Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
5 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
อุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่

การอุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่


การบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา
เป็นการสร้างกุศลทานอันยิ่งใหญ่
เท่ากับให้วิชาความรู้ไปช่วยมวลมนุษย์ชาติต่อไป

คุณประโยชน์

การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา
เป็นการสร้างประโยชน์ทั้งด้านวิชาการ
ด้านสาธารณสุข อาทิเช่น

1. เพื่อใช้ในการศึกษาของนิสิตแพทย์
2. เพื่อใช้ในการศึกษาของแพทย์เฉพาะทาง
3. เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษาพยาบาล
4. เพื่อใช้ในการศึกษาของนิสิตเทคนิคการแพทย์
5. เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษารังสีเทคนิค
6. เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์
7. เพื่อใช้ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์

วิธีการ

(หน่วยอุทิศร่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกาย
สามารถยื่นความจำนงได้ 2 แบบ คือ

1. ยื่นความจำนงโดยตรง

โดยกรอกข้อความ ตามแบบฟอร์ม 3 ฉบับ
ให้ี่ผู้อุทิศร่างกายเก็บหนึ่งฉบับ เจ้าหน้าที่เก็บ 2 ฉบับ
และจะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกาย
ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน

2. ยื่นความจำนงทางไปรษณีย์

กรอกข้อความในใบอุทิศร่างกายทั้ง 3 ฉบับ
แล้วส่งทางไปรษณีย์ 2 ฉบับ
เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ภายหลัง

เมื่อผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม
ทายาทมีสิทธิ์คัดค้านไม่มอบศพให้กับโรงพยาบาลได้
โดยต้องแจ้งการคัดค้านไม่มอบศพกับโรงพยาบาล
ภายใน 24 ชั่วโมง

ถ้าผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม
และทายาทผู้รับมรดกยินยอมมอบศพให้โรงพยาบาล

ขอให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อรับศพ
โดยเจ้าหน้าที่จะให้กรอกใบสำคัญยินยอมมอบศพ
ให้โรงพยาบาลเพื่อการศึกษาไว้เป็นหลักฐานอีกครั้ง


โดยติดต่อแจ้งการรับศพได้ที่

1. ในเวลาราชการติดต่อที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
โทรศัพท์ 2564281, 2527028, 2528181-9 ต่อ 3247

2. นอกเวลาราชการติดต่อที่ ตึกห้องพักศพ
โทรศัพท์ 2564317

โรงพยาบาลจะสามารถรับร่างของผู้อุทิศร่างกายได้
ก็ต่อเมื่อมีใบมรณบัตร ซึ่งออกโดยนายทะเบียนท้องที่
ผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมแล้วเท่านั้น

โรงพยาบาลรับร่างผู้อุทิศร่างกาย
เฉพาะที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น

เมื่อฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ศึกษาเรียบร้อยแล้ว
จะมีคณะกรรมการดำเนินการจัดงานฌาปนกิจ
และขอพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ)

คุณสมบัติของผู้บริจาค
- ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
- กรณีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอม
จากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร

โรงพยาบาลจะไม่รับศพผู้อุทิศร่างกายในกรณีดังนี้

- ถึงแก่กรรมเกิน 24 ชั่วโมง
ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
- ผู้อุทิศร่างกายที่ได้รับการผ่าตัด หรือมีรอยเสียหาย
จากอุบัติเหตุบริเวณศีรษะและสมอง
- ผู้อุทิศร่างกายที่ถึงแก่กรรมจากสาเหตุ
โรคมะเร็งบริเวณศีรษะและ สมอง
หรือติดเชื้อ โรคร้ายแรงเช่น เอดส์ ไวรัสตับ และวัณโรค
- ผู้อุทิศร่างกายที่เกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์
ยกเว้นการผ่าพิสูจน์บริเวณช่องท้องที่แพทย์นำไปใช้
ทางการศึกษาทางการแพทย์เท่านั้น
- ผู้อุทิศฯที่ผ่านกระบวนการเก็บรักษาด้วยน้ำยาแล้ว

ในกรณีที่รับร่างผู้อุทิศมาแล้วตรวจพบว่าอยู่ในกรณี
ดังกล่าวข้างต้น โรงพยาบาลจะติดต่อญาติ
ให้นำกลับไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป

สถานที่ติดต่อ

ฝ่ายเลขานุการ ตึกอำนวยการ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เขตปทุมวัน กทม. 10330
ในวัน เวลาราชการ

หลักฐานที่ต้องเตรียมมามีดังนี้

1. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป
2. สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ
3. สำเนาทะเบียนบ้าน

กรณีญาติแจ้งทางโรงพยาบาลให้มารับศพ
เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล

1. ในเวลาราชการติดต่อที่
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทรศัพท์ 2564281, 2527028, 2528181-9 ต่อ 3247


2. นอกเวลาราชการติดต่อที่
ตึกห้องพักศพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับศพ
หมายเลขโทรศัพท์ 2564317


บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่

ดาวน์โหลดใบสำคัญอุทิศศพเพื่อการศึกษาแพทย์
คลิก:แบบฟอร์มอุทิศร่าง


ศูนย์รับบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์

ศาลาทินฑัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทร 0 2256 4628 กรุณาติดต่อวันและเวลาราชการ

โรงพยาบาลศิริราช
ภาควิชากายศาสตร์ ตึกกายวิภาคศาสตร์ ชั้น 1
โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทร. 419-7035, 411-2007 หรือ 411-0241-9 ต่อ 7035

โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 254-5198 หรือ 246-1358-74
ต่อ 4101, 4102

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ สุขุมวิท 23
กรุงเทพฯ 10110
โทร. 260-1532, 260-2234-5 ต่อ 4501

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
อาคารเรียนวพม. ชั้น 4
315 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 246-0066 ต่อ 93606

สำหรับต่างจังหวัด
สามารถบริจาคได้ที่โรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค

ได้แก่

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โรงพยาบาลศรีนครินทร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทความ รายละเอียด จาก นิสากร ปานประสงค์
คลิก:บทความอาจารย์ใหญ่

...........................................

บทความจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการค่ะ

หนึ่งในคณะที่ถูกมองว่าเรียนยากที่สุดคือ
คณะแพทยศาสตร์
เพราะ นิสิต นักศึกษา ที่เรียนในคณะแพทย์ทุกคน
จะต้องขวนขวาย ค้นคว้าตำรากันอยู่ตลอด

เพื่อท่องจำและทำความเข้าใจ
ในความซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ให้ได้
เช่นการเรียนวิชา มหกายวิภาคศาสตร์
อันเป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุด
ทุกคนต้องศึกษาตำแหน่งโครงสร้างต่าง ๆ
ของร่างกายมนุษย์ให้ถ่องแท้

แต่ทว่าจะมีตำราเล่มไหนเล่า ที่จะสมบูรณ์เทียบเท่ากับ
การเรียนมหกายวิภาคศาสตร์จากร่างมนุษย์จริง
นั่นเป็นที่มาของ “อาจารย์ใหญ่”
ผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยธรรมทาน แห่งการสละร่าง
ให้เหล่าว่าที่แพทย์ได้ศึกษาหาความรู้

ก่อนหน้าที่ร่างกายจะถูกนำมาให้นิสิต นักศึกษา
ได้เรียนรู้ระบบต่างๆ ของร่างกายนั้น
เจ้าของร่างซึ่งยังมีชีวิตจะต้องแสดงเจตจำนงค์
ในการสละร่างหลังไร้ลมหายใจ
ให้กับศิริราชพยาบาล
(หรือที่อื่นๆ ที่รับบริจาคร่าง)

“นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร”
เล่าว่าหลังจากที่เจ้าของร่างได้แสดงเจตจำนงไว้
เมื่อหมดลมหายใจ เจตนารมณ์ของเจ้าของร่าง
จะถูกสานต่อโดยญาติของผู้เสียชีวิต
และทางหน่วยงานจะเดินทางไปรับร่างนั้น
ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่รับศพ จะเข้าตรวจสอบร่าง
ว่าสามารถที่จะนำร่างที่บริจาคไว้มาศึกษาได้หรือไม่

“พอญาติแจ้งมาเราก็รีบเอารถไปรับ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะเช็คดูว่าร่างนั้น
จะสามารถนำมาให้นักศึกษาแพทย์เรียนได้หรือไม่
ถ้าสามารถนำมาใช้ได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้ได้ทันที
ร่างนั้นจะถูกนำส่งมา “แช่ศพ” ด้วยน้ำยาก่อน”

สถานที่สำหรับแช่อาจารย์ใหญ่นั้น
นายแพทย์สรรใจกล่าวว่าจะต้องปิดมิดชิด
ไม่มีการรั่วซึม

โดยจะนำร่างอาจารย์ใหญ่ลงแช่ในน้ำยา
ให้ท่วมตัว เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
เพื่อให้สภาพของผิวหนัง ร่างกาย
มีความพร้อม ที่จะให้นักศึกษาได้เรียน

“ถ้าเราไม่แช่ศพในน้ำยา
ร่างก็จะเหมือนศพตามวัดที่บรรจุในโลงแก้วนั่นล่ะ
ร่างจะเหี่ยว แข็ง ไม่ตึง ผ่ายาก”
นายแพทย์สรรใจ อธิบาย

บุคคลโดยทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ
ว่าทำไมผู้ที่เรียนแพทย์จะต้องเรียน
จากร่างกายของมนุษย์จริงๆ
ทั้งที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ล้ำหน้า
และสามารถสร้างอวัยวะเทียม
ที่ใกล้เคียงกับอวับวะของมนุษย์จริงๆได้แล้ว
นายแพทย์สรรใจ กล่าวว่า
การเรียนภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด
ต้องเรียนรู้ผ่านทางร่างกายมนุษย์จริง

“ผมจะเปรียบเทียบให้ดูนะ
ช่างซ่อมทีวีก็ต้องเรียนกับทีวี ไปดูจอภาพ
ไปดูลำโพง ไปดูรีโมท
แต่หากจะให้ไปเรียนกับรูปภาพทีวีในกระดาษ
หรือในคอมพิวเตอร์มันจะเหมือนกันหรือ

หมอก็เปรียบเสมือนช่างซ่อมคนนั่นล่ะ
ก็ต้องเรียนกับมนุษย์ถึงจะเป็น
แบบฝึกหัดที่สมบูรณ์ที่สุด
ร่างที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือร่างของผู้ที่ไม่มีโรคเลย
แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าไม่เป็นโรคก็คงไม่ตาย”

นอกจากนี้นายแพทย์สรรใจยังกล่าวอีกด้วยว่า
อาจารย์ใหญ่ 1ร่าง จะเป็นอาจารย์ของ
นักศึกษาแพทย์ 4คน

และหลังจากอาจารย์ใหญ่
ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่นศ.แพทย์
จนครบถ้วนกระบวนความแล้ว
นักศึกษาแพทย์จะรวบรวมไปจัดพิธีบำเพ็ญกุศล
และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
หลังเจตนารมณ์ครั้งสุดท้ายของอาจารย์สัมฤทธิ์ผล

อย่างเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ
จัดงานพระราชทานเพลิงศพ “อาจารย์ใหญ่” ครั้งที่ 22
โดยมีอาจารย์ใหญ่ 195 ร่าง

นอกจากนี้ยังมีอีก 6 สถาบัน
ที่รับร่างของอาจารย์ใหญ่ไปสอนนักศึกษาแพทย์
คือคณะกายภาพบำบัด คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล,
คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
คณะกายภาพบำบัด ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ,
คณะสหเวชศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
และสถาบันวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ม.รามคำแหง
ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

“อรณิชา อมรอริยะกูล” นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3
ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
หนึ่งในคณะกรรมการการ
จัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ
เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเตรียมงานว่า
นักศึกษาแพทย์ชั้นปี 2 ของทุกๆ ปี
จะเป็นผู้จัดทำงาน โดยจะประชุมวางแผนกันมาก่อน
ไม่ว่าจะเป็นติดต่อญาติ พิมพ์การ์ด สถานที่
กำหนดวัน และแจ้งวัน
ไปยังนักศึกษาแพทย์ต่างสถาบัน

“วันนี้เราได้แสดงความกตัญญูต่ออาจารย์ใหญ่
แม้หนูจะไม่เคยมีประสบการณ์
กับการพระราชทานเพลิง
แต่เราก็ช่วยกันอย่างเต็มที่
แม้ว่าจะเห็นความโศกเศร้า
ร้องไห้ของญาติๆ อาจารย์ใหญ่ก็จริง

แต่ก็มักจะได้ยินเสียงพูดกันว่า
อาจารย์ใหญ่ท่านไปดีแล้ว
และมีความภูมิใจในตัวท่านอาจารย์
มีบางท่านก็ขอต่อเพลิงพระราชทานไปจุดเองด้วย”

ด้าน “อัญชนา สุรอมรรัตน์”
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
พูดคุยอย่างตื้นตัน ที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพ
ในการจัดงานพระราชทานเพลิงศพว่า
เป็นเรื่องใหม่ในชีวิต

นักศึกษาแพทย์ทุกคนน้อมและตั้งใจกันอย่างสูงสุด
เพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณอย่างอาจารย์ใหญ่
ที่สละร่างกายให้ได้ศึกษา

“การเรียนกับอาจารย์ใหญ่ทำให้เราเห็นภาพ
เราได้สัมผัส เราได้เรียนรู้กับของจริง
มันสร้างความจดจำได้ง่ายกว่าเรียนจากตำรา
และเข้าใจมากขึ้น หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน
ว่าหากไม่มีร่างของท่านอาจารย์ใหญ่
เราจะเรียนรู้ได้เข้าใจกันไหม”

ทั้งนี้ภายในงานพระราชทานเพลิงศพ
เป็นกรณีพิเศษแก่อาจารย์ใหญ่
นอกจากจะมีนักศึกษาแพทย์แล้ว
ยังพร้อมด้วยคณาจารย์กายวิภาคศาสตร์
และเหล่าญาติมิตรของอาจารย์ใหญ่
เข้าร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพด้วย
จนพื้นที่ในบริเวณที่ทำพิธีกรรม
ดูแน่นหนาขนัดตา

เราได้พูดคุยกับ “บรรยง จิตรวิสุทธิ์”
น้าของ “น้องนนท์”หรือสุธี ตุลขำ
(อาจารย์ใหญ่ที่สิ้นอายุไขเพียงวัย 17 ปี)

เล่าถึงหลานสุดที่รักที่สละร่างเป็นอาจารย์ใหญ่
ให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนว่า “น้องนนท์” บอกไว้
อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

“ผมคุยกับหลานของผมบ่อยก่อนเขาจะเสีย
เพราะ หลานผมไม่เหมือนคนป่วย ทั้งๆ ที่เขาก็ป่วย
เป็นมะเร็งมาตั้งแต่เขาอายุ 5 ขวบแล้ว
แต่ก็หายไปครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก
หมอบอกไว้ว่า โรคนี้มันเวียนนะ

หมอเขาก็แม่นอย่างกับตาเห็น
เมื่อครบ 10 ปีพอดีมันโผล่มาอีก
ตอนนั้นอยู่ดีๆ เขาก็เบลอเพราะมีเนื้องอกในสมอง
ทีนี้จะผ่าตัดก็ผ่าไม่ได้

ฉายแสงไปได้แปดเดือน ก็ตรวจเจอโพรงน้ำในสมอง
การรักษาดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในที่สุดก็ทรุดลงๆ
จนเขาเสียไป”

น้าของน้องนนท์ระบุหลานผม คือ เนื้อนาบุญ

“บนเตียงในโรงพยาบาลศิริราช ก่อนเขาจะจากไป
เขาหัวเราะกิ๊กๆ กั๊กๆ ตลอด
ไม่เหมือนคนป่วย
ใครที่จะมาโอ๋ๆ เขา เขาไม่ชอบ
แม่เขาร้องไห้เขาก็ว่าเอา

เขาบอกว่าเขายังอยู่ เขาเดินไปบอกเพื่อนๆ
หรือผู้ป่วยหลายคนที่นอนชั้นเดียวกับเขา
ปลอบใจในฐานะผู้ป่วยด้วยกันให้ไม่ทุกข์
พูดคุยให้ทุกคนสนุกสนานด้วย

ผมว่ามันเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก
ผมเสียดายเด็กอย่างนี้ผมบอกตรงๆ
หากเขายังอยู่ เขาคือเนื้อนาบุญ
เพราะเขาเป็นเด็กดี จิตใจใฝ่ธรรมมะ
ส่วนบริจาคร่างกาย เขาก็บริจาคเองที่โรงเรียน
เราไม่ได้ไปบอกให้เขาทำ เราได้แต่บอกว่า ดี
สนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากจะทำ

การจากไปของเขามันจุดประกายให้นึกถึง การทำดี
เราทุกคนในครอบครัวรู้สึกภูมิใจในตัวเขา
เขาสร้างอะไรไว้มันคงมากยิ่งกว่าคุณนามความดี
มันน่าภูมิใจยิ่งกว่า”

ทั้งนี้ก่อนจะจากไป น้องนนท์ (อาจารย์ใหญ่)
ได้เขียนบันทึกเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยกันไว้
พร้อมชี้ให้เห็นทางของธรรมะ
ซึ่งบันทึกเล่มนั้นได้ถูกตีพิมพ์ไปยังโรงเรียน
ที่เขาศึกษาก่อนที่จะเข้ารักษาตัว
รวมทั้งถูกตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ
หนังสือบำเพ็ญพระราชทานเพลิงศพในครั้งที่ 22 นี้....

*"การฟังธรรมะที่ทางโรงพยาบาลเปิดให้ฟัง
แล้วคิดพิจารณา ถ้ากำลังใจดี จิตก็เบิกบานแจ่มใส

การที่ร่างกายจะดีหรือไม่นั้นไม่ควรกังวล
เพราะเราบังคับร่างกายไม่ได้

แต่เราบังคับใจได้ว่าจะให้กังวล
หรือหาทางไม่คิดหมกมุ่นกับโรคที่เป็นอยู่ได้

ที่เขียนมานี้ผมขอฝากไว้เป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยทุกท่าน
เพราะเราก็ป่วยเหมือนกัน

ขอให้ทุกท่านจงมีกำลังใจมีความสุข เจริญ
ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี ร่างกายไม่ใช่ของเราครับ”

กำลังใจ จะดี หรือไม่ดี
ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลนั่นแหละหนา
กำลังใจคนรอบข้างที่ให้มา
ดูเหมือนว่า ไม่เทียบเท่า ของเราเอง

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบันทึกของน้องนนท์ นายสุธี ตุลขำ
อาจารย์ใหญ่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล

“เจตนาที่เขาเขียนบันทึก ผมว่าเขาสร้างแง่คิดให้เรา
ไม่ยึดติด ให้เห็นว่า กรรมของเขาติดเขามามาก

คนเราทุกคนก็แค่นี้
มันป่วยมันก็ป่วย ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ
จนในที่สุดแล้วการจากไปแบบไม่ไร้ค่าเลยครั้งนี้ของเขา
มันให้เรารู้สึกว่า แม้ตายไปแล้ว
เขาก็ยังสามารถทำดีได้”
คุณน้ากล่าวทิ้งท้าย

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้ว
ญาติและครอบครัวของเหล่าอาจารย์ใหญ่จะรับอัฐิ
ไปดำเนินการตามความต้องการต่อไป

สุดท้ายนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร กล่าวว่า
สถิติจำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ที่ได้รับบริจาคในปัจจุบัน
จำนวนร่างของอาจารย์ใหญ่ที่นำมาใช้เรียนมีมากขึ้น
และอยู่ในสภาวะที่เพียงพอต่อการเรียน

“ตอนนี้มีร่างของอาจารย์ใหญ่อยู่มากพอ
แต่เราก็ไม่พอใจเท่าไร
เพราะหากมีมาก แต่เรียนไม่หมดเนี่ยศพจะเสีย
พร้อมกับเสียเจตนารมณ์ของอาจารย์ใหญ่ด้วย
อย่างเราใช้เรียนทั้งหมด 70 ร่าง
เราก็เก็บไว้เผื่ออีก เป็น 140 เลย
เผื่ออนาคตอาจจจะไม่เพียงพอต่อการเรียน

พูดตรงๆ คนไทยน่ะใจบุญ
จึงทำให้มีอาจารย์ใหญ่เยอะอย่างนี้

อย่างล่าสุด หลวงพ่อคูณท่านก็ยังแจ้ง
ประสงค์จะบริจาคร่างกายให้กับทางม.ขอนแก่นเลย
ในขณะที่บรรดาลูกศิษย์บางส่วน
ก็ขอหลวงพ่อคูณท่าน ไม่อยากให้บริจาค

ผมนี่สุดประทับใจคำที่ท่านบอกเลยว่า

“ตายแล้วมันก็เน่าหมด
พวกมึงให้กูทำบุญสมใจไม่ได้เหรอ”

อันนี้ผมว่าเรามีตัวอย่างที่ดีด้วย
ในขณะที่ผมดูข่าวว่าคณะแพทย์ที่อังกฤษ
เขาขาดแคลนศพที่จะมาเรียนกายวิภาคนะ
แต่คนไทยกลับมีปริมาณผู้บริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวัน เราจึงทำศพให้ใช้ได้หมด
โดยที่สถาบันต่างๆที่ต้องการก็จะติดต่อมารับที่เรา

เพราะการบริจาคร่างกาย
ก็นับเป็นการทำบุญอย่างสูงสุด
คือการทำบุญด้วยธรรมทาน
คือการให้ความรู้นั่นเอง”….












Create Date : 05 มิถุนายน 2550
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 23:30:36 น. 2 comments
Counter : 2286 Pageviews.

 
กำลังหาข้อมูลด้านนี้อยู่ อยากจะบริจาคร่างกายน่ะค่ะ

มีรายละเอียดเยอะดีขอนำไปใช้หน่อยนะคะ


โดย: Tassanee วันที่: 22 ธันวาคม 2551 เวลา:4:27:54 น.  

 
ยินดีค่ะ


โดย: พิมพการัง วันที่: 27 ธันวาคม 2551 เวลา:22:41:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

พิมพการัง
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




. .
Friends' blogs
[Add พิมพการัง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.