ปรมัตถธรรม ที่มาของคำเชิงประวัติคัมภีร์
ปรมัตถธรรม  ธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุด,  สภาวะที่มีอยู่โดย
ปรมัตถ์,  สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด,  สภาวธรรม,  นิยมพูดกันมาเป็นหลัก
ทางพระอภิธรรมว่ามี  ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน


          พึงสังเกตเค้าความที่เป็นมาว่า  คำว่า  “ปรมัตถธรรม” (บาลี:  ปรมตฺถธมฺม)  นี้
 ไม่พบที่ใช้ในพระไตรปิฎกมาแต่เดิม  (ในพระไตรปิฎก  ใช้เพียงว่า  “ปรมตฺถ”  หรือ
รวมกับคำอื่น,  ส่วนในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย  มีคำว่าปรมัตถธรรม  ซึ่งท่านผู้
แปลใส่หรือเติมเข้ามาตามคำอธิบายของอรรถกถาบ้าง  ตามที่เห็นเหมาะบ้าง)  ต่อ
มาในชั้นอรรถกถา  “ปรมัตถธรรม”  จึงปรากฏบ้าง ๒-๓  แห่ง  แต่หมายถึงเฉพาะ
นิพพาน  หรือไม่ก็ใช้อย่างกว้างๆ  ทำนองว่าเป็นธรรมอันให้ลุถึงนิพพาน  ดังเช่น
สติปัฏฐานก็เป็นตัวอย่างของปรมัตถธรรม  ทั้งนี้  เห็นได้ว่าท่านมุ่งความหมายใน
แง่ว่าประโยชน์สูงสุด



          ต่อมา  ในคัมภีร์ชั้นฏีกาลงมา  มีการใช้คำว่าปรมัตถธรรมบ่อยครั้งขึ้นบ้าง
  (ไม่บ่อยมาก)  และใช้ในความหมายว่าเป็นธรรมตามความหมายอย่างสูงสุด  คือ
  ในความหมายที่แท้จริง  มีจริง  เป็นจริง  ซึ่งตรงกับคำว่าสภาวธรรม  ยิ่งเมื่อคัมภีร์
อภิธัมมัตถสังคหะเกิดขึ้นแล้ว  และมีการศึกษาพระอภิธรรมตามแนว
ของอภิธัมมัตถสังคหะนั้น  ก็มีการพูดกันทั่วไปถึงหลักปรมัตถธรรม ๔  จนกล่าวได้
ว่าอภิธัมมัตถสังคหะเป็นแหล่งเริ่มต้นหรือเป็นที่มาของเรื่องปรมัตถธรรม ๔



          อย่างไรก็ดี  ถ้าพูดอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร  ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
นั้นเอง  ท่านไม่ใช้คำว่า  “ปรมัตถธรรม”  เลย  แม้แต่ในคาถาสำคัญเริ่มปกรณ์หรือ
ต้นคัมภีร์  ซึ่งเป็นบทตั้งหลักที่ถือว่าจัดประมวลปรมัตถธรรม  ๔  ขึ้นมาให้ศีกษานั้น
  แท้จริงก็ไม่มีคำว่า  “ปรมตฺถธมฺม”  แต่อย่างใด  ดังคำของท่านเองว่า

ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา  จตุธรา ปรมตฺถโต
จิตตฺตํ เจตสิกํ รูปํ          นิพฺพานมิติ  สพฺพถา

แปล: “อรรถแห่งอภิธรรม  ที่ตรัสไว้ในพระอภิธรรมนั้น  ทั้งหมดทั้งสิ้น  โดยปรมัตถ์
  มี  ๔  อย่าง  คือ  จิต ๑  เจตสิก ๑  รูป ๑  นิพพาน ๑”

(นี้เป็นการแปลกันตามคำอธิบายของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี  แต่มีอีกฏีกาหนี่งใน
ยุคหลังค้านว่าอภิธัมมัตถวิภาวินีบอกผิด  ที่ถูก  ต้องแปลว่า  “อภิธัมมัตถะ  ที่
ข้าพเจ้าคือพระอนุรุทธาจารย์กล่าวในคำว่าอภิธัมมัตถสังคหะนั้น...”)


          ท้ายปริจเฉทที่ ๖  คือรูปสังคหวิภาคซี่งเป็นบทที่แสดงปรมัตถ์มาครบ ๔ ถึง
นิพพาน  ก็มีคาถาคล้ายกัน  ดังนี้

อิติ จิตฺตํ เจตสิกํ   รูปํ  นิพฺพานมิจฺจปิ
ปรมตฺถํ  ปกาเสนฺติ   จตุธาว  ตถาคตา

แปล:  “พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมทรงประกาศปรมัตถ์ไว้เพียง  ๔  อย่าง  คือ จิต
 ๑  เจตสิก ๑  รูป ๑  นิพพาน ๑  ด้วยประการฉะนี้”



          เมื่อพินิจดูก็จะเห็นได้ที่นี่ว่า   คำว่า  “ปรมัตถธรรม” เกิดขึ้นจาก  ประการแรก
  ผู้จัดรูปคัมภีร์  (อย่างที่เรียกในปัจจุบันว่า บรรณกร)  จับใจความตอนนั้นๆ  ตั้งขึ้น
เป็นหัวข้อ  เหมือนอย่างในกรณีนี้  ในคัมภีร์บางฉบับ  ตั้งเป็นหัวข้อขึ้นเหนือคาถา
นั้นว่า  “จตุปรมตฺถธมฺโม”  (มีในฉบับอักษรพม่า,  ฉบับไทยไม่มี)  และประการที่
สอง  ผู้แปลเติมหรือใส่เพิ่มเข้ามา  เช่น  คำบาลีว่า  “ปรมตฺถ”  ก็แปลเป็นไทยว่า
  ปรมัตถธรรม  ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นกันทั่วไป



          ในคัมภีร์รุ่นต่อมาที่อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ  เช่น  อภิธัมมัตถวิภาวินี  มีการ
ใช้คำบาลีเป็น  “ปรมตฺถธมฺม”  บ้างแม้จะไม่มาก  แต่ก็ไม่มีที่ใดระบุจำนวนว่า
ปรมัตถธรรมสี่  จนกระทั่งในสมัยหลังมาก  มีคัมภีร์บาลีแต่งในพม่าบอกจำนวนก็
บอกเพียงว่า  “ปรมัตถ์ ๔”  (จตฺตาโรปรมตฺเถ,  ปรมตฺถทีปนี  สงฺคหมหาฎีกาปาฐ,
 ๓๓๑)  แล้วก็มีอีกคัมภร์แต่งในพม่ายุคไม่นานนี้  ใช้คำว่าปรมัตถธรรมโดยระบุว่า
สังขารและนิพพาน  เป็นปรมัตถธรรม (นมกฺการฎีกา,  ๔๕)  



          ยิ่งกว่านั้น  ย้อนกลับไปยุคเก่า  อาจจะก่อนพระอนุรุทธาจารย์แต่งอภิธัม-
มัตถสังคหะเสียอีก  คัมภีร์ฎีกาแห่งอรรถกถาของสังยุตตนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก
  ซึ่งถือว่ารจนาโดยพระธรรมปาละ  ผู้เป็นอรรถกถาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง  ใช้คำว่า
ปรมัตถธรรมในของความที่ระบุว่า  “ปรมัตถธรรมอันแยกประเภทเป็น  ขันธ์
  อายตนะ  ธาตุ  สังจจะ  อินทรีย์  และปฏิจจสมุปบาท”  (สํ.ฎี.๒/๓๓๐๓/๖๕๑)  นี่ก็
คือบอกว่า  ปรมัตถธรรมได้แก่ประดาธรรม ชุดที่เรียกกันว่า ปัญญาภูมิ  หรือ
วิปัสสนาภูมิ  นั่นเอง



ตามข้อสังเกตและความที่กล่าวมา  พึงทราบว่า  

๑.           การแปลขยายศัพท์อย่างที่แปลปรมัตถะว่าปรมัตถธรรมนี้  มิใช่ความผิด
พลาดเสียหาย  แต่เป็นเรื่องทั่วไปที่ควรรู้เท่าทันไว้  อันจะเป็นประโยชน์ในบางแง่
บางโอกาส  (เหมือนในการอ่านพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทย  ผู้อ่านก็ควร
ทราบเป็นพื้นไว้ว่า  คำแปลอาจจะไม่ตรงตามพระบาลีเดิมก็ได้  เช่น  ในพระ-
ไตรปิฎกบาลีเดิมว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระวิหาร  [คือที่ประทับ] แต่ใน
ฉบับแปล  บางทีท่านแปลผ่านคำอธิบายของอรรถกถาว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จออก
จากพระคันธกุฏี)



 ๒.          การประมวลอรรถแห่งอภิธรรม  (โดยทั่วไปก็ถือว่าเป็นการประมวลธรรม
ทั้งหมดทั้งปวงนั่นเอง)  จัดเป็นปรมัตถ์  ๔  (ที่เรียกกันว่า ปรมัตถธรรม ๔)  ตามนัย
ของอภิธัมมัตถสังคหะนี้  เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นระบบอันเยี่ยม  ซึ่งเกี้อกูลต่อการ
ศึกษาอย่างยิ่ง  เรียกได้ว่าแนวอภิธรรม  แต่ถ้าพบการจัดอย่างอื่น  ดังที่ยกมาให้ดู
เป็นตัวอย่าง  [เป็นสังขารและนิพพาน บ้าง  เป็นอย่างที่เรียกว่าปัญญาภูมิ บ้าง]  ก็
ไม่ควรแปลกใจ  พึงทราบว่าต่างกันโดยวิธีจัดเท่านั้น  ส่วนสาระก็ลงเป็นอัน
เดียวกัน  เหมือนจะว่าเบญจขันธ์  หรือว่านามรูป  ก็เป็นอันเดียวกัน  ก็ดูแต่ว่าวิธีจัด
แบบไหนจะง่ายต่อการศึกษาหรือเอื้อประโยชน์ที่มุ่งหมายกว่ากัน 



๓.          ในคาถาเริ่มปกรณ์ (ในฉบับอักษรไทย  ผู้ชำระ  คือผู้จัดรูปคัมภีร์  ตั้งชื่อให้
ว่า  “ปกรณารมฺภคาถา”  แต่ฉบับอักษรพม่าตั้งชื่อว่า  “คนฺถารมฺภกถา”)  มีข้อความ
ที่เป็นบทตั้ง  ซึ่งบอกใจความทั้งหมดของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  คาถานี้จึง
สำคัญมาก  ควรตั้งอยู่ในความเข้าใจที่ชัดเจนประจำในของผู้ศึกษาเลยทีเดียว  
ในกรณีนี้  การแปลโดยรักษารูปศัพท์  อาจช่วยให้ชัดขึ้น  เช่นอาจแปลว่า  
“อภิธัมมัตถะ  ที่กล่าวในคำว่า ‘อภิธัมมัตถสังคหะ’ นั้น  ทั้งหมดทั้งสิ้นโดยปรมัตถ์
 มี  ๔ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน” 



           (พึงสังเกตว่า  ถ้าถือเคร่งตามตัวอักษร  ในคาถาเริ่มปกรณ์นี้  ท่านว่ามี
อภิธัมมัตถะ  ๔  ส่วนในคาถาท้ายปริเฉทที่หก  ท่านกล่าวถึงปรมัตถะ ๔  แต่โดย
อรรถ  ทั้งสองอย่างนั้นก็อย่างเดียวกัน)  โดยเฉพาะคำว่าอภิธัมมัตถะ  จะช่วยโยง
พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดเข้ามาสู่เรื่องที่ศึกษา  เพราะท่านมุ่งว่าสาระในอภิธรรม
ปิฎกทั้งหมดนั่นเอง  ประมวลเข้ามาเป็น  ๔  อย่างนี้  ดังจะเห็นชัดตั้งแต่พระ-
อภิธรรมปิฎกคัมภีร์แรก  คือธัมมสังคณี  ตลอดหมดทั้ง ๒๕๘ หน้า  ที่แจงกุสลัตติ-
กะ  อันเป็นปฐมอภิธัมมมาติกา  ก็ปรากฏออกมาชัดเจนว่าเป็นการแจงเรื่อง  จิต
  เจตสิก  รูป  และนิพพาน  นี้เอง;




หมายเหตุ 
- คัดลอกจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ตีพิมพ์ปี2551 ของท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์

- เคยตั้งกระทู้ไว้แล้ว แต่หาย เสียดายเลยพิมพ์ใหม่

- เคยได้อ่านคำของผู้ศึกษาอภิธรรมว่า "บาลีมีนัยเป็นร้อย คนรู้น้อยก็ว่าผิด"
รู้สึกชอบว่าให้แง่คิดดี  โดยเฉพาะเมื่อผ่านเจอบางครั้งบางคน
ที่ยึดทฤษฏีหนึ่ง แล้วด่วนปฏิเสธทฤษฏีหรือความหมายอื่นรูปแบบอื่นไป
ทั้งที่อาจจะถูกทั้งสออย่างก็ได้ หรืออาจคนละแง่มุมก็ได้
เป็นแต่เรารอบรู้ไม่พอเอง  ..ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สะกิดตัวเองอยู่บ่อยๆ 

เพราะงั้น ส่วนตัวเวลาเจอใครพูดอะไรที่แย้งกะความเข้าใจเดิม 
ก็จะมีแนวโน้มขอฟังดูก่อน ไม่รีบเชื่อว่าฉันต้องเป็นฝ่ายถูกแน่ๆ



Create Date : 04 กรกฎาคม 2555
Last Update : 4 กรกฎาคม 2555 0:56:17 น.
Counter : 1545 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2555

1
2
3
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog