เที่ยวชมของดี ในหอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม


เที่ยวชมของดี ในหอไตรวัดระฆังวัดระฆังโฆสิตาราม

วันนี้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวชมวัดระฆังโฆสิตารามกันวันนี้จะพาไปชมของดีในหอพระไตรปิฎก ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถเก่าของวัดซึ่งปัจจุบันเป็นวิการหลวงพ่อขาว ด้านหน้าเป็นที่ให้เช่าวัตถุมงคลต่างๆ ส่วนการเที่ยวชมส่วนอื่นๆ ของวัดระฆังจะนำเสนอในตอนต่อๆไปครับ วันนี้ขอพาเยี่ยมชมหอไตรกันก่อนครับ ทำไมถึงจั่วหัวว่าไปชมของดีที่หอไตรหลายคนสงสัยว่ามีของดีอะไร ของดีที่ผมว่าไม่ใช่วัตถุมงคล หรือของขลังอะไรทั้งสิ้นแต่เป็นงานศิลปไทยระดับบรมครูช่างไทย ทั้งงานจิตรกรรม และงานสลักลวดลายซึ่งในปัจจุบันงานศิลป์เหล่านี้ที่สมบูรณ์นั้นหาชมได้ยากยิ่งในกรุงเทพ



ด้านหน้าลักษณะหอไตรจะเป็นเรือนไทยแฝด 3 หลังปลูกติดกัน

ซึ่งตามประวัติที่ได้ทราบมาแต่เดิมเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 สมัยที่พระองค์ทรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วทรงมีพระราชประสงค์จะปฏิสังขรณ์ปรับปรุงให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีพระราชประสงค์จะยกขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎก จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นเรือนแฝด 3 หลัง หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอกลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นหอนั่ง แต่เดิมเป็นหลังคามุงจากได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้องชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นการมุงกระเบื้องแบบอยุธยากรุงเก่าเรียกว่าหาชมได้ที่นี่เท่านั้นในกรุงเทพ แม้แต่ในอยุธยาก็หาชมได้ยากยิ่ง และเปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สัก ใช้แผ่นกระดานไม้สักเป็นฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพไทยทั้งเรื่องพุทธชาติชาดก และเรื่องเขาพระสุเมรุ บานประตูด้านในที่เชื่อมหอกลางกับหอนอนเขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านหน้าแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกและดอกไม้ ใต้หลังคาติดคันทวยสวยงาม



ซุ้มประตูด้านหน้าของหอไตรแกะสลักลวดลายสวยงามสงสีทองประดับกระจกสี

หลังจากทราบประวัติคร่าวๆกันแล้วครานี้เรามาชมหอไตรแห่งนี้กันครับ พอเดินเข้ามาจะพบกับความร่มรื่นของต้นจันทร์และต้นไม้อื่นๆ แต่เดิมเคยมีต้นจันทร์อยู่ 8 ต้นตอนนี้เหลือเพียงต้นเดียวแต่ก่อนหลายๆ คนจึงเรียกว่า ตำหนักจันทร์ จันทร์ พอเราเดินขึ้นมาจะพบกับบานประตูและซุ้มประตูที่สลักลวดลายอย่างสวยงามด้วยฝีมือช่างสมัยอยุธยา การสลักมีความปราณีตออ่นช้อยลงด้วยสีทองประดับกระจกสี พอเดินผ่านประตูทางเข้า ด้านบนหลังคามีการบุกระเบื้องมีหน้ากระจังเป็นรูปเทพพนมแบบอยุธยา ซึ่งเราจะพบที่นี่ที่เดียวในกรุงเทพ



บานประตูหน้าทางเข้าพอเข้ามาจะมีระเบียงลวดลายสลักลายมังกรและดอกไม้สวยงามช่างระดับครู



คันทวยที่สวยงามประดับรอบหอไตรซึ่งลงสีทองประดับกระจกสี



และพอเรามองลงมาจะพบกับความงามเหนือระดับขึ้นมาอีกที่บานประตูทางเข้าสู่ตัวเรือนที่หอกลาง มีการสลักลวดลายที่วิจิตรนักเป็นรูปกนกและนกวายุภักษ์ ที่เส้นสายงามกว่าประตูหน้าที่ว่าสวยแล้วบานนี้สวยขึ้นอีกน่าจะช่างฝีมือคนละคนกันสลักซึ่งลงสีทองและประดับกระจกสีแบบเดียวกัน พอย่างเท้าเข้ามาในหอไตรจะพบกับ พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 1 เขียนด้วยสีน้ำมันให้ได้สักการะกันก่อนด้านขวามือจะเป็นหอนั่ง



หอนั่งซึ่งน่าจะใช้ในการนั่งอ่านคัมภีร์พระธรรมต่างๆ ปกติเรือนไทยจะมีลักษณ์แบบนี้คือมีสามหลัง มีหอนอน หอกลาง หอนั่งไว้รับแขก และมีตู้พระธรรมเขียนลายรดน้ำฝีมือชั้นครู สวยงามส่วนฝาเรือนมีภาพเขียนรูปเทวดาอยู่ด้านบน ถ้าหันกลับไปมองฝาเรือนหอกลางด้านประตูทางเข้าจะพบกับภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ที่เขียนโดย พระอาจารย์นาค ซึ่งภาพวาดของท่านได้ออกถึงความมีพลังดูสมจริงสมจังได้อย่างน่าอัศจรรย์โดยเฉพาะ ภาพจากตอนศึกกุมภกรรณ ตอนสุครีพประลองกำลังกับกุมภกรรณ ซึ่งสุครีพกำลังถอนต้นรัง ซึ่งสีหน้าการแสดงออกของภาพดูขึงขัง แข็งแรง รวมถึงรากต้นรังทีกำลังถูกถอนพ้นดินมันสะท้อนไห้เห็นถึงรากที่หยั่งลึกในดินและการออกแรงอย่างมากของสุครีพในการถอนต้นรัง ซึ่งยากที่หาช่างเขียนที่สามารถถ่ายอารมณ์ได้ขนาดนี้ ซึ่งสภาพตอนนี้ค่อนข้างลบเลือน ต้องค่อยๆพินิจดูซึ่งภาพที่ฝามีสองด้านอีกด้านอยู่หลัง พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 1 ซึ่งค่อนข้างมืดจะดูลำบากหน่อย



ภาพจากตอนศึกกุมภกรรณ ตอนสุครีพประลองกำลังกับกุมภกรรณ ซึ่งสุครีพกำลังถอนต้นรัง ซึ่งสีหน้าการแสดงออกของภาพดูขึงขัง





ด้านบนของฝาใต้ชายคามีรูปเทวดานั่งเรียงกันหลายองค์ในด้านฝาฝั่งตะวันออกของหอนั่ง และเรื่องรามเกียรติ์จะอยู่ด้านล่างตรงหอกลางฝาฝั่งตะวันออกเช่นเดียวกัน











หอนั่งด้านขวามือมีตู้พระธรรมเขียนลายรดน้ำสวยงาม



ลายรดน้ำรูปเทพพนม มีความสวยงามการต่อลายฝีมือชั้นครูช่าง



บรรยากาศโดยรอบในส่วนของหอนั่ง



ลายรดน้ำอีกด้านของตู้พระธรรม



ภาพเขียนที่เหนือบานประตูทางเข้าจากหอกลางสู่หอนอนจะเขียนเป็นลายรดน้ำเช่นเดียวกัน ด้านในฝั่งหอไตรมีรูปพระและเทวดา











พอเดินเข้ามาในส่วนที่เป็นหอนอนซึ่งเป็นที่เก็บตู้พระธรรมขนาดใหญ่จนไม่น่าที่จะขนเข้าประตูไปได้ในอดีตคงจะมีการขนเข้ามาก่อนแล้วค่อยประกอบผนังฝาเรือน(ผู้เขียนสันนิษฐานเองใครทราบรายละเอียดแจ้งด้วยครับจะได้แก้ไข)



ลายรดน้ำบานประตูตู้พระธรรม



พอเข้ามาถ้าเราหันไปที่ด้านซ้ายมือจะมีภาพบนฝาผนังเป็นเรื่องทศชาติชาดกคาดเดาน่าจะเป็นฝีมือ พระอาจารย์นาค เช่นกัน จุดเด่นในภาพนี้คือภาพสตรีที่รูปร่างอวบอิ่ม เครื่องแต่งกายที่สวยงามลวดลาย ใส่ผ้านุ่งลายดอก ห่มสไบเฉียงดูแล้วมีลักษณะสูงศักดิ์ สะท้อนให้เราจินตนาการได้ถึงวิถีชีวิต และสังคมในยุคสมัยนั้น ภาพแสดงทางสีหน้าได้อารมณ์ที่เป็นธรรมชาติเวลาไปลองสังเกตุดูครับ









ส่วนฝาผนังด้านขวาด้านข้างตู้พระธรรม มีภาพเขียนเเกี่ยวกับเรื่องเขาพระสุเมรุแต่ในประวัติว่าหายไปครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นช่วงที่มีการย้ายจากสระมาปลูกที่ตั้งปัจจุบัน เพราะน่าจะตัดแต่งให้พอดีกับขนาดของพื้นที่





บานหน้าต่างภายในหอนอนด้านนอกจะเขียนลายเทวดาลงรักปิดทอง ด้านในภาพเขียนสีรูปเทวดา








บานหน้าต่างภายในด้านที่หันออกด้านนอกลงรักปิดทองรูปเทวดาสวยงาม ด้านในเป็นภาพเขียนสีรูปเทวดา เป็นแบบนี้ทุกบาน ซึ่งเวลาเข้ามาในนี้ทำให้เราต้องค่อยๆดูภาพไปเรื่อยจะเห็นว่างดงามเพียงใด ไม่น่าเขื่อว่าของดีๆแบบนี้จะอยู่ในหอไตรน้อยคนนักที่จะขึ้นแวะเวียนมาชมเวลามาทำบุญที่นี่ ผู้เขียนยอมรับสมัยก่อนก็ไม่ใส่ใจเลยมาไหว้พระเสร็จก็กลับ พอได้มาชมแหมไอ้เรานี่มันก็สักจะมาทำบุญไม่เคยสนใจของสวยๆงามเลย ระยะหลัง 5-6 ปีมานี้เลยสนใจเป็นพิเศษไปวัดไหนก็พยายามเดินมุมนั้นมุมมี้เผื่อเจอของดีของสวยงาม บางครั้งไม่เจอของดีที่ว่าแต่ที่เจอคือหมาวัดมันไล่เอาแทบวิ่งไม่ทัน เพราะชอบไปสอดส่องหาของดีเลยเจอเจ้าหมาวัดแทน






*** เสริมนิดนึงครับหอไตรแห่งนี้ได้รับการบูรณะล่าสุดเมื่อก่อนจะฉลองกรุงเทพครบ 200 ปีใน พ.ศ.2525 โดยท่านอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทุ่มแรงกาย แรงใจ ซ่อมแซมภาพต่างๆ ทำความสะอาดลงน้ำยาเคลือบอย่างดี จากฝาหอไตรที่มีแต่เขม่าจับแทบมองไม่เห็นลวดลาย ท่านก็มาทำความสะอาดซ่อมทุกวัน จนเราได้เห็นของสวยๆงามๆอย่างนี้ และนี่คือบานหน้าต่างบานที่ท่านทุ่มเทมากที่สุดเพื่อจะดูลวดลาย แม้จะดูยากแต่ก้คุ้มที่เราจะพิจารณาดู บานหน้าต่างตั้งอยู่ภายในหอนอน ด้านฝั่งตะวันออก ***



ส่วนของเก่าอื่นๆเช่นหน้าบันเหนือซุ้มประตู และบานหน้าต่างที่ลายสลักลวดลายดอกไม้ น่าจะเป็นของเก่าตั้งอยู่บริเวณหอกลางตรงประตูทางเข้า แต่สีทองและกระจกสีที่ประดับหลุดเกือบหมดแล้ว ครับวันนี้ก็นำเสนอแค่นี้ก่อนครับ ถ้าวันเสาร์หรืออาทิตย์นี้ใครว่างก็ลองแวะไปชมดูนะครับ ส่วนเรื่องราวอื่นๆของวัดระฆังโฆสิตาราม ติดตามได้ในตอนต่อๆ ไปครับ

แผนที่เดินทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม
//g.co/maps/4bksh

https://www.facebook.com/paiwaipra

https://www.paiwaipra.com



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2555 22:17:13 น.
Counter : 12608 Pageviews.

2 comments
  

โดย: Kavanich96 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:5:19:51 น.
  
โดย: amulet108 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:13:22:13 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

DJ.piggypop
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2555

 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
 
 
All Blog