คำบาดหู ใช่ผรุสวาจาหรือไม่ และควรพูดเมื่อไร
.



1) ผรุสวาท มี 3 องค์ประกอบ วาจาหยาบใจไม่หยาบ ไม่ใช่ผรุสวาท
วาจาไพเราะแต่จิตมุ่งร้าย ผรุสวาทเต็มๆ
_____________________________________
            เจตนาหยาบโดยส่วนเดียว ยังกายประโยคและวจีประโยคตัดส่วนสำคัญของร่างกายของคนอื่น ชื่อว่าผรุสวาจา. วจีประโยค แม้ตัดส่วนสำคัญของร่างกาย ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะจิตละเอียดอ่อน.


              จริงอยู่ มารดาบิดา บางครั้งพูดกะบุตรอย่างนี้ว่า ขอให้โจรฟาดฟันพวกเจ้าให้เป็นชิ้นๆ ทีเถิด ดังนี้ ทั้งๆ ที่มารดาบิดาไม่ปรารถนาแม้ใบบัวตกบนศีรษะของพวกลูกๆ เหล่านั้น.


              อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์บางครั้งกล่าวกะศิษย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า อะไรพวกนี้ไม่มีหิริโอตตัปปะเสียเลย พวกเจ้าจงไล่เขาออกไป. ที่แท้อาจารย์และอุปัชฌาย์ปรารถนาให้ศิษย์ทั้งหลายถึงพร้อมด้วยอาคมและ อธิคม.


              อนึ่ง เพราะจิตละเอียดอ่อนย่อมไม่เป็นผรุสวาจาฉันใด เพราะคำพูดละเอียดอ่อนไม่เป็นผรุสวาจาหามิได้ฉันนั้น. คำพูดของผู้ประสงค์จะให้เขาตายว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบายเถิดดังนี้ ไม่เป็นผรุสวาจาหามิได้ เพราะจิตหยาบคาย คำพูดนั้นจึงเป็นผรุสวาจาแท้.


              วาจามีโทษน้อย เพราะผู้ที่พูดหมายถึงมีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้ที่พูดหมายถึงมีคุณมาก.

              ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือคนอื่นที่พึงด่า ๑ จิตโกรธ ๑ การด่า ๑.

อรรถกถาสารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖    
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=881&p=1#คาถาที่_๗

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 19 มี.ค. 53 23:07:12






2) พูดอิงธรรมอิงวินัย  ถ้าเผื่อคนฟังบาดใจ นั่นเป็นเพราะใจคนฟัง
(คนพูดไม่เกี่ยว เว้นแต่มีเจตนาประทุษร้ายเขาด้วยวาจา)
____________________________________________

2.1.

ผู้โจทก์โดยเป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน

            [๕๐๘] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความ
ไม่เดือดร้อน ด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความ
ไม่เดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ:-
            ๑. ท่านโจทโดยกาลอันควร ไม่ใช่โจทโดยกาลอันไม่ควร ท่านไม่ต้อง
เดือดร้อน
            ๒. ท่านโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ท่านไม่ต้อง
เดือดร้อน
            ๓. ท่านโจทด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่โจทด้วยคำหยาบ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
            ๔. ท่านโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่
ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
            ๕. ท่านมีเมตตาจิตโจท ไม่ใช่มุ่งร้ายโจท ท่านไม่ต้องเดือดร้อน
            ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความไม่เดือดร้อนด้วยอาการ
๕ นี้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุแม้อื่นก็พึงสำคัญว่าควรโจทด้วยเรื่องจริง ฯ

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗  บรรทัดที่ ๕๙๗๘ - ๖๐๖๐.  หน้าที่  ๒๔๗ - ๒๕๐.
//www.84000.org/tipitaka/read/?7/506-511
------------------------------------------

2.2.


              ธรรมดา การให้โอวาทนี้เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก และโพธิสัตว์ทั้งหลาย. ถึงคนพาลจะไม่รับเอาโอวาทที่ท่านเหล่านั้นให้แล้ว แต่ผู้ให้โอวาทก็ไม่มีบาปเลย.
              เมื่อจะแสดงอีก จึงกล่าวคาถาว่า :-

                        ผู้มีปัญญา คนใดมักชี้โทษมักพูดบำราบ
              คนควรมองให้เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
              ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า
              เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น จะมีแต่ความดีไม่มีความชั่ว
              คนควรตักเตือน ควรพร่ำสอนและควรห้ามเขาจากอสัตบุรุษ
              เพราะเขาจะเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ
              ไม่เป็นที่รักของเหล่าอสัตบุรุษ.

              วิเทหดาบสฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ บุคคลแม้เมื่อกล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมาก เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คมแล้ว
              จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

              คนอื่นได้รับความแค้นเคือง เพราะคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด.

              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยนเกนจิ ความว่า ด้วยเหตุ แม้ประกอบด้วยธรรม.
              บทว่า ลภติ รุปฺปนํ ความว่า ได้รับความกระทบกระทั่ง ความแค้นเคือง คือความเดือดดาล.
              บทว่า นตํ ภาเสยฺย มีเนื้อความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรกล่าววาจา ที่เป็นเหตุให้ประทุษร้ายบุคคลอื่น นั้น ที่มีประโยชน์มาก คือแม้ที่อิงอาศัยประโยชน์ตั้งมากมาย.

              ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาที่ ๕ แก่วิเทหดาบสนั้น ว่า :-
              ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด หรือจะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่า บาปย่อมไม่เปรอะเปื้อนเรา.

              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามํ ความว่า โดยส่วนเดียว.
              มีคำอธิบายว่า บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนว่า ท่านทำกรรมไม่สมควรแล้ว จะโกรธโดยส่วนเดียวก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม.
              อีกอย่างหนึ่ง เขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี.
              ก็แหละพระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้ดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติที่สมควรแก่โอวาทของพระสุคตนี้ ว่า
              ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลย เหมือนช่างหม้อทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักบำราบเอาบำราบเอา ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้นก็จักดำรงอยู่ได้.

อรรถกถา คันธารชาดก
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1043
-----------------------------------------


2.3.

            พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอ
ทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรกน่ารังเกียจ
ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ
เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี
จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไปนั่งกอดนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกรุ่งโรจน์
โชติช่วงอยู่ นี้ดีกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร


ฯลฯ

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว และเมื่อกำลังตรัส
ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ โลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป (พวกต้น)
ภิกษุ ๖๐ รูป (พวกกลาง) ลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้
แสนยาก อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ฯ

อัคคิขันธูปมสูตร
//www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2629&Z=2793


จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 19 มี.ค. 53 23:39:01







3) เจตนารักษาธรรม แม้บางคำกระทบใคร บางคราวก็ให้พูด
___________________________________________


3.1. พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้ประกาศแก่คนทั้งหลายว่า
พระเทวทัตไม่ใช่ภิกษุในพระพุทธศาสนาอีกต่อไป

ปกาสนียกรรม
            [๓๖๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงลงปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่เทวทัตว่า
ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำ
อย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็น
อย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง

ฯลฯ

            [๓๖๕] ก็ท่านพระสารีบุตรได้รับสมมติแล้ว จึงเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์
พร้อมกับภิกษุมากรูป แล้วได้ประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของ
พระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด
ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น
พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
            ประชาชนในกรุงราชคฤห์นั้นพวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสไร้ปัญญา
ต่างกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนริษยา ย่อม
เกียดกันลาภสักการะของพระเทวทัต
            ส่วนประชาชนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต มีปัญญาดี กล่าว
อย่างนี้ว่า เรื่องนี้คงจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประกาศ
พระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ ฯ

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗  บรรทัดที่ ๓๓๘๓ - ๓๔๙๒.  หน้าที่  ๑๔๑ - ๑๔๕.
//84000.org/tipitaka/read/?7/361-365
---------------------------------------------


3.2.พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ขับไล่สมณะแกลบออกไป อย่าให้อยู่รวมพวก

            [๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัครา
ใกล้นครจัมปา สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุที่ถูกภิกษุ
ทั้งหลายโจทด้วยอาบัตินั้นเอาเรื่องอื่นๆ มาพูดกลบเกลื่อน ชักเรื่องไปนอกทางเสีย
แสดงความโกรธเคืองและความไม่ยำเกรงให้ปรากฏ  ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค
ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป จงกำจัด
บุคคลนั้นออกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนชนิดนี้ต้องขับออก เป็นลูกนอกคอก
กวนใจกระไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การ
ถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และ
จีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา
แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่าง
นี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จัก
อย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าภิกษุนี้
อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย

กรัณฑวสูตร
//84000.org/tipitaka/read/?23/100
-----------------------------------------------


3.3.พระพุทธองค์ทรงกำราบข่มขี่คนคะนองวาจาท้าทาย
ให้คลายพยศ ยอมรับคำสอนจนปราวณาตนเป็นอุบาสกในพระธรรมวินัย

[๓๙๙] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหา
แก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่า
นั้น มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออก
เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอันเรา
ซักไซ้ไล่เลียง สอบสวน ในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้
ในที่ประชุมชน ในเมืองเวสาลีว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น
คณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา
จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียว
เลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็
ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ
หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อใน
กายของเราในเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกาย มีพระฉวีดังทอง ใน
บริษัทนั้น. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก
ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ.
//84000.org/tipitaka/read/?12/392-404
-----------------------------------


3.4.

            เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากัน
นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ท่านอนาถบิณฑิก-
*คฤหบดีทราบปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา
โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลถึงเรื่องที่
สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทุกประการ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษ
เหล่านั้นให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้
อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจาก
ที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อท่านอนาถ-
*บิณฑิกคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุใดแลเป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัยตลอดกาลนาน ภิกษุ
แม้นั้นพึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบ
ธรรมอย่างนี้ เหมือนท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น ฯ

ทิฏฐิสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=4240&Z=4344


จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 19 มี.ค. 53 23:40:34






4)  เจตนาดีก็ต้องสนใจ ว่าควรกล่าวกะใครเมื่อใด ไม่ใช่พร่ำเพรื่อ
________________________________________________

4.1.

ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
ด้วย ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่งตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบ
ด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น


ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่ จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็น ที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น
ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์ วาจานั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.

อภัยราชกุมารสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=1607
---------------------------------------

4.2.  ข้อนี้ขอสรุปรวดรัดว่า เรื่องของเรื่องคือ
อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวธรรมบทให้ราชาฟัง ได้รางวัลมากมาย
ต่อมาไปกล่าวธรรมบทเดียวกันนั้นเป็นค่าจ้างให้คนแจวเรือฟัง
กลับโดนซ้อมแทบตาย เพราะคนแจวเรือฟังไม่เข้าใจ
และอยากได้ตังส์เป็นค่าจ้างแทน : )


             บทว่า มิโคว ชาตรูเปน มีอธิบายว่า เนื้อเหยียบย่ำทองเงินหรือแก้วมุกดา แก้วมณีเป็นต้น ไปบ้าง นอนทับบ้าง ไม่สามารถจะใช้ทองคำนั้น เพิ่มพูน คือให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้ฉันใด คนอันธพาลนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงฟังโอวาทที่บัณฑิตให้แล้ว ก็ไม่สามารถเพิ่มพูน คือให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้.

อรรถกถา อาวาริยชาดก
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=831
----------------------------------

4.3.อันนี้บอกว่า จะแสดงธรรมควรดูว่ามีประโยชน์ไหม
ถ้ากล่าวแล้ว คนพูดเองหรือคนฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หรือทั้งสองฝ่ายล้วนได้ประโยชน์ อย่างนั้นควรแสดง


            [๔๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๓
ประการ ควรอย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ อำนาจประโยชน์ ๓ ประการ
เป็นไฉน คือ ผู้แสดงธรรมรู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑ ผู้ฟังธรรมรู้แจ้ง
อรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑ ผู้แสดงธรรมและผู้ที่ฟังธรรมทั้งสองฝ่าย รู้แจ้ง
อรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจ
ประโยชน์ ๓ ประการนี้แล ควรอย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ ฯ

ปัจจยวัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3916&Z=3922&pagebreak=0
------------------------------------


4.4. ในลิงค์ กล่าวถึงบุคคลหลายๆ แบบที่ไม่ควรเสียเวลาพูดด้วย
เพราะเปล่าประโยชน์


พึงทราบบุคคลว่า มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็
ด้วยประชุมสนทนากัน ผู้ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสต
ลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง
ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง
กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะ
ถูกต้องวิมุตติโดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การ
ปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลง
ฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ฯ

กถาวัตถุ
//www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=5215&Z=5267

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 19 มี.ค. 53 23:57:05







5)  ศีลข้อผรุสวาทสำคัญ เพราะเป็นสัมมาวาจา หนึ่งในองค์อริยมรรค
_____________________________________

5.1.

            [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.

วิภังคสูตร อริยมรรค ๘
//www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=174&Z=210
---------------------------------------

5.2.

[241] ศีล 8 ทั้งอาชีวะ หรือ อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลมีอาชีวะเป็นคำรบ 8, หลักความประพฤติรวมทั้งอาชีวะที่บริสุทธิ์ด้วยเป็นข้อที่ 8 - virtue having livelihood as eight; the set of eight precepts of which pure livelihood is the eighth)
     1. - 7. ตรงกับ กุศลกรรมบถ 7 ข้อต้น (กายกรรม 3 วจีกรรม 4)
     8. สัมมาอาชีวะ

     อาชีวัฏฐมกศีลนี้ เป็นศีลส่วนอาทิพรหมจรรย์ คือ เป็นหลักความประพฤติเบื้องต้นของพรหมจรรย์ กล่าวคือ มรรค เป็นสิ่งที่ต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ในขั้นต้นของการดำเนินตามอริยอัฏฐังคิก มรรค

     ว่าโดยสาระ อาชีวัฏฐมกศีล ก็คือ องค์มรรค 3 ข้อ ในหมวดศีล คือข้อที่ 3, 4, 5 ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นั่นเอง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ศีล_8_ ทั้งอาชีวะ
----------------------------------------

5.3.

สิกขา คือ อภิสมาจาร เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว สิกขา คือ อภิสมาจารเราบัญญัติแล้ว
แก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่
เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด
ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ด้วยประการนั้นๆ


            อีกประการหนึ่ง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวก
ทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง สิกขาอันเป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดย
ประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด
ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วย
ประการนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างนี้แล ฯ

อาปัตติภยวรรคที่ ๕
//www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=6387&Z=6568

จากคุณ : เนตหลุด - -" (ปล่อย)
เขียนเมื่อ : 20 มี.ค. 53 00:30:26






6)  ศีลมีแง่ละแง่สร้าง ทำให้ครบทั้งสองข้าง จึงนับว่าบริบูรณ์
_________________________________________

6.1. ไม่ใช่แค่ละคำหยาบ  ยังมีสิ่งควรทำต่อท้ายด้วย


ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ
เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ.
//www.84000.org/tipitaka/read/?9/4


6.2.
คำที่ไม่มีโทษ  ท่านเปรียบด้วย ราชรถไม่มีโทษคลุมด้วยสีขาว.  (?)
เพราะหู          หมายถึง สำเนียงถ้อยเสียงรื่นหู ไม่กระโชกโฮกฮากหรือเสียดหู
ชวนให้รัก       หมายถึง เนื้อความไพเราะ ไม่ก่อความโกรธ
จับใจ             หมายถึง ถ้อยคำ (จึง) เข้าไปถึงจิตใจคนฟังได้ ไม่ติดขัด
เป็นของชาวเมือง  หมายถึง  เป็นภาษาที่คนหมู่มากในสังคมนั้นๆ พอใจ เป็นต้น



              บทว่า เนลา โทษ ท่านเรียกว่า เอลา. ชื่อว่าเนลา เพราะวาจาไม่มีโทษ. ดุจคำว่า เนล ที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท ราชรถไม่มีโทษคลุมด้วยสีขาว.
              บทว่า กณฺณสุขา ไพเราะหู คือวาจาเป็นสุขแก่หู เพราะไพเราะด้วยพยัญชนะ ไม่ทำให้เกิดเสียดแทงหูดุจแทงด้วยเข็ม.
              วาจาชื่อว่า เปมนียา เพราะมิให้เกิดความโกรธแล้ว ให้เกิดความรักในสกลกาย เพราะไพเราะด้วยอรรถ.
              วาจาชื่อว่า หทยงฺคมา เพราะหยั่งลงถึงหทัย เข้าไปถึงจิตได้โดยง่ายไม่ติดขัด.
              วาจาชื่อว่า โปรี เพราะเป็นถ้อยคำของชาวเมืองบริบูรณ์ด้วยคุณธรรม. เพราะเป็นถ้อยคำดีดุจนารีเจริญแล้วในเมือง. เพราะเป็นถ้อยคำของชาวเมือง.
              จริงอยู่ ชาวเมืองย่อมเป็นผู้กล่าวถ้อยคำเหมาะสม กล่าวกะคนปูนพ่อว่าพ่อ คนปูนพี่ว่าพี่.
              วาจาชื่อว่า พหุชนกนฺตา เพราะถ้อยคำเห็นปานนั้น ชนหมู่มากพอใจ.
              ชื่อว่า พหุชนมนาปา เพราะชนหมู่มากชอบใจ ทำความเจริญแก่ใจด้วยความเป็นผู้พอใจ.

อรรถกถาสารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖            
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=881&p=1#คาถาที่_๗
-----------------------------


6.3

( บางส่วน )

ดูกรอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรม
แก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดง

ธรรมแก่ผู้อื่น ๕ ประการเป็นไฉน คือ

     ภิกษุพึงตั้งใจว่า เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑

     เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑

     เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑

     เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑

     เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑

     แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดูกรอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
ไม่ใช่ทำ ได้ง่าย

อุทายิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4301&Z=4316

จากคุณ : ปล่อย
เขียนเมื่อ : 20 มี.ค. 53 00:42:56






.หมายเหตุ

ก้อปและตัดแต่ง มาจากกระทู้ ผรุสวาทา เวรมณี



Create Date : 07 พฤษภาคม 2555
Last Update : 7 พฤษภาคม 2555 23:50:38 น.
Counter : 1537 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
พฤษภาคม 2555

 
 
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog