สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 สิงหาคม 2552
 
 
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก



โครงสร้างของพื้นและบันได

โครงสร้างของพื้นและบันไดนับว่าเป็นส่วนที่สำคัญของตัวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในด้านของความแข็งแรงและความคงทน เพราะพื้นเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักของสิ่งต่างๆ ทุกชนิดที่ตั้งอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้ เตียง โต๊ะ หรืออาจจะเป็นชั้นวางหนังสือ ซึ่งบางจุดอาจจะต้องรับน้ำหนักนับร้อยกิโลกรัมต่อตารางเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้ ในบางครั้งพื้นและบันไดอาจจะต้องรับแรงกระแทกต่างๆ นอกเหนือจากความคาดหมาย เช่น แจกันกระเบื้องใบใหญ่ตก ตู้หนังสือล้ม หรือแม้กระทั่งเกิดไฟไหม้หรือเกิดแผ่นดินไหว ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ และหากบังเอิญเกิดขึ้นมาแล้วโครงสร้างของพื้นที่มั่นคงแข็งแรงกว่าก็ย่อมจะเกิดความเสียหายน้อยกว่าและให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตของผู้อยู่อาศัยและทรัพย์สินมากกว่า ไม่เกิดการพังทลายลงมาง่ายๆ เมื่อทราบถึงความสำคัญของพื้นและบันไดเช่นนี้แล้วจึงอยากให้ผู้อ่านทำความรู้จักกับสิ่งเหล่านี้ไว้พอเป็นพื้นความรู้บ้าง โดยจะขอเน้นที่เรื่องของพื้นเป็นหลักเพราะเป็นส่วนประกอบที่กินบริเวณมากของตัวบ้านและมีเรื่องราวที่ต้องศึกษากันมาก
พื้นที่ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วๆไปสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. พื้นไม้
2. พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งยังสามารถแบ่งชนิดออกได้อีกตามลักษณะของการผลิตและการใช้งาน ได้แก่
- พื้นหล่อกับที่
- พื้นสำเร็จรูปแบบแผ่นท้องเรียบ
- พื้นสำเร็จรูปแบบกลวง
ส่วนบันไดนั้นก็มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับพื้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นโครงสร้างที่ทำด้วยไม้หรือ คอนกรีตเสริมเหล็กชนิดหล่อกับที่

พื้นไม้
พื้นไม้เป็นโครงสร้างของพื้นแบบง่ายๆ โดยใช้คานทำด้วยไม้ปูด้วยไม้แผ่นพื้นเรียงกันโดยวิธีเข้าลิ้นแล้วตอกตะปูยึดไว้ มักจะใช้ไม้เนื้อแข็งที่ให้ความแข็งแรง เช่น ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้สัก ไม้เต็ง เป็นต้น
โครงสร้างชนิดนี้มีข้อดี คือ ทำง่าย ประหยัดเวลา แต่มีข้อเสีย คือ รับน้ำหนักได้น้อย อาจมีเสียงดังเวลาใช้งานเนื่องจากไม้หดตัว ไม้หายากขึ้นและมีราคาแพงขึ้น ปัจจุบันพื้นไม้มักไม่ค่อยนิยมทำกันแล้วเนื่องด้วยเหตุผลข้างต้น แต่การทำบันไดยังนิยมใช้โครงสร้างไม้กันอยู่มาก เพราะให้ความสวยงามแบบธรรมชาติและไม่ต้องใช้ไม้จำนวนมากนัก

พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆตามลักษณะการผลิตและการใช้งาน ได้แก่
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแบบหล่อกับที่
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแบบหล่อกับที่เป็นรูปแบบของโครงสร้างพื้นที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม กรรมวิธีในการทำจะคล้ายกับการทำเสาและคาน กล่าวคือ จะต้องมีการทำไม้แบบ ผูกเหล็กเส้นในลักษณะเป็นตะแกรงโดยขนาดของเหล็กเส้นที่ใช้และความถี่ของช่วงตารางจะขึ้นอยู่กับการคำนวณการรับน้ำหนัก ในการใช้งานแล้วเทคอนกรีตหล่อลงไป
การทำพื้นด้วยวิธีนี้มักไม่ค่อยนิยมกันแล้วใน การปลูกสร้างบ้านเรือนในปัจจุบัน เพราะขั้นตอนยุ่งยากต้องเสียเวลาในการทำไม้แบบ และต้องใช้เวลานานกว่าปูนที่หล่อจะอยู่ตัวจนสามารถใช้งานรับน้ำหนักได้ แต่ก็ยังมีการใช้กันบ้างในงานบางลักษณะ เช่น การทำพื้นชั้นล่างที่ไม่ได้ยกพื้นอยู่บนคาน การทำพื้นห้องน้ำที่จะต้องมีการเจาะรูเพื่อเดินท่อต่างๆ เพราะสามารถวางตำแหน่งของโครงเหล็กเส้นไม่ให้ตรงกับรูที่เจาะได้ ต่างกับพื้นแผ่นสำเร็จรูปที่จะมีโครงลวดเหล็กฝังมาอยู่แล้วการเจาะรูพื้นนั้นถ้าหากทำให้ลวดเหล็กขาดตรงจุดใดบริเวณนั้นก็จะไม่แข็งแรงหรือการทำโครงสร้างของบันไดคอนกรีตก็ยังคงต้องทำแบบหล่ออยู่กับที่

พื้นสำเร็จรูปแบบแผ่นท้องเรียบ
โครงสร้างของพื้นชนิดนี้จะประกอบด้วยพื้นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูปแบบแผ่นท้องเรียบ (prestressed cncrete floor plank) นำมาจัดวางเรียงกันเป็นพื้นห้องแล้วเททับด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอีกชั้นหนึ่ง พื้นประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนทั่วไป เพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยากและประหยัดเวลาเนื่องจากไม่ต้องทำไม้แบบ อีกทั้งเมื่อทำสำเร็จแล้วก็ สามารถใช้งานรับน้ำหนักได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ต้องคอยให้คอนกรีตอยู่ตัวหรือบ่มตัวนานเหมือนกับการทำพื้นคอนกรีตแบบหล่อกับที่และสามารถรับน้ำหนักได้ดี

พื้นคอนกรีตอัดแรงแบบแผ่นท้องเรียบที่นิยมใช้กันและมีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดนั้น ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วเสริมด้วยลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูงส่วนใหญ่จะเป็นพื้นสำเร็จรูปที่มีขนาดความกว้าง 30-35 เซนติเมตร หนา 5 เซนติเมตร และมีช่วงความยาว (span length) 1.0-4.5 เมตร ใช้โครงลวดเหล็กอัดแรงขนาด 4-5 มิลลิเมตรฝังตามแนวยาวเป็นจำนวน 4-7 เส้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของแผ่นพื้นสำเร็จรูปและการใช้งานว่าต้องการให้รับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด

พื้นสำเร็จรูปแบบกลวง
พื้นสำเร็จรูปแบบกลวง (hollow core slab) เป็นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอีกแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างไปจากพื้นสำเร็จรูปแบบแผ่นท้องเรียบที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ พื้นชนิดนี้จะมีช่วงความยาวที่ยาวกว่า โดยอาจมีช่วงพาดที่ยาวถึง 12 เมตรโดยไม่เกิดการแอ่นตัวและไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันชั่วคราวในการก่อสร้าง มีขนาดและความหนาให้เลือกมากกว่า สามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่ามักใช้กับอาคารสำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารจอดรถมากกว่าการใช้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป การเทคอนกรีตทับหน้านั้นอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และเนื่องจากพื้นสำเร็จรูปชนิดนี้เป็นแบบกลวง ฉะนั้นช่องภายในที่กลวงยังสามารถใช้ประโยชน์ในการเดินสายไฟหรือท่อน้ำได้อีกด้วย

การก่อสร้างพื้นบ้านทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันนั้นมีโครงสร้างพื้นที่นิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภทคือ
พื้นสำเร็จรูป และ พื้นหล่อในที่ สำหรับพื้นสำเร็จนั้นเป็นพื้นที่นิยมใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีความสะดวก และรวดเร็ว ในการก่อสร้าง และมีราคาประหยัด แต่สำหรับพื้นหล่อในที่ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ในส่วนที่เป็นห้องน้ำ หรือส่วนที่ต้องเจาะรูที่พื้น เนื่องจากพื้นสำเร็จรูปไม่นิยม และไม่ควรเจาะรูที่พื้น เพราะอาจทำให้ความแข็งแรง ของแผ่นพื้นลดลงได้ ฉะนั้นในส่วนนี้จึงยังต้องใช้พื้นแบบหล่อกับที่ ก่อนที่จะหล่อพื้นห้องน้ำนั้น ควรมีการเลือกสุขภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากระยะของท่อต่าง ๆ ของสุขภัณฑ์รุ่นต่าง ๆ นั้น ไม่เท่ากัน ตำแหน่งการฝังท่อ เพื่อเจาะรูที่พื้นสำหรับงานเดินท่อจึงไม่เท่ากันด้วย

พื้นสำเร็จรูป
ในสมัยก่อนเวลาจะก่อสร้างพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กจะมีขั้นตอนมากมาย ต้องตั้งไม้แบบผูกเหล็กเสริม ทำค้ำยันแล้วค่อยเทคอนกรีต และกว่าจะทำงานขั้นต่อไป ได้ต้องรออีกหลายวัน แต่ในสมัยปัจจุบัน มีการก่อสร้างพื้นโดยใช้พื้นสำเร็จรูป ซึ่งทำให้การก่อสร้าง สะดวกรวดเร็ว และประหยัดมากการใช้งานพื้นสำเร็จรูปมีวิธีการที่สะดวก ง่ายดาย กว่าการหล่อพื้นแบบปกติมาก วิธีการ คือ หล่อคานคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือตั้งคานเหล็กเตรียมไว้ ้แล้วค่อยวางพื้นสำเร็จรูป พาดเรียงระหว่างคาน แล้วดำเนินการผูกเหล็กตะแกรงด้านบนพื้น แล้วเทคอนกรีต ปรับระดับทับหน้า เมื่อคอนกรีตทับหน้าเซ็ตตัวดีแล้วก็สามารถ ทำผิวพื้นหรือใช้งานได้เลย ข้อจำกัดของพื้นสำเร็จรูป คือไม่สามารถเจาะพื้นได้ ดังนั้น ส่วนที่เป็นงาน ระบบท่อ ที่ต้องผ่านพื้นจะต้องมีการวางแผนและสั่งงานล่วงหน้าอีกทั้ง พื้นสำเร็จจะมีการรั่วซึมน้ำได้ ส่วนของบ้านที่เป็นห้องน้ำและระเบียงหรือ พื้นที่ต้องสัมผัสกับน้ำตลอดเวลาจึงไม่ควรใช้พื้นสำเร็จ

พื้นสำเร็จรูปมีมากมายหลายชนิด ให้เลือกใช้ ในบ้านพักอาศัยทั่วไปนั้น นิยมใช้พื้นสำเร็จรูปแบบท้องเรียบ ซึ่งใช้ได้ดีในช่วงเสา 3.5 - 4.5 เมตร ในขณะที่ แบบมีรูกลวง (hallow core) นั้นสามารถใช้ในช่วงเสาที่มีความกว้างถึง 6 -15 เมตร นิยมใช้กันในอาคารขนาดใหญ่ ส่วนพื้นระบบ Post tension คือระบบพื้นคอนกรีตที่มีเหล็กชนิดพิเศษ ที่ออกแบบมา ให้สามารถ รับแรงดึง ได้มาก ๆ เสริมอยู่ภายใน และทำการดึงเหล็กชนิดพิเศษนั้น ให้ตึงเมื่อหล่อคอนกรีตเสร็จแล้ว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของพื้น ช่วยให้พื้นรับน้ำหนักมากขึ้น การที่มีเหล็กแรงดึงสูงเสริม และดึงอยู่ในพื้นคอนกรีต ทำให้โครงสร้างชนิดนี้มีหน้าตัดที่บางลง และไม่จำเป็นต้องมีคานมารัดหัวเสา เพื่อถ่ายน้ำหนักพื้นสู่เสาด้วย แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้กับอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ ไม่ค่อยพบเห็นพื้นชนิดนี้ ในบ้านพักอาศัยเท่าใดนัก เนื่องจากต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างชั้นสูงยุ่งยาก และมีราคาแพงมาก นอกจากกรรมวิธีการทำพื้นบ้านแบบต่าง ๆ แล้ว

ลักษณะการวางพื้นเองก็ยังแบ่งได้ 2 วิธี คือ การวางพื้นถ่ายน้ำหนักบนคาน (slab on beam) และการวางพื้นให้ถ่ายน้ำหนักบนดิน (slab on ground) โดยการวางพื้นบนดินนั้น นิยมทำกันในชั้นที่ติดกับพื้นดินที่ต้องได้รับน้ำหนักมากๆ เช่นบริเวณจอดรถ ลดปัญหา เรื่องการทรุดร้าวของโครงสร้าง และคานได้ เนื่องจากน้ำหนักพื้นทั้งหมดได้ถ่ายลงสู่พื้นดินโดยตรงนั่นเอง ในเรื่องการเทพื้นนั้น ควรเทต่อเนื่องให้เสร็จเสียทีเดียว จะเป็นการดีเพราะคอนกรีตจะได้เป็นเนื้อเดียวกัน ตามมาตรฐานแล้ว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก จะต้องมีคอนกรีตหุ้มเหล็กเส้นไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร โดยใช้คอนกรีต ที่มีอัตราส่วน ปูน : ทราย : หิน เป็น 1:2:4

วิธีตรวจสอบความแข็งแรงของพื้นกัน คำว่า พื้น ในที่นี้หมายถึง โครงสร้างพื้น ไม่ใช่ วัสดุปูพื้น หากพื้นมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ มักจะปรากฎมีรอยร้าวให้เห็น ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นบนโครงสร้างพื้น และเป็นการบอกให้รู้ว่าโครงสร้างอาคาร หรือบ้านนั้น กำลังจะมีปัญหาอาจจะ ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยเสียแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการแก้ไข จึงควรที่จะตรวจสอบ เพื่อหาทางป้องกัน และแก้ไขกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตกันจนแก้ไม่ทัน

ในการตรวจสอบหาสาเหตุการร้าว หรือทดสอบความแข็งแรงของพื้นนั้นบางครั้ง ก็เป็นเรื่องยากเพราะเมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้ว ท่านแทบจะไม่มีทางตรวจสอบองค์ประกอบภายในได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ชนิดเหล็ก ขนาดเหล็ก
จำนวนเหล็ก การผูกเหล็ก จึงเป็นการป้องกันที่ดี หากคุณเอาใจใส่ดูแล ในระหว่างการก่อสร้างเป็นอย่างดีตั้งแต่แรก แต่หากไม่แน่ใจในคุณภาพการก่อสร้าง หรือมีรอยร้าวให้เห็นแล้วนั้น ในการตรวจสอบรอยร้าวนั้นก็พอจะทำได้ และวิธีที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การทดสอบด้วย การเอาน้ำหนักจริงที่โครงสร้างจะต้องรองรับ ( ตามมาตรฐานทางวิศวกรรมที่ได้ออกแบบไว้ )ขึ้นไปวางซึ่งสามารถกระทำได้ 3 วิธีคือ

1. ใช้ถุงปูนวางบนพื้นทดสอบ เพราะปูนแต่ละลูกจะมีน้ำหนักกำกับไว้แน่นอน
2. ใช้ถุงปูนบรรจุทรายวางบนพื้นทดสอบ ต้องคำนวณคร่าวๆว่า ทรายถุงหนักเท่าไร
3. กั้นพื้นบริเวณที่จะทดสอบและใส่น้ำลงไป วิธีนี้นอกจากใช้ทดสอบรอยร้าวแล้วยังทดสอบได้ว่าพื้นมีการรั่วซึมของน้ำหรือไม่

ถึงวิธีตรวจสอบจะมีอยู่ แต่การป้องกันไว้ก่อนด้วยการเอาใจใส่ ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำตั้งแต่ต้น เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ครับ และในการทดสอบความแข็งแรงของพื้น ก็ต้องมีวิศวกรดูแลทุกครั้งด้วย
ที่มา : //www.novabizz.com/CDC/Process.htm


ระวัง! ผู้รับเหมาเทพื้นคอนกรีตหนาเพิ่มแถมฟรีๆ อันตรายนะ

โดย ศุภวิศวร์ ปัญญาสกุลวงศ์ เมื่อ 2 ก.ค 2548

เมื่อผู้รับเหมาบางรายทำการก่อสร้างโดยเทระดับพื้นผิดพลาด โดยเทพื้นต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ในแบบ เพื่อที่จะไม่ต้องทุบรื้อแล้วทำใหม่ เลยอาจ บอกว่าจะเทคอนกรีตเสริมทับหน้าให้หนาเป็นพิเศษฟรี ขอเตือนว่าอย่าไปหลงกลและหลงดีใจว่า เขาใจดี เทคอนกรีตให้หนาเพิ่มโดยไม่คิดเงินเพิ่ม ได้คอนกรีตฟรีๆ แบบนี้แล้วดี บ้านจะได้แข็งแรงมากขึ้น

โดยหลักแล้วความหนาของพื้นที่วิศวกรผู้ออกแบบได้คำนวณมาแล้วนั้น เพียงพอเฉพาะที่จะรับน้ำหนักตามที่กำหนด ซี่งได้คำนวนออกแบบไว้สำหรับรับน้ำหนักของตัวพื้นเองพร้อมๆ กับรับน้ำหนักบรรทุกจรตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้สอยพื้น(น้ำหนักสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้ต่างๆ ที่จะวางบนพื้นภายหลังจากเมื่อได้ก่อสร้างพื้นแล้วเสร็จ)

ความหนาของพื้นที่เพิ่มขึ้นเกินจากที่วิศวกรได้ออกแบบไว้ ถือว่าเป็นภาระน้ำหนักส่วนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลเสียต่อความแข็งแรงและบั่นทอนความสามารถในการรับน้ำหนักของอาคาร สำหรับพื้นหนา 1 ซม. 1 ตารางเมตรจะมีน้ำ หนักถึง 24 กิโลกรัม หากตามแบบได้กำหนดให้พื้นคอนกรีตมีความหนา 10 ซม. แล้วผู้รับเหมาเทคอนกรีตเพิ่มเป็นพื้นหนา 18 ซม. ภาระน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นต่อตารางเมตรจะเท่ากับ 24x8 = 192 กิโลกรัม สมมุติว่าวิศวกรได้ออกแบบให้พื้นสามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ตารางเมตรละ 150 กิโลกรัม (ตามเทศบัญญัติพื้นอาคารพักอาศัยกำหนดให้ต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ 150 กก./ตร.ม.) ตอนนี้น้ำหนักพื้นที่เพิ่มเพราะความหนาที่เพิ่มขึ้นจากพื้น 10 ซม. เป็น 18 ซม. พื้นรับน้ำหนักเพิ่ม 192 กก./ตร.ม ตัวน้ำหนักของพื้นเองก็เกินน้ำหนักบรรทุกจรไปตารางเมตรละ 192-150 = 42 กิโลกรัมแล้ว อันนี้อันตรายซะแล้วโครงสร้างพื้นนี้เมื่อมีการใช้งานมีโอกาสวิบัติสูง ไม่ปลอดภัย แค่รับน้ำหนักตัวเองก็ลำบากแล้ว เมื่อมีการใช้งานยังต้องรับภาระน้ำหนักจรจากสิ่งของที่ต้องวางบนพื้นอีก พื้นอาจจะไม่พังในทันทีเมื่อมีการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากวิศวกรผู้ออกแบบได้เผื่อค่าความปลอดภัย (F.S.) ตามข้อกำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง แต่ต้องขอเตือนว่า อย่าพึ่งได้แน่นอนใจ เพราะโครงสร้างพื้นของท่านนั้นมีความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตราฐาน ซึ่งค่าความปลอดภัยจะถูกบั่นทอนเรื่อยๆจากน้ำหนักส่วนเกินที่ผิดพลาดตลอดจนคุณภาพวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตราฐาน ความเสื่อมคุณภาพของวัสดุตามกาลเวลาจะเกิดเร็วขึ้นกว่าปกติเนื่องจากการมีภาระการรับน้ำหนักที่มากเกินไป เมื่อใดที่ค่าความปลอดภัยยังถูกบั่นทอนไม่หมดโครงสร้างก็ยังพอฝืนทนอยู่ได้ แต่เมื่อใดที่ค่าความปลอดภัยนี้ถูกบั่นทอนหมด อาคารนี้ก็จะถึงจุดวิบัติและเป็นอันตราย

ที่มา : //www.thaihomemaster.com/showinformation.php?TYPE=12&ID=9





Create Date : 25 สิงหาคม 2552
Last Update : 22 กันยายน 2552 10:23:30 น. 0 comments
Counter : 5651 Pageviews.
 

Pial
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add Pial's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com