Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
เมษายน 2560
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
29 เมษายน 2560
 
All Blogs
 
ชาเขียวบ้านนาจอก - Chè Xanh Bạn Mạy



ชาเขียวบ้านนาจอก - Chè Xanh Bạn Mạy

เกริ่น : ชาวบ้านนาจอกมีวัฒนธรรมการดื่มชาเขียวมาแต่ดั้งเดิมตั้งแต่การก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อราวปี 2440 เป็นต้นมา ซึ่งในการอพยพมาจากเขตเวียดนามกลางเพื่อหนีความเร้นแค้นในครั้งนั้นสันนิษฐานว่าได้มีการนำเอาพันธุ์ต้นชาเขียวเข้ามาปลูกพร้อมกันด้วย ต้นชาเขียวบ้านนาจอกนั้นมีความเกี่ยวข้องหลายประการกับวิถีชีวิตชาวบ้านนาจอกมาตั้งแต่ครั้งนั้นจนปัจจุบัน ดังจะได้กล่าวในลำดับถัดไป



บอก : สารประกอบที่พบอยู่มากในใบชาเขียวบ้านนาจอกได้แก่
         1. คาเฟอีน (Caffaine) กระตุ้นประสาทให้ตื่นตัวสดชื่น เพิ่มการเผาผลาญ
         2. แทนนิน (Tannin)  ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย
         3. สารประกอบประเภทโพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)  มีสรรพคุณ
ในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็ง
ซึ่งก็คล้ายกับชาเขียวทั่วไปโดยผลการวิเคราะห์นี้ได้นำเอาส่วนประกอบของต้นชาเขียวบ้านนาจอกที่นิยมนำมาชงดื่มได้แก่ ใบ ยอด และดอก มาทดลอง และจากการทดลองดื่มชาของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คนในด้านลักษณะปรากฎ สี กลิ่น รส ความชอบโดยรวม และความรู้สึกหลังการกลืนพบว่ากลุ่มตัวอย่างชอบชาชงจากดอกมากที่สุด

(อ้างอิงจากงานวิจัยของภัทราวดี ศรีปัญญาและคณะเรื่องการทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์ชาเขียวบ้านนาจอก Argicultural Sci.J.44(2):233-236,2013 )



เล่า : ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณทวดใช้เวลาอยู่ในสวน เก็บใบชา เก็บดอกชา ไปขายเกือบทุกวัน ตอนนั้นจำได้ว่าต้นชาเขียวมีอยู่มากเป็นดงหนาทึบ ซึ่งดงชาเขียวเหล่านี้อยู่ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ทอดเงาบดบังอีกทอดหนึ่ง ซึ่งการยืนเก็บชาในดงชานั้นจะไม่ร้อนมากนัก ตอนเด็ก ๆ ยังถูกพ่อแม่ใช้ให้ช่วยคุณทวดยืนเก็บอยู่บ่อย ๆ  โดยแต่ละต้นมีขนาดสูงใหญ่ราว 2 - 3 เมตร ชาเขียวสมัยนั้นมีปลูกอยู่ทั่้วทุกหลังคาเรือน และการเก็บใบชาและดอกชาตากแห้งขายในยุคนั้นจัดว่าเป็นรายได้สำคัญของชาวบ้านนาจอกควบคู่กับการเก็บใบพลูและหมากขาย ในยุคนั้นความนิยมในการต้มน้ำชาเขียวจากใบสดในเขตจังหวัดนครพนมยังมีมาก



บ้านนาจอกเป็นแหล่งปลูกต้นชาเขียวที่ใหญ่และเยอะที่สุดในบรรดาชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามทั้งหมดในเขตจังหวัดนครพนม (นาจอก ต้นผึ้ง-ดอนโมง โพนบก วัดป่า ด่ายเหียว หนองแสง และบ้านนาราชควาย) ทั้งนี้อาจเนื่องจากสภาพแวดล้อมของบ้านนาจอกตั้งอยู่ริมหนองน้ำใหญ่ (หนองญาติ) ซึ่งส่งผลให้มีอากาศเย็นสบาย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีสภาพดินที่เอื้อต่อการเพาะปลูกพืชพันธุ์หลายอย่างที่นับว่าเป็นเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้หลักให้เกษตรกรชาวบ้านนาจอกมาแต่เดิมซึ่งได้แก่ ข้าว  หมาก พลู มัน งา ข้าวโพด ชาเขียว และผักสดนานาชนิด



ต้นชาเขียวที่ยังคงมีปลูกในเขตบ้านนาจอกจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นการขยายพันธุ์จากต้นดั้งเดิมที่ได้มาจากจังหวัดในภาคกลางของประเทศเวียดนามได้แก่
Nghệ An และ  Hà Tĩnh เกษตรกรรุ่นเก่าของบ้านนาจอกมีจำนวนลดลงมากเนื่องจากล้มหายตายจากไปมาก และลูกหลานรุ่นใหม่นิยมไปเรียนและประกอบอาชีพในเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นอาชีพการปลูกชาเขียวจึงลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มากจากความนิยมในการดื่มชาของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเมือง และชุมชนต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้พบการเก็บใบชาสดไปขายน้อยมาก ส่วนการเก็บดอกชาแล้วนำไปตากแห้งส่งขายยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวเนื่องจากสามารถเก็บไว้ได้นานและสะดวกในการจัดทำบรรจุภัณฑ์



ต้นชาเขียวบ้านนาจอกสามารถเพาะพันธ์ุได้จากเมล็ด มีอัตราการงอกค่อนข้างสูงสามารถเพาะเพื่อขยายพันธ์ุได้ไม่ยากนัก แต่การเลี้ยงให้เติบโตขึ้นจนสามารถเก็บใบและดอกได้เป็นของยาก มีคนพยายามนำต้นกล้าไปปลูกในที่ต่าง ๆ ก็พบว่าได้ส่วนใหญ่ความผิดหวังจะเป็นของผู้นำไปปลูก
การเพาะเมล็ดจะทำในถุงดำหรือกะบะดินที่ผสมแกลบแล้ววางไว้ในทีร่มรำไร ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ต้นอ่อนก็จะงอกเมื่อต้นอ่อนสูงราว 1 ฟุต (เวลาประมาณ 1 ปีเศษ) จึงสามารถนำไปปลูกลงดินหรือแปลงถาวรได้



ต้นชาเขียวบ้านนาจอกที่ปลูกลงแปลงแล้วจะใช้เวลาอย่างน้อยอีกประมาณ 3 ปี จึงจะสามารถเก็บใบและดอกขายได้ ซึ่งต้นชาเขียวบ้านนาจอกจะสูงได้ถึง 4 เมตรหากไม่มีการตัดแต่งกิ่ง และอายุต้นชาเขียวที่สมบูรณ์อาจมีอายุยืนนับร้อยปี



การเก็บใบชาไปขายสมัยก่อนนิยมตัดทั้งกิ่งแล้วส่งขายเป็นมัด ๆ หรือเป็นหอบ เวลาคนซื้อไปต้มก็จะริดใบไปต้มได้เนื่องจากสมัยนั้นใบชาเขียวมีเยอะและยังคงราคาถูกมาก

การเก็บดอกชาไปขายจะนิยมเก็บดอกที่ยังตูมทั้งเล็กและใหญ่คละกันไป ถ้าดอกชาที่เก็บไม่ทันและปล่อยไว้จนบานก็จะกลายเป็นเมล็ดสำหรับนำไปเพาะขยายพันธุ์กันต่อไป



 การเก็บใบชาและดอกชานิยมเก็บช่วงเช้าที่ยังมีแดดอ่อน ๆ  และการนำดอกชาไปตากแดดจนแห้งสนิท 3 - 4 แดดนั้นสามารถนำไปส่งขายให้ผู้รับซื้อได้ในราคา 300 - 500 บาทต่อกิโลกรัม



การเก็บใบชาไปตากแห้งนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมกันเพราะในเขตบ้านนาจอกและเขตเมืองนครพนมยังคงสามารถหาใบสดมาต้มน้ำดื่มได้ง่ายกว่า
แต่ทว่าก็ยังคงมีการนำใบชาไปตากแห้งขายบ้างซึ่งในปัจจุบันใบชาแห้งที่มีขายมักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในพิธีบรรจุศพของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม
 ร่วมกับใบยาสูบ(ยาเส้น) ทั้งนี้ในยุคก่อนกระบวนการรักษาสภาพศพยังไม่ดีนักจึงต้องมีตัวช่วยหลากหลายเพื่อช่วยดูดซับกลิ่นไม่พีงประสงค์
แม้ในยุคปัจจุบันวิธีรักษาสภาพศพทำได้ดีเยี่ยมแล้วแต่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามก็ยังถือธรรมเนียมปฏิบัติเดิมคือใช้ใบชาตากแห้งคู่กับใบยาสูบปูรองพื้นโลงศพก่อนบรรจุศพเพื่อรักษาธรรมเนียมและช่วยให้มั่นใจในการตั้งศพไว้ที่บ้านหลายวัน



การเก็บใบชาเขียวเพื่อนำไปต้มหรือขายจะเก็บใบแก่ สีเขียวเข้มที่อยู่ด้านล่างของต้นไล่ขึ้นไปหาส่วนปลายยอด โดยจะเว้นใบจากส่วนยอดลงมา 2-3  คู่

สมัยก่อนเวลามีงานแต่ง งานศพ หรืองานบุญต่าง ๆ ในหมู่บ้านหรือแม้กระทั่งในครอบครัวผม จะมีแต่กาน้ำชาเขียวตั้งไว้รับแขกจะไปหาน้ำเปล่าดื่มในงานนั้นเห็นจะได้รับความผิดหวังเป็นแน่



แต่ในปัจจุบันกาน้ำชาเขียวหายไปเกือบหมดและถูกแทนที่ด้วยน้ำเปล่าบรรจุขวดใสบ้างขุ่นบ้างตามสมัยนิยม หากแต่ความนิยมในการดื่มชาเขียวก็ยังคงมีให้เห็นได้ในหลายครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป และในยุคใหม่นี้หลายบ้านนิยมต้มใบชาเขียวร่วมกับใบเตยซึ่งก็จะทำให้ได้รสชาติและกลิ่นที่หอมพิเศษขึ้น ชาเขียวที่ต้มแล้วจะดื่มในขณะยังร้อน ขณะที่เย็นแล้ว หรือจะเติมน้ำแข็งแล้วดื่ม ก็จะรู้สึกชื่นใจดับกระหายคลายร้อนได้เป็นอย่างดี



การต้มน้ำใบชาเขียวสดนั้นให้ต้มน้ำให้เดือดไปพร้อมกันใบชาที่ขยำแล้วเล็กน้อยเมื่อน้ำเดือดจัดสักครู่ก็ยกลงนำไปถ่ายใส่กาใบเล็กสำหรับเลี้ยงแขก หรือดื่มเองในครอบครัว  เมื่อถ่ายน้ำชาเขียวไปใส่กาใบเล็กแล้วสามารถต้มซ้ำได้อีก 1 ครั้งแต่จะทำให้ได้น้ำชาเขียวที่จางและจืดลง (เหมาะสำหรับผู้ไม่ชอบชาเข้ม ๆ )



การต้มน้ำชาเขียวจากดอกชาที่ตากแห้งแล้ว ทำได้โดยตั้งกาน้ำบนเตาไฟให้เดือดจัดเปิดฝาเติมดอกชาลงไปสัก 1 ขยุ้มมือรอให้น้ำเดือดต่อไปสัก 2 นาทีเป็นอันใช้ได้ ชาจากดอกชาเขียวนี้จะให้สีเข้ม (น้ำตาลเข้ม) กว่าที่ต้มจากใบสด

ปัจจุบันบ้านนาจอกได้กลายเป็นหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียตนาม ทั้งยังเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ อันเป็นประจักษ์พยานที่แสดงถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของ 2 แผ่นดิน ไทย - เวียดนาม



จึงมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาชุมชน หรือแม้แต่ สวทช. ให้การสนับสนุนในปลูกตลอดจนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดการผลิตชาเขียวบ้านนาจอกนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชม OTOP ภายใต้แบรด์

 "ชาเขียวอัสสัมบ้านนาจอก"



ซึ่งจากโครงการนี้พบว่าเกษตรกรบ้านนาจอกมีความตื่นตัวในการปลูกชาเขียวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 ดังนี้แล้วก็เป็นอันวางใจและภูมิใจได้ว่าชาเขียวบ้านนาจอกที่ออกเดินทางไกลจากประเทศเวียดนามอย่างยากลำบากในครั้งนั้นจะยังคงหยั่งรากรึกในแผ่นดินไทยเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของบ้านนาจอกและเหนื่อสิ่งอื่นใดชาเขียวบ้านนาจอกจะทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพ 2 แผ่นดินได้อย่างงดงามและบริบูรณ์ที่สุดอย่างหนึ่ง

Tình Hữu nghị Hai đất nước 




จนกว่าจะพบกันใหม่

Nguyễn Gia Huy




---------------------------------------------------------------------------

แถม :
ต้นชามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า
Camellia sinensis มีมากกว่า 1,200 สายพันธ์ุ แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่
1. ชาดำ (ฺBlack tea)
2. ชาอู่หลง (Oolong tea)
3. ชาเขียว (Green tea)
ซึ่งมาจากชาชนิดเดียวกันแต่มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ชาเขียวถือว่าผ่านกระบวนความร้อนน้อยและไม่ผ่านกระบวนการหมักเลย  จึงทำให้คงประโยชน์และสรรพคุณไว้ได้มากกว่าอีกชาอีก 2 กลุ่ม








Create Date : 29 เมษายน 2560
Last Update : 4 สิงหาคม 2561 9:50:17 น. 2 comments
Counter : 5025 Pageviews.

 
เป็นบทความที่ดีเเละละเอียดมากๆ ครับ ทำให้ได้รู้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับชาและวิถีชีวิตคนบ้านนาจอก สุดยอดครับ


โดย: น้องต้อม IP: 1.46.138.81 วันที่: 30 เมษายน 2560 เวลา:18:42:54 น.  

 
ดีจังที่วิถีชาวบ้านได้ฟื้นฟูใหม่


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 26 พฤษภาคม 2560 เวลา:15:06:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.