Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 

โบกพริ้วทิวธงส่งศพ




โบกพริ้วทิวธงส่งศพ




มาถึงเรื่องธงในงานศพคนไทยเชื้อสายเวียตนาม
ซึ่งถือว่าก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ในธรรมเนียมงานศพ
ธงแบบนี้เคยเห็นมาตั้งแต่จำความได้มันยังเป็นรูปแบบเดิม
จะผิดไปกว่าเมื่อก่อนบ้างก็ตรงที่ขนาดผืนธงเล็กย่อมลง
ผืนธงเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสายผ้าตัดตรงสีขาวทิ้งยาวลงมา
ทำให้แลดูเศร้าสร้อยอย่างบอกไม่ถูกเมื่อยามที่เจ้าสายนี้ปลิวล้อลม


ในเขตจังหวัดนครพนมมีชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอยู่หลายชุมชน
ซึ่งแต่ละชุมชมมีการใช้ธงในงานศพแตกต่างกันถือเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน
 แต่ผืนธงสามเหลี่ยมที่ใช้กันที่บ้านนาจอก
บ้านต้นผึ้ง-ดอนโมง หรือแม้กระทั่งชุมชนโพนบก จะมีลักษณะเป็นผืนธงสามเหลี่ยมซึ่งจะเป็นลักษณะธงที่มีใชักันในเขตภูมิภาคเวียดนามกลางของประเทศเวียดนามเท่านั้น
จึงสามารถบ่งบอกที่มาได้ว่าบรรพบุรุษของชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามเหล่านี้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคกลางของประเทศเวียดนาม



และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านนาจอกจะมีการใช้ผืนธงสามเหลี่ยมสีน้ำเงินขาวทั้งหมดในงานศพ
(ยกเว้นธงดองจะเป็นผืนธงสามเหลี่ยมสีดำ-ขาว) ธรรมเนียมนี้ถูกส่งต่อมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านกว่าร้อยปีมาแล้ว ซึ่งจากการสืบค้นพบว่าที่ภาคกลางของประเทศเวียดนามมีเพียงจังหวัดเหงะอาน
( tỉnh Nghệ An) แห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้ผืนธงงานศพสักษณะแบบเดียวกันนี้
กล่าวคือผืนธงสามเหลียมสีน้ำเงิน-ขาวไม่มีสีอื่นปะปนเหมือนชุมชนอื่นในเขตจังหวัดนครพนม
ดังนั้นหากสรุปจากผืนธงที่ใช้ย่อมบ่งบอกว่าพื้นเพเดิมหรือบรรพบุรุษของชาวบ้านนาจอกนั้นอพยพมาจากจังหวัดเหงะอาน ภาคกลางของประเทศเวียดนามนั่นเอง




ส่วนสีธงที่ใช้จะมี ขาว-ดำ และขาว-น้ำเงิน
ที่บ้านต้นผึ้ง-ดอนโมงนี้ ถามผู้ใหญ่ได้ความว่า
เป็นแต่เพียงการตัดผืนธง คนละรุ่นกัน สีธงจึงต่างกัน
แต่ที่บ้านใหม่ (นาจอก) ธงที่สมาคมหมู่บ้านจัดให้
จะเป็นสีขาว-น้ำเงิน  ส่วนสีขาว-ดำ
จะเป็นธงที่ตระกูลเขยหรือสะใภ้ (อีสานเรียกว่า ดอง)
ส่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการไว้อาลัยตามธรรมเนียม

ข้อดีของการแยกสีธงคือคนที่รู้ธรรมเนียมมองปุ๊บ
ก็จะรู้รายละเอียดของผู้ตายทันทีว่า คนตายอายุเท่าไร
และมีลูกชายลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้วกี่คน เป็นต้น

ธงนี้เก็บที่ไหน และจะมาปักเมื่อไหร่

ทันที่ที่สมาคมหมู่บ้านจัดมอบหมายพลธงแล้ว
ในวันรุ่งขึ้นพลธงที่รับผิดชอบก็จะมาปักธงของตัวเองที่บ้านงาน
โดยจะมัดธงไว้กับต้นหมากบ้าง เสาเต้นท์บ้าง
หรืออาจปักลงดิน เป็นคู่ ๆ รายล้อมบริเวณบ้านงาน
ธงจะปักอยู่แบบนี้ไปตลอดจนกว่าจะมีพิธีเคลื่อนศพ



ที่ยอดธงมีใบอะไร

ที่ยอดธงจะมีใบอ่อนของต้นหมากเสียบไว้
เคยเห็นสมัยก่อนคนโบราณเค้าตั้งศพไว้ทีเป็นสัปดาห์ๆ
เล่นเอาใบหมากที่ค่อนข้างทนทาน เหี่ยวเฉาให้ได้เห็นก็เคยมี
ตรงนี้คงไม่น่าจะมีนัยยะอะไร คงเป็นแต่เพียงเพื่อความสวยงามสดชื่นเท่านั้น

จำนวนธงที่ใช้มีเกณฑ์อย่างไร

จำนวนธงที่ได้รับจากสมาคมหมู่บ้านจะยึดตามอายุผู้ตายเป็นหลัก
โดยอาจจะแตกต่างกันไปไม่แน่นอนในแต่ละชุมชน




แต่ที่บ้านผึ้ง-ดอนโมง เท่าที่พอจะทราบปัจจุบัน ผู้ตายที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
จะได้รับจำนวนธงประดับในงานสูงสุดคือ 12 ธง หรือ 6 คู่
(สมัยก่อนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 9 – 10 คู่)
ส่วนอายุที่น้อยลงกว่านี้ธงก็จะถูกลดทอนจำนวนลงไปทีละคู่ ๆ
รายละเอียดช่วงอายุจะเป็นเท่าไรอย่างไรผมไม่ทราบแน่นอน




หน้าที่ของธงสิ้นสุดเมื่อไร

ก่อนเวลาเคลื่อนศพเล็กน้องธงจะถูกเคลื่อนออกไปคอยที่ถนน
และจะถือขนานนำศพไปตลอดทางในพิธีเคลื่อนศพจนถึงสุสาน



ขณะเมื่อพักศพที่ศาลาสุสานเพื่อทำพิธี
ธงจะถูกปักเป็นทิวแถวโบกพลิ้วปลิวลม
รอคอยการเดินทางระยะสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง



เมื่อพิธีที่ศาลาเสร็จสิ้นก็จะตั้งกระบวนแห่แห่ศพไปกระทั่งถึงหลุมศพ
พลธงจะตีวงถือธงยืนล้อมหลุมศพอยู่ห่าง ๆ
และเมื่อได้ยินสันญาณกรับไม้ตีบอกจังหวะยกศพลงหลุม
และโลงศพสัมผัสถูกพื้นดินแล้ว
พลธงจะตีธงลงทางทิศตะวันตกทันที
เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ว่าชีวิตของคนหนึ่งคนได้เดินทาง
มาถึงช่วงสุดท้ายที่จะได้อยู่้บนพื้นดิน(โลกมนุษย์)แล้ว
ต่อแต่นี้ก็จะไปอยู่ใต้ดินหรือประมาณว่าจากไปอยู่กันคนละโลกแล้ว
พลธงจะรีบพับผืนธงเก็บอย่างเรียบร้อยรวดเร็ว
เป็นอันจบบทบาทหน้าที่ของธงและพลธง

และยังหมายรวมไปถึงการเดินทางระยะสุดท้ายของชีวิตหนึ่ง
ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสมบูรณ์

ชีวิตหนึ่งของเขาได้มาถึงปลายทางแล้วอย่างสมบูรณ์
ตามครรลองของชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียตนาม
ที่ระลึกถึงพระคุณแผนดินไทยผืนนี้เสมอ
ที่ให้ที่เกิด ที่อยู่ ที่ทำมาหากิน ตราบจนวาระสุดท้ายยังได้ใช้
ดินผืนเดียวกันนี้เอง กลบหน้า เพื่อรักษาธรรมเนียมปฎิบัติตาม
อย่างบรรพบุรุษไว้ได้อย่างบริบูรณ์ที่สุด...









 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2554
19 comments
Last Update : 4 มิถุนายน 2560 17:53:34 น.
Counter : 5354 Pageviews.

 

สวัสดีครับพี่พีร์

การใช้ธงงานศพมันก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนเวียดนามจริงๆ ทุกๆ อย่างมันแฝงไปด้วยความหมายของมัน อันที่จริง ผมสังเกตงานศพแต่ละชุมชนก็เห็นความแตกต่างหลายอย่างเหมือนกันครับ เท่าที่เห็นมานาจอก, ต้นผึ้ง+ดอนโมง และก็หนองแสงที่ยอดธงจะมัดยอดใบหมากหรือใบไม้อื่น แบบงานศพดองปู่ผมที่หนองแสง จะใช้ธงสำหรับคนอายุ 70 ขึ้นไป 5 คู่หรือ 10 อัน ส่วนในเมือง(สุสานด่ายเหียว) ไม่ว่างานไหน, จะอายุมาหรือน้อยก็ใช้ 10 อัน ส่วนที่โพนบกเองธงของหล่างแต่ก่อนก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปแบบบ้านต้นผึ้ง แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หล่างก็จัดธงให้ 8 อัน หรือ 4 คู่ เท่านั้น

ที่ผมเห็นแปลกตาอีกที่หนึ่งคือที่ชุมชนวัดป่า (วัดศรีเทพ) สำหรับคนที่อายุ 70 ขึ้นไปเขาจะใช้ธงสี 12 อัน เป็นแถบสีแดงกับสีเหลือง เพื่อบอกความหมายเป็นนัยว่าผู้ที่ตายอายุยืน เหมาะแก่การยกย่อง ส่วนต่ำกว่า 69 ลงมาจะใช้ธงสีขาวดำ ผมว่านะ ธรรมเนียมการใช้ธงแบบโบราณจริงๆ น่าจะเหลือเพียงที่เดียวคือต้นผึ้ง - ดอนโมง เพราะเท่าที่เห็นมาคือนาจอกเองก็ไม่จัดธงตามอายุคนตายแล้วจริงหรือป่าวครับ

ธงงานศพเท่าที่เห็นมามีอยู่สองแบบ แต่แบบยอดนิยมคือแบบ 3 เหลี่ยม อันที่จริงมันมีแบบสี่เหลี่ยมด้วยนะครับ ลักษณะเป็นแถบคล้ายๆ กัน ผิดที่เป็นสี่เหลี่ยมเท่านั้น ธง 4 เหลี่ยมแต่ก่อนที่ชุมชนวัดป่าใช้เยอะครับ ส่วนที่หนองแสงและในเมืองมีที่ละ 1 คู่ จะอยู่หน้าสุดในขบวนแห่ศพ ผมว่าบ้านผมโชคดีอย่างนะครับ คือปู่ผมมีดองมีญาติแต่งงานกับเค้าไปทั่ว ทำให้ได้เห็นความแตกต่างทางประเพณีอย่าละเล็กอย่างละน้อย แต่ผมว่านะสุดท้ายแล้วในอนาคต ทุกชุมชนจะปฏิบัติแบบเดียวกันหมด เพราะไม่มีคนที่จะรู้ธรมเนียมได้ละเอียดเท่าคนเก่าๆ อีก และมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนตามยุคสมัย

ตอนหน้าเป็นเรื่องอะไรเหรอครับ รออยู่นะครับ ^^
ฝันดีครับพี่ ^^

 

โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 58.187.14.188 15 สิงหาคม 2554 21:36:09 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์

ข้อมูลในบล็อกพี่ละเอียดมากจริงๆครับ
เป็นการแบ่งปันความรู้ด้านวัฒนธรรมที่ดีมากเลยนะครับ





 

โดย: กะว่าก๋า 16 สิงหาคม 2554 6:28:56 น.  

 

ตอบ/ถามน้องต้อม
1. ที่นาจอกยังจัดธงตามอายุครับโดยกำหนดสูงสุดคือ 12 ธง หรือ 6 คู่ สำหรับคนอายุ 70 ขึ้นไป ที่อายุน้อยกว่านั้นก็ลดหลั่นลงมา
2. ธงสีของวัดป่า ไม่เคยเห็นเลยครับ ความจริงน้องต้อมมีความรู้เรื่องนี้ดีน่าจะเขียนบล๊อกไว้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้นะครับที่พี่เขียนเป็นแนวเล่าเรื่องที่เคยเห็นแต่น้องต้อมจะมีการเปรียบเทียบชัดเจนดีมาก
3. ธงสี่เหลี่ยมเคยเห็นครับที่ในเมืองแต่รู้สึกว่าไม่ให้ความรู้สึกเศร้าและอาลัยเท่าปลายธงสามเหลี่ยม พี่ว่ามันพริ้วไหวดี
4. ธรรมเนียมธงที่แปลกแตกต่างกันไปนี้คิดว่าน่าจะเป็นเพราะบรรพบุรุษย้ายมาจากเวียตนามเขตไหนเหนือใต้ หรือว่าในเมือง ชนบท ก็เลยถือปฎิบัติกันมาจนปัจจุบันนี้

5. น้องต้อมเองอยู่เวียตนามได้เห็นธรรมเนียมพวกนี้มั้ยครับว่าแตกต่างหรือเหมือนกับที่เมืองไทยอย่างไร

ตอนต่อไปเขียนเรื่อง "คืนสุดท้าย" ซึ่งเป็นเรื่องราวเกีีี่่ยวกับงานศพคือสุดท้าย และเรื่องการกลับโลง

 

โดย: peeradol33189 16 สิงหาคม 2554 7:10:51 น.  

 

เดี๋ยวนี้ป่าไผ่หายหมดครับพี่พีร์
ถูกตัด ถูกโค่นหมด
จะหาป่าไผ่สวยๆดูนี่ยากขึ้นทุกวันนะครับ


 

โดย: กะว่าก๋า 16 สิงหาคม 2554 7:27:36 น.  

 

สวัสดีครับพี่พีร์

1. เรื่องธงงานศพที่นาจอก ผมคงเข้าใจผิดไปเองอ่ะครับ เพราะเคยได้ยินคนในเมืองพูดๆ กันว่านาจอกก็ทิ้งประเพณีไปเยอะอ่ะครับ คงเกิดการเข้าใจผิดขึ้นครับ ต้องขออภัยด้วยครับ (หวังว่าพี่จะไม่โกรธนะครับ ^^)

2. เรื่องธงสีของวัดป่า เดี๋ยวผมจะพยายามหารูปหรือร่างคร่าวๆ แล้วจะส่งให้พี่ดูนะครับ ว่ารูปร่างเป็นอย่างไร อันที่จริงเรื่องธงของวัดป่าเคยได้ยินญาติของปู่ที่วัดป่าเล่าให้ปู่ฟังว่า แต่ก่อนแต่ไรไม่เคยเห็นธงแบบนี้ แต่พอคนรุ่นใหม่ขึ้นมาจัดการงานในหล่างก็ปรับเปลี่ยนจากแต่ก่อนไปเยอะ อันที่จริงผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นเก่าๆ ในหล่างวัดป่าก็ไม่ชอบให้ใช้ธงสีในงานศพ เพราะมันเหมือนไม่ใช่งานศพ อีกอย่างแต่ก่อนแต่ไรมาก็ใช้แต่ธงขาวดำเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านเสียงคนรุ่นใหม่ได้ ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย ผมยังจำความได้ว่าตอนสมัยอยู่ ม.ต้นเคยไปงานศพที่ชุมชนวัดป่ายังเห็นธงงานศพที่เป็นแบบสีขาวดำอยู่ แต่ 5 - 6 ปีมานี้เค้าปรับเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก โดยเปลี่ยนถึงสองครั้งใหญ่ๆ

3. เรื่องการเขียนบล๊อคผมก็เคยคิดครับ เพราะได้แรงบัลดาลใจมาจากพี่นี่แหละครับ แต่ว่าการใช้ภาษาของผมยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็เลยยังไม่ได้เขียนอะไรเลย อีกอย่างนึง ผมไม่ค่อยจะมีรูปภาพ พอที่จะมาใช้ประกอบการเขียนได้ คงต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลแล้วก็พัฒนาการเขียนก่อนอ่ะครับ

4. ที่เวียดนามเองงานศพที่เคยไปก็ไม่เหมือนกันเลยซักงาน ในเมืองกับบ้านนอก พิธีกรรมต่างกันราวฟ้ากับดิน เอาง่ายๆ ว่าพิธีศพในบ้านนอกที่เวียดนามจะคล้ายๆ กับพิธีศพที่นครพนม แต่ก็มีหลายอย่างที่ต่าง อาทิเช่น การใช้ธงงานศพ บางที่มีบางที่ไม่มี แต่เท่าที่เห็นการใช้ธงในเขตเวียดนามเหนือ 80 % จะเป็นธงขาวดำแบบสี่เหลี่ยมและจะมีเฉพาะงานศพคนแก่เท่านั้นถึงจะมีธง ส่วนงานศพในเขตภาคกลางของเวียดนามจะคล้ายกับบ้านเรามากที่สุด ธงที่ใช้เป็นแบบ 3 เหลี่ยมขาว-ดำ อันที่จริงผมมีความคิดที่จะตัดธงงานศพใหม่ให้หล่างโพนบก เพราะธงที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มันเก่ามาก จะว่าไปที่เวียดนามเค้าก็ตัดธงขายเยอะมากมีแบบสำเร็จด้วย แต่มันเป็นผ้ามันลื่นๆ ใช้แป๊บเดียวก็ขาด ผมอยากให้มันเป็นผ้าธรรมดาเหมือนที่หล่างใช้อยู่ทุกวันนี้เพราะมันคงทนมากกว่าผ้าแบบมันเป็นไหนๆ เท่าที่จำความได้ธงที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีอายุมากกว่าอายุผมเสียอีกครับ กลับไปคราวหน้าผมจะซื้อผ้ามาจากเมืองไทยแล้วจ้างช่างที่นี่ตัด เพราะหาช่างที่ไทยก็ไม่มีมีใครอยากรับเท่าไหร่ครับ ขนาดชุดไว้ทุกข์ยังหาคนตัดยาก นับประสาอะไรกับธงที่ต้องใช้ความละเอียดในการตัด อันที่จริงธงแบบสำเร็จผมเห็นที่สุสานด่ายเหียวเค้าซื้อไปใช้กัน ผมว่าอีกไม่นานจะต้องเปลี่ยนแน่ๆ เพราะผมเคยไปจับที่วางขายสำเร็จดูคือมันบอบบางมากเลยครับ ตัดใหม่ทั้งทีต้องเอาอย่างดีไปเลย จะได้ใช้นานๆ หากพี่สนใจตัดให้หล่างนาจอกบ้างบอกผมได้นะครับ ผมจะเป็นธุระจัดการและส่งให้พี่ทันทีที่ตัดเสร็จ (ป.ล. ธงแบบที่ผมกำลังจะตัดเป็นแบบสามเหลี่ยม แล้วจะตัดขอบเป็นริ้วๆ แฉกๆ เหมือนธงในหนังจีนอ่ะครับ เพราะที่เวียดนามเค้านิยมกันแบบนั้น) แต่แรกเริ่มเดิมทีผมคิดจะตัดเป็นสองชุด ชุดแรกเป็นขาวดำธรรมดา ชุดที่สองเป็นแบบสีขาว -แดง – ดำ – น้ำเงิน ชุดที่สองเอาไว้ใช้กับงานศพคนที่อายุมากๆ จริงๆ ประมาณ 90 ปีขึ้นไป เพราะผมอยากให้มีความแตกต่าง แต่พอคิดโดยละเอียดถี่ถ้วนทำให้ผมนึกได้ว่า อย่าเลยดีกว่า ตัดแบบแรกแบบเดียวก็พอ เพราะถ้าตัดแบบที่สองไปเดี๋ยวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเดี๋ยวมันจะยุ่ง เพราะคนหล่างโพนบกหัวโบราณอะไรที่ใหม่ๆ ยากที่จะเอามาใช้

โอ้ววว พระเจ้า เขียนยาวมากไปละ เดี๋ยวพี่พีร์จะปวดหัว 5555

ไว้แค่นี้ก่อนนะคร๊าบบ สาหวัดดีคร๊าบบบ ^^

 

โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.68.244 16 สิงหาคม 2554 9:57:47 น.  

 

- น้องต้อม ไม่โกรธไม่มีความรู้สึกอะไรเลยครับนอกจากอยากจะ Share สิ่งที่เราต่างคนต่างรู้เท่านั้นอย่ากังวล
เป็นจริงครับที่นาจอกทิ้งอะไรเก่า ๆไปเยอะ เช่น การทำกงเต็กเดือน 7 ก็ไม่ทำกันแล้วมีส่วนน้อยที่ฝืนทำเพราะญาติพี่น้องเป็นคนชุมชนอื่นที่เค้ายังทำอยู่

- นาจอกเพิ่งจะเลือก บานหล่างชุดใหม่ไป เมื่อวันเข้าพรรษานี้เองพ่อพี่ก็ได้รับเลือกและคนในชุดนั้นก็มีอายุไม่มากนัก ประมาณ 62 - 80 ก็จะมีคนที่มีแนวคิดพัฒนาใหม่ ๆ เข้าไปด้วยหลายคนเรียกว่าปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด

ที่เห็นชัดคือปรับการร่วมงานที่ศาลเจ้า อาทิการยอมให้สตรีขึ้นเวทีจุดธูปได้แต่จะก้าวเข้าไปในห้องไม่ได้ เป็นต้น จนปัจจุบันลูกหลานทุกคนที่กลับไปตรุษจีนจะขาดไม่ได้ที่จะไปร่วมงานศาลเจ้าในขณะที่บางศาลเจ้ายังอนุรักษ์นิยมเลยมีแต่คนรุ่นเก่าไปศาลเจ้า แบบรีบไปรีบกลับ
การปรับธรรมเนียมจุกจิกในงานศพให้ลดลงอาทิการไม่ทำพิธีใด ๆ เลยนอกจากเยี่ยมศพ (การกลับโลงคืนสุดท้ายก็ไม่ทำ) ประมาณนี้แระครับ...
ปรับข้อจำกัดในการฝังศพที่สุสานบ้านนาจอกให้ง่ายขึ้น
และอีกมากมายที่เค้าค่อย ๆ ปรับปรุง

- พ่อพี่เป็นเขยบ้านใหม่แต่เป็นคนต้นผึ้งยังบ่นเลยครับว่าคราวงานศพปู่ที่ผ่านไปอะไร ๆ ก็เสียเงิน ทุกขั้นตอน แค่การกลับโลงศพคืนสุดท้ายยังต้องเสียเงิน ไปแจ้งให้คนตีกลองก็ต้องเสียเงินซื้อเหล้า ดีดาง ตอนแห่ศพก็ต้องเสียเงินในขณะที่บ้านใหม่ หรือนาจอก ไม่ต้องเสียอะไรแบบนี้เลยแค่รอให้ถึงช่วงงานที่ศาลเจ้าก็ค่อยบริจาคช่วยตามศรัทธา (ไม่แน่ใจว่าเค้าเรียก เตี้ยดเกี่ยม รึเปล่า)

- แนวคิดน้องต้อมก็อนุรักษ์ และพัฒนาดีครับแต่ว่าต้องดูว่าทางหล่างเค้าจะเอาด้วยมั้ย หาไม่แล้วจะเสียใจไปเปล่าๆ ธงที่นาจอกยังใหม่เอียมเลยครับ มีโองคนหนึ่งแกเป็นช่างตัด จริง ๆ แกเป็นน้องเขยยาย ชื่อโองบิ๊ก แถมยังเป็น อาจารย์ทำพิธีไหว้ต่าง ๆ ด้วย ก็เลยยังสามารถสืบทอดได้ไปสักระยะหนึ่ง

คุยกันได้อีกครับ ยาว ๆ ก็ได้ ยินดี ๆ

 

โดย: peeradol33189 16 สิงหาคม 2554 10:52:15 น.  

 

ประเพณีดีด่าง ที่บ้านต้นผึ้งยังมีอยู่ใช่มั้ยครับ เพราะผมไปงานศพที่ดอนโมงครั้งสุดท้ายก็นานหลายปีแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้สังเกตอะไร เพราะยังเด็ก จะว่าไปมันก็เสียเงินเยอะจริงๆ แหละครับ ที่โพนบกการดีด่าง มันกลายเป็นการอวดฐานะทางสังคมไปแล้ว งานหนึ่งๆ อย่างน้อยต้องให้ได้อย่างต่ำก็หนึ่งหมื่นขึ้นไป ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะพิธีกรรมที่แสดงออกถึงการมีน้ำใจของเจ้าภาพกับชุมชน มันกลายเป็นการอวดความมีหน้ามีตาไปในสังคมตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมพึ่งรู้ว่าพี่พีร์เป็นญาติกับองค์บิ๊ก ลูกสาวองค์ปิ๊กที่ชื่อน้าเจียมก็มาแต่งกับหลานชายของปู่ผมเองครับ องค์บิ๊กเป็นคนใจดีมาก เขียนตำราอะไรหลายๆ อย่างมาให้ปู่ผมประจำเลยครับ

ผมพึ่งรู้ว่าที่นาจอกลดพิธีกรรมไปเยอะมากขนาดนั้นเลยเหรอครับ โดยเฉพาะงานกงเต็กเดือน 7 ที่โพนบกมันคืองานเทศกาลประจำปี ในบางปีที่มีมีหลายบ้านทำเยอะก้ต้องจัดเรียงต่อกันตั้งแต่วันที่ 1 - 14 เดือน 7 ก้มีมาแล้วครับ บางปีก้มีแค่ 1 - 2 งาน เพราะคนตายน้อย อาจารย์ที่ทำพีจะถูกจองตัวตั้งแต่หลังตรุษจีนของปีนั้นๆ เพราะ 1 งานจะต้องเสียเวลาถึง 2 วัน
สถานการณ์ในโพนบกตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง ยิ่งถ้าหมดผุ้อาวุโสไปแล้วรับรองได้ครับว่าโพนบกเปลี่ยนพลิกไปเลย เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสเรียกร้องให้ติดธงงานศพไปในรถศพแบบที่นาจอกและในเมือง แต่ก็โดนค้านด้วยกระแสของผู้เฒ่าด้วยการยื่นคำขาดเลยว่ารอหมดรุ่นของผู้เฒ่าในบ้านก่อน หลังจากนั้นจะทำไรก้ทำ ล่าสุด ลิงซา (ที่ใส่รูปของคนตายเวลาแห่ศพ ที่นากจอก+ต้นผึ้งเป้นรถเข็น) แต่เดิมโพนบกต้องแบกเอา ล่าสุดเมื่อปลายปีก่อน ย้ายมาติดกับรถศพเลย เพราะหลายคนคัดค้านว่าแบกไปแบกกลับมันลำบากคนแบก จะว่าไปมันก้ลำบากจริงๆ ครับ เพราะแบกลิงซาไปสุสานเสร็จก้ต้องแบกกลับมาส่งที่บ้าน พอลิงซามาถึงบ้านก้ต้องมาวนรอบบ้านอีก 3 รอบ แต่สำหรับปุ่ผมสั่งเลยว่าให้จ้างคนมาแบกเอง เพราะปุ่รับไม่ได้ ปุ่บอกว่าความหมายของลิงซาคือการให้ดวงวิญญานของผู้ตายไม่ต้องเดินไปสุสาน แต่นั่งไปด้วยการแบก ถือเป็นการให้เกียรติแก่ผุ้ตาย

นับตั้งแต่บรรจุศพเข้าโลง (เหลื่อม) เสร็จ ที่โพนบกจะต้องไหว้ทันที 3 ครั้งต่อกัน ไหว้ครั้งแรกเรียกว่าไหว้เพื่อตั้งโต๊ะบูชาดวงวิญญาณโดยมีป้ายวิญญานเป็นที่สิงสถิตย์ (ป้ายวิญญาณที่โพนบกจะถูกเปิดใช้ครั้งแรกในพิธีนี้ แล้วจะเปิดทุกๆ ครั้งที่มีการทำพิธี) โดยโต๊ะบูชาวิญญาณนี้เรียกว่า บ่าน เถ่อ ตาง ที่โพนจะต้องตั้งไหว้จนครบ 2 ปีแยกกันกับโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ ไหว้ครั้งที่สองไหว้เพื่อใส่ชุดไว้ทุกข์ ไหว้ครั้งที่สามคือไหว้ข้าวไหว้น้ำเป็นครั้งแรก ไหว้ 3 ครั้งนี้ที่โพนบกถือว่าสำคัญมาก ทิ้งไม่ได้ หลังจากนั้นลูกหลานก็จะไหว้ข้าวไหว้น้ำเอง 3 มื้อ ข้าวที่ไหว้จะมีข้าวสวย 3 ถ้วย ตะเกียบ 3 คู่ น้ำสามแก้ว กับข้าวที่เป็นของแห้ง 1 – 2 อย่าง โดยไหว้ที่หน้าศพจุดธูปเปิดป้ายวิญญาณ พอถึงวันฝังศพ ประมาณ 10 โมงกว่าๆ อาจารย์ก้จะมาทำพิธีก้จะไหว้ข้าวมื้อสุดท้ายให้ แล้วก้จะมีไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่หน้าบ้านและก้ที่สุสานเพื่อทำการเคลื่อนศพและฝังศพ หลังจากพิธีฝังศพเสร็จ พอกลับมาที่บ้านก้ต้องไหว้ที่บ้านอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นถึงไหว้ 3 วัน ตอนงานศพหลานชายปู่เมื่อเกือบสิบกว่าปีก่อน จำได้ว่าพอฝังศพเสร็จจะต้องไหว้ที่สุสานก่อนถึงกลับมาไหว้ที่บ้าน แต่พอยุคหลังๆ พอฝังศพเสร็จลูกชายคนโตจะจุดธูปสามดอกแล้วกราบสี่ครั้งเป็นอันเสร็จ แล้วก็กลับบ้านโดยเดินกลับมาพร้อมลิงซา นี่คือประเพณีที่โพนบกยังคงทำอยุ่ และยิ่งในวันเปิดประตูผี (บุญ 3 วัน) รายละเอียดของไหว้ยาวเป็นหางว่าว และไหว้หลายขั้นตอนมากๆๆ ไม่รู้ที่ต้นผึ้งเหมือนกันหรือป่าว ไว้ผมจะรวบรวมข้อมูลการทำพิธีที่โพนบกแล้วจะมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ธรรมเนียมอีกอย่างของโพนบกก็คือ จะไม่มีการเผากระดาษให้คนตายเลยจนกว่าจะครบ 100 วัน โดยเฉพาะกระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ จะเผาให้แค่ครั้งเดียวคือตอนทำบุญ 3 วัน โดยของไหว้จะมีแค่เสื้อผ้ากระดาษชุดใหม่ 1 ชุด กระดาษเงินกระดาษทองแผ่นเล็ก(แบบที่ใช้โรยตอนแห่ศพ) 100 แผ่น เพียงเท่านั้น

จะว่าไปมีรายละเอียดที่ผมอยากคุยกับพี่พีร์อีกเยอะมากเลยครับ^^

ไว้ผมจะคุยไปเรื่อยๆ นะครับ อยากให้พี่ลองแสดงความเห้นดูก่อนอ่ะครับ ไม่ว่ากันนะครับ ^^

ป.ล. ผมถามปุ่มาให้แล้วนะครับเรื่องความหมายของต้นกล้วย ปุ่บอกว่าเค้ามีต้นกล้วยไว้เพื่อดูดไอเย็นของคนตาย เพราะคนเวียดนามเชื่อว่าคนตายแล้วจะมีไอเย็นที่เรามองไม่เห็นออกจากคนตาย ถ้าโดนเข้าอาจจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ เค้าเลยใช้ต้นกล้วยเพื่อดูดไอเย็นจากคนตายครับ ^^

 

โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.68.244 16 สิงหาคม 2554 13:00:00 น.  

 

สุดท้าย ผมลองฝึกเขียนในเรื่องกระดาษสีแดงยาวๆ ในงาศพ (หลา เจี่ยว) อ่ะครับในบันทึกเฟสบุค ว่างๆรบกวนพี่วิจารณ์ให้ผมด้วยนะครับ ผมเขียน 2 ภาษา ไทย + เวียดนาม ^^ ขอบคุณล่วงหน้านะคร๊าบบ ^^

 

โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.68.244 16 สิงหาคม 2554 13:17:18 น.  

 

ปล.น้าเจียม ได้สามีคือน้าพงษ์ ตอนนี้ป่วยเป็นโรคไต เพิ่งรู้ว่าเข้าตระกูลน้องต้อมนี่เอง

เมื่อก่อนตำราทางนาจอกไม่ใช่แบบนี้
เป็นตำราของโองโก๋ลาย แบบง่าย ๆ
หลังจากโองบิ๊กมารับก็รื้อฟื้น แบบเก่าโบราณมาใช้
ซึ่งก็ได้ผลครับ ...ขลังดี

ตอนพี่สาวพี่แต่งงานแกก็เป็นคนมา ไหว้บรรพบุรุษให้
เพราะแกไม่ใช่ใครอื่น เป็นน้าเขยของแม่

น้องต้อมลองไปดูรูปในบล๊อกพี่นะ
น่าจะอยู่ในกรุ๊ปบล๊อกพีรดลย์หนึ่งเดียวคนนี้ เรื่องถาดทองเหลือง พี่เป็นคนจัดโต๊ะไหว้เองครับ

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=peeradol33189&month=04-2011&date=06&group=2&gblog=39

 

โดย: peeradol33189 16 สิงหาคม 2554 16:54:14 น.  

 

ออ..ไอเย็นที่ว่า เค้าเรียกกันว่า เหย ใช่มัยคับ
น้องต้อมถ้าไม่ลำบอกก็เขียนเวียตนามผสมไปด้วยได้เลยนะพี่จะได้ฝึกอ่านด้วย

ขอบคุณครับ นี่เย็นแล้วต้องรีบเผ่นเด๋วจะตกรถครับ ไว้มีเวลาจะมาตอบถึงความต่างความเหมือนที่ละข้อ

 

โดย: peeradol33189 16 สิงหาคม 2554 16:59:36 น.  

 

ไอเย็น ก็คือ เฮย (Hơi) ครับถูกต้องชัดเจนเลยครับ ถ้าเอาแบบชัดเจนตรงตัวพี่ก้เติมคำว่า แหล่ง (lạnh) เข้าไปก็ได้ครับ เพราะคำว่า เฮย (Hơi) ธรรมดาความหมายมันซ้ำเยอะครับ ส่วนบล๊อคถาดทองเหลืองผมอ่านแล้วนะครับ ขอมาเม้นที่ดียวเลยดีหกว่า โดดไปโดมาเดี๋ยวพี่ปวดหัวครับ ถาดทองเหลืองบ้านผมมีแค่อันเดียว เพราะได้รับการแบ่งสรรปันส่วนมาแค่นั้น ปุ่บอกใช้ทีมันต้องมาขัด ไม่มีคนทำเลยเก็บทิ้งไว้ในตู้เหมือนกัน ส่วนเรื่องโต๊ะไหว้ไม่น่าเชื่อว่าคนอยุ่ต่างจังหวัดจะจัดได้ดีกว่าที่อยู่นครพนมเสียอีก สุดยอดเลยครับ ^^

ส่วนบทความของผมในเฟสบุค ผมเองก็อยากพยายามเขียนไปเรื่อยๆ หากพี่อยากเอามาใช้ก้ตามสบายนะครับ ไม่ว่ากัน วิจารณืการเขียนของผมด้วยก้ดีนะครับ ภาษาเขียนผมไม่ค่อยสันทัดเท่าไหร่ ผมจะพยายามเขียนทั้งภาษาไทยและเวียดนามเพื่อฝึกภาษาเวียดนามไปในตัว เผื่อว่าผู้รู้ภาษาเวียดนาผ่านมาเห็นจะได้ช่วยตรวจได้ครับ บทความหน้าของผม ผมจะเขียนเรื่องเกิมอุ๊บ แต่ตอนนี้ขอเก้บข้อมูลกับคุณปู่ไปสักระยะ หารูปภาพประกอบอีกนิดนึง เสร็จเมื่อไหร่จะรบกวนพี่วิจารณ์นะครับ

ดีใจมากเลยที่ได้พูดคุยในเรื่องที่ผมถนัดและชอบมานาน

ขอบคุณมากนะครับพี่ ^^

ฝันดีนะครับ ^^

 

โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 58.187.14.188 16 สิงหาคม 2554 20:49:58 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์

 

โดย: กะว่าก๋า 17 สิงหาคม 2554 6:00:45 น.  

 

น้องต้อมไว้จะตามไปอ่าน เกิมอุ๊บ นะครับ
พี่อยู่นนทบุรี แต่ก็กลับไปที่บ้านใหม่ (นาจอก) บ้างปีละ 2-3 ครั้ง หรือเวลามีงานแต่ง งานตายญาติพี่น้อง

เรื่องโต๊ะไหว้นั้นเคยเป็นลูกมือยายจัดมาแต่เล็กแต่น้อย
จนรู้ว่าต้องมีอะไรบ้าง ตอนหลังเค้าก็เลยมอบให้จัดเรื่อยมาเพราะคนในบ้านไม่ค่อยมีใครสนใจแล้วมีแต่พี่กับน้องสาวที่เคยอยู่กับยายเท่านั้นที่พอจะสนใจ

 

โดย: peeradol33189 17 สิงหาคม 2554 10:14:09 น.  

 

ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกแล้ว ขอบคุณนะคะพี่พีร์

สวัสดียามสายกลางสัปดาห์ค่ะ ขอให้วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่มีแต่ความสดใสนะคะ ^^





แองกัสแอบอู้เวลางาน

 

โดย: หัวใจแก้ว 17 สิงหาคม 2554 11:05:48 น.  

 

เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เหมือนเดิมค่ะคุณพีร์


เพลงในบล็อก
พี่ตุ๊กทันตอนยุคนี้ฮิตเสียด้วย

 

โดย: tuk-tuk@korat 17 สิงหาคม 2554 16:04:33 น.  

 

ชื่นชมการบันทึกรายละเอียดต่างๆของประเพณีของชาวไทยเชื้อสายเวียตนามครับ
โดยเฉพาะความหมายของธงในพิธีนี้ เป็นการบอกเล่าด้วยสัญญาลักษณ์ที่ไม่ต้องใช้เสียง เข้าใจความรู้สึกเวลาเห็นธงปลิวไสวครับ

 

โดย: Insignia_Museum 18 สิงหาคม 2554 22:10:03 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์


 

โดย: กะว่าก๋า 22 สิงหาคม 2554 5:59:04 น.  

 

คุณพีร์ครับที่ท่าบ่อบ้านผมจะไม่มีธงนะครับ

ส่วนหลาเจี่ยวมีเป็นบางงานครับ

ส่วนการตีกลองนะครับ

จะมีในสมัยก่อน

เหนผู้ใหญ่เขาเล่าว่าจะตีในช่วงที่นำศพออกไปสุสาน

ช่วงเคลื่อนศพน่ะครับ

 

โดย: บอส IP: 223.206.135.10 3 ตุลาคม 2554 16:47:54 น.  

 

จากที่คุณบอสเล่ามา
แสดงว่ามีบางอย่างที่เลือนหายไปนะครับ

 

โดย: peeradol33189 13 ตุลาคม 2554 21:10:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.