Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
11 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 

เทศกาลตรุษเวียตนาม - Tết Nguyên Đán ตอนที่ 3 (จบ)



ตอนที่ 3 ธรรมเนียมปฏิบัติที่ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง (ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านนาจอก)

เคยกล่าวแล้วว่าที่ศาลเจ้าพ่อด่ายเวืองมีธรรมเนียมการเต๋ (นมัสการ,สักการะ-Tế) ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นซึ่งครั้งที่สำคัญที่สุดคือช่วงเทศกาลตรุษเวียตนามหรือเต๊ดนั่นเอง

ในช่วงวันทีี่่ 30 เดือน 12  (30 tháng chạp) จะมีการเต๋รอบแรก เรียกกันตามที่คุ้นว่า "วันเข้า" และการเต๋รอบที่สอง จะมีในวันที่ 1เดือน 1 (Mồng một tháng giêng) ตามปฏิทินจันทรคติ จะเรียกว่าวันออก

ก่อนจะถึงวันดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์กรรมการศาลเจ้าก็จะมีการนัดหมายชาวบ้านมาพัฒนาทำความสะอาด (làm vệ sinh) บริเวณศาลเจ้าทั้งภายในตัวศาลเจ้า และบริเวณโดยรอบ มีการประดับประดาดอกไม้ ตัดแต่งต้นไม้ และบางปีก็มีการประดับธง 5 สี (เก่อหงูซรัก-cờ ngũ sắc หรือ เก่อเดน-cờ Đền) ซึ่งเป็นธงที่เป็นสัญลักษณ์บอกอาณาเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะศาลเจ้าตามธรรมเนียมนิยมที่ประเทศเวียตนามที่มักนิยมปักธงนี้ในเทศกาลสำคัญ ๆ

ในช่วงวันตรุษเวียตนามหลังจากแต่ละครอบครัวเสร็จสิ้นการไหว้บรรพบุรษที่บ้านในช่วงบ่ายแก่แล้วแต่ละครอบครัวก็จะจัดเตรียมชุดไหว้ 1 ถาด อันประกอบด้วยไก่ต้มสุก (gà cánh tiên) 1 ตัว ข้าวเหนียวนึ่ง 1 จาน ใบพลู 3 ใบ หมาก 1 ลูก ส่วนเหล้าขาวและน้ำชา อย่างละ 1 จอกทางศาลเจ้าจะจัดเตรียมไว้ให้

การนำส่งถาดไหว้ของแต่ละครอบครัวนั้นจะมีใบบอกไปยังแต่ละบ้านว่าจะได้คิวส่งถาดไหว้วันใดวันหนึ่งเท่านั้น  (อาจเป็นวันเข้า หรือวันออกรอบใดรอบหนึ่ง) โดยจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปแต่ละคุ้มในแต่ละปี (บ้านนาจอกส่วนบ้านใหม่แบ่งเป็น 3 คุ้ม)

ค่ำคืนวันสิ้นปีนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของเทศกาลตรุษเวียตนามที่บ้านนาจอกเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของทุกครอบครัวจะมารวมกันที่ศาลเจ้า เสียงพูดคุยกันของลูกหลานผู้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำมาหากินที่อื่น ปีละ 1 หนจะได้กลับมาพบปะกันจึงมีเรื่องวิสาสะพูดคุยกันมากมาย

พิธีเต๋จะเริ่มขึ้นราว 3 ทุ่มโดยกรรมการศาลเจ้าประมาณ 10 คนจะแต่งการด้วยชุดเวียตนามสีดำดูเคร่งขรึมศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ร่วมกันทำพิธีไปพร้อมกับเสียงกลองและเสียงฆ้องอันดุดัน แข็งแกร่ง เป็นจังหวะอันเป็นเอกลักษณ์สำัคัญของศาลเจ้าของบ้านนาจอก

บุคคลสำคัญในช่วงพิธีเต๋นั้น มี 3 คน กล่าวคือ

1. บุคคลผู้บอกบท  (เสือง-Xương) ทำหน้าที่คล้ายพิธีกรคอยอ่านบทเพื่อบอกขั้นตอนการทำพิธี

2. บุคคลที่อ่านบทไหว้ (วันเต๋-Văn tế) จะต้องอ่านบทไหว้ 18 แถวด้วยการอ่านเอื้อนเสียงคล้ายการอ่านร่ายในพิธีการสังเวยแบบพราหมณ์

3. บุคคลผู้เป็นตัวแทนในการทำพิธี จะเป็นผู้คารวะ ลุกนั่งตามแบบการคารวะแบบเวียตนาม

ส่วนบุคคลอื่นนั้นก็จะมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งอื่น ๆ ต่างคนต่างเป็นส่วนเติมเต็มให้พิธีกรรมการเต๋แต่ละครั้งสมบูรณ์จะขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ปัจจุบันพิธีเต๋ที่บ้านนาจอกกำลังอยู่ในช่วงผลัดใบกล่าวคือผู้อาวุโสรุ่นใหญ่ (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะถอยออกมาเป็นพี่เลี้ยงคอยกำกับฝึกสอนคนรุ่นใหม่ (ซึ่งก็ไม่ใหม่ทีเดียวเพราะอายุประมาณ 60-79 ปี) ให้สืบทอดพิธีเต๋นี้ต่อไป และด้วยการวางแผนจัดการดังกล่าวเรื่อยมารุ่นต่อรุ่นคงจะเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานธรรมเนียมที่ศาลเจ้าให้คงอยู่มาได้นับร้อยปี และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างแพร่หลายในฐานะ "หมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียตนาม"

ตั้งแต่เล็กจนโตลูกหลานบ้านนาจอกไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นล้่วนมุ่งมาสักการะขอพรที่ศาลเจ้า ทั้งที่ล้มหายตายจากกันไปก็มากต่อมาก แต่ความลับที่อยู่ในกระดาษ 1 ใบ (วันเต๋) ก็ดูเหมือนจะเป็นความลับเรื่อยมาเพราะไม่ใคร่จะมีคนสนใจใฝ่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร มันบอกอะไร แต่อาจเพราะคำว่า "ศรัทธา" เพียงคำเดียวคงจะเพียงพอแล้วสำหรับเหตุผลการมุ่งมาสักการะขอพรที่ศาลเจ้าแห่งนี้

วันเต๋ที่ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นฉบับที่ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่ตามต้นฉบับเดิมที่เขียนด้วยลายมือผู้อาวุโสสืบทอดกันมานับร้อยปีโดยในวันเต๋หรือบทเต๋นั้นแบ่งเป็นแถวบรรจุคำสักการะจำนวน 18 แถว จึงอยากนำมาสังเขปเผยแพร่ให้ได้มีโอกาสรู้ความลับดังกล่าวนี้เสียที

- แถวที่ 1 เป็นการบอกวันเดือนปีที่ทำพิธีโดยการเีขียนนั้นจะยึดหลักการเรียงวันเดือนปีแบบจีนกล่าวคือเรียงจาก ปี-เดือน-วัน ภาษาเวียตนามที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นคำยืมจากภาษาจีน

- แถวที่ 2 เป็นการกล่าวว่าเจ้าภาพในการไหว้คือชาวบ้านนาจอกทุกคน

- แถวที่ 3 เป็นการอ่านรายการของไหว้ซึ่งประกอบไปด้วย หมากพลู เหล้าขาว กระดาษเงินกระดาษทอง ธูป น้ำ และเครื่องเซ่นไหว้ประกอบอื่น ๆ  ยกขึ้นเพื่อสักการะ

- แถวที่ 4-6 เป็นการกล่าวนามของเทพเจ้าที่อยู่ในศาลเจ้าทีละองค์เริ่มจากองค์ประธานไปหาองค์เล็กสุด สรุปองค์ประธานคือ เทพเจ้าหรือกษัตริย์ เจิ่น ฮึง ด่าว  แต่ที่ชื่อท่านยาวมากก็คงคล้าย ๆ กับการขนานพระนามกษัตริย์ไทยที่มักจะยาวมากแต่ก็คล้องจองไพเราะ

- แถวที่ 7 เทพเจ้าองค์ต่อมาก็คือ ประธานาธิบดีโฮจิมินทร์ ผู้เป็นดังเทพเจ้าของชาวเวียตนามทั่วโลก

- แถวที่ 8 เทพเจ้าองค์ต่อมาเป็นแม่ทัพผู้เก่งกล้าในอดีต

- แถวที่ 9 เทพเจ้าผู้เป็นแม่ทัพของกษัตริย์ เจิ่น ฮึง ด่าว

- แถวที่ 10 เทพเจ้าผู้เป็นสตรี  ซึ่งถือกันว่าเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดเทพเจ้าองค์ประธานของศาลเจ้า  (เป็นคตินิยมของศาลเจ้าแทบทุกแห่งของเวียตนามที่จะมีการบูชาแม่ผู้ให้กำเนิดเทพเจ้าองค์ประธานหรือองค์หลักของแต่ละศาลเจ้า)

- แถวที่ 11 เป็นเทพเจ้าอีกหนึ่งองค์

- แถวที่ 12 -13 เป็นขุนนางฝ่ายซ้าย และขุนนางฝ่ายขวา

- แถวที่ 14 -17 ช่วงแรกเป็นการกล่าวเทิดทูนสักการะเทพเจ้าทุกองค์ที่ช่วยปกปักรักษาทุกคนให้ร่มเย็นเป็นสุข ช่วงกลางเป็นการกล่าวว่าทุกคนได้เตรียมเครื่องสักการะมาถวายแด่เทพเจ้าทุกองค์ และขอให้เทพเจ้าทุกองค์รับเครื่องสักการะเหล่านี้ไว้ ส่วนช่วงท้ายเป็นการขอพรให้ทุกคนในหมู่บ้านอยู่อย่างสงบร่มเย็น ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวยเงินทอง ประสบแต่สิ่งดีงาม

- แถวที่ 18 เป็นการกล่าวเชิญเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าประตูซ้ายขวาของศาลเจ้ารับเครื่องเซ่นไหว้ร่วมกับเทพเจ้าทั้งหลายในศาลเจ้า

การเต๋จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที จึงจะแล้วเสร็จจากนั้นจึงจะมีการลำเลียงถาดไหว้ (ไก่ต้ม+ข้าวเหนียว) ลงไปที่ห้องครัวเพื่อจัดเตรียมแบ่งแต่ละถาดให้เป็น 2 ส่วน (สับไก่แบ่งเป็น 2 ส่วน) ส่วนแรกจะจัดมารับประทานร่วมกันที่ศาลเจ้า ส่วนที่สองจะมอบให้เจ้าของถาดนำกลับไปรับประทานร่วมกันครอบครัว ในระหว่างการรอการจัดถาดดังกล่าวกรรมการศาลเจ้าจะดำเนินการดังนี้

1. อ่านรายชื่อและยอดเงินผู้ร่วมบริจาค

2. อ่านรายงานทางการเงิน รายรับ - รายจ่าย รายละเอียดที่สำคัญและงบดุลคงเหลือของเงินศาลเจ้า

3. การรับรองบุคคลที่ขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของศาลเจ้า (จะมีการจัดถาดหมากพลูมาคารวะ)

4. การแต่งตั้งผู้อาวุโสประจำศาลเจ้า (โก่ด่าว-Cố đạo) คนใหม่ทดแทนคนเก่าที่หมดวาระ (มีวาระ 1 ปี แล้วแต่งตั้งใหม่ซึ่งอาจแต่งตั้งคนเก่าอีกก็ได้) โดยผู้อาวุโสจะเป็นผู้รับผิดชอบอำนวยการดูแลกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมที่ศาลเจ้าทั้งหมด  โดยเฉพาะการไหว้หร่ำ (ขึ้น 15 ค่ำ) เป็นประจำทุกเดือน

โดยธรรมเนียมการตั้งโก่ด่าวนั้นจะมีหลักปฏิบัติหลายประการกล่าวคือ

- ผู้อาวุโสต้องเป็นชายที่มีภรรยาและภรรยายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นชายโสดหรือชายที่ตกพุ่มม่ายจึงเป็นข้อห้ามหลักของการเป็น โก่ด่าว

- โก่ด่าวที่ได้รับการแต่งตั้งต้องงดเว้นการไปร่วมงานศพหรืองานที่เกี่ยวเนื่องกับวิญญานที่ยังไม่ทำพิธีออกทุกข์ (100 วัน)

- หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องไปงานศพต้องไม่ขึ้นบ้าน หรือไม่เข้าไปในบริเวณพิธีขณะที่มีการตั้งศพอยู่และงดเว้นรับประทานอาหารในงานศพ รวมถึงน้ำดื่มก็ห้ามดื่ม

- งดเว้นการไปเยี่ยมผู้ป่วยหนักที่กำลังจะสิ้นลม

- หากมีญาติพี่น้องที่นับความสัมพันธ์ได้ในตระกูลของตนหรือตระกูลของภรรยาเสียชีวิตอันเป็นเหตุให้ต้องไว้ทุกข์จะต้องไปทำพิธีที่ศาลเจ้าเพื่อขอออกจากการเป็น โก่ด่าว ทันที

5. การแต่งตั้งพ่อบ้านประจำศาลเจ้า (เฮืองมุก-hương mục) โดยกรรมการศาลเจ้าจะแต่งตั้งสามีภรรยา 2 คู่/1ปี เป็นผู้ดูแลทั่วไปในอาณาเขตของศาลเจ้ารวมถึงธุรกรรมอันเกี่ยวข้องกันศาลเจ้า ทั้งการดูแล การทำความสะอาด การจัดโต๊ะ จัดเตรียมถ้วยโถโอชาม จัดเตรียมถาดอาหาร สับไก่ ต้มน้ำชา บริการน้ำดื่ม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ต้อนรับผู้ที่มาร่วมงานที่ศาลเจ้า รวมถึงการซักล้าง และคอยบริการทั่วไป เฮืองมุกนั้นนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเสียสละ น่ายกย่อง น่าชื่นชมมากเนื่องจากเป็นงานอาสาไม่มีค่าตอบแทนแต่ต้องรับภาระที่ค่อยข้างเหนื่อยและหนักมากดังนั้นหากสามีภรรยาคู่ใดต้องทำหน้าที่นี้ คนในตระกูลนั้นก็มักจะร่วมแรงร่วมใจกันทำภารกิจดังกล่าวร่วมกันให้เรียบร้อยบริบูรณ์

เมื่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในศาลเจ้าเสร็จสิ้นลงก็จะมีการจุดประทัดสายยาวเสียงดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วคุ้งน้ำหนองญาติ เพื่อเป็นสัญญานการเริ่มต้นเทศกาลเฉลิมฉลองตอนรับวันตรุษเวียตนาม ทุกคนแยกย้ายกันกลับไปร่วมฉลองกับสมาชิกในครอบครัวหรือว่าจะเป็นการร่วมกันไหว้บรรพบุรุษรอบดึก (Cúng cỗ chè - กุ๋ง โก๋ แจ่) 

อรุณรุ่งแห่งเช้าวันตรุษเวียตนามมาถึงหลังจากสมาชิกของครอบครัวร่วมกันต้อนรับแสงแรกรุ่งอรุณของเช้าวันใหม่ในวันแรกของปี (Tết Nguyên Đán) ของปีแล้วสมาชิกส่วนหนึ่ง (น้อยกว่าช่วงกลางคืนที่มีลูกหลานวัยรุ่นมากันมา) ซึ่งส่วนมากมักเป็นวัยผู้ใหญ่ก็จะมาร่วมพิธีเต๋อีกครั้งหนึ่งซึ่งพิธีการและขั้นตอนเหมือนกันทุกประการกับรอบ "วันเข้า" แต่จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองหลังจากทำพิธีเสร็จ

แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาหลังจากเต๋เสร็จก็คือการกล่าวอวยพรวันตรุษเวียตนาม (chúc tết) สมาชิกศาลเจ้าทุกคนโดยผู้แทนผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะกล่าวเป็นภาษาเวียตนามที่มีสำนวนสละสลวยไพเราะ และต่อด้วยการกล่าวอวยพรปีใหม่ (ตรุษเวียตนาม) ด้วยภาษาไทยโดยผู้ใหญ่บ้านนาจอก จากนั้นก็จะร่วมกันรับประทานไก่ไหว้ หมูหัน ข้าวเหนียวนึ่ง แกล้มกับผักดองกันอย่างเอร็ดอร่อย ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปฉลองและทำภารกิจต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัวในวันพิเศษที่สุดนี้

ไม่ว่าเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปกี่วันตรุษเวียตนาม ลูกหลานชาวบ้านนาจอกใกล้ไกลก็ไม่เคยลดน้อยลงมีแต่จะเพิ่มพูนหลั่งไหลมาสักการะขอพรที่ศาลเจ้าในช่วงวันตรุษเวียตนามเช่นนี้เรื่อยไป สมดังเกิ่วโด๋ยจารึกที่ฝั่งหนึ่งของซุ้มประตูทางเข้าศาลเจ้าที่ว่า

"Khắp đường Bạn Mạy khách thập phương qua lại lễ thánh cầu an"

"ลูกหลานบ้านนาจอกทั่วทุกคน กับทั้งผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ล้วนมุ่งสู่ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการะขอพร"

ย้อนอ่านตอนที่  1

ย้อนอ่านตอนที่  2


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขอขอบคุณ Pharada Aphichotthayachai ผู้เป็นกัลยาณมิตร ที่คอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนะนำ และให้ความช่วยเหลือเรื่องการแปล และตัวสะกดภาษาเวียตนาม ทำให้บทความตอนนี้มีความบริบูรณ์ครบถ้วนที่สุดตอนหนึ่งจาก 65 ตอนที่ผมได้เรียบเรียงขึ้นตลอด 3 ปี

หากบทความนี้ได้มีโอกาสถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง สู่ลูกหลานบ้านนาจอกที่จะได้มีโอกาสอ่านในวันข้างหน้าผมขออุทิศความดีงามที่พึงมีจากบทความตอนนี้ แก่ชาวบ้านนาจอกผู้ล่วงลับไปก่อนหน้า ที่ช่วยสร้างสรรค์รักษาธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามเป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ลูกหลานบ้านนาจอกรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ

ขอบคุณพ่อ-แม่  (และบ่าผู้ซึ่งขณะนี้อยู่ในที่ห่างไกล) และขอบคุณน้องชายของผม ที่ช่วยปูพื้นฐานภาษาเวียตนามให้ แม้จะไม่เคยนั่งเรียนเป็นเรื่องเป็นราว  หากแต่การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้ผมสามารถปีนข้ามกำแพงภาษาเวียตนามที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านนาจอกลงได้สำเร็จ....ขอบคุณจริง ๆ ครับ




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2557
10 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2561 9:45:57 น.
Counter : 3059 Pageviews.

 

สุดยอดครับ เนื้อหาละเอียดมาก อยากให้ประเพณีเหล่านี้อยู่ไปนานๆ

 

โดย: Tom IP: 118.71.221.33 13 กุมภาพันธ์ 2557 15:00:26 น.  

 

เป็นบทความที่ชอบมากอีกแล้วคับ..และพิธีที่ศาลเจ้าที่นาจอกนี้..น่าจะเป็นแม่แบบของศาลเจ้าเวียตนามในไทยได้..วัฒนธรรมการต้อนรับเต๊ดที่นาจอกก็น่ารักคับ..ดูอบอุ่นหวังว่าจะอนุรักษ์สืบสานไปชั่วลูกสืบหลานนะคับ...และนับวันคนเวียตนามจะมาร่วมงานเต๊ดที่นี้มากขึ้นเป็นลำดับ..

 

โดย: อรรถพล.. IP: 223.206.251.69 14 กุมภาพันธ์ 2557 11:45:39 น.  

 

ได้รู้ในสิ่งที่ไม่ได้สัมผัส นับว่ามีคุณค่ายิ่ง ขอบคุณที่เขียนไว้ให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นด้วยค่ะ

 

โดย: น้องคนสวย IP: 223.206.250.241 14 กุมภาพันธ์ 2557 13:14:29 น.  

 

ขอบคุณพี่อีกทีคะ ที่ได้พาไปดูประเพณีที่มีค่าต่อคนรุ่นหลัง มีโอกาสอยากไปอีกคะ บทความบอกรายละเอียดได้เยอะมากๆคะ

 

โดย: Praw IP: 192.99.14.34 25 กุมภาพันธ์ 2557 20:09:16 น.  

 

การที่เราไม่ลืมถิ่นที่เรามา ก็จะทำให้ไม่ลืมตนและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีสติเนาะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 27 กุมภาพันธ์ 2557 13:04:55 น.  

 

รายละเอียดเล็กๆน้อยๆในพิธีมีอยู่ครบถ้วน
ถือเป็นการบันทึกของผู้ที่เอาใจใส่จริงๆ ผมเข้าใจว่าแต่ละขั้นแต่ละตอน ต้องถาม ต้องสังเกต คงไม่ใช่ง่ายๆเลยนะครับ

 

โดย: Insignia_Museum 29 มีนาคม 2557 22:12:48 น.  

 

เยี่ยมมากมายเลยค่ะ มาถึงตอนที่ 65 แล้วเหรอคะ ได้ความรู้เยอะเลย บล็อกได้กลายเป็นที่บันทึกอย่างดี

 

โดย: รัชชี่ (รัชชี่ ) 15 เมษายน 2557 11:59:16 น.  

 

ดีครับ

 

โดย: ประทีป IP: 171.4.250.61 7 พฤษภาคม 2557 10:06:54 น.  

 

หวัดดีจ้า เราแวะมาทักทาย sinota ซิโนต้า Ulthera สลายไขมัน SculpSure เซลลูไลท์ ฝ้า กระ Derma Light เลเซอร์กำจัดขน กำจัดขนถาวร รูขุมขนกว้าง ทองคำ ไฮยาลูโรนิค คีเลชั่น Chelation Hifu Pore Hair Removal Laser freckle dark spot cellulite ร้อยไหม IPL Medisyst adenaa ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ สักคิ้วถาวร สักคิ้ว 6 มิติ Cover Paint สักไรผม 3D Eyebrow Haijai.com สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรเพื่อสุขภาพ น้ำมันมะพร้าว ขิง ประโยชน์ของขิง ผู้หญิง สุขภาพผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการ ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อคนโบราณ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3997718 23 สิงหาคม 2561 18:54:47 น.  

 

อาหารที่เขาใช้เนี้ยมีอะไรบ้างคะ

 

โดย: อรกัญญา IP: 180.183.199.65 29 สิงหาคม 2562 17:47:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.