Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
14 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
บทสรุปรายงานวิชาประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น เรื่องกรณีศึกษากลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรี

ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น




ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือการเมืองภาคพลเมืองในประเทศไทยมีการพัฒนาการ และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดูเสมือนเป็นริ้วขบวนเป็น 3 ระดับ คือ การกำหนดตนเองในการพัฒนา (ชุมชนเข้มแข็ง) การร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะ (ประชาสังคม) และการตรวจสอบอำนาจรัฐ (การเมืองภาคประชาชน)



การเมืองภาคพลเมืองอยู่ 3 มิติที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก คล้ายกับเป็นตัวและเงาของกันและกัน คือ ประชาธิปไตย (ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่) ประชาสังคม (สังคมเข้มแข็ง) และธรรมาภิบาล (การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี)
หมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเป็นประชาสังคม ก็อย่าหมายเลยที่จะเห็นประชาธิปไตยที่แท้ หรือประชาธิปไตยเชิงคุณธรรม-จริยธรรม เช่นเดียวกันหากสังคมยังไม่เข้มแข็ง ความมีธรรมาภิบาลก็เกิดไม่ได้อย่างยั่งยืน



ในคราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น สยามประเทศเพิ่งผ่านการเลิกทาสมาไม่กี่ปี ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนล้าหลัง ทัศนคติและค่านิยมของสังคมทั่วไปเป็นแบบไพร่ที่คอยพึ่งพิงเจ้านายหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า สำนึกความเป็นพลเมืองหรือเสรีชนยังไม่เกิด ความเป็นประชาสังคมยังไม่มีเลย ประชาธิปไตยที่นำมาใช้จึงได้แต่เปลือกนอก อำนาจอธิปไตยที่อ้างว่าเป็นของประชาชนนั้นตกอยู่ในมือของขุนศึกและขุนนางผลัดกันไปมา โดยมีการรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิธีกรรมเลือกตั้งสลับกัน



ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาพลังภาคประชาชนและระบอบประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งถือเป็นการปลดปล่อยพลังอำนาจของทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทหารยังคงกุมอำนาจการปกครองร่วมกับนายทุนนักการเมือง จนกระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารในทางการเมืองแทบหมดไป ในขณะเดียวกันพลังภาคประชาชนโดยรวมยังอ่อนแอ ทั้งจากผลกระทบของแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่กับนักธุรกิจการเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานั้น



เมื่ออำนาจการเมืองการปกครองเป็นของเผด็จการทหาร ข้าราชการ และนายทุนนักการเมือง ในขณะที่สังคมยังอ่อนแอและอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย การส่งเสริมธรรมาภิบาลกลายเป็นประเด็นงานที่นักคิดนักวิชาการพากันรณรงค์กัน เป็นแฟชั่นตามแบบอย่างที่องค์กรระหว่างประเทศจุดประกายเอาไว้ จนถึงขณะนี้ในบ้านเรา งานพัฒนาประชาธิปไตย ประชาสังคม และธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต่างแยกกันทำเป็นส่วนๆ ขาดความเข้าใจที่เชื่อมโยง ระบบบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางไม่เปิดโอกาสในการบูรณาการได้จริง แม้ว่าจะมีความพยายามจนที่สุดแล้ว
แต่ความหวังยังไม่สิ้นเพราะที่ระดับชุมชนท้องถิ่นนั้นแตกต่าง เราพบว่าการเมืองภาคพลเมืองใน 3 ระดับ และทั้ง 3 มิติที่กล่าวข้างต้นนั้นสามารถบูรณาการได้อย่างง่ายดาย
ในระดับองค์กรชุมชนและชุมชนขนาดเล็ก งานชุมชนเข้มแข็ง งานประชาสังคม และงานการเมืองภาคประชาชน รวมทั้งงานพัฒนาประชาธิปไตย งานสร้างสังคมเข้มแข็ง และงานธรรมาภิบาลเป็นเรื่องเดียวกันเลย กล่าวคือไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไรก็จะได้ทุกเรื่องไปพร้อมกัน
สำหรับระดับท้องถิ่นหรือชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบที่ชัดเจนเราจะพบว่าพื้นที่ใดที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็ง การเมืองท้องถิ่นที่นั่นมักมีคุณภาพและมีคุณธรรม จริยธรรมดี งานพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การทุจริตคอร์รัปชั่นจะเกิดได้ยากเพราะชุมชนสามารถดูแลกันได้อย่างใกล้ชิด



กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญยิ่ง ที่ภาคประชาชน สามารถที่จะต่อต้าน คัดค้านนโนบายของรัฐบาลได้ เป็นกรณีแรก ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นแบบอย่างที่ดีของภาคการเมืองประชาชน ภาคประชาสังคม ที่จะมาร่วมกันทำการเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า แก้ไข จุดบกพร่อง เพื่อปรับปรุงแก้ไข และหาแนวทางใหม่ ร่วมกันเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น ของเราเอง ความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในด้านวิถีการดำรงชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จึงทำให้มีความสำเนียกในสิทธิของตนเองในการต่อสู้ ต่อรองกับรัฐบาลและไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของการข่มแหงรังแก มีจิตสำนึกในสิทธิชุมชนซึ่งเป็นการรวมพลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านกายภาพ และจิตวิญญาณ




pp965
รม.มสธ.รุ่น 5



Create Date : 14 กันยายน 2553
Last Update : 14 กันยายน 2553 15:42:32 น. 0 comments
Counter : 1432 Pageviews.

pitasanu
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Education is life long learning
การศึกษา เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
Friends' blogs
[Add pitasanu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.