-'@'-Journey Of Love-'@'- เมื่อหัวใจเดินทาง
<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 ธันวาคม 2553
 
 
-'@'-Journey of Love-'@'-...ตอน 3

นับถอยหลังสู่ปี 2011

**********

ทั้งคู่เดินตามป้ายบอกทางที่มีทั้งข้อความและสัญลักษณ์เป็นรูปรถไฟ กดลงลิฟต์มาชั้นใต้ดินของสนามบิน ซึ่งระยะทางไม่ไกลเลย และค่อนข้างสะดวกมากถึงแม้จะมีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ก็ตาม เพราะทั้งลิฟต์ และชั้นจำหน่ายตั๋วนั้นกว้างขวางมาก สามารถเข็นรถเข้าไปได้พร้อมๆ กันถึง 3 คันเลยทีเดียว ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับรองรับสัมภาระและรถเข็นโดยเฉพาะ จากนั้นก็มายืนมองตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ เพื่อศึกษาวิธีการใช้งาน และอ่านวิธีการใช้จากหน้าจอมอนิเตอร์ระบบสัมผัส แจ้งรายละเอียดของประเภทบัตรโดยสาร ซึ่งมีทั้งรายเที่ยว รายวัน ตั๋วพิเศษสำหรับเด็ก รายละเอียดของสถานีที่จะผ่าน เรียงลำดับตามตัวอักษร ซึ่งง่ายต่อการค้นหา หากรู้ว่าต้องการจะลงที่สถานีไหน สำหรับรถไฟที่วิ่งจากสนามบินเข้าตัวเมืองก็มีเพียงสายเดียวเท่านั้น แต่จะวิ่งวนขวา หรือวนซ้ายเท่านั้นเอง แต่ทุกขบวนก็คือจุดหมายเดียวกัน

หลังจากที่ยืนพิจารณา และทำความเข้าใจอยู่ไม่ถึง 2 นาที เลือกสถานีที่ต้องการเสร็จ ก็หยิบแบงค์ 20 สอดเข้าในช่องสำหรับธนบัตร และรอรับเงินทอน และบัตรรถไฟด้านล่าง ซึ่งคล้ายเครื่องกดซื้อน้ำกระป๋องอัตโนมัติ "13.80 AUD" สำหรับเดินทางเที่ยวเดียวจากสนามบินเข้าเมือง คำนวณแล้วก็เกือบ 400 บาท แพงกว่านั่งแท็กซี่บ้านเราซะอีก หล่อนก้มลงไปหยิบเงินทอนและตั๋วแล้ว จึงหันไปทางเพื่อนสาวที่อยู่ตู้ใกล้กัน ก้มๆ เงยๆ เก็บเศษเหรียญแล้วยอดใหม่หลายครั้ง

“ทำอะไรอยู่ ช้าจริง” ปวีร์รัตน์เดินเข้าไปยืนข้างๆ พลางชะโงกศีรษะมองแทรกเพื่อนไปตรงหน้าจอมอนิเตอร์

“ก็ไม่รู้ทำไมมันไม่ยอมอ่ะ ยอดเงินครบแล้วนะ” ภัทราบ่น แล้วขยับตัวออกเพื่อให้เพื่อนเข้ามาช่วยดูปัญหาได้ถนัด

“มันบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีเงินทอน” ปวีร์รัตน์อ่านคำสั่งบนหน้าจอสักพักจึงหันมาบอก พร้อมชี้ไปที่ประโยคภาษาอังกฤษแจ้งว่า “ขณะนี้ไม่มีเงินทอนเพียงพอในเครื่อง กรุณาหยอดเงินให้พอดีกับจำนวน”

“อ้าวเหรอ...ฮ่ะ ฮ่ะ หน้าแตกเลย ไม่ทันได้อ่าน” ภัทราหัวเราะเขินๆ ขยับเข้าไปอ่านหน้าจอใกล้ๆ แล้วจึงเดินไปซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์อีกฝั่ง “เรียบร้อยแล้ว ไปได้ซักที” หล่อนเดินกลับมาพร้อมตั๋วในมือ จากนั้นก็เข็นรถเข็นไปจอดไว้ข้างๆ กำแพง ลากกระเป๋าเดินทางผ่านเครื่องตรวจตั๋ว มองสำรวจซ้ายขวาอีกครั้งก่อนจะชี้ไปที่ป้ายแจ้งเตือนผู้เดินทางที่มีสัมภาระให้ใช้บริการลิฟต์แทนการลงบันไดเลื่อน “มันทำลิฟต์ไว้ให้คนใช้ ไม่เหมือนบ้านเราเลยเนอะ ทำไว้ประดับเสา” หล่อนพูดประชดให้พอได้ยินกันสองคน ลากกระเป๋าตรงดิ่งไปยืนหน้าลิฟต์ แล้วมองสำรวจป้ายรอบๆ อีกครั้งเพื่อความแน่ใจ แล้วจึงกดปุ่มเรียกลิฟต์ รอซักครู่ประตูลิฟต์ก็เปิดออก ทั้งคู่จึงลากกระเป๋าเดินทางเข้าไปข้างใน กดปุ่มเลือกชั้นชานชลา ซึ่งก็มีให้เลือกเพียง 2 ปุ่มเท่านั้น

เมื่อลงมาข้างล่างก็จัดการลากกระเป๋าต่อไปนั่งที่เก้าอี้รอรถไฟ จากนั้นก็หันไปสนใจสิ่งรอบๆ ตัว ป้ายไฟที่วิ่งเลื่อนขึ้นลงบอกสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่าน มีระบุเวลาที่รถไฟจะเทียบชานชลาว่าจะถึงในอีกกี่นาที ซึ่งค่อนข้างตรงเวลามาก และทำให้ผู้เดินทางสามารถกะเวลาที่ต้องการได้อย่างสะดวก ภายในชานชลาไม่มีเจ้าหน้าที่มายืนคอยเป่านกหวีดเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสบ้านเรา มีเพียงแต่ป้ายข้อความภาษาอังกฤษที่คอยเตือนเหล่านักเดินทางเท่านั้น ซึ่งสำหรับคนที่เพิ่งเคยมาเที่ยวเป็นครั้งแรกคงต้องใช้ความช่างสังเกตและหาข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ทำเรื่องเปิ่นๆ ออกมาให้อาย

หลังจากอ่านป้ายเตือน และป้ายตารางรถไฟแล้ว ก็เห็นว่ายังมีเวลาเหลืออีกเกือบ 2 นาทีกว่าขบวนถัดไปจะเข้าชานชลา ภัทราจึงจัดแจงเปิดกระเป๋าสะพายหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมากดเก็บบรรยากาศรอบๆ เหมือนจะเอาไปทำรายงานประกอบการเดินทางซะอย่างนั้น จนปวีร์รัตน์ต้องเอ่ยปากแซว

“เฟิร์น แกจะต้องทำรายงานส่งอาจารย์เหรอ ถึงถ่ายมันซะทุกซอกทุกมุมอย่างนั้น” ก็ได้รับค้อนงามๆ ส่งมาให้พอเป็นพิธี

รถไฟที่ใช้บริการในออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นรถไฟชั้นครึ่ง สภาพภายนอกดูเก่าตามอายุการใช้งาน แต่ภายในสะอาดสะอ้าน มีพรมสีน้ำเงินปูตลอดทาง แบ่งพื้นที่สำหรับวางกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งคงออกแบบมาให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ในทุกสภาพ หากเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดินบ้านเรา ก็คงต้องยอมรับเลยว่า ต่างประเทศออกแบบให้สามารถใช้งานระยะยาว และสามารถรองรับจำนวนผู้เดินทางได้เป็นอย่างดี ในขณะที่บ้านเราเป็นรถรุ่นใหม่ เทียบจำนวนตู้โดยสารแล้วกลับเล็กกว่ากันเกือบเท่าตัว และมักมีปัญหาให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ

แผนผังการเดินรถไฟในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเหมือนกันคือแบ่งเป็นสีๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ มีจุดบอกการเปลี่ยนขบวน โดยเฉพาะสถานีใหญ่ที่มักจะทำเป็นชั้นใต้ดินลึกลงไปไม่ต่ำกว่า 4 ชั้น มีเส้นทางการเดินทางที่กว้างไกล ครอบคลุมทั้งเมืองซิดนีย์ และเมืองใกล้เคียง ถึงแม้จะมีสถานีรวมทุกสายมากขนาดไหนก็ตาม แต่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัตินั้นก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวมือ (ไม่) ใหม่ (และชอบหนีเที่ยว) อย่าง ปวีร์รัตน์และภัทรา ลำบากมากมายนัก เพียงศึกษาวิธีการตามคำแนะนำที่อยู่ข้างตู้ และดูจากหนังสือคู่มือตารางรถไฟแล้ว ก็สามารถเที่ยวเองได้อย่างสบาย

ส่วนเรื่องภาษานั้นก็ไม่เป็นปัญหามากนักถึงแม้ว่าหล่อนจะไม่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาแต่การใช้งานก็ถือว่าอยู่ในระดับดีพอสมควร เพราะอย่างน้อยหล่อนก็เอาตัวรอดมาได้ตลอด

ใช้เวลาเพียง 13 นาทีไม่ขาดไม่เกิน จากสถานี International Airport ถึงสถานี Central ที่แสนสะดวกสบาย ทั้งสองคนก็เดินลากกระเป๋าลงบันไดชานชลาตามขบวนนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ซึ่งสถานี Central นั้นเป็นชุมทางที่ใหญ่ที่สุดในซิดนีย์เสมือนสถานีหัวลำโพงของบ้านเรา ชานชลาของสถานีทั้งหมดจะทำเป็นบันไดลอดใต้ดิน จากนั้นจะมีป้ายบอกทางว่าจะไปต่อทางไหน ประตูทางออกจะไปโผล่ถนนเส้นไหนบ้าง สร้างความสับสนได้พอสมควร หลังจากที่ทั้งคู่กางแผนที่ก็แล้ว หมุนซ้ายหมุนขวาก็แล้ว ก็ไม่เห็นเจอป้ายชื่อถนนอย่างที่เขียนไว้ในที่อยู่ที่จองมา

“มันบอกว่าให้ออกเส้นที่ไปโผล่ Devonshrine อ่ะ” ปวีร์รัตน์อ่านตามคู่มือและเงยหน้าหาป้ายที่ต้องการรอบๆ

“ไม่เห็นมีในแผนที่เลยนิ” ภัทราก้มลงสำรวจแผนที่อีกครั้ง ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้ปากช่วยหาเส้นทาง โดยการเดินไปถามคนขายของในร้านที่อยู่ใกล้ๆ

“เค้าบอกให้ออกไปทางด้านโน้น” หล่อนเดินกลับมาแล้วชี้มือไปทางด้านที่เขียนว่าทางออกไป Pitt Street

“อืมๆ” ปวีร์รัตน์พยักหน้ารับลากกระเป๋าเดินนำต่อ จนกระทั่งขึ้นมาถึงชั้นบนทั้งคู่เดินผ่านช่องตรวจบัตรออกมาถึงยืนหน้าถนน แล้วก็มองซ้ายมองขวาหาทางไปต่อ

“นี่มัน Eddy Avenue นี่น่า” ภัทราหันไปบอกเพื่อนสาวเดินที่ตามหลังมา ชี้ไปที่ป้ายชื่อถนนเล็กๆ บนกำแพงที่อยู่หัวมุมสุดของอาคาร

“แป๊บนะ ขอดูแผนที่อีกรอบ” ปวีร์รัตน์กางแผนที่แล้วหันกระดาษให้อยู่ในทิศเดียวกับที่ยืนอยู่ “งั้นเราเลี้ยวซ้ายสุดถนนนี้จากนั้นจะเจอถนน Eddy Avenue เลี้ยวซ้ายเดินจนถึงสี่แยกที่ตัดกับ Quay Street” หล่อนอ่านเส้นทางอยู่ซักครู่ แล้วก็พับแผ่นที่เก็บลงกระเป๋า ก่อนจะลากนำไปตามเส้นทางที่บอก

“นั่นมัน YHA ใช่ป่ะ” ภัทราหันมาถามเพื่อนอีกครั้งเมื่อเดินจนสุด Eddy Avenue

“ใช่อ่ะ แต่ฉันจองมาเป็น YHA Railway นะ ไม่ใช่ YHA Central” หล่อนหยิบใบยืนยันการจองห้องพักขึ้นมาดู เพื่อความแน่ใจว่าคนละแห่งกันแน่นอน

“เหรอ??” ภัทราขมวดคิ้วมองอย่างไม่แน่ใจว่าพวกตนมาถูกทางหรือเปล่า

“นั่นไง YHA Railway คราวนี้ถูกต้องแน่” ปวีร์รัตน์ชี้มือบอก เมื่อเห็นป้ายที่พักขนาดใหญ่อยู่สุดถนนกับที่ยืนอยู่ แล้วรีบเดินลากกระเป๋านำไปทันที “ในที่สุดก็ถึงจนได้ อยู่ด้านหลังสถานี Central แค่นี้เอง หลงไปวนอยู่ได้ตั้งนาน” ก่อนจะผลักบานประตูกระจกใส เดินนำเข้าไปที่เคาน์เตอร์ แล้วยื่นใบยืนยันการจอง ให้กับเจ้าหน้าที่

“ขอพาสปอร์ตด้วยครับ” เจ้าหน้าที่ประจำบ้านพักเยาวชนหน้าตายังเป็นวัยรุ่น แต่งตัวสบายๆ ดูแล้วอายุไม่น่าจะเกิน 25 ปี เงยหน้าขึ้นมาบอก หลังจากคีย์หมายเลขอ้างอิงในคอมพิวเตอร์แล้ว

“นี่ค่ะ” ภัทรายื่นของตัวเองให้ก่อน แล้วต้องขมวดคิ้วหมุ่นให้เพื่อนสาว ที่ลงไปนั่งคว้านหาของในกระเป๋าเดินทางด้วยท่าทางลนลาน

“เฮ้ย หาพาสปอร์ตไม่เจอ จำได้ว่าใส่ลงในนี้แน่นอน” ปวีร์รัตน์เงยหน้าขึ้นมาบอก เหงื่อเริ่มผุดพรายทั่วหน้าผาก เอามือล้วงไปในกระเป๋าหาต่ออีกครั้ง

“ฮั่นแน่ อยากอยู่ออสเตรเลียนานๆ ก็บอกมาเหอะ” ภัทราเอ่ยแซวเพื่อนอย่างขำๆ

“เจอแล้ว ดันหลุดไปอยู่ก้นกระเป๋าเลย” หลังจากที่หาเจอ หญิงสาวก็รีบยื่นให้เจ้าหน้าที่ทันที เพียงครู่เดียวก็ได้รับพาสปอร์ตคืน แล้วเดินอ้อมไปด้านหลัง หยิบผ้าสีขาวสะอาดออกมาให้สี่ผืน และคีย์การ์ด 2 อัน อธิบายถึงอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ ชี้ทางไปห้องครัว ห้องนั่งเล่นรวม ห้องน้ำ และกฎการเข้าออกต่างๆ ให้ฟังเหมือนเปิดเทปตอนสอบโทเฟิล พอพูดจบก็มองหน้าสองสาวแล้วถามย้ำอีกครั้งว่าเข้าใจหรือเปล่า ดูจากท่าทางทำหน้างงๆ ของเจ้าหน้าที่แล้วปวีร์รัตน์คิดในใจว่า "ฉันสองคนคงเหมือนกระเหรี่ยงเข้าเมืองแน่เลย" เพราะถึงจะพูดรัวเร็วไปนิด แต่ก็ไม่ยากเกินจะทำความเข้าใจ เพียงแค่อึ้งกับประโยคที่ยังไม่ทันตั้งตัว ทั้งสองจึงต้องพยักหน้ารับ

“ขอบคุณค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ” ภัทราตอบกลับเพื่อจะได้ไม่ต้องฟังซ้ำ เพราะถึงยังไงก็ต้องเดินสำรวจเองอยู่ดี

“ห้อง 102 อยู่ติดประตูทางเข้าเลย” เจ้าหน้าที่ชี้มือไปที่ประตูบานสีน้ำเงินซี่ๆ เหมือนทางเข้าหอพักนักโทษ (ไม่เคยเห็นแล้ว เปรียบเทียบเข้าไปได้ยังไงอ่ะ) ทั้งคู่พยักหน้ารับทราบ หยิบผ้าสีขาวและคีย์การ์ดลากกระเป๋าเดินไปตามทางที่ชี้บอก แล้วเอาคีย์การ์ดเสียบเพื่อปลดล๊อค ดึงประตูใหญ่ให้เปิดออก ก้าวไปหยุดที่หน้าประตูห้องนอน

บ้านพักเยาวชนที่จองมานั้นก็ได้มาจากการค้นหาในอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนก่อน เพราะที่พักจำพวก Backpacker นั้นจะเต็มเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล การจองและชำระเงินนั้นก็แสนจะสะดวกเพียงทำการใส่ข้อมูลพื้นฐาน ชื่อผู้ที่จะเข้าพัก และชำระเงินผ่านระบบตัดบัตรเครดิต แต่ก็จะมีเพิ่มเติมก็คือเรื่องของบัตรสมาชิกบ้านเยาวชนเท่านั้นเอง ซึ่งในประเทศไทยก็มีสาขาตั้งอยู่เช่นกัน กรณีที่ไม่มีบัตรสมาชิกคนที่เข้าพักต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกคืนละ 3 เหรียญ ซึ่งก็แล้วแต่ละประเทศจะตั้งอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นมาเอง

ห้องพักที่ปวีร์รัตน์จองครั้งนี้เป็นห้องแบบแชร์ 4 คนสำหรับผู้หญิง ซึ่งหล่อนจองมา 2 คนเพราะฉะนั้นแน่นอนต้องนอนร่วมกับเพื่อนคนอื่นอีก 2 คนเพียงแต่ว่าในห้องนอนขณะนี้ไม่มีใครอยู่เลย แต่จากกระเป๋าและที่นอนที่วางระเกะระกะนั้นแสดงถึงคนที่มาอยู่ก่อนแล้ว ความกว้างของห้องนอนดูแล้วไม่น่าจะเกิน 2 เมตรครึ่ง มีเตียงสองชั้น วางเป็นแนวยาวต่อกันมีล็อกเกอร์ 4 ตู้กั้นอยู่ คล้ายในโบกี้รถไฟ ผ้าสีขาวสะอาดสองผืนนั้นเจ้าหน้าที่ให้มาเพื่อปูที่นอนเอง ให้ความรู้สึกคล้ายย้อนกับไปสมัยที่ยังเรียนโรงเรียนประจำตอนอยู่ชั้นประถม ซึ่งก็ไม่ได้สร้างความลำบากอะไรให้กับสองสาว เพราะต่างก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อน

ทั้งคู่สำรวจความเรียบร้อย เปิดล็อกเกอร์เช็คสภาพ แยกย้ายกันปูเตียงนอนของตัวเอง ปวีร์รัตน์เลือกนอนชั้นบน ส่วนภัทรานอนชั้นล่าง ต่างคนต่างปูเตียงจนเสร็จ ยืนปาดเหงื่อชื่นชมความสามารถในการปูของตัวเองที่แสนจะเรียบร้อยน้อยกว่าที่บ้านนิดหน่อย แล้วจึงพากันเดินออกมาเพื่อสำรวจในส่วนของห้องน้ำ ที่นี่เป็นห้องอาบน้ำรวม แบ่งชายหญิง ภายในห้องน้ำหญิงก็แบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งห้องอาบน้ำ แบ่งเป็นห้องๆ ย่อยอีก 7 ห้อง และอีกฝั่งเป็นห้องส้วม กับอ่างล้างหน้า หลังจากตรวจสภาพห้องน้ำเสร็จ ก็ตกลงกันว่าคงได้ฤกษ์จัดการตัวเองได้แล้ว เพราะทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน และซักแห้งมาทั้งคืน

ฤดูร้อนของออสเตรเลีย เป็นช่วงเดือนธันวาคม จนถึงประมาณมีนาคม เวลาแตกต่างจากประเทศไทย 4 ชั่วโมง ในเขตซิดนีย์ เมลเบิร์น แคนเบอร์ร่า อากาศหน้าร้อนของที่นี่ก็ร้อนไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ร้อนแต่ไม่เหม็นควันรถ และอากาศค่อนข้างแห้ง อุณหภูมิเฉลี่ยก็ประมาณ 25 – 30 องศา ท้องฟ้าแจ่มใสเหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องหอบเสื้อกันหนาวมาให้เป็นภาระ อีกทั้งกว่าพระอาทิตย์จะตกดินก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่มครึ่งโน่น ทำให้มีเวลาท่องเที่ยวมากกว่าฤดูอื่นๆ เกือบเท่าตัว

หลังจากต่างคนต่างจัดการตัวเองเสร็จเรียบร้อย กลับมาแต่งตัวพร้อมผจญภัยนครใหญ่ ก็ยังต้องแวะไปสำรวจห้องนั่งเล่น กับห้องครัวก่อน เพื่อว่าจะได้วางแผนการกินการนอนถูก ทันทีที่ก้าวเข้ามาในห้องครัวทั้งคู่ต้องอึ้งทันที เพราะมันเหมือนโรงครัวขนาดกลางที่มีอุปกรณ์การทำอาหารครบครัน ทั้งเตา กระทะ มีด จาน ชาม ช้อน ส้อม เตาไมโครเวฟ เครื่องปิ้งขนมปัง ตู้เย็น เครื่องต้มน้ำ ตู้แช่ขนาดใหญ่ และอีกสารพัด

“เป็นไงบ้าง” ปวีร์รัตน์หันไปถามเพื่อนสาวที่กำลังก้มๆ เงยๆ สำรวจตู้เย็นขนาดใหญ่ คล้ายตู้แช่เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ ภายในเต็มไปด้วยกระเป๋าสีน้ำเงิน สีเขียว สีแดง อัดเต็มแน่นไปหมด

“เจ๋งไปเลยอ่ะ แต่ตู้เย็นมันแน่นจนไม่มีที่จะวางแล้วนะซิ” ภัทราเดินย้อนกับมาบอก

“ก็ซื้อของกินแบบที่ไม่ต้องแช่” ปวีร์รัตน์บอกแล้วลองเดินไปที่ชั้นวางของอีกด้าน “นี่ไงเอามาวางตรงนี้แทน” ชี้มือไปที่ช่องว่างที่ยังพอจะมีที่เหลือไม่เยอะมาก "เขียนชื่อแล้วเบียดๆ ไว้ก็แล้วกัน"

“ฉันชักชอบที่นี่แล้วซิ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าโรงแรมแพงๆ เลยเนอะ แต่อยู่สบายกว่าเยอะ อยากกินอะไรก็ทำกินได้สะดวก แต่เฟิร์นเหอะจะไหวหรือเปล่า เห็นว่าคุณหญิงแม่บ่นๆ ไม่ใช่เหรอ” ปวีร์รัตน์เดินนำออกจากห้องครัว หันไปมองหน้าเพื่อนสาว เพราะที่พักทั้งหมด และแผนการเดินทางนั้น หล่อนเป็นคนจัดการเองคนเดียว

“ก็ดีนะ เราชอบ ตอนที่บอกแม่ว่าจะต้องนอนแชร์รวมกับคนอื่น แม่ก็บ่นแหละ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรมาก อีกอย่างฉันไม่ใช่คุณหนูซะหน่อย ไม่ต้องมาแขวะ” ภัทราตอบแล้วยักไหล่ด้วยท่าทางสบาย ก่อนจะคว้าข้อมือเพื่อนให้เดินออกไปสำรวจเมือง เดินแวะย้อนกลับไปที่เคาน์เตอร์เพื่อขอแผนที่เมืองซิดนีย์อีกครั้ง เมื่อได้รับแผนที่และคำอธิบายการเดินทางจากเจ้าหน้าที่สาว ที่ดูอายุไม่ออกว่าเท่าไรกันแน่ ทั้งสองคนก็พร้อมเดินสำรวจเมืองใหญ่ที่คนทั่วโลกฝันใฝ่ทันที

**********


Create Date : 16 ธันวาคม 2553
Last Update : 16 ธันวาคม 2553 11:45:45 น. 1 comments
Counter : 821 Pageviews.

 


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 16 ธันวาคม 2553 เวลา:12:38:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

Poonchayapich-N
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Welcome to My Home...L'Amour De Ma Vie
[Add Poonchayapich-N's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com