Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
5 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 
เทศกาลตรุษเวียตนาม - Tết Nguyên Đán ตอนที่ 2



ตอนที่ 2 : ธรรมเนียมปฏิบัติในครอบครัว

ในช่วงก่อนถึงวันตรุษเวียตนาม 1 วันจะเรียกว่าวันสิ้นปี หรือ วันที่ 30  เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ (30 tháng chạp)  มักมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันทั้งหมู่บ้านดังจะขอกล่าวถึงสิ่งที่นิยมปฏิบัติกัน 3 ประการดังนี้

1. การนำของไปฝากไหว้บรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องตามบ้านต่าง ๆ ธรรมเนียมดังกล่าวนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่าิวิญญาณญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษจะกลับมาสถิตยังโต๊ะบูชาเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลตรุษเวียตนามดังนั้นเพื่อแสดงความระลึกถึงและแสดงความกตัญญูจึงมักจะมีการจัดของไปฝากไหว้ โดยของที่นิยมนำไปมักจะจัดแตกต่างกันไปโดยขอยกตัวอย่างแบบต่าง ๆ

      -  ฝากไหว้บ้านที่มีโต๊ะไหว้ ปู่-ย่า ตา-ยาย  มักจัดเบียร์ น้ำอัดลม ขนมแห้งเป็นกล่องๆ  ผลไม้ กระดาษสี 10 แผ่น (เหยยหงูซรัก-Giấy ngũ sắc) และกระดาษเงินกระดาษทอง  (หว่าง-Vàng) 10 แผ่น  ธูป จะมีชุดเสื้อผ้ากงเต๊กตามสมัยนิยม หรือสิ่งอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็ย่อมได้

      - ฝากไหว้บ้านที่มีโต๊ะไหว้ พี่ น้อง  ลุง ป้า น้า อา หรือญาติพี่น้องผู้ล่วงลับที่นับถือ มักจะจัดน้ำอัดลม ขนมแห้ง  (นิยมขนมที่มีกล่องหรือแพคสวยงาม) หรือผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทอง และธูป

      - สรุปคือถ้าไปฝากไหว้บ้านบรรพบุรุษสายตรงจะต้องมีทั้ง หว่าง + เหยยหงูซรัก ส่วนของประกอบอย่างอื่นมากน้อยก็สุดแล้วแต่  และการนำของไปฝากไหว้มักจะไปฝากช่วงเช้าของวันที่ 29 หรือ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติเพื่อให้ทางเจ้าของบ้านจัดเตรียมขึ้นโต๊ะไหว้ได้ทัน

2. การไหว้ตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ และผู้ล่วงลับ บ้านที่จะตั้งโต๊ะไหว้คือบ้านที่มีโต๊ะไหว้บรรพบุรุษอยู่แต่เดิม หรือบ้านที่มีคนตายแล้วมีการตั้งรูปผู้ตายไว้ ส่วนบ้านที่ไม่มีก็จะไม่มีการตั้งโต๊ะไหว้ใดใด การตั้งโต๊ะไหว้ตามธรรมเนียมตรุษเวียตนามของคนบ้านนาจอกนั้นแต่เดิมนิยมตั้งไหว้ข้ามคืน โดยมีการจัดสำหรับไหว้ 3 รอบคือดังนี้

       - รอบแรก สำรับอาหารคาว เป็นการไหว้เชิญบรรพบุรุษ ให้กลับมาร่วมฉลองวันตรุษเวียดนามโดยมักทำช่วงหลังเที่ยง (นิยมช่วงบ่าย 3 โมง) ในวันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ

       - รอบที่สอง สำรับอาหารหวานและขนม ไหว้ช่วงดึกราว 4 ทุ่ม - เที่่ยงคืน (Cúng cỗ chè - กุ๋ง โก๋ แจ่) เป็นการไหว้ของหวานและน้ำชารอบดึกเพราะเชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษยังคงสถิตอยู่กับลูกหลานที่บ้าน จึงต้องมีการไหว้ของหวานให้ท่าน และจะเป็นการดีมากถ้ามีการจุูดธูปเทียนไว้ตลอดคืน

       - รอบที่สาม สำรับอาหารคาว ไหว้ส่งบรรพบุรุษกลับสุสานหรือปรโลก (นิยมไหว้ช่วงกลางวันถึงบ่ายโมง) ในวันที่ 1 เดือน 1 (Mồng một tháng giêng /Mồng 1 tháng 1 ) การไหว้รอบนี้ส่วนใหญ่มักจะไหว้ส่งหลังจากที่พิธีกรรมเต๋ที่ศาลเจ้าเสร็จสิ้นลงแล้ว

ทั้งนี้โต๊ะไหว้ตรุษเวียตนามที่แต่ละบ้านจัดขึ้นนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัวโดยทั่้วไปก็จะมีของไหว้หลัก ๆ คือ ไก่ไหว้ + ข้าวเหนียว 1 ชุด พลูจีบ + หมาก  1 ชุด  น้ำชา เหล้าขาว  เบียร์ ข้าวต้มมัดญวน (Bánh Tày - แบ๋งไต่)  และขนมเทียนเวียตนาม (Bánh Gai - แบ๋งกาย)    กระดาษสี + กระดาษเงินกระดาษทอง  และเครื่องกระดาษตามแต่จะจัดเตรียมได้ ผลไม้ถาดใหญ่ และขนมกล่องที่มีสีสวยงาม

นอกจากนี้ก็จะมีน้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวาน ขนมเชื่อม (Mứt - มึ๊ด) และจะมีการจัดสำรับอาหารคาว 1- 2 สำหรับ /การไหว้ 1 รอบ สำหรับการไหว้แต่ละรอบของที่ต้องเปลี่ยนคือสำรับกับข้าว น้ำชา เหล้าขาว และต้องเปิดน้ำหวานขวดใหม่เพิ่มเติมอีก ส่วนของอื่น ๆ ต้องตั้งไว้อย่างเดิมจะนำมาทานได้ต่อเมื่อได้ทำพิธีไหว้ส่งบรรพบุรุษแล้ว (รอบที่ 3 ตามแบบดั้งเดิม หรือรอบที่ 1 ตามแบบใหม่ที่กำลังนิยม-กรณีไหว้รอบเดียว)

ปัจจุบันที่บ้านนาจอกกว่าครึ่งหนึ่งยกเลิกกธรรมเนียมการไหว้ 3 รอบหลังแล้วคงเหลือการไหว้รอบแรกเพียงอย่างเดียว (เชิญมาแล้วเชิญกลับเลยเหมือนไหว้โหยว)  ส่วนเวลาไหว้ก็มีการกำหนดตามความสะดวกแต่เท่าที่เห็นก็นิยมไหว้กันก่อนเที่ยงวันเป็นส่วนใหญ่

บ้านที่ยังมีการไหว้สำรับอาหารหวาน ช่วงดึกนั้นมักเป็นตระกูลเก่าแก่ และมีสมาชิกอยู่มากจึงทำให้มีความพร้อมที่จะรักษาธรรมเนียมไว้ได้  แต่เดิมชาวนาจอกก็จะนิยมไหว้ของหวานรอบดึกด้วยบัวลอยเวียดนาม ซึ่งเรียกกันว่า “Bánh Ngào – แบ๋งหง่าว” (แบ๋งหง่าวเป็นภาษาถิ่นในเขตจังหวัดเงอานและฮาติงห์ของเวียดนาม ในพื้นที่อื่นนิยมเรียกว่า Bánh Trôi - แบ๋งโจย) บัวลอยเวียดนามนี้ จะแตกต่างจากบัวลอยของไทยคือเม็ดบัวลอยจะมีขนาดใหญ่เท่ากับไข่ไก่ และมีไส้ขนมที่ทำจากถั่วเขียว น้ำบัวลอยบางพื้นที่นิยมใส่ขิง ทำให้มีรสเผ็ดนิด ๆ  - อ้างอิงจาก บทความจาก Face book Pharada Aphichotthayachai)

แต่ในยุคปััจจุบันก็จะมีการไหว้ด้วยเมนูของหวานง่าย ๆ ที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ลอดช่อง รวมมิตร กล้วยบวดชี เป็นต้น จำนวนถ้วยขนมหวานที่จะใช้ไหว้จะมีจำนวน 4  8 หรือ 12 ถ้วย (ยึดตามจำนวนถ้วยข้าวในสำรับคาวที่ไหว้ โดย 1 สำหรับจะต้องมีข้าว 4 ถ้วย = ถ้วยขนมหวาน 4 ถ้วยด้วยนั่นเอง)

การไหว้ส่งบรรพบุรุษในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคตินั้น บ้านที่ยังคงไหว้อยู่มักจะทำช่วงหลังพิธีเต๋ที่ศาลเจ้าเสร็จสิ้นลงโดยที่บ้านนาจอกส่วนใหญ่ไม่นิยมจุดประทัดส่งบรรพบุรุษเหมือนที่อื่น แต่ที่นิยมจะมีตระกูลฝั่งต้นผึ้ง ซึ่งที่นั่นยังนิยมธรรมเนียมจุดประทัดอยู่ทุกบ้าน

ธรรมเนียมการไหว้ภายในครอบครัวช่วงตรุษเวียดนามที่บ้านนาจอกเห็นจะมีเพียงแต่ที่ลำดับมาข้างต้น การไหว้ข้ามปีหรือไหว้ระหว่างช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่างปีเก่าและปีใหม่ (Cúng Giao thừa - กุ๋ง ซาว เถื่อ) และการไหว้กลางแจ้งเพื่อตอนรับเทพเจ้าประจำปี (Quan Đương niên Hành khiển - กวาน เดือง เนียน แห่ง เขียน)  ตามธรรมเนียมความเชื่อดังเดิมที่สำคัญของชาวเวียตนามแผ่นดินใหญ่ในเทศกาล Tết Nguyên Đán นั้นไม่มีปรากฏที่บ้านนาจอกมาแต่เดิม 

แต่เท่าที่ทราบภายหลังว่าเคยมีบางครอบครัวที่เคยปฏิบัติ แต่มักจะเป็นครอบครัวชาวเวียตนามที่อพยพเข้ามาทีหลังซึ่งการถือปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้เผยแพร่ปฏิบัติกันทั่วไปที่บ้านนาจอกคงจำกัดอยู่ในครอบครัวและหายไปจนหมดสิ้นหลังจากที่คนรุ่นนี้ล้มหายตายจากไป

3. การอวยพรญาติผู้ใหญ่ (chúc tết) และการมอบเงินอวยพร (mừng tuổi) ที่บ้านนาจอกจะมีธรรมเนียมการเดินทางไปบ้านญาติผู้ใหญ่เพื่ออวยพรในวันตรุษเวียตนาม โดยมากนิยมไปในวันตรุษเวียตนาม หรืออย่างช้าก็จะอยู่ในช่วงหลังวันตรุษ 1 วันโดยการไปอวยพรก็ไม่จำเป็นต้องถือสิ่งใดไปเพียงแต่ไปให้ถึงเรือนชานแล้วกล่าวอวยพร ทางเจ้าของบ้านก็จะเตรียมขนมและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไว้เป็นการต้อนรับแล้วจะอวยพรผู้ที่มาเยือนตอบ   ขนมและอาหารที่เตรียมไว้ต้อนรับจะไม่ใช่มื้อหลักเพราะคนที่มาอวยพรจะนั่งอยู่ไม่นาน ด้วยว่าจำนวนบ้านที่ต้องไปเยือนมักมีมาก จำได้แม่นว่าสมัยก่อนที่บ้านยายมักจะเตรียมเมล็ดแตงโมเกรดดี ขนมปังกรอบ ผลไม้ตามฤดูกาล และน้ำชา ไว้รับแขกที่ไปอวยพร

ในยุคสมัยนี้ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงอยู่หากแต่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่า ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติไปเยี่ยมเยือนอวยพรกัน ส่วนเด็กรุ่นใหม่บางครอบครัวก็ยังคงติดตามพ่อแม่ไปอวยพรญาติผู้ใหญ่ด้วยโดยจะนิยมเตรียมขนม หรือสิ่งของเล็กน้อยติดไม่ติดมือไปอวยพรร่วมด้วยตามค่านิยมของสังคมปัจจุบัน  และอาจมีการเขียนเกิ่วโ่ด๋ยวันตรุษเวียตนามที่มีความหมายมงคลไปร่วมด้วย 1 คู่เพื่ออำนวยอวยพรญาติผู้ใหญ่อย่างเป็นทางการ

ธรรมเนียมบ้านนาจอกนั้นถือการไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านเป็นการให้เกียรติอย่างสูง หากเจอญาติผู้ใหญ่หรือใครสักคนระหว่างทาง หรือสถานที่อื่นใดที่ไม่ใช้บ้านของเขาแล้วไปเรียนเชิญ บอกกล่าวให้ไปร่วมงานใด ๆ ถือเป็นการไม่ให้เกียรติและเป็นการผิดมารยาทของบ้านนาจอกอย่างมาก ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงธรรมเนียมการไปอวยพรตรุษเวียตนามดังกล่าวมาด้วย

การให้เงินอวยพรหรือที่เรียกกันว่า mừng tuổi- หมึ่ง ต่วย แปลเอาเองตามที่เข้าใจว่า เงินอวยพรให้กับอายุที่เพิ่มพูนขึ้น หรือมีนัยว่า เงินมงคลที่มอบให้ไว้เป็นขวัญถุง  ถ้าเปรียบเทียบก็คงจะเป็นสิ่งเดียวกับเงินแต๊ะเอีย หรืิออั่งเปา (ถุงแดง) ของชาวไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง

ธรรมเนียม หมึ่งต่วย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลตรุษเวียตนามที่บ้านนาจอกเสมอมา โดยหลักปฏิบัติจะมีการนำเงินสดใส่ซองสีแดงเพื่อมอบให้กับบุคคลที่เคารพนับถือพร้อมกับการกล่าวอวยพร  รวมถึงเด็ก ๆ ที่ยังเรียนหนังสือ และรวมถึงบุคคลที่ยังไม่มีรายได้มั่นคง ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะให้เงินอวยพรนี้แก่ลูก ๆ หลาน ๆ เมื่อครั้งยังเด็ก จนเมื่อลูก ๆ หลาน ๆ เติบโตทำมาหากินได้เองก็จะเป็นฝ่ายมอบเงินนี้ตอบแทนพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย   เด็ก ๆ ที่ยังเล็กและมีญาติผู้ใหญ่อยู่มากต่างก็รอคอยเทศกาลแจกซองแดงนี้กันอย่างยินดีเพราะหนึ่งปีมีลุ้นเพียงหนเดียว ....

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วแต่ละครอบครัวก็จะมีการกินเลี้ยงเฉลิมฉลองกันต่อเนื่องหลายวัน กินทุกบ้าน กินทุกคน เรียกได้ว่าในช่วงเทศกาลตรุษเวียตนามนี้จะไปบ้านใครหันไปทางไหนหรือแม้กระทั้งอยู่บ้านตัวเองก็จะมีการกินต่อเนื่องตลอดหลายวัน (Ăn liên tục)

ทั้งนี้บรรยากาศแห่งความสุขในช่วงเทศกาลวันตรุษเวียตนามที่บ้านนาจอกก็จะมีอยู่ประมาณ 3 วันหลังจากนั้นลูกหลานแต่ละบ้านก็จะแยกย้ายกันไปทำมาหากินต่างที่ต่างถิ่น  รวมถึงคนที่อยู่บ้านนาจอกก็จะกลับมาดำเนินชีวิตไปตามปกติวิสัยและต่างเฝ้ารอคอยการมาถึงของเทศกาลตรุษเวียตนามที่จะเวียนมาอีกครั้งในปีต่อไป



ย้อนอ่านตอนที่ 1

อ่านต่อตอนที่  3




Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 4 สิงหาคม 2561 9:42:49 น. 3 comments
Counter : 6714 Pageviews.

 
1 ปีผ่านไปเร็วเหมือนกันเน๊าะ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ครอบครัวพร้อมหน้า มีความสุขที่สุดเลยนะ


โดย: pharada IP: 118.71.221.33 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:10:28:37 น.  

 
ขอบคุณเจ้าของบทความที่กรุณาค้นคว้าข้อมูลมานำเสนอได้อย่างละเอียดครบถ้วน..น่าประทับใจมาก..แสดงถึงความรักในความเป็นเวียตนามของเจ้าของบทความเป็นอย่างดี..นอกจากนั้นยังรักในถิ่นเกิดบ้านนาจอกด้วย..ขอบคุณอย่างมากๆคับ..Gui loi cam on..den tac gia..


โดย: อรรถพล.. IP: 223.206.251.171 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:17:19:12 น.  

 
ประเพณีทาเหนือ ก็สามวันนะคะ ... สงกรานต์
13 เมษา วันสังขารล่อง คือวันสิ้นปี จุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้ายไม่ดีออกไป
14 เมษา วันเนา คือวันเตรียมการ มีพิธีขนทรายเข้าวัดเตรียมทำบุญ
15 เมษา วันพญาวัน คือวันขึ้นปีใหม่ จะไปทำบุญ รดน้ำดำหัวขออโหสิกรรมจากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่จะให้พรรับปีใหม่


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:13:02:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.