คำว่า  อาบัติ  ปรากฏอยู่ด้วยเลยแม้แต่คำเดียว  จึงพอจะวินิจฉัยได้ว่าที่ประชุม
สังคายนามิได้มีเจตนาจะกำหนดฐานความผิดสำหรับอาบัติทุกกฎขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากที่มี
พุทธบัญญัติกำหนดไว้แล้วแต่อย่างใด

          ถ้อยคำที่อาจตีความได้ว่า  เป็นเจตนาจะปรับอาบัติก็คือคำว่า  ทุกฺกฎํ  ในประโยคว่า 
อินนฺเต  อาวุโส  อานนฺท  (คำว่า  ทุกฺกฎํ  เป็นชื่อของอาบัติจำพวกหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำกิริยา
แปลว่า ทำไม่ดี ก็ได้  ประโยคข้างต้นสามารถแปลได้ว่า  "ท่านอานนท์!  นี่เป็นสิ่งที่ท่านทำไม่ดี"
หรือ"...นี่เป็นการทำไม่ดีของท่าน"  ถ้าแปลอย่างนี้ก็มิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการปรับอาบัติเลย


          อรรถกถาก็เข้าใจอย่างนี้  คัมภีร์  สมันตปาสาทิกา  ภาค  3  หน้า  413  อธิบายเรื่องนี้ไว้
ดังต่อไปนี้

"...  คำว่า  อิทปิ เต อาวุโส อานนฺท  ทุกฺกฎํ  (ท่านอานนท์  !  แม้ข้อนี้ก็เป็นทุกกฎของ
ท่าน) นี้ อันพระเถระทั้งหลายเพียงแต่จะติว่า  "กรรมนี้อันท่านทำไม่ดีแล้ว"  จึงได้กล่าว
แล้ว  หาได้กล่าวโดยหมายถึงอาบัติไม่  เพราะพระเถระเหล่านั้นจะไม่รู้ว่า  อะไรเป็น
อาบัติ  อะไรไม่เป็นอาบัติ  นั้นหามิได้”


          อันที่จริงในคราวสังคายนากันนี้เองก็ได้ประกาศมติอันนี้ไว้แล้วว่า  "สงฆ์ไม่บัญญัติ
สิกขาบทที่ทรงบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้   ไม่เลิกถอนสิกขาบทที่ทรง
บัญญัติไว้แล้ว"

          อนึ่ง  แม้คำว่า  เทเสหิ ตํ ทุกฺกฎํ  (จงแสดงทุกกฎนั้น)  อันพระเถระทั้งหลายกล่าวโดย
ความมุ่งหมายว่า จงยอมรับสิ่งที่ทำไม่ดีทั้ง  5  เรื่องนั้นอย่างนี้ว่า  "ถูกแล้วท่านผู้เจริญข้าพเจ้า
ทำไม่ดีจริง"    มิใช่จุดหมายจะให้แสดงอาบัติ   ..."



         ศัพท์ ทุกฺกฎํ ซึ่งเป็นได้ทั้งคำนามและคำกิริยานั้น อรรถกถาท่านว่า ไม่ใช่ชื่ออาบัติทุกกฎ
และเพราะเกรงว่าจะมีผู้เข้าใจไปว่าเป็นการกล่าวถึงอาบัติทุกกฎ  ท่านจึงไขความไว้ว่า 
ทุกฺกฎํ  =  ตยา  ทุฎฺฐฐุ  กตํ  แปลว่าท่านทำไม่ดี  เป็นการยืนยันว่า  ทุกฺกฎํ  มิได้แปลว่า
อาบัติทุกกฎ


          เหตุผลที่อรรถกถายืนยันว่าไม่ใช่การปรับอาบัติ  ก็คือ  อาบัติที่มีพุทธบัญญัติไว้แล้วนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พระเถรทั้ง  499  รูปนั้นจะไม่รู้ว่า  ทำอะไรและทำอย่างไรจึงจะเป็นอาบัติหรือ
ไม่เป็นอาบัติ  คืออรรถกถาเชื่อในวุฒิภาวะของท่านเหล่านั้น พูดตามหลักการก็คือ เมื่อท่านเหล่า
นั้นเป็นพระอรหันต์  ก็เป็นอันเชื่อได้ว่าท่านต้องรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร คือต้องรู้ว่า  กรณีทั้ง  5
ข้อนั้น  พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้ว่าเป็นอาบัติทุกกฎ  เพราะฉะนั้น  จึงไม่ใช่สิทธิอำนาจ
อะไรของท่านที่จะไปปรับอาบัติ  อนึ่ง  ต้องไม่ลืมว่าในจำนวนพระเถระ  500  รูปนั้น มีพระอุบาลี
รวมอยู่ด้วย  พระอุบาลีเป็นผู้ที่เพิ่งจะได้ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับพระวินัยท่ามกลางที่
ประชุม  เหตุที่ท่านได้รับอนุมัติให้ทำหน้าที่นั้น  ก็เพราะพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านไว้ใน
ตำแหน่งพระเถระผู้เป็นเลิศทางพระวินัย


          กรณีนี้มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ไม่ปรากฏว่าพระอุบาลีได้ทักท้วงหรือคัดค้านการกล่าว
โทษพระอานนท์  ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยพระวินัย  (เช่นการปรับอาบัติทุกกฎจริง ๆ มิใช่
เพียงแต่จะติว่า  "กรรมนี้อันท่านทำไม่ดีแล้ว"  อย่างที่อรรถกถาอธิบาย)  ผู้เชี่ยวชาญขนาดพระ-
อุบาลี  ก็น่าจะต้องทักท้วงหรือคัดค้านไว้ให้ปรากฏ  แต่นี่กลับไม่ปรากฏคำทักท้วงคัดค้านของ
ท่านเลย   ก็ต้องหมายความว่าผู้เชี่ยวชาญทางพระวินัยท่านเห็นชอบด้วยแล้ว  (มติของสงฆ์ใน
สังฆกรรมทุกชนิดต้องเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้น  ไม่ใช่ระบบเสียงข้างมาก)



          ถ้าจะว่า  พระอุบาลีก็ใช่ว่าจะรู้ไปหมดทุกเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย  ...  ก็ต้องแปลว่าที่
พระพุทธเจ้ายกย่องนั้นไม่สมจริง  และจำจะต้องแปลต่อไปด้วยว่า  พระพุทธเจ้าก็ใช่ว่าจะมี
ปัญญาหยั่งรู้ความสามารถของบุคคลไปเสียทุกคน  อาจจะทรงยกย่องคนผิดไปบ้างก็ได้  สรุป
สุดท้ายว่า ไป ๆ มา ๆ  พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็มิใช่ของจริงแท้ไปทั้งหมด 

          ถ้าใครคิดว่าเป็นการปรับอาบัติ  -  สุดท้ายก็ต้องคิดอย่างที่ว่ามานี้แหละครับ   ดังนั้นที่
อรรถกถาท่านว่าไม่ใช่การปรับอาบัติ  ก็นับว่าท่านคิดรอบคอบดีแท้



          เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่สืบเนื่องมากจากข้อแรก  (ข้อแรกคือ - เป็นไปไม่ได้ที่ท่านเหล่านั้น
จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ  ถ้ากรณีนั้นมีพุทธบัญญัติไว้แล้ว)  คือที่ประชุมของ
พระเถระเหล่านั้นเพิ่งจะลงมติกันไปหยก ๆ ว่า จะไม่บัญญัติของใหม่และจะไม่ถอนของเก่า 
ก็ในเมื่อรู้แล้วว่าทั้ง  5  กรณีที่พระอานนท์ทำลงไปนั้น  ถ้าจะถือว่าเป็นอาบัติก็ต้องเป็นของใหม่
เพราะพระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้ ในเมื่อตกลงกันแล้วว่าจะไม่บัญญัติของใหม่  แล้วไฉนจึง
จะมาปรับอาบัติที่มิได้มีบัญญัติไว้แต่เดิมเล่า


          เพิ่งจะลงมติกันไปแหม็บ ๆ ชนิดที่ยังไม่ได้ลุกจากที่นั่งไปไหนเลย  ถ้าเป็นการเขียนข้อ
มติด้วยปากกาหมึกซึมก็ต้องพูดว่า  -  น้ำหมึกยังไม่ทันแห้ง  -  เช่นนี้  คนความจำเสื่อมที่สุดก็
คงไม่ลืม  แล้วนี่เป็นถึงพระอรหันต์ผู้มีสติไพบูลย์  ท่านจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร  ด้วยเหตุผล
เช่นนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านจึงอธิบายว่า  ไม่ใช่การปรับอาบัติ


           ความจริงพระอรรถกถาจารย์ทท่านอ่านเจตนาของพระอรหันต์  500  รูปในที่ประชุม-
ปฐมสังคายนานั้นออกอย่างแจ่มแจ้งว่า  ท่านไม่ได้ปรับอาบัติพระอานนท์  ท่านเพียงแต่ตำหนิ
ว่า  พระอานนท์บกพร่องในเรื่องนั้น ๆ  พระอรรถกถาจารย์ยังอ่านความคิดของคนที่ได้อ่าน
พระไตรปิฎกตอนนี้ได้อีกด้วยว่า  จะต้องคิดว่าทำไมพระอรหันต์  500  รูปจึงกระทำการที่สวนกับ
มติของตนเอง  ท่านจึงเตือนให้คนที่คิดแบบนั้นได้ฉุกคิดว่า  พระอรหันตเถระเหล่านั้นเพิ่งเขียน
ด้วยมือไปหยก ๆ จะมาลบด้วยเท้าได้อย่างไร


          ก่อนจะผ่านประเด็นเรื่องปรับอาบัติ  มีข้อสังเกตที่ใคร่จะเสนอประกอบการพิจารณา 
นั่นคือกระบวนการปรับอาบัติหรือการเกิดขึ้นแห่งสิกขาบทต่าง ๆ  จะเริ่มต้นที่

               1. มีผู้กระทำการอย่างใดยอย่างหนึ่งขึ้นมา
               2. มีผู้ตำหนิติเตียนการกระทำนั้น
               3. เสียงตำหนินั้นทราบไปถึงพระพุทธเจ้า
               4. รับสั่งซักถามจนได้ความจริง
               5. ทรงตำหนิการกระทำนั้น ๆ และทรงอ้างวัตถุประสงค์ในการที่จะทรงห้าม
               6. ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป

          ต่อจากนี้ถ้ามีผู้ฝ่าฝืนก็จะตองยกบทบัญญัติที่ทรงห้ามนั้นมาปรับอาบัติเป็นกรณี ๆ ไป
จะเห็นได้ว่า  การปรับอาบัติของพระอานนท์  5  ข้อ  ดังที่เรียกกันนั้น  มีลักษณะไม่ครบถ้วนตาม
กระบวนการดังกล่าว   คือไม่มีผู้ตำหนิติเตียนการกระทำของพระอานนท์มาก่อนเลย  จู่ ๆ ก็มีการ
ปรับอาบัติกันทันที  เหมือนกับว่าการกระทำนั้น ๆ ของพระอานนท์ได้มีบทบัญญัติวางไว้แล้ว
(ความจริงคือยังไม่เคยมี)  

          นอกจากไม่มีผู้ตำหนิ  (หรืออาจจะเรียกว่าผู้กล่าวหา)  แล้ว  ก็ยังไม่มีการซักถามหา
ความจริง  (ถ้อยคำของพระเถระเหล่านั้นไม่ใช่การซักถามหาความจริง แต่เป็นคำกล่าวหาตรงๆ)
แล้วก็ไม่ได้มีการกำหนดเป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ทำอีกต่อไปตามลักษณะการบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ

          สรุปว่าการปรับอาบัติของพระอานนท์คราวนั้นมีกระบวนการเกิดขึ้นเพียงขั้นตอนเดียว
คือมีการกระทำของพระอานนท์เกิดขึ้นเท่านั้น  ต่อจากนั้นก็ข้ามไปขั้นยกเอาอาบัติทุกกฎขึ้นมา
ปรับโดยที่ไม่มีสิกขาบทใด ๆ รองรับอยู่เลย


เชิงอรรถ
- คัดลอกและตัดแต่งจากหนังสือ เหตุเกิดเมื่อพ.ศ.๒๕๔๕ (นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย)
เล่ม๒ หน้า ๑๘ - ๒๙ โดยตัดความบางตอนที่เกี่ยวกับตัวบุคคลไป


- พระไตรปิฎก (ฉบับแปลไทย)


หมายเหตุ
- บทความนี้ ผมไม่ได้พิมพ์เอง แต่อาศัยไฟล์word ที่คนอื่นซึ่งมีอุตสาหะพิมพ์ทั้งเล่ม ส่งมาให้อ่าน
(แต่ที่ได้อ่านจนจบจริงๆ ก็เพราะไปซื้อของจริงมาจากงานหนังสือแห่งชาติ เพราะถนัดกว่า)
ก็อาศัยที่งานที่เขาทำไว้แล้ว มาปรับแต่งย่อหน้าบรรทัดนิดหน่อย

- หนังสือเล่มนี้ ท่านผู้เขียนตั้งใจเขียนมาแก้งานเขียนของพระมโน
บทความในบล็อกนี้ตัดเนื้อหาที่กล่าวถึงพระมโนออกทั้งหมด




Create Date : 06 สิงหาคม 2555
Last Update : 7 สิงหาคม 2555 0:11:20 น.
Counter : 2360 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
สิงหาคม 2555

 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog