Group Blog
 
 
ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
27 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
มนต์รักสุนทราภรณ์


ปกติผมฟังเพลงทุกแนวลูกทุ่ง ลูกกรุง ร๊อค ป๊อบ ป๊อบอาร์เอส แจ๊ส อาร์แอนบี อัลเทอร์ฯ เฮฟวี่เมทอล แรกเก้หรือว่าสกา?หรือว่าแรกเก้ งงงง แม้กระทั่ง เพลงปลุกใจ เพลงภาษาเหนือ เพลงภาษาใต้ ภาษาอีสาน
หนึ่งในแนวเพลงที่ผมชอบฟังอย่างเรียกว่า ไม่รู้เบื่อ วงหนึ่งคือสุนทราภรณ์ คงเป็นเพราะ ทำนองเพลงทั้ง เนื้อร้องใช้ภาษาที่สวยงาม น่ารัก สุภาพ ให้เกียรติกัน มันหายากมากๆในเพลงปัจจุบันนี้ ฟังแล้วเย็นๆ รื่นหูดี
ไม่รู้ว่าผมติดใจเพลงแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่นะ รู้สึกแค่ว่า เออ คนสมัยนี้กำลังโหยหาอดีต เสพอดีต เพลงเก่าอย่างสุนทราภรณ์
คงไม่ใช่แค่อดีต ต้องเรียกว่า เป็นอมตะ มากกว่า

ลองฟังดูนะครับ บางทีคุณอาจจะต้องมนต์สุนทราภรณ์อย่างผมก็ได้

เจอบทความหนึ่ง ขอยกบางส่วนนำมาบันทึกไว้ที่นี่ เพื่อร่วมรำลึกถึงคนที่ชื่อว่า ครูเอื้อ เอื้อ สุนทรสนาน

กว่า "ครูเอื้อ" จะได้รางวัลยูเนสโก

เอื้อ สุนทรสนาน ครูเอื้อ (มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ") เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ บ้านตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน

เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษพออ่านออกเขียนได้ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาจึงพาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ

ต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ครูเอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง ครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตรสุด อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีกอย่างหนึ่งด้วย และให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป

ครูเอื้อถือเป็นคีตศิลปินระดับแนวหน้าของกรุงรัตนโกสินทร์ มีความสามารถรอบด้าน เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น ไวโอลิน แซกโซโฟน และคลาริเน็ต ทั้งยังเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง หัวหน้าวงดนตรี วาทยกร(ผู้ควบคุมวง) และครูผู้เชี่ยวชาญ

ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 50 ปีของครูเอื้อ ท่านมีผลงานร่วมกับครูเพลงท่านอื่นๆ มากถึง 2,000 เพลง โดยเนื้อหาของเพลงนั้นมีความหลากหลาย เช่น เพลงถวายพระพร ปลุกใจ เทศกาล สถาบัน เยาวชน จังหวัด และสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเพลงที่เกี่ยวกับความรัก ธรรมชาติ ศาสนา และปรัชญาชีวิต ในท่วงทำนองที่มีความหลากหลาย เช่น แจ๊ส บลูส์ คันทรี จีน แขก และจังหวะในการลีลาศทุกจังหวะ

รวมถึงยังได้คิดค้นจังหวะใหม่ คือ ตะลุงเทมโป นอกจากนี้ ท่านยังได้นำวงดนตรีไทยเดิมมาบรรเลงเคียงข้างวงดนตรีสากล เกิดเป็นประสบการณ์ทางด้านดนตรีที่แปลกใหม่ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "สังคีตสัมพันธ์"

บทเพลงที่ครูเอื้อได้ประพันธ์ร่วมกับเพื่อนร่วมงานของท่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เพลงสุนทราภรณ์" นั้นได้รับการยกย่องว่ามีความสมบูรณ์ทั้งทางคีตศิลป์และวรรณศิลป์ เป็นการผสมผสานเพลงไทยเดิมเข้ากับเพลงสากลได้อย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์ ถือเป็นต้นแบบของเพลงไทยสากลในปัจจุบัน และแม้ว่าบทเพลงของท่านจะมีอายุยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่บทเพลงหลายๆ บทเพลง เช่น พรานทะเล นางฟ้าจำแลง วังน้ำวน พรานล่อเนื้อ มองอะไร ฟลอร์เฟื่องฟ้า และขอให้เหมือนเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง ปีใหม่ และสงกรานต์ ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยตราบถึงปัจจุบัน

ผลงานของครูเอื้อมิได้เป็นที่รู้จักแต่ภายในประเทศไทยและหมู่ชาวไทยเท่านั้น แต่เพลงหลายๆ เพลงของท่าน โดยเฉพาะเพลงรำวงลอยกระทงซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ไปทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในเพลงไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักดีที่สุดเพลงหนึ่ง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าและวิถีชีวิตของไทยที่ผูกพันกับสายน้ำมาช้านานได้เป็นอย่างดี เพลงของท่านผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัว

ทั้งยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษาในยุคต่างๆ และที่สำคัญ ยังหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและยกระดับจิตใจของผู้ฟัง เน้นให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังเรื่องความสามัคคี สันติภาพ และขันติเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์และเป้าหมายของยูเนสโกเป็นอย่างดี
การได้รับเลือกให้เป็นบุคคลสำคัญด้านดนตรีประจำปี พ.ศ. 2553 นี้ ส่งผลให้ชื่อเอื้อ สุนทรสนาน
ศิลปินจากประเทศไทย ขึ้นไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินชื่อดังชาวตะวันตกอื่นๆ ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เช่น โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ลุดวิก ฟาน บีโทเฟน (Ludwig van Beethoven) ต (Wolfgang Amadeus Mozart) โยฮันน์ สเตราส์ (Johann Strauss father) และเฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง (Frédéric François Chopin) การได้รับเกียรตินี้จากยูเนสโกเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม และศิลปินไทยมีความสามารถทัดเทียมนานาอารยประเทศ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งโลก
...
กว่าจะได้รางวัลยูเนสโก
"มานิต สุขสมจิตต์" นักหนังสือพิมพ์อาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นผู้จุดประกายเรื่องการนำเสนอชื่อของครูเอื้อ สุนทรสนาน กับอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

"ผมว่าครูเอื้อมีความเหมาะสม ผมอยากให้คุณอติพรดำเนินการดูโดยผ่านกระทรวงวัฒนธรรม และถ้าครูเอื้อไม่ผ่านยูเนสโกก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะยังไงๆ เราก็ต้องเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปีของท่านอยู่แล้ว"

หลังคุยกันในคราวนั้น อติพร เสนะวงศ์ สืบค้นเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของโลกซึ่งได้รับการยกย่องจากยูเนสโก พบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นรายพระนามของเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์เป็นส่วนใหญ่ มีผู้ใหญ่สำคัญของไทยบ้าง ทว่าสามัญชนที่ได้รับรางวัลมีน้อยแทบจะนับคนได้ ที่ผ่านมามีเพียง 5 คน คือ สุนทรภู่, พระยาอนุมานราชธน (ยง เสถียรโกเศศ), ปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และพุทธทาสภิกขุ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน มีคุณสมบัติเหมาะสมแน่ และเป็นไปได้หรือ!? นี่คือคำถามที่อยู่ในใจของอติพร ลูกสาวคนเดียวของครูเอื้อ สุนทรสนาน มากกว่านั้น เธอไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกับงานนี้อย่างไร

บุคคลท่านที่ 2 ที่อติพร เสนะวงศ์ ไปขอคำปรึกษาคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ

อาจารย์เจตนา นาควัชระสนใจและศึกษางานเพลงของสุนทราภรณ์มาตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นคนที่ริเริ่มในการทำ "สุนทราภรณ์วิชาการ" ครั้งที่ 1 เนื่องในวาระครบ 50 ปี คณะดนตรีสุนทราภรณ์ โดยมีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีร่วมเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 12 – 17 มิถุนายน 2532 เมื่อท่านได้รับทราบความเรื่องดังกล่าวจากอติพร เสนะวงศ์ มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และได้เสนอตัวที่จะเป็นคนเขียนประวัติและผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นภาษาอังกฤษ

"มาถึงตรงนี้ทำให้ใจดิฉันมาเป็นกองเลย ดิฉันเคยคิดเหมือนกันว่า คนเขียนภาษาไทยได้ดีมีมาก แต่จะหาคนแปลที่รู้จักสุนทราภรณ์ด้วยนั้นมีน้อย และการที่จะแปลโดยได้ใจความครบถ้วนอย่างที่เราต้องการจะมีหรือเปล่าเป็นเรื่องที่เราคิดอยู่เหมือนกัน แต่การที่ท่านอาจารย์เจตนาอาสาเขียนให้นั้น เทียบแล้วเหมือนกับเราเดินทางผ่านมาครึ่งทางแล้ว ซึ่งเรามั่นใจได้ในเรื่องของภาษาและความเป็นสุนทราภรณ์" อติพร เสนะวงศ์กล่าวกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์(MNG)

เรื่องของตรูเอื้อ สุนทรสนานถูกนำเข้าที่ประชุมของมูลนิธิสุนทราภรณ์ อันประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ แก้วขวัญ วัชโรทัย และกรรมการผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ เช่น ดร. สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, ปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ฯลฯ ทุกท่านพร้อมให้การสนับสนุนและรับหน้าที่ติดต่อประสานงานเพื่อปรึกษากับผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรม

วีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่จะเสนอบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นศิลปินไปให้ยูเนสโกพิจารณา ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ไม่เฉพาะแต่กระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนอื่นที่จะเข้ามาสนับสนุนในการทำงานนี้ เช่น สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , สมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, มูลนิธิหนังสือพิมพ์ รวมถึงจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น

ที่ปรึกษาคนสำคัญของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ คือ สาวิตรี สุวรรณสถิต อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความรอบรู้เกี่ยวกับการนำเสนอประวัติและผลงานไปยังคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก

"ท่านสาวิตรีจะคอยแนะนำท่านอาจารย์เจตนาว่าควรเขียนอย่างไร เน้นไปทางด้านใดได้บ้าง โดยในร่างแรกได้นำเสนอไปที่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาและแก้ไข"

ต้นปี พ.ศ. 2552 กระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอประวัติและผลงานชิ้นสมบูรณ์ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงฯ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และส่งในนามรัฐบาลไทยไปยังยูเนสโก กรุงปารีสเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2552

เดือนมีนาคมทางยูเนสโกได้แจ้งกลับมาว่า ให้เขียนเพิ่มเติมในด้านการเผยแพร่ผลงานในต่างประเทศของครูเอื้อ สุนทรสนาน ว่าได้เผยแพร่ในรูปแบบใด ระดับใด ในช่วงดังกล่าว อาจารย์เจตนา นาควัชระติดภารกิจอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จึงได้ ดร. สรจักร เกษมสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้ามารับเขียนส่วนนี้

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เพลงสุนทราภรณ์นี่นะไปไกลถึงต่างประเทศ !! ยกตัวอย่าง

เพลง "ลอยกระทง" ( คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) นั้น แพร่หลายไปทั่วโลก มีภาคเนื้อร้องที่เป็นภาษาอังกฤษแพร่หลายไปทั่วโลก
เพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" ((คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) เพลงนี้ สดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล) เคยนำไปขับร้องให้ฝรั่งฟังที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาเพลงนี้ได้บันทึกเป็นแผ่นเสียง โดยแปลคำร้องเป็นภาษาอังกฤษสลับกับคำร้องภาษาไทยทีละท่อนสลับกันไป ทุกวันนี้ยังได้จัดส่งค่าลิขสิทธิ์กลับมาที่เมืองไทยอยู่เสมอ

เพลง "ถอนสมอ" (คำร้อง ธาตรี ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) เพลงที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับโรงเรียนนายเรือและกองทัพเรือ เพลงดังกล่าว กองทัพเรือได้ทำหนังสือขออนุญาตมายังมูลนิธิสุนทราภรณ์ เพื่อที่จะขอไปใส่เนื้อและบันทึกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้บรรเลงเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ประวัติและผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผ่านการกลั่นกรองครั้งที่ 2 ของยูเนสโก เอกราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส ได้โทร.แจ้ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และแจ้ง ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 27 - 28 มิถุนายน 2552 ทางมูลนิธิสุนทราภรณ์ โดยการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิเสถียรโกเศศ – นาคะประทีป ได้จัดคอนเสิร์ต "มนต์เพลง...สุนทราภรณ์" ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 28 มิถุนายน ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้แถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานคอนเสิร์ตดังกล่าว ก่อนที่จะจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม สาวิตรี สุวรรณสถิตได้โทร.จากกรุงปารีสมายังประเทศไทย ขณะนั้นอติพร เสนะวงศ์กำลังเตรียมวงดนตรีสุนทราภรณ์ขึ้นบรรเลงเพลงที่วัดราษฎร์บูรณะ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามในตอนค่ำ เวลานั้นราว 16.30 น.

"ท่านโทร.มาแจ้งว่า ประวัติและผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนานผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเข้าไปอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลกในการที่จะนำเสนอเพื่อการลงนามในวันที่ 22 -23 ตุลาคมนี้" อติพร เสนะวงศ์กล่าวกับซูเปอร์บันเทิงออนไลน์ (MNG)
...
100 ปีชาตกาล "สุนทราภรณ์" ทำอะไร

เดือนมกราคม – "เดือนแห่งสุนทราภรณ์ที่อัมพวา"

8 ม.ค. 53 เปิดนิทรรศการ – บรรเลงดนตรีที่ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ในโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์

9 ม.ค. 53 ประกวดร้องเพลง

16 ม.ค. 53 คอนเสิร์ต "สุนทราภรณ์คืนถิ่นเดิม - อัมพวา" จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. 2) ปีนี้พิเศษ !! มูลนิธิสุนทราภรณ์จะเชิญนักร้องรุ่นเก่าของวงขึ้นเวทีร้องเพลงมากเป็นพิเศษ

21 ม.ค. 53 (วันครบรอบวันเกิด 100 ปี) เทศบาลตำบลเหมืองใหม่ อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จะเปิดถนนความยาว 3.5 กิโลเมตร ชื่อ "ถนนครูเอื้อ สุนทรสนาน" ผ่านหน้าบ้านซึ่งเคยเป็นบ้านเกิด ถนนเส้นนี้ผ่านมายังวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ครูเอื้อเรียนหนังสือ และตลอดถนนสายนี้ ซอยแยกย่อย จะเป็นชื่อเพลงของวงสุนทราภรณ์ โดยชาวบ้านซอกซอยนั้นๆ เป็นผู้เลือก เพลงที่ถูกจองกันเข้ามามากที่สุด ณ ขณะนี้คือ พรานทะเล และ ขอให้เหมือนเดิม ซึ่งกรณีดังกล่าวจะใช้การจับสลากเป็นเครื่องตัดสิน ส่วนซอยบ้านพักของอติพร เสนะวงศ์ที่อัมพวา จะตั้งชื่อซอยว่า "กลิ่นราตรี"

23 – 24 ม.ค. 53 คอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี ฉลองวาระชาตกาล 100 ปีที่โรงละครแห่งชาติ

ตลอดปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประกวดการขับร้องเพลงสุนทราภรณ์ ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมและมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ นครปฐมเคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้

กลางเดือนพฤษภาคม 2553 สภาวัฒนธรรมลอสแองเจลิสแจ้งความจำนงผ่านกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อขอให้วงสุนทราภรณ์ไปบรรเลงที่สหรัฐอเมริกา
เดือนมิถุนายน 2553 คอนเสิร์ต "แกรมมี่ - สุนทราภรณ์" โดยจะใช้นักร้องของแกรมมี่ฯ ขับร้องเพลงโดยใช้การบรรเลงด้วยวงดนตรีสุนทราภรณ์

เดือนสิงหาคม 2553 สุนทราภรณ์วิชาการ (ครั้งที่ 2) โดยกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ยังมีบริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งแจ้งความจำนงขอนำประวัติครูเอื้อไปทำเป็นภาพยนตร์ เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ที่เคยนำประวัติของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( จางวางศร ศิลปบรรเลง) มาเป็นภาพยนตร์

เมื่อปีครบรอบชาตกาล 100 ปีครูเอื้อ สุนทรสนานสิ้นสุด ณ วันที่ 21 มกราคม 2554 ผลงานการจัดแสดง 1 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้แตกต่างจากสายลมที่พัดเลยไป ดังนั้น มูลนิธิสุนทราภรณ์จึงคาดหวังว่าจะมีสิ่งหนึ่งที่คงอยู่ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ประโยชน์ในการศึกษางานของสุนทราภรณ์ต่อไป นั่นคือ พิพิธภัณฑ์นาฏดุริยางค์ สุนทราภรณ์

"หลังจากที่องค์การยูเนสโกประกาศ ทางกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่ารัฐบาลไทยต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาก้อนหนึ่ง เพื่อนำมาทำงานในช่วงปีเฉลิมฉลอง เราได้แต่หวังว่าเงินก้อนนี้จะมากพอที่จะเอามาดำเนินงานในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนรุ่นหลัง เพราะพิพิธภัณฑ์ทางดนตรีบ้านเราน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เราคิดว่าสุนทราภรณ์มีงานเพลงที่หลากหลาย และครอบคลุมทุกช่วงของชีวิตและอารมณ์ของคนคนหนึ่ง ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปจนถึงเพลงรัก เศร้า โกรธ เกลียด เป็นคติธรรม มีเพลงทุกเทศกาลของไทย และชีวิตของคนทุกภาคของไทย ดิฉันมีที่ดินที่ริมคลองแควอ้อม ติดกับวัดราชบูรณะ บนถนนสายครูเอื้อ ซึ่งสามารถใช้ในการดำเนินงานเรื่องพิพิธภัณฑ์นี้ได้" อติพร เสนะวงศ์กล่าว

ระหว่างวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 – 2554 คือ 1 ปีแห่งวาระเฉลิมฉลองครบชาตกาล 100 ปีของครูเอื้อ สุนทรสนาน (สุนทราภรณ์) ศิลปินด้านดนตรีคนแรกของไทยที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลกในลำดับที่ 19 ของไทย


เชิญ - สุนทราภรณ์

คัดลอกบางส่วนมาจาก//www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000127882




Create Date : 27 ตุลาคม 2552
Last Update : 27 ตุลาคม 2552 22:58:01 น. 0 comments
Counter : 2338 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จอมมารขาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ร่วมแจ้งเบาะแสการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
Friends' blogs
[Add จอมมารขาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.