การสื่อภาษา เพื่อเข้าถึงสัจธรรม
การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์

[คัดลอกจากหนังสือ 'การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม' พิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อ 2539
บรรยายโดย 'พระพรหมคุณาภรณ์' เมื่อ 29 ม.ค.2533]



ขอเจริญพรท่านอาจารย์และนักศึกษาทั้งหลาย

         วันนี้ เป็นรายการมาพบกันในหัวข้อปาฐกถาดังที่เขียนไว้ให้ทราบโดยชัดเจนอยู่แล้ว คือ เรื่อง “การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม”



         แต่ก่อนอื่น จะต้องขอออกตัวไว้สักนิดว่า ทีแรกนั้นตั้งใจไว้ไม่รับนิมนต์ เพราะว่างานกำลังยุ่งมาก แต่ไปๆมาๆ ก็เกิดมีการรับนิมนต์ขึ้น เมื่อรับนิมนต์แล้วในท่ามกลางภาวะซึ่งไม่สะดวกที่จะรับนั้น ก็เลยทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาคิดตระเตรียมอะไร



         เดิมทีเวลา นิมนต์ก็ไม่มีหัวข้อเรื่อง เมื่อมีหัวข้อเรื่องนี้แล้ว ก็คิดว่า ถ้าจะเอาจริงคงจะต้องพูดกันในหลักวิชามากสักหน่อย แต่ในเมื่อไม่มีโอกาสจะตระเตรียม ก็เลยคิดว่าการพูดในวันนี้คงจะเป็นเพียงเรื่องเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการสื่อ ภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมเท่านั้น หรือถ้าจะไปถึงตัวเนื้อแท้ของหัวข้อเรื่อง ก็ขอให้ถือเป็นส่วนพิเศษ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อน โดยเฉพาะก็กำหนดเวลาไว้ยาวมาก ตั้งชั่วโมงครึ่ง แล้วจะมีอะไรมาพูดให้ฟังกัน ก็ค่อยๆดูกันไป นึกอะไรออกก็พูดไปเรื่อยๆ ขอเข้าเรื่องกันเลย

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 21:59:10






Create Date : 11 กรกฎาคม 2555
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 0:18:44 น.
Counter : 1010 Pageviews.

8 comments
  

ความคิดเห็นที่ 4
ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อ
กับการมุ่งสู่ประสบการณ์ตรง : จับจุดพลาดให้ถูก


เอาละ...เพราะปัญหาเกี่ยวกับภาษามีมากมายในแง่ต่างๆ เช่นว่า ภาษามีขอบเขตจำกัดในการแสดงความจริงบ้าง บางทีกลายเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงบ้าง เป็นต้น ก็เลยมีการพยายามที่จะแสดงความจริงให้คนเข้าถึงสัจธรรมโดยตรง ไม่ให้ต้องผ่านภาษา


คนที่พยายามไม่ใช้ภาษาโดยจะสื่อให้ถึงสัจธรรมโดยตรง ทำได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้ภาษา เอ! พูดมาตั้งแต่ต้นว่า ต้องใช้ภาษาจึงพูดกันรู้เรื่อง ก็เท่ากับบอกอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ใช้ภาษาก็พูดกันไม่ได้ แล้วถ้าไม่ใช้ภาษาจะสื่อสัจธรรมโดยตรงได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา หรืออาจจะมีคำพูดเพิ่มเติมมาว่า สื่อให้เข้าถึงความจริงโดยไม่ผ่านภาษา หากใช้ภาษาก็ใช้ให้น้อยที่สุด


อันนี้อาตมาจะยกตัวอย่าง ท่านทั้งหลายคงรู้จักซามูไร ซามูไรเป็นนักรบญี่ปุ่นใช้ดาบ แล้วหลายคนก็คงเคยได้ยินคำว่า 'นิกายเซน' นิกายเซนก็เป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่นับถือกันมากในญี่ปุ่น เป็นนิกายที่เน้นสมาธิ มีอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงหลายท่าน


วันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์เซนท่านหนึ่งนั่งอยู่ในกระท่อมที่ในป่า ซามูไรผู้หนึ่งคิดถึงพระอาจารย์ มีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องธรรมะเกี่ยวกับความเข้าใจในโลกและชีวิต ก็อยากจะถามความจริงจากพระอาจารย์เซนท่านนี้ พอดีอากาศหนาวจัดเหลือเกิน หิมะก็ตก ความอยากรู้ทำให้บุกป่าฝ่าไปท่ามกลางความหนาวเย็น ท่ามกลางหิมะนี้ แกก็ไปจนกระทั่งถึงกระท่อมของอาจารย์เซน พอไปถึงแล้วแกก็ตัวสั่นงั่กๆ อยู่ แล้วแกก็เคาะประตู พระอาจารย์เซนนั้นได้ยินคนเคาะประตู ก็เลยมาเปิดประตู พอเปิดประตูออกไปก็พบซามูไรกำลังหนาวตัวสั่นอยู่ อ้าว! ยังไม่ทันเชิญเข้ามาข้างใน ก็ถามว่ามายังไง ต้องการอะไร ซามูไรกำลังอยากรู้ความจริงก็พูดออกไป


"อยากจะถามท่านว่า นรกคืออย่างไร อยากจะรู้จักนรกว่าเป็นอย่างไร"


พระอาจารย์พอได้ยินอย่างนั้นก็ดึงประตูปิดปัง พอดึงประตูปิดปัง ซามูไรนี้แกก็โกรธ เอ! เรานี่ต้องการจะมาถามธรรมะหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต แต่อาจารย์นี่ไม่ต้อนรับเลย กลับปิดประูตูอย่างนี้แสดงความไม่พอใจ แกก็โกรธเลย พอโกรธขึ้นมา ยังไม่ทันคิดว่าจะทำอย่างไรดี กำลังโกรธอยู่ พระอาจารย์ก็เปิดประตูออกมา แกก็ต่อว่าทำไมอาจารย์ทำอย่างนี้เล่า ผมถามหาความรู้ อาจารย์ไม่น่าจะทำกับผมอย่างนี้ ปิดประตูใส่ผมได้หรือ ไม่มีมารยาทเลย


อาจารย์ก็บอกว่า "นั่นแหละนรกละ"


พอบอกว่านั้นแหละนรกละ ซามูไรคนนี้เป็นคนมีปัญญาก็เข้าใจ นึกขึ้นได้เลย อ๋อ! สภาพจิตของเราขณะนี้ที่มันโกรธอย่างนี้นี่แหละคือนรก พอเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็รู้ว่าพระอาจารย์ได้สอนด้วยวิธีที่ว่าให้ใช้ประสบการณ์ตรงก็เลยก้มลงกราบ พอก้มลงกราบพระอาจารย์ก็บอกว่า "นี่แหละสวรรค์" เพราะตอนนั้นใจแกดีแล้ว แกมีความอิ่มเอิบใจ ก็เป็นอันว่า ซามูไรคนนี้ได้รับการสั่งสอนจากท่านอาจารย์ให้รู้จักนรก สวรรค์ โดยวิธีที่สั้นที่สุดนิดเดียว และแทบไม่ต้องใช้คำพูดเลย อันนี้เป็นวิธีที่เซนนิยมใช้ ซึ่งเป็นวิธีทำให้เข้าถึงความจริงโดยประสบการณ์ตรง


นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ว่า เราควรใช้ภาษาให้น้อยที่สุด โดยให้ผู้ที่เราจะสื่อกับเขานั้นเข้าถึง หรือสัมผัสตัวความจริง หรือสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เหมือนอย่างที่บอกว่า ถ้าใครจะมาถามว่า รสหวานของมะม่วงเขียวเสวยเป็นอย่างไร แทนที่เราจะมานั่งบรรยายพูดให้ยืดยาว เราก็บอกโน่น มะม่วงเขียวเสวยอยู่นั่น คุณไปเอามีดมา แล้วเอามันไปปอกกิน ถ้าอย่างนี้ เขาก็ได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง เขาก็รู้ทันทีว่ารสมะม่วงเขียวเสวยเป็นอย่างไร ไม่ต้องใช้ถ้อยคำบรรยาย และไม่ต้องใช้การคิดหาเหตุผลโดยวิธีตรรกะ


อันนี้เป็นวิธีหนึ่งในการสื่อความจริง แต่มันก็เป็นเพียงวิธีหนึ่ง เพราะว่ามันไม่สามารถใช้ได้ทุกกรณี แต่เราจะต้องตระหนักไว้ในใจว่า มันเป็นวิธีที่ดีที่ควรจะได้เอามาเป็นแบบอย่าง หรือเป็นตัวอย่างในการที่จะมาสื่อความจริงกันด้วย เราจะได้มีทางออกหรือกลวิธีในการที่จะถ่ายทอดความจริงได้มากขึ้น หรือแม้จะใช้ภาษาก็เป็นการใช้ภาษาอย่่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่ใช่ว่าเขาไม่ใ้ช้ภาษา เขาใช้ภาษาถ่ายทอด อย่างอาจารย์เซนพูดกับซามูไร เขาต้องพูดคำว่านรก หรือคำว่าสวรรค์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่เป็นการใช้ภาษาที่มันโยงเข้าหาประสบการณ์โดยตรง หรือการใช้ให้สัมผัสกับสิ่งนั้น


วิธีที่ใกล้เคียงกับวิธีปฏิบัติแบบนี้ก็ยังมีอีก เช่น ให้ดูการกระทำของเราเลย ดูที่การกระทำว่ามันเป็นความจริงอย่างไร เราก็ไม่ต้องมานั่งพูดอธิบายกัน


วิธีต่อไปก็คือ ไม่ใช่ทำให้ดู แต่ให้เขาลงมือทำ เมื่อให้เขาลงมือทำสิ่งนั้นไปแล้ว ก็ทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบ หรือได้สัมผัสประสบการณ์นั้นเอง


วิธีที่ให้ลงมือทำในกรณีนี้ ไม่เหมือนกับวิธีของอาจารย์เซน ที่ว่า อาจารย์เซนนั้นให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่วิธีนี้เป็นการทำเพื่อไปเจอสิ่งนั้นอีกที เช่น ถ้าต้องการที่จะรู้รสของสมาธิ ก็ให้ไปนั่งปฏิบัติ นั่งปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงขั้นที่ได้รับผล แล้วไปเป็นประสบการณ์โดยตรงนั้นอีกทีหนึ่ง เหมือนกับจะไปให้ถึงที่หนึ่ง ก็เดินไปจนถึงที่นั้น อันเป็นวิธีที่สอง


ต่อไปวิธีที่สาม คือ ให้ดูผลปฏิบัติ คือผลที่ออกมาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงสิ่งนั้น พิสูจน์ว่าสัจธรรมเป็นอย่างไร ก็ดูจากผลที่มันออกมา ผลออกมาอย่างนี้แสดงว่าตัวสิ่งนั้นก็จริงใช่ไหม ถ้าไม่จริงมันไม่ออกผลปฏิบัติอย่างนี้ได้ อันนี้ก็ดูที่ตรวจสอบพิสูจน์ด้วยผลที่ออกมาจากนั้น ก็เท่ากับผลปฏิบัตินี้เป็นตัวบ่งชี้สัจธรรมที่คนนั้นได้เข้าถึงแล้ว


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ ทุกอย่างที่เราพูดถึงนี้มันมีข้อดี แต่ก็ยังมีจุดอ่อนได้ ซึ่งเราก็จะต้องรู้ให้ครบถ้วน วิธีการเหล่านี้มีจุดอ่อน ยังไม่ปลอดภัย หรือแน่นอนที่จะเข้าถึงสัจธรรมอย่างไร

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:09:19
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:06:30 น.
  

ความคิดเห็นที่ 5
อาตมาได้พูดไปทีหนึ่งแล้วว่า เรื่องประสบการณ์ตรงนั้น บางทีเราไปมองเห็นบางแง่บางส่วน แล้วสรุปเป็นภาพรวมของสิ่งนั้นก็ผิดพลาดไป นั่นก็ประการหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ โยงประสบการณ์นั้นไปหาสัญญาที่ผิด โยงไปหา concept ที่ผิด เช่น กระต่ายตื่นตูม ที่ว่าได้ยินเ่สียงมะตูมหล่นลงบนใบตาล แล้วคิดว่าโลกแตก ก็เลยผิดพลาดไป


นอกจากนั้นยังมีอะไรอีกบ้าง ก็คือ หนึ่ง ที่บอกว่าให้ดูโดยตรงจากการกระทำ การกระทำนั่นเองก็ยังหลอกกันได้ เช่น นักเล่นกล เป็นต้น ฉะนั้น จึงยังไม่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ การเล่นกลยังมีอยู่ การกระทำโดยตรงก็เล่นกลได้


ต่อไปประการที่สอง ในการที่เราวินิจฉัยประสบการณ์ตรงนั้น เราก็ต้องอาศัย concept หรืออาศัียประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วเหมือนกัน เช่น เราจะพูดคำว่าพระอรหันต์ เราบอกว่าเราจะพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรง แต่เราก็ต้องมี concept เกี่ยวกับพระอรหันต์อยู่ก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยว่า เอ้อ! คนนี้เราคิดว่าเป็นพระอรหันต์ เรามี concept อยางไร เช่น เราไปเห็นท่านผู้หนึ่งมีลักษณะสงบเหลือเกิน มีความสงบเรียบร้อย ดูเหมือนคนที่ไม่มีกิเลสอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราคิดว่าท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ เพราะเรามี concept ว่าพระอรหันต์นั้นก็คือ บุคคลที่สงบ บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส แต่บางคนไม่มองอย่างนี้


สมมติไปเห็นพระองค์หนึ่ง คนเชื่อถือกันนิยมกันว่าเป็นพระที่มีฤทธิ์ทำอะไรต่ออะไรได้แปลกประหลาด อัศจรรย์ นึกถึงความมีฤทธิ์แล้วก็นึกว่าพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ ในกรณีนี้ก็คือเขามี concept ของพระอรหันต์ว่าเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ ก็เลยทำให้เขาเข้าใจว่าผู้มีฤทธิ์นั้นเป็นพระอรหันต์ หรือบางคนเคยมี concept ในพระอรหันต์ว่า คือคนที่เฉยเหมือนกับไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ว่าอะไร เฉยหมด พอไปเห็นพระหรือใครที่มีลักษณะเฉยอย่างนี้ ก็เลยนึกว่าผู้นี้เป็นพระอรหันต์


การวินิจฉัยของเขานั้น แม้แต่เอาจากประสบการณ์ตรง คือมองเห็นบุคคลผู้นั้นเป็นอยู่อย่างนี้แสดงอาการและมีพฤติกรรมอย่างนี้ แต่เขาต้องเชื่อมโยงกับตัว concept ที่มีอยู่ ฉะนั้น ถ้าหากว่า concept นั้นไม่สมบูรณ์ ผิดพลาด การวินิจฉัยนั้นก็ผิดไปด้วย เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ในที่นี้ก็ไม่สามารถจะให้ความหมายได้โดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการสรุปตีคลุมออกไปจาก concept ที่ไม่เด็ดขาด ก็ผิดพลาดได้


ต่อไป การวินิจฉัยที่่ว่าเมื่อครู่นี้ ก็ยังต้องอาศัยตัวกำหนดอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้แจ้งจริงหรือความรู้แท้ของตัวบุีคคลนั้นเอง ตัวเขาเองแม้จะไ้ด้ประสบการณ์บางอย่างก็อาจจะมีการวินิจฉัยผิด ยกตัวอย่างเช่น มีพระเถระองค์หนึ่งเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว เป็นพระอาจารย์ใหญ่ที่สอนความรู้ทางพุทธศาสนา สอนการปฏิบัติที่เรียกว่าวิปัสสนาแก่ลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก มีคนนับถือมากมาย แล้วลูกศิษย์บางคนได้เป็นพระอรหันต์ อาจารย์ก็สำคัญตนเองว่าฉันเป็นพระอรหันต์ ท่านได้ฌาน ได้สมาบัติ แล้วในใจตัวเองก็สงบ ไม่รู้สึกว่ามีกิเลส มีความสุข ไม่มีความทุกข์อะไรเลย ท่านก็นึกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่เป็นพระอรหันต์ซึ่งเหนือกว่า คนที่เหนือกว่าจึงจะรู้คนที่ต่ำกว่า ลูกศิษย์คนนี้เป็นพระอรหันต์รู้ว่าพระอาจารย์นี้ยังไม่ถึงขั้น ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เลยหาวิธีที่จะให้อาจารย์รู้สึกตัว


วันหนึ่ง ได้โอกาส ก็ทำให้พระอาจารย์ได้รู้สึกตัว โดยการที่ให้อาจารย์ได้เห็นช้างตัวใหญ่เข้ามาโดยฉับพลันทันทีชนิดตั้งตัวไม่ ติด ความที่ว่าไม่มีโอกาสที่จะตั้งสติ ทำให้ตกใจ พอตกใจก็ลุกขึ้นเตรียมจะวิ่งหนี พอจะวิ่งหนี ลูกศิษย์ก็กระตุกจีวรไว้ บอกพระอาจารย์ทำไมจะวิ่งซะแล้ว อาจารย์ได้ยินปั๊บก็ได้สติ แล้วก็รู้ตัวทันทีว่า โอ้! นี่เราผิดพลาดไป เรายังตกใจ พระอรหันต์จะไม่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นอันรู้ตัวว่า เอ้อ! เรานี้ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์


โดยนัยนี้ การมีประสบการณ์ตรงบางทียังหลอกตัวเองได้ เพราะเป็นวินิจฉัยที่เกิดจากความรู้ที่ไม่ถ่องแท้เพียงพอ ฉะนั้น จึงมีหลายขั้นเหลือเกินที่จะวินิจฉัย ในการที่จะเข้าถึงความจริง


นอกจากนี้แล้ว ต่อไปอีก ลึกซึ้งลงไป ซึ่งเป็นมูลเหตุของความผิดพลาด ก็คือตัวสภาพอวิชชาที่อยู่ในตัวคนนั้นเองเป็นฐานของความผิด ในการที่จะนำมาสู่การสื่อภาษาผิดพลาดด้วยการวินิจฉัย concept อะไรต่างๆ ผิดพลาด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการใช้ภาษาเป็นสื่อ ก็คืออวิชชาในตัวคน


อวิชชาในตัวคนนี้คืออะไร คือการไม่รู้จักวิเคราะห์ของตนเอง ตนเองไม่รู้จักวิเคราะห์ความจริง ก็ทำให้ไปมองเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่งของเรื่องนั้นๆ หรือมองสิ่งนั้นๆ ผิวเผิน แล้วก็ตีคลุมไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการไม่รู้จักวิเคราะห์


เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องฝึกหัด ก็คือความคิดของคนที่ว่าจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ในการที่จะเข้าถึงความจริง นิสัยของจิตใจในการที่จะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝัง มิฉะนั้น คนเราจะถูกชักพาให้หลงไปโดยประสบการณ์ หรือข้อมูลที่เข้ามาได้ง่าย เราได้ประสบการณ์ เราไม่วิเคราะห์แ้ล้วเราก็หลงผิด ได้ข้อมูลมาไม่วิเคราะห์ ไม่สืบค้น ก็หลงผิดได้


บางทีก็เกิดจากความหลงยึดติดของตัวเอง เช่น หลงยึดติดในบางอย่าง ในส่วนดีของสิ่งนั้น พอเราึยึดในส่วนดีของสิ่งนั้นแล้ว เราจะมองข้ามส่วนที่ผิดพลาดไป แล้วก็ตีคลุมเอาส่วนดีนั้นเป็นภาพรวมของสิ่งนั้น ก็เลยกลายเป็นว่าเราผิดพลาดไป หรือสิ่งร้ายก็เหมือนกัน มองเห็นสิ่งร้ายส่วนหนึ่ง แล้วก็ตีคลุมเป็นสิ่งนั้นร้ายไปหมด


ในขั้นสุดท้ายก็คือ ความงมงายลึกๆ ที่อยู่ในพื้นใจซึ่งยังไม่ได้แก้ไข ความงมงายนี้แสดงออกแม้แต่ในสิ่งที่เรียกว่า 'วิทยาศาสตร์' วิทยาศาสตร์นี้เป็นวิชาการที่เราบอกว่ามีความไม่งมงาย แล้วก็ให้มีทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อสิ่งต่างๆ แต่ปรากฏว่า บางทีคนเราไม่ใช้วิธีวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ การไม่ใช้วิธีวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นี้จึงได้เกิดเป็น ปัญหาขึ้นมา


เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้คนเริ่มรู้สึกตัว โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการบางกลุ่ม เรื่องนี้เป็นความเจริญทางวิชาการอีกระดับหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาของโลก ที่เกิดจาการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเป็นพิษเป็นภัยในปัจจุบันนี้ เมื่อประสบปัญหาแล้ว เขาก็สืบหา สาเหตุอย่างหนึ่งก็คือความงมงายในวิทยาศาสตร์ได้สร้างปัญหานี้ขึ้น ทำไม


งมงายในวิทยาศาสตร์ย่อมไม่บรรลุถึงวิทยาศาสตร์

ใน ยุคที่ผ่านมา คนคิดว่าวิทยาศาสตร์จะทำให้เราทำอะไรได้ทุกอย่าง เอาชนะธรรมชาติได้ มีความเป็นอยู่สุขสมบูรณ์ สร้างสวรรค์ขึ้นมาบนดิน แต่นั่นเป็นเพียงความหลงใหลหรืองมงายในวิทยาศาสตร์ เวลานี้คนก็ตื่นรู้ตามฟังมากขึ้นว่าพิษภัยมากมายเกิดแก่มนุษย์จากวิทยา ศาสตร์ โดยเฉพาะผ่านทางเทคโนโลยี นี่ก็แง่หนึ่ง


อีกแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความไม่งมงาย แต่ปรากฏว่าคนมีความงมงายในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคนทั่วไปจำนวนมากจะมีความงมงายในวิทยาศาสตร์มาก โดยหลงเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์สามารถให้หรือตอบความจริงเกี่ยวกับทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ นี้เป็นอีกข้อหนึ่งของความผิดพลาด


ปัจจุบันนี้คนรู้สึกตัวกันมากขึ้นว่า สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับความจริงทุกสิ่ง ทุกอย่างได้หมด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์นี้หลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ จึงไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริง อันนี้เป็นแง่ที่หนึ่งที่ว่าวิทยาศาสตร์เองมีขอบเขตจำกัด ถ้าใครไปยึดว่าวิทยาศาสตร์จะให้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างได้ คนนั้นเราเรียกว่ามี scientism คือความหลงยึดติดในวิทยาศาสตร์ หรือความงมงายในวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง


อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่คนทั่วไปที่เป็นชาวบ้าน พอเขาบอกว่าวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนี้ นักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนี้ ก็ไม่เคยวิเคราะห์วิจัย เอาแต่เพียงว่าวิทยาศาสตร์บอก ก็เชื่อไปเลย อันนนี้ก็นำไปสู่ความเข้าใจผิดมาก เพราะวิทยาศาสตร์นั้นมีความเจริญก้าวหน้าเป็นขั้นตอน มีการค้นคว้าหาความจริงและพิสูจน์กันเรื่อยไป เมื่อพิสูจน์หาความจริงไปได้แค่นี้ เราก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ค้นได้แค่นี้ แต่คนจำนวนมากจะคิดว่าความรู้ที่วิทยาศาสตร์บอกไว้คือความจริงที่สมบูรณ์ ต่อมาปรากฏว่าวิทยาศาสตร์เจริญก้า่วหน้าไปอีก ก็ค้นได้ว่าสิ่งที่เคยคิดว่าจริงนั้นไม่จริง วิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจไปเรื่อยๆ


ปัจจุบันนี้เราได้เห็นกันมากมายว่า สิ่งที่สมัยหนึ่งเข้าใจว่าเป็นความจริง แล้วต่อมาก็รู้ว่ามันไม่จริงอย่างนั้น แต่คนส่วนมากหาได้มีท่าทีวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์ไม่ พอบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ว่า ก็เชื่อทันที จึงเป็นความหลงงมงายอย่างหนึ่ง ที่แท้ก็คือการที่จิตใจของคนนั้นยังมีความหลงงมงายอยู่ในตัวนั่นเอง


เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเขาจะมาอยู่ในยุควิทยาศาสตร์ หรือมีวิทยาการในด้านวิทยาศาสตร์อย่างไร เขาก็ไปไม่พ้นจากสภาพนี้ สิ่งที่จะต้องแก้ที่แท้จริงก็คือในพื้นจิตใจของเขา ที่จะต้องสร้างทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงขึ้นมา แล้วก็ไม่หลงงมงาย แม้แต่ในวิทยาศาสตร์นั้น


. อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องความตื่นเต้นในภาษา เรื่องภาษาก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งในการเข้าถึงสัจธรรม หรือการสื่อสัจธรรม อันนี้คือความตื่นเต้นในรสภาษา บางทีเราตื่นเต้นในรสภาษาจนกระทั่งเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ นึกว่า โอ้! สิ่งนี้จะต้องเป็นจริง แต่ความจริงนั้นเป็นความตื่นเต้นเท่านั้นเอง เหมือนอย่างการอ้างคำคมต่างๆ คำคมต่างๆ นั้นมีโอกาสทำให้คนหลงมากว่าอันนี้เป็นความจริง เพราะมันไปตื่นเต้นกับรสของภาษานั้น แม้แต่คำว่า จงอย่างมองนิ้วที่ชี้ดวงจันทร์นะ มองดวงจันทร์เถอะ บางคนก็ไปหลงคำคมที่คนยกมาอ้า่ง แล้วก็นึกว่า คนนี้เก่งต้องพูดจริงแน่ๆ แต่ที่แท้ไม่ได้วิเคราะห์เขาเลยว่าพูดจริง หรือเีพียงแต่เอาคำคมนั้นมาใช้อ้าง ความตื่นเต้นในรสภาษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทัน ไม่ให้ความตื่นเต้นในรสของภาษานำพาชักจูงตนเองให้ไขว้เขวไป

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:10:55
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:07:09 น.
  

ความคิดเห็นที่ 6
ฐานที่แท้ของการแก้ความผิดพลาด

อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ จุดที่จะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้คนมีทางผิดพลาด สิ่งนั้นก็คือการรู้จักคิดนั่นเอง การรู้จักคิดพิจารณา การวิเคราะห์สืบค้นสิ่งต่างๆ


วิธีหนึ่งคือ การรู้จักใช้คำถาม การใช้คำถามเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ความคิดเดิน เจออะไรก็ถามว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้มันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร มันมีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นทางของการสืบค้นหาความรู้เป็นนักวิเคราะห์ เป็นการรู้จักคิดอย่างหนึ่ง วิธีการอย่างนี้ทางพระท่านเรียกว่า 'โยนิโสมนสิการ'


รวม ทั้งหมดในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้การสื่อภาษาไม่เป็นอุปสรรคใน การปิดกั้นการเข้าถึงสัจธรรม แต่ให้เป็นตัวเอื้อที่จะพาเข้าสู่สัจธรรมก็คือ การมีโยนิโสมนสิการนั่นเอง


อีกแง่หนึ่งก็คือว่า ในเวลาที่เรามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการสื่อภาษาต่างๆ ที่ว่ามาแล้วที่ทำให้เกิดความหลงผิด แม้กระทั่งได้เจอประสบการณ์จริงแล้ว ก็ยังมีการวินิจฉัยผิดได้อีก พอถึงตอนนี้ ที่เราบอกว่าภาษาไม่สื่อความจริง แต่เราบอกว่าต้องประสบการณ์ถึงจะจริง เสร็จแล้วพอพูดไปพูดมาเราก็เห็นว่า การที่จะเอาประสบการณ์ตรงเป็นตัวตัดสิน บางครั้งก็เป็นปัญหา ไม่แน่ว่าจะทำให้เข้าถึงความจริงหรือไม่ พอถึงจุดนี้ก็กลายเป็นว่าภาษากลับมาช่วยอีก ตอนแรกเราบอกว่าภาษาบกพร่อง แล้วเราจะอาศัยประสบการณ์ตรงมาแก้ ต่อมาปรากฏว่าประสบการณ์ตรงนี่บกพร่อง ตอนนี้เราจะกลับเอาภาษามาแก้


การที่จะแก้ความหลงผิดจาก ประสบการณ์ตรงได้ ก็ด้วยภาษาอีกนั่นแหละ ภาษาที่สื่อ เช่น จากคนที่รู้และเข้าถึงความจริง แล้วมีสติปัญญามากกว่า คนเหล่านั้นก็จะมาใช้ภาษานี่แหละในการที่จะมาแก้ไขความเข้าใจของคนที่หลงผิด ในประสบการณ์ตรง ทำให้เขาเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้เขาเห็นทิศทางเดินที่จะก้าวหน้าต่อไป ที่ออกจากความหลงผิดในการที่เข้าใจประสบการณ์ตรงผิดนั้น


เพราะฉะนั้น ภาษาจึงกลับมามีประโยชน์อีกขั้นหนึ่งในการที่จะช่วยพาให้เข้าถึงความจริง หรือสัจธรรมได้ ในกรณีที่ว่าประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เกิดความผิดพลาด เพราะฉะนั้น ภาษากลับมาเป็นตัวสื่อแก้ไข


คราวนี้เราจะเห็น ความวกวนกลับไปกลับมา แต่เราจะเห็นประโยชน์ของภาษาเพิ่มขึ้นว่าภาษานี้มันดีอย่างไร แม้แต่ประสบการณ์ตรงบางทีก็กลับสู้ภาษาไม่ได้ ในแง่ที่ว่าภาษากลับมาช่วยแก้ไขความหลงผิดที่เกิดจากประสบการณ์ตรงอย่างที่ ว่ามาแล้ว ทำให้หลุดออกจากประสบการณ์ตรงที่ผิด เดินหน้าต่อไปเพื่อพบประสบการณ์ที่แท้จริง


เป็นอันว่าเท่าที่พูดมา จะเห็นว่าภาษานั้นสื่อสัจธรรมโดยตรงไม่ได้ เรายอมรับแล้ว แต่ภาษาก็สื่อเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมได้ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องใช้โดยรู้จักปฏิบัติต่อภาษาให้ถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติต่อภาษาผิด มันก็จะไม่ช่วยให้เข้าถึงสัจธรรมได้ จึงต้องมีการระมัดระวังการใช้ภาษา เพื่อจะไม่ให้ภาษาพาคนให้หลงทางมากยิ่งขึ้น ไม่ให้ภาษาเป็นสื่อในการหลวกลวงเป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงโดยเจตนาหรือการหลอกลวงโดยความหลงผิดไปเองก็ตาม


ตอนนี้จะพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อภาษา คือในการปฏิบัติต่อเรื่องภาษาเพื่อสื่อให้เข้าถึงความจริงนี้ จะขอแยกแง่ที่หนึ่งคือ ผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือฝ่ายผู้พูด ผู้พูดหรือผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อจะปฏิบัติอย่างไรในการที่จะให้ภาษาเป็นสื่อ เพื่อให้เข้าถึงความจริงไม่ให้หลงผิดไปเสีย


สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือผู้พูดนั้น ประการที่หนึ่งก็คือ พื้นฐานในตนเอง รากฐานหรือพื้นในตนเองก็คือ จะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบในการใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงความจริงใจต่อสัจธรรมนั้น และความจริงใจต่อผู้ฟังด้วย อันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในเบื้องต้น


ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่การใช้ภาษา เราต้องมีความจริงใจตั้งแต่ต้น ถ้าผู้นั้นไม่รู้สัจธรรมที่กำลังจะเอามาพูด สิ่งที่เขาพูดก็ไม่ใช่สัีจธรรมตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว บอกว่าเรากำลังพูดความจริง แต่ที่จริงนั้นสิ่งนั้นไม่จริง เพราะเขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น มันก็ไม่สามารถจะนำไปสู่ความจริงได้ เพราะเป็นความเท็จตั้งแต่ต้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นความหลอกลวงในขั้นที่หนึ่ง


ที่นี้ ต่อไป ในสิ่งธรรมดาสามัญที่เขาไม่รู้ก็ยังบอกว่ารู้ คือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ใช้ภาษาหลอกลวง ก็เอาสิ่งธรรมดาที่ตัวไม่รู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อสิ่งธรรมดาที่ตัวไม่รู้ก็ยังบอกว่ารู้ แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าเขาจะบอกสัจธรรมได้ สัจธรรมที่เขาพยายามจะบอกจะเป็นจริงได้อย่างไร นี่ก็เป็นปัญหาต่างๆ ที่จะต้องแก้ไข ซึ่งทำให้เราจะต้องกำชับคนผู้แสดงหรือสื่อภาษาให้มีความซื่อสัตย์จริงใจ และถ้าเป็นไปได้ต่อไปก็คือ มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง


ความปรารถนาดีต่อผู้ฟังก็คือต้องการให้เขามีความรู้ ไม่ต้องการความปรารถนาดีที่หลอกลวง หรือไม่ทำเพียงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตัวเอง หรืออวดตัว เป็นต้น เพราะคนบางทีก็อาจจะใช้ภาษาเป็นสื่อเพื่อแสดงตัวให้เห็นว่าเก่งเท่านั้น ถ้าประกอบด้วยความซื่อสัตย์จริงใจประการหนึ่ง มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟังอีกประการหนึ่ง ก็เป็นพื้นใจสำคัญที่จะนำเข้าสู่สัจธรรม


ทีนี้ ต่อจากการมีพื้นฐานในจิตใจของตัวเองแล้ว ในทางปฏิบัติเมื่อใช้ภาษาเป็นสื่อก็จะต้องใช้ concept หรือสัญญาต่างๆ ให้ตรงกับสิ่งที่ตนจะสื่อ และใช้ถ้อยคำให้สื่อโดยตรงถึง concept นั้นๆ ใช้ให้มันตรงกัน ซึ่งต้องเป็นการใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อมีความรับผิดชอบแล้ว ก็จะดีขึ้นเป็นฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็จะมีปัญหาได้เหมือนกันว่า บางทีเรามีถ้อยคำที่ใช้แล้วมีความหมายไปคนละอย่าง


ขอยกตัวอย่าง มีนิทานเล่าว่า คนกรุงเทพฯ คนหนึ่งไปเมืองเหนือ พอถึงเวลาอาหาร เขาก็ให้ไปรับประทานอาหารด้วยกัน กำลังรับประทานอาหารด้วยกัน เจ้าของบ้านถามว่ารำไหม คนที่เป็นแขกก็งง นึกว่าเอาละสิ นี่ยังไงกะเราแล้ว เรามาจากต่างถิ่นตัวคนเดียว จะไม่ทำตามก็กลัว เตรียมลุกขึ้นมา ก็ปรากฏว่าเข้าใจผิด คำว่า 'รำ' ของถิ่นนั้นแปลว่า อร่อย เรื่องก็เท่านั้นเอง


อีกตัวอย่างหนึ่ง ชายคนหนึ่งยืนรอรถอยู่ริมถนนในต่างจังหวัด แล้วรถก็วิ่งมาๆ แกก็โบกมือให้รถรับ ทีนี้ มีรถคันหนึ่งผ่านมา เขาก็ไม่หยุด คนบนรถตะโกนว่า "คันหลังๆ" คนที่ยืนอยู่ข้างล่างก็ตะโกนไปด้วยความหงุดหงิดขัดเคืองว่า "คันหลังก็เกาสิ" ว่าอย่างนั้น


นี่หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเข้าใจไปคนละเรื่อง ความหมายของคนที่อยู่บนรถหมายความว่าให้รอคันต่อไป แต่คนข้างล่างเข้าใจไปว่า นายคนนั้นคันหลังของตัวเองที่เป็นอาการทางร่างกาย ก็เลยบอกว่าให้เกาสิ อะไรอย่างนี้เป็นต้น


เพราะฉะนั้น การใช้ภาษาเป็นสื่อ ถ้าหากว่าวิปริตในเรื่องอย่างนี้ก็จะทำให้การสื่อความจริงคลาดเคลื่อน จึงต้องใช้ถ้อยคำให้ตรงกับ concept ที่แท้จริง หรือสัญญาที่จะสื่อไปถึงตัวประสบการณ์นั้นได้

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:12:31
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:07:31 น.
  

ความคิดเห็นที่ 7
. ต่อจากนั้น การที่จะใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะสื่อให้คนอื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีหลักที่เรียกว่า ความแตกฉาน 4 ประการ ความแตกฉานนี้ ทางพระเรียกว่า ปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉาน มี 4 ประการ ได้แก่


ปฏิสัมภิทาประการที่หนึ่ง คือ 'อัตถปฏิสัมภิทา' ได้ความแตกฉานหรือปัญญาแตกฉานในความหมายหรือในเนื้อความ ที่ว่ามีความแตกฉานในความหมาย ก็หมายความว่า เมื่อพูดถึง concept อะไร หรือตัวกำลังจะเอา concept อะไรขึ้นมาอธิบาย เอาเรื่องอะไรก็ตาม ศัพท์อะไรก็ตามมาอธิบาย ตัวเองเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นอย่างดี แล้วสามารถขยายความมองเห็นรายละเอียดแง่มุมต่างๆ ชัดเจน ข้อนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการศึกษาที่ว่า คนจำนวนไม่น้อยที่ว่ารู้จักสิ่งนั้น แต่มองเห็นผิวเผินคลุมเครือ ไม่เห็นเนื้อหาภายในชัดเจน เมื่อตัวเองก็เห็นไม่ชัด ก็ไม่สามารถจะขยายความออกไปให้คนฟังรู้อะไรต่ออะไรได้ละเอียดพิสดาร ไม่สามารถแสดงรายละเอียดหรือขยายความ ความมีปัญญาแตกฉานในเนื้อความ เนื้อหา และการขยายความหมาย เป็นข้อที่หนึ่ง


ประการที่สองคือ 'ธัมมปฏิสัมภิทา' หมายความว่า ในเรื่องที่เป็นข้อความยืดยาว เนื้อหาสาระรายละเีอียดมากมาย ต้องสามารถจับหลักจับประเด็นได้ ถึงแม้คนอื่นจะพูดมาตั้งนาน อาจจะพูดตั้งครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่ง คนที่มีปัญญาแตกฉานในแง่ที่สองนี้ ฟังแล้วก็จับประเด็นได้ หรือเวลาจะพูดให้คนอื่นฟัง ก็สามารถแสดงหลักออกมานิดเดียวให้คนอื่นจับจุดได้ตรงจุด


คนที่ไม่มีปัญญาแตกฉานในหลักอย่างนี้ จะมีความพร่าสับสนในการที่จะอธิบาย ทำให้คนอื่นไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้ดี เพราะฉะนั้น คนที่ทำหน้าที่ที่จะเอาภาษามาใช้เป็นสื่อ จะสอนเขา จะพูดอธิบาย บรรยายต่างๆ จะต้องมีข้อนี้ด้วย


หนึ่ง หลักการสั้นๆ หรือศัพท์คำเดียว ตัวเองเห็นกว้างลึกชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถอธิบายขยายความแจกแจงออกไปได้จนกระทั่งคนเข้าใจเห็นชัดเจน


สอง ถ้าเป็นเรื่องยาว ตัวเองมองเห็นภาพรวมจับจุดได้ ซึ่งจะทำให้สามารถสรุปรวมใจความสำคัญมาตั้งเป็นหลักให้คนอื่นได้ จับประเด็น วางประเด็นให้เขาได้


สังคมปัจจุบันนี้กำลังจะเป็นสังคมที่เราเรียกว่าสังคมยุคข่าวสารข้อมูล คือกำลังเข้าสู่ information age จะแปลว่า ยุคข่าวสารข้อมูลหรือยุคสารสนเทศ หรืออะไรต่างๆ แล้วแต่จะเรียกกันไป ในยุคนี้การที่จะปฏิบัติต่อภาษา การใช้ภาษาเป็นสื่อเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ภาษากำลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคข่าวสารข้อมูล เราจะต้องมีตัวปัญญาแตกฉานในความหมาย ที่เรียกทางพระว่า 'อัตถปฏิสัมภิทา' และจะต้องมีปัญญาแตกฉานในหลักที่เรียกว่า 'ธัมมปฏสัมภิทา'


ต่อไปประการที่สาม 'นิรุตติปฏิสัมภิทา' แปลว่า ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ นิรุตติหรือนิรุกติก็คือเรื่องภาษานี่เอง คือ ความชำนาญในการใช้ภาษา ตัวเองก็เข้าใจภาษาดีแล้วด้วย และสามารถเอามาใช้สื่อด้วย ยิ่งคนที่รู้ภาษามากๆ ก็ยิ่งได้เปรียบ นอกจากรู้ภาษาแล้ว จะต้องใช้ภาษาเป็น รู้จักนำภาษามาใช้ในการถ่ายทอดความคิดความเข้าใจได้ คนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวมีความต้องการอะไรบางอย่าง มีความคิดบางอย่างดีๆ แต่สื่อถ่ายทอดไม่เป็นเลย เขียนก็ไม่ออก พูดก็ไม่ได้ คำพูดไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจชัดเจน


คนที่มีนิรุตติปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในภาษา สามารถนำถ้อยคำต่างๆ มาเรียบเรียง มาจัด มาใช้ เอาคำที่เหมาะที่มันให้ความหมายกระทัดรัด รัดกุม หรือให้ความหมายเด่น ให้ความหมายกินใจ เอาคำเหล่านี้มาใช้่ พอใช้ได้ถูกต้อง คนก็เกิดความเข้าใจชัดเจนด้วย เกิดความพอใจด้วย เมื่อพอใจแล้ว ก็เกิดความสนใจและเลยต่อไปถึงความเชื่อถือศรัทธา อะไรๆ ต่อๆ ไป รวมทั้งอาจจะกระตุ้นเร้าให้เกิดความใฝ่ในการที่จะค้นคว้าหาความรู้ในเรื่อง นั้นๆ ต่อไป


เพราะฉะนั้น ความมีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ จึงเป็นสิ่งสำคัญประการที่สาม ถ้าขาดนิรุตติแล้ว ยุคข่าวสารข้อมูลก็จะเป็นยุคที่บกพร่อง การสื่อภาษาให้เข้าถึงความจริงก็จะบกพร่องไปด้วย คนที่ขาดข้อนี้จะอยู่ในยุคนี้ไม่ได้ดี


ประการที่สี่ คือ 'ปฏิภาณปฏิสัมภิทา' แปลว่า ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ ข้อนี้เป็นปัญญาในทางปฏิบัติ คนเรานี้มีความรู้ในเรื่องต่างๆ บางคนเรียนรู้มากมายแต่ไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านั้น ใช้ความรู้ไม่เป็น คือมีปัญหาเกิดขึ้น มีเรื่องราวเกิดขึ้น ไม่สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่มากมายนั้นมาเชื่อมโยงกันเป็นความรู้ความคิด ใหม่ที่ใช้เฉพาะกรณีนั้นเฉพาะเรื่อง เช่น แก้ปัญหานั้นได้


คนเราที่จะแก้ปัญหาได้จะต้องสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในกรณีนั้นโดย เฉพาะ แต่ความรู้ใหม่นั้นเกิดจากไหน ก็คือจากการที่เรามีความรู้เก่า แล้วเอาความรู้นั้นมาเชื่อมโยงกัน จับเอามาสัมพันธ์กันตรงกับเรื่อง แก้ปัญหาได้ อย่างนี้เรียกว่าความคิดทันการ เรื่องการตอบปัญหา การพิจารณาเรื่องราวต่างๆ การสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการต้องมีความคิดทันการนี้ด้วย จึงจะใช้ได้ตรงกับเรื่องกับราว แก้ปัญหาต่อเรื่องนั้นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งและพัฒนาความรู้ขั้นต่อๆ ไป ตกลงว่ามีปัญญาแตกฉาน 4 ประการที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทา 4 คือ


1. ปัญญาแตกฉานในอรรถะ คือ เนื้อความและความหมายที่จะขยายออกไปได้ เรียกว่า 'อัตถปฏิสัมภิทา'

2. ปัญญาแตกฉานในหลัก คือในตัวประเด็น หมายความว่า เรื่องราวมากมายพิสดารสามารถจับมาตั้งวางเป็นหลักเป็นประเด็นได้ เรียกว่า 'ธัมมปฏิสัมภิทา'

3. ปัญญาแตกฉานในภาษา ความสามารถเข้าใจในภาษา ในถ้อยคำสำนวน ในรส เป็นต้น ที่เป็นเรื่องของภาษาชัดเจน สามารถเลือกมาใช้ให้ได้ผลมีประสิทธิภาพในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจและ ความรู้สึกในการกระตุ้นอารมณ์ แสดงความต้องการของตนได้ ชัดจูงคนอื่นได้ เป็นต้น เรียกว่า 'นิรุตติปฏิสัมภิทา'

4. ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ เอาความรู้ที่มี อยู่หรือได้รับถ่ายทอดมาเชื่อมโยงสัมพันธ์สร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ ใช้แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ เรียกว่า 'ปฏิภาณปฏิสัมภิทา'


ครบถ้วนอย่างนี้ก็จะอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูลได้เป็นอย่างดี การใช้ภาษาเป็นสื่อในการที่จะให้เข้าถึงสัจธรรมจะได้ผลดีเป็นอย่างมากด้วย



เมื่อรู้จักใช้ ก็ประสานประโยชน์ได้
เมื่อปฏิบัิติพอดี ก็เป็นคุณทั้งหมด


นอก จากนั้นก็มีอีกแง่หนึ่ง ขั้นสุดท้ายสำหรับตัวบุคคลที่เป็นผู้พูดเอง คือการใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ไม่ยึดติด ตรงนี้เป็นตัวสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อตนเองในทางจิตใจ ทำให้เกิดความปลอดโปร่งใจ และเมื่อใจปลอดโปร่ง ปัญญาก็จะแจ่มใสด้วย ช่วยในการที่จะใช้ภาษาต่อๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใจของคนนั้นจะต้องเป็นอิสระ ใจที่เป็นอิสระก็คือใจที่ใช้ภาษาอย่างรู้เท่าทัน ท่านเรียกว่าไม่ยึดติด ใช้ไปตามโวหารโลก อย่างพระพุทธเจ้าที่ทรงมีลักษณะอย่างหนึ่งว่า ทรงรู้เท่าทันภาษา รู้ว่าสิ่งนี้เขาสมมติเรียกกันว่าอย่างนี้ ก็เข้าใจและใช้ไปตามสมมตินั้น แต่ไม่ติดในภาษานั้น อันนี้ก็เป็นลักษณะสุดท้าย อาจจะยากไปสักนิด แต่เป็นลักษณะในขั้นสูงสุด คือ ขั้นที่เกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:15:06
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:07:53 น.
  

ความคิดเห็นที่ 8
. ต่อไป แง่ที่สอง คือฝ่ายผู้รับสื่อ หรือผู้ฟังจะปฏิบัติอย่างไร ผู้รับสื่อ หรือผู้ฟังนี้ ในการปฏิบัติต่อเรื่องภาษามี 2 ขั้น




ขั้นที่ 1 คือขั้นที่ยังต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อ การที่เรายังอาศัยภาษาเป็นสื่อนั้น มีความหมายรวมไปด้วยถึงการที่เรายังต้องอาศัยผู้อื่นในการเข้าถึงสัจธรรม การที่เราจะพึ่งผู้อื่น เราสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะต้องใช้ปัญญาให้ดี ผู้อื่นก็มีทั้งซื่อสัตย์ มีทั้งหลอกลวง มีทั้งผู้ที่รู้จริง มีทั้งผู้ที่หลงผิด มีทั้งผู้ที่ถ่ายทอดได้ดี มีทั้งผู้ที่ถ่ายทอดไม่เป็น




องค์ประกอบหรือปัจจัยฝ่ายผู้พูดก็ส่วนหนึ่ง แต่การที่จะได้ผลต้องอยู่ที่ฝ่ายผู้ฟังด้วย ถ้าผู้พูดสื่อได้ผลน้อย แต่ผู้ฟังมีประสิทธิภาพมาก ก็ยังได้ผลมากอยู่นั่นเอง




ฉะนั้น หลักการนี้ก็คือว่า ผู้ฟังจะต้องมีโยนิโสมนสิการ รู้จักใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณาในสิ่งที่เป็นข้อมูลหรือสิ่งที่ตนได้รับฟังมา ในการที่จะปฏิบัติต่อภาษานั้น อย่างที่พูดมาทีหนึ่งแล้วว่า โยนิโสมนสิการคือ ความคิดเป็น รู้จักวิเคราะห์ เช่น รู้จักถามว่าคืออะไร เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ มันจะทำให้เกิดผลอย่างไร สืบทอดกับเรื่องอื่นอย่างไร สัมพันธ์โยงกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร คนที่ถามอย่างนี้มากแล้วคิดค้นไปตามคำถามเหล่านี้ พยายามตอบคำถามเหล่านี้จะทำให้ปัญญาแก่กล้าขึ้น แล้วก็เป็นทางหนึ่งของการเข้าถึงสัจธรรม


อย่างพระพุทธเจ้า ก่อนตรัสรู้พระองค์ก็ทรงใช้วิธีนี้ถามตัวเอง เมื่อมีประสบการณ์ที่ควรรู้ ก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ตัวนี้เกิดจากอะไร เพราะอะไรมี อันนี้จึงมี พระองค์สืบค้นต่อไปก็จับได้รู้ว่า เพราะอันนี้มี อันนี้จึงมีด้วย พอถึงตัวไหนก็ถามเพื่อค้นตัวนั้นต่อไป แล้วอันนี้ล่ะ มีได้เพราะอะไร อะไรมีจึงทำให้อันนี้มี สืบค้นต่อไป ก็ได้ตัวต่อไป สืบค้นเรื่อยไปจนกระทั่งตลอด หลักการคิดอย่างนี้ก็อยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า 'โยนิโสมนสิการ' คือ การรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคายสืบค้นจนตลอดถึงต้นเค้า


ฉะนั้น ถ้ามองอะไรก็อย่ามองผิวเผิน ต้องสืบค้นให้ถึงต้นเค้่า แล้วต่อไปก็คือ การรู้เท่าทันสมมติ หรือปรมัตถ์ คือการรู้เท่าทันความจริงที่แบ่งเป็นสองระดับ หมายความว่า ความจริงก็แบ่งเป็นระดับต่างๆ โดยหลักใหญ่ก็มีสองระดับ


อย่างภาษาทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราพูดว่า 'น้ำ' มันก็คือความจริงระดับหนึ่ง แต่ความจริงระดับนี้ในแง่วิทยาศาสตร์ยังไม่ถึงความจริงแท้ ก็ยังต้องสืบค้นลึกลงไปอีก


วิทยาศาสตร์บอกว่า H2O ไฮโดรเจน 2 อะตอม ออกซิเจน 1 อะตอม เป็น H2O นี่คือ 'น้ำ' ก็ทำให้เข้าถึงความจริงมากขึ้น พอพูดว่า H2O ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์ก็รู้และมองความจริงลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง จะไม่มองแค่น้ำ ขอให้นึกถึงคนสองคนเมื่อพูดคำว่า 'น้ำ' เขาจะมองความจริงไม่เท่ากัน คนที่เรียนวิทยาศาสตร์แล้ว และมีใจใฝ่ในวิทยาศาสตร์ ก็จะมองน้ำในความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่คนที่เป็นชาวบ้านมองคำว่าน้ำในความหมายและความรู้ความเข้าใจอีกอย่าง หนึ่ง


นี่คือความจริงในต่างระดับ เราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทันว่า ภาษานั้นสื่อความหมายในความจริงที่ต่างระดับกันได้ด้วย ซึ่งขึ้นต่อผู้ที่พูดและผู้ที่ฟังด้วย ทั้งหมดนี้ทางพระเรียกว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ประเภทที่ 1 กับความรู้ประเภทที่ 2


อะไรคือความรู้ประเภทที่ 1 และความรู้ประเภทที่ 2 ในภาษาไทยอันนี้เป็นคำที่ยังกำกวม เราพูดว่าความรู้ แต่ความรู้นั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ที่จริงท่านแบ่งได้หลายประเภท แบ่งโดยวิธีอื่นอาจจะมี 3 มี 4 ได้ แต่ในแง่นี้แบ่งเป็น 2 ที่แบ่งเป็น 2 มีอะไร


ความรู้ที่เราเอามาพูดกัน เราเรียนนั่น เราเรียนนี่ เรารู้วิชาวิทยาศาสตร์ รู้วิชาเศรษศาสตร์ ความรู้อย่างนี้รู้ตามที่อาจารย์มาถ่ายทอด มาสอนมาบรรยายให้ฟัง จดกันไปบ้าง จำกันไปบ้าง รู้ว่าอันนั้นเขาแปลว่า อย่างนี้ รู้อย่างนี้เป็นความรู้ประเภทที่ 1


ความรู้ประเภทที่ 1 นี้ บางทีคนไม่รู้จักแยกจากความรู้ที่แท้จริงก็ทำให้เกิดปัญหา ความรู้อย่างนี้เป็นเพียงความรู้ระดับต้น ซึ่งยังไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้แท้จริง ความรู้ประเภทนี้จะเป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ เป็นความรู้ประเภทข้อมูลข่าวสารที่รับถ่ายทอดมา


ความรู้ประเภทที่ 2 คือ เมื่อเรารับถ่ายทอดข้อมูลนั้นมาแล้ว เราเองมีความเข้าใจต่อสิ่งนั้นอย่างไร รู้ข้อมูลที่รับนั้นเขาว่ามาอย่างไร เราก็รู้ได้ตามนั้น เข้าใจ เห็นความหมายหรือสาระของความรู้นั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าความรู้เหมือนกัน


ถึงตอนนี้เราจะเป็นตัวของตัวเอง ความรู้ประเภทที่ 1 เป็นความรู้ของคนอื่น เรารับมาเก็บเอาไว้เหมือนกับของฝาก เราสำรวจตัวเอง เรามีความรู้ของคนอื่นเก็บใส่ตัวเองไว้เป็นของฝากหรือเปล่า ถ้าเต็มไปด้วยความรู้ประเภทนี้มาก เป็นของเก็บมารวมๆ ไ้ว้เฉยๆ ถ้าได้แค่นี้ก็มีเพียงความรู้ประเภทที่ 1


ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เรามีความรู้เข้าใจต่อความรู้นั้นอย่างไร ความรู้ที่เข้าใจสาระสำคัญของมัน เข้าใจเหตุผลของมัน เข้าใจความสัมพันธ์ของมันกับเรื่องราวอื่น อันนี้เป็นความรู้ที่สำคัญ เป็นความรู้ที่เข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา เป็นความรู้ประเภทที่ 2


ความเข้าใจในการวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบประการหนึ่ง ความเข้าใจในการสืบค้นเหตุปัจจัยประการหนึ่ง ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นประการหนึ่ง ความรู้ระดับนึ้เราเรียกว่าเป็นปัญญา แล้วความรู้ประเภทที่ 1 เราเรียกว่าอะไร


ความรู้ประเภทที่ 1 ที่เป็นเหมือนของที่คนอื่นเขาถ่ายทอดมา เราเอามาเก็บไว้เป็นของฝาก เรียกว่า 'สุตะ' ภาษาปัจจุบันนี้ก็เป็น data และ information


คนจำนวนมากเข้าใจว่า information หรือ data เป็นความรู้ของตัวเอง ที่แท้มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงของที่เก็บรวบรวมเอาไว้ ซึ่งเป็นของดิบ เป็นข้อมูล เป็นอุปกรณ์ที่จะใช้ประโยชน์ ถ้าไม่มีปัญญาของตัวเองที่เข้าใจถึงสาระ ไม่สามารถแยกแยะองค์ประกอบของสิ่งนั้น ไม่สามารถสืบสาวเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์เชื่องโยงกับสิ่งอื่น เขาจะไม่สามารถนำสุตะ information หรือ data ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาตัวปัญญานี้ขึ้นมา


ทางพระท่านกล่าวว่า ปญฺญา สุตวินิจฺฉินี แปลว่า ปัญญาเป็นเครื่องวินิฉัยสุตะ หมายความว่า สุตะนี้เป็ตัวความรู้เบื้องต้น จะต้องมีปัญญามาเป็นต้ววินิจฉัยให้รู้สุตะนั้นตั้งแต่ว่าเป็นของจริงหรือไม่ มีความหมายเป็นอย่างไร เป็นต้น จนกระทั่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และอันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติในฝ่ายผู้รับสื่อ

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:16:44
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:08:16 น.
  

ความคิดเห็นที่ 9
. ผู้รับสื่อแยกเป็น 2 ชั้น หรือ 2 ประเภท


ประเภทที่ 1 คือ พวกที่ยังต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อ ประเภทที่ 2 คือ พวกที่อยู่ในขั้นทะลุผ่านภาษาเข้าถึงตัวประสบการณ์ อย่างที่บอกแล้วว่า ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเป็นสื่อ ก็คือ การที่เรายังต้องอาศัยคนอื่นในการที่จะเข้าถึงสัจธรรมอยู่


การเข้าถึงความจริงนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาเสมอไป เพราะความจริงนั้นเป็นสภาวะ ความจริงนั้นมันเปิดเผยตัวของมันเองตลอดเวลา แต่มนุษย์ทำไมจึงไม่รู้่ความจริง ทำไมไม่เข้าถึง ก็เพราะเอาอะไรไปบังตัวเองไว้ หรือบางทีก็หลอกกันไปเสีย รวมทั้งภาษานี้ด้วย ภาษาที่ว่าเป็นสื่อให้เข้าถึงความจริง แต่บางทีมันเป็นตัวที่ไปปิดบังความจริงเสียอย่างที่ว่าแ้ล้ว


บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องอาศัยภาษา และไม่ต้องอาศัยคนอื่นเราก็เข้าถึงตัวประสบการณ์นั้นได้ด้วยตนเอง ในเมื่อธรรมชาติเปิดเผยตัวมันเองอยู่แล้ว คนบางคนก็เข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยประสบการณ์ตรง จากการที่เข้ารู้จักโยนิโสมนสิการ


ยกตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ นายไอแซค นิวตัน ไปนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ลูกแอปเปิ้ลตกลงมา เขาคิดได้ถึงกฏ gravitation หรือเรื่อง gravity ก็ได้ความจริงขึ้นมาเป็นความจริงระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่า gravity หรือหลักว่าด้วย gravitation ในทางวิทยาศาสตร์อีกระดับหนึ่งถือว่ามันไม่ใชความจริงแท้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นกฏธรรมชาิตที่ใช้ได้ในระดับหนึ่ง ในการเข้าถึงความรู้ในความจริงนี้ เขาไม่ต้องอาศัยภาษาที่คนอื่นถ่ายทอดมา แต่มันเป็นภาษาที่มี concept อยู่ในใจ เขาอาศัยประสบการณ์ตรงนี้ ทำให้เขาสามารถเข้าถึงความจริงได้ แต่คนอื่นทำไมไม่ได้ความจริงนี้ คนจำนวนมากมายก่อนนายนิวตันตั้งแสนตั้งล้านหรือหลายล้านคนก็ได้ เห็นลูกแอปเปิ้ลตกลงมาไม่รู้ว่ากี่ครั้ง แต่ไม่เคยมีใครได้ความรู้นี้ ทำไมจะต้องมารอนายนิวตัน นายนิวตันมีอะไรพิเศษ นายนิวตันพิเศษ เพราะมี 'โยนิโสมนสิการ'


เพราะฉะนั้น เราอาจจะมองผ่านทะลุสื่อภาษาไปเข้าถึงประสบการณ์ตรงโดยที่ตัวเรามีปัญญาที่ รู้จักคิดพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการนี้ ก็เข้าถึงสัจธรรมได้ด้วยตนเอง หรืออย่างพระภิกษุรูปหนึ่งไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ได้เห็นใบไม้ร่วงหล่น พอใบไม้ร่วงหล่นมาก็เกิดปัญญาโพลงสว่างขึ้นมาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพ สิ่ง เกิดความรู้เข้าถึงกฏแห่งอนิจจังขึ้น นี้ก็เรียกว่าการเข้าถึงโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อภาษาเหมือนกัน


รวมความว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการต้องใช้โยนิโสมนสิการทั้งนั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะใช้ภาษาก็ตาม หรือจะใช้วิธีประสบการณ์ตรงโดยไม่ผ่านภาษาก็ตาม เข้าหลักของพุทธภาษิตว่า

โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ปญฺญา่ญตฺถํ วิปสฺสติ


แปล ว่า พึงวิจัยสืบค้นให้ถึงต้นเค้า หรือวิจัยโดยแยบคาย ถ้าแปลง่ายๆ ก็วิจัยธรรมโดยแยบคาย หรือใช้ปัญญาสืบค้นโดยแยบคาย ก็จะมองเห็นแจ้งความหมายด้วยปัญญา


ในคำที่ว่า "พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย แล้วจะเห็นความหมายแจ้งชัดด้วยปัญญา"


ธรรมในความหมายที่ 1 คือ ตัวสภาวะหรือสิ่งที่อยู่โดยธรรมชาติหรือตัวความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ


ธรรมในความหมายที่ 2 คือ คำสอนของคนที่เข้าถึงความจริงนั้นแล้วนำความจริงนั้นมาถ่ายทอดให้ผู้อื่น เข้าใจ คำสอนของเขาที่แสดงความจริงนั้นก็เรียกว่า 'ธรรม' เหมือนอย่างเราเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า 'ธรรม' ก็เพราะเป็นคำสอนของท่านที่เข้าถึงความจริงแล้วนำมาถ่ายทอดแสดงให้เราเข้าใจ


ตัวสภาวะความจริงของธรรมชาติก็เรียกว่า 'ธรรม' คำสอนที่แสดงสภาวะนั้นก็เรียกว่า 'ธรรม' ภาษายังมาสื่อธรรมในความหมายทั้งสองนี้อีก เป็นการสื่อสองชั้น


เพราะฉะนั้น ถ้าเราวิจัยตัวธรรมในความหมายที่ 1 ก็คือ การเข้าถึงประสบการณ์ตรง ไม่ต้องผ่านภาษา หรือถ้าวิจัยธรรมในความหมายที่ 2 ก็คือ วิจัยตัวคำพูดบอกเล่าที่แสดงสัจธรรมนั้น ก็อาศัยภาษาพุทธภาษิตนี้ใช้ได้ทั้งสองความหมาย


ทีนี้ต่อไป ก็ถึงข้อที่ 3 ขอทวนว่า
ข้อที่ 1 พูดถึงวิธีปฏิบัติของผู้ใช้ภาษาเป็นสื่อหรือพูด
ข้อที่ 2 พูดถึงผู้รับสื่อหรือผู้ฟังว่าจะปฏิบัติอย่างไร
ข้อที่ 3 ก็คือกระบวนการ หมายถึงกระบวนการใช้สื่อที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม อันนี้คือการที่มีการใช้ภาษาสื่อนำความจริงต่อๆ ไป โดยก้าวคู่เคียงไปกับการเข้าถึงประสบการณ์จริงนั้นๆ หมายความว่าเป็นกระบวนการที่ทั้ง 2 อย่า่งอาศัยซึ่งกันและักัน คือเรารู้อยู่แล้วว่าสาระของการสื่อด้วยภาษาก็เพื่อนำคนเข้าถึงสัจธรรม แต่เราจะมัวใช้ภาษากันอยู่เพื่ออธิบายสัจธรรมทุกระดับไม่ได้ มันจะไม่มีการก้าวหน้าไป


เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำแบบควบประสานและเป็นขั้นตอนตามลำดับ เริ่มด้วยภาษาจะโยงไปถึงสัจธรรมในระดับที่เราควรจะเข้าถึงในขั้นต้นก่อน เราก็อาศัยภาษานั้นเป็นสื่อเข้าถึงประสบการณ์ระดับต้นนั้น พอถึงประสบการณ์ระดับต้นนั้นแล้ว เราก็มีฐานที่ว่า ภาษาเป็นสื่อที่โยงไปหาประสบการณ์ที่เราได้ถึงแล้วด้วยตนเองจริง จากนั้นเราก็ใช้ภาษาโยงไปหาประสบการณ์ขั้นต่อไปที่เรายังไม่รู้ โดยวิธีนี้ก็จะเป็นการก้าวไปเรื่อยๆ


จริงอยู่สัจธรรมเรายังไม่ถึง แต่ด้วยการใช้ภาษาอย่างชาญฉลาดก็ทำให้เราก้าวไปพร้อมกัน ระหว่างการใช้ภาษาเป็นสื่อกับการเข้าถึงระดับต่างๆ ของสัจธรรม จนถึงเข้าถึงสัจธรรมโดยสมบูรณ์ในที่สุด นี่คือ การใช้ภาษาเป็นสื่อโดยคู่เคียงกันไปกับการเข้าถึงประสบการณ์นั้นๆ


อันนี้เป็นวิธีการที่สำคัญในกระบวนการ โดยที่ว่าประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นฐานทางภาษาให้แก่การเข้าถึงประสบการณ์ที่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นการอาศัยสิ่งที่เป็นสื่อแต่ละขั้นให้ออกผลในทางปฏิบัิติอย่างแท้ จริง ซึ่งก็อาศัยผลการปฏิบัิติเป็นเครื่องช่วยในการพิสูจน์ด้วย


แต่ก็อย่างที่พูดมาแล้วว่า จะต้องมีการโยงกลับไปเรื่อยๆ ผลปฏิบัิติอาจจะหลอกลวงเราได้ และภาษาในการสื่อประสบการณ์ตรงก็อาจจะหลอกลวงเราได้ แต่เราก็มีภาษานั่นแหละมาเป็นสื่อในการแก้ไข เช่น โดยมีคนที่ชาญฉลาดมาช่วยมาวิเคราะห์วิจารณ์กัน มีการอภิปราย การรู้จักรับฟังก็ทำให้เกิดความเข้าใจในความหลงผิด แล้วก็เกิดการถอนตัวได้อีก เพราะฉะนั้น การที่จะก้าวไปสู่การเข้าถึงสัจธรรมจึงเป็นการรู้จักปฏิบัิติอย่างชาญฉลาด ระหว่างการใช้ภาษากับการที่จะได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นคู่เคียงอย่าง เอื้อกันไป

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:17:40
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:08:35 น.
  

ความคิดเห็นที่ 10
บทสรุป


เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ย่อมสรุปลงในหลักการใหญ่ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว คือ ต้องโยงเข้าสู่จุดสัมพันธ์ในระบบชีวิตของมนุษย์


ปัญญาที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม ซึ่งจะพัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่รู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรมนั้น เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ


ปัจจัยที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐินั้นมี 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เสียงบอกเล่าคำกล่าวสอนจากผู้อื่น (ปรโตโฆสะ) โดยเฉพาะจากกัลยาณมิตร และปัจจัยภายใน ได้แก่ การรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ)


ปัจจัยภายนอกนั้นก็คือการสื่อภาษา ซึ่งสำัคัญมาก แต่ตัวบุคคลก็จะต้องมีปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการด้วย จึงจะทำให้ภาษาที่สื่อสำเร็จประโยชน์ฺในการเข้าถึงสัจธรรมได้จริง


ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในนี้ มาประสานกันเชิงปฏิบัติการในกระบวนการที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเจริญเพิ่ม พูนยิ่งขึ้นๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม


กระบวนการนี้ำดำเนินไปโดยอาศัยการสืบต่อกันขององค์ประกอบ 4 อย่าง ที่สัมพันธ์ส่งผลอุดหนุนกันเป็นระบบ องค์ประกอบ 4 อย่างชุดนี้ ท่านเรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม กล่าวคือ


1. การเข้าหาแหล่งความรู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ (สัปปุริสสังเสวะ - การเสวนาสัปบุรุษ)
2. ความขยันหมั่นและรู้จักรับข่าวสารข้อมูลที่สื่อผ่านแหล่งความรู้นั้นๆ (สัทธัมมัสสวนะ - การสดับสัทธรรม)
3. การรู้จักมองรู้จักคิดพิจารณาวิเคราะห์สืบสาวเชื่อมโยงเป็นต้น ที่จะหาความจริงและใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลที่สื่อกันนั้น (โยนิโสมนสิการ - การทำในใจโดยแยบคาย)
4. การลงมือปฏิบัติ หรือทำการให้เป็นไปอย่างมีความประสานสอดคล้องกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลาย ในระบบ ทั้งที่เป็นหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรงที่จะนำไปสู่การเข้าถึงสัจธรรมในที่สุด (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ - การปฏิบัิติองค์ธรรมย่อยโดยสอดคล้องกับหลักใหญ่)


ในองค์ประกอบ 4 อย่างนี้น 2ข้อแรกเป็นปัจจัยภายนอกที่จะติดต่อผ่านสื่อภาษา 2ข้อหลังเป็นฝ่ายปัจจัยภายในของตนเองที่ต้องการจะเข้าถึงสัจธรรม


ในองค์ประกอบ 2 ข้อของฝ่ายปัจจัยภายนอกนั้น ข้อแรกที่ว่าเป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อถือหรือไว้ใจได้ ก็คือบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงจากการเข้าถึงสัจธรรมด้วยตนเองแล้ว ซึ่งเป็นฐานรองรับการสื่อภาษาในข้อที่ 2 ทำให้การสื่อภาษานั้น มีความหมายเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม


ส่วนในองค์ประกอบ 2 ข้อของฝ่ายปัจจัยภายใน ข้อ 3 เป็นการปฏิบัิติที่ถูกต้องได้ผลต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการสื่อภาษามาถึงตน ซึ่งนำไปสู่ข้อที่ 4 ที่จะช่วยให้ได้ประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรม


โดยนัยนี้ การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม ในขั้นพื้นฐานก็คือ การที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงสัจธรรมของบุคคลหนึ่ง (ในข้อ 1) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง เพื่อให้บุคคลผู้นั้นเข้าถึงสัจธรรมด้วยประสบการณ์ตรงด้วย (ในข้อ 4) ในแง่นี้ ข้อ 1 และ 4 เป็นเรื่องของประสบการณ์ตรง ส่วนข้อ 2 และ 3 เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประสบการณ์ตรงของบุคคลหนึ่ง (ข้อ 1) ช่วยนำอีกบุคคลหนึ่งไปถึงจุดหมายแห่งการได้ประสบการณ์ตรงนั้นนั่นเอง (ข้อ 1)


ในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อย่างถูกต้องนี้ จะเห็นว่ามีการประสานเกื้อหนุนกัน ทั้งระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และระหว่างข้อมูลหรือสิ่งสดับผ่านสื่อภาษากับประสบการร์ตรงในการปฏิบัิิติ ซึ่งจะทำให้ความรู้ข้อมูลเบื้องต้นพัฒนาขึ้นไปเป็นความรู้ความเข้าใจถูกต้อง สอดคล้องกับสัจธรรมที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ และทำให้สัมมาทิฏฐินั้นพัฒนาต่อไปๆ จนกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงธรรม


นอกจากนั้น เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรจะได้ปัจจัยต่างๆ ช่วยอุดหนุนด้วยเพื่อช่วยเร่งรัดและทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้่นว่าปััญญา ที่รู้เข้าใจเห็นสอดคล้องตามสัจธรรมที่เอื้อมา จะกลายเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม


ปัจจัยอุดหนุนนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของชีวิตของคนนั่นเอง ที่จะต้องมาสัมพันธ์ในลักษณะที่ส่งผลเกื้อหนุนต่อกันอย่างสอดคล้อง เมื่อการสื่อภาษาดำเนินไปโดยวิธีที่ถูกต้อง และประสานเข้ากับระบบสัมพันธ์แห่งการพัฒนาชีวิตของคน ก็สามารถนำสู่ผลคือ การเข้าถึงสัจธรรม


ปัจจัยอุดหนุน 5 ประการนั้น คือ

1. พฤติกรรมที่เกื้อหนุน (ศีล)
2. ข้อมูลความรู้ที่ถ่ายทอดบอกกล่าวเล่าเรียนสดับฟัง (สุตะ)
3. การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา)
4. การพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจ (สมถะ)
5. การพัฒนาปัญญาให้มองเห็นโลกและชีวิตตามเป็นจริง (วิปัสสนา)


เมื่อการสื่อภาษาด้วยสุตะและสากัจฉา ประสานเข้ากับกระบวนการพัฒนาชีวิตที่สัมพันธ์กันครบถ้วนทั้งระบบ คือ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ก็จะอุุดหนุนปัญญที่เห็นสอดคล้องกับสัจธรรม คือ สัมมาทิฏฐิให้พัฒนาขึ้นไปจนเป็นปัญญาที่เข้าถึงสัจธรรม อันจะส่ิงผลต่อชีวิต ทำให้เข้าถึง สันติ สุข และอิสรภาพ ที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ตรวจสอบและวัดผลไปด้วยในตัวว่า เป็นการเข้าถึงสัจธรรมที่จริงแท้


เมื่อการสื่อภาษาช่วยให้ชีวิตพัฒนาเข้าถึงสันติ สุข และอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมก็บรรลุจุดหมาย


การปาฐกาถาครั้งนี้ จึงจบลงได้ ด้วยประการฉะนี้.




จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 52 22:19:47
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:08:52 น.
  
หมายเหตุ
- ก้อปและตัดแต่งมาจากกระทู้ "การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์"
//topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/11/Y8589597/Y8589597.html

- เป็นกระทู้ที่ยาวเกินจะย่อลงบทความบล็อกได้ จึงต้องมาลงในช่องความคิดเห็น
และทั้งที่บทความยาวมาก(สำหรับคนขึ้เกียจอย่างผมเอง) แต่ก็อุตส่าห์กางหนังสือ พิมพ์คัดลอกจนจบ
เหตุก็เพราะเป็นบทความที่โดนใจมากๆ อยากให้คนอื่นได้อานและรับสารนี้ด้วย

ไงก็ตาม
ปัจจุบันใครก็ตามสามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือนี้ทั้งเล่มในรูปแบบ pdf ได้ที่เวบของวัดญาณเวศกวันแล้ว
อ่านง่ายสบายตากว่าอย่างมาก : )
โดย: ปล่อย วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:18:11 น.

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2555

1
2
3
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog