Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 มกราคม 2554
 
All Blogs
 

วิเคราะห์ลักษณะต่างๆของสหวิทยาการทางรัฐศาสตร์

วิเคราะห์ลักษณะต่างๆของสหวิทยาการทางรัฐศาสตร์
ลักษณะวิชารัฐศาสตร์


การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ของไทยเริ่มครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อรับคัดเลือกนักเรียนเข้ามาฝึกหัดเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ ต่อมาได้มีการขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงทรงพัฒนาโรงเรียนดังกล่าวเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งภายหลังได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันผู้คนได้สนใจในเรื่องการเมืองได้เห็นความสำคัญและผลกระทบของการเมือง รวมทั้งได้เห็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อย การต่อสู้กันระหว่างชาติหรือกลุ่มต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวโยงไปถึงการเมือง เพราะการเมืองมีส่วนต่อการเกิดปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อชีวิตของคนทุกคน

ลักษณะทั่วไปของการศึกษารัฐศาสตร์

การศึกษารัฐศาสตร์เป็นความพยายามศึกษาหากฎ กฎเกณฑ์ หรือหลักการเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นกฎ หรือหลักการกว้างๆไม่ถึงกับเป็นกฎที่แม่นยำ ตายตัวเหมือนฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ชีวฟิสิกส์ หรือพฤกษศาสตร์ เรียกว่าเป็นความรู้ เพราะคำว่า “ศาสตร์” (science) ดั้งเดิมมาจากภาษาละตินว่า “scire” แปลว่า “รู้” ศาสตร์จึงหมายถึงตัวความรู้ที่เป็นระบบ เนื่องจากมนุษย์ได้พัฒนาความรู้ในสาขาต่างๆมานานนับพันปี ประเด็นที่น่าคิด คือความรู้ทางการเมืองดังกล่าวนี้พัฒนามาจนเป็นระบบได้อย่างไร และพื้นที่ตรงไหนเป็นการเมือง ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น คือ

1.การเมือง

คำว่า “การเมือง” มาจากภาษากรีก รากศัพท์การเมืองมาจากคำว่า “polis” หมายถึง “นครรัฐ” ในหนังสือ Politics ของ อริสโตเติล ที่เขียนขึ้นราว 335-332 ปีก่อนคริสต์ศักราช เริ่มต้นก็เขียนว่า “คนตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง” มีความหมายว่าการมีอยู่ของสังคมก็คือการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนนั้นหนีไม่พ้นการเมือง เหตุผล คือคนเราต้องการให้ตัวเองมีตำแหน่งในสังคม พยายามปกป้องตัวเองเพื่อให้เกิดความมั่นคง ขณะเดียวกันก็พยายามมีอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางการเมือง ตามความหมายกว้างๆ อริสโตเติล สรุปไว้ว่า วิธีที่คนจะได้ใช้ความสามารถและบรรลุรูปแบบของชีวิตทางสังคมสูงสุด ได้แก่ การมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองกับคนอื่นโดยอาศัยแบบแผนที่กำหนดไว้ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและทำให้คนมุ่งต่อจุดมุ่งหมายส่วนรวม อริสโตเติลเรียกแบบแผนนี้ว่า “รัฐ” (Carlton Clymer Rodee,Totton James Anderson and Carl Quimby Christol 1976:2-4)
ช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีการเข้าใจการเมืองแคบกว่าสมัยกรีกโบราณเสียอีก เริ่มจาก ฌอง โบแดง นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “รัฐศาสตร์” สนใจเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต่อมา มองเตสกิเออร์ นักปราญช์ชาวฝรั่งเศส ยิ่งจำกัดให้เล็กลงไปอีก โดยมองว่าหน้าที่ของรัฐทุกอย่างล้วนเป็นส่วนที่อยู่ภายในสถาบัน 3 สถาบัน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีคนเข้าใจทำนองนี้ เช่น รัฐศาสตร์ควรมุ่งศึกษาสถาบันที่บัญญัติกฎหมาย สถาบันที่บังคับใช้กฎหมายและสถาบันที่ตัดสินกฎหมาย แต่การศึกษาสถาบันดังกล่าวไม่ใช่เรื่องราวของการเมืองทั้งหมด นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าสถาบันต่างๆ ไม่ได้เกิดมาด้วยตัวเองและไม่ได้ปฏิบัติงานแยกออกจากกันหรือแยกออกจากองค์การทางการเมืองอื่นในสังคม เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มกดดัน นักรัฐศาสตร์จึงสร้างแนวคิดเรื่องระบบการเมือง เพื่ออธิบายว่า การเมืองเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับทัศนคติและผลประโยชน์ของประชาชน กลุ่ม องค์การ กลไกการวิ่งเต้น รวมถึงการออกกฎหมายและนำกฎหมายไปปฏิบัติ รวมถึงการแปล ตีความกฎหมายด้วย
การขยายขอบเขตของรัฐศาสตร์นี้เป็นผลงานของนักรัฐศาสตร์กลุ่มที่รับเอาแนวทางพฤติกรรมนิยม มาใช้ เช่น เกมเบิล การฝ่ากฎเกณฑ์ดั้งเดิมของนักพฤติกรมนี้ก่อให้เกิดแนวทางด้านระเบียบวิธีวิทยาที่กว้างขวางขึ้นตามมาด้วย (Cited in David Marsh and Gray Stoker 1995:4)
ช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 รัฐศาสตร์ได้สนใจการเมืองในแง่มุมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งเกิดในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจด้วย โดยวิเคราะห์การเมืองเชื่อมโยงกับสาขาอื่น โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา นอกจากนี้นักเฟมินิสต์ หรือขบวนการสิทธิสตรี เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องการตัดสินใจทุกเรื่องที่กำหนดชีวิตของผู้คน ประเด็นส่วนตัวที่ผู้หญิงและผู้ชายอยากจะถกเถียง โต้แย้ง แข่งขัน หรือให้ตัดสินชี้ขาด ก็อาจเป็นเรื่องสาธารณะได้
ทศวรรษ 1990 รัฐศาสตร์ยิ่งกว้างและขยายออกไป เช่น เกมเบิล เห็นว่า “การเมืองมาถึงจุดที่จะต้องกำหนดให้รวมเอาพื้นที่ชีวิตทางสังคมอื่นๆเข้าไปด้วย เช่น เพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ต้องเข้าใจลักษณะทางสังคมทั้งหมด มากกว่าสนใจเฉพาะกิจกรรมของสถาบันของรัฐบาล” (Cited in David Marsh and Gray Stoker 1995:5)
นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรกำหนดการศึกษาเพียงแค่สถาบันของรัฐบาลที่มีกิจกรรมเกิดขึ้น แต่ควรรวมถึงกระบวนทุกอย่างของมนุษย์เพราะการเมืองเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในสังคม จากครอบครัวไปถึงรัฐ และจากกลุ่มอาสาสมัครไปจนถึงบรรษัทข้ามชาติ การเมืองเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ความร่วมมือและปฏิกิริยาสะท้อนกลับซึ่งมีผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคม
สำหรับการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่มีความชัดเจนกว่าเดิมมากขึ้นเพราะรัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้แยกรัฐสมัยใหม่ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาครัฐและภาคประชาสังคม เนื่องจากได้เห็นว่า รัฐสมัยใหม่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตย มีความต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นตัวแสดงที่สำคัญ ฉะนั้นการเมืองภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทสำคัญไม่แพ้รัฐ แต่ตามความเป็นจริงนั้น กระบวนการทางการเมืองระหว่างรัฐและประชาสังคมมีความซับซ้อน อาจเกิดการโต้แย้งและถกเถียงกัน เพราะต่างก็เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อใช้อำนาจการเมืองด้วยกัน ทำให้เกิดอาณาบริเวณทางการเมืองที่แผ่ขยายกว้างกว่าสมัยดั้งเดิม การเมืองของรัฐสมัยใหม่จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม อาจลงเอยด้วยการประนีประนอมและสร้างความเห็นพ้องต้องกัน แต่ทว่าบางครั้งก็ก่อให้เกิดความรุนแรงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง รูปแบบต่างๆเหล่านี้ล้วนอยู่ในขอบเขตของการเมืองทั้งสิ้น

2.ศาสตร์

ประเด็นที่ว่า “รัฐศาสตร์” มีความเป็นระบบหรือเป็นศาสตร์แค่ไหนนั้น ยากที่จะตอบได้ เพราะศาสตร์ทุกศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ไม่เคยคิดว่าจะบรรลุระดับความเป็นศาสตร์ได้เท่ากับ “ศาสตร์ธรรมชาติ” อย่างเช่น ฟิสิกส์ เคมี ธรณีวิทยา หรือดาราศาสตร์ เพราะสังคมศาสตร์เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) กรอบแนวคิดที่เกิดขึ้นนั้น มักสร้างขึ้นจากพื้นฐานทางค่านิยมหรือสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนค่านิยมของตนเอง แม้แต่ศาสตร์ทางสังคมด้วยกันก็ยังมีระดับความเป็นศาสตร์แตกต่างกัน หากดูในแง่ของระเบียบวิธีวิจัยและข้อค้นพบจากประวัติของสังคมศาสตร์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า “เศรษฐศาสตร์” มีฐานะเป็นสังคมศาสตร์สาขาแรก ซึ่งเกิดขึ้นกลางศตวรรษที่ 18 ในฝรั่งเศสและอังกฤษ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการค้า จนพัฒนาต่อมาอย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จในแง่การเป็นศาสตร์เมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพราะมีความก้าวหน้าในการวัดและทดสอบทฤษฎีที่ใช้อธิบาย รวมทั้งใช้วิธีการเชิงปริมาณในการศึกษาความต้องการของมนุษย์ แต่ถ้าเทียบกับรัฐศาสตร์แล้ว รัฐศาสตร์มีระดับความเป็นศาสตร์น้อยกว่า ถึงกระนั้นนักรัฐศาสตร์ก็ยังเห็นว่าสาขารัฐศาสตร์ของตนมีความเป็นศาสตร์มากกว่าประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือสาขาอื่นที่รวมอยู่ในชื่อของ “มนุษยศาสตร์” (Nevil Johnson 1989:3)
ความแตกต่างของความเป็นศาสตร์ของสาขาต่างๆอยู่ที่การทดสอบหลักการพื้นฐานของศาสตร์ การทดสอบนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีตัวแปร ซึ่งได้มาจากการสังเกตปรากฏการณ์ เช่น แรงโน้มถ่วง ประจุไฟฟ้า ชนชั้นในรัฐสภา หรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ความเป็นศาสตร์จะยิ่งมีมากหากมีตัวแปรที่สังเกตได้มีจำนวนมาก สามารถวัดคุณสมบัติของตัวแปรและควบคุมตัวแปรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้
แต่ทว่าลักษณะความเป็นศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีอยู่ในรัฐศาสตร์ไม่มากนัก นักรัฐศาสตร์ตกลงกันไม่ค่อยได้กับเกณฑ์ที่ใช้จำแนกปรากฏการณ์ทางการเมือง อันสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาการเมืองยากที่จะกำหนดเป็นตัวแปรเชิงปริมาณได้ นักรัฐศาสตร์ไม่ค่อยสนุกกับความก้าวหน้าของเศรษฐศาสตร์ในการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (gross national product) หรือวัดความมั่นคั่งในแง่รายได้ต่อหัว (per capita income) หรือวัดการติดต่อทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในรูปดุลการชำระเงิน นานๆจึงจะได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของวิชาจิตวิทยา ซึ่งสามารถทดสอบสมมติฐานภายในห้องทดลองที่อยู่ภายใต้การควบคุมและมีตัวอย่างจำนวนน้อยราย เพราะนักรัฐศาสตร์จะสนใจผู้คนจำนวนมากและควบคุมไม่ได้เนื่องจากแต่ละคนมีพฤติกรรมที่เป็นไปได้หลายทาง นอกจากนั้นการศึกษาอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ยังเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของทางรัฐศาสตร์ แต่ยากที่จะนิยามหรือวัดค่าได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐศาสตร์มีข้อจำกัดในการอธิบายเพราะไม่สามารถตั้งสมมติฐานในการศึกษา หรือศึกษาเฉพาะเค้าโครงร่างของสถาบันและการใช้กฎหมายเป็นแนวทางในการทำงาน รัฐศาสตร์ยังมีสาขาย่อยที่แยกออกไปอีกหลายสาขา รวมถึงสาขาวิจัยและการวิเคราะห์ในทางรัฐศาสตร์ ผู้ศึกษาจึงต้องดูพัฒนาการของรัฐศาสตร์ในภาพรวมประกอบด้วย เพราะสิ่งที่เรียกว่า “รัฐศาสตร์” ในปัจจุบันมีขอบข่ายกว้างขวางมาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับสถาบันเพียงอย่างเดียว

ความเป็นมาของรัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์เป็นวิชาการสาขาหนึ่ง เดิมทีวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทยนั้นเป็นวิชาชีพ คือให้เรียนออกไปประกอบอาชีพเป็นนักปกครองโดยเริ่มจาก ปลัดอำเภอ นายอำเภอ วิชาที่เรียนก็มีภาคปฏิบัติ เช่น การตีรูปพรรณวัวควาย เป็นต้น เหมือนกับวิชานิติศาสตร์ที่เรียนจบออกไปประกอบอาชีพเป็นทนายความ อัยการหรือผู้พิพากษา เช่นเดียวกับวิชาบัญชี วิชาแพทย์ศาสตร์ วิชาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
ส่วนวิชาการนั้น เป็นวิชาที่สร้างความงอกงามให้กับสติปัญญา มีรากเหง้ามาจาก Liberal Art Education โดยแต่เดิมนั้นผู้มีอำนาจ มีความเป็นอิสระมีเวลาที่จะศึกษาเพื่อความงอกงามของสติปัญญาได้เพราะมีทาสรับใช้คอยทำงานให้อยู่แล้ว พวกผู้มีอำนาจเหล่านี้จึงไม่ต้องศึกษาวิชาชีพเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำมาหากินอะไรนั่นเอง ในยุคกลางของยุโรป คือหลังจากที่จักรวรรดิ์โรมันล่มสลายไปแล้วนั้นการศึกษาศิลปะศาสตร์หรือ Liberal arts แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับต้นที่เรียกว่า “Trivium” เรียน 3 วิชาคือ 1.ไวยากรณ์ 2.วาทศิลป์ 3.ตรรกวิทยา เมื่อสำเร็จขั้นต้นแล้วก็ศึกษาขั้นสูงต่อไปที่เรียกว่า “Quadrivium” เรียนอีก 4 วิชา คือ 1.เลขคณิต 2.เราขาคณิต 3.ดาราศาสตร์ 4.ดนตรี จะสังเกตเห็นได้ว่าวิชาการนี้ไม่ได้เอาไปทำมาหากินอะไรตรงๆได้เลย
ที่ศึกษาเรื่องของรัฐ (State) โดยเน้นศึกษาในเรื่องของรัฐบาล (Government) อย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ซึ่งก็มีเรื่องที่มาของระบบการเมืองต่างๆ อันจำเป็นต้องศึกษา โครงสร้าง หน้าที่และสถาบันทางการเมืองในระบอบการเมืองนั้นๆด้วย รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่เก่าแก่ พูดได้ว่าคู่มากับมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ตั้งเป็นชุมชน เมืองและรัฐขึ้นมา เมื่อดูคำจำกัดความที่ว่า “รัฐศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยรัฐ” ก็ดูเหมือนว่ารัฐศาสตร์จะครอบคลุมไปหมดทุกเรื่อง เพราะในโลกเรานี้ก็แบ่งเป็นรัฐ เป็นประเทศและผู้คนก็คือประชากรของประเทศ ทรัพยากรทั้งหลายก็อยู่ในประเทศ เมื่อมองดูในแง่นี้แล้ว รัฐศาสตร์จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมศาสตร์ทุกสาขาวิชาอย่างแยกกันไม่ออก แต่เพื่อความสะดวก จำเป็นต้องจำกัดขอบเขต โดยมุ่งศึกษาเป็นพิเศษใน 3 หัวข้อ คือ

1.รัฐ (State) ด้วยเหตุผลที่รัฐเป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ เราจำเป็นต้องศึกษาว่า รัฐคืออะไร ความหมายและองค์ประกอบของรัฐ กำเนิดของรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ ความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีรัฐหรือประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ

2.สถาบันทางการเมือง (Political Institutions) หมายถึง องค์กรหรือหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปกครองและดำเนินกิจการต่างๆของรัฐ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาจก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายของรัฐ หรือก่อตั้งขึ้นโดยการร่วมใจของเอกชน หรือตามประเพณีก็อาจเป็นได้ สถาบันการเมืองที่กล่าวมา คือ สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐบาล พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มกดดันต่างๆ

3.ปรัชญาทางการเมือง (Political Philosophy) คือ ความคิดความเชื่อของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในยุคใดยุคหนึ่ง อันเป็นรากฐานของระบบการเมืองที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและความต้องการของตน หมายความว่ารวมถึง อุดมการณ์ หรือเป้าหมายที่จะเป็นพลังผลักดันให้มนุษย์ปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้นๆ เป็นต้นว่า ผู้บริหารประเทศไทยมีปรัชญาทางการเมืองที่มุ่งในทางพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและด้านกสิกรรม กับปรารถนาให้ประชาชาติมีการกินดีอยู่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์ (Objective or Ends) แต่การที่จะปฏิบัติ (Means) นั้นอาจจะใช้ระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งก็เป็นวิถีทางที่อาจจะนำมาถึงจุดมุ่งหมายนั้นๆได้ (โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ 2543:15)
นักรัฐศาสตร์จึงต้องเป็นคนที่มีใจกว้าง หูตากว้างไกลต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรู้ในสาขาอื่นๆอย่างดีพอควร แต่ในเวลาเดียว จำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมาย และความรู้ตัวว่าควรมุ่งศึกษาหัวข้อใหญ่ 3 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นพิเศษ คือ รัฐ สถาบันทางการเมือง และปรัชญาทางการเมือง

ความหมายของรัฐศาสตร์
คำแปลของคำว่า “รัฐศาสตร์” ถอดมาจากภาษาอังกฤษ คือ political science ซึ่งคำว่า science แปลว่า “ศาสตร์” หรือ “วิชาการ” ส่วนคำว่า “การเมือง” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า politics ซึ่งสืบมาจากภาษากรีกว่า “polis” แปลว่า “เมือง” / “นคร” ในภาษาอังกฤษ คำว่า “รัฐ” กับ “การเมือง” มีความหมายคล้ายคลึงกัน ดังนั้นการศึกษารัฐศาสตร์ก็คือ การศึกษาวิชาการเมืองโดยใช้ศาสตร์หรือวิชาการเข้ามาวิเคราะห์ และอาจกล่าวได้ว่า รัฐศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์ของการเมือง แต่ไม่ได้ศึกษาแบบอย่างเดียวกันกับการศึกษาวิทยาศาสตร์
การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ เป็นการศึกษากลุ่มหนึ่งของสาขาวิชาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ทฤษฎี องค์การ รัฐบาล และแนวปฏิบัติของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันจะเน้นไปที่การศึกษาระบบการเมือง หรือกระบวนการทางการเมือง (การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหารภาครัฐ) มากกว่าการศึกษาในแง่ขององค์การ (รัฐบาล รัฐธรรมนูญ) นักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันจึงมักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในแง่มุมที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่ม องค์กร และสถาบันที่พยายามแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลในการใช้อำนาจรัฐ

“รัฐศาสตร์” (Political Science) มีความหมายหลากหลาย อาทิ ศาสตร์ว่าด้วยรัฐ ศาสตร์ที่ว่าการเมือง ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐบาล/การปกครอง คำว่า การเมือง มาจากคำในภาษากรีก Polis แปลว่า เมือง/นคร ซึ่งหมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างพลเมืองกับรัฐ ภาษาอังกฤษ Politics หมายถึง อำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐศาสตร์ จึงหมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ (ปรีชา หงส์ไกรเลิศ 2550:21)

“รัฐศาสตร์” (Political Science) คือ วิชาที่ว่าด้วยการเมือง การปกครองประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542)

มีบางคนอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ” วิชารัฐศาสตร์” หมายถึง การศึกษาเรื่องการปกครองและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ เช่น กำเนิด การเกิด การรวม การเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของชุมชนทางการเมืองทั้งหลาย ตลอดจนรูปแบบการปกครอง กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ชุมชนต่างๆแก้ปัญหาความขัดแย้ง/ทำการตัดสินใจ รวมทั้งนโยบายสาธารณะของแต่ละชุมชนกับความสัมพันธ์ที่ชุมชนต่างๆมีต่อกัน เรื่องสำคัญๆที่ศึกษากันจึงได้แก่เรื่องต่อไปนี้ เช่น ความรุนแรง การปฏิวัติ การสงคราม ความสงบเรียบร้อย การปกครองแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการ การเลือกตั้ง การบริหาร หน้าที่พลเมือง การสรรหาผู้นำ ความปลอดภัยของชาติ กับองค์การระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กับพฤติกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่างๆของฝูงชน ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ใกล้เคียงกับความจริง (ทินพันธ์ นาคะตะ 2525:13)

“ รัฐศาสตร์” เป็นวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลปะของการปกครองบ้านเมือง ซึ่งคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบุคคล และรัฐต่อรัฐ ตามแนวคิดหรือทฤษฎีทางการเมืองในยุคต่างๆโดยที่รัฐและโลกประกอบด้วยคนจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นเพความเชื่อ ความรู้ ความคิด และอาชีพต่างๆกัน ผู้ที่จะเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ดีจึงต้องเป็นผู้รู้ทันคน ทันเหตุการณ์ต่างๆจึงควรเตรียมงานด้วยการสะสม และติดตามความรู้ทุกสาขา (อมร รักษาสัตย์ 2546:453)

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ผู้ให้ความหมายคำว่า “รัฐศาสตร์” ได้น่าสนใจได้กล่าวว่า รัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาว่า ทำไมมนุษย์จึงสร้างการปกครองมนุษย์ขึ้นมา (Heinz Eulau 1963:3)

“รัฐศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (Science of the state) โดยเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ และรัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับองค์การปกครองหรือสถาบันทางการเมืองของรัฐและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ของเอกชนหรือกลุ่มชนกับรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนแนวการศึกษาความคิดทางการเมืองอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของนักการเมืองเอกของโลกและต่อวิวัฒนาการของรัฐและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองการปกครอง (เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ 2508:3)

“รัฐศาสตร์” เป็นสาขาขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การจัดองค์กรทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองและวิธีดำเนินการต่างๆของรัฐ (จรูญ สุภาพ 2522:1)

“รัฐศาสตร์” เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆประกอบด้วย กำเนิดและลักษณะของรัฐ สถาบันการเมืองการปกครอง อำนาจ การตัดสินการตกลงใจและนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง รวมทั้งการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆเพื่อแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ และหาคำอธิบายต่อปรากฎการณ์ทางการเมืองที่บังเกิดขึ้น (ทินพันธ์ นาคะตะ 2541:3)

รัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นระเบียบการปกครองอันแตกต่างไปจากคำว่า การปกครอง ที่หมายถึง ตัวกิจการที่ปฏิบัติ “รัฐศาสตร์” ในประการนี้จึงหมายถึง ระบบของการปฏิบัติปกครอง โดยการจัดมาตรฐานและระเบียบภายในประชาคม ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ ที่เป็นวิชาใหญ่ในบรรดาวิชาการที่ว่าด้วยสังคมมนุษย์ (เกษม อุทยานิน 2513 (ข) )

คำว่า “รัฐศาสตร์” คือ การศึกษาการเมืองด้วยหลักการทางวิชาการ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเป็นการใช้หลักการแห่งเหตุผล ทฤษฎี ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อการศึกษาการเมืองการปกครองทั้งหลาย (ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร 2548:5)

ผู้ทำรายงานจึงได้สรุปความหมายของ “รัฐศาสตร์” ว่าเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการทางการเมือง สถาบันทางการเมือง ปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมือง รวมถึงให้ความสำคัญแก่สถาบันและกระบวนการที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ในการศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆมาช่วยในการอธิบาย ทำนาย หรือนำมาประกอบในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น

ความหมายของการเมือง

คำว่า “การเมือง” นี้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในสาระสำคัญของคำจำกัดความที่เป็นไปในทำนองเดียวกันคือ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบสองทางระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง (Rulers) และฝ่ายที่ถูกปกครอง (Ruled) ได้มีผู้เรียบเรียงและประมวลคำนิยามหรือความหมายของคำว่า “การเมือง” โดยจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ โดยเป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและอิทธิพลในการบริหารบ้านเมือง คำนิยามของการเมืองในเชิงอำนาจที่น่าสนใจ และคำอธิบายที่ชัดเจนมาก

“การเมือง” หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้นในการสถาปนาและทำนุรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมาและมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม (Pennock and Smith 1964:9)

"การเมือง” เป็นการต่อสู่ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยอำนาจทางการเมืองหมายถึงอำนาจในการที่จะวางนโยบายบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลในการนำนโยบายไปปฏิบัติ อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่นๆในการนำนโยบายไปปฏิบัติ (ณรงค์ สินสวัสดิ์ 2539:3)

“การเมือง” หมายถึง การจัดสรรอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 2537:6)

“การเมือง” คือการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปกครอง การแสวงหาอำนาจ การต่อสู้แข่งขันให้ได้มาซึ่งอำนาจ เป็นเรื่องของอิทธิพล และผู้มีอิทธิพล (ประทาน คงฤทธิศึกษากร 2529:1)

กลุ่มที่สอง มองการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐหรือสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม เช่น มุมมองของ เดวิส อีสตัน ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า การเมือง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆให้กับสังคมอย่างชอบธรรม (The authoritative allocation of values society) อย่างไรก็ดี อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อธิบายว่า เราจะใช้ความหมายดังกล่าวนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ในสังคมนั้น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความเห็นพ้องต้องกันและยอมรับในกติกาที่กำหนดการใช้อำนาจเพื่อแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าเท่านั้น ส่วนสังคมที่ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับกติกาการกำหนดสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม การเมือง ก็ยังคงเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุด (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535:4-6)

“การเมือง” หมายถึงการจัดสรรคุณค่า (value) ให้กับสังคม (ไพศาล สุริยะมงคล 2546)

“การเมือง” เป็นเรื่องของศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ใคร ทำอะไร เมื่อใด อย่างไร (Harold D.Lasswell 1950)

กลุ่มที่สาม มองการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะที่ผู้คนซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรนั้นมีอยู่มากและความต้องการใช้ไม่มีขีดจำกัด การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้คนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้หรือเกิดมีความขัดแย้งขึ้น ต่อมาจึงมีผู้ให้มุมมองการเมืองเสียใหม่ว่าเป็นเรื่องของการประนีประนอมความขัดแย้งมากกว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง

กลุ่มที่สี่ มองการเมืองว่าเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการดำเนินการทางการเมืองที่ไม่มีทางออก

“การเมือง” เป็นเรื่องของผลประโยชน์และเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ (ถวัลย์ วรเทพพุฒิพงษ์ 2537)

กลุ่มที่ห้า ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐและการบริหารประเทศในกิจกรรมหลัก 3 ด้าน คืองานที่เกี่ยวกับรัฐ การบริหารประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย และการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการควบคุมให้ดำเนินการตามนโยบาย

“การเมือง” เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือแผ่นดิน การบริหารประเทศ และกิจการอำนวย หรือควบคุมการบริหารแผ่นดิน (อุดม ตะนังสูงเนิน 2535:13)

กลุ่มที่หก มองการเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายของรัฐ กล่าวคือ การเมืองคือกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย เกี่ยวกับหน่วยงาน เครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย หรือเรียกว่า การเมือง คือกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ นั่นเอง

แม้แต่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านสังคมศาสตร์สมัยใหม่ คือ แม็กซ์ เวเบอร์ ก็ยึดหลักว่า ควรเรียกสมาคมใดๆว่า การเมือง หากว่าสามารถบังคับใช้ระเบียบได้อย่างต่อเนื่องภายในอาณาบริเวณนั้น โดยการใช้อำนาจบังคับหรือข่มขู่จะใช้วิธีดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน แสดงให้เห็นว่า อำนาจหน้าที่ หรือกฎเกณฑ์เป็นลักษณะสำคัญของการเมือง

ผู้ทำรายงานจึงสรุปความหมายคำว่า “การเมือง” หมายถึงกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการตัดสินใจขององค์กรของรัฐและเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องอำนาจ อำนาจหน้าที่ การปกครอง การออกคำสั่ง การควบคุม และครอบคลุมถึงกิจกรรมทุกอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่เกี่ยวกับอำนาจและอำนาจหน้าที่และความขัดแย้ง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ลักษณะและรูปแบบของรัฐศาสตร์

ทิศทางใหม่ของรัฐศาสตร์ในช่วงจุดเปลี่ยนของศตวรรษ วิชารัฐศาสตร์ได้ก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ที่เรียกว่า “รัฐศาสตร์ใหม่” (The New Political Science) ซึ่งแม้จะยังไม่ก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ถึงขั้นการปฏิวัติทางศาสตร์ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตในรูปแบบทางวิชาการรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้ (ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 2547:9-11)

ประการแรก เน้นการศึกษาเชิงประจักษ์ และมุ่งเน้นสหวิทยาการ
รัฐศาสตร์ใหม่ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเชิงประจักษ์ (empiricism) เป็นการสานต่อการศึกษารัฐศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์ และประจักษ์นิยมในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นการศึกษาที่สามารถตรวจสอบปรากฎการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างแน่นอน โดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่พัฒนาการจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านอิเลคทรอนิคส์ เทคโนโลยีข่าวสาร และคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างกว้างขวางหลากหลายรูปแบบได้มากกว่าในอดีต ทั้งในทางเทคนิคด้านประมาณและเทคนิคด้านคุณภาพ สำหรับด้านการศึกษาคุณภาพ ได้มีการพัฒนาวิธีการและการประดิษฐ์ซอพท์แวร์มาใช้ในการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้ซอพท์แวร์วิเคราะห์ข้อเขียน คำพูด รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ตำราและเทคนิคการศึกษาที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว อันเป็นการขยายขอบเขตการศึกษารัฐศาสตร์เชิงประจักษ์ให้รวดเร็วและหยั่งรากลึกลงไปในรายละเอียดได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิชารัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มที่จะรับเอาระเบียบวิธี (Methodology) ของศาสตร์แขนงอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการศึกษาและอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น เอกลักษณ์ของวิชารัฐศาสตร์จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองทั้งในด้านขอบเขตเนื้อหาและระเบียบวิธีการ แต่เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเปิดกว้าง เน้นสหวิทยาการหรือการผสมผสานกับศาสตร์แขนงอื่นในลักษณะข้ามสาขา

ประการที่สอง เน้นการศึกษาสถาบันและกลุ่มย่อยที่หลากหลาย
ในทศวรรษใหม่นี้ การศึกษารัฐศาสตร์ไม่เพียงแต่ให้ความสนใจด้านการศึกษาสถาบันหลักทางการเมืองการปกครอง เช่น สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกระบวนการที่สำคัญ เช่น กระบวนการเลือกตั้ง เป็นต้น เท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญแก่สถาบันและกระบวนการที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีหลากหลายจากการที่อำนาจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและมีการกระจายอำนาจลงสู่รากฐานของสังคม
การที่อำนาจของรัฐส่วนกลางได้เปลี่ยนไปหรือลดน้อยลง และอำนาจของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ๆ ในสังคมมีความกล้าแข็งขึ้น กลายเป็นประชาคมการเมืองกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และมีความเข้มแข็งตลอดจนบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นตามลำดับ กระทั่งรัฐศาสตร์ใหม่ไม่อาจละเลยที่จะให้ความสนใจต่อการกำเนิด พัฒนาการ ความเข้มแข็ง และบทบาทของสถาบันการเมืองทั้งหลายเหล่าหนี้ได้ ในกรณีของประเทศไทย สถาบันที่เป็นองค์กรเกิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาคมท้องถิ่น เป็นต้น ได้ก่อตัวขึ้นอย่างหลากหลาย มีพัฒนาการเข้มแข็งและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งควรเป็นประเด็นสำคัญต่อการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในมิติและบริบทใหม่ของประเทศไทย

ประการที่สาม ความสนใจในปัญหาที่เชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น
การศึกษารัฐศาสตร์แนวใหม่ โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการศึกษาสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับศาสตร์สาขาอื่น อาทิ ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทมต่อการเมืองภายในประเทศและระบบการเมืองระหว่างประเทศ อิทธิพลของสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (WORLD BANK) องค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดทั้งอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจเสรีได้แก่ การเปิดเสรีทางการเงิน เสรีทางการค้า และเสรีทางการลงทุน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยได้กลายมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจศึกษามากขึ้น ในขณะเดียวกับที่การให้ความสนใจกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ก็ยังคงเป็นเรื่องที่นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ความสนใจอยู่ต่อไป

ประการที่สี่ เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
การศึกษารัฐศาสตร์ใหม่ มุ่งเน้นในรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้จริง โดยผ่านขั้นตอนของการประยุกต์แต่เพียงเล็กน้อย นั่นคือ ผลของการศึกษาทางรัฐศาสตร์ใหม่ที่เน้นองค์ความรู้ที่หลากหลาย ได้แผ่กิ่งก้านสาขาเข้าไปในทุกองคาพยพทางการเมืองการปกครองและการบริหาร ซึ่งเป็นการขยายความเข้มแข็งขององค์ความรู้เชิงประจักษ์เดิมให้มีความละเอียดยิ่งขึ้น และสามารถให้การอธิบายและทำนายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในสภาพการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ประการที่ห้า เน้นความเป็นศาสตร์และคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม
รัฐศาสตร์ยังคงเน้นความสำคัญของความเป็นศาสตร์ทางวิชาการที่บรรดานักรัฐศาสตร์ต่างพยายามที่จะยกสถานะ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศให้ทัดเทียมกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสังคมศาสตร์ด้วยกัน ภารกิจของสาขาวิชารัฐศาสตร์คือการสร้างแนวความคิดและภูมิปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและมีคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม การนำเสนอวิธีกานในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สังคมและพลเมืองมีชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นอกจากนั้น รัฐศาสตร์ยังเป็นสื่อกลางสำหรับศาสตร์สาอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยกระบวนการในการผลักดันให้เกิดผลของการศึกษาวิจัย ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม
เราจะเห็นได้ว่า วิชาการรัฐศาสตร์ไทยในยุคใหม่จึงยังคงมีกิ่งก้านสาขาในจำนวน 6 สาขาวิชาเท่าเดิม อันประกอบไปด้วย (ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 2547:1-2) (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2543:2)

1.ปรัชญาการเมืองและความคิดทางการเมือง (Political Philosophy and Political Thought)

2.การเมืองภายในประเทศ (Internal Politics)

3.การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics)

4.กฎหมายมหาชนและนโยบายสาธารณะ (Public Law and Public Policies)

5.รัฐประศาสนศาตร์หรือการบริหารรัฐกิจ (Public Administration)

6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Politics)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับศาสตร์สาขาอื่น

การศึกษาทางสังคมศาสตร์ไม่มีกำแพงขวางกั้น เมื่อศึกษาไปนานเข้าจะพบว่า “ศาสตร์ทุกแขนงล้วนสัมพันธ์กันและมีส่วนพัฒนาความก้าวหน้าของกันและกัน” ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่นๆก็เช่นกัน แม้แต่ผู้ที่เลือกศึกษาสาชาปรัชญาการเมืองก็อาจพบว่า สาขาที่ตนเองได้เลือกนั้นยังสัมพันธ์กับสาขาอื่นๆอีกนับสิบสาขา รัฐศาสตร์จึงสัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นจำนวนมาก ดังต่อไปนี้ (G.A.Jacobsen and M.H.Lipman 1965:3-5)

1. ประวัติศาสตร์ (History) ความสัมพันธ์นี้ปรากฏดังคำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นการเมืองในอดีตและการเมืองแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์” รัฐศาสตร์ช่วยสร้างทิศทางและความหมายให้กับประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ก็ช่วยให้รัฐศาสตร์มีข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา นักรัฐศาสตร์จึงรับเอาแนวทางประวัติศาสตร์ เป็นแนวทางหนึ่งในการศึกษารัฐศาสตร์ และใช้ความรู้ในอดีตแปลความปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และทำนายปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และวิธีการศึกษาวิจัยทางรัฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์นั้นมีระเบียบวิธีการวิจัยที่คล้ายคลึงกันจึงสามารถใช้วิธีการศึกษาวิจัยร่วมกันได้

2. เศรษฐศาสตร์ (Economics) ความสัมพันธ์เริ่มมาตั้งแต่แรกเริ่มการเกิดศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 รัฐศาสตร์ก็อยู่คู่กันมากับเศรษฐศาสตร์โดยใช้คำรวมว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ตอนแรกรัฐศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง ต่อมาเศรษฐศาสตร์การเมืองแยกตัวเองออกมาเป็นสาขาเฉพาะและนับเป็นสาขาแรกสุดของเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ยังแยกกันไม่ออกและยังมีความสัมพันธ์กับรัฐศาสตร์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ศาสตร์ทั้งสองก็ยังสัมพันธ์กันเพราะเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนา รวมทั้งการบริหารและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของรัฐ ขณะเดียวกันการเมืองก็เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดสภาพเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในการกำหนดนโยบายของรัฐนั้น จะมีเรื่องทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกี่ยวข้องกัน และในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลนั้น เกิดจากแนวคิดทางการเมือง หรือการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม โดยมีผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวกำหนดนโยบาย หรือบางครั้งในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลนั้น เกิดจากอำนาจ หรือกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง ที่ผลักดันออกมาในรูปแบบต่างๆ

3. ภูมิศาสตร์ (Geography) มีความสัมพันธ์เพราะต้องสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ พรมแดนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ การขยายจำนวนประชากร เขตพื้นที่อาณานิคม พื้นที่อิทธิพลและแหล่งวัตถุดิบ การศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าอย่างมากรวมถึงเทคโนโลยี่สมัยใหม่ที่ใช้ในการศึกษาจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการรัฐเพื่อให้การปกครองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภูมิแห่งรัฐ ทำให้แต่ละรัฐมีสถานะทางอำนาจ แตกต่างกันไป จึงเกิดแนวคิดทาง ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ต่างๆ และแนวคิดนั้นได้ถูกนำมาขยายอำนาจของรัฐ รวมทั้งแนวคิดภูมิยุทธศาสตร์ ความสัมพันธ์เบื้องต้นที่ชัดเจนที่สุด คือ ความสัมพันธ์กับดินแดนที่แน่นอน

4. สังคมวิทยา (Sociology) และมานุษยวิทยา (Anthropology) สังคมวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาสังคมทั้งหมด (Society as a whole) ส่วนมานุษยวิทยาศึกษามนุษยชาติ (Mankind) ชนกลุ่ม ชนเผ่า ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านกายภาพ สังคมและวัฒนธรรม องค์ความรู้ทางสังคมวิทยาที่รัฐศาสตร์นำมา คือการศึกษาที่ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการให้ทฤษฎีใหม่ต่างๆ ส่วนองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ได้นำมาใช้ทำความเข้าใจสังคมประเทศต่างๆในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่ประสบปัญหาทางการเมืองต่างๆเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของประเทศที่อยู่นอกกลุ่มประเทศตะวันตก ความสัมพันธ์ของสองสาขาวิชานี้มีจุดร่วมตรงกันตรงที่ต่างก็ศึกษาถึงกำเนิด ลักษณะการควบคุมทางสังคม และอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคม และเป็นแบบแผนแห่งพฤติกรรมของมนุษย์

5. จิตวิทยา (Psychology) ความสัมพันธ์ของรัฐศาสตร์กับจิตวิทยา โดยการใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยา อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคล เช่น กระบวนการคิดและอารมณ์ของบุคคลและกลุ่ม ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมทางการเมือง ทำให้เข้าใจระบบการเมืองที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของบุคคล ตลอดจนใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความสงบสุขแก่สังคม

6. จริยศาสตร์ (Ethics) รัฐศาสตร์สัมพันธ์กับจริยศาสตร์ ความจริง จริยศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา เพราะวิชาปรัชญาเป็นแขนงแรกของการศึกษารัฐศาสตร์ แนวคิดและคำสอนของนักปรัชญาเมธีต่างๆมีความสำคัญเพราะแนวคิดเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเมืองการปกครอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือแนวคิดเชิงจริยธรรมในทางการเมืองการปกครอง และปรากฏอยู่ในปรัชญาการเมืองตะวันตก และปรัชญาการเมืองตะวันออก เช่น การยึดจริยศาสตร์เป็นหลักในการเสนอให้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

7. นิติศาสตร์ (Law) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์หรือกฎหมาย ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมือง คือการหยิบยืม แลกเปลี่ยน และประยุกต์แนวคิด ทฤษฎีวิธีการศึกษามาใช้ เน้นที่รัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง รัฐศาสตร์ต้องศึกษารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ แต่นักรัฐศาสตร์ไม่ศึกษากฎหมายด้านเดียวแต่รวมเอาการศึกษากฎหมายในมิติอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายด้วย จะไม่เน้นแนวทางนิติศาสตร์มากเกินไปเหมือนนักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายที่ปฏิบัติต่อประชาชน แต่มองว่าประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และฝ่ายผู้ปกครองก็มีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติต่อประชาชนด้วย เช่น รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมีศักดิ์เหนือกว่ากฎหมายทุกประเภท ซึ่งกำหนดถึงกระบวนการทางอำนาจภายในรัฐ เป็นมุมมองทางนิติศาสตร์หรือกฎหมาย แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ.2540 อิทธิพลทางการเมืองมีเหนือทางกฎหมาย เพราะมุ่งหวังจะใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการปฏิรูปการเมืองโดยละเลยความเป็นกฎหมายที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ

8. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) วิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาที่มุ่งแสวงหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ ด้วยกระบวนการสังเกต ทดลองเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีลักษณะภววิสัย ส่วนเทคโนโลยี หมายถึงความรู้ วิธีการ กระบวนการในภาคปฏิบัติในการทำสิ่งต่างๆ นักรัฐศาสตร์จะต้องมีพื้นฐานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาปัญหาการเมือง เพราะต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ประเมินผล และหาข้อสรุป และใช้วิธีการทางสถิติเพื่อวัดปรากฏการณ์ทางสังคม และใช้หลักตรรกะในการวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนเทคโนโลยี มีอิทธิพลต่อรัฐศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบปรากฏการณ์ทางการเมือง

9. ภาษาศาสตร์ (Linguistics) รัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กับภาษาศาสตร์ อย่างน้อย 2 ประการ คือประการแรก รัฐศาสตร์ศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง และการเมืองศึกษาเกี่ยวกับอำนาจ อิทธิพลและผลประโยชน์ การมีความรู้และความเข้าใจภาษาศาสตร์จึงช่วยให้เข้าใจถึงแหล่งที่มา การรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ ประการที่สอง สัมพันธ์ในฐานะเป็นการศึกษาสหวิทยาการ ภาษาศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ของบุคคล รัฐ และรัฐบาล ดังนั้นรัฐ หรือรัฐบาลจำต้องอาศัยภาษาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย การตรากฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญการใช้ภาษาศาสตร์สร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

10. ธุรกิจ (Business) เกี่ยวข้องกับระบบตลาด หรือทุนนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับธุรกิจ ได้แก่ ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ ทฤษฎีพหุนิยม ทฤษฎีมาร์กซิสต์ และทฤษฎีภาครัฐ-สังคม โดยถูกนำมาประยุกต์ใช้ เช่น ยุคโลกาภิวัตน์ได้ทำให้บทบาทของบรรษัทข้ามชาติในฐานะที่เป็นหน่วยทางธุรกิจมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น การมีบทบาทเพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติได้ทำให้เกิดการแปรรูปของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและธุรกิจเกิดขึ้น ทำให้นโยบายต่างประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในระดับระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย


บรรณานุกรม

-โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (2543) “พื้นฐานรัฐศาสตร์กับการเมือง คศ.ที่ 21” ใน หนังสือลำดับที่ 1
โครงการปริญญาโทรัฐศาสตร์ หน่วยที่ 1 หน้า 15 กรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์

-ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2517) ความคิดอิสระ:รวมบทความทางการเมืองปี 2511-2516
กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์พิฆเณศ

-ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2535) รัฐ พิมพ์ครั้งที่ 3
กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539) การเมืองไทย:การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา พิมพ์ครั้งที่ 3
กรุงเทพมหานคร วัชรินทร์การพิมพ์

-ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร (2548) รัฐศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ทินพันธุ์ นาคะตะ (2525) รัฐศาสตร์:ทฤษฎี แนวความคิด ปัญหาสำคัญ และ
แนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมือง พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพมหานคร พูนสวัสดิ์การพิมพ์

-ปรีชา หงส์ไกรเลิศ (2550) “สหวิทยาการของศาสตร์ต่างๆ” ใน ประมวลสาระชุดวิชาสหวิทยาการทาง
รัฐศาสตร์ หน่วยที่ 2 หน้า 21-22 นนทบุรี
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บัณฑิตศึกษา สาขาวิชารัฐศาสตร์

-เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2548) หลักรัฐศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 1
กรุงเทพมหานคร บ.บพิธการพิมพ์ จำกัด

-ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ สาระสังเขปออนไลน์ Education Blog
สืบค้นคืนวันที่ 6 มกราคม 2554 จาก

//blog.eduzones.com/winny/3627

-อมร รักษาสัตย์ (2546) ปรัชญารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 1
กรุงเทพมหานคร วีเจ พริ้นติ้ง

-Rodee , Anderson and Chirstol (1976) Introduction to Political Science Third ed.
Tokyo McGraw-Hill Kogakusha

-Marsh and Stoker (1995) Theory and methods in political science
New York St. Martin’s Press





 

Create Date : 15 มกราคม 2554
4 comments
Last Update : 22 มกราคม 2554 23:29:56 น.
Counter : 13135 Pageviews.

 

ยังมีต่อครับ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ถ้าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ มสธ. เข้ามาเยี่ยมชม

มีอะไรแนะนำ เพิ่มเติม แก้ไข

พี่บอย ยินดีน้อมรับครับ

 

โดย: บอย ลาดกระบัง (pp965 ) 15 มกราคม 2554 10:39:34 น.  

 

ผมขออนุญาตนำข้อมูลนี้ไปใช้ทำรายงานนะค้บ ไม่มีเวลาทำจริงๆคับ ขอบคุณล่วงหน้าคับ ขอโทษและขออภัยที่เอาข้อมูลนี้ไปใช้นะคับ

 

โดย: บอมบ์คับ IP: 172.20.10.123, 202.29.62.253 17 มกราคม 2554 11:55:36 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะคุณบอย ไม่ได้เข้ามาทักทายเลยนานมากๆเลยนะคะ เป็นไงบ้างคะ สบายดีมั้ย เห็นเปลี่ยนรูป Profile เป็นรูปลูกรึเปล่าคะ ถ้าใช่ก็ยินดีดีใจด้วยนะคะ

 

โดย: แม่น้องแปงแปง 18 มีนาคม 2554 14:55:56 น.  

 


Angels




โห คุณบอย นี่ไม่ได้คุยกันเป็นปีแล้วหรือคะ จำได้ว่าคุยล่าสุดตอนนั้นว่ามีปัญหา ดีใจด้วยจริงๆค่ะที่ผ่านไปได้ด้วยดี ฟ้าหลังฝนนะคะ เผลอแป๊บเดียวได้นางฟ้าตัวน้อยๆอายุ 1 ขวบแล้วเหรอคะเนี่ย เร็วจริงๆ ไว้จะมาทักทายบ่อยๆนะคะ แปงแปงตอนนี้ก็เพิ่งจะ 4 ขวบเต็มแล้วค่ะ นางฟ้าน้อยๆชื่อไรคะเนี่ย

 

โดย: แม่น้องแปงแปง 24 มีนาคม 2554 12:55:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


pitasanu
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Education is life long learning
การศึกษา เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
Friends' blogs
[Add pitasanu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.