หมึกสีดำของไผ่สีทอง
ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางปฏิบัติถึงมโนปฏิบัติ เป็นผู้คงที่ ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ,, การไม่ทําบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลให้ถึงพร้อมหนึง การชําระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง นี่แลเป้นคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
27 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
๒. อัชฌาสัยเตวิชโช ตอนที่ 2


ได้ฌาน ๔

การใช้ญาณเมื่อชำนาญในฌาน ๔ แล้ว ท่านให้เข้าฌาน ๔ ให้เต็มขนาดของฌานก่อนจนจิตสงัดเป็นอุเบกขาดีแล้ว ค่อยๆ คลายจิตออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วกำหนดจิตอธิษฐานว่า ขอภาพที่ต้องการจงปรากฏ แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ ออกจากฌาน ๔ กำหนดรู้ ภาพที่ต้องการจะปรากฏแก่จิตคล้ายดูภาพยนต์ พร้อมทั้งรู้เรื่องไปตลอดจะใช้ญาณอะไรก็ตาม ทำเหมือนกันหมดทุกญาณ จงพยายามฝึกฝนให้คล่องแคล่วว่องไว ต้องการเมื่อไรรู้ได้ทันที การรู้จะคล่องหรือฝืดขึ้นอยู่กับฌาน ถ้าเข้าฌานออกฌานคล่องการกำหนดก็รู้ก็คล่อง ทั้งนี้ต้องหมั่นฝึกหมั่นเล่นทุกวันวันละหลายๆ ครั้ง เล่นทั้งวันทั้งคืนยิ่งดี ความเพลิดเพลินจะเกิดมีขึ้นแก่อารมณ์ ความรู้ความฉลาดจะปรากฏ ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในส่วนแห่งวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในการเกิดจะปรากฏแก่จิตอย่างถอนไม่ออก ความตั้งมั่นในอันที่จะไปสู่พระนิพพานจะเกิดแก่จิตอย่างชนิดไม่ต้องระวังว่าจิตจะคลายจากพระนิพพาน ผลของญาณแต่ละญาณที่จัดว่าเป็นคุณส่งเสริมให้เกิดปัญญาญาณนั้นจะนำมากล่าวไว้โดยย่อพอเป็นแนวคิด

๑. จุตูปปาตญาณ

ญาณนี้ เมื่อเล่นบ่อยๆ ดูว่าสัตว์ที่เกิดมานี้มาจากไหน สัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหนรู้แล้วอาศัยยถากัมมุตาญาณสนับสนุนให้รู้ผลของกรรม ญาณนั้นใช้ในคราวเดียวกันได้คราวละหลายๆญาณ เพราะก็เป็นผลของทิพยจักษุญาณเหมือนกัน เมื่อรู้ว่าบางรายมาจากเทวดาบ้าง มาจากพรหมบ้าง มาจากอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานบ้าง สัตว์ที่ไปเกิดก็ทราบว่า ไปเกิดในแดนมนุษย์บ้าง สวรรค์บ้าง พรหมบ้าง และเกิดในอบายภูมิบ้าง คนรวยเกิดเป็นคนจน คนจนเกิดเป็นมหาเศรษฐี สัตว์เกิดเป็นมนุษย์เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่วที่สั่งสมไว้ เมื่อรู้เห็นความวนเวียนในความตายความเกิดที่เอาอะไรคงที่ไม่ได้อย่างนี้ มองเห็นโทษของสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ เห็นความสุขในสวรรค์และพรหม และเห็นความไม่แน่นอนในการเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ที่ต้องจุติคือตายจากสภาพเดิมที่แสนสุข มาเกิดในมนุษย์หรืออบายภูมิ อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะความไม่แน่นอนผลักดัน เป็นผลของอนัตตาที่เป็นกฎประจำโลกไม่มีใครจะทัดทานห้ามปรามได้ มองดูการวนเวียนในการตายและเกิดไม่มีอะไรสิ้นสุด ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์เป็นการเห็นอริยสัจ มีความเบื่อหน่ายในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากญาณในสมถะคือจุตูปปาตญาณญาณนี้ได้สร้างปัญญาในวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นเพราะผลของสมถะ คือ จุตูปปาตญาณ เพราะเหตุที่่สาวหาต้นสายปลายเหตุจากการเกิดและการตายในที่สุดก็เกิดการเบื่อหน่ายดังว่ามาแล้ว ถ้าปฏิบัติถึงแล้ว จงแสวงหาความรู้จากความเกิดและความตายของตนเองและสัตว์โลกทั้งมวล ทุกวันทุกเวลาจะเป็นครูสอนตนเองได้ดีที่สุด ผลดีจะมีเพียงใด ท่านจะทราบเองเมื่อปฏิบัติถึงแล้ว

๒. เจโตปริยญาณและประโยชน์

เจโตปริยญาณ แปลว่ารู้ใจคน คือรู้อารมณ์จิตใจคนและสัตว์ ว่าขณะนี้เขามีอารมณ์จิตเป็นอย่างไร มีความสุขหรือทุกข์ หรือมีอารมณ์ผ่องใส เพราะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจให้ขุ่นมัวที่เรียกว่าอุเบกขารมณ์ คืออารมณ์เฉยๆ ไม่มีสุขและทุกข์เจือปน รู้จิตของผู้นั้น แม้แต่จิตของเราเองว่า มีกิเลสอะไรเป็นกิเลสนำ คือมีอะไรกล้าในขณะนี้จิตของผู้นั้นเป็นจิตประกอบด้วยกุศลหรืออกุศลเป็นจิตของท่านผู้ทรงฌาน หรือเป็นจิตประกอบด้วยนิวรณ์รบกวน เป็นพระอริยะชั้นใด การจะรู้จิตของท่านผู้ใดว่ามีอารมณ์จิตของผู้ทรงฌาน หรือเป็นพระอริยะอันดับใดนั้น เราเองต้องเป็นผู้ทรงฌานระดับเดียวกันหรือสูงกว่าการจะรู้ว่าท่านผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่และระดับใด เราก็ต้องเป็นพระอริยะด้วยและมีระดับเท่า หรือสูงกว่า ท่านที่มีฌานต่ำกว่าจะรู้ระดับฌานของท่านผู้ได้ฌานสูงกว่าไม่ได้ ท่านที่ไม่ได้ทรงความเป็นอริยะ จะรู้คุณสมบัติทางจิตของพระอริยะไม่ได้ ท่านที่เป็นพระอริยะต่ำกว่า จะรู้ความเป็นพระอริยะสูงกว่าไม่ได้ กฎนี้เป็นกฎตายตัวควรจดจำไว้อย่าพยากรณ์บุคคลผู้ทรงคุณสูงกว่าถ้าไม่ได้อะไรเลยก็จงอย่ากล้าพยากรณ์ผู้อื่น เพราะพยากรณ์พลาดจากความเป็นจริง มีโทษหนักในทางปฏิบัติ เพราะเราจะกลายเป็นโมฆโยคีไป คือประกอบความเพียรด้วยการไร้ผล ในฐานะที่อาจเอื้อมยกตนเหมือนพระอริยะ เป็นกรรมหนักมาก ควรละเว้นเด็ดขาด

สีของจิต

สีของจิตนี้ ในที่บางแห่งท่านเรียกว่า "น้ำเลี้ยงของจิต" ปรากฏเป็นสีออกมาโดยอาศัยอารมณ์ของจิตเป็นตัวเหตุ สีนั้นบอกถึงจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ อารมณ์ขัดข้องขุ่นมัว หรือผ่องใส ท่านโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้

๑. จิตที่มีความยินดีด้วยการหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดงปรากฏ

๒. จิตที่มีอารมณ์โกรธ หรือมีความอาฆาตจองล้างจองผลาญ กระแสจิตมีสีดำ

๓. จิตที่มีความผูกพันด้วยความลุ่มหลง เสียดายห่วงใยในทรัพย์สิน และสิ่งที่มีชีวิต กระแสจิตมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ

๔. จิตที่มีกังวล ตัดสินใจอะไรไม่ได้เด็ดขาด มีความวิตกกังวลอยู่เสมอ กระแสจิตมีสีเหมือนน้ำต้มถั่วหรือน้ำซาวข้าว

๕. จิตที่มีอารมณ์น้อมไปในความเชื่อง่าย ใครแนะนำอะไรก็เชื่อ โดยไม่ใคร่จะตริตรองทบทวนหาเหตุผลว่าควรหรือไม่เพียงใด คนประเภทนี้เป็นประเภทที่ถูกต้มถูกตุ๋นเสมอๆ จิตของคนประเภทนี้กระแสมีสีเหมือนดอกกรรณิการ์ คือ สีขาว

๖. คนที่มีความเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันเหตุการณ์เสมอ เข้าใจอะไรก็ง่าย เล่าเรียนก็เก่งจดจำได้ดี ปฏิภาณ ไหวพริบก็ว่องไว คนประเภทนี้ กระแสจิตมีสีผ่องใสคล้ายแก้วประกายพรึกหรือในบางแห่งท่านว่า คล้ายน้ำที่ปรากฏกลิ้งอยู่ในใบบัว คือมีสีใสคล้ายเพชร

สีของจิตโดยย่อ

เพื่อประโยชน์ในการสังเกตง่ายๆ แบ่งสีของจิตออกเป็นสามอย่าง คือ
๑. จิตมีความดีใจ เพราะผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดง
๒. จิตมีทุกข์เพราะความปรารถนาไม่สมหวัง กระแสจิตมีสีดำ
๓. จิตบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกังวล คือสุขไม่กวน ทุกข์ไม่เบียดเบียน จิตมีสีผ่องใส

กายในกาย เมื่อรู้ลักษณะของจิตแล้ว ก็ควรรู้ลักษณะของกายในไว้เสียด้วยในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกายในกายไว้ สำหรับนักปฏิบัติขั้นต้นก็ถือเอาอวัยวะภายใน เป็นกายในกายส่วนท่านที่ได้จุตูปปาตญาณแล้ว ก็ถือเอากายที่ซ้อนกายอยู่นี้เป็นกายในกาย กายในกายนี้มีไดอย่างไรขอตอบว่า เป็นกายประเภทอทิสมานกายคือดูด้วยตาเนื้อไม่เห็น ต้องดูด้วยญาณจึงเห็น ตามปกติกายในกายหรือกายซ้อนกายนี้ก็ปรากฏตัวให้เจ้าของกายรู้อยู่เสมอในเวลาหลับ ในขณะหลับนั้น ฝันว่าไปไหน ทำอะไรที่อื่นจากสถานที่เรานอนอยู่ ตอนนั้นเราว่าเราไป และทำอะไรต่ออะไรอยู่ความจริงเรานอนและเมื่อไปก็ไปจริงจำเรื่องราวที่ไปทำได้ บางคราวฝันว่าหนีอะไรมา พอตื่นขึ้นก็เหนื่อยเกือบตาย กายนั้นแหละ ที่เป็นกายซ้อนกาย หรือกายในกาย ตามที่ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน ตามที่นักเจโตปริยญาณต้องการรู้ กายในกายนี้แบ่งออกเป็น ๕ ขั้น คือ

๑. กายอบายภูมิ มีรูปร่างลักษณะ คล้ายกับคนขอทานที่มีแต่กายเศร้าหมองอิดโรยหน้าตาซูบซีดไม่ผ่องใส พวกนี้ตายแล้วไปอบายภูมิ

๒. กายมนุษย์ มีรูปร่างลักษณะค่อนข้างผ่องใส เป็นมนุษย์เต็มอัตรา กายมนุษย์นี้ต่างกันบ้างที่ มีส่วนสัดผิวพรรณ ขาวดำ สวยสดงดงามไม่เสมอกัน แต่ลักษณะก็บอกความเป็นมนุษย์ชัดเจน พวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์อีก

๓. กายทิพย์ คือกายเทวดาชั้นกามาวจร มีลักษณะผ่องใส ละเอียดอ่อน ถ้าเป็นเทพชั้นอากาศเทวดา หรือรุกขเทวดาขึ้นไป ก็จะเห็นสวมมงกุฎแพรวพราว เครื่องประดับสวยสดงดงามมาก ท่านพวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์

๔. กายพรหม มีลักษณะคล้ายเทวดา แต่ผิวกายละเอียดกว่า ใสคล้ายแก้ว มีเครื่องประดับสีทองล้วน แลดูเหลืองแพรวพราวไปหมด ตลอดจนมงกุฎที่สวมใส่ ท่านพวกนี้ตายไปแล้ว ไปเกิดเป็นพรหม

๕. กายแก้ว หรือกายธรรม ที่เรียกว่าธรรมกายก็เรียก กายของท่านประเภทนี้ เป็นกายของพระอรหันต์ จะเห็นเป็นประกายพรึกทั้งองค์ ใสสะอาดยิ่งกว่ากายพรหมและเป็นประกายทั้งองค์ ท่านพวกนี้ตายแล้วไปนิพพาน การที่จะรู้กายพระอรหันต์ได้ต้องเป็นพระอรหันต์เองด้วย มิฉะนั้นจะดูท่านไม่รู้เลย

ตามที่กล่าวมา ตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสี่นั้น กล่าวว่า ท่านพวกนั้นตายแล้วไปเกิดที่นั้นๆ หมายถึงว่าท่านพวกนั้นไม่สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่มีกำลังแรงกว่าที่เห็น พวกไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่แรงกว่า ก็ย่อมไปเสวยผลตามกรรมที่ให้ผลแรงกว่า

เจโตปริยญาณมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว การรู้อารมณ์จิตนั้นมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะก็คือการรู้อารมณ์จิตของตนเองนั่นแหละสำคัญมาก จะได้คอยสกัดกั้นอารมณ์ชั่วร้ายที่เป็นกิเลสและอุปกิเลสไม่ให้มาพัวพันกับจิต ด้วยการคอยตรวจสอบกระแสจิตดูว่าขณะนี้จิตเราจะมีสีอะไร ควรรังเกียจสีทุกประเภท อย่าให้สีทุกอย่างแม้แต่นิดหนึ่งปรากฏแก่จิต เพราะสีทุกอย่างที่ปรากฏนั้น เป็นอาการของกิเลสทั้งสิ้น สีที่ต้องการและสนใจเป็นพิเศษก็คือ สีใสคล้ายแก้ว ควรแสวงหาให้มีประจำจิตเป็นอันดับแรกต้องเป็นแก้วทั้งแท่ง อย่าให้มีแกนที่เป็นสีปนแม้แต่นิดหนึ่ง สีที่เป็นแก้วนี้ เป็นอาการของจิตที่ทรงฌาน ๔ ท่านผู้ทรงฌานหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ปฐมฌานจะมีกระแสจิตเหมือนเนื้อที่ถูกแก้วบางๆ เคลือบไว้ภายนอก ท่านที่ทรงฌานสอง หรือที่เรียกว่าทุติยฌานมีเสมือนแก้วเคลือบหนาลงไปครึ่งหนึ่ง ท่านที่ทรงฌานสาม หรือที่เรียกว่าตติยฌาน มีภาพเหมือนแก้วเคลือบหนามาก เห็นแกนในสั้นไม่เต็มดวง และเป็นแกนนิดหน่อย ท่านที่ทรงฌานสี่ หรือที่เรียกว่า จตุตถฌาน กระแสจิตจะดูเป็นแก้วทั้งดวง เป็นเสมือนก้อนแก้วลอยอยู่ในอก

จิตของพระอริยะ

๑. ท่านที่มีอารมณ์วิปัสสนาญาณเล็กน้อย เรียกว่าได้เจริญวิปัสสนาญาณพอมีผลบ้าง จะเห็นจิตเริ่มมีประกายออกเล็กน้อย เป็นลักษณะบอกชัดว่า ท่านผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนาญาณได้ผลบ้างแล้ว

๒. พระโสดาบัน กระแสจิตจะเกิดเป็นประกายคลุมจิตเข้ามา ประมาณหนึ่งในสี่

๓. พระสกิทาคามี กระแสจิตจะมีประกายออกประมาณครึ่งหนึ่ง

๔. พระอนาคามี กระแสจิตจะเป็นประกายเกือบหมดดวง จะเหลือส่วนที่ไม่เป็นประกายนิดหน่อย

๕. ท่านได้บรรลุอรหันต์กระแสจิตจะเป็นประกายหมดทั้งดวง คล้ายดาวประกายพรึกลอยอยู่ในอก กระแสจิตที่เป็นประกายทั้งดวงนี้ ควรเป็นกระแสจิตที่นักปฏิบัติสนใจและพยายามแสวงหามาให้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องเสียชีวิต เพราะได้มาซึ่งกระแสจิตผ่องใสเป็นประกายแล้ว ก็ควรเอาชีวิตเข้าแลกประกายจิตไว้ เพราะถ้าได้จิตเป็นประกายก็จะหมดทุกข์สิ้นกรรมกันเสียที มีพระนิพพานเป็นที่ไป จะพบแต่สุขอย่างประเสริฐ ไม่มีทุกข์ภัยเจือปนเลย

ท่านที่ได้เจโตปริยญาณ มีผลเพื่อเสริมสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตอย่างนี้ และสามารถควบคุมจิตให้สะอาดผ่องใส ปราศจากละอองธุลี อันเป็นผลของกิเลสตลอดเวลา รวมทั้งรู้อารมณ์จิตของผู้อื่นด้วย การรู้อารมณ์จิตของท่านผู้อื่นก็มีประโยชน์มาก เพราะถ้ารู้ว่าท่านผู้ใดทรงคุณธรรมสูงกว่า เพราะกระแสจิตผ่องใสกว่า จนพยากรณ์ไม่ได้ แสดงว่าสูงกว่าเราด้วยคุณธรรมแน่แล้ว ก็ควรรีบเข้าไปกราบไหว้ท่าน ขอให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนเพื่อผลต่อไป ถ้าเห็นว่าด้อยกว่า ก็ควรคิดให้อภัยเมื่อผู้นั้นล่วงเกิน หรือพลั้งพลาด ถ้าเป็นครูสอนสมณธรรม ก็ได้ประโยชน์มาก จะได้ให้กรรมฐานที่พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัยและจริตศิษย์ จะได้ผลว่องไวในการปฏิบัติ

สำหรับทราบกายในกายก็เหมือนกัน กายคือจิต จิตก็คือกาย เพราะเวลาถอดกายในออกก็มีสภาพเป็นกาย ไม่ใช่เป็นก้อนเป็นแท่งตามที่คนทั่วไปคิด เมื่อถอดกายในกายออก กายในจะปรากฏตามบุญญาธิการที่สั่งสมอบรมไว้ ถ้าบุญมีผลเพียงเทวดา กายในกายก็จะมีรูปเป็นเทวดา เมื่อออก จากร่างนี้ไปสู่ภพอื่น ถ้ามีฌาน ร่างกายในก็จะปรากฏเป็นพรหม ถ้าหมดกิเลส กายในกายก็จะสดสะอาด มีประกายออก ร่างใสคล้ายแก้วสุกสว่างมีแสงสว่างมาก ร่างอย่างนี้จะปรากฏเมื่อถอดกายในกายออกท่องเที่ยว

เจโตปริยญาณนี้ นอกจากจะรู้ความรู้สึกนึกคิดของตนและสัตว์แล้ว ก็ยังรู้ภาวะของจิตใจคนและสัตว์ที่มีบุญและบาปสั่งสมไว้มากน้อยเพียงใด ที่มีประโยชน์มากที่สุดก็คือรู้อารมณ์จิตของตนเองว่าขณะนี้เป็นจิตที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศล จิตมีกิเลสอะไรสั่งสมอยู่มากน้อยเพียงใด กิเลสที่สำคัญก็คือ กิเลสที่เป็นอนุสัย คือกิเลสที่มีกำลังน้อยไม่ค่อยจะแสดงอาการปรากฏชัดเจนนัก แต่ก็ฟูขึ้นในบางขณะยามปกติก็มีอาการนิ่งสงบ เช่น อารมณ์สมถะที่เป็น อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ อารมณ์ของสมถะนั้นจะแสดงอาการสงบแนบนิ่งมาก จนความไหวทางจิตในเรื่องความใคร่ ความโกรธแค้นขุ่นเคืองความสั่งสมผูกพันไม่มีอาการปรากฏ จนเจ้าของเองคิดว่า เรานี่สำเร็จมรรคผลเสียแล้วหรือ แต่พอนานๆ เข้าก็มีฟูขึ้นน้อยๆ เกิดขึ้นในยามสงัด คือไม่มีวัตถุเป็นเครื่องล่อ เช่น ครุ่นคิดถึงความสวยสดงดงามของรูป ความไพเราะเพราะพริ้งจากเสียง ความหอมหวนจากกลิ่นรสอันโอชะจากรสต่าง ๆและความนิ่มนวลของสัมผัส อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในยามที่ว่างจากสิ่งเหล่านั้น แต่จิตคิดไปและจะระงับได้ เพราะการพิจารณาในกรรมฐานที่มีอาการตรงกันข้าม เช่น อสุภะเป็นต้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกำลังฌานในสมถะ ก็มีกำลังที่จะกดขี่กิเลสให้สงบระงับแนบสนิทได้ แต่มิใช่ว่าทำลายกิเลสให้สิ้นอำนาจเด็ดขาด เป็นแต่ปรามให้สงบระงับไปได้ชั่วคราวเท่านั้น ในยามที่อำนาจสมถะปรามกิเลสให้สงบนี้ท่านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงหลงผิด คิดว่าสำเร็จมรรคผล ถ้าเราสำรวจตรวจจิตไว้เสมอตลอดวันเวลาแล้วเราก็จะทราบชัดว่า จิตเราสะอาดจริง หรือยังมีสิ่งโสมมแปดเปื้อนอยู่ จะรู้ได้เพราะสีของจิต สีจะชัดหรือใสจางก็ตามและจะเป็นสีอะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสีจะเป็นสีแดง สีดำ สีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เว้นไว้แต่สีใสและสีประกายพรึกเต็มดวงของจิต สีใสที่ไม่มีประกายหรือสีใสมีประกายไม่เต็ม ยังมีสีใสปกติปนอยู่ ก็จงเร่งตำหนิตนเองได้แล้วว่า นี่เรายังคบความเลวไว้มากมาย เพราะสีใสชื่อว่าเป็นสีประเสริฐคือเป็นการแสดงออกของอุเบกขาจิตแต่ทว่าสีใสธรรมดาที่ไม่มีประกายนั้นเป็นสีใสของฌานโลกีย์ มีอันที่จะสลายตัวกลับมาเป็นสีขุ่นมัวคือสีแดง สีดำเต็มขนาดได้เพราะฌานโลกีย์ยังมีเสื่อม ยังจัดเป็นจิตเลวสำหรับนักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ต่อเมื่อไรชำระจิตให้ใสสะอาดเป็นปกติ และมีประกายเต็มดวงโดยที่ไม่ต้องคอยปรับปรุงแก้ไข มองดูด้วยญาณเมื่อไรก็เป็นประกายแพรวพราว ถึงแม้จะประสบกับศัตรูเก่าที่เคยอาฆาตคุมแค้นกันมาแต่ปางก่อน จะถูกเสียดสีถากถางด้วยวาจาปรามาสอย่างไรก็ตามจิตสงบระงับ อำนาจโทสะ ไม่ฟูออก จิตใจมีอาการปกติ สม่ำเสมอ ตรวจดูด้วยญาณ ตรวจขณะที่ถูกด่าก็พบว่าจิตใสประกายแพรวพราว แม้อารมณ์ราคะหรืออื่นใดก็ตามมายั่วเย้า จิตใจก็สดใสเป็นปกติอย่างนี้ใช้ได้ นักปฏิบัติเพื่อมรรคผลแต่ไม่ชมตัวเอง แต่ต้องคอยตำหนิตัวเองตลอด ๒๔ ชั่วโมงตรวจจิตซ้ำๆ ซากๆ ตลอดวันเวลา อย่างนี้จึงจะสมควร และเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลจริง หากทำได้อย่างนี้ ท่านมีหวังถึงพระนิพพานในชาตินี้ เพราะอารมณ์จิตที่ผ่องใสเป็นประกายเต็มดวงนั้น เป็นจิตที่ชำระกิเลสไม่เหลือ เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ท่านจึงยกย่องนักปฏิบัติที่ได้เจโตปริยญาณว่า เป็นผู้ใกล้ต่อพระนิพพานมากกว่าการได้ญาณ อย่างอื่น ท่านที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า ญาณนี้สามารถคอยชำระจิต คือตรวจสอบจิตของตนได้ตลอดเวลา แม้แต่อารมณ์กิเลสที่เป็นอนุสัยก็ยังรู้ ฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังความพ้นทุกข์แก่ตนแล้ว จงพยายามฝึกฝนตนให้ชำนาญในเจโตปริยญาณนี้และเล่นให้คล่องแคล่วว่องไวจะได้ผลตามที่กล่าวมาแล้ว

๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ญาณนี้ เป็นญาณระลึกชาติได้ คือถอยหลังชาติต่างๆ ที่เกิดมาแล้ว เป็นจำนวนหลายหมื่นหลายแสนชาติ ฝึกระลึกตามลำดับชาติตามลำดับ คือตั้งแต่ชาติที่หนึ่ง เป็นลำดับไปจนถึงชาติที่หมื่นแสน แล้วก็ย้อนจากชาติปลายสุดกลับมาหาชาติปัจจุบัน แล้วพยายามฝึกระลึกชาติสลับชาติ คือคิดว่าจะระลึกชาติในระดับไหนก็ให้ได้โดยฉับพลันทำอย่างนี้ให้คล่อง จะมีประโยชน์มาก เพราะ

๑. จะกำจัดมานะทิฏฐิ ความถือตัวถือตนว่าเป็นผู้วิเศษเสียได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อพบสัตว์เดียรัจฉานเราก็เอาญาณนี้ช่วย โดยคิดว่าเราเคยเป็นสัตว์เดียรัจฉานอย่างนี้บ้างหรือไม่ ? เราก็จะพบว่า สัตว์อย่างนี้เราเคยเป็น และอาจจะเคยเกิดเป็นสัตว์อย่างนี้มาแล้วตั้งหลายครั้งหลายหน เมื่อพบตัวเองว่าเคยเป็นสัตว์เราก็คิดค้นคว้าหากฎของความเป็นจริงต่อไปว่า สัตว์อย่างนี้ เราเคยเป็นมาก่อน บัดนี้เราเป็นมนุษย์ เขายังเป็นสัตว์เขาเอากำเนิดมาจากไหน คิดทบทวนไปก็จะพบว่า เรานี้เองเป็นต้นตระกูล สัตว์ บัดนี้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ สัตว์นี้ก็ไม่ใช่ใคร คือทายาทของเราเอง เราจะมารังเกียจทายาทของเราเพื่อประโยชน์อะไร เรารังเกียจเขา เราควรรังเกียจเราเองดีกว่า เพราะเราเลวมาก่อน ถ้าเราไม่เลวมาก่อนจนกระทั่งเป็นต้นตระกูลสัตว์แล้ว สัตว์พวกนี้ก็จะไม่มีในโลก นี่เราเลวมากจนลืมทายาทของตนเอง รังเกียจทายาทของตนเอง พบคนที่น่ารังเกียจโดยสุขภาพ ทุพพลภาพ ชาติ ตระกูล ก็จงระลึกชาติถอยไปหาสมัยเมื่อเราเคยเกิดเป็นอย่างนั้น

๒. ป้องกันความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเห็นท่านที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ โดยฐานะหรือชาติตระกูล เมื่อเห็นเขาทรงอำนาจราชศักดิ์ เราก็ถอยไปหาชาติที่เคยดำรงความดำรงชีวิตอย่างนั้นเมื่อพบแล้ว ก็สอบต่อไปถึงความสุขความทุกข์ที่ได้รับผลในชาตินั้นๆ ตลอดจนต้องพลัดพรากจากฐานะความเป็นอยู่ในสมัยที่ต้องตายจากอัตภาพนั้นๆ ก็จะเห็นว่าความเป็นผู้ทรงเกียรติทรงอำนาจมีเงินมีทองของให้มาก ๆ ไม่ได้ช่วยให้สิ้นทุกข์ ไม่มีทางจะกีดกันความป่วยไข้ไม่สบายและห้ามความตายก็ไม่ได้ ต้องมีทุกข์มีความป่วยไข้ไม่สบาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ตายจากอัตภาพนั้นๆ ความจริงเป็นอย่างนี้เราจะทะเยอทะยานไปเพื่ออะไร ในเมื่อเรากับเขาก็ตายเหมือนกันก่อนตายก็ต้องแก่ต้องป่วยไข้ ต้องประสบกับความกลัดกลุ้มขัดข้องเหมือนเรา เรามีฐานะน้อย ก็มีห่วงกังวลน้อย คนที่มีฐานะใหญ่ ก็มีห่วงมีกังวลมาก เราสบายกว่าเพราะกังวลน้อยกว่า ในเมื่อเกิดมาเพื่อตายจะสะสมไปเพียงไหนให้หนัก เราพอใจในความเป็นอยู่ของเรา เรามีเท่านี้พอแล้ว คนที่เขายากจนกว่าเราถมไป แต่ทว่าเราหรือใครก็ตามในโลกนี้ ตายเหมือนกันหมด เราจะมัวมาหลงติดโลกามิสอยู่เพื่ออะไร เราเกิดมาก็มาก ตายมาก็หลายครั้งหลายคราเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความทุกข์จะกินข้าวสักคำ กินน้ำสักอึก ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ อาหารก่อนจะได้กินก็ต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะการแสวงหาทรัพย์มาเป็นค่าอาหาร กว่าจะได้มาแต่ละบาทก็ต้องทรมานตน ทนหนาวทนร้อนคอยหลบหลีกอันตราย นี้เพียงค่าของอาหารมื้อเดียว ทุกข์อย่างอื่นของมนุษย์ยังมีอีกมาก คิดทบทวนถึงค่าเสื้อผ้า ค่าของใช้ ค่ายารักษาโรค รวมความแล้วโลกนี้เป็นโลกของความทุกข์ หาความสุขสดชื่นไม่ได้เลย เมื่อคำนึงถึงทุกข์ เพราะอาศัยญาณนี้เป็นตัวค้นคว้า อย่างนี้เป็นเหตุให้เห็นอริยสัจได้โดยง่ายเมื่อคนใดเห็นอริยสัจ คนนั้นก็เป็นคนพ้นทุกข์ เพราะหมดกิเลส มีผลให้เข้าถึงพระนิพพานอย่างไม่ยากนัก


๔. อตีตังสญาณ

อตีตังสญาณ ญาณนี้เป็นญาณรู้เรื่องในอดีต คือเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วทั้งในชาติปัจจุบันและหลายแสนหลายล้านชาติ อาการของญาณนี้ดูเป็นญาณที่มีสภาพเช่นเดียวกันกับปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แต่ทว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ท่านหมายเอาการรู้เรื่องหนหลังของตนเอง อตีตังสญาณนี้ท่านหมายเอาการรู้เรื่องหนหลังของคน สัตว์ และสิ่งของ สถานที่ ภายนอกตนออกไป สำหรับกฎการกระทำเพื่อรู้ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เพียงแต่กำหนดจดถามในเรื่องของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่นั้นๆเท่านั้น การกำหนดรู้นั้นในขั้นแรกให้กำหนดจิตเพื่อรู้ก่อน ถ้ากำหนดรู้ยังรู้ไม่ชัดเจน ท่านให้กำหนดจิตถาม การกำหนดจิตเพื่อรู้และถามก็ทำดังที่กล่าวมาแล้ว คือเข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔มาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วกำหนดรู้หรือกำหนดถามแล้วเข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน เท่านี้ก็จะรู้เรื่องละเอียด คือภาพในอดีตจะปรากฏแก่จิตคล้ายดูภาพยนต์ และรู้เรื่องไปตลอดเหมือนกับเราร่วมความเป็นไปกับภาพนั้น สร้างความเพลิดเพลินเจริญใจเป็นอันมาก พวกฤาษีมุนีไพร และท่านที่ได้ฌานสมาบัติ จนได้ฌานต่างๆ ที่ท่านอยู่ป่าช้า ป่าใหญ่ ภูเขาถ้ำต่างๆ จัดว่าเป็นสิ่งที่สงัดเงียบ ปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ท่านคิดว่าท่านพวกนี้ท่านอยู่กันอย่างพระพุทธรูป คือหมดเรื่องรู้และการเพลิดเพลินต่าง ๆ นั้น ตามที่คนส่วนมากเข้าใจกัน ความจริงเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัดตามความจริงแล้วท่านเป็นผู้อยู่สงัดจริง แต่เป็นการสงัดจากสังคมที่เป็นบาป คือกลุ่มชนที่หนาด้วยกิเลสและตัณหา แต่ทว่าท่านมีความเพลิดเพลินรื่นเริงในส่วนที่เป็นกุศล คือเพลิดเพลินในญาณเป็นเครื่องรู้ ท่านสามารถสังคมกับเทวดาและพรหม สนทนาปราศรัยโดยธรรม มีความชื่นบานในการรู้เรื่องในอดีตและกาลต่อไปในอนาคต รู้ความเกิดขึ้นและความสูญสลายตน ของสรรพวัตถุและสิ่งที่มีชีวิต เอาสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตนเพื่อความรู้แจ้งในอนัตตา เป็นการฝึกฝนสั่งสมอารมณ์วิปัสสนาญาณให้แจ่มใส ตัดกังวลภายในและภายนอก คือตัดกังวลความห่วงใยในร่างกายจนเกินพอดีรู้สภาพว่ากายนี้ต้องพังทลายแน่นอน และเห็นสภาพภายนอกที่เป็นสรรพวัตถุที่จะต้องสลายตัวเช่นเดียวกัน ตัดความมัวเมาในตนและสรรพวัตถุภายนอกเสียได้โดยสิ้นเชิง มีความหวังในพระนิพพานได้อย่างแน่นอน ผลของอตีตังสญาณสร้างความเพลิดเพลินในการรู้เรื่องราวในอดีต และสร้างพลังจิตให้เกิดปัญญาในส่วนวิปัสสนาญาณได้อย่างนี้ ฉะนั้น ท่านจึงนิยมสร้างสมาธิให้ได้ฌาน ๔ และสร้างญาณให้เกิดแก่จิตเพื่อหวังในมรรคผลนิพพาน เพราะการได้ทิพยจักษุญาณแล้ว ถ้าปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานย่อมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงผิด ทั้งนี้ถ้าคิดสงสัยในปฏิปทาของตนว่า จะผิดหรือถูกประการใด ก็เข้าฌาน ออกฌานอธิษฐานถามได้ เป็นการศึกษาโดยตรงจากท่านที่บรรลุแล้ว เป็นแนวทางที่ถูกที่ตรงและไม่มีอะไรยากอย่างพวกเราสอนกันเองดังที่ท่านอาจารย์ท่านหนึ่งในจังหวัดพระนครในสมัยปัจจุบันนี้ท่านเคยพูดในสถานที่อบรมนักปฏิบัติว่า การปฏิบัติสมณธรรม ต้องทำไปให้ถึงระดับ ได้อาจารย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ แล้วคอยรับการสั่งสอนจากท่านนั้น ๆ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานที่เข้าระดับกรรมฐานที่เอาตัวรอดได้ ถ้านักปฏิบัติทั้งหลายยังคอยคำสอนของอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ฝ่ายเดียว หรือแกะหนังสือดูตำราเป็นสำคัญแล้ว ท่านนักปฏิบัติท่านนั้นยังเอาตัวไม่รอด ท่านพูดของท่านอย่างนี้ถูกขอท่านผู้อ่านฟังของท่านไว้ แล้วสนใจปฏิบัติให้ได้ถึงจะทราบว่า คำพูดของท่านตรงต่อความเป็นจริงทุกประการ

การถาม

ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า จะถามใคร ในขณะที่สงสัยในความเป็นอดีตของคน สัตว์ และสถานที่ การกำหนดถามนั้นก็ถามท่านผู้รู้เหตุ จะกำหนดเอาใครก็ได้ตามที่เราคิดว่าท่านจะรู้ แต่ตามที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่นิยมถามจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ท่านนิยมถามพระพุทธบารมีของพระพุทธเจ้า เพราะพวกเราเชื่อกันว่า การรู้ทั้งหมดและรู้ไม่ผิดพลาดนั้นมีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ท่านอาจสงสัยต่อไปว่า ก็สมัยนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจะเอาพระพุทธเจ้าที่ไหนมาบอก? ข้อนี้ขอตอบอย่างนักปฏิบัติว่าท่านทำไปก่อน ทำให้ได้ทิพยจักษุญาณในระดับฌาน ๔ แล้วท่านจะรู้เองว่าการถามพุทธบารมีนั้น ถ้าถามแล้วจะมีอะไรปรากฏขึ้น การที่ตอบอย่างนี้ไม่ใช่เป็นคำตอบที่เล่นสำนวน เพราะการตอบให้เข้าใจในสิ่งที่คนถามยังไม่รู้ ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ตอบไปก็เหนื่อยเปล่า ในบทพระพุทธคุณตอนหนึ่งว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีผลเป็นปัจจัตตัง คือผู้ปฏิบัติที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงทิพยจักษุญาณแล้วจะรู้เอง ฉะนั้น ถ้าจะนั่งพรรณนาให้คนที่ไม่มีญาณฟังพูดไปก็เหนื่อยเปล่า มีผลไม่คุ้มเหนื่อยดีไม่ดีก็จะพลอยทำให้อารมณ์เศร้าหมองขุ่นมัว ฉะนั้น ใครอยากรู้ว่าพุทธบารมีเป็นอย่างไร ยังจะช่วยอะไรผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อยู่หรือประการใด ก็ขอให้พยายามประพฤติปฏิบัติในฌาน และสร้างญาณให้บังเกิดแก่จิตก็จะทราบชัดแก่ตนเอง ถ้ายังขืนคิดว่าไม่ต้องทำฌานให้เกิดก็รู้ได้จากตำราแล้ว ท่านก็เป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะท่านจะไม่มีโอกาสเป็นพุทธศาสนิกชนชนิดเนื้อแท้จริงจังตามปากท่านพูดเลย วาจาที่ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นพุทธศาสนิกนั้นอาจเป็นวาจาที่พูดกันจนติดปากมากกว่าการพูดด้วยความจริงใจ พูดกันตามภาษาไทยๆ ก็เรียกว่าพูดส่งเดชไปตามเขาอย่างนั้นเอง

อธิษฐานไว้ก่อน

การอธิษฐานเพื่อรู้นี้ ส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติที่ชำนาญในฌานและญาณ การต้องการทราบเรื่องราวต่างๆ เช่น รู้การตายการเกิดของคนและสัตว์ รู้ผลกรรมของคนและสัตว์ รู้ชาติก่อนๆ ของตนเอง รู้เรื่องอดีตและอนาคต ปัจจุบัน ทั้งของตนและสิ่งภายนอก ท่านนิยมอธิษฐานไว้ก่อน คือพอตื่นนอนจากการหลับเวลาเช้ามืด ท่านอธิษฐานจิตไว้ว่า เหตุใดที่เกี่ยวเนื่องแก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอข้าพเจ้าจงรู้เหตุนั้นได้โดยไม่ต้องกำหนดจิต นี่การอธิษฐานอย่างนี้ท่านนิยมทำไว้เสมอ เมื่ออธิษฐานแล้วก็เข้าสมาบัติเต็มอัตรา สมาบัติที่ได้ ได้แค่ ๔ ก็เข้าเต็ม ๔ได้หมดทั้ง ๘ ก็เข้าหมด ๘ ถ้าได้มรรคผล ก็เข้าผลสมาบัติตามผลการเข้าสมาบัติตอนเช้ามืดนี้ดีมาก เพราะจะเป็นการตอบสนองความดีของท่านพุทธศาสนิกชนที่สงเคราะห์ได้เป็นอย่างดี เพราะผลของสมาบัติให้ผลมีกำลังสูงมาก ย่อมสามารถให้ผลเป็นความสุขแก่ท่านผู้สงเคราะห์ในชาติปัจจุบัน การอธิษฐานไว้แล้วอย่างนั้น ถ้าเดินไปหรือสนทนาอยู่ ถ้าเหตุอะไรที่เนื่องกับตนพึงมีในขณะนั้น ภาพนั้นก็จะปรากฏแก่ใจทันที โดยที่ไม่ต้องเข้าฌานออกฌานตามระเบียบ เป็นผลดีมากแก่นักปฏิบัติ


๕. อนาคตังสญาณ และ ๖. ปัจจุปปันนังสญาณ

ญาณทั้งสองนี้เอามาพูดควบกัน เพราะไม่มีอะไรจะพูดมากนัก ได้พูดมามากในญาณต้นๆแล้ว พูดมากไปก็รำคาญท่านผู้อ่านเปล่าๆ อนาคตังสญาณเป็นญาณรู้เรื่องในกาลต่อไปว่า คน สัตว์สรรพวัตถุเหล่านี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร รู้ได้ตามภาพที่ปรากฏ ถ้าภาพปรากฏไม่ชัดก็อธิษฐานถามก็จะรู้ชัดและไม่ผิด ส่วนใหญ่ท่านนักปฏิบัติระดับสูง ท่านอธิษฐานถามกันเป็นสำคัญ เพราะท่านทราบดีว่า ถ้าท่านกำหนดรู้เอง อาจถูกอุปาทานหลอกหลอนเอาได้ ท่านชำระจิตของท่านให้แจ่มใส แล้วท่านก็อธิษฐานถามจะได้รับความรู้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด

สำหรับปัจจุปปันนังสญาณ เป็นญาณรู้เรื่องปัจจุบันว่า ขณะนี้ใครทำอะไรอยู่ มีสภาพเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น เป็นการรู้ผลในขณะนั้น การถามหรือกำหนดรู้ก็เป็นไปเช่นเดียวกับญาณอื่นๆ



๗. ยถากัมมุตาญาณ

ญาณนี้เป็นชื่อของการรู้ผลกรรม คือรู้ว่าใครที่มีความสุขความทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลกรรมอะไร ตั้งแต่ชาติใด จะแก้ไขได้หรือไม่ประการใด การแก้ไขนั้นต้องทำอย่างไร แก้ไขแล้วจะมีผลเป็นอย่างไร ถ้าต้องการรู้ผลในชาติต่อไปก็ได้ ใช้อตีตังสญาณตรวจดูอดีต แม้อนาคตก็เช่นเดียวกันญาณนี้เป็นประโยชน์ในการรู้ผลกรรม มีประโยชน์แก่ตนเองดังนี้ เมื่อเห็นเขามีทุกข์ในการเกิด หรือทุกข์ที่ต้องเกิดในอบายภูมิเพราะผลกรรมอะไร จะได้ยับยั้งตนเองไม่ให้สนใจในกรรมนั้น ถ้าเห็นท่านที่เสวยผลในทิพยสมบัติ หรือในพรหมโลก หรือท่านที่เข้าสู่พระนิพพานท่านมีความสุขเพราะผลกรรมที่มีปฏิปทาเป็นประการใด ท่านสร้างสมบุญกุศลไว้อย่างไร เราก็แสวงหาความดีตาม ก็จะให้ผลตามเช่นท่าน กรรมนี้มีประโยชน์แก่ตนและคนอื่นมากอย่างนี้

ญาณทั้งเจ็ด

ในผลทางปฏิบัติ ท่านจะเห็นว่า ญาณที่กล่าวมาแล้วทั้งเจ็ดอย่าง คือ
๑. จุตูปปตาญาณ การรู้ว่าสัตว์ตายแล้วเกิดที่ใด สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติในกาลก่อนได้ไม่จำกัดชาติ
๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้ไม่จำกัดกาลเวลา
๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ต่อไปในอนาคตของคน สัตว์ สิ่งของสถานที่ได้โดยไม่จำกัด
กาลเวลา
๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้ตามความเป็นจริง
๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของคนและสัตว์ได้ ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน

ญาณทั้งเจ็ดนี้ เมื่อท่านอ่านอยู่ ท่านอาจจะหนักใจว่า ตั้งเจ็ดอย่างมากมายเหลือเกิน ชีวิตนี้ทั้งชีวิตหรือเกิดอีกหลายๆ ชาติอาจไม่มีหวัง ถ้าท่านคิดอย่างนั้น ผู้เขียนก็เห็นใจท่านทั้งผู้เขียนเองก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกับท่านมาก่อน แต่พอได้โอกาสสอบทานตามพระไตรปิฎกและได้สนทนาปราศรัยกับท่านผู้ทรงคุณธรรมพิเศษตามที่ท่านได้ญาณทั้งเจ็ดอย่างในสมัยผู้ที่เขียนเป็นนักนิยมไพร คำว่านักนิยมไพรของผู้เขียน ไม่เหมือนนักนิยมไพรของชาวบ้าน ชาวบ้านชอบนิยมทำลายไพรและทำลายสัตว์ในไพร แต่ผู้เขียนเป็นนักนิยมเดินในไพรนอนค้างอ้างแรมในไพร และนิยมคอยหลบหลีกหนีสัตว์ในไพร ไม่ชอบรบราฆ่าฟันสัตว์ในไพร ตั้งแต่เข้าป่ามาแล้วเกินสิบวาระ คราวละไม่น้อยกว่าสามเดือนไม่เคยทำลายต้นหญ้าให้ขาดติดมือมาเลยแม้แต่ต้นเดียว ทั้งนี้หมายถึงมีเจตนาอย่างนั้น แต่ถ้าเดินไปหญ้าขาดหรือตายเพราะการเดินไม่คิดเอามารวม นั่นเป็นไปเพราะไม่เจตนา ท่านผู้ทรงญาณที่อยู่ในป่า ท่านพูดตรงตามพระไตรปิฎกว่า ญาณทั้งเจ็ดอย่างนี้ไม่มีอะไรมากเมื่อได้ฌาน ๔ คล่องแคล่วเสียอย่างเดียว ญาณทั้งเจ็ดก็ได้หมด ทุกท่านอธิบายเหมือนกันอย่างนี้ ขอท่านผู้อ่านลองทำตามดูบ้างอาจจะมีผล สำหรับผู้เขียนเชื่อแน่ ไม่มีอะไรสงสัย

(ขอยุติวิชชาสามไว้เพียงเท่านี้)

**********************

ปล. พระอรหันต์มี 4 อย่าง โปรดติดตาม ตอนต่อ ๆ ไปนะครับ
ที่มา เวปพลังจิต
ทำนองเพลง ลาวม่านแก้ว




Create Date : 27 กรกฎาคม 2552
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 15:23:55 น. 1 comments
Counter : 531 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ พี่ไผ่
น่าสนใจทุกญาณเลยค่ะ
แต่ไม่รู้จะได้กะเค้ามั่งรึเปล่าสิคะ

สนใจแต่นิพพาน อย่างอื่นเป็นของแถมก็แล้วกันเนอะ
โมทนากับพี่ไผ่นะคะ


โดย: พ่อระนาด วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:49:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมึกสีดำ
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หมึกสีดำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.