Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

[หนังสือเล่มอื่น]




ไอน์สไตน์พบ
พระพุทธเจ้าเห็น

ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์
บางสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาก่อนแล้วนับพันปี

(จากปกหน้า)





ก่อนอื่น ข้าพเจ้าคงต้องขอชี้แจง ไว้เสียตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี มีความน่าสนใจในแง่ของ มุมมอง รูปแบบ และ วิธีการนำเสนอ ดังนั้นสหายไม่ต้องลังเลเลยที่จะหามาอ่าน แต่ที่ต้องขึ้นต้นไว้เช่นนี้ก็เพื่อกันความคิดเห็นของบางท่าน ที่อาจจะก่นด่าข้าพเจ้าก่อนจะ (ทน) อ่านสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน เพื่อสาธยายอคติและข้อกังขาบางอย่างได้จนจบ

เรื่องมีอยู่ว่า สหายท่านหนึ่งที่เพิ่งรู้จักกันผ่านโลกออนไลน์ ได้แนะนำให้ข้าพเจ้าหาหนังสือขายดีเล่มหนึ่งเรื่อง “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” ของทันตแพทย์สม สุจีรา มาลองอ่าน แล้วค่อยสนทนากันว่าจะคิดเห็นอย่างไรบ้าง

หลังจากที่อ่านจบ ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระ และ ที่เกี่ยวกับ “ความเป็นหนังสือ” ของหนังสือเล่มนี้ มีทั้งความเห็นที่คล้อยตาม และ ความเห็นที่ขัดแย้ง จนต้องตั้ง ข้อกังขา ต่อการอ้างเหตุผลบางอย่างของผู้เขียน ซึ่งข้าพเจ้าได้บันทึกเอาไว้ แล้วส่งไปให้สหายท่านนั้นอ่าน

บังเอิญว่าเขียนยาวไปหน่อย ข้าพเจ้าก็เลยนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วย



เนื่องจากข้าพเจ้าอาจจะแสดงความกังขาไว้ค่อนข้างมาก แต่ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดี พิมพ์ซ้ำมาหลายครั้งแล้ว มีการแนะนำกันปากต่อปาก และ มีการแสดงความชื่นชมตาม webboard ต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นความเห็นที่หนักไปทางการแสดงอคติของข้าพเจ้าเหล่านี้ คงจะไม่ส่งผลแรงมากพอที่จะกระทบความน่าเชื่อถือของหนังสือและผู้เขียนไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว น่าจะไม่กระทบกระเทือนต่อคุณค่าของหนังสือเลย

เพียงแต่ไม่มีสิ่งไหนที่สมบูรณ์โดยไม่มีที่ติ หรือจะไม่สามารถมีข้อให้กังขาได้ ข้าพเจ้าคิดว่า การมองสิ่งหนึ่งว่ามีแต่ด้านดีนั้น ย่อมมิสู้การรับฟังอีกด้านหนึ่งไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่สุดโต่งเกินไป จนผิดหลักทางสายกลาง

ยืนยันซ้ำอีกทีว่า หนังสือ “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” เล่มนี้ ถือเป็นหนังสือที่ดี อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนนี้อาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมากกว่าผู้ที่ยังมิได้อ่าน อนึ่ง แม้ว่าสหายจะอ่านสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนก่อน ก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสในการอ่านหนังสือเล่มนี้ไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความรู้สึกของข้าพเจ้า ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่งเท่านั้น







"ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" เป็นหนังสือธรรมะประยุกต์ ที่นำเอาฟิสิกส์ทฤษฎีมาเขียนร่วมกับอภิธรรมในพุทธศาสนา โดยผู้เขียนพยายามวิเคราะห์ นำเอาฟิสิกส์และอภิธรรมมาอธิบายกันและกัน เพื่อเสริมความเข้าใจของผู้อ่านให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งในแง่เนื้อหาและลำดับการนำเสนอนั้น ถือว่าผู้เขียนทำได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ข้าพเจ้ามองว่ามีบางประเด็นที่ ข้าพเจ้ามองว่าเป็นจุดอ่อน และถ้าผู้เขียนแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ ก็น่าจะทำให้หนังสือมีความสมบูรณ์มากกว่านี้



ประเด็นหลักและแก่นสาระที่ถูกยกมาเป็นอรรถบท (Theme) ของหนังสือ

ผู้เขียนได้เขียนย้ำประเด็นหลักอันหนึ่ง ตั้งแต่คำนำจนจบเล่ม ในทำนองที่ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรง “เห็น” หรือตรัสรู้สัจธรรมต่าง ๆ มานานกว่าสองพันปีแล้ว โดยที่นักวิทยาศาสตร์ (ส่วนใหญ่) ไม่ยอมแม้แต่จะสนใจมาศึกษาสิ่งที่พระองค์ทรงสอน (และมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก) เลย

ซึ่งในจุดนี้ ข้าพเจ้า (ในฐานะผู้อ่านหนังสือ) รู้สึกค่อนข้างเบื่อ เพราะเขียนย้ำบ่อยเกินไป (แต่ผู้อ่านท่านอื่นอาจจะไม่รู้สึก) จนเกือบจะเหมือนเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนมากขนาดนี้ก็ได้

การพยายามเน้นว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมสนใจพุทธวจนะ แปลว่าผู้เขียนมีเหตุผลพอที่จะบอกว่า เมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักฟิสิกส์แล้ว เค้าคนนั้นจะต้องศึกษาพุทธศาสนา โดยไม่ได้สนใจว่าพวกเขามีโอกาสเข้าถึงพุทธศาสนาหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเป็นบริบทในอดีต และถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว การที่บอกว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สนใจหลักคำสอนในอภิธรรมของศาสนาพุทธนั้น มันจะมีน้ำหนัก หรือจะมีประเด็นอะไรแตกต่างจาก การที่ปุถุชนคนธรรมดาในสาขาอาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักวิทยาศาตร์ แล้วไม่สนใจหลักคำสอนอภิธรรมนั้นด้วยหรือ

การที่คน ๆ หนึ่งจะไปศึกษาคำสอน หรือ ความรู้อื่น นอกเหนือจากสาขาหรือแวดวงที่ตัวเองทำการศึกษาหรือเกี่ยวข้องอยู่นั้น ต้องอาศัยความสนใจเป็นพิเศษ หรือ ต้องมีเวลาเพียงพอที่จะทำเช่นนั้น นอกจากนี้ยังขึ้นกับปัจจัยภายนอกอีกด้วย เช่น มีการแปลหนังหนังสือเป็นภาษาที่เขาเหล่านั้นจะเข้าใจได้ สามารถหาผู้ที่มีความรู้เพียงพอที่จะอธิบายและถ่ายทอดให้แค่เขาได้

บริบทของหนังสือ ที่ได้กล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์นั้น แม้จะเป็นการกล่าวทั่ว ๆ ไป แต่เนื่องจากก่อนที่ไอน์สไตน์จะค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ล้วนแล้วแต่มาจากซีกโลกตะวันตกทั้งสิ้น ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ ดูเหมือนจะพยายามสื่อว่า เพราะนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกไม่ยอมสนใจองค์ความรู้ทางซีกโลกตะวันออก จึงทำให้ วงการวิทยาศาสตร์เสียโอกาสที่จะพัฒนาองค์ความรู้ไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ มิฉะนั้นก็อาจจะพัฒนาเทคนิค การเคลื่อนย้ายมวลสาร การเหาะเหินเดินอากาศ การเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการหายตัว โดยประยุกต์ใช้ความรู้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ได้นานแล้ว (ตามความเห็นของผู้เขียน)



ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นการให้เหตุผลที่ไม่น่าจะถูกต้องไปทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกในสมัยกว่าร้อยปีมาแล้วนั้น มีโอกาสที่จะสัมผัสคำสอนทางอภิธรรมในพุทธศาสนาน้อยมาก นอกเสียจากจะมีโอกาสไปอ่านพบเข้าโดยบังเอิญ เพราะพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศที่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในตอนนั้น และยังอาจมีปัญหาในเรื่องการตีความหมายด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า การแปลข้อความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งนั้น ไม่สามารถเก็บใจความครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด และยังมีโอกาสทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปคนละประเด็นเลยก็ได้ นี่ยังไม่นับว่าอาจจะมีการแปลจากหลายสำนัก หลายสำนวน ทำให้สื่อความหมายกันลำบาก

นั่นก็เป็นบริบทของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกสมัยกว่าร้อยปีที่แล้ว (เพราะผู้เขียนแสดงความเสียดายว่า ไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะท่านอื่น น่าจะพบพุทธศาสนาเร็วกว่านี้) แต่ถ้าเรามาพิจารณาถึง คนไทย ณ พ.ศ. ปัจจุบัน ที่สนใจพุทธศาสนาแต่เพียงผิวเผิน มุ่งบูชาแต่ ไสยาศาสตร์ เดรัจฉานวิชา และแทบไม่ใส่ใจเรื่องอภิธรรมเลยนั้น เราจะโทษแต่ประชาชนเท่านั้น โดยไม่มองว่าหน่วยงานต่าง ๆ (เช่น องค์กรทางศาสนาต่าง ๆ รวมถึงนักบวช) ว่าจะมีส่วนทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ด้วยอย่างนั้นหรือ

สรุปแล้ว ในประเด็นเรื่องนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกไม่สนใจพุทธศาสนา โดยโทษนักวิทยาศาสตร์แต่ฝ่ายเดียวนั้น ข้าพเจ้ามองว่า ถ้าไม่พิจารณาประเด็นอื่น ๆ ร่วมด้วยแล้ว ย่อมฟังไม่ขึ้น



ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาด้านฟิสิกส์

เวลาอ่านหนังสือสักเล่ม ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้อ่านมีสิทธิ์สงสัยในความถูกต้องของหนังสือ ซึ่งเราในฐานะผู้อ่านก็จะมีวิธีทดสอบต่าง ๆ กัน เช่น การทดสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ยินได้ทราบมาก่อน ในบางประเด็นที่มีการกล่าวตำรา ก็อาจจะต้องไปเปิดตำราเล่มต่าง ๆ เทียบเคียงกันด้วย หากไม่เคยได้ยิน หรือ หาตำราไม่ได้ บางครั้งเราก็อาจจะต้องใช้เหตุผล เอาตรรกะเข้าขบคิด พิจารณาถึงความสมเหตุสมผล หรือถ้ายังคิดไม่ออกอีก ก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของผู้เขียนด้วย ว่าน่าจะมีความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งที่กำลังนำเสนอหรือไม่

จากข้อมูลที่ให้ไว้ในหนังสือ ผู้เขียนมีวิชาชีพหลักเป็นทันตแพทย์ ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตวิทยาในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัย ต่อมาจึงศึกษาธรรมปฎิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน กับอาจารย์หลายท่าน และศึกษาภูมิปัญญาตะวันออก รวมถึงตำรับตำราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง

หลังจากอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนจบหน้าสุดท้ายแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้แต่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคำสอนในพุทธศาสนาระดับอภิธรรม และอภิปรัชญา ได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องของฟิสิกส์ทฤษฎีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น ผู้เขียนไม่อาจทำให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่ามีความเข้าใจในเรื่องนี้จริง

เนื่องจากผู้เขียนศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง ผ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นเพื่อประชาชนคนทั่วไป และข้าพเจ้าเดาว่า ผู้เขียนไม่น่าที่จะได้ศึกษาฟิสิกส์อย่างจริงจังจากผู้รู้ทางฟิสิกส์ เกินไปกว่าระดับปีหนึ่งของมหาวิทยาลัย ดังนั้นความน่าเชื่อถือในการอธิบายทฤษฎีเหล่านี้ จึงลดลงไปค่อนข้างมาก (สำหรับข้าพเจ้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการหยิบยกเอาตัวเลขมาแสดงตัวอย่างการยืดหดของเวลา และ ระยะทาง ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น ข้าพเจ้าก็ยิ่งไม่อาจเชื่อได้ว่าตัวเลขจะเป็นแบบนั้น เพราะอาจจะคำนวณผิดก็ได้ และถึงแม้จะคำนวณถูกแล้ว เนื่องจากไม่มีการแสดงให้ดูที่มาที่ไป ข้าพเจ้าในฐานะผู้อ่านย่อมต้องเกิดความสงสัยอยู่ดี เพราะผู้เขียนไม่น่าจะมีความเชี่ยวชาญในส่วนนี้

นี่มิใช่ประเด็นความสามารถในการทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหา แต่เป็นประเด็นความน่าเชื่อถือ และ ความถูกต้อง ของสิ่งทีนำเสนอ



สำหรับการเขียนเพื่อให้เข้าใจนั้น ถือได้ว่าผู้เขียนนำเสนอได้ดีพอสมควร เพียงแต่เนื้อหาค่อนข้างวกวนในบางเรื่อง และหลายส่วนเป็นเพียงความเห็นและการคาดคะเน โดยไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นมารับรองความเห็นนั้น และแม้จะมีผู้รู้ที่เห็นด้วย ก็ไม่ได้แสดงชัดเจนว่าเป็นใคร หรือ นำมาจากหนังสือเล่มไหนกันแน่ (เพราะใช้วิธีเขียนรวม ๆ หนังสือเล่มต่าง ๆ ไว้ที่บรรณานุกรมท้ายเล่ม)

ผู้เขียนพยายามอธิบายเรื่องเวลาสัมพัทธ์ ณ จุดต่าง ๆ รวมถึง เวลาในสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน เช่น เต่า สุนัข ซึ่งมีเมตตาบอลิซึ่มต่างกัน ว่าจะมีเวลาภายในที่เดินช้าเร็วต่างกัน ซึ่งผู้เขียนอาจจะมีความเข้าใจในหลักการกว้าง ๆ อยู่จริงก็ได้ เพียงแต่ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ “ภาษา” ในการอธิบายสิ่งที่เป็นอภิธรรม ในหลายตอนข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้เขียนอธิบายได้ค่อนข้างสับสน กลับไปกลับมา ในบทเดียวกันมีการกล่าวทั้ง แสงความเร็วคงที่ แสงความเร็วช้าลง มีการใช้คำว่า เวลาเร็ว เวลาช้า ซึ่งอ่าน ๆ ดูแล้วเข้าใจได้ยากในบริบทของภาษา

อันที่จริงมีวิธีอื่นในการอธิบายให้เข้าใจ เช่น การใช้รูปภาพประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ผู้เขียนเน้น และ เขียนถึงบ่อยมาก คือ เรื่องเวลาสัมพัทธ์ เช่น การอธิบายว่า ทำไมองคุลีมาล จึง เดินตามพระพุทธเจ้าไม่ทัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเรื่องเวลาสัมพัทธ์นั้น ก็ ควรใช้รูปอธิบายด้วยเช่นกัน

น่าเสียดายที่มีการใช้รูปภาพประกอบเพื่ออธิบาย น้อยเกินไป

คือถ้าพิจารณาการอธิบายโดยดูความหมายตามตัวอักษร และการใช้ภาษาแล้ว อาจจะดูขัดแย้งกันเอง อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ที่จริงแล้วผู้เขียนกำลังหมายถึงอะไร เพราะผู้เขียนไม่ได้อธิบายหลายประเด็นมากนัก การอธิบายในหลายตอน ล้วนแล้วแต่พยายามอธิบายในสิ่งเดียวกัน คือ ความยืดหยุ่น และ ไม่แน่นอนของ เวลา ระยะทาง พื้นที่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนตกอยู่ในกฏไตรลักษณ์

แต่ผู้เขียนไม่ได้อธิบายในบริบทของฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์เลย



อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนี่เป็นหนังสือสำหรับประชาชนทั่วไป การอธิบายโดยอ้างอิงสูตรและตัวเลขมากเกินไปนั้น ถ้าหากเลือกใช้ไม่ถูกต้อง ก็อาจสร้างความสับสนได้มากเช่นกัน ที่จริงแล้ว Stephen Hawking เองก็เคยกล่าวในทำนองที่ว่า การเพิ่มสูตร หรือ สมการทางคณิตศาสตร์ ที่น่าสับสน ลงไปในหนังสือ อาจกระทบต่อความน่าอ่าน (และยอดขาย) ของหนังสือลงไปได้มากอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ในหนังสือเรื่อง A Brief History of Time จึงไม่ได้เน้นสูตรใดเป็นพิเศษนอกจาก E=mc2

ความแตกต่างกันก็คือ Stephen Hawking เป็นนักฟิสิกส์ผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว แม้ตามหลักกาลามสูตรจะเตือนพวกเราว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ ทำให้เราต้องฟัง อ่าน ด้วยสติ แต่ข้อเขียนจากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงของสิ่งที่เขียน ย่อมน่าเชื่อถือได้มากในแง่ความถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้อื่นมารับรอง

ซึ่งหนังสือเล่มนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิมาเขียนคำนิยมให้สามท่านด้วยกัน ท่านแรกคือ รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ท่านต่อมา ดร.สนอง วรอุไร เชี่ยวชาญด้านโรคในพืช ได้ปริญญาเอกสาขาไวรัสวิทยา สองท่านนี้ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์เลย จึงไม่สามารถรับรองความน่าเชื่อถือด้านความรู้ทางฟิสิกส์ทฤษฎีได้ ก็คงมีแต่ท่านสุดท้ายคือ ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล ที่เป็นนักฟิสิกส์ และ นักดาราศาสตร์ ที่พอจะทำให้ข้าพเจ้าเชื่อถือผู้เขียนได้บ้าง แต่ดูเหมือนว่า อาจารย์ระวี จะรับรองความรอบรู้ของผู้เขียนในด้านพุทธศาสนามากกว่าด้านฟิสิกส์ (เป็นการตีความของข้าพเจ้าเอง หลังจากอ่านคำนิยมของท่าน)



ถ้าหากว่าผู้เขียนเลือกที่จะเขียนหนังสือ “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” โดยเน้นที่พุทธธรรมมากกว่าฟิสิกส์ทฤษฎี คือนำทฤษฎีทางฟิสิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีสัมพัทธภาพมากล่าวประกอบ หรือ ยกตัวอย่างเพื่อเทียบเคียงกับหลักพุทธธรรมเพียงเท่านั้น โดยไม่ได้เน้นหนักที่จะอธิบายทฤษฎีเหล่านี้ด้วยตัวเอง ข้าพเจ้าคงจะยอมรับ และไม่เกิดความรู้สึกกังขามากนัก

ที่จริงแล้ว ผู้เขียนน่าที่จะเชิญ นักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญสักท่าน มาเป็นผู้เขียนร่วม หรือ เชิญให้มาอ่านตรวจทาน และเขียนรับรองความถูกต้องของเนื้อหา (นอกเหนือไปจากคำนิยมที่ได้รับ) ก็จะทำให้การอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพที่อยู่ในหนังสือ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้อ่านไม่ควรคัดลอกเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไป เพื่อการอ้างอิงทางวิชาการ โดยไม่มีการตรวจสอบเสียก่อน หากแต่สามารถอ่านเพื่อให้ได้เป็นการจุดเทียนแห่งความรู้ว่า อภิธรรมของพุทธศาสนานั้น มีความใกล้เคียงกับฟิสิกส์ทฤษฎีอย่างมาก และมีความลึกซึ้งกว่าหลายเท่าอีกด้วย เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าต่อไป



สิ่งที่บันทึกไว้ในเอกสาร และ การอ้างอิง

หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมไว้ 14 เล่ม และ อ้างอิงหนังสือในบรรณานุกรมไว้มากถึง 42 เล่ม แสดงว่าผู้เขียนได้ศึกษาหนังสือต่าง ๆ มากมาย ก่อนจะกลั่นกรองเนื้อหา และเรียบเรียง มาเป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจเล่มนี้ โดยตั้งประเด็นหลักของหนังสือว่า สิ่งที่ไอน์สไตน์พบนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมาก่อนแล้ว

สิ่งที่ไอน์สไตน์พบนั้น เราสามารถหาได้จากเอกสารทางวิชาการ และ หนังสือทางฟิสิกส์หลายเล่ม ส่วนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าจะแบ่งอย่างง่าย ๆ ก็จะได้ว่า สิ่งที่พระองค์ทรงเน้นสอนเพื่อให้ศาสนิกชนรู้แจ้งเพื่อดับทุกข์ กับสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงเน้น และไม่ได้สอน เพราะไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์

ธรรมะเพื่อการดับทุกข์นั้น เปรียบเสมือน “ใบไม้ในกำมือ” เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรง “เห็น” ทั้งหมด ซึ่งเปรียบได้กับ “ใบไม้ทั้งป่า”

ประเด็นคือ สิ่งที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกนั้น ย่อมต้องมี “ใบไม้ในกำมือ” ไว้ทั้งหมด แต่ใบไม้ที่เหลือในป่านั้น จะมีสักกี่ใบที่ถูกบันทึกเอาไว้ด้วย แล้วสิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาเป็นหลักฐานเพื่อบอกว่า พระพุทธองค์ทรง "เห็น" มาก่อนแล้วนั้น เป็นใบไม้ในส่วนไหน ถ้าหากเป็นใบไม้ที่อยู่ในพระไตรปิฏก ผู้เขียนควรมีการเทียบเคียงให้ชัดเจนว่า นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกไว้แบบนี้ และ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้แล้วแบบนี้ โดยมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกไว้ว่าอย่างนี้ เป็นต้น

เนื่องจากข้าพเจ้ายังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนครบ 84,000 พระธรรมขันธ์ จึงไม่อาจทราบได้ว่า มีการบันทึกไว้โดยตรงเพี่อนำมาเทียบเคียงได้เพียงใด แต่ที่แน่ ๆ ใบไม้ในกำมือ ที่พระพุทธองค์ทรงเน้น และ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป คือ อริยสัจสี่ กฎไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา เป็นต้น ธรรมเหล่านี้สามารถตีความ และ ประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง

สิ่งที่หนังสือพยายามบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นมาก่อนแล้ว เช่น การที่เวลาไม่มีอยู่จริง การยืดหดของเวลา การสัมพัทธ์ของเวลา ณ จุดต่าง ๆ นั้น คือ การตีความธรรมเหล่านี้โดยผู้เขียน หรือ เป็นการล่วงรู้ได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นจริง ถ้าเป็นอย่างแรก ก็แสดงว่า เป็นเพียงความเข้าใจของผู้เขียนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอย่างหลัง ผู้เขียนจะล่วงรู้ได้อย่างไร หรือจะเป็นการอนุมานเอาว่า ถ้าผู้เขียนเคยเห็นแบบนี้ในระหว่างการปฏิบัติธรรม อาจารย์ผู้ที่เคยปฏิบัติมาก่อนก็เห็นแบบนี้ พระพุทธองค์ก็น่าจะทรงเห็นมาก่อนเหมือนกัน เช่นนั้นหรือเปล่า (ในส่วนนี้ข้าพเจ้าพยายามคาดเดาความคิดของผู้เขียน เพราะผู้เขียนไม่ได้บอกมาตรง ๆ)



ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นไปได้ที่พระองค์จะทรงทราบเรื่องเหล่านี้ด้วยญาณ แต่ข้าพเจ้าคงไม่มั่นใจพอจะไปบอกต่อกับคนอื่นถ้าข้าพเจ้าไม่มีหลักฐาน หรือประจักษ์ด้วยตนเอง และในส่วนที่ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีหลักฐานที่จะไปรับรอง หรือ คัดค้าน ผู้เขียนในเรื่องนี้เช่นกัน

กล่าวคือ ผู้เขียนทราบได้อย่างไร หรือ หาหลักฐานมาจากไหน จึงได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นอะไร ผู้เขียนตีความเอาเอง หรือ ทราบได้ด้วยญาณของผู้เขียน ข้าพเจ้ามิอาจทราบได้

เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจจะนอกเหนือการรับรู้ตามธรรมดาสามัญ และอยู่เหนือจินตนาการ ข้าพเจ้าจึงมิอาจวิจารณ์ผู้เขียนในประเด็นทางอภิธรรมได้ หากแต่มีความต้องการในฐานะผู้อ่านว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ควรแจ้งไว้ในหนังสือให้ชัดเจนกว่านี้ว่า ธรรมดังกล่าว มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าต่อ ซึ่งผู้เขียนได้ให้ไว้เพียงบางประเด็นเท่านั้น และไม่ละเอียดพอที่จะไปสืบค้นต่อได้โดยง่าย

และสิ่งที่อ้างอิงในทางวิทยาศาสตร์ ก็ควรมีการอ้างอิงอย่างละเอียดมากกว่านี้เช่นกัน แต่เพราะนี่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ ดังนั้นจึงพออนุโลมได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าทำได้ก็จะดีมาก



สุดท้าย

ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการดี ที่จะได้มีการศึกษา เปรียบเทียบ พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ โดยให้มีการนำมาอธิบายซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะพูดรวม ๆ ว่า วิทยาศาสตร์นั้นให้คำตอบหรือความสุขกับชีวิตไม่ได้ หรือ พูดรวม ๆ ว่า ในที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ก็จะพบว่าแต่ความว่างเปล่า ไม่ต่างจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้

เพราะอันที่จริงแล้วมันเป็นคนละส่วนกัน



สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาความจริงแท้จากสมการตัวเลข รวมถึงการทดลองต่าง ๆ เพื่อไขความลับจักรวาลนั้น เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ซึ่งในที่สุดส่วนนี้ ก็คงจะได้ข้อสรุปไม่ต่างจากพุทธพจน์ แต่วิทยาศาสตร์ที่เราจับต้องได้ในชีวิตประจำวันนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งจริงอยู่ว่า ได้มีการพัฒนาเพื่อกระตุ้นผัสสะ อายตนะ สนองตัณหา จนเกิดความลุ่มหลง เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน

แต่นั่นจะไปโทษวิทยาศาสตร์ประยุกต์ก็ไม่ได้

เป็นเพราะการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เกินความพอดี ร่วมกับความโลภ โกรธ หลง โดยไม่มีการวางแผนการใช้อย่างมีสติต่างหาก ที่ทำให้เกิดความทุกข์ และ ความหายนะตามมา

แม้อรรถบท (Theme) ของหนังสือเล่มนี้ จะยกการเปรียบเทียบพุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ ในแง่ความเหมือนกันน ระหว่าง คำสอนระดับอภิธรรม กับ ฟิสิกส์ทฤษฎี ซึ่งในตอนแรก ๆ ดูจะเน้นทางฟิสิกส์ค่อนข้างมาก ตอนกลาง ๆ จึงจะเริ่มให้น้ำหนักพอ ๆ กัน แต่ในตอนจบก็เน้นสรุปไปในทางศาสนาว่า เป้าหมายปลายทางของเราก็คือ มรรคผลนิพพาน

ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดไปไม่ได้ว่า บางครั้ง วิทยาศาสตร์เอง ก็อาจจะอยู่ในสถานะ เป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้ คือ เป็นกลอุบายที่จะทำให้ผู้คนที่กำลังศรัทธาใน (ลัทธิ) วิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ได้หันกลับมามองศาสนากันมากขึ้น ซึ่งจะสำเร็จลงได้ ถ้าหากผู้เผยแผ่เหล่านั้น สามารถประยุกต์ หรือ ปรับวิธีนำเสนอคำสอนให้เข้ากับวัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า เราอาจจะใช้ฟิสิกส์ทฤษฎีมาเป็นอุบาย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงความลึกล้ำทางพุทธศาสนาได้ โดยผ่านการอธิบายกันและกันตามบริบทของทั้งสองมิติ ดังเช่นผู้เขียนได้แสดงเป็นตัวอย่าง แต่พุทธศาสนาก็คือพุทธศาสนา ฟิสิกส์ทฤษฎีก็คือฟิสิกส์ทฤษฏี เราไม่ควรเอาสิ่งเหล่านี้มาปะปนให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสิ่งที่วิทยาศาสตร์ (อธิบายได้) เหล่านี้พยายามจะมาเทียบเคียงและอธิบายนั้น เป็น "อจินไตย" ในศาสนาพุทธ มิใช่หรือ

ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจินตนาการตามเหตุผล ไม่ควรคิดเอาตามตรรกะ แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรม โดยเป็นการรับรู้เฉพาะตน

ซึ่งไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจได้







อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งคริสตศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่เขาค้นพบสร้างปรากฏการณ์คลื่นลูกที่สาม ก่อให้เกิดคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์และวงการต่าง ๆ มากมาย

“ไอน์สเตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” นำเสนอสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบ และเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีบางส่วนสอดคล้องกับสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สิ่งที่เร็วกว่าความเร็วแสงมีอยู่ การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ใจคน ระลึกชาติได้ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ หนังสือเล่มนี้จะช่วยเปิดมุมมองด้านพุทธศาสนา ด้วยคำตอบทางวิทยาศาสตร์อย่างที่คุณเองก็คาดไม่ถึง


ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ปรารถนาจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธธรรม จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการอ่านใครครวญ ประเด็นข้อมูล และการวิเคราะห์อย่างละเอียด
ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล

ในท่ามกลางสังคมแห่งความหลงที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องชี้นำทางให้กับชีวิต ได้มีต้นไม้ใหญ่ทางปัญญาปรากฏขึ้นอีกหนึ่งต้นกำลังทอแสงแห่งการรู้แจ้ง ทันตแพทย์สมเปรียบได้กับต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น
ดร.สนอง วรอุไร

หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้อย่างมหาศาลทั้งในด้านแนวคิดและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนาพุทธ เขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายแต่ลึกซึ้ง
รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

(จากปกหลัง)






ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น
เขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา
ชุดธรรมะวิทยาศาสตร์ลำดับที่ 1
พิมพ์ครั้งแรก : สำนักพิมพ์อมรินทร์ มีนาคม 2550
พิมพ์ครั้งที่ 22 : สำนักพิมพ์อมรินทร์ กุมภาพันธ์ 2551
www.amarinpocketbook.com
www.naiin.com
ISBN 978-974-9985-85-4
200 หน้า
175 บาท




[หนังสือเล่มอื่น]


Create Date : 17 พฤษภาคม 2551
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 13:02:06 น. 14 comments
Counter : 1606 Pageviews.

 
มีคนมาเล่าให้ฟังเรื่องความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกันครับ

แต่เดือนนี้ซื้อหนังสือมาหลายเล่มละ กะว่ารอเดือนหน้า ได้เป็นเจ้าของแน่นอน เย้ๆๆๆ

ขอบคุณนะครับ


โดย: ต้นไม้ของนายเดีย วันที่: 17 พฤษภาคม 2551 เวลา:16:13:13 น.  

 
ก็ถือว่า เล่มนี้ค่อนข้างดีครับ ไม่งั้นคงไม่ได้พิมพ์ใหม่ 22 ครั้งในเวลาไม่ถึงปีหรอกครับ

แต่ผมเขียนวิจารณ์ค่อนไปทาง "แสดงข้อกังขา" นะครับ


โดย: Plin, :-p วันที่: 17 พฤษภาคม 2551 เวลา:16:22:07 น.  

 

แวะมาส่งโปสการ์ดสวยๆ จากทริปเกาะไข่ พังงา ครับ

เกาะไข่ จ.พังงา

คลิกที่ภาพเพื่อตามมาเที่ยวเกาะไข่ในด้วยกันได้เลยนะครับ



โดย: มิสเตอร์ฮอง วันที่: 18 พฤษภาคม 2551 เวลา:1:12:28 น.  

 
แล้วเกาะไข่เนี่ย เกี่ยวอะไรกับไอน์สไตน์และพระพุทธเจ้า
เจ้าคะ มิสเตอร์ฮอง??


โดย: มะยม IP: 222.123.164.2 วันที่: 18 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:26:55 น.  

 
เวลาที่เกาะไข่ กับ เวลาที่กรุงเทพ และ เวลาที่ตะเข็บชายแดน คงมีเวลาสัมพัทธ์ไม่เท่ากันน่ะครับ


โดย: Plin, :-p ไม่ได้ login IP: 202.28.62.245 วันที่: 18 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:33:15 น.  

 
ดองอยู่บนชั้นนานแล้วค่ะเล่มนี้


โดย: BeCoffee วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:00:48 น.  

 
ข้อกังขาในประเด็นหลักและแก่นสาระที่ถูกยกมาเป็นอรรถบท (Theme) ของหนังสือ เราเห็นด้วยนะ แต่สำหรับประเด็นอื่นๆ ขออ่านรายละเอียดในหนังสือก่อนดีฝ่า


โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:09:16 น.  

 
พอดีผมจะ serious นิดถึง

ถ้าหากว่าคนเขียนเป็นคนมีความรู้และเชี่ยวชาญในสาขาหนึ่ง ถ้าหากไปพูดเรื่องที่ตัวเองไม่น่าจะเชี่ยวชาญแล้วล่ะก็ ควรให้ reference ทีละเอียดนิดนึง

ถือเป็นการให้ความเคารพต่อความรู้ของโลกด้วย

คือ เล่มนี้เค้าก็ให้นะ แต่ว่า เค้าไม่ได้บอกว่า ตรงนี้ ย่อหน้านี้มาจากไหน จะไป check แต่ละเล่มก็ใช่เรื่อง

แต่น้องที่ทำงานคนนึงบอกว่า หนังสือเรื่อง "ทวาร 6" ของผู้เขียนคนเดียวกัน อ้างหลาย ๆ อย่างทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์โดยไม่ให้ reference เลย (ไม่ใช่ให้ไม่ละเอียด)

แต่ผมยังไม่ได้ check นะ ว่าเล่มนั้นไม่มี reference จริงหรือไม่


โดย: Plin, :-p วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:20:15 น.  

 
อืมม...หรือว่าคนเขียนเค้ากลัวว่าจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเครียดเหมือนอ่านงานวิจัยรึเปล่า

...ก็เลยข้ามๆเรื่อง Reference ไป


โดย: มะยม IP: 203.147.36.34 วันที่: 22 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:42:55 น.  

 
ก็เลยได้ข้อสรุปกับน้องคนนั้นว่า

นี่แหละ เหตุผลที่ทำให้ประเทศไม่เจริญ คือ ใครว่าอะไรมาก็เชื่อ ไม่เอะใจว่ามันจะจริงเหรอ ไม่เอะใจว่าหลักฐานมีไหม ทำเหมือนประหนึ่งเชื่อถือข่าวลือ

ไม่มีกาลามสูตร



โดย: Plin, :-p วันที่: 22 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:40:30 น.  

 



โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:16:42:39 น.  

 




หนูผิดไปแล้วค้า...คุณครู ต่อไปจะตั้งใจเรียนตั้งใจอ่าน ไม่กวนโอ๊ย คุณครูอีกแล้วจ้า....


โดย: มะยม IP: 222.123.164.2 วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:22:54 น.  

 
เขียนได้ละเอียดดีจริง
ผ่านตากับชื่อหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน
แต่ก็แปลกใจตัวเองว่าทำไมถึงไม่อยากอ่าน
ทั้งที่ชอบไอน์สไตน์แล้วก็สนใจเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่อาจเป็นเพราะว่า รู้สึกเริ่มเฉยๆกับการโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาแล้ว

ด้วยความที่ฉันอ่านหลักคำสอนในศาสนาพุทธผ่านทางงานของพุทธทาส
ฉันก็ตระหนักได้จากคำสอนนั้นๆว่า เข้ากับความจริงของธรรมชาติ ก็เช่นเดียวกับที่วิทยาศาสตร์นั้นพยายามหาทฤษฎีมาอธิบายธรรมชาติ
ตามความเข้าใจฉันนั้น ทั้งสองศาสตร์ต่างก็เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ธรรมชาติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ท้องฟ้า ป่าเขา
หากหมายถึงสิ่งต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นโลกใบนี้ เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆที่ประกอบเป็นมนุษย์

ตามที่อ่านคุณ จขบ เขียนข้อกังขาของหนังสือเล่มนี้ ฉันเองคงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างไรได้ เพราะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และคาดว่าคงจะไม่ได้อ่านเป็นแน่แท้

ขอบคุณค่ะ


โดย: cottonbook วันที่: 25 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:31:14 น.  

 
อืม จะว่าไป ถ้าไม่นับว่า เป็นหนังสือ ที่กล่าวอ้างอะไรเยอะแล้วไม่ได้ให้ reference ที่สมบูรณ์แล้วล่ะก็ ที่จริงเล่มนี้ถือว่า น่าสนใจ และ ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้คนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า พุทธในระดับอภิธรรม ลึกซึ้ง ประมาณฟิสิกส์ ได้มองเห็นอะไรต่าง ๆ ได้ถูกต้องขึ้น

แล้วก็อย่างว่า คือ จะว่าไป การเอาพุทธ กับ วิทย์ มากล่าวคู่กัน ที่จริงมันชักเฝือแล้ว เพราะพูดกันเยอะจนแทบไม่เห็นประเด็นใหม่

แต่ว่า มันจะเป็นเรื่องแปลกประหลาด และน่าตื่นเต้นมาก สำหรับคนที่ไม่เคยรู้มาก่อน และนั่นก็คือความดีของหนังสือเล่มนี้ คือ ทำให้คนหันมามองพุทธอย่างถูกควรมากขึ้น

น้องคนที่วิจารณ์ทวาร 6 ให้ฟัง ก็ยังยอมรับว่า ยังไงก็ตาม น้องเค้ารู้สึกว่า หนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น มีบุญคุณกับเค้า เพราะทำให้เค้าหันมาศึกษาพระพุทธศาสนา

ปล ที่เขียนละเอียด เพราะอันนี้เป็นเล่มแรกที่มีคนแนะนำให้ช่วยเขียน review ลง blog ครับ



โดย: Plin, :-p วันที่: 25 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:52:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.